เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
๔๙ ราชินี (๑๓)

๒๙.สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์


ถวายงานพัดจนได้รับพระราชทานนามว่า “รำเพย”


ทราบกันอยู่ดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทราบด้วยว่า พระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้นว่า เจ้าฟ้ามงกุฏฯ บางคนทราบด้วยว่า พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีแต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า พระนามเดิมของพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั้นว่ากระไร

พระนามเดิมของพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั้นว่า “รำเพย” หรือพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ สาเหตุที่มีพระนามว่า “รำเพย” นั้นมีดังนี้

พระตำหนักเดิม ซึ่งอยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์พระที่นั่งสมมตเทวราชอุปบัติ และท้องพระโรงกลางข้างหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ พระตำหนักนั้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตำหนักตึก” รัชกาลที่ 3 ทรงสร้าง “ตำหนักตึก” ขึ้นถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นสมเด็จพระศรีสุลาลัยสวรรคต ก็พระราชทานแด่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม หลังจากนั้นโปรดให้รับบรรดาพระราชโอรสธิดา ซึ่งล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์เข้าไปทรงทำนุบำรุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่ “ตำหนักตึก” กับพระองค์เจ้าละม่อมโดยมาก ส่วนสมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์นั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี ทรงรับทำนุบำรุงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยพระองค์เจ้าบุตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์น้อย ได้ทรงรับหน้าที่ราชูปฐาก ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สมเด็จพระนางเธอรำเพยภมราภิรมย์ จึงเสด็จขึ้นไปช่วยทำการอุปฐากสนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนได้พระราชทานนามว่า “รำเพย” เพราะถวายอยู่งานพัด ต้องพระราชอัชฌาสัยไปจนสิ้นรัชกาลที่ 3 ความจริงพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งปรากฎพระนามโดยพระเกียรติยศต่อมาว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั้น มิได้ทรงมีเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ถึง 3 พระองค์ คือ


1. พระองค์เจ้านพวงศ์ ต่อมาเป็นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2410 รัชกาลที่ 4



2. พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ ต่อมาเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2405 รัชกาลที่ 4



3. เจ้าฟ้าโสมนัส สิ้นพระชนม์แต่แรกประสูติ

ส่วนพระขนิษฐาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นั้น คือ



1. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล (ในรัชกาลที่ 5 เฉลิมพระนามพระอัฐิเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงวิสุทธิกษัตรี)




2. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์




3. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในรัชกาลที่ 6 เลื่อนเป็นกรมพระยา และในรัชกาลที่ 7 เป็นพระราชปีตุลาบรมพงศาพิมุขฯ

พระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งซึ่งพระราชทานไปยัง “พระองค์เจ้าปัทมราชเจ้าอา เจ้าน้า” ซึ่งประทับอยู่ที่นครศรีธรรมราช และกล่าวถึงการประชวรของสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ว่า

“…แต่แม่รำเพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอและซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวรรณโรคภายใน”อีกฉบับหนึ่ง ทรงบรรยายถึงการสิ้นพระชนม์ไว้อย่างละเอียดดังนี้

“…เวลาเช้าแม่รำเพยไออาเจียนเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายสัตว์ตัวหนอนเล็กหางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว

“ครั้น ณ วันอาทิตย์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอห่างไป นอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนถึงสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้า รับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นอยู่กับบุตรเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปาก หลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใน พอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุดทีเดียวไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพ ในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดานและบานประตู บานหน้าต่างปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลาย และตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นาน ต่อเดือนสี่เดือนห้าจึงจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่าง ๆ มีเทศนาและบังสกุลอยู่เนื่อง ๆ…ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจุตุรนตรัศมี ชายภาณุรักษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณ ท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นหนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรจะตายอยู่แล้ว ด้วยป่ายโรคนี้มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมารักษาก็หลายหมอหลายยาแล้ว ไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว

