THANON VEE (ถนนวี)

thanonvee
Location :
Paris France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thanonvee's blog to your web]
Links
 

 
สี่มุมมองท้องสนามหลวง ตอนที่ 2



เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรกฎาคม 2554 [1]


โรงแรมล้านดาว

ณ ท้องสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงนอกจากจะเป็นแหล่งทำมาหากินของคนเร่ร่อนไร้บ้านและสถานที่ทำงานสำหรับกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศแล้ว ในทุกค่ำคืนบนเนื้อที่กว่า ๗๐ ไร่ ของสถานที่สาธารณะแห่งนี้ก็คือที่ซุกกายในราคาแสนถูกของ “คนสนามหลวง” และกลุ่มคนจรที่เดินทางเข้าเมืองหลวงด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป  ทั้ง “โรงแรมกลางแจ้ง”  “โรงแรม ๒๐ บาท” หรือแม้แต่ “โรงแรมล้านดาว” ล้วนมีความหมายในสิ่งเดียวกันนั่นคือบริการให้เช่าเครื่องนอนครบชุด เช่น เสื่อ หมอน และผ้าห่ม เพื่อทอดกายลงนอนบนพื้นสนามหลวง

แม้ “โรงแรม” ราคาถูกแห่งนี้จะมีฉากหลังสุดอลังการเป็นสัญลักษณ์ของสยามประเทศในสายตาชาวโลกอย่างวัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนผืนดินที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์และมีท้องฟ้าที่ประดับไปด้วยหมู่ดาวนับล้านดวงเป็นหลังคา แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหตุผลสำคัญที่สุดที่บรรดาลูกค้าของ “โรงแรมล้านดาว” เลือกที่จะมาใช้บริการหาใช่ทำเลที่ตั้งและฉากหลังอันสวยงามนั้นไม่ เพราะความน่าสนใจหรืออาจจะเรียกว่าจุดเด่นที่สุดของธุรกิจชนิดนี้คือการคิดค่าบริการในราคาเพียง ๒๐ บาทต่อคืน

ในราคา ๒๐ บาทนี้ ลูกค้าจะได้รับเสื่อหนึ่งผืน (ขนาดประมาณ ๑.๕ x๒.๐ เมตร) พร้อมกับหมอนและผ้าห่มในจำนวนที่เท่ากับจำนวนผู้นอน หรือตามที่ลูกค้าต้องการ กล่าวคือในราคา ๒๐ บาทต่อเสื่อ ๑ ผืน และต่อ ๑คืน นั้น ผู้ใช้บริการจะนอนกี่คนก็ได้  ในพื้นที่สนามหลวงมีผู้ให้บริการในลักษณะนี้ประมาณ ๔ เจ้า แต่ละเจ้าคิดอัตราค่าบริการในราคาเดียวกัน (ยกเว้นอัตราค่าบริการสำหรับเปลนอน ในกรณีที่บางเจ้าจัดไว้ให้บริการเป็นพิเศษ) จำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละวันไม่แน่นอน แต่โดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณหนึ่งร้อยคนต่อ ๑ คืน ต่อ ๑เจ้า ลูกค้าสามารถใช้บริการโรงแรมกลางแจ้งแห่งนี้ได้ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป และต้องคืนอุปกรณ์เครื่องนอนก่อนเวลา ๖.๐๐ นาฬิกาของวันถัดไป ตลอดระยะเวลาของการเปิดให้บริการแต่ละเจ้าจะมีการดูแลเวรยามให้ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า ข้อสังเกตหนึ่งประการคือ แม้ทำเลที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่คือบริเวณที่มีแสงสว่างในปริมาณที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้บริการจะมีมากหรือน้อยของแต่ละเจ้านั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือคำบอกเล่าต่อๆ กันของกลุ่มผู้ใช้บริการด้วยกันเองถึงความปลอดภัยจากการดูแลเวรยามของแต่ละเจ้า นอกจากบริการด้านอุปกรณ์เครื่องนอนต่างๆ และการดูแลเวรยามแล้ว เจ้าของธุรกิจบางรายยังมีเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปไว้ให้บริการ (จำหน่าย) ให้กับลูกค้าของตนอีกด้วย

โรงแรมติดดาว ในราคาติดดิน ที่ซุกกายกลางเมืองหลวงในราคาแสนถูกของแรงงาพลัดถิ่นและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจน “คนสนามหลวง” บางกลุ่ม

ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการของโรงแรมในราคา ๒๐ บาทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่อาศัยพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งทำมาหากิน เช่น กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าที่ขายของในบริเวณดังกล่าว กลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือรับจ้างทั่วไปที่มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน หรือกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างหางานซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำงานในเมืองหลวง ฯลฯ กลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านและผู้ขายบริการทางเพศบางส่วน และกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องเดินทางมาทำธุระในกรุงเทพฯเป็นระยะเวลาชั่วคราว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มาเช่าเสื่อและอาศัยพื้นที่สนามหลวงเพื่อการพักผ่อนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้นอนค้างคืนที่สนามหลวง แต่จะเดินทางกลับบ้านในตอนดึก 

จากข้อมูลดังกล่าวเราอาจจำแนกกลุ่มผู้ใช้บริการได้ ๓ กลุ่มดังนี้ (๑) กลุ่มคนทำงาน (๒) กลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านและผู้ขายบริการ และ (๓) ผู้ที่เข้ามาทำธุระในกรุงเทพฯในระยะเวลาสั้นและผู้ที่มาเพื่อการพักผ่อน

กลุ่มแรกคือ “คนทำงาน” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง เช่นพ่อค้า-แม่ค้าที่ขายของมือสอง หาบเร่ แผงลอยตามตลาดนัดริมทางเท้า หรือผู้ใช้แรงงานและรับจ้างตามปกติทั่วไปซึ่งไม่มีความแน่นอนทั้งลักษณะ ระยะเวลา รายได้ตลอดจนสถานที่ทำงาน ทั้งนี้บางรายทำงานและรับจ้างเป็นรายวันซึ่งในแต่ละวันนั้นลักษณะงานและรายได้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางรายอาจมีการระบุสถานที่ทำงานที่ชัดเจนภายใต้ระยะเวลาการทำงานที่จำกัด เช่น ๑ สัปดาห์ ๑๐ วัน หรือครึ่งเดือน ฯลฯ นอกจากนี้ “คนทำงาน” ยังหมายถึงกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่นเพื่อมาหางานทำในกรุงเทพฯ บางคนอยู่ระหว่างหางานหรือรอการติดต่อจากนายจ้าง แต่บางคนอาจอยู่ในช่วงรอยต่อของการตกงาน ฯลฯ เหตุผลที่ “คนทำงาน” กลุ่มนี้เลือกที่จะมานอนที่สนามหลวงคือ ประการแรก เนื่องจากรายได้ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบอัตราค่าใช้จ่ายกับการที่จะไปเช่าห้องพักในรูปแบบปกติ ยิ่งการไปใช้บริการกับโรงแรมทั่วๆ ไปยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะมีราคาค่าเช่าต่อคืนในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของพวกเขา โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและคนรับจ้างรายวันทั่วไป ประการถัดมาเนื่องจากบางรายที่อยู่ระหว่างหางานหรือตกงานนั้น มีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีรายได้เข้ามานี้ การใช้บริการของโรงแรม ๒๐ บาทจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา ประการสุดท้าย คือความสะดวกและประหยัดเวลาในการทำงาน เช่นกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าที่ขายของในบริเวณสนามหลวง แม้ว่าส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ค้าขายเหล่านี้จะนอนที่แผงขายสินค้าของตนเอง แต่ก็มีจำนวนหนึ่งเลือกที่จะมาใช้บริการของโรงแรม ๒๐ บาท ในยามค่ำคืนเพื่อพักผ่อนหลับนอนหลักจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันหรือหรือหลายวัน

กลุ่มที่สองคือ คนเร่ร่อนไร้บ้าน และ/หรือผู้ขายบริการทางเพศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนฯ ที่ทำงานและมีรายได้ เช่น คนเร่ร่อนไร้บ้านที่ยึดอาชีพขายบริการไปด้วย กลุ่มคนที่เก็บขยะและขายของเก่า รวมถึงบางรายที่รับจ้างรายวันทั่วไปด้วย เหตุผลของการใช้บริการโรงแรม ๒๐ บาท ของกลุ่มที่สองนี้ก็คล้ายคลึงกับกลุ่มแรก กล่าวคือ มีความสอดคล้องกับข้อจำกัดเรื่องรายได้รวมถึงทำเลที่ตั้งของสนามหลวงอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานและแหล่งทำมาหากินนั่นเอง ข้องสังเกตที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการคือ มีคนเร่ร่อนไร้บ้านจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เช่าเสื่อและอุปกรณ์เครื่องนอน เลือกที่จะมานอนใกล้ๆ กับบริเวณที่ลูกค้าของโรงแรม ทั้งนี้เพราะบริเวณดังกล่าวให้ความรู้สึกปลอดภัยสำหรับพวกเขานั่นเอง

กลุ่มที่สามคือ คนต่างถิ่นที่เดินทางมาทำธุระในกรุงเทพฯเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ และกลุ่มคนธรรมดาทั่วไปที่เดินทางมาพักผ่อนยังบริเวณท้องสนามหลวง กลุ่มนี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ลูกค้าจร” ของธุรกิจโรงแรม ๒๐ บาท ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีลักษณะของกลุ่มคนที่มาใช้บริการต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนแรกเป็นกลุ่มคนที่เดินทางมาติดต่อธุระส่วนตัว เดินทางมาหาเพื่อนหรือเพื่อนัดพบกับคนรู้จัก ตลอดจนเกิดความผิดพลาดประการใดประการหนึ่งในระหว่างการเดินทาง ฯลฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้หรือเหตุผลจำเป็นอื่นๆ ผนวกกับงบประมาณที่แต่ละคนมีค่อนข้างจำกัดเพราะส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี หนทางหนึ่งในการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับพวกเขาจึงออกมาในรูปแบบของการใช้บริการโรงแรมราคาถูกกลางสนามหลวงแห่งนี้นั่นเอง ในส่วนของผู้ที่มาพักผ่อนยังพื้นท้องสนามหลวงนั้น ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและมีรายได้ที่แน่นอน และการใช้บริการโรงแรม ๒๐ บาทนี้ก็เป็นไปเพื่อการนั่งพักผ่อนเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่ได้ค้างคืนที่นั่น

หากไม่นับรวมเอาผู้ที่มาใช้บริการโรงแรมราคาถูกเพื่อการพักผ่อนแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าเหตุผลสำคัญที่สุดที่บรรดา “ลูกค้า” ของธุรกิจโรงแรม ๒๐ บาท เลือกที่จะนอนค้างคืน ณ บริเวณท้องสนามหลวงล้วนมีความสัมพันธ์กับ “รายได้” ของพวกเขาทั้งสิ้น แม้ว่าในการให้บริการของแต่ละเจ้าจะรวมเอาการดูแลเวรยามและการรักษาความปลอดภัยเข้าไปด้วย แต่ในทางปฏิบัติจะมีใครสามารถรับประกันถึงความความปลอดทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม? การปูเสื่อหนึ่งผืนแล้วทอดกายลงนอนบนพื้นดิน และยินดีที่จะ “หลับใหล” กลางสนามในสถานที่ที่เป็นของ “สาธารณะ” นั้น หมายความว่าเราได้เลือกที่จะ “หยุดการรับรู้ในชั่วขณะหนึ่ง” ในสถานที่ที่ทุกคน ทุกกลุ่มทั้งคนทั่วไปและมิจฉาชีพสามารถที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์หรือเข้าถึงตัวเราได้ตลอดเวลา ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การรักษาความปลอดภัยของเจ้าของธุรกิจโรงแรม ๒๐ บาท แต่ละเจ้านั้นมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องตั้งคำถามคือ ถ้าเลือกได้หรือถ้าเป็นไปได้ “เรา”, “พวกเขา” หรือใครก็ตาม ยินดีหรือเต็มใจที่จะ “นอนหลับ” ในสถานการณ์แวดล้อมเช่นนั้นหรือไม่?

ปรากฏการณ์ที่ผู้คนนับร้อยต้องนอนบน “พื้นดิน” ในแต่ละคืน คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดในหลักการแห่งความเสมอภาคอันเป็นหัวใจหลักของประเทศประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างงดงามและน่าคลางแคลงใจ

บนความภาคภูมิใจที่เราสามารถบอกกับชาวโลกว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นสากลนั้น แท้จริงแล้วกลับแฝงไว้ด้วยข้อจำกัดและสภาพความเป็นจริงที่สวนทางกันเกือบ ๓๖๐ องศา เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ของโรมแรมราคาถูก ณ ท้องสนามหลวงนั้น ไม่ใช่กลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านในความหมายทั่วไป (homeless) แต่กลับเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและลุ่มผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่ไม่มีความแน่นอนทั้งในเรื่องสถานที่และระยะเวลาในการทำงานดังที่ได้กล่าวไป

ในมุมหนึ่ง บุคคลเหล่านี้ก็คือผู้ประสบปัญหาด้านการเงินจึงจำเป็นต้องมานอนกลางสนามหลวง ทว่าในอีกมุมหนึ่งพวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและต่ำกว่ามาตรฐานที่สมาชิกหนึ่งคนใน “สังคม” ประชาธิปไตยพึงมีและพึงจะได้  ทั้งนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ้างถึงจำนวนรายได้ที่เป็นตัวเลขของกลุ่มคนเหล่านี้ว่ามีความสอดคล้องกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในแต่ละพื้นที่หรือไม่ เพราะเพียงพิจารณาจากเงื่อนไขการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (ปัจจัย๔) ในเรื่องที่อยู่อาศัย การที่กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยพื้นที่สนามหลวงเป็นที่หลับนอนโดยผ่านบริการของโรงแรมราคาถูกในรา ๒๐ บาทต่อคืนนั้น ย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่ามาตรฐานในการดำรงชีพของพวกเขาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

