กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

พระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) เปรียญ




พระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน



....................................................................................................................................................


ตั้งแต่ข้าพเจ้าแก่ชรา ได้ขอตัวไม่แต่งเรื่องประวัติให้ใครๆมานานแล้ว บัดนี้บุตรธิดาของพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ(อ่อน โกมลวรรธนะ)เปรียญ มาอ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้าแต่งเรื่องประวัติของบิดา เพื่อจะให้ปรากฏอยู่ในหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาพฤฒาธิบดีฯ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะขัดด้วยนับถือท่านผู้ตายเป็นครูบาอาจารย์ อันงานปลงศพของท่านเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะสนองคุณได้เป็นครั้งหลัง และมาคิดตามคำของบุตรธิดาที่อ้างว่า ในเวลานี้ใครอื่นที่รู้เรื่องประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีฯเสมอเหมือนข้าพเจ้าไม่มีแล้ว ก็เห็นจริง ทั้งเรื่องประวัติของท่านก็เป็นคติอันสมควรจะให้ปรากฏอยู่ อย่าให้สูญเสีย ข้าพเจ้าจึงรับแต่งให้ตามประสงค์


พระยาพฤฒาบดี ศรีสัตยานุการ(อ่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุลว่า "โกมลวรรธนะ") เกิดในสกุลคฤบดี ณ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา แขวงจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ บิดาชื่อ ดี มารดาชื่อ จั่น การศึกษาเริ่มเรียนหนังสือไทยในสำนักพระอาจารย์ยิ้ม วัดยี่สาร เมื่ออายุได้ ๙ ปี ต่อมาเมื่ออายุ ๑๕ ปีไปเรียนมูลภาษามคธในสำนักอาจารย์ปั้น และพระครูญาณวิมล ณ วัดขุนตรา แล้วไปเรียนคัมภีร์ธรรมบท่อนายนาคเปรียญ ๘ ประโยค พระมหาน้อยเปรียญ ๔ ประโยค และเรียนต่ออาจารย์น้อยอีกคนหนึ่งที่เมืองเพชรบุรี เมื่ออายุได้ ๑๘ ปีกลับมาบวชเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระอธิการบุญ ชิตมาโร ณ วัดธรรมนิมิตรในแขวงจังหวัดสมุทรสงคราม พระอธิการบุญเห็นว่าเล่าเรียนเฉียบแหลม จึงพาเข้ามาถวายสมเด็จพระสังฆราช(ปุสฺสเทว สา)เมื่อยังดำรงพระยศเป็นที่พระสาสนโสภณ จึงได้อยู่ในวัดราชประดิษฐ์ฯแต่นั้นมา ถึง พ.ศ. ๒๔๑๕ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชประดิษฐ์ฯ พระจันทรโคจร(ยิ้ม) วัดมกุฏกษัตริยารามเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชฯเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อมโร" บวชแล้วศึกษาคันธุระอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ฯ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ สมเด็จพระสังฆราชเมื่อดำรงพระยศเป็นที่พระธรรมวโรดม ตั้งให้เป็นพระครูใบฎีกาในฐานานุกรมของท่าน ต่อมาอีกปีหนึ่งถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ เข้าแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค

มูลเหตุอันมาเป็นปัจจัยข้อสำคัญในประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีฯนั้น เกิดด้วยเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปอิน ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ครั้งทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาสได้ขอพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารสำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปครอง วัดที่ทรงสร้างใหม่นี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ อันเป็นสำนักของสมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ไปครอง แต่ไม่ใช่วัดใหญ่โต จะทรงตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสเป็นแต่พระครู สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพร รับจะจัดคณะสงฆ์ถวายตามพระราชประสงค์ ก็วัดราชประดิษฐ์ฯนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยเจตนาจะให้เป็นวัดขนาดย่อม สำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่ใกล้พระราชฐาน ให้สะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศล

ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนิเวศน์ธรรมประวัติที่ใกล้บางปอินนั่นเอง จำนวนพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯจึงมีน้อย เวลาหาพระสงฆ์สำหรับวัดนิเวศฯธรรมประวัตินั้น ที่วัดราชประดิษฐ์ฯมีพระที่พรรษาอายุและเป็นเปรียญทรงคุณธรรมสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ชื่อเปีย เป็นเปรียญ ๕ ประโยคองค์ ๑ พระครูสัทวิมล ฐานานุกรมตำแหน่งคู่สวด ชื่อ พุฒ พึ่งได้เปรียญ ๔ ประโยคองค์ ๑ สมเด็จพระสังฆราชชวนพระครูสัทวิมลกับพระสงฆ์อันดับที่รับจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้แล้ว ให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงยินดี พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูสัทวิมล(พุฒ)เป็นที่พระครูสถิตธรรมสโมธาน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

แต่ในระหว่างเวลา ๒ ปีที่กำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น เผอิญพระครูสถิตธรรมสโมธาน(พุฒ)อาพาธถึงมรณภาพ ยังเหลือพระครูปลัด(เปีย)องค์เดียวที่พอจะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้ สมเด็จพระสังฆราชตรัสชวน แต่แรกเธอก็รับจะไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า พระครูปลัดเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้วจะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ แต่ยังไม่ทันทรงตั้ง พระครูปลัด(เปีย)กลับใจไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง จะเป็นเพราะเหตุใดในใจจริงข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชโดยอ้างว่าไม่มีญาติโยม เกรงจะไปทนความลำบากที่บางปอินไม่ไหว สมเด็จพระสังฆราชตรัสปลอบสักเท่าใดก็ไม่ยอมไป ดูเหมือนหนึ่งว่าถ้าขืนให้ไปจะสึก สมเด็จพระสังฆราชก็จนพระหฤทัย ได้แต่ถวายพระพรให้ทรงทราบเหตุที่เกิดขัดข้อง และทูลว่าในวัดราชประดิษฐ์ฯยังมีเปรียญแต่พระมหาอ่อน(คือ พระยาพฤฒาธิบดีฯ)องค์เดียว แต่บวชยังไม่ถึง ๑๐ พรรษาซึ่งเป็นเขตสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัดเคืองในเรื่องที่พระครูปลัด(เปีย)กลับใจ ดำรัสสั่งให้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ถ้าพระมหาอ่อนทรงคุณธรรมอย่างอื่นอยู่แล้ว ถึงพรรษาอายุยังไม่ถึงขนาดก็ไม่ทรงรังเกียจ สมเด็จพระสังฆราชตรัสถามมหาอ่อนว่า ถ้าโปรดฯให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปอิน จะยอมไปหรือไม่ พระมหาอ่อนได้ทราบเรื่องมาแต่ต้น เห็นสมเด็จพระสังฆราชได้ความเดือดร้อนรำคาญมาก จึงทูลรับว่า ถ้าโปรดฯให้ไปถึงจะลำบากก็จะไปสนองพระเดชพระคุณให้สมพระราชประสงค์ สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นวิตก ให้นำความถวายพระพรทูลว่า พระมหาอ่อนเป็นผู้มีอัธยาศัยและความรู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสได้ มีบกพร่องแต่ที่พรรษาอายุยังน้อยเท่านั้น และตัวก็เต็มใจรับจะไปโดยไม่รังเกียจ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดีดำรัสว่า ได้ทรงเจตนาจะตั้งพระครูปลัด(เปีย)เป็นพระราชาคณะ ถึงมหาอ่อนพรรษาอายุยังน้อยก็เป็นเปรียญและมีความกตัญญูเป็นความชอบพิเศษ สมควรจะเป็นพระราชาคณะได้ จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต (ตามฉายาของท่านว่า อมโร)

