การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค


การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค
เรียบเรียงมาจากรายการ สุขกาย สบายใจ


การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ เราต้องเรียนรู้ก่อนว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?


ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค
ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค

1. การไม่ออกกำลังกาย
2. น้ำหนักตัวที่มากเกินปกติ
3. ระดับไขมันในเลือดสูง
4. คนที่เป็นโรคเบาหวาน
5. ความดันโลหิตสูง
6. การสูบบุหรี่


ซึ่งถ้าเราเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดแล้ว การที่เราจะอยู่ห่างไกลจากโรคหัวใจ คืด เราต้องอยู่ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

การป้องกันการเกิดโรคหัวใจ

1. ไม่สูบบุหรี่
2. ควบคุมน้ำหนักตัว
3. รักษาระดับไขมันในเลือด
4. รักษาระดับความดันโลหิต
5. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
6. เลือกรับประทานอาหาร
7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
     เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้เราควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น เช่น คนที่เป็นความดันโลหิตสูงถ้าออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถทำให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ทำให้ระดับไขมันในเลือดลดต่ำลง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ระดับน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวานควบคุมได้ง่ายขึ้น  และสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจในอนาคตได้อีกด้วยการออกกำลังกายให้มีประโยชน์ต่อหัวใจต้องทำอย่างถูกต้อง ถูกวิธี อย่าทำหักโหมจนเกินไปหรือเกินพอดีเพราะอาจจะทำให้เกิดโทษ
     การออกกำลังกายที่พอเหมาะที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับหัวใจ คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งหนึ่งให้ได้ 30 นาทีต่อเนื่องกัน โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายที่หนักเกินไป ให้เลือกการออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดินต่อเนื่อง 30 นาที เดินด้วยความเร็วสบายๆแล้วแต่ว่าแต่ละคนถนัดแบบไหน แต่ที่สำคัญคือต้องเดินต่อเนื่องกัน และให้ได้ระยะเวลา 30 นาทีเป็นอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล คือ การเลือกควบคุมอาหารที่ทำให้

เราเกิดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ มี 2 ประเภท คือ

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค
 ไม่ทานอาหารที่มีไขมันมากจนเกินไป

1.ปริมาณอาหาร บางครั้งยางทีรับประทานอาหารถูกชนิดแล้วแต่ว่าปริมาณยังมากอยู่ก็จะทำให้น้ำหนักตัวสูงขึ้น  การที่น้ำหนักตัวสูงขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงด้วยเหมือนกัน

2. ชนิดของอาหาร อาหารจำพวกที่มีโคเลสเตอรอลสูง คือ อาหารประเภทไขมันที่มาจากสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมันหมู มันเนื้อ หนังเป็ด หนังไก่หรือไข่แดง การที่จะรับประทานให้พอดีก็ไม่ได้หมายความว่าต้องหลีกเลี่ยงเลย  เพราะอาหารเหล่านี้บางครั้งบางคราวก็ยังมีประโยชน์แต่ต้องรับประทานให้พอดีพอเหมาะ

     ฉะนั้นเรื่องอาหารก็สำคัญ อาหารชนิดอื่นๆ ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนที่เป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เกลือ เพื่อจะควบคุมความดันให้ดี ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ทั้งออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การควบคุมน้ำหนักตัว ก็จะทำให้เราอยู่ห่างไกลจากโรคหัวใจ

ถ้าเป็นโรคหัวใจแล้วจะมีวิธีดูแล รักษาตัวเองอย่างไร?



ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มาจนเกินไป
คล้ายๆกันกับการดูแลตัวเองให้อยู่ห่างจากโรคหัวใจ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจแล้ว ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีต่างๆไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก มียาและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งสามารถรักษาให้หายจากโรคในตอนนั้นด้วย  แต่สิ่งสำคัญสำหรับแพทย์หรือคนไข้โรคหัวใจในปัจจุบัน คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคอีก 
     การป้องกันไม่ให้เป็นโรคอีกก็คือการป้องกันให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ คือ เราต้องอยู่ห่างไกลทุกปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด  แต่ที่สำคัญแล้วไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ตาม ต้องทำอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วสามารถออกกำลังกายได้  แต่ควรประเมินก่อนว่าเบื้องต้นสามารถทำได้แค่ระดับไหน เพื่แป้องกันการเกิดโรคหัวใจและไม่ให้กลับมาเป็นอีก



Create Date : 01 พฤษภาคม 2559
Last Update : 1 พฤษภาคม 2559 9:38:53 น.
Counter : 807 Pageviews.