“อายุนับปี เท่ากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชายว่าโดยละเอียดไป กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีอายุนับวันตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ 9,639 วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย 9,903 วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ 284 วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ 20 วัน”การที่สมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์สิ้นพระชนม์ครั้งนี้ ทำให้พระราชโอรสคือเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ต้องขาดพระราชชนนี และหลังจากนั้นไม่นานเมือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต พระองค์ก็ขาดพระราชบิดาไปด้วยอีกโสดหนึ่ง

พระบางสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงบรรยายไว้ในพระบรมราโชวาท ซึ่งมีไปถึง “เจ้าฟ้ามหาวชรุณหิศ” ว่า…

”ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็ไม่ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก

“ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถจะอาจอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องอื่นร่วมบิดาหรือที่ร่วมมารดาก็เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น

“ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่ารอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างการขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนา ถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่ โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคร้ายในการเบียดเบียนแสนสาหัส”

สำหรับเจ้าจอมมารดาโดยทั่วไปนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงอนุญาตให้กลับออกไปอยู่นอกพระบรมมหาราชวังได้ เมื่อพอใจดังเช่นสำเนา “ประกาศทรงอนุญาตให้ข้างในกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ” ดังนี้

“มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้พระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวังทั้งหัวเมืองและในกรุงฯ ผู้ใด ๆ บรรดาที่มีบุตรมีหลานผู้หญิงถวายตัวทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นเจ้าจอมอยู่งานชั้นกลาง ยังไม่มีเครื่องยศแลไม่ได้เป็นเจ้าจอมมารดา มีพระองค์เจ้าก็ดี เป็นลครก็ดี เป็นพนักงานตำแหน่งใด ๆ ก็ดี ให้ทราบทั่วกันตามพระราชปฏิญญานี้ ว่าท่านทั้งปวงมีความจงรักภักดีต่อพระเดชพระคุณ จึงได้พาบุตรหลานมาให้ถวายตัวทำราชการอยู่ข้างใน จัดเป็นความชอบอันใหญ่ปรากฏอยู่แล้ว ก็เมื่อท่านทั้งหลายถวายบุตรหลานให้ทำราชการอยู่ดังนี้ ด้วยมีประสงค์เกียรติยศ จะให้อย่างไรความประสงค์นั้นใคร ๆ ก็อาจคาดทราบถึงใจกันอยู่แล้ว ก็ข้าราชการฝ่ายในถวายตัวขึ้นทุกปี ๆ ตลอดสิงเอ็ดปีมาเงินเบี้ยหวัดก็เปลืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน บัดนี้เงินสองพันชั่งก็ไม่พอ ผู้ที่ได้รับพระราชทานก็ยังบ่นว่าได้น้อยโดยมาก เพราะจำนวนผู้รับพระราชทานเบี้ยหวัดนั้นมาก ที่ทางในพระบรมมหาราชวังก็เป็นที่เบียดเสียดเยียดยัดกันอยู่ไป เมื่อบุตรหลานของท่านทั้งหลายมาทำราชการอยู่มากด้วยกันดังนี้ ก็เหลือกำลังที่จะทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้ชื่นชมสมประสงค์ ให้ทั่วถึงทุกหน้าทุกพวกทุกรายไป ท่านผู้ที่เคยมีภรรยามากมี บ่าวมาก เมื่อเทียบกับใจของตัวก็จะเห็นจริง วันหนึ่งคืนหนึ่ง 24 ชั่งโมงเท่านี้ สารพัดการในประเทสนอกประเทศก็มาเร่งมาทวงอยู่เป็นนิตย์ทุกเวลาไม่ว่างเว้น เห็นอยู่ด้วยกันไม่ใช่หรือ ก็บุตรหลานของท่านผู้ใดมาทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังนานแล้ว เมื่อไม่เป็นที่ชื่นชมสมประสงค์ เป็นที่น้อยหน้าน้อยใจแก่ท่านทั้งหลายอยู่ก็ดี เท่าที่เห็นว่ามาตัดค้างว่างเปล่าอยู่ให้เปลืองอายุก็ดี ก็ควรที่จะเห็นจะคิดอยู่แล้ว ขอทรงรับสารภารพแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่กล่าวประชดประชันแดกดันอะไรดอก บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ยอมพระราชทานคืนบุตรหลานของท่านทั้งปวง ซึ่งนอกจากเจ้าจอมมารดาที่มีพระองค์เจ้าแล้วก็ดี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นเครื่องทองคำแล้วก็ดี นอกนั้นตามแต่ใจบิดามารดาแลญาติดังบิดามารดาเถิด จงมารับตัวกลับไปแล้วจะถวายในพระบวรราชวัง หรือในพระองค์เจ้าต่างกรม แลยังไม่ได้ตั้งกรมแลท่านเสนาบดี หรือจะยกให้ผัว ตามที่ใครจะรักใคร่สู่ขอตามแต่ใจของบิดามารดา แลญาติดังบิดามารดาแลตัวผู้นั้น ๆ เถิด หรือผู้ที่ไม่มีบิดามารดาแลญาติใคร่ออกเอง ก็ให้มาขอร้องออกตามสบาย คำที่ประกาศนี้เป็นความจริง ไม่ประชดประชันอันใด ขอให้เทพยดารักษาพระมหาเศวตฉัตร พระเสื้อเมืองพระทรงเมือง แลเทพยดาที่มีฤทธิ์รู้จิตมนุษย์เป็นพยานแก่พระราชหฤทัยเทอญ