และทรงพระราชปรารภจะมิให้มีเดือดร้อนเมื่อขึ้นไปอยู่บางปอิน โปรดฯให้ไต่ถามถึงญาติโยม ได้ความว่าโยมผู้ชายยังมีตัวตนอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามและหลวงญาณวิจิต(จุ้ย ต้นสกุล "ผลพันธิน")เปรียญในกรมราชบัณฑิตย์ กับนางเพิ้งภรรยาเป็นโยมอุปัฎฐากอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คนนั้นก็สมัครจะขึ้นไปอยู่ที่บางปอินกับพระอมราภิรักขิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างบ้านเรือนพระราชทานที่ริมเขตวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แล้วทรงตั้งหลวงญาณวิจิตรเป็นหลวงธรรมวงศ์ประวัติ ตำแหน่งเจ้ากรมวัด และให้เป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมภิกษุสามเณรด้วย และทรงตั้งนายดีบิดาพระอมราภิรักขิตเป็นที่ขุนปฏิบัติชินบุตร ตำแหน่งปลัดกรมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

อนึ่ง เมื่อกำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น ทรงพระราชปรารภว่า ควรจะมีตำหนักสักหลัง ๑ สำหรับเวลาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นไปจะได้พัก เหมือนอย่างตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างไว้ที่วัดเสนาสนาราม ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระราชดำริว่า กุฏิที่สร้างสำหรับพระครูเจ้าอาวาสแต่เดิมอยู่ข้างเล็กไป จึ่งโปรดฯให้เปลี่ยนใช้เป็นตำหนัก และให้สร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่อีกหลัง ๑ ให้ใหญ่โตสมศักดิพระราชาคณะ การอันนี้ก็เนื่องมาแต่ที่ทรงตั้งพระอมราภิรักขิตครั้งนั้น

การสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทำอยู่ ๒ ปีสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ มีการฉลองที่บางปอินเป็นการใหญ่โต รายการจารึกไว้ในแผ่นศิลาที่พระอุโบสถดังนี้

".....ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก(พ.ศ. ๒๔๒๑) ได้เชิญพระพุทธปฏิมากรพระพุทธนฤมลธรรโมภาสและคัมภีร์ไตรปิฎก และรูปพระมหาสาวกและพระราชาคณะฐานานุกรมอันดับวัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมาราม ๘ รูป ลงเรือกลไฟแต่กรุงเทพฯมาพักไว้ที่วัดเชิงเลนตรงบางไทรข้าม ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ่น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ได้ตั้งกระบวนแห่แต่วัดเชิงเลน เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสตั้งบนบุษบกเรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ พระธรรมคัมภีร์พระไตรปิฎกลงเรือเอกชัยหลังคาสีอีกลำหนึ่ง พระราชาคณะฐานานุกรมลงเรือกราบม่านทองแย่ง พระสงฆ์อันดับลงเรือราบม่านมัศรู่

แห่ขึ้นไปตามลำน้ำระหว่างเกาะบางปอินนี้ เลี้ยวศีรษะเกาะข้างเหนือ ล่องลงมาจอดที่ตะพานฉนวนฝั่งเกาะข้างตะวันตกริมลำน้ำใหญ่ แล้วตั้งกระบวนแห่บกเชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นพระยานมาศ พระธรรมพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกขึ้นเสลี่ยงแปลง รูปพระมหาสาวกขึ้นเสลี่ยงโถง พร้อมด้วยเครื่องสูงกลองชนะคู่แห่ๆแต่ฉนวนน้ำไปโดยทางหน้าพระอุโบสถ เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ รูปพระมหาสาวก ๖ องค์ตั้งรายไว้ ฯ

ในเวลาบ่ายวันนั้น ได้ทรงถวายไตรจีวรบริกขารแก่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะกับฐานานุกรม และพระสงฆ์อันดับซึ่งมาอยู่ในพระอารามนี้ ๘ รูป นิมนต์ให้ขึ้นอยู่กุฏิที่ได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น แล้วประชุมพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญคณะธรรมยุติกนิกาย ๕๗ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ทั้งพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามนี้ ทรงถวายวิสุงคามสีมากำหนดโดยยาวเส้น ๔ วา โดยกว้าง ๑๖ วา ๖ นิ้ว มีเสาศิลาแนวกำแพงแก้วในทิศทั้ง ๖ เป็นที่สังเกต และที่เขตรอบบริเวณพระอารามซึ่งเป็นที่พระสงฆ์ได้อาศัยนั้น กำหนดตั้งแต่กำแพงรั้วเหล็กหน้าพระอารามด้านเหนือ ตลอดทั้งที่วิสุงคามสีมาจนถึงกำแพงสกัดท้ายโรงเรือยาว ๔ เส้น ๑๑ วา ๖ นิ้ว กว้างตกลำน้ำตามฝั่งเกาะทั้งสองด้านเป็นเขตพระอาราม แล้วทรงถวายผ้าไตรแด่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญคณะธรรมยุติกนิกาย ๕๐ รูป สวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น ตั้งแต่ ณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ๓ เวลา จนถึง วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ๕๘ รูปได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว

เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินทรงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้ง ๓ เวลา และทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆแก่พระสงฆ์ ๕๘ รูป ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่ายทรงถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญมหานิกาย ๕๘ รูป เวลาเย็นสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ รุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วถวายเครื่องบริขารไทยธรรมต่างๆ และในวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายรับพระราชทานฉัน ๓๐ รูป เวลาค่ำมีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งเป็นพระราชกุศลส่วนมาฆบูชา ณ วันขึ้น ๒๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวันละกัณฑ์ แล้วโปรดเกล้าฯให้มีเทศนาเป็นธรรมทานวันละ ๓ กัณฑ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี ราษฎรพร้อมกันเวียนเทียนรอบพระอาราม ๓ วัน และมีการมหรสพสมโภช การเล่น(มีโขนชักรอกโรงใหญ่) เต้นรำครบทุกสิ่ง และตั้งต้นกัลปพฤกษ์และฉลากต่างๆเป็นมโหฬารบูชา ตั้งแต่วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ จนถึง วันอาทิตย์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ รวมสี่วีนสี่ราตรีเป็นเสร็จการพระราชกุศลมหกรรมพุทธาทิรัตนบูชา....ฯ