1 comment
หน้าร้อนต้องระวัง “อุจจาระร่วง”


หน้าร้อนต้องระวังโรค “อุจจาระร่วง” thaihealth

แฟ้มภาพ

ในช่วงหน้าร้อน โรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วง ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อที่ปนเปื้อนมาในอาหารและน้ำดื่ม เป็นเหตุให้ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ

อาหารที่มีเชื้อโรคทำให้อุจจาระร่วงได้แก่อาหาร ที่ไม่สะอาด ปิดไม่มิดชิดมีแมลงวันตอม หรือมีเชื้อโรคเจือปน อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารกระป๋องที่ชำรุดหรือเสื่อมคุณภาพ น้ำดื่มที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ บรรจุในภาชนะไม่สะอาด นอกจากนี้ยังรวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากอุจจาระสู่อาหารและน้ำ อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเตรียมและการปรุงอาหารได้เช่นกัน ก็ทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้

อาการอุจจาระร่วงคือ ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง เกินวันละ 3 ครั้ง ถ่ายเหลวเป็นน้ำผิดไปจากที่เคย หรือถ่ายมีมูกเลือดปน ปวดท้อง ปวดเบ่ง กระหายน้ำ ปากแห้ง อ่อนเพลีย อาจมีอาเจียนหรือมีไข้สูงร่วมด้วย และถ้าถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก อาจจะรู้สึกหน้ามืดเป็นลม หรือช็อกหมดสติเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น จากเชื้อไวรัส อาจมีไข้ต่ำๆ เป็นหวัด ต่อมามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน หากเป็นเชื้อแบคทีเรีย อาการถ่ายอุจจาระมีหลายลักษณะ ตั้งแต่ถ่ายเหลว เล็กน้อยจนเป็นน้ำปริมาณมาก รายที่รุนแรงถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดได้ ทั้งนี้การรักษาแพทย์จะให้การรักษาตามอาการก่อน เช่น ให้น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อหากมีอาการรุนแรง

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการอุจจาระร่วง เริ่มจากงดอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดองต่างๆ แล้วรับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กร้อน ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ น้ำเกลือแร่อาจเตรียมจาก ผงเกลือแร่ซึ่งสามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยา หรือเตรียมเองโดยวิธีทำคือ ใช้น้ำต้มสุก 1 ขวด (3 แก้วหรือ 750 ซีซี.) ผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงรุนแรง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับถ่ายปนมูกเลือด ต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุขถูกสุขลักษณะ เนื่องจากเชื้อโรคจะถูกทำลายด้วยความร้อนในอุณหภูมิที่สูง 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าส้วม รับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอมและดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รักษาสุขอนามัยเรื่องอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ตลอดจนความสะอาดของภาชนะที่ใช้ เพื่อลดการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น การขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะให้เป็นที่ ห้ามเทอุจจาระ ปัสสาวะหรือทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ให้ใช้วิธีฝังดินหรือเผา การเล่นน้ำในแม่น้ำลำคลอง ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก หากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง


บทความโดย : อ.พญ.อวยพร เค้าสมบัติวัฒนา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล




Create Date : 04 เมษายน 2559
Last Update : 4 เมษายน 2559 10:17:47 น.
Counter : 581 Pageviews.

