THANON VEE (ถนนวี)

thanonvee
Location :
Paris France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thanonvee's blog to your web]
Links
 

 
ปารีสในมุมที่วัลยายังไม่เห็น : รำลึก ความรักของวัลยา และ การจากไปของเสนีย์ เสาวพงศ์



เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://blogazine.pub/blogs/thanon/post/5147 9 December 2014


“การศึกษาเรื่องของชีวิตนั้น เราต้องศึกษาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของชีวิต ไม่ใช่ศึกษาจากหนังสือของนักคิดของพวกมีปัญญาที่นั่งคิดนั่งฝันเอาเอง” --เสนีย์ เสาวพงศ์. ความรักของวัลยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. 2548. หน้า 48.


เมื่อสักสามปีที่แล้ว ผมได้อ่านข้อเขียนสะท้อนความคิดของมิตรสหายท่านหนึ่งที่มีต่อ ความรักของวัลยา เธอเล่าว่าหากเธอได้อ่านหนังสือเล่มนี้เร็วกว่านั้นสักแปดปี เธอ “อาจจะเป็นวัลยา” แต่เพราะเธอได้อ่านมันในช่วงท้าย ๆ ที่เธอจะอยู่ปารีสและเป็นวันที่ชีวิต “ผ่านริ้วรอย” มาพอสมควรแล้ว นักเรียนไทยผู้ใช้ชีวิตในฝรั่งเศสมาเกือบหนึ่งทศวรรษผู้นี้จึงรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ใช่วัลยา”

หนึ่งปีถัดมา ผมย้ายมาเรียนที่ปารีส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มิตรสหายท่านนี้ใกล้จะสำเร็จการศึกษา หลังจากคุยกันตามโอกาสต่าง ๆ เธอรู้ว่าผมสนใจ ความรักของวัลยา ก่อนเดินทางกลับเมืองไทยเธอจึงให้หนังสือเล่มนี้ไว้แก่ผม และว่า “อ่านแล้วคิดเห็นอย่างไรอย่าลืมเล่าให้ฟังบ้าง” ข้อเขียนเล็ก ๆ ชิ้นนี้ นอกจากเป็นการเล่าสู่กันฟังแล้ว ผมตั้งใจเขียนเพื่อรำลึกถึงเรื่องราว ความรักของวัลยา ที่เกิดขึ้นที่ปารีสเมื่อ 65 ปีก่อน
[1] และการจากไปของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวนั้น คือ เสนีย์ เสาวพงศ์ ด้วย

กัลยาณมิตรผู้มอบ ความรักของวัลยา ไว้ให้ผม ไม่คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นวัลยา เพราะจากประสบการณ์ชีวิตจริงของเธอ ปารีสไม่ได้มีเพียงฉากสวยงามที่ “เปี่ยมหวังและศรัทธา” ดังที่วัลยาและผองเพื่อนได้ฉายภาพ ส่วนผม แน่นอนว่าไม่มีทางเป็นวัลยาไปได้เช่นกัน (แหงล่ะ ก็ผมเป็นผู้ชายนี่ ฮา) แต่หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว สารภาพตามตรง “ผมนี่อยากรู้จักวัลยาเลย”

แต่เดี๋ยวก่อน! ผมไม่ได้อยากรู้จักวัลยาเพราะเธอเป็น “หญิงสาวอายุยี่สิบสี่ สวยและเรียนเก่ง” แถมพ่วงด้วยพรสวรรค์ด้านดนตรีดังที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้พรรณนาไว้หรอกนะ ผมอยากรู้จักและอยากเจอวัลยาเพราะอยากให้เธอได้มาเห็นปารีสในมุมที่เธออาจยังไม่เคยเห็น ปารีสในมุมที่ผมพึ่งได้เห็นและสัมผัสมา
[2] :