พระอมราภิรักขิต(พระยาพฤฒาธิบดีฯ)ขึ้นไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่ออายุ ๒๗ ปีบวชได้ ๖ พรรษา เวลานั้นมีพระสงฆ์เถรานุเถระกับทั้งเจ้านายขุนนางขึ้นไปฉลองวัดอยู่ที่บางปอินเป็นอันมาก มิใคร่มีใครรู้จักพระอมราภิรักขิตมาแต่ก่อน ทราบกันแต่ว่าได้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพราะมีความกตัญญู ยอมทนความลำบาก เพื่อปลดเปลื้องความเดือดร้อนของสมเด็จพระสังฆราช ต่างก็พากันอยากเห็น ที่เป็นพระสงฆ์เถรานุเถระได้พบก็อวยชัยให้พร ที่เป็นคฤหัสถ์ก็พากันแสดงไมตรีจิตรถึงถวายปวารณารับเป็นอุปัฎฐากก็มี พระอมราภิรักขิตจึงมีฐานะพิเศษผิดกับพระราชาคณะองค์อื่นๆในชั้นเดียวกันมาแต่แรก ความลำบากที่ไปอยู่บางปอินเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้วมีอย่างไรบ้าง บุคคลในสมัยนี้ยากที่จะเข้าใจได้ ที่พระครูปลัด(เปีย)กลัวนั้นที่จริงมีมูลอยู่บ้าง(จะพรรณนาถึงความลำบากในที่อื่นต่อไปข้างหน้า)

แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระวิตก เกรงว่าพระสงฆ์ที่ขึ้นไปอยู่วัดนิเวศฯฯจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งระเบียบการ ถึงเดือนหนึ่งให้เรือหลวงบรรทุกเสบียงอาหารพระราชทานสำหรับทำครัวเลี้ยงพระขึ้นไปส่งครั้งหนึ่ง และในการกฐินพระราชทานผ้าไตรพระสงฆ์ทั้งวัดอีกส่วนหนึ่ง นอกจากผ้าไตรปีเป็นนิจผิดกับวัดอื่นๆ แต่ส่วนตัวพระอมราภิรักขิตเองนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคุ้นเคยมากขึ้นก็ยิ่งทรงพระเมตตากรุณา ตรัสชมมารยาทและอัธยาศัยว่าสุภาพเรียบร้อย ถวายเทศนาก็โปรดปฏิภานถึงคนทั้งหลายอื่น

เมื่อท่านขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯไม่ช้านานเท่าใด ก็พากันเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านทั่วไปในท้องถิ่นอำเภอบางปอิน มีคนไปทำบุญถือศีลฟังธรรม และให้ลูกหลานไปบวชเรียนอยนู่วัดนิเวศน์ฯมากขึ้นจนกุฏิไม่พอพระอยู่ จึงโปรดฯให้แก้ตึกแถวที่สร้างสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกศิษย์วัด กั้นห้องเรียงกันแปลงเป็นกุฏิสำหรับพระที่บวชใหม่ ต่อมาจำนวนพระสงฆ์ยังคงเพิ่มขึ้นอีก ต้องโปรดฯให้สร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มขึ้นอีก ๒ แถว จึงพอพระสงฆ์อยู่ได้ไม่ยัดเยียด


เหตุที่ข้าพเจ้าจะเป็นศิษย์ของพระยาพฤฒาธิบดีฯนั้น เมื่อท่านได้เป็นที่พระอมราภิรักขิตขึ้นไปครองว่านิเวศน์ฯได้พรรษาหนึ่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ ข้าพเจ้าก็ได้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีหน้าที่ตามเสด็จไปไหนๆด้วยเสมอ มักเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปอินเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตั้งแต่สร้างวัดแล้วเสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปอินครั้งใด ก็เสด็จไปที่วัดด้วยทุกครั้ง ครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๒๕ เสด็จไปวัดนิเวศน์ฯทรงบูชาพระในอุโบสถแล้ว ทรงพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรการบำรุงรักษาในบริเวณวัด

เมื่อเสด็จไปถึงตรงตำหนัก เห็นจะทรงรำลึกขึ้นว่าปีนั้นอายุข้าพเจ้ากำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า "วัดนิเวศน์ฯนี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี" ข้าพเจ้าก็ทูลสนองในทันทีว่า เมื่อข้าพเจ้าบวช ถ้าโปรดให้อยู่วัดนิเวศน์ฯก็จะยินดี ตรัสถามซ้ำว่า "จริงๆหรือ" ข้าพเจ้าทูลสนองซ้ำว่า จริงอย่างนั้น ก็ทรงยินดีไปตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านถวายพระพรว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยในปีนั้นพระอมราภิรักขิตจะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เพราะบวชยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาบริบูรณ์ หย่อนอัตราตามพระวินัยอยู่พรรษาหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่าถ้าเช่นนั้นจะรอไปบวชต่อปีหน้า ก็เป็นตกลง

ข้าพเจ้าจึงเลื่อนเวลามาบวชต่อใน พ.ศ. ๒๔๒๖ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช สมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสฺสเทว(สา)เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอัมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสสยาจารย์ก็ลงมานั่งในคณะปรกด้วย เมื่อบวชแล้วพักอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฟื้นประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข กับทั้งพระอมราภิรักขิตและตัวข้าพเจ้าเข้าไปรับบิณฑบาตรที่ชาลาต้นมิดตะวันในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์(อันอยู่ในสวนศิวาลัยบัดนี้) เสด็จลงทรงบาตรพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ข้าพเจ้าจะไปจำพรรษาอยู่ใกล้ ญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯไม่มีโอกาสทำบุญด้วย จึงให้ไปรับบิณฑบาตเสียก่อน

วันต่อนั้นมาจะขึ้นไปทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ สมเด็จพระสังฆราชท่านทราบพระอัธยาศัยว่าสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯไม่พอพระหฤทัยที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดอื่นนอกจากวัดบวรนิเวศฯจึงเรียกพระอมราภิรักขิตกับข้าพเจ้าขึ้นไปสั่งแต่กลางคืน ว่าให้ขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์ฯให้พระอมราภิรักขิตเอาดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการส่วนของท่านขึ้นไปถวายก่อน ให้ข้าพเจ้าคอยอยู่ข้างล่างสัก ๑๐ นาที แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องสักการทูลลา เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้าก็เห็นเสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงเบิกบานดี ตรัสฝากข้าพเจ้าแก่พระอมราภิรักขิตแล้วประทานพระโอวาทกำชับข้าพเจ้าให้เคารพนับถือ อยู่ในถ้อยคำของท่านผู้เป็นอาจารย์ การทูลลาก็เป็นอันเรียบร้อยทุกสถาน สมเด็จพระสังฆราชให้เจ้าคุณอมราฯกลับขึ้นไปก่อนวันหนึ่ง รุ่งขึ้นนับเป็นวันที่ ๕ ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวช จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจากวัดวรดิษฐ์ฯ ท่านอุตส่าห์ตามลงไปอำนวยพรถึงท่าราชวรดิษฐ์