1 comment
โรคปวดศีรษะจากความเครียด
โรคปวดศีรษะจากความเครียด

โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 28 ฉบับที่ 336 เมษายน 2550 หน้า 28-31


โรคปวดศีรษะจากความเครียด

เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ มักจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องนานเป็นวันๆ จนถึงเป็นสัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน โดยจะปวดพอรำคาญ หรือทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย และจะปวดอย่างคงที่ ไม่แรงขึ้นกว่าวันแรกๆ ที่ปวด จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่จะเป็นๆ หาย ๆ เรื้อรัง


ชื่อภาษาไทย โรคปวดศีรษะจากความเครียด โรคปวดศีรษะแบบตึงเครียด

ชื่อภาษาอังกฤษ Tension-type headache (TTH), Tension headache, Muscle contraction headache, Psychogenic headache



สาเหตุ
อาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคนี้เป็นผลมาจากมีการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้าซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากมีสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง (อาจเป็นบางส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า) แล้วส่งผลกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการเกร็งตัว ตึงตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี (เช่น เอนดอร์ฟินซีโรโทนิน) ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ

ส่วนใหญ่ มักพบว่ามีสาเหตุกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด หิวข้าวหรือกินข้าวผิดเวลา อดนอน ตาล้าตาเพลีย(จากใช้สายตามากเกินไป)

นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรควิตกกังวลซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือการปรับตัว บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน

อาการ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ หรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด ต่อเนื่องกันนานครั้งละ 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะปวดนานเกิน 24 ชั่วโมง บางคนอาจปวดนานติดต่อกันทุกวันเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือนโดยที่อาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ไม่ปวดรุนแรงขึ้นจากวันแรกๆ ที่เริ่มเป็น ส่วนมากจะเป็นการปวดตื้อๆ หนักๆ พอรำคาญหรือรู้สึกไม่สุขสบาย ส่วนมากที่อาจปวดรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน

ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือตาพร่าตาลาย และไม่ปวดมากขึ้นเมื่อถูกแสง เสียง กลิ่น หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย

อาการปวดศีรษะอาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้าๆ บางคนอาจเริ่มปวดตอนบ่ายๆ เย็นๆ หรือหลังจากได้คร่ำเคร่งกับงานมากหรือขณะหิวข้าว หรือมีเรื่องคิดมาก วิตกกังวล มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับ

การแยกโรค

อาการปวดศีรษะที่เป็นต่อเนื่องกันเป็นวันๆ ขึ้นไปควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น

1. ไมเกรน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว (ส่วนน้อยเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า นาน 4-72 ชั่วโมง มันจะเป็นๆ หายๆ ทุกครั้งที่มีอาการกำเริบ มักจะเกิดจากสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น อดนอน อดข้าว อากาศร้อนหรือเย็นจัด อาหารบางชนิด เหล้า ผงชูรส โดยมากจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะจากความเครียดร่วมด้วย

2. เนื้องอกสมอง
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอสายๆ ก็ทุเลาไป ไม่ปวดต่อเนื่องทั้งวันอาการดังกล่าว จะเป็นแรงขึ้นทุกวันจนผู้ป่วยต้องสะดุ้ง ตื่นตอนเช้ามืดเพราะรู้สึกปวด และจะปวดนานขึ้นทุกวันจนในที่สุดจะปวดตลอดเวลา ซึ่งกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ในระยะต่อมาอาจมีอาการอาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชัก ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

3.โรคทางสมองอื่นๆ
เช่น เลือดออกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ปวด บางคนอาจมีไข้สูง ซึม ชัก ร่วมด้วย

4.ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงและฉับพลันทันที ตาพร่ามัว แสบตาข้างที่ปวดจะมีสิ่งรบกวน ตาแดงๆ ตรงบริเวณตาขาว (รอบๆ ตาดำ) อาการปวดจะเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆ ซึ่งกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากลักษณะอาการ และประวัติเกี่ยวกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ การคร่ำเคร่งกับงาน

นอกจากมีอาการไม่ชัดเจนและสงสัยเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง จึงจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ผู้ป่วยและญาติจึงควรบอกเล่าประวัติ และอาการเจ็บป่วยอย่างละเอียด เช่น ปัญหาครอบครัว (สามีมีภรรยาน้อย เล่นการพนัน การทะเลาะกัน) ปัญหาการงาน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องและไม่หลงไปส่งตรวจพิเศษให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น


การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ควรกินยาพาราเซตามอลบรรเทา 1-2 เม็ด นั่งพักนอนพัก ใช้นิ้วบีบนวด
ควรไปปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

• มีอาการปวดรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง
• มีอาการปวดมากตอนเช้ามืด จนสะดุ้งตื่น หรือปวดแรงขึ้นและนานขึ้นทุกวัน
• มีอาการเดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือชักกระตุก
• มีอาการตาพร่ามัว และตาแดงร่วมด้วย
• มีอาการปวดศีรษะหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
• ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
• มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง



การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยาบรรเทาปวดร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อหรือยากล่อมประสาท

ถ้าพบว่ามีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาภาวะเหล่านี้ไปพร้อมกัน และอาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมไปด้วย เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม เป็นต้น

ในรายที่มีอาการกำเริบมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้งและแต่ละครั้งปวดนานมากกว่า 3-4 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยมาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน หรือฟลูออกซีทีนทุกวันติดต่อกันนาน 1-3 เดือน

ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากทำให้วิตกกังวล ไม่สุขสบาย และอาจสิ้นเปลืองเงินทองและเวลาในการแสวงหาบริการ ซึ่งผู้ป่วยและญาติมักคิดว่าเป็นโรคร้ายแรง จึงย้ายรงพยาบาลที่รักษาไปเรื่อยๆ

การดำเนินโรค
อาการปวดแต่ละครั้งจะเป็นนานเป็นชั่วโมงๆ จนเป็นสัปดาห์ หรือแรมเดือน เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มักจะทุเลาไปได้ แต่เมื่อขาดการรักษา และมีสิ่งกระตุ้นก็อาจกำเริบได้อีก จึงมักจะเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย

การป้องกัน
ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้กำเริบโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่าปล่อยให้หิว อย่าคร่ำเคร่งกับงานมากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจนเมื่อยล้า ออกกำลังเป็นประจำ หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ ถ้าจำเป็นควรกินยาป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ

ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อย คือประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ปวดศีรษะจะมีสาเหตุจากโรคนี้

พบได้ในคนทุกวัย เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมาก ที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี

พบว่าผู้หญิงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5-2 เท่า



*******************************************

ข้อมูลจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 28 ฉบับที่ 336 เมษายน 2550 หน้า 28-31



Create Date : 25 มีนาคม 2559
Last Update : 25 มีนาคม 2559 0:55:52 น.
Counter : 648 Pageviews.

2 comment
`เบาหวาน` เด็กและวัยรุ่นควรใส่ใจ

รู้มั้ย เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้

'เบาหวาน' เด็กและวัยรุ่นควรใส่ใจ thaihealth

แฟ้มภาพ

เคยไหมกินจุแต่กลับผอมลง ปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และมีภาวะขาดน้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปรกติเวลาเรารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยน เป็นน้ำตาล และร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็กๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์คือฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน ในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ "โรคเบาหวาน"

ชนิดของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

จริงๆ แล้วมีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ชนิดหลักคือ

1.เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM) เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ (ร่างกายขาดอินซูลิน) เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ มักมีอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด

สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น รักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าผิวหนัง ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด และยังไม่พบวิธีป้องกัน แพทย์และนักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป

2.เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 DM) การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มของอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็ก ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือเด็กอ้วนและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปีเช่นกัน

เด็กอ้วนจะมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันเหล่านี้จะปล่อยสารต่างๆ เช่น กรดไขมัน ออกมาทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน หรืออธิบายง่ายๆว่า "อินซูลินที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์นำน้ำตาลเข้าเซลล์ไปใช้ให้เกิดพลังงานได้ตามปรกติ" ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็น "โรคเบาหวาน" นั่นเอง

โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้อาจตรวจพบล่าช้า

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยต้องลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการให้ยาชนิดรับประทาน แต่ถ้ารักษาแล้วไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

การป้องกันเบาหวาน เบาหวานชนิดที่ 1 ขณะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน เบาหวานชนิดที่ 2 พยายามให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไก่ทอด นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ขนมถุงกรุบกรอบ และควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน

วิธีการตรวจหาเบาหวาน

ตรวจจากเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็น "เบาหวาน" หรือถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือหลังกินน้ำตาล (ตามแพทย์สั่ง) เป็นเวลา 2 ชม. มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน

ลองสังเกตดูนะคะว่าบุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคตค่ะ

ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดย ผศ.พญ.ไพรัลยา นาควัชระ 




Create Date : 25 มกราคม 2559
Last Update : 25 มกราคม 2559 9:58:35 น.
Counter : 497 Pageviews.

