THANON VEE (ถนนวี)

thanonvee
Location :
Paris France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thanonvee's blog to your web]
Links
 

 
มองต่างมุม : ผิด-ถูก ตัดสินอย่างไร ?



Grenoble, March 2007

เคยสงสัยหรือไม่ว่า อะไรคือคำจำกัดความหรือนิยามของคำว่า “ผิด” และ “ถูก” แน่นอนว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายตรงกันข้าม และยังสามารถอิบายความหมายซึ่งกันและกันได้อีกด้วย กล่าวคือ สิ่งที่“ผิด” ก็คือสิ่งที่ไม่ถูก ส่วนสิ่งที่ “ถูก” ก็หมายถึงสิ่งที่ไม่ผิดนั่นเอง อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงการให้คำจำกัดความแบบง่าย และใช้กันโดยทั่วๆไป ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่สามารถเข้าใจได้ง่ายในด้านภาษา และการสื่อสารเท่านั้น เพราะประเด็นสำคัญและสิ่งที่เราจะร่วมกันวิเคราะห์ ณ ที่นี้ก็คือ “เราจะอธิบายหรือให้ความหมายคำว่า “ผิด” อย่างไร หากไม่มีคำว่า “ถูก”? (หรือในกรณีตรงกันข้าม)

ถ้าจะตอบแบบศรีธนนชัย อาจจะบอกว่า สิ่งที่“ผิด” ก็คือสิ่งที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่ควรกระทำ หากตอบเช่นนี้ก็คงต้องถามต่อว่า แล้วจะอธิบายความหมายคำว่า “ไม่เหมาะสม” “ไม่ดี”หรือ “ไม่ควร”อย่างไร หากไม่มีคำว่า “เหมาะสม” “ ดี”หรือ “ ควร” ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อและซับซ้อนจนเกินไป การจำกัดขอบเขตของบทความนี้ไว้เพียง “ผิด” และ “ถูก” น่าจะเป็นสิ่งที่ดีพอสมควร


ก่อนที่จะลงในรายละเอียดของความหมายหรือการให้ความหมาย ของคำว่า“ผิด”และ “ถูก” คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงหลักการ Objectivity (วัตถุวิสัย) และ Subjectivity (อัตวิสัย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลัก Subjectivity (อัตวิสัย) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงและมีความสำคัญมากต่อการให้ความหมายในเรื่องดังกล่าว

หลักการ Objectivity (วัตถุวิสัย) เป็นหลัการอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์ หลักการนี้ถือว่า การวัด ชั่ง ตวง หรือการประเมินค่าที่เชื่อถือได้ จะต้องกระทำด้วยสิ่งนอกตัวผู้กระทำ นั่นคือจะต้องวัด หรือประเมินค่าด้วยสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ หรือความรู้สึกของผู้กระทำการนั้น การใช้เครื่องมือชั่ง วัด เป็นตัวอย่างของการใช้หลักการดังกล่าว เพราะอุปกรณ์เหล่านี้อยู่นอกตัวผู้ใช้ ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความเชื่อของผู้ใช้

หลักObjectivity (วัตถุวิสัย)นั้น เป็นหลักการที่ตรงข้ามกับหลัก Subjectivity (อัตวิสัย) เหตุผลเพราะหลัก Subjectivity (อัตวิสัย) นั้นใช้อารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และความรู้สึกของผู้ใช้ในการวัดและประเมิน สิ่งของอย่างเดียวกันถ้าใช้หลัก Subjectivity (อัตวิสัย) วัดหรือประเมินค่า จะได้ผลลัพธ์ไม่เท่ากันเพราะแต่ละคนย่อมใช้มาตร หรือ อัตวิสัย ไม่เหมือนกัน ด้วเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้หลัก Subjectivity (อัตวิสัย) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการให้ความหมายของคำว่า “ผิด”และ “ถูก” เพราะการที่สิ่งๆหนึ่งจะผิดหรือถูกนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าสิ่งที่ถูก จะเป็นสิ่งที่ดี หรือมีค่าเป็นบวกด้วยตัวของมันเอง และในทำนองเดียวกันสิ่งที่ผิดย่อมไม่เกี่ยวกับว่าสิ่งๆนั้นมีค่าเป็นลบในตัวของมันเอง หากแต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการประเมินคุณค่า จากคนหนึ่งคน หรือกลุ่มคนหนึ่งกลุ่มเท่านั้น


ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งกลุ่มเห็นร่วมกันว่าการพูดสุภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนการพูดหยาบคายเป็นเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ถูกต้อง เหตุผลที่คนกลุ่มนี้บอกว่าการพูดจาสุภาพเป็นสิ่งที่ถูก หมายความว่าพวกเขาใช้หลักอัตวิสัยวัดและประเมิณค่าลักษณะการพูด แล้วได้ผลลัพธ์พร้อมทั้งลงความเห็นร่วมกันว่า การพูดจาสุภาพเป็นสิ่งที่ถูก ส่วนการพูดจาหยาบคายนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากตัวอย่างนี้ว่า การพูดสุภาพ ไม่ได้มีความถูกต้องอยู่ในตัวของมันเอง เช่นเดียวกัน การพูดหยาบคาย ก็ไม่ได้มีความผิดอยู่ภายในตัวงเอง แต่เป็นผลลัพธ์ ที่เกิดจากการวัดและประเมินของคนกลุ่มหนึ่งๆจากหลักอัตวิสัยเท่านั้นเอง


เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะนำตัวอย่างข้างต้นนั้นมาประประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จำลองของกลุ่มคนสองกลุ่มดังนี้

กลุ่มแรกคือกลุ่มพนักงานในองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกัน รู้จักและ/หรือมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันแบบผิวเผิน เช่นผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชา กับพนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา บุคคลในสองบทบาทที่แตกต่างกันนี้ หากสื่อสารด้วยวาจาไม่สุภาพ หรือพูดประชดประชัน หยอกล้อ ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าเจตนาของการสื่อสารนั้นจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานก็ตามแต่ ทั้งนี้ไม่ว่าผู้สื่อสารจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด เพราะสมาชิกในองค์กรนั้นประเมินค่าด้วยหลักอัตวิสัยแล้วว่า การสื่อสารในลักษณะหยาบคายหรือหยอกล้อดังกล่าวของบุคคลทั้งสองระดับที่แตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งไม่เหมาะสม หรือเป็นสิ่งที่ผิดนั่นเอง ส่วนรายละเอียดว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงประเมินว่าผิดนั้น เราคงไม่กล่าวถึง ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับหลักการบหิหารงานบุคล การเคารพผู้บังคับบัญชา หรือ ระเบียบอื่นขององค์กร ฯลฯ


กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มเพื่อนซึ่งสนิทสนมและรู้จักกันเป็นอย่างดี และที่สำคัญอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ที่เป็นส่วนตัว ตัวอย่างเช่นในงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือในวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการ สำหรับในกรณีนี้ทุกคนในกลุ่มอยู่ในสถานภาพ (บทบาทหน้าที่) ที่เท่าเทียมกันและที่สำคัญอยู่ในสถานการแบบเป็นกันเอง ไม่มีกฏ ระเบียบหรือกรอบการปฎิบัติที่เคร่งคัดมากมายนัก ดังนั้นการสื่อสารในลักษณะหยาบคาย หยอกล้อ หรือประชดประชันเพื่อจุดประสงค์ของความสนุกสนานนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สมาชิกทุกคนในกลุ่มกลับประเมินและลงความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกด้วยซ้ำไป เหตุผลอาจเป็นเพราะโอกาสและสถานการณ์มีความเหมาะสม จุดประสงค์ที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อความสนุกสานาน ฯลฯ

นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือการพูดจาสุภาพ เพราะในกรณีนี้ ไม่เพียงแต่การสื่อสารในลักษณะหยาบคาย หยอกล้อดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่การลื่อสารแบบสุภาพนั้นก็สามารถเป็นการกระทำที่ผิดได้ด้วย เพราะกลุ่มคนในกรณีนี้ อาจประเมินด้วยหลักอัตวิสัยแล้วว่า เป็นสิ่งที่ผิด เหตุผลอาจเพราะเป็นการแสดงถึงความห่างเหิน ไม่ให้ความสนิทสนมกับคนอื่นๆในกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ เป็นต้น



จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะผิดหรือถูกนั้น ขึ้นอยู่กับการวัดและประเมินของบุคล โดยอาศัยหลักอัตวิสัย ซึ่งผลลัพธ์ของการประเมินสิ่งต่างๆนั้นย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยม ของบุคคลที่ประเมินสิ่งนั้นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าสิ่งๆเดียวกันแต่คนจะให้ความหมายหรือให่คุณค่าต่างกัน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สิ่งที่มีมุมมองด้านดีและไม่ดีที่เห็นได้ชัดเจนเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าถามว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่? มุมมองทั้งในด้านบวกและด้านลบจะชัดเจนมาก ดังนั้นประเด็นถกเถียงกันจึงมีมากตามไปด้วย แต่สิ่งที่เราได้ยกตัวอย่างไปในตอนต้น ในเรื่องการพูดสุภาพ กับการพูดหยาบคายนั้น เป็นการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า แม้บางสิ่งจะมีมุมมองที่แตกต่างกันน้อยมากในด้านดีและด้านไม่ดี ถึงอย่างไรก็ยังมีมุมมองที่แตกต่างกันอยู่ดี

ลองนึกตัวอย่างอื่นประกอบเช่น การปล้น หรือ การพูดโกหก ทั้งสองอย่างนี้ ก็ไม่มีค่าเป็นลบ หรือเป็นสิ่งที่ผิดในตัวของมันเอง แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการประเมินด้วยหลักอัตวิสัยของกลุ่มคนเท่านั้นเอง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการสื่อว่า การปล้นและการโกหกเป็นสิ่งที่ดี หากเพียงแต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น



หลายๆท่านอาจตั้งคำถามว่าจุดประสงค์หลักของบทความนี้คืออะไร? ต้องการสื่ออะไร? จากบทความนี้ผู้เขียนหวังเพียงจะชี้ให้เห็นว่าการรับฟังความเห็นของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในสังคม หลายๆความเห็นหรือหลายๆแนวคิดของคนอื่นเราอาจคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทั้งที่จริงๆแล้วนั่น อาจเป็นเพียงหลักอัตวิสัยของเราเท่านั้น เพราะฉะนั้นการพิจารณาหรือวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยใจเป็นธรรมและหลีกเลี่ยงการมีอคติ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่าลืมเตือนตัวเองเสมอว่า “เขาผิด เพราะเขาคิดไม่เหมือนเรา เขาไม่ได้ผิดเพราะเขาเป็นคนผิด”เราเองก็อาจจะเป็นคนผิดในสายตาคนอื่นได้เช่นกันเพราะเราก็ไม่ได้คิดทุกอย่างเหมือนเขา


ของทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่สวยงามประโยคหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ระบบที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดระบบหนึ่งในการบริหารและจัดการสังคม : “ค ว า ม เ ห็ น ที่ แ ต ก ต่ า ง....คื อ ค ว า ม ง า ม ข อ ง ป ร ะ ช า ธิ ป ไ ต ย..."


นักเรียน (บ้าน) นอก

19.11.2016 : ย้ายหมวดหมู่ ไม่ได้แก้เนื้อหา




Create Date : 24 มีนาคม 2550
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2559 23:33:45 น. 0 comments
Counter : 276 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.