เมื่อขึ้นไปถึงวัดนิเวศน์ฯไปบูชาพระพุทธเจ้าที่ในอุโบสถก่อน แล้วไปยังกุฏิเจ้าคุณอมราภิรักขิตถวายเครื่องสักการขอนิสัยท่านตามระเบียบพระวินัย พิธีขอนิสัยก็คือไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของท่าน ขอให้ท่านเอาเป็นภาระปกครองเรา ฝ่ายเราก็จะรับเอาเป็นภาระปฏิบัติท่านตามสมควร เพราะฉะนั้นเมื่อท่านให้นิสัยรับเป็นอาจารย์แล้ว เราจึงมีหน้าที่ยจะต้องกระทำการปฏิบัติ การนั้นถ้าอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์เรียกว่า "อุปชฌายวัตร" ถ้าอยู่ในสำนักอาจารย์เช่นตัวข้าพเจ้าเรียกว่า "อาจาริยวัตร" แต่เป็นการอย่างเดียวกัน คือเวลาเช้าเมื่อท่านตื่นนอนต้องเอาน้ำบ้วนปากล้างหน้ากับไม้สีฟันไปถวาย พอค่ำถึงเวลาที่ท่านกำหนดต้องขึ้นไปฟังท่านสั่งสอน แต่ท่านให้ทำพอเป็นวินัยกรรมไม่กี่วันก็อนุญาตให้หยุด เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัด เมื่อทำพิธีขอนิสัยแล้วข้าพเจ้าไปอยู่ตำหนัก เจ้าคุณอมราฯท่านให้พระปลัดชื่อนาคเป็นผู้อุปการะอย่างพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าบวชขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯครั้งนั้น นอกจากบ่าวไพร่มีพวกต้องตามไปหลายคน ที่บวชไปจำพรรษาอยู่วัดนิเวศน์ฯด้วยกันก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ไปอยู่เป็นเพื่อนก็มี ที่บวชนั้นคือ หม่อมเจ้าโอภาส ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพองค์ ๑ นายร้อยตรีหลวงสุรยุทธโยธา(ดั่น ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแต่แรกตั้ง ภายหลังได้เป็นนายพันโท ไปบังคับทหารที่เมืองนครราชสีมาอยู่จนถึงแก่กรรม)คน ๑ นายร้อนตรีขุนชาญสรกล(อิ่ม ภายหลังได้เลื่อนเป็นหลวงเป็นพระและได้นำทหารไปรบเงี้ยวที่เมืองเชียงราย ที่สุดได้เป็นพระยาวิเศษสัจธาดา)คน ๑ พลทหารเพ็งเล็ก เวลานั้นเป็นทหารรับใช้ของข้าพเจ้าอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ภายหลังได้เป็นขุนวรการพิเศษในกระทรวงธรรมการ คน ๑ ทั้ง ๔ นี้บวชเป็นพระภิกษุ ที่บวชเป็นสามเณรคือ หม่อมเจ้าหลง ในกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ภายหลังได้มีตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรม องค์ ๑ หม่อมเจ้าเล็ก ในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ภายหลังได้มีตำแหน่งในกระทรวงพระคลังฯ ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น นายเพ็งใหญ่ เสมียนในกรมทหารมหาดเล็กซึ่งเคยบวชอยู่วัดโสมนัสวิหารหลายพรรษาขอลาไปอยู่เป็นผู้แนะนำข้าพเจ้าในการปฏิบัติพระวินัยคน ๑

แต่ที่เป็นคนสำคัญควรกล่าวถึงอีกคนหนึ่งนั้นคือ เจ้าพระยายมราช เวลานั้นเรียกกันว่า "มหาปั้น" ท่านเป็นสหชาติเกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า แต่อุปสมบทก่อนข้าพเจ้าปีหนึ่ง ชอบกันมาแต่ยังเป็นเปรียญ ท่านบวชพระอยู่พรรษาเดียวก็ลาสิกขา เมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าบวชยังไม่ได้รับราชการ จึงสมัครไปอยู่ด้วยตลอดพรรษาจนข้าพเจ้าสึกจึงได้กลับมากรุงเทพฯด้วยกัน มารดาของข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปอยู่บางปอินด้วย ท่านอยู่แพจอดทางพระราชวังตรงวัดนิเวศน์ฯข้าม ถึงวันพระท่านรักษาศีลอุโบสถ ข้ามไปเลี้ยงพระและทำวัตรฟังเทศน์ด้วยกันกับพวกอุบาสกอุบาสิกาเป็นนิจ เขาเลยขอให้ท่านเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาตลอดพรรษา เพราะมีคนขึ้นไปด้วยกันกับข้าพเจ้ามากเช่นนั้น พวกที่อยู่วัดนิเวศน์ฯมาแต่ก่อนพากันออกปากว่า ตั้งแต่เป็นวัดนิเวศน์ฯมายังไม่เคยครึกครื้นเหมือนเมื่อพรรษานั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง

แต่ถ้าว่าสำหรับตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อแรกขึ้นไปในคราวบวชนี้ออกจะรู้สึกอ้างว้าง เพราะแต่ก่อนไม่เคยขึ้นไปบางปอินแต่ตามเสด็จประพาส ในเวลาเช่นนั้นมีเรือจอดหลามตลอดเกาะ ทั้งมีเรือไฟไปมาทุกวัน เรือแจวพายขายของและเที่ยวเตร่กันในแม่น้ำก็มีไม่ขาดสาย ที่บนบกผู้คนกล่นเกลื่อนทั้งที่พระราชวังและตามตำหนักเจ้าบ้านขุนนาง มีทั้งตลาดยี่สาน พวกชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งขายของต่างๆครึกครื้น ดูราวกับเป็นเมืองอันหนึ่ง ขึ้นไปในเวลาเสด็จไม่อยู่ดูเงียบเหงาไม่มีเรือแพผู้คนเหมือนกับเป็นเมืองร้าง ด้วยในสมันนั้นอย่าว่าแต่ยังไม่มีรถไฟเลย ถึงเรือไฟที่จะไปทางนั้นเช่นเรือเมล์รับคนโดยสาร หรือเรือสินค้าขึ้นล่อง ก็ยังไม่มี หลายๆวันจะเห็นเรือไฟแล่นผ่านวัดสักลำ ๑ ถึงพวกลูกศิษย์วัดพากันชอบวิ่งออกไปดู มีแต่เรือหลวงบรรทุกเสบียงอาหารขึ้นไปถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนใหม่เสมอทุกเดือน เรือลำนั้นชื่อ "นกอินทรีย์" เสียงไอเสียขึ้นปล่องดังอย่างยิ่ง พอเรือถึงเกาะเกิดก็ได้ยินเสียงถึงวัดนิเวศน์ฯ เลยถือกันเป็นสัญญาพอได้ยินเสียงพวกที่อยู่วัดก็พากันลงไปคอยขนเสบียงอาหารที่พระราชทานของที่ส่งขึ้นไปสำหรับพวกข้าพเจ้าก็มักฝากเรือหลวงไป