“วันหนึ่งตอนอายุ 13 เปิดเทอมพอดี พี่กำลังแต่งตัวไปโรงเรียน พ่อบอก 'ไม่ต้องไป โตแล้ว ออกมาช่วยกันหาเงิน' พี่นี่ร้อง.... (ลากเสียง) ทั้งวัน อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน (…) ที่มาฝรั่งเศสก็ไม่มีเหตุผลอื่น มาเพราะความจน มาหาเงินไปใช้หนี้เขา หาเลี้ยงพ่อแม่ หาเลี้ยงลูก ไม่อยากให้เขาเป็นเหมือนเรา อยากให้เรียนสูง ๆ  แต่มาไม่ใช่ง่ายนะ เสียเงินเสียทอง ค่าหัวเป็นแสน ๆ (…) มาอยู่นี่พูดตรง ๆ คือรายได้ดีกว่าบ้านเรา ตรงนี้ใคร ๆ ก็รู้ มาแล้วได้น้อยกว่าอยู่บ้านจะมาให้เหนื่อยกันทำไมว่ามั้ย (หัวเราะ) แต่ที่คนไม่ค่อยรู้คือไอ้ที่ต้องเจอะต้องเจอในแต่ละวัน บอกใคร ๆ เขาก็ไม่เชื่อ นี่ไม่ต้องใครเลย น้องสาวตัวเองนี่แล่ะ อยู่เมืองไทยนะ โทรไปทีไรขอจะมาอยู่ด้วยตลอด พี่บอกไม่ต้องมา อยู่นู่นพอมีรายได้ก็อยู่ไป อยู่กับพ่อกับแม่ มานี่มันลำบาก พูดให้ฟัง อธิบายให้ฟัง แต่ไม่เชื่อ หาว่าเราโกหกอีกต่างหาก ไม่รู้เราจะโกหกไปทำไม ยังไง ๆ ก็ไม่เชื่อ ไม่เข้าใจ ปารีสสำหรับเขามันคือเจริญ มันคือหรูหรา คนที่ไม่เคยมาสัมผัสเขานึกไม่ออกหรอกว่ามันเป็นยังไง อยู่แบบไม่มีหนังสือ (อยู่แบบผิดกฏหมาย) นี่ลำบากจริง ๆ หนาวก็หนาว ทำงานบางทีโชฟาส (เครื่องทำความร้อน) ก็ไม่มี” --บุญมา อายุ 53 ปี อยู่ปารีสแบบผิดกฏหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 มาจากชัยภูมิ

“ก็อยู่แถว ๆ นี้แล่ะ ร้านที่ทำงาน (…) มันเป็นห้องอับ ๆ ข้างใน มีจักรประมาณ 20-30 ตัว แล้วแต่ว่าจะมีคนงานกี่คน ก็ทำกันอยู่ในนั้น หน้าตงหน้าต่างก็ไม่มี เศษฝุ่นเศษผ้าก็อยู่กันในนั้น คนไทยที่นี่จะป่วยเป็นโรคนิ่ว (ผู้ให้สัมภาษณ์หมายถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะอักเสบ) กันบ่อย เป็นเยอะมาก เพราะว่ามัวแต่เย็บแล้วก็ ผู้หญิงนะ มัวแต่เย็บแล้วก็อั้นฉี่ไว้ นี่ยังไม่เส็จนั่นยังไม่เส็จก็อั้นไว้ (…) คนไทยคนขี้เกรงใจไง เกรงใจเจ้านาย เดี๋ยวเจ้านายมองดูว่าเราไปปิปี๊ (ไปฉี่) อีกแล้ว (ตอนทำงานมีคนคอยเฝ้าดูตลอด?) มันไม่เชิงเฝ้าดู แต่โดยสันดานคนไทยและคนที่ไม่มีหนังสือน่ะเค้าจะกลัวตรงนี้กันมากกว่า กลัวไม่ถูกใจเจ้านาย กลัวจะนั่นจะนี่ คืออยากทำให้งานเส็จ เจ้านายก็เร่ง พวกนี้มันเร่งได้มันก็เร่ง (…) บางโรงงานต้องนอนกันอยู่ในนั้น กินนอนกันอยู่ในนั้น ตื่นเช้ามาก็นั่งจักร แล้วก็เอาน้ำลูบตัวล้างตัวแค่นั้น บางทีก็เอาถุงปูแบล (ถุงขยะ) ดำ ๆ น่ะ เอามา เอามาอาบ ไม่ให้น้ำกระเด็น ตัวเองอยู่ในถุง แล้วก็อาบน้ำ แล้วเอาไปเทในโถส้วม อาบน้ำกันแบบนั้น” --นิดา อายุ 48 ปี อยู่ปารีสแบบผิดกฏหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  มาจากเพชรบูรณ์