แน่นอนว่าเงื่อนไขการดำรงชีพของบุคคลใดๆ ย่อมเป็นหน้าที่ความความรับผิดชอบส่วนตน กล่าวคือการที่บุคคลจะมีมาตรฐานในการดำรงชีพอยู่ในระดับที่สูง ต่ำ ถูกสุขลักษณะหรือไม่นั้น ย่อมมีสาเหตุมากจากลักษณะกิจกรรมหรือรูปแบการดำรงชีวิตที่บุคคลผู้นั้นได้เลือกที่จะกระทำ เช่น ในกรณีของคนเร่ร่อนไร้บ้าน (homeless) ที่ “ตัดสินใจเลือก” จะมาใช้ชีวิตนอกเคหสถานด้วยตนเอง หรือกลุ่มคนที่ไม่ประกอบอาชีพและไม่ทำมาหากินใดๆ เลย[2] ทำให้เงื่อนไขการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย๔) ของพวกเขาอยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น แต่ในกรณีของกกลุ่มผู้ใช้บริการของโรมแรมราคาถูกซึ่งส่วนใหญ่คือ “คนทำงาน” นั้น หมายความว่าพวกเขาคือผู้กระทำการอันก่อให้เกิดประโยชน์และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมที่มีมูลค่าในระบบของสังคม ดังนั้น หากพวกเขามีมาตรฐานในการดำรงชีพที่ที่ต่ำหรือขัดกับเงื่อนไขการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (ปัจจัย๔) แล้ว แสดงว่าระบบของสังคมนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ (ขาดสมดุล) และนั่นคือหน้าที่ “ความรับผิดแลชอบ” ของผู้บริหารจัดการ “สังคม” หรือกล่าวอีกอย่างก็คือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนนับร้อยๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานและมีส่วนช่วยให้เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมต้องมานอนกับพื้น ต้องใช้บริการโรงแรมราคาถูก ณ บริเวณท้องสนามหลวงสำหรับเป็นที่พักอาศัยในแต่ละคืนนั้น จึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงความไม่สมดุลของระบบทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย ทั้งนี้เพราะหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในเงื่อนไขการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นหัวใจหลักของประเทศประชาธิปไตย

จากปรากฏการณ์ของ “โรงแรมล้านดาว” ที่บรรดา “คนสนามหลวง” และแรงงานราคาถูกทั้งหลายมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมกันอีกครั้งหนึ่งว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลไกหรือระบบที่ใช้ในการจัดการสังคม “รัฐไทย” นั้น มีความผิดพลาดหรือบกพร่องในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือไม่?  มีฟันเฟืองทางสังคมตัวใดบ้างที่เรายังขาดแคลนอยู่ ชิ้นส่วนไหนหรือเครื่องจักรตัวใดในสังคมที่ควรได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

อาชญากรรมเชิงบวก ?

ในประเด็นสุดท้ายของบทความนี้ (อาชญากรรมเชิงบวก) ผู้เขียนไมได้มีเจตนาจะอภิปรายถึงความชอบธรรมหรือคุณประโยชน์ของ “อาชญากร” หรือ “มาเฟีย” ทั้งในอดีตและในยุคปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนั้นใคร่จะเป็นไปเพื่อการตั้งคำถามว่า (๑) ในพื้นที่สนามหลวงนั้นมี “มาเฟีย” (ในความหมายทั่วไป) อยู่จริงหรือไม่? และ (๒) ถ้ามีอยู่จริง ลักษณะการทำงานหรือกิจกรรมของพวกเขาเข้าข่าย “มาเฟีย” ในความหมายแบบสุดโต่งที่เกี่ยวข้องกับ กิจกรรมอันเป็น “มิจฉาชีพ” หรือ “อาชญากรรม”หรือไม่? อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากเราจะมาร่วมศึกษาความเป็นมาและความหมายที่แท้จริงของคำว่า “มาเฟีย” ในบางส่วน

โดยทั่วไปคำว่ามาเฟีย (Mafia) มักถูกใช้เรียกกลุ่มคนหรือสมาชิกของกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมอันเป็นมิจฉาชีพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนหรือบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม โดยดั้งเดิมแล้ว “มาเฟีย” (อีกชื่อคือ Cosa Nostra: โคซา นอสตรา) นั้นหมายรวมถึงกลุ่มพันธมิตรในยุคกลางของประเทศอิตาลีที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านชาวนอร์มัน (ชื่อของกลุ่มชนเผ่าหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปใช้เรียกขานดินแดนนอร์มังดี บริเวณทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในปัจจุบัน) และชาวเติร์ก (หรือชาวตุรกีในปัจจุบัน)  ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นคำเรียกองค์กรลับต่างๆ ในอิตาลี กล่าวคือ “มาเฟีย” เป็นคำที่ใช้เพื่อเรียกกลุ่มบุคคล องค์กรหรือสมาคมที่การดำเนินการต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างลับๆ และไม่มีกฎหมายรองรับ องค์กรหรือสมาคมในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 19 ในแค้วนซิซิลี ประเทศอิตาลี (อิตาลี: Sicilia, อังกฤษ: Sicily) จากนั้นจึงเริ่มแผ่กระจายไปยังอเมริกาและออสเตรเลีย[3] ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือลักษณะการทำงานของกลุ่มมาเฟียนั้น ไม่ได้ทำแต่เรื่องผิดกฎหมายในความหมายแบบสุดโต่งเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์กรที่คอยรับใช้พวกราชวงศ์และชนชั้นสูง ตลอดจนให้ความร่วมมือในการกระทำการบางอย่างขององค์กรที่มีอำนาจของรัฐ เช่น ในการแผ่ขยายอาณาเขตของประเทศตนเองในยุคนั้น เป็นต้น

หากองค์กร สมาคม หรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมใดๆซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ คือ “มาเฟีย” หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ “องค์กรอาชญากรรม” และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันเป็นมิจฉาชีพ คำถามคืออะไรคือความหมายของกิจกรรมอันเป็น “มิจฉาชีพ” หรือ “อาชญากรรม” ดังกล่าว? ในอดีตหากลักษณะการทำงานของกลุ่มมาเฟียคือการให้ความช่วยเหลือและรับใช้ราชวงศ์และองค์กรภาครัฐ แสดงว่ากิจกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์หรือบางนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นคือการกระทำที่เป็น “มิจฉาชีพ” และ “อาชญากรรม” ใช่หรือไม่?  ความสำคัญของการตั้งคำถามข้างต้นไม่ใช่การหาคำตอบว่ารัฐหรือราชวงศ์ทั้งในอดีตหรือในยุคปัจจุบันมีการดำเนินกิจกรรมประเภท “มิจฉาชีพ” หรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมประเภท “อาชญากรรม” อย่างไร เพราะประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในที่นี้คือ มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาล ราชวงศ์ หรือสังคมหนึ่งสังคมจำเป็นที่จะต้องใช้ “องค์กรลับ” เหล่านั้นเพื่อการดำเนินการบางอย่าง มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ในฐานะของผู้ปกครองซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลบริหารและจัดการสังคมให้เกิดความสมดุลนั้น มีบาง “สภาพการณ์” ที่ทั้งรัฐบาลหรือราชวงศ์ (อำนาจส่วนกลาง) ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางสังคมที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาได้ แน่นอนว่าหากมองในบางสภาพการณ์หรือ “ภาวะ” พิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมแล้ว คำตอบคือ “ใช่”  เพราะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นมีความหลากหลายทั้งความเชื่อ แนวคิด รูปแบบตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต ทำให้ในบางสังคม บางช่วงเวลา บางช่วงเหตุการณ์และในบางหน่วยสังคมขนาดย่อย กฎหมายหรือเครื่องมือทางสังคมส่วนกลางที่เป็นสากลทั่วไปไม่สามารถเข้าไปจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมองค์กรหรือสมาคมลับในฐานะผู้ช่วยของกลุ่มผู้ปกครองในอดีตจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเพื่อให้การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมหนึ่งๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น จำเป็นต้องมี “ข้อตกลงทางสังคม” ร่วมกัน กลุ่มบุคคลหรือบุคคลใด ที่กระทำการอันขัดต่อ “ข้อตกลงทางสังคม” จึงเปรียบได้ว่าเป็น “อาชญากรทางสังคม”