เพราะฉะนั้นอยู่วัดนิเวศน์ฯมีเวลาเงียบเหงาเดือนละหลายๆวันแต่ไปอยู่ไม่ช้าก็ชิน พอชินแล้วก็รู้สึกว่าอยู่วัดนิเวศน์ฯสบายมาก สยาบกว่าอยู่วัดในกรุงเทพฯ เช่นวัดบวรนิเวศน์ฯที่ข้าพเจ้าเคยอยู่เมื่อบวชเป็นสามเณร และวัดราชประดิษฐ์ฯที่ข้าพเจ้าไปพักอยู่ และวัดบวรนิเวศน์ฯ เมื่อก่อนขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ เพราะที่บางปอินอากาศดี อยู่ที่เกาะกลางน้ำห่างละแวกบ้าน ไม่มีผู้คนละเล้าละลุมและเงียบสงัดไม่อึกกระทึก จะเที่ยวเดินเหินหรือนั่งสำราญอิริยาบถที่ไหนก็เป็นผาสุข แลเห็นลำน้ำและไร่นาจนสุดสายตาพาให้เพลิดเพลินเจริญใจ

ทั้งตัววัดเองนับตั้งแต่พระอุโบสถตลอดจนเสนาสนะ ก็ทรงสร้างอย่างปราณีตน่าดูและอยู่สบาย แต่วัดนิเวศน์ฯนั้นใครเห็นแต่ไกลมักสำคัญว่าเป็นวัดในศาสนาคริสตัง เพราะสร้างตามแบบช่างอย่างโคธิก ซึ่งสร้างวัดในศาสนาของเขา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่า ศาสนาไม่ได้อยู่ที่อิฐปูน การสร้างวัดในพระพุทธศาสนาก็ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องสร้างเป็นรูปร่างอย่างใด แม้วัดหลวงที่สร้างมาแต่ก่อน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงยักเยื้องแบบอย่างสร้างตามพระราชอัธยาศัย (เช่นการสร้างวัดพระเชตุพนฯกับวัดราชโอรสก็ผิดกันห่างไกล) ทรงอุปมาการสร้างวัดว่าเหมือนเก็บดอกไม้บูชาพระ ถึงจะเป็นดอกไม้หลายอย่างต่างพรรณ ถ้าถวายโดยเจตนาบูชาพระแล้วก็เป็นพุทธบูชาอยู่นั่นเอง

ที่วัดนิเวศน์ฯมีของอันควรจะบอกอธิบายไว้ในหนังสือนี้บางสิ่ง สิ่งหนึ่งคือพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" ซึ่งเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการซึ่งทรงเกียรติคุณว่าเป็นช่างอย่างวิเศษมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยทำพระพุทธรูปนับไม่ถ้วน แต่คนทั้งหลายเห็นพ้องกันหมดว่า พระพุทธนฤมลธรรโมภาสงามเป็นยอดเยี่ยมในฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงสร้างพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งขนาดเดียวกัน มีพระราชดำรัสกำชับพระองค์เจ้าประดิษฐ์ฯ ว่าขอให้ทำให้งามเหมือนพระพุทธนฤมลธรรโมภาส แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้สมพระราชประสงค์ได้ เพราะ "สิ้นฝีมือ" อยู่ที่พระพุทธนฤมลฯ จึงนิยมกันว่าเป็นพระพุทธรูปงามอย่างเอกองค์หนึ่ง

อนึ่งด้านหน้าพระอุโบสถสองข้างประตูมีซุ้มยอดตามแบบโคธิก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ปั้นรูปพระอินทร์กับพระเบญจสีขรตั้งไว้ในซุ้มข้างละองค์อย่างรูปนักบุญที่เขาตั้งตามศาสนาคริสตัง รูปปั้นนั้นนามมาถูกฝนสาดชำรุดด้วยเนื้อซีเมนต์ร่อยหรอไป ปีหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าสึกแล้วเสด็จไปทอดพระเนตร โปรดฯให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รับสั่งจัดการหล่อเทวรูปด้วยทองสัมฤทธ์ปิดทองคำเปลวไปเปลี่ยนของเดิม มีพระราชดำรัสว่า "จะได้เป็นที่ระลึกในการที่เธอบวชอยู่วัดนี้" เทวรูปนั้นยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

เรื่องราวที่กล่าวมาในตอนตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชดูเป็นเล่าเรื่องประวัติของตนเอง แต่ก็จำเป็นเพราะเล่าความตามที่ได้รู้เห็นเอง ไม่ได้คัดเอาความในหนังสือหรือตามที่ได้ยินผู้อื่นบอกเล่ามากล่าว จะเลยเล่าต่อไปถึงความลำบากที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปอินในสมัยนั้น ข้อใหญ่ก็อยู่ที่ "อดอยาก" จะว่า "อด" ไม่ได้ เพราะข้าวปลาอาหารไม่อัตคัด แต่อาหารที่ชาวบางปอินเขาบริโภชกันผิดกับอาหารที่เราชอบบริโภคในกรุงเทพฯ จึงควรเรียกว่า "อดอยาก" คืออดเฉพาะของที่อยากกิน เป็นต้นว่าชาวกรุงเทพฯชอบกินข้าวนาสวน แต่ชาวบางปอินชอบกินข้าวนาเมือง ซึ่งรสชาติต่างกันไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง กับข้าวของชาวบางปอินก็มีแต่ผักกับปลาเอามาประสมกัน มักปรุงรสด้วยปลาร้ากับพริกและเกลือ รสชาติแปลกไปอีกอย่างหนึ่ง หลายๆวันจึงมีเรือเจ๊กมาขายหมู หรือเรือชาวกรุงเทพฯบรรทุกของสวน เช่น มะพร้าวและกล้วยอ้อยขึ้นไปขายที่บางปอินสักครั้งหนึ่ง