“แต่เจ้าจอมมารดาที่มีพระองค์เจ้าก็ดี มีเครื่องยศเป็นเครื่องทองคำแล้วก็ดี ไม่ยอมพระราชทานให้ใครไม่โปรดให้ออก ใคร ๆ อย่าพาโลคำประกาศนี้ แล้วแลแต่งแม่สื่อมาลุยลายวุ่นวายในพระราชวัง ดังอ้ายเขียนบุตรพระยาราชภักดีทำครั้งก่อนเป็นอันขาดทีเดียว ถ้ามิฟังก็ไม่พ้นราชอาญาตามกฎพระอัยการ”


-------------------------------


๓๐. ท้าววรจันทร์



เคยแสดงลครเป็นตัวอิเหนา พระราม อินทรชิต พระนารายณ์ พระอรชุน ท้าวดาหา และท้าวมาลีวราช แต่เมื่อทำ ‘หมูผัด” ถวายพระเจ้าแผ่นดิน กลับได้รับการตีฆ้องร้องป่างโฆษณาคุณภาพว่าเป็นเยี่ยม


รายนามตัวละคร


1. ท้าวดาหา ตอนเข้าเฝ้า - เจ้าคุณจอมมารดา

2. ท้าวดาหา ตอนบวงสรวง - หรุ่น เจ้าจอมมารดา

3. ประไหมสุหรี - ชุ่ม เจ้าจอมมารดา

4. มะดีหวี - เอม เจ้าจอมมารดา

5. อิเหนา - ท้าววรจันทร์

6. บุษบา - ห่วง เจ้าจอมมารดา

7. ศรียาตรา - หม่อมเจ้าธานีนิวัต ในกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา

8. สุหรานากง - ท้าววนิดาพิจารินี

9. สังคามารตา - เชียน เจ้าจอมมารดา

10. กะหรัดติปาตี - เหลี่ยม เฒ่าแก่

11. ล่าลำ - สุด หลานสมเด็จ เจ้าพระยาพระองค์น้อย

12. จรกา - สัมฤทธิ์ เฒ่าแก่

13. ตำมะหงง - เล็ก เฒ่าแก่

14. ประสันตา - ชื่น เฒ่าแก่

15. บาหยัน - ลำไย เฒ่าแก่

16. ประเสหรัน - เปลี่ยน เฒ่าแก่

17. กำนัลรับสั่งไปเรียกบุษบา - สังวาล เจ้าจอมมารดา กับท้าวโสภานิเวศ


นี่คือข้อความจากสูจิบัตรแจ้งรายนามผู้แสดงลครเรื่องอิเหนาตอนเข้าเฝ้าท้าวดาหา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2440 ที่พลับพลาในโรงลครในสวนศิวาลัย ลครเรื่องนี้อยู่ในความอำนวยการของท้าววรจันทร์ โดยพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จกลับจากประพาสยุโรป เรียกว่าลครคณะเจ้าจอมและข้าราชการและเจ้าจอมรัชกาลที่ 4

ความจริง ในการรับเสด็จครั้งนี้ มีลครหลายคณะ เช่นคณะเจ้านายเป็นลครรำเรื่องสังข์ทองตอนตีคลี และคณะลครเจ้าจอมรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อถึงเวลาจะเสด็จประพาสพระนครเข้าจริง ๆ คณะเจ้านายกับคณะรัชกาลที่ 5 กลับงดไป จึงเหลือเพียงคณะรัชกาลที่ 4 ซึ่งเริ่มฝึกหัดมาตั้งแต่ชั้นผู้น้อยคือเสนาและลูกคู่ที่บ้าน แล้วจึงไปซ้อมใหญ่ที่ท้องพระโรงกลาง ระหว่างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เสด็จทอดพระเนตรการซ้อมแทบทุกครั้ง

ในวันแสดงจริง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เสด็จลงสู่พลับพลาโรงลครในสวนศิวาลัย สมเด็จพระปิยมาวดี (เปี่ยม) ทรงจุดเทียนบายศรี หม่อมเจ้าพรรณรายทรงอ่านคำถวายชัยมงคล ในนามของบรรดาเจ้าจอมรัชกาลที่ 4 และนางเฒ่าแก่พนักงาน เมื่อมีพระราชดำรัสตอบแล้ว สมเด็จพระปิยมาวดีนำหีบบรรจุคำถวายชัยขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว พระเอกนางเอกก็รำเพลงเบิกโรง นำพวงมาลัยและชอบุคเคทูลเกล้า ฯ ถวาย

ลครเริ่มจับเล่นตั้งแต่อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา พบบุษบาแล้วพบจรกาซึ่งมาเฝ้าท้าวดาหา เมื่ออิเหนาออกจากที่เฝ้าแล้ว ตัดไปเล่นตอนท้าวดาหาเสด็จเข้าวิลิสมาหา บวงสรวงพระราชทานเลี้ยง ห้ากษัตริย์ชมดงเป็นเสร็จการ

ต่อไปนี้จะได้ว่าถึงประวัติของผู้แสดงเป็นตัวพระเอกในเรื่องอิเหนา หรือ ท้าววรจันทร์ ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ตรัสเรียกว่า ‘แมวอิเหนา’

ท้าววรจันทร์ เริ่มเข้าไปอยู่ในรั้วในวัง เมื่อคุณนาคซึ่งเป็นป้าและเลี้ยงดูมาแต่เล็กได้นำไปถวายตัวรัชกาลที่ 4 ตรัสกับสมเด็จพระนางโสมนัสว่า “แม่หนู ฉันจะเล่นลครก็ได้แล้ว วันนี้ขอเอาตัวอิเหนามาให้ แต่ฉันไม่เล่น” แต่ต่อมากล่าวกันว่า คุณนาคขัดใจด้วยเรื่องอื่น เลยขอพระราชทานกราบถวายบังคมลา นำออกจากราชการ

ต่อมาสมเด็จพระนางโสมนัสทรงฝึกหัดข้าหลวงรำลคร เวลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จลงเสวยที่ตำหนัก จึงตรัสขอตัวท้าววรจันทร์ไว้อีก ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นตัวนายโรง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จลงเสวย ลครข้าหลวงก็จะแสงถวายทอดพระเนตร และมักจะเล่นตอนอิเหนาสั่งถ้ำ