“สังคม” เป็นนามธรรม เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกขานกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ดำรงชีวิตร่วมกัน มนุษย์หรือ “สัตว์สังคม” กลุ่มนี้มีทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันในด้านพฤติกรรม ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนเหตุผลและแรงจูงใจในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสังคมสามารถประคองตัวเองให้อยู่ในภาวะสมดุลจากความแตกต่างดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมี “ข้อตกลงทางสังคม”[4] (social contract)  ร่วมกัน ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวมีไว้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมที่อาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ของสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม โดยมาตรการการควบคุมทางสังคมดังกล่าว นั้น มักถูกใช้ในรูปแบบของ กฎหมาย (ในความหมายของกฎระเบียบหรือข้อบังคับ) จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ฯลฯ

ในหนังสือ Léviathan[5] ของ ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เขาได้ให้ความหมายของ “ข้อตกลงทางสังคม” โดยเชื่อมโยงเข้ากับบริบทแห่งความปลอดภัยของสมาชิกในสังคม กล่าวคือฮอบส์เชื่อว่า “รัฐชาติ” หรือ “สังคมมนุษย์” ใดๆ ล้วนตั้งอยู่บน พื้นฐานของ ”สังเวียนแห่งการสู้รบ” กล่าวคือมนุษย์ล้วนมีธรรมชาติของการต่อสู้แข่งขันซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอดของตน  ดังนั้นสัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดของมนุษย์อันเป็นสาเหตุให้สังคมกลายเป็นเสมือนหนึ่ง ”สนามรบ” นี้เอง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในระดับต่างๆ กัน “ข้อตกลงทางสังคม” จึงเป็นเครื่องมือทางสังคมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อขจัดหรือช่วยลดความขัดแย้งนั้น หรือกล่าวให้ชัดเจนอีกอย่างก็คือ “ข้อตกลงทางสังคม” นั้นมีไว้เพื่อปรับให้สังคมเกิดความสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมดุลระหว่างสัญชาติญาณความเห็นแก่ตัวเพื่อการเอาชีวิตรอดของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน (ช่วงประมาณปลายศตวรรษที่๑๗) ล็อค (John Locke) ได้สร้างทฤษฎีของ “ข้อตกลงทางสังคม” ภายใต้หลักการแห่ง “สิทธิส่วนบุคคลตามธรรมชาติ”[6] (Natural law) ที่สมาชิกทุกคนในสังคมล้วนมีโดยกำเนิดอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ในหนังสือ Two Treatises of Government [7] ล็อคจึงให้ความหมายของ “ข้อตกลงทางสังคม” ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเป็นหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลพึงมีพึงได้ตามธรรมชาติในการดำรงชีวิต ดังนั้น รัฐหรือผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ดำเนินการตาม “ข้อตกลงทางสังคม” เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นบานในการดำรงชีวิตของประชาชน ในขณะที่ฮอบส์พูดถึง “ข้อตกลงทางสังคม” อันเกี่ยวกับความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในชีวิต และ ล็อคได้อธิบายในมิติของสิทธิและเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น  ในอีกด้าหนึ่ง รุซโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้ให้นิยามของ “ข้อตกลงทางสังคม” ในมุมมองของสังคมสมัยใหม่ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยรุซโซ่ ได้เสนอว่า “ข้อตกลงทางสังคม” ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของบุคคล[8] ในบริบทเดียวกันนี้รุซโซ ได้ให้ความหมายของ “อาชญากรทางสังคม” ว่าคือองค์กร กลุ่มบุคคล หรือบุคคลใดๆ ที่กระทำการอันเป็นการลิดรอนหรือบ่อนทำลายซึ่งอำนาจอธิปไตยของสมาชิกในสังคม หากพิจารณาถึงตรงนี้ เราอาจกล่าได้ว่า “อาชญากร” ในสังคมหนึ่ง ก็คือกลุ่มบุคคล หรือบุคคลใดๆ ที่กระทำการหรือประกอบกิจกรรมที่ขัดต่อ “ข้อตกลงทางสังคม” ของสังคมนั้นๆ อย่างไรก็ตาม หากเรายอมรับว่าสังคมแต่ละสังคมล้วนมีความแตกต่างกัน และ “ข้อตกลงทางสังคม” ไม่ได้มีระเบียบแบบแผนอันเป็นสากล (universal) หมายความว่า “ข้อตกลงทางสังคม” ของสังคมใดย่อมมีคุณค่าและขีดความสามารถในการรักษาสมดุลทางสังคมได้ในแบบเฉพาะตนเท่านั้น  ในทำนองเดียวกัน    “อาชญกร” หรือ  อีก นัยย์หนึ่งก็คือผู้ที่กระทำการที่ขัดต่อ “ข้อตกลงทางสังคม” ในสังคมหนึ่ง ย่อมไม่ได้หมายความว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็น “อาชญากร” ในสังคมอื่นๆ เสมอไป

หากวิถีชีวิตของคนในสังคมปกติทั่วไปมีความสลับซับซ้อนและยากต่อการจัดการดูแลโดย “ผู้ปกครอง” กล่าวคือเครื่องมือการจัดการทางสังคมไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางสภาพการณ์แล้ว ชุมชนเสมือนจริงที่มีลักษณะพิเศษอย่าง “สนามหลวง” จำเป็นต้องมี “ผู้ปกครอง” หรือ “ข้อตกลงทางสังคม” ในรูปแบบเฉพาะของตนเองหรือไม่?

ดังที่ได้กล่าวไปว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเพื่อให้การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น จำเป็นต้องมี “ข้อตกลงทางสังคม”  ร่วมกัน นอกจากนี้ เนื่องด้วยในทุกสังคมล้วนมีความเป็นไปได้ที่จะต้องประสบกับ “สภาพการณ์พิเศษ” ที่ “ข้อตกลงทางสังคม” ไม่สามารถจัดการได้ และนั่นคือที่มาว่าทำไม “องค์กรลับ” หรือ “มาเฟีย” ที่ไม่มีกฎหมายรองรับจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในฐานะของผู้ช่วยรัฐบาลในการจัดการกับ “สภาพการณ์พิเศษ” ดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีระบบความคิดและพฤติกรรมที่ซับซ้อน ทำให้การทำความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงหรือแรงจูงใจในการกระทำการต่างๆของ “มนุษย์” นั้นจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มนุษย์มีความเป็น “ปัจเจก” (individual) มากขึ้น ดังนั้น “สังคม” ที่ประกอบไปด้วย “ปัจเจก” จำนวนมากจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญที่ตามมาก็คือ “ข้อตกลงทางสังคม”  ไม่สามารถทำให้เกิดสมดุลในสังคมได้อย่างเต็มที่