ข้าพเจ้าเคยอยากกินกล้วยน้ำว้าเผา ครั้งหนึ่งเวลาไม่สบาย มารดาให้เที่ยวหาซื้อตลอดถิ่นก็หาไม่ได้ ยิ่งผู้ที่ชอบกินหมากยังลำบากต่อไปถึงที่ต้องกินแต่หมากสงกับพลูนาบ เพราะจะหาหมากดิบและพลูสดในที่นี้ได้โดยยาก แต่ความลำบากด้วยเรื่องอดยากดังกล่าวมา มีแต่แก่ผู้ซึ่งขึ้นไปอยู่ใหม่เช่นข้าพเจ้า ถ้าไปอยู่จนเคยเสียแล้วเช่นเจ้าคุณอมราฯกับพระสงฆ์ซึ่งขึ้นไปด้วยกันจากกรุงเทพฯ ไปอยู่แรมปีก็สิ้นลำบาก บริโภคได้เหมือนคนในท้องถิ่น แต่ตัวข้าพเจ้ารู้สึกลำบากในเรื่องอาหารอยู่ตลอดพรรษา เมื่อแรกขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯข้าพเจ้าลองออกไปรับบิณฑบาต ๒ ครั้ง ได้อาหารมากินไม่ได้ก็เลยเลิกไม่ไปอีก ด้วยเห็นว่าเหมือนหนึ่งไปแย่งอาหารอันควรจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมาเททิ้งเสียเปล่าๆ รอดตัวมาได้ด้วยมารดาขึ้นไปหาเลี้ยง เพราะท่านรู้ว่าข้าพเจ้าชอบกินอะไรอย่างไร ท่านทำให้กินได้อยู่เสมอ

ถึงกระนั้นเมื่อของอัตคัดก็ทำได้แต่บางอย่าง กับข้าวที่ได้กินอยู่เป็น "ท้องเครื่อง" นั้นมีแต่ ๓ สิ่ง คือ ไข่เค็มสิ่ง ๑ พริกกับเกลือสิ่ง ๑ กับปลากุเราอีกสิ่ง ๑ ถึงวันชาวบ้านเขามาเลี้ยงพระ ข้าพเจ้าลงไปฉันในการเปรียญด้วยกันกับพระสงฆ์ ของธารณะที่มารดาหาเลี้ยงพระ ท่านทำอาหารที่ข้าพเจ้าชอบกินห่อไปส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าเขานิมนต์ไปฉันที่อื่น ท่านก็ให้คนเอาของเช่นนั้นไปช่วยเขา ขอให้ใส่ในสำรับเลี้ยงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงไม่เดือดร้อนด้วยอาหารการกิน แต่เมื่อถึงเวลาเสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปอิน กลับตรงกันข้าม อาหารการกินบริบูรณ์จนเกินต้องการ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองมีสำรับของหลวงพระราชทานมาแต่ห้องเครื่องสำรับ ๑ ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรโปรดประทานสำรับ ๑ และท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์วัยวัฒน์(มารดาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์)มีเมตตาส่งมาสำรับ ๑ นอกนั้นยังมีอาหารที่เจ้านายขุนนางอันเป็นญาติและมิตรสหายส่งมาทุกวัน เวลาฉันมีสำรับและโต๊ะถาดอาหารตั้งล้อมราวกับฆ้องวง

อยู่บางปอินเวลานั้นมีความลำบากอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาเจ็บป่วยหาหมอยากได้อาศัยแต่ยากลางบ้าน ใครนับถือยาขนานไหนก็ทำไว้สำหรับบ้านเรือน ใครเจ็บป่วยก็ไปขอกิน ข้าพเจ้าเคยไปป่วยครั้งหนึ่ง และการรักษาอยู่ข้างจะขบขันจะเล่าให้ฟังต่อไป เมื่อถึงเดือนกันยายน เห็นจะเป็นเพราะปีนั้นฝนตกชุกกว่าปกติ ข้าพเจ้าทนชื้นไม่ได้ ก็เกิดมีอาการมือเย็นเท้าเย็นและเมื่อยขบ อาหารกินมิใคร่ได้ นอนก็ไม่หลับสนิท เขาว่าเป็นโรคกระสาย มารดาให้กินยาก็ไม่หาย ขอยามาที่มีตามกุฏิพระมากินก็ไม่ถูกโรค ข้าพเจ้ารำคาญบ่นกับพระปลัดนากที่เป็นพี่เลี้ยง ท่านบอกว่า หลวงแพ่งซึ่งอยู่บ้านแป้งตรงวัดข้ามฟากมียาขนานหนึ่งชื่อว่า "ยาอภัยสาลี" แก้โรคกระสายชะงักนัก แต่เป็นยาแรงด้วยเข้ากัญชาเท่ายาทั้งหลาย ใครกินมักเสียสติอาจจะทำอะไรวิปริตไปได้ในเวลาเมื่อฤทธิ์ยาแล่นอยู่ในตัว เจ้าของจึงไม่บอกตำราแก่ผู้อื่น เป็นแต่ทำไว้สำหรับบ้าน ถ้าใครไปขอต่อเห็นว่าเจ็บจริงจึงให้กิน ข้าพเจ้าได้ยินเล่าก็ออกคร้ามฤทธิ์ยาอภัยสาลี เกรงว่าถ้ากินเข้าไปเสียสติ เจ้าคุณอมราฯท่านจะติโทษได้

จึงนิ่งมาจนถึงกลางเดือนกันยายนอาการโรคกำเริบขึ้น ประจวบเวลาเจ้าคณอมราฯลงมากรุงเทพฯในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา ทางโน้นพระปลัดนากเป็นผู้บัญชาการวัด ข้าพเจ้าไม่สบายเหลือทนจึงบอกพระปลัดว่า ขอลองกินยาอภัยสาลีสักทีเผื่อจะถูกโรคบ้าง ท่านก็ให้ไปขอยานั้นจากหลวงแพ่ง เป็นยาผงเคล้าน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กำหนดให้กินครั้งหนึ่งเท่าเมล็ดพุทรา วันเมื่อจะกินข้าพเจ้ายังครั่นคร้าม จึงอ้อนวอนชวนให้พระที่ชอบพอกันฉันด้วยสักสี่ห้าองค์รวมทั้งท่านปลัดด้วย แรกกินยานั้นเมื่อเวลาเย็นก็เฉยๆไม่รู้สึกว่ามีพิษสงอย่างไร จนออกนึกทะนงใจว่าคงเป็นเพราะกำลังของเราสู้ฤทธิ์ยาได้ ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกา พระสงฆ์สามเณรลงประชุมกันทำวัตรที่ในพระอุโบสถตามเคย ท่านปลัดเป็นผู้นำสวดแทนเจ้าวัด พอขึ้น "หนฺท มยํ" เสียงก็แหบต้องกระแอม พอข้าพเจ้าได้ยินเสียงท่านปลัดดัง "แอ๊ม" ก็ให้นึกขัน กลั้นหัวเราะไม่อยู่ปล่อยกิ๊กออกมา พระสงฆ์องค์อื่นที่ได้ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันก็เกิดนึกขันที่ข้าพจ้าหัวเราะ พลอยหัวเราะกันต่อไป เสียงดังกิ๊กกั๊กไปทั้งโบสถ์ ดูเหมือนพระเณรองค์อื่นๆที่ไม่ทราบเรื่องจะพากันตกใจ แต่ท่านปลัดยังมีสติ พอทำวัตรแล้วก็รีบเลิกประชุมไม่สาธยายสวดมนต์ต่อไปตามเคย