“ส่วนมาก มา ๆ นี้จะโดนหลอก (…) บางทีทำไม่ได้เงิน เชื่อมั้ยพี่มาเป็นปีไม่ได้ส่งเงินกลับบ้านเลย จริงนะ จนพ่อแม่จะขายนา (…) เขาไม่จ่ายเรา เคยทำ 8 เดือน ไม่จ่ายเงินซักบาทเลย เค้าหลอกใช้แรงงานเรา (เขาบอกว่าอะไร?) ไม่มี ผลัดไปเรื่อย ๆ กับข้าวพาไปซื้ออยู่ แต่เงินเดือนไม่จ่าย ลำบากจะตายคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เรียนภาษาฝรั่ง คือพวกเราไม่มีโอกาสแม้จะส่ง ฝากเขาส่งเขาก็โกง เราออมไว้ให้ลูกให้เต้าให้แม่กิน (…) พี่สะสมเงินไว้ เขายังเอาเงินเราไปใช้ เราฝากเขาส่งเงินให้ แต่เขาไม่ส่งให้ เขาเอาเงินเราไปใช้ จนไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่พูดกับเขาดี ๆ ขอให้เขาคืน เอาของเราไปดื้อ ๆ แต่โกหกเราดื้อ ๆ ใบส่งเก็บใส่กระเป๋า แต่เงินยังไม่ถึงบ้าน เขาทำทุกอย่างเพื่อจะโกงเรา เราพูดไม่เป็น ไม่มีบัตร ไม่มีหนังสือ (…) เราถูกเอารัดเอาเปรียบ เราเป็นที่ด้อยโอกาส ไม่มีโอกาส ขาดโอกาส หรือจะเรียกว่าเป็นอย่างไรดีล่ะ เรียกไม่ถูก พอมาถึงจุดทุกวันนี้ก็เลยตั้งให้ตัวเองว่า  'มหาลัยแห่งการเรียนรู้การแบ่งปัน' คนรู้ไม่รู้ก็มาเล่าสู่กันฟัง เราไม่มีทฤษฎี แต่เรามีการกระทำ คือต้องอดทน อดออม อดสู้” --ทองดี อายุ 51 ปี อยู่ปารีสแบบผิดกฏหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มาจากหนองบัวลำภู

คำบอกเล่าของบุญมา นิดา และทองดี [3] ด้านหนึ่ง มันสะท้อนความจำเป็นของผู้คนที่ต้องไกลบ้านเพราะโครงสร้างสังคมรัฐไทยไม่เอื้อให้พวกเขาอยู่ดีกินดีได้ อีกด้านหนึ่ง มันสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในปารีสที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฏหมาย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายพันคน [4] และอีกด้านหนึ่ง มันสะท้อนภาพปารีสในมุมที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นกันสักเท่าไหร่ และเป็นปารีสในมุมแบบนี้เองที่ผมอยากให้วัลยาได้มาเห็น ที่ผมอยากให้เธอมาเห็นไม่ใช่จะสบประมาทว่าเธอยังเห็นปารีสไม่รอบด้านหรอกนะ (เพราะสภาพสังคมช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่วัลยาอยู่ กับสภาพสังคมต้นศตวรรษที่ 21 ที่พวกเราอยู่ย่อมต่างกันในรายละเอียด) แต่ผมอยากให้เธอมาเห็น เพราะผมยากรู้ว่าเธอจะคิดอย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากต้องมาอยู่ปารีสใน “สภาวะลับลอบ” เช่นนี้

คนแบบวัลยาที่ไม่ต้องการใช้ชีวิตคู่กับทายาทเศรษฐี สกุลผู้ดี ดีกรีหนุ่มนักเรียนอังกฤษอย่าง เรวัตร
คนแบบวัลยาที่ใส่ใจและให้เกียรติลูกหลานชาวไร่ผู้ไร้ใบปริญญาอย่าง ยง อยู่บางยาง ด้วยความจริงใจ คนแบบวัลยาที่ไม่เห็นประโยชน์อะไรของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่เป็นเพียงเวทีแสดงความเด่นหรือจัดงานเลี้ยง คนแบบวัลยาที่เห็นคุณค่าการสนทนากับคนขายของจน ๆ ตามร้านหนังสือแผงลอยริมแม่น้ำแซนพอ ๆ กับปาฐกถาของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนแบบวัลยาที่ทั้งชีวิตเธอปรารถนาเป็นเพียงศิลปินของประชาชนผู้ทุกข์ยาก คนแบบวัลยาที่ให้ความสำคัญกับคนชนบทเพราะเธอตระหนักว่า “ชีวิตที่แท้จริงอยู่ที่นั่น”