พ.ศ.2395 ข้าหลวงจะต้องโอนไปเป็นข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เนื่องจากสมเด็จพระนางโสมนัสเสด็จสวรรคต คุณนาคก็เอาท้าววรจันทร์ออกจากราชการอีก โดยอ้างว่าถวายเฉพาะสมเด็จพระนางโสมนัส ขณะนั้นท้าววรจันทร์มีอายุเพียง 11 ปีเท่านั้นเองเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ซึ่งทรงเรียกท้าววรจันทร์ว่า “ท่านย่า” ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“คุณนาคได้พาท่านไปเที่ยวทางเหนือ (คงจะฤดูแล้ง พ.ศ.2395) ขึ้นจากเรือที่ท่าเรือ แล้วขึ้นช้างไปนมัสการพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ตามธรรมดาของเด็กรุ่นนี้ (11ปี) ไปเที่ยวที่ไหนก็เห็นสนุกอย่างยิ่ง ทั้งท่านก็เป็นเด็กซนและแข็งแรง พอใจเล่นน้ำ และปีนป่ายจนผู้หลักผู้ใหญ่บ่นว่าซนราวกับเด็กผู้ชาย ฉะนั้นเมื่อได้ออกเที่ยวอย่างนี้ก็สนุกมาก ท่านเองก็เคยเล่าเสมอว่า ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมา ท่านยังได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสหัวเมืองต่าง ๆ อีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสนุกเท่าการไปเที่ยวพระบาทครั้งนั้น เพราะเที่ยวอย่างอิสระ เสียแต่ตอนปลาย คุณนาคไปเหยียบหนามมะขามเทศจะแผลเป็นพิษ ขากลับต้องมาแวะรักษาตัวที่แพหน้าวัดมณฑป (ตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษมในพระนครศรีอยุธยา) ในลำดับนี้ พระบาทสมเด้จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริจะหัดลครข้าหลวงขึ้นใหม่ โปรดให้หาตัวคุณย่ากลับเข้าอีก ตำรวจ (หลวง) ออกไปตามตัวท่านถึงแพวัดมณฑปที่อยุธยา บรรดาครูลครพากันทักท่านว่าดำไปจนผิดตัว ที่จริงก็น่าจะดำ เพราะท่านไปเที่ยวหัวเมืองมาใหม่ ๆ ครั้นเมื่อให้ท่านลองเข้ารำเพลง (ช้า) เพื่อทดลองดูว่ายังจำบทบาทท่ารำไว้ได้สักเพียงไร ก็ลงมติกันในหมู่ครูบาอาจารย์ทีเดียวว่า รับให้เป็นพระเอกได้

“คุณย่าเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้มรัชกาลที่ 2 บุตรพระยาไกรเพชรรัตนสงคราม ซึ่งเป็นตัวอิเหนาในรัชกาลนั้น เป็นศิษย์ที่รักด้วยมีเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่นเมื่อท่านยังหัดเป็นลครใหม่ ๆ ลครข้างในเล่นเรื่องอิเหนาตอนใช้บน ถึงบทอิเหนาชมโฉมบุษบา ซึ่งกำลังเล่นธารอยู่ว่า

“พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง ดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญประไพศรี สมเด็จพระนางโสมนัสไม่พอพระทัยผู้ที่เป็นอิเหนาอยู่ในขณะนั้น รับสั่งให้ตามตัวคุณย่าออกมารำ แต่ขัดข้องเพราะท่านยังไม่เคยหัดบทนี้ สมเด็จทรงสั่งให้ออกมาให้ในเดี๋ยวนี้ ขณะนั้นท่านเป็นตัวสังคามารตา คุณครูจึงบอกท่าให้ในทันที แล้วให้รีบออกไปรำถวาย ที่จริงบทชมโฉมบทนี้มิใช่บทสั้น แต่ออกไปรำได้สำเร็จเป็นที่ยินดียิ่งนักของคุณครู ต่อมาภายหลังคุณครูออกไปเจ็บอยู่นอกวัง ท่านได้ออกไปเยี่ยมในเวลานั้น นายบัวซึ่งเคยมีชื่อเสียงว่าเป็นอิเหนาตัวดีในกาลก่อนมาเยี่ยมคุณครูแย้ม คุณครูแย้มได้ขอให้นายบัวสอนท่ารำให้ ครั้นท่านกลับเข้าไปในวัง ถึงคราวเล่นลครอีก ตอนนี้ได้รับความชมเชยมาก แต่เผอิญมีเสียงค้านขึ้นว่าดี เพราะออกไปให้ผู้ชายสอน ซึ่งเป็นการผิดราชประเพณีคุณครูต้องโทษขัง

“ต่อมาไม่ช้า ท่านได้ออกรำถวายตัวอีก ระหว่างอยู่นั้นแลเห็นเพื่อนฝูง ต่างก็มีครูกำกับคอยช่วยเหลือทุกคน ให้บังเกิดความน้อยใจและคิดถึงคุณครูเป็นกำลัง จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ร้องไห้ออกมากลางโรง จึงเป็นเหตุให้คุณครูได้พระราชทานอภัยโทษทันที คุณจอมมารดาแย้มอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อเวลาเจ็บคราวจะถึงอนิจกรรมใน พ.ศ.2420 ท่านได้ไปเชิญมาอยู่ด้วยกันที่วังปากคลองตลาด คุณครูมอบการทำศพและทรัพย์สมบัติให้ทั้งหมด คุณย่าได้รับศพไว้ที่วังปากคลองตลาด ทำศพให้จนตลอด แล้วมอบทรัพย์สมบัติให้หลานคุณจอมมารดาแย้มรับไป”

ประวัติของทัาววรจันทร์ตั้งแต่เป็นเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดานั้น กินเวลามาจนสิ้นรัชกาลที่ 4 รวม 17 ปีท้าววรจันทร์นั้น จากปากคำของผู้ที่เคยเห็นต่างกล่าวต้องกันว่า เป็นพระเอกที่รำได้สวยและสง่าเป็นที่น่าพิศวง ตัวที่เคยรำเป็นมานั้นคือนารายณ์ปราบนนทุกข์ พระอรชุน อิเหนา พระราม อินทรชิต ท้าวดาหา ท้าวมาลีวราช และเทวดาที่ลงมาตีคลีกับพระสังข์ คราวหนึ่ง ในขณะที่เล่นเป็นตัวท้าวมาลีวราชตอนชำระความ เผอิญฝนตกลงมาจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงบ่นว่า เหตุเพราะนางแมวฝนจึงตก ชื่อนางแมวนี้กล่าวกันว่าเป็นชื่อเดิม จึงทรงเรียกเล่นเนือง ๆ ท้าววรจันทร์ประสูติพระโอรสใน พ.ศ.2406 ได้รับพระราชทานนามว่าโสณบัณฑิต

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้เป็นพระบิดา ขอตั้งนามแก่บุตรชายที่เกิดแต่แมวอิเหนาเป็นมารดา ประสูติในวัน 4ฯ135 ค่ำ ปีกุน ยังเป็นจัตวาศก ศักราช 1224 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต โสณนาม ขอจงได้เจริญชนมายุพรรณสุขพลปฎิภาณศุภสารสมบัติบริวารยศฤาชาปรากฏเกียรติคุณสุนทรเดชพิเศษสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพิบุลยผลทุกประการเทอญ”

กล่าวกันว่า ในขณะพระราชทานนามนั้นตรัสว่า อนุโลมตามเรื่องโสณนันทชาดก

“ถ้ามีลูกอีกคนหนึ่ง ข้าจะให้ชื่อว่านนทบัณฑิต และจะให้นิมนต์พระมาเทศน์เรื่องชาดกนี้ให้ฟัง”