ข้าพเจ้ากลับมาถึงตำหนัก เมื่อเข้านอนรู้สึกเตียงโคลงไปโคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นโคลงไปโคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นในทะเล แต่มีสติเข้าใจว่าเป็นด้วยฤทธิ์ยาอภัยสาลี นิ่งนานหลับตาอยู่สักครู่หนึ่งก็หลับ คืนนั้นนอนหลับสนิทเหมือนสลบจนรุ่งเช้าตื่นขึ้นรู้สึกแจ่มใส ไปนั่งกินอาหารก็เอร็ดอร่อยแทบลืมอิ่มทั้งเวลาเช้าและเพล เลยกลับสบายหายเจ็บ ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าลองกินยาอภัยสาลีอีกจนบัดนี้ พระที่ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันคืนวันนั้นกลับไปกุฏิก็ไปมีอาการวิปริตต่างๆ แต่อาการขององค์อื่นไม่แปลกเหมือนคุณแช่ม เธอไปนอนไม่หลับ ร้อง "ตูมๆ" เต็มเสียง จนเพื่อนสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียงพากันตกใจไปถามเธอบอกว่าหายใจไม่ออก ถ้าได้ร้องตูมเสียค่อยหายใจคล่อง ก็พากันเห็นขัน ข้าพเจ้าได้รู้ฤทธิ์ของกัญชาในครั้งนั้น ว่ามีคุณมหันต์และโทษอนันต์ แต่ยังเข้าใจไม่ได้ว่าสบายอย่างไร จึงมีคนชอบสูบกัญชากันจนติด

เมื่อเจ้าคุณอมราฯครองวัดนิเวศน์ฯ ดูเหมือนท่านถือการ ๓ อย่างเป็นหลัก อย่างหนึ่งในระเบียบสงฆ์ ท่านรักษาแบบแผนของวัดราชประดิษฐ์ฯมิให้เคลื่อนคลาด อนุโลมตามพระราชประสงค์ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงประทานปรารถนาจะให้วัดนิเวศน์ฯเป็นสาขาของวัดราชประดิษฐ์ฯ อีกอย่างหนึ่งท่านเอาใจใส่ในการบำรุงรักษาวัดให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้าน เฉลิมพระราชศรัทธามิให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงติเตียนได้ ใครไปก็ออกปากชมว่าวัดนิเวศน์ฯรักษาสะอาดดี กับอีกอย่างหนึ่งท่านพยายามสั่งสอนสงเคราะห์บริษัทไม่เลือกหน้า ส่วนตัวท่านเองก็ไว้วางอัธยาศัยสุภาพไม่ดุร้าย หรือถือตัวทำพูมแก่ใครๆชอบสนทนาสมาคมกับบุคคลทุกชั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เหลาะแหละหย่อนตัวแก่ใครให้ลวนลาม

อีกประการหนึ่งท่านประพฤติกิจวัตรสม่ำเสมอ ดูเหมือนจะตั้งใจให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พระภิกษุสามเณรในวัดนั้น โดยปกติท่านลงโบสถ์นำทำวัตรสวดมนต์เช้าครั้ง ๑ ค่ำครั้ง ๑ เป็นนิจ ถึงวันพระท่านนำพระสงฆ์รับธารณะที่การเปรียญแล้วลงโบสถ์ให้ศีลแก่สัปบุรุษ และแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังในตอนเช้ากัณฑ์ ๑ แต่ตอนบ่ายท่านให้พระองค์อื่นที่เป็นฐานานุกรม หรือเปรียญเทศน์(เคยให้ข้าพเจ้าเทศน์ครั้งหนึ่ง) การสวดปาฏิโมกข์ที่วัดราชประดิษฐ์ฯดูเหมือนสมเด็จพระสังฆราชทรงสวดเองเป็นนิจ แต่ที่วัดนิเวศน์ฯเจ้าคุณอมราฯสวดเองบ้าง บางครั้งก็ให้พระองค์อื่นสวด เห็นจะเป็นการฝึกหัดพระในวัดนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าท่านคงรู้สึกเกรงใจมาก ด้วยเป็นเจ้านายองค์แรกที่เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งเมื่อก่อนบวชข้าพเจ้าก็เป็นราชองครักษ์ และเป็นนายพันตรีผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก อย่างว่า "เป็นคนโต" อยู่บ้างแล้ว ถึงกระนั้นท่านก็ประพฤติอย่างเป็นอาจารย์มิได้ลดหย่อนอย่างไร เว้นแต่ไม่ให้เข้าเวรปฏิบัติท่านเหมือนพระบวชใหม่องค์อื่น และไม่เรียกไปหาที่กุฏิของท่าน เพราะพบกันที่โบสถ์วันละ ๒ ครั้งเสมอ ถ้าท่านมีกิจธุระจะไตร่ถามหรือบอกเล่าแก่ข้าพเจ้า ท่านก็มักพูดที่ในโบสถ์ ท่านให้ทอดอาสนะของข้าพเจ้าไว้ใกล้กับอาสนะของท่านทางข้างหลัง มิให้นั่งปะปนกับพระองค์อื่น นานๆท่านจะมายังตำหนักที่ข้าพเจ้าอยู่สักครั้งหนึ่ง และดูเหมือนท่านจะคอยระวังมิให้ข้าพเจ้ารู้สึกรำคาญที่ตัวท่าน เป็นต้นว่า เวลาข้าพเจ้าไปสำราญอิริยาบถอยู่ที่ใด เช่นข้าพเจาไปนั่งเล่นที่ศาลาริมน้ำในเวลาเย็นๆ เวลานั้นท่านก็มักออกเดินตรวจวัด แต่ไม่เคยเห็นท่านเดินมาใกล้ศาลาที่ข้าพเจ้านั่งอยู่สักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นท่านเกรงใจเช่นนั้น จึงมักหาเหตุไปหาท่านที่กุฏิเนื่องๆ ไปถามข้ออรรถธรรมะบ้าง ไปเรียนเรื่องอื่นๆบ้าง ดูท่านก็ยินดีชี้แจงให้ทราบ และสนทนาปราศรัยฉันอาจารย์กับศิษย์ที่สนิทสนมกัน