หากวิถีชีวิตของคนในสังคมปกติทั่วไปมีความสลับซับซ้อนและยากต่อการจัดการดูแลโดย “ผู้ปกครอง” ในฐานะผู้ใช้ “ข้อตกลงทางสังคม” แล้ว ชุมชนเสมือนจริงในลักษณะพิเศษอย่าง “สนามหลวง” อันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคโลกาภิวัตน์นั้น จำเป็นต้องมี “ข้อตกลงทางสังคม” ในรูปแบบเฉพาะของตนเองหรือไม่  สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือปัญหาในพื้นที่สนามหลวงนั้นเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้าน ผู้ขายบริการทางเพศทั้งชายและหญิง ตลาดนัดริมทางเท้า หรือแม้กระทั่งกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ฯลฯ เหล่านี้ถือว่าเป็นสภาพการณ์พิเศษของกรุงเทพฯ หรือสังคมไทย ด้วยข้อมูลอันจำกัดผู้เขียนไม่สารถบอกได้ว่าเครื่องมือทางสังคมต่างๆของไทย ทั้งกฎหมาย หน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ถูกสร้างขึ้นตาม “ข้อตกลงทางสังคม” ของเรานั้น เดินทางมาถึงทางตันจนถึงที่สุดแล้วหรือยัง ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ว่าสภาพการณ์พิเศษของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงนั้น ซับซ้อนเกินกว่าที่กลไกต่างๆ ของสังคมไทยจะเยียวยาได้อย่างสิ้นเชิงแล้วหรือยัง แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะอนุมานได้ก็คือ มีความเป็นไปได้สูงที่กลไกต่างๆ ของสังคมไทยนั้นน่าจะมีจุดบกพร่องในบางส่วน เพราะหากเรามองย้อนไปในอดีตวกกลับมาในปัจจุบัน วงจรชีวิตของ “คนสนามหลวง” ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลยแม้แต่น้อย ถ้าจะมีที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นไปในส่วนของจำนวน “ปัญหา” ที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับปริมาณ “คนสนามหลวง” ที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น หากพิจารณาจากปรากฏการที่เกิดขึ้นในพื้นที่สนามหลวง เราจะเห็นถึงความล้มเหลวในบางส่วนของ “ข้อตกลงทางสังคม” ของไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่ไม่ใช่ที่ “ตัวคนใช้” (รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ก็เป็นปัญหาที่ “ตัวกฎ” (กฎหมาย ระเบียบ หรือกลไกต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหา)

“คนสนามหลวง” ไม่ใช่กลุ่มประชากรในความหมายของการแบ่งเขตการปกครอง ในทำนองเดียวกัน “ชุมชนสนามหลวง” ก็เป็นเพียงการอุปมาเชิงเปรียบเทียบ เพราะอย่างไรแล้ว “สนามหลวง” ก็เป็นเพียงสถานที่สาธารณะซึ่งไม่มีสถานภาพเทียบเท่าเขตการปกครองทั่วๆไปแม้แต่น้อย ไม่ว่าในด้านใดๆ แต่การมองสนามหลวงและกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือน “ชุมชน” และ “ชาว” สนามหลวงนั้นจะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และก็ด้วยมุมมองในแบบเดียวกันนี่เองที่ทำให้เรามองเห็นว่า “สนามหลวง” นั้นมี “ผู้ปกครอง” และ “ข้อตกลงทางสังคม” ในรูปแบบเฉพาะของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาของคนทั่วไป กลุ่ม “ผู้ปกครอง” ในพื้นที่สนามหลวงแห่งนี้ก็คือ “มาเฟีย” เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับแล้ว พฤติกรรมหรือลักษณะการทำงานของพวกเขา ก็คือการกระทำที่เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นภายใต้กระบวนการที่ขัดต่อ “ข้อตกลงทางสังคม” ของสังคมส่วนกลาง

หากการเกิดขึ้นและมีอยู่จริงของ “มาเฟีย” ตามหลักคิดแบบ “สภาพจริงนิยม” (realism) มองว่าในทุกภาคส่วนและในทุกระดับของสังคมมนุษย์ล้วนประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่กดขี่ เอาเปรียบ และหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าเสมอแล้ว “มาเฟีย” ในพิ้นที่สนามหลวงถือว่าเป็น ”อาชญากรรมเชิงบวก” ได้หรือไม่?

จากการลงพื้นเพื่อทำการสังเกตการณ์ภาคสนาม ณ ท้องสนามหลวงนั้น ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้สังเกตการณ์สภาพความเป็นอยู่ของ “คนสนามหลวง” เกือบทุกกลุ่ม โอกาสเดียวกันนี้ผู้เขียนก็ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “มาเฟีย” ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์ดังกล่าวนั้นเป็นไปเพียงในรูปแบบของการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น (informal discussion ) ทั้งนี้เพราะจุดประสงค์หลักของการทำงานภาคสนามในครั้งนี้คือการสังเกตการณ์ (observation) ไม่ใช่การสัมภาษณ์ (interview )  นอกจากการสนทนาดังกล่าวแล้ว กลุ่มมาเฟียยังอาสานำผู้เขียนลงสำรวจพื้นที่ต่างๆ โดยรอบสนามหลวงโดยเฉพาะในเขตที่พวกเขาทำงานอีกด้วย

ในพื้นที่สนามหลวงก็เหมือนกับ “สังคม” อื่นๆ กล่าวคือ ชุมชนเสมือนจริงแห่งนี้ก็เหมือนกับชุมชนปกติทั่วไปตรงที่ชีวิตประจำวันของสมาชิกในชุมชนล้วนต้องเกิดการกระทบกระทั่งกันหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติวิสัยมนุษย์ เช่น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขายบริการฯ ที่มีสาเหตุมาจากการแย่งลูกค้าหรือปัญหาการล้ำเขตการทำงาน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนเร่ร่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการมึนเมาสุรา ปัญหาการลักขโมยหรือแม้กระทั้งความขัดแย้งหรือปัญหาเล็กๆ น้อยที่เกิดขึ้นกับบรรดาพ่อค้า แม่ค้าตลาดนัดริมทางเท้าในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนเมาหรือความขัดแย้งที่รุนแรงและมีผลต่อการทำงานของผู้ขายบริการหรือพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดริมทางเท้า แต่ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข หากไม่เช่นนั้น “วิกฤตการณ์” และความสับสนอลหม่านต้องเกิดขึ้นกับ “คนสนามหลวง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ดังที่เราทราบแล้วว่าวิถีชีวิตของ “คนสนามหลวง” ส่วนใหญ่นั้นเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตหรือรูปแบบการทำงานที่ “ไร้สภาพ” และไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับสังคมส่วนกลาง ทั้งนี้เพราะลักษณะงานหรือสถานภาพส่วนใหญ่ของ “คนสนามหลวง” นั้น ไมได้รับการรองรับหรือไม่ได้รับอนุญาตจากกฎหมาย เช่น กลุ่มผู้ขายบริการฯ และคนเร่ร่อนไร้บ้าน ที่ไม่มีหลักฐานประจำตัว หรือการขายของในพื้นที่ต้องห้ามของพ่อค้า แม่ค้าบางส่วน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีเหตุการณ์หรือ “วิกฤตการณ์” แห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาด้วยการแจ้งตำรวจหรือประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาดูแลนั้น ย่อมจะทำให้ขนาดของ “วิกฤตการณ์” ที่จะเกิดตามมาทวีความรุนแรงขึ้นเป็นหลายเท่า เพราะ “คนสนามหลวง” ทุกกลุ่มจะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการยื่นมือเข้าช่วยของตำรวจหรือภาครัฐ