แต่ท้าววรจันทร์ หาได้มีพระโอรสอีกไม่ในเวลารับราชการเป็นเจ้าจอมนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียนภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ แต่ท้าววรจันทร์เรียนได้ไม่นานก็เลิกเสีย

ในปี พ.ศ.2429 รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสให้หาเข้าไปเฝ้า มีพระราชปรารภว่า ราชการฝ่ายในขาดผุ้ใหญ่ที่จะบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดได้ เพราะท้าววรจันทร์ (มาลัย) อายุมาก ทุพพลภาพ จึงชวนให้ไปรับราชการในตำแหน่งท้าววรจันทร์พระราชทานสัญญาบัตรเป็นท้าววรจันทร์ บรมธรรมมิกภักดี นารีวรคณานุรักษาได้บังคับบัญชาตัดสินว่าราชการในพระบรมมหาราชวัง ถือศักดินา 3000 ไดั่รับพระราชทานเครื่องยศ คือหีบลงยา 1 หีบ โต๊ะเงินใหญ่ 2 โต๊ะ โต๊ะนี้เป็นโต๊ะคาวหวาน พระราชทานพิเศษ ท้าวนางตามปกติไม่พระราชทาน เครื่องยศอื่นที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แต่ต้นรัชกาลที่ 5 นั้น มีหีบทองใหญ่ 1 หีบ กระโถนทอง 1 ใบ และกาทอง 1 กา เมื่อเข้ารับราชการเป็นท้าววรจันทร์นี้ อายุ 45 ปีแล้ว และรับราชการอยู่เต็มราว 40 ปีกว่า ๆ ก็ออกไปอยู่บ้านเป็นประจำเมื่ออายุ 86 แต่ยังอยู่ในฐานะประจำการไปจนตลอดอายุ

กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากรทรงเล่าถึงอุปนิสัยส่วนตัวของท้าววรจันทร์ไว้ว่า

“นิสัยคุณย่าเป็นคนที่ภาษาสามัยใช้ว่าหัวโจก มีอัธยาศัยเฉียบขาดรุนแรง แต่ระคนด้วยเมตตากรุณา พยายามคุ้มครองระวังรักษาผู้น้อยใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าในราชการหรือในครอบครัว ในระหว่างที่เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที 4 ก็เป็นคนกว้างขวาง มีบริวารมาก อันนิสัยเช่นนี้ ในทางดีย่อมเห็นกันอยู่แล้ว แต่ทางร้ายของการมีบริวารมากนั้นก็ใช่ว่าไม่มี ท่านเคยเล่าว่า ท่านได้ให้ยกพวกบ่าวไพร่เพื่อนฝูงไปตีกันกับบริวารของเจ้าจอมอื่น ๆ ก็มี มาถึงตอนรัชกาลที่ 5 เข้าไปเป็นท้าววรจันทร์ นิสัยหัวโจกดูเหมือนจะช่วยท่านได้มาก ด้วยนิสัยนี้ช่วยให้ท่านรู้เท่าถึงนัยของหัวโจกต่าง ๆ ที่ตั้งตัวขึ้นในพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น และซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แสดงพระราชประสงค์ให้ท่านเข้าไปปราบปรามนั้น ท่านจึงได้ทำการปกครองได้สำเร็จ ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมรักใคร่ของคนทุกคน ก็ได้รับความไว้วางใจและความเคารพเกรงใจของคนทุกชั้นที่อยู่ในพระบรมราชวัง ถึงแม้ท่านจะเป็นคนใจเร็วและทำอะไรทำโดยด่วน ลงมือเร็วสำเร็จเร็วก็จริง แต่ท่านไม่ใคร่ยอมทำอะไร ๆ นอกจากท่านได้ตรองเห็นดีเห็นชอบแล้วด้วยตนเองจริง ๆ ที่คนนั้นคนนี้มาแนะนำตักเตือนว่า ควรทำอย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ ถ้าท่านมิได้เห็นจริงตามแล้ว ก็ยากนักที่ท่านจะยอมอนุโลมเพียงโดยเหตุว่าใคร ๆ เขาว่าดีว่าถูก เหตุฉะนั้นจึงเกิดข้อครหาขึ้นเนือง ๆ ว่าท่านเป็นคนดื้อ แม้ในราชการบางคราวก็เคยมีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษว่า ท่านรุนแรงว่ายาก จนเคยมีพระราชดำรัสว่า “เรื่องท้าววรจันทร์นั้นฉันขอเสียทีรู้อยู่แล้วว่าไฟก็อย่าเอามือเข้าไปจี้…เขาไม่ได้เดินเหิรหรือขอเข้ามา รับราชการ) ฉันเอาเขาเข้ามาเอง” โดยเหตุแห่งนิสัยอันรุนแรงเช่นนี้ ในชั้นต้นท่านจึงต้องปะทะกับคนต่าง ๆ ทุกชั้น แต่ในที่สุดเมื่อทรงรู้จักนิสัยท่านดีขึ้น ก็กลายเป็นเมตตาทุกพระองค์โดยเฉพาะสมเด็จพระองค์พัชรินทราฯ และสมเด็จพระวัสสเจ้าซึ่งมีพระชนม์อยู่จนบัดนี้ ยิ่งทรงพระเมตตาเป็นนานัปการมาตลอดกาล เหลือที่จะหาถ้อยคำใด ๆ มาพรรณนา ให้สมแก่พระคุณท่านได้”