1 comment
ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองทั่วโลกสูงขึ้น

ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอทั่วโลกพุ่ง สาเหตุหลักเกิดจากการสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองทั่วโลกพุ่ง thaihealth

แฟ้มภาพ

ทั้งนี้มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความรู้ ความเข้าใจในโรคถุงลมโป่งพองที่ถูกต้องจึงมุ่งสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพและโทษภัยของการสูบบุหรี่ เพื่อช่วยลดอัตราความเสี่ยงสู่การเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ในอนาคตด้วยงาน "วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก" ที่มาพร้อมกับกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การอภิปรายเรื่อง "เกมปริศนา...ในโรคปอด" การให้บริการด้านการตรวจวัดความดันสมรรถภาพการทำงานของปอด วัดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกับทีมกายภาพบำบัดนอกจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจของมูลนิธิพร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดอีกด้วย โดยภายในงานได้มีผู้ป่วยพร้อมครอบครัว และบุคลากรทางแพทย์ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองมากกว่า 90% เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการสูดเอามลพิษเข้าไปในปอด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอากาป่วยอย่างช้าๆ และใช้เวลาหลายปี จึงทำให้ผู้ป่วยไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น จนต่อมาผู้ป่วยเริ่มมีการอักเสบในหลอดลมและเนื้อปอด มีความยืดหยุ่นของปอดลดลง หลอดลมบวม ต่อมสร้างเมือกในหลอดลมโตขึ้นจนสร้างเสมหะเพิ่มขึ้นและกล้ามเนื้อหลอดลมหดตัว อันเป็นสาเหตุให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจแบบเรื้อรังจนกระทั่งลมที่ผู้ป่วยเป่าออกมามีความเร็วที่ลดลงมากกว่าคนปกติ ที่ส่งผลให้มีลมค้างอยู่ในปอดผู้ป่วยจึงมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เริ่มมีอาการเหนื่อยที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยต้องออกแรงจึงมีความสามารถในการทำงานน้อยลง และอาจมีอาการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็เป็นได้

สถานการณ์ปัจจุบันของโรคถุงลมโป่งพองในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยนับเป็นหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของประชากรไทย จึงถือได้ว่าโรคถุงลมโป่งพองเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยอีกโรคหนึ่ง ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10 ล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 1 ล้านคนและมีจำนวน 3 แสนคนในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจนซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตประมาณปีละ 1.5 หมื่นคน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าโรคนี้มักพบในผู้ชายอายุระหว่าง 30-50 ปี มากกว่าผู้หญิงสองเท่า เนื่องจากผู้สูบบุหรี่มักเป็นเพศชาย แต่อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาที่พบถึงสิ่งที่น่ากังวลในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาว่า ผู้หญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากบุหรี่ในเพศหญิงมีแนวโน้มที่ค่อยๆ สูงขึ้น ในขณะที่เพศชายกลับมีแนวโน้มลดลงในบางประเทศ

"ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีสมรรถภาพปอดลดลงมากกว่าคนปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นบางอย่างจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้ เช่น มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยแย่ลงแล้ว ยังทำให้โรคลุกลามได้เร็วขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้นจึงทำให้มีวิธีการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยให้ความร่วมมือตามข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นอย่างดี ได้แก่ การหยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด การไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละครั้ง การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อช่วยลดการกำเริบของโรค"

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย




Create Date : 22 มกราคม 2559
Last Update : 22 มกราคม 2559 11:14:41 น.
Counter : 358 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  

สมาชิกหมายเลข 1394611
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



All Blog