“มาเฟีย” แม้จะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหานี้ แต่ก็เป็นหนทางที่ “เกิดผลข้างเคียง” กับคนในพื้นที่น้อยที่สุด ชายรูปร่างปานกลาง วัยประมาณ ๕๕ ปี แต่ดูมีลักษณะสุขภาพร่างกายค่อนข้างแข็งแรง เขาคือผู้ซึ่งคนในสนามหลวงรู้จักในนามของ “พ่อ” หรือ “ป๋า” แต่ในสายตาของคนทั่วไปชายผู้นี้ก็คือ “มาเฟีย” ที่มีอิทธิพลในพื้นสนามหลวง จากคำบอกเล่าของเขาทำให้ผู้เขียนได้ทราบถึงโครงสร้างและลักษณะการทำงานของ “มาเฟีย” ในพื้นที่สนามหลวงในระดับหนึ่ง นอกจากเขาในฐานะหัวหน้ากลุ่มแล้ว ยังมีสมาชิกคนอื่นๆ อีกประมาณยี่สิบคน  โดยประกอบไปด้วย ๑ คนที่อยู่ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่ม ผู้ซึ่งสามารถดำเนินการต่างๆ แทนหัวหน้ากลุ่มได้ในกรณีที่หัวหน้ากลุ่มไม่อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่อยู่ในระดับหัวหน้าสายอีก ๔ คนตามการแบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็นสี่โซนตามมุมทั้งสี่มุมของท้องสนามหลวง ซึ่งหัวหน้าสายแต่ละคนนั้นจะมีผู้ช่วยในการทำงานอีกประมาณ ๔ คนต่อหนึ่งโซน ตลอดการสนทนาและการลงสำรวจพื้นที่ในแต่ละโซนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสามารถสังเกตเห็นได้เป็นปรกติคือการทักทายกันระหว่าง “คนสนามหลวง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดริมทางเท้ากับกลุ่มมาเฟีย ไม่ใช่เรื่องที่พิเศษอะไรที่คนในพื้นที่จะต้องทักทายกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า “มาเฟีย” และมีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ แต่นอกจากคำว่า “พ่อ” หรือ “ป๋า” ที่เป็นการแสดงถึงการให้ความเคารพชายผู้นี้แล้ว “น้ำเสียง” และ “แววตา” ของคนที่ทักทายหัวหน้ากลุ่มมาเฟีย นั้น ล้วนเป็นไปในทำนองของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองฝ่าย ข้อความต่อไปนี้คือบางส่วนจากบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและหัวหน้ากลุ่มมาเฟีย

“ลักษณะท่าทางของผมเหมือนมาเฟียหรือเปล่า?(…) ลองถามคนแถวนี้ก็ได้ว่าผมเคยทำอะไรอย่างที่คนทั่วไปว่ามั้ย (…) เป็นเรื่องจริงที่ในบางครั้งเราต้องมีความเด็ดขาดและใช้วิธีการที่หนักหน่วงบ้าง แต่จริงๆ แล้วคนที่นี่เขาไม่ได้เคารพผมด้วยพระเดชผมนะ  เขานับถือเราด้วยพระคุณมากกว่า”

ทั้งจากสิ่งที่เราสังเกตเห็นในการลงสำรวจพื้นที่โดยรอบๆ บริเวณแถบนั้น และจากบทสนทนากับกลุ่มมาเฟียที่พยายามชี้ชวนว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ใช่มาเฟียในความหมายสุดโต่งเหมือนที่คนภายนอกมองเข้ามา ไม่ใช่ข้อสรุปแต่ทั้งหมดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มตั้งคำถามว่า “อาชญากรรมเชิงบวก” นั้นมีจริงหรือไม่ “อาชญากรรม” ซึ่งความหมายของคำก็ชัดเจนยู่ในตัวมันเองแล้วว่าไม่ใช่สิ่งที่ดี จะมีมิติไหนที่เชื่อมโยงกับการกระทำที่เป็นบวกหรือเกิดประโยชน์กับส่วนรวมได้หรือไม่? จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการทำงานด้านสังคมศาสตร์ ทำให้ผู้เขียนตระหนักเสมอว่าบุคคลล้วนไม่มีความจำเป็นจะต้องบอกหรือแสดงออกซึ่ง “ความจริง” หรือสิ่งที่เราอยากรู้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสัมภาษณ์หรือสังเกตการณ์ทางสังคมวิทยาแล้ว ไม่มีวิธีการไหนสามารถพิสูจน์ความเป็น “จริง” หรือ “เท็จ” ของเรื่องราวเหล่านี้ได้ สิ่งเดียวที่เราอาจจะทำได้คือการพยายามอธิบาย “ชุดข้อมูลเชิงประจักษ์” ที่เราได้มาอย่างมีแบบแผนว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนหรือกลุ่มคนที่ให้ข้อมูลเหล่านั้นมา ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพของคนในพื้นที่ที่มีต่อกลุ่มมาเฟีย หรือแม้แต่เรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาพยายามสะท้อนออกมาผ่านคำพูดในเชิงบวกของการทำงานในพื้นที่ของ “มาเฟีย” กลุ่มนี้ เหนือสิ่งอื่นใด แน่นอนว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริงหรือในกรณีตรงข้าม แต่สิ่งที่เราอาจจะเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านี้ก็คือ ทำไมพวกเขาถึงอยากให้เราทราบถึง “ชุดข้อมูลเชิงประจักษ์” ชุดนี้?

หากตามหลักคิดแบบ “สภาพจริงนิยม” (realism)  ซึ่งมองว่าในทุกภาคส่วนและในทุกระดับของสังคมมนุษย์ล้วนประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่กดขี่ เอาเปรียบ และหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าเสมอ ทั้งในรูปแบบที่สุดโต่ง เช่น กลุ่มนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร กลุ่มขุนนางและชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยที่มักจะเอาเปรียบและรีดไถราษฎรอย่างเป็นรูปธรรมอยู่เป็นประจำ หรือในรูปแบบที่แฝงไว้ด้วยข้ออ้างตามภาระหน้าที่ เช่น การที่กลุ่มขุนนางได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมกลายเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและคนในสังคมให้การยอมรับ ทั้งที่ในความเป็นจริงตาม “สภาพจริงนิยม” นั้น การ กระทำในลักษณะดังกล่าวก็คือ การเอาเปรียบคนอื่นภายใต้วาทกรรมที่แฝงไว้ด้วยข้ออ้างเรื่อง “บทบาททางสังคม” ทั้งนี้เพราะคนที่กำหนด (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ว่าใครหรือกลุ่มคนประเภทไหนควรจะได้รับค่าตอบแทนเท่าใดนั้นก็คือกลุ่มพวกขุนนางด้วยกันเอง ซึ่งหากพิจารณาจากจุดนี้เราย่อมเห็นว่านี่คือการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบคนอื่นๆ ในสังคมอย่างไม่เป็นธรรม และแทบจะไม่ต่างจากกลุ่มคนที่กดขี่และเอาเปรียบผู้อื่นในรูปแบบที่สุดโต่งเลย

ในส่วนแรกเราจะเห็นว่ากลุ่มนายทุนและขุนนางที่เอาเปรียบผู้อื่นในรูปแบบที่สุดโต่งและโจ่งแจ้งนั้นถือเป็นการกระทำที่ผิดและกลายเป็น “อาชญากรทางสังคม” ในขณะที่ในส่วนที่สอง คือ กลุ่มขุนนางที่เอาเปรียบผู้อื่นในรูปแบบแฝง นั้น กลับมีความชอบธรรมในการกระทำกิจกรรมอันเป็น “อาชญากรรม” ได้ ความสำคัญของการมองโครงสร้างสังคมในลักษณะนี้ช่วยให้เราเข้าใจการเกิดขึ้นและมีอยู่จริงของระบบที่เรียกว่า “มาเฟีย” ในสังคมมนุษย์ กล่าวคือ “มาเฟีย” นั้น เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงอย่างที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ บางรูปแบบเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคน หรือบุคคลอื่นโดยตรงและอย่างโจ่งแจ้ง แน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็ถูกพิพากษาจากสังคมว่าคือ “อาชญากร” อย่างไรก็ตาม “มาเฟีย” ในบางรูปแบบนั้น (เช่น แบบแฝง ดังตัวอย่างที่กล่าวไป) ก็ถูกวาทกรรมของความชอบธรรมแห่ง “ภาระหน้าที่” และ “บทบาททางสังคม” บดบังความเป็น “อาชญากรรม” ของคนกลุ่มนี้ไว้ 