กรมหมื่นพิทยาลาภพฤติยากรทรงเล่าต่อไปว่า

“ครั้งหนึ่ง ท่านทำน้ำยาไก่ถวายพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานธูปเทียนบูชาฝีมือ และมีพระราชดำรัสยกย่องมาก อีกครั้งหนึ่งท่านไม่รู้ตัวไม่ได้ตระเตรียม พอคุณจอมเชิญพระกระแสรับสั่งมาขอเครื่องเสวยในทันที ท่านก็รีบจัดสำรับของท่านเองถวายขึ้นไป กลับได้รับพระราชทานดำรัสชมเชยว่ากับข้าวอร่อย โดยเฉพาะหมูหวาน (สำรับของท่านโดยปกติต้องมีหมูหวานประจำ) ซึ่งทำให้ระลึกถึงกาลก่อน ครั้งยังทรงพระเยาว์ได้เคยเสวยหมูผัดเช่นนี้บ่อย ๆ ทรงอธิบายว่า หมูอย่างนี้แต่ก่อนเรียกว่าหมูผัด คำว่าหมูหวาน เป็นคำใหม่เกิดขึ้นมาภายหลัง ครั้นสิ้นรัชกาลที่ 4 แล้วมิใคร่จะได้เสวยหมูผัดชนิดนี้เลย ทรงยกย่องถึงโปรดให้ตีฆ้องร้องป่าวทั้วพระราชสำนักว่าได้เสวยหมูผัดของท้าววรจันทร์เป็นหมูผัดชนิดหนึ่ง ซึ่งทำดีเกือบเหมือนที่เคยเสวยครั้งรัชกาลก่อน แต่ยังไม่ดีเหมือนทีเดียว ถ้าใครทำได้เหมือนแต่ก่อนจะพระราชทานน้ำตาลสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล”

ฉากสุดท้ายที่ท้าววรจันทร์แสดงบนเวทีชีวิตนั้น ปิดลงในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2482 เวลา 12.20 น. เมื่ออายุได้ถึง 90 ปี และมีเจ้านายรับสั่งชมเชยกันบ่อย ๆ ว่า “ยังฉลาดอยู่” รวมเวลาที่ท้าววรจันทร์มีชีวิตอยู่เพื่อ “ลครในชีวิตจริง” ถึงสี่แผ่นดิน

-------------------------------



Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:08:37 น. 0 comments
Counter : 871 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.