ด้วยความสัตย์ ผมอยากรู้จักและพูดคุยกับคนแบบนี้จริง ๆ ถ้ามีโอกาส ผมจะชวนเธอออกภาคสนามไปสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตคนชนบทไทยที่อาศัยอยู่อย่างลับ ๆ ลอบ ๆ ในมหานครปารีสแห่งนี้

----

[1] เรื่องราว ความรักของวัลยา ไม่ได้ถูกระบุชัด ๆ ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ในเบื้องต้นเรารู้ว่าอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อดูจากที่งานชิ้นนี้ได้เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยาสาร สยามสมัยรายสัปดาห์ เมื่อปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้จึงน่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1946-1951 อย่างไรก็ตาม ในหนังสือได้พรรณนาถึงตัวละครที่เป็นศิลปิน ชื่อ เรอเน ความว่า "เรอเนมองเห็นภาพโปสเตอร์แผ่นใหญ่ ซึ่งเป็นภาพเดียวกับที่เขาได้เห็นมาตามกำแพงและที่ปิดป้ายทุกแห่งทั่วมุมเมืองปารีส ซึ่งโผล่ขึ้นมาอย่างฉับพลันเมื่อสองสามวันก่อน และกระจายไปอย่างรวดเร็ว ภาพนี้เป็นภาพพิมพ์ของนกพิราบสีขาว เขียนเป็นรูปยืนด้านข้าง หันหน้าไปทางขวา บนพื้นสีดำพร้อมด้วยลายเซ็นที่ใคร ๆรู้จักทั่วไป ปิคัสโสศิลปินที่โลกรู้จัก เหนือภาพนกเป็นตัวหนังสือประกาศการประชุมของสมัชชาสันติภาพแห่งโลก ซึ่งจะเปิดประชุมใหญ่ที่  Salle Pleyel ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า” (หน้า 133) ทำให้เราอนุมานได้ว่า ความรักของวัลยา เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1949 ทั้งนี้เพราะการประชุมสมัชชาสันติภาพฯดังกล่าว คือ Congrès mondial des partisans de la paix ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 เมษายน ค.ศ. 1949 ณ กรุงปารีส โดยการประชุมครั้งนี้ได้ใช้ภาพ La Colombe de la paix ของ Pablo Picasso เป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ดังนั้น หากนับจากปีที่ ความรักของวัลยา ตีพิมพ์ครั้งแรกจนถึงวันนี้ก็ได้ 62ปี แต่หากเราเริ่มนับจากช่วงเวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องจนถึงวันนี้ ความรักของวัลยา ก็ผ่านมา 65 ปี พอดี ภาพด้านล่างนี้คือโปสเตอร์รูปแบบหนึ่งของการประชุมสมัชชาสันติภาพฯดังกล่าว

ดูภาพที่ //www.piasa.fr/node/54619/lot/past#.VIbwmNblfq9

[2] จากการลงพื้นเก็บข้อมูลวิจัยช่วงระหว่าง ค.ศ. 2012-2014 เพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Paris V - René Descartesในหัวข้อ “Clandestine condition : undocumented Thai in Paris metropolitan”

[3] ทั้ง 3 ชื่อ เป็นนามสมมติ ไม่ใช่ชื่อเรียกจริง  

[4] “สถิติจำนวนประมาณการคนไทยในต่างประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2555)”. ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร. กรมการกงสุล. กระทรวงการต่างประเทศ. และดู  “'ยิ่งลักษณ์' พบคนไทยในฝรั่งเศส”. หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์, 21 กรกฎาคม 2555 (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19 มีนาคม 2557) :  //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1342873482&grpid=03&catid=03 




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2559 23:36:31 น. 0 comments
Counter : 833 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.