ในส่วนของกลุ่ม “มาเฟีย” ในพื้นที่สนามหลวงนั้น ดังที่กล่าวไปว่าเราไม่สามารถทราบถึงข้อเท็จจริงได้เลยว่าพวกเขามีเจตนาที่ดีต่อคนในพื้นที่จริง หรือแฝงไว้ด้วยกระบวนการที่เป็นไปเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่เราได้เรียนรู้จาก “มาเฟีย” ในพื้นที่สนามหลวงก็คือ พวกเขาล้วนต้องการ “ภาพ” ของความชอบธรรมในการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้  ซึ่งคำอธิบายนี้ก็เชื่อมโยงถึงตัวอย่างของกลุ่มขุนนางที่เอาเปรียบผู้อื่นในรูปแบบแฝงที่เราได้กล่าวถึงไปก่อนหน้า ทั้ง “บทบาท” และ “ภาระหน้าที่” ของมาเฟียกลุ่มนี้ ซึ่งพวกเขาพยายามบอกเราว่าคือการดูแลและสร้างสมดุลต่อคนในพื้นที่นั้น เป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมเพียงพอต่อการที่เขาจะได้รับค่าตอบแทนในจำนวนหนึ่ง จาก “คนสนามหลวง” 

ข้ออ้างของชนชั้นปกครอง ขุนนาง หรืออภิสิทธิชนต่อค่าตอบแทนที่สูงหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ตนและพวกพ้องมีนั้น เป็นผลมาจาก “บทบาททางสังคม” ที่มีความสำคัญและทรงคุณค่ามากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม และ “ภาระหน้าที่” (เช่น หน้าที่บริหาร นิติบัญญัติ ฯลฯ ) ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ ข้ออ้างนี้กล่าวโดยง่ายก็คือ “ฉันอยู่ในสถานะที่มีความสำคัญต่อสังคมมาก ฉันจึงต้องได้รับผลตอบแทนที่มากตามไปด้วย” ในทำนองเดียวกัน ระหว่างที่เรายังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงของ “ชุดข้อมูลเชิงประจักษ์” ที่กลุ่มมาเฟียในพื้นที่สนามหลวงพยายามบอกเราว่าการทำงานของพวกเขาไม่ได้เป็น “มาเฟีย” ตามที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้และอาจจะอธิบายถึงของความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลเชิงบวกนี้กับกลุ่มมาเฟียในพื้นที่สนามหลวงคือ พวกเขาเพียงพยายามสื่อสารถึงความสำคัญแห่ง “บทบาท” และ “ภาระหน้าที่” ของพวกเขาในพื้นที่สนามหลวง คล้ายกับที่ชนชั้นปกครอง และขุนนางในสังคมส่วนกลางพยายามจะสื่อสาร แต่ด้วยข้อจำกัดทางสังคมบางประการ พวกเขาไม่สามารถจะสื่อสารได้ด้วยประโยค “ฉันอยู่ในสถานะที่มีความสำคัญต่อสังคมมาก ฉันจึงต้องได้รับผลตอบแทนที่มากตามไปด้วย”  อย่างไรก็ตาม คงเป็นการไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง หากเราจะสรุปว่าทั้งมาเฟียในพื้นที่สนามหลวงและชนชั้นปกครองฯในสังคมทั่วไปนั้นล้วนคือ “อาชญากร” ในรูปแบบแฝง เพราะหากมีการพิสูจน์ได้ว่า “บทบาท” และ “ภาระหน้าที่”  ของพวกเขามีความสำคัญจริง ค่าตอบแทนหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ของพวกเขาก็ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบธรรมจริงตามไปด้วย ปัญหาคือมีการพิสูจน์หรือยัง? และจะมีการพิสูจน์อย่างไร?

บทส่งท้าย

ในบทส่งท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนจะได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมจากการทำงานภาคสนามกับสมาคมฯ ในครั้งนี้เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน การสังเกตการณ์ พร้อมทั้งจะพยายามสรุปถึงประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า หรือในงานวิจัยภาคสนามเชิงสังคมวิทยาในโอกาสต่อไป

ตลอดระยะเวลาประมาณ ๖ สัปดาห์ของการฝึกงานกับสมาคมฯ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของสมาคมฯ ทั้งในส่วนของงานวิชาการ เช่นการจัดงานสัมมนา เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังกัป “ความเป็นชายขอบ” ฯลฯ และงานภาคสนามในพื้นที่เป้าหมาย ณ ท้องสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวนั้นส่งผลให้ผู้เขียนเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน และผู้ขายบริการทางเพศในพื้นที่สาธารณะ  นอกจากนี้การมีโอกาสได้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ทำงานจริงนั้น ยังช่วยให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ถึงการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในภาวะต่างๆ กันของการลงพื้นที่ภาคสนามด้วย กล่าวคือ ในการลงพื้นที่เพื่อพบประกับ “กลุ่มประชากรเป้าหมาย” ในลักษณะบริบทต่างๆ นั้น ย่อมมีรายละเอียดของเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งทักษะในการปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์เหล่านั้นไม่สารถเรียนรู้ได้จากตำรา แต่ช่องทางเดียวที่เราจะมีโอกาสได้ฝึกทักษะดังกล่าวก็คือการลงไปสัมผัสและอยู่ในสานการณ์นั้นจริงๆ การมีโอกาสได้ปฏิบัติงานจริงกับสมาคมฯในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการปรับตัวดังกล่าว

ดังที่ได้เรียนไปตั้งแต่ต้นของบทความนี้ ว่าผู้เขียนได้ถือเอาโอกาสการไปฝึกงานในครั้งนี้เพื่อทำการสังเกตการณ์ภาคสนามเชิงสังคมวิทยาภายใต้สังกับ “คนชายขอบ”  ซึ่งบางส่วนของข้อมูลและผลจากการ สังเกตการณ์ดังกล่าวก็ได้มีการอธิบายไปแล้วใน ๔ ประเด็นหลัก หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ๔ มุมมองที่ผู้เขียนได้สะท้อนภาพของสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงผ่านบทความนี้ อันได้แก่ ชีวิตไร้สภาพ จริยธรรมและความอยู่รอด โรงแรงล้านดาว และอาชญากรรมเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการพรรณนาถึงรูปแบบวิถีชีวิตและ/หรือการทำงานของ “คนสนามหลวง” กลุ่มต่างๆ เช่น คนเร่ร่อนไร้บ้าน กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศในพื้นที่สาธารณะ แรงงานหรือคนพลัดถิ่นที่ใช้บริการเช่าเสื่อนอนในราคา ๒๐ บาท ตลอดจนกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สนามหลวงหรือ “มาเฟีย” นั้น สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะอธิบายตลอดเวลาก็คือการเชิญชวนให้ผู้อ่านเปิดมุมมองที่ปราศจากอคติภายใต้แนวคิดประเภท “อุดมการณ์นิยม” (idealism) และร่วมกันวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดแบบ “สภาพจริงนิยม” (realism)  ทั้งนี้เพราะกลุ่มคนสนามหลวงที่อยู่ในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” หรือกลุ่มบุคคลคนอื่นๆ เช่น กลุ่ม “มาเฟีย” ที่มีความเกี่ยวข้องกันนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงในสังคมไทย และที่สำคัญที่สุด “สาเหตุ”  หรือ “ปัจจัย” ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ก็คือ ความผิดพลาดหรือข้อจำกัดบางอย่างของกลไกทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ “ทุน” ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมฯลฯ  ดั่งนี้ ด้วยกลไกเดิมบางส่วนที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ผนวกกับกระแสของ “โลกาภิวัตน์” ที่ “ทุน” คือผู้กำหนดทิศของสังคมในทุกระดับ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยเพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีมากขึ้น ปริมานของคนจนเมืองมีมากขึ้น ฯลฯ ปัญหาหรือปรากฏการณ์ทางสังคมของกลุ่มคนชายขอบในพื้นที่สนามหลวง จึงเป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของวิกฤติการความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งภาพสะท้อนที่สำคัญที่สุดจากทั้ง “๔ มุม”  ที่ผู้เขียนพยายาม “มอง” รูปแบบและเงื่อนไขการดำรงชีวิตของ “คนชายขอบ” ณ บริเวณท้องสนามหลวง (และบริเวณใกล้เคียง) นั้น คือการตั้งคำถามถึงบทบาทและการดำรงอยู่ของสถาบันหลักทางสังคมไทย หากในบริบทแห่งสภาพความจริง “สนามหลวง” รายล้อมไปด้วยสถานที่ที่มีความสำคัญมากมาย เช่น “วัด”, “มหาวิทยาลัย”, “ศาล”,“พิพิธภัณฑ์และโรงละคร”,“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ฯลฯ  ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์สถานที่เหล่านี้ล้วนถือเป็นตัวแทนของสถาบันหลักทางสังคมในหลายๆ ด้าน ไม่จะเป็น “สถาบันการศึกษา” “สถาบันการเมือง”  “สถาบันตุลาการ” หรือแม้แต่สถาบันศาสนา”และ “วัฒนธรรม” เป็นต้น ประเด็นปัญหาคือ เป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่ยังมี “คนสนามหลวง” หรือ “คนชายขอบ” เป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมทางสังคมเหล่านี้ ? หากในสังคมใดๆ การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของสถาบันต่างๆ ทางสังคมเป็นไปเพื่อการรักษาสมดุลในระบบซึ่งเชื่อมโยงกับความผาสุกในวิถีการดำรงชีวิตของสมาชิกในสังคม คำถามคือ “ปรากฏการณ์ของกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ” ณ บริเวณท้องสนามหลวงนั้น ถือเป็นความสมดุลในระบบสังคมไทยหรือไม่? สถาบันหลักทางสังคมไทยได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่?

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่จะอธิบายถึงความสำคัญจากการทำงานภาคสนามในครั้งนี้คือ ปรากฏการณ์ทางสังคมอันเกี่ยวข้องกับภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ของ “คนสนามหลวง” นั้น ทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงความหมายที่ว่า “มนุษย์” คือ “สัตว์สังคม” มากยิ่งขึ้น กล่าวคือมนุษย์นั้นมีแนวโน้มโดยสัญชาติญาณที่ใคร่จะดำรงชีวิตภายใต้กฎระเบียบและมาตรการการควบคุมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ทั้งในความหมายของกฎข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม และในความหมายของจารีต ธรรมเนียมปฏิบัติหรือประเพณี  สังคมใดๆ ก็ตามจะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นสังคมได้ หากไม่มีเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ (เช่น กฎหมาย) ดังนั้นเมื่อเราเอ่ยถึง “สังคม” หรือ “ชุมชน” นอกจากตัวมนุษย์หรือสมาชิกของสังคมและชุมชนจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกส่วนก็คือ “ข้อตกลงทางสังคม” เพราะหากไม่มีข้อตกลงหรือเครื่องมือในการจัดการสังคมดังกล่าว “สังคม” หรือ “ชุมชน”  นั้น ย่อมไม่ใช่สังคมในความหมายของสังคมมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากการอยู่รวมกันของสัตว์ประเภทอื่นบนโลก

หากพิจารณาจากข้างต้น อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาต่อไป หรืออย่างน้อยน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็คือ ในชุมชนเสมือจริงอย่างสนามหลวง หรือสังคมย่อยที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ นั้น มีกระบวนการในการสร้าง “ข้อตกลงทางสังคม” เฉพาะของพวกเขาได้อย่างไรท่ามกลางพลังอำนาจแห่ง “ข้อตกลงทางสังคม” ของสังคมส่วนกลางที่คลอบพวกเขาอยู่อีกชั้นหนึ่ง? การศึกษาทางสังคมวิทยาอย่างเป็นระบบจากตัวอย่างของชุมชนเสมือนจริง ณ บริเวณท้องสนามหลวงนี้ จะสามารถช่วยอธิบายความซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในสังคมใดๆ ได้หรือไม่?      



[1] //www.midnightuniv.org/%e0%b9%94-%e0%b8%a1%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%87-%e0%b8%97%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87-%e0%b8%95%e0%b8%ad

[2] กลุ่มคนที่ไม่ประกอบอาชีพและไม่ทำงานในที่นี้ไม่ได้รวมถึงกลุ่มคนที่ตกงาน เพราะการตกงานเป็นประเด็นปัญหาเรื่อง “อัตราการว่างงาน” ในสังคมที่ต้องอธิบายถึงที่มาของปัญหาดังกล่าวในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งในบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึง

[3] Falcone G et M. Padovani, Cose di Cosa Nostra, 1991, Milan, Rizzoli, p. 96; cité par Matard-Bonucci, in Histoire de la mafia, Complexe, 1993, p.118

[4] คำว่าsocial contract นั้นมักแปลว่า “สัญญาประชาคม” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน นั่นคือความตกลงร่วมกันของประชาชน  กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกัน  หรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกันกับฝ่ายตรงข้าม  เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้าง  และหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม  อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่จะใช้คำว่า “ข้อตกลงทางสังคม” มากกว่า ทั้งนี้เพราะต้องการจะสื่อความหมายถึงข้อตกลงขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตร่วมกันที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในสังคมส่วนกลาง.

[5] Thomas Hobbes, Leviathan ( or The Matter, Forme and Power of a Common Wealth Ecclesiasticall and Civil ),  1651.

[6] “สิทธิส่วนบุคคลตามธรรมชาติ” หรือNatural law นั้นไม่ได้หมายถึง “สิทธิมนุษยชน” หรือ Human right “สิทธิส่วนบุคคลตามธรรมชาติ” นั้นสัมพันธ์กับสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่และการใช้ชีวิตของมนุษย์ในฐานะ “สิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดในสังคม” ในขณะที่ “สิทธิมนุษยชน” นั้นมีความหมายคลอบคลุมทั้งมิติของสิทธิขั้นพื้นฐานเบื้องต้นดังกล่าว แต่รวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสังคม และวัฒนธรรมด้วย กล่าวอีกอย่างก็คือ “สิทธิส่วนบุคคลตามธรรมชาติ” หรือNatural law นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ  “สิทธิมนุษยชน” หรือHuman right นั่นเอง.

[7] John Locke , Two Treatises of Government, 1690.

[8] Jean-Jacques Rousseau, Du contrat social ou Principes du droit politique,  1762.




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2559 23:37:57 น. 0 comments
Counter : 556 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.