ในสมัยนั้นยังไม่เกิดประเพณีมีหลักสูตรสำหรับพระบวชใหม่จะต้องเรียนและสอบความรู้ เป็นแต่เมื่อแรกเข้าพรรษา ลงโบสถ์เวลาค่ำไหว้พระสวดมนต์แล้ว มีพระฐานานุกรมหรือเปรีญยองค์หนึ่งขึ้นธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ อ่านบุพพสิกขาสอนพระบวชใหม่วันละตอนไปจนจบคัมภีร์ นอกจากนั้น เช่นคำไหว้พระสวดมนต์และข้อวัตรปฏิบัติต้องท่องและเรียนเอาเอง แต่เจ้านายมักได้ศึกษามาแต่ก่อนทรงผนวชแล้ว กิจที่ข้าพเจ้าจะต้องเรียนเมื่อบวชจึงมีน้อยกว่าพระบวชใหม่องค์อื่น สามารถจะช่วยการอย่างอื่นๆให้เป็นประโยชน์ได้ ข้าพเจ้ารับเป็นหน้าที่ในสองอย่าง คือ จัดโรงเรียนอย่าง ๑ กับบำรุงตันไม้ที่ปลูกเป็นเครื่องประดับพระอารามอย่าง ๑ ด้วยเมื่อก่อนข้าพเจ้าบวชได้รับหน้าที่จัดตั้งโรงเรียนหลวงอยู่แล้ว เป็นแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นกรมศึกษาธิการ ไปเห็นโรงเรียนที่วัดนิเวศน์ฯ เกิดประหลาดใจที่เด็กนักเรียนเรียนตั้งปียังอ่านหนังสือไม่ออกโดยมาก ถามอาจารย์รอดซึ่งเป็นผู้สอนว่าทำไมเด็กจึงเรียนรู้ช้านัก แกบอกเหตุให้ทราบว่า ที่บางปอินนั้นพ่อแม่ให้เด็กมาเรียนหนังสือแต่เวลาว่างทำนาถ้านับวันเรียนๆปีหนึ่งไม่กี่เดือน พอมีการทำนาเมื่อใดพ่อแม่ก็ลาเอาลูกไปช่วยทำการ เช่นให้เลี้ยงน้องในเวลาผู้ใหญ่ไปทำนาเป็นต้น จนเสร็จการจึงกลับเอามาส่งโรงเรียนอีก เป็นเช่นนั้นปีละหลายๆคราว เด็กได้เรียนอะไรไว้ก็มักไปลืมมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อกลับมาต้องสอนย้อนขึ้นไปใหม่ จึงรู้ช้า

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าที่พ่อแม่ให้ลูกหยุดเรียนเช่นนั้นด้วยความจำเป็นในทางอาชีพจะห้ามไม่ได้ ทางแก้ไขมีแต่ต้องคิดแก้กระบวนสอน แยกความรู้เป็นอย่างๆให้เด็กเรียนสำเร็จภายในเวลาเรียนระยะละอย่าง เป็นมูลเหตุที่ข้าพเจ้าจะแต่งหนังสือ "แบบเรียนเร็ว" ซึ่งใช้โรงเรียนทั้งปวงในภายหลัง แต่เด็กนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์วัดอยู่ประจำวัดก็มีอีกพวก ๑ มักเป็นลูกผู้ดีเป็นพื้น ลูกศิษย์วัดในปีที่ข้าพเจ้าบวช เมื่อเติบใหญ่มาได้เป็นขุนนางก็หลายคน จะระบุแต่ที่นึกได้ในเวลาที่เขียนหนังสือนี้ คนหนึ่งชื่อแช่ม เป็นบุตรหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ได้เป็นพระยาวรุณฤทธีสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ยังลูกหลวงธรรมวงศ์ประวัติก็หลายคน ที่เติบใหญ่ในเวลาข้าพเจ้าบวชพอยกสำรับประเคนข้าพเจ้าได้ ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อเพิ่ม ต่อมาได้เป็นหลวงอนุสาสนวินิจ คนที่ ๒ ชื่อสด ต่อมาได้เป็นหลวงสังขวิทยวิสุทธิ์ คนที่ ๓ ชื่อเหม ได้เป็นพระยาโอวาทวรกิจ อยู่ในกรมศึกษาธิการทั้ง ๓ คน คนที่ ๔ ชื่อทองสุก เวลานั้นยังเล็กชอบเที่ยววิ่งเล่นในลานวัด แต่อย่างไรมาติดข้าพเจ้าบิดาเลยยกให้ ครั้นเติบใหญ่สำเร็จการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าขอเอามาฝึกหัดให้รับราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้าพเจ้าออกจากกระทรวงมหาดไทยมาแล้วได้เป็นพระยาแก้วโกรพผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ลูกชายคนเล็กชื่อบุญศรี เกิดเมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ เติบใหญ่เข้ารับราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นหลวงประชาภิบาล ตำแหน่งนายอำเภอ นอกจากระบุมายังมีคนอื่นแต่นึกไม่ออกจึงไม่กล่าวถึง

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวช แล้วจึงแพร่หลายไปถึงโรงเรียนทั้งปวง ตือให้นักเรียนสวดคำนมัสการคุณานุคุณ ข้าพเจ้าไปสังเกตเห็นว่าในโรงเรียนยังขาดสอนคดีธรรม แต่จะให้เทศน์ให้เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่าถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารภไปยังพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจาริยางกูร)ขอให้ท่านช่วยแต่งคำนมัสการส่งขึ้นไปให้ ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ ๗ บทขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอนเป็นภาษาไทยทุกบท นมัสการพระพุทธเจ้าขึ้นต้นว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาร" เป็นต้นบท ๑ นมัสการพระธรรมบท ๑ นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท ๑ สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า มีคำบูชาคุณบิดามารดาบท ๑ บูชาคุณครูบท ๑ สำหรับให้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่าย และมีคำบูชาพระคุณพระมหากษัตริย์บท ๑ คำขอพรเทวดาบท ๑ สำหรับสวดเมื่อจะเลิกเรียน เริ่มสวดกันในโรงเรียนวัดนิเวศน์ฯตั้งแต่ข้าพเจ้ายังบวชอยู่

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มเกิดขึ้นที่วัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวช ด้วยข้าพเจ้าไปทราบว่าในฤดูน้ำว่างการทำนาและสามารถใช้เรือไปไหนๆได้สะดวก เป็นเวลาสำหรับราษฎรเที่ยวเตร่หาความสนุกสบายตลอดแขวงจังหวัดอยุธยา พอออกพรรษาก็พากันเที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆ และแข่งเรือกันเล่นที่หน้าวัดเป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ จนถือกันเหมือนกับนัดหมายว่าวันนั้นประชุมกันที่วัดนั้นเป็นแน่นอน เริ่มตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ไปจนสิ้นเดือน ตั้งแต่สร้างวัดนิเวศน์ฯพวกราษฎรอยากนัดกันไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯ แต่ยังเกรงกลัวด้วยมิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ข้าพเจ้าทูลความตามที่ได้ทราบลงมายังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงยินดีดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดการให้ราษฎรไหว้พระ ณ วัดนิเวศน์ฯในปีนั้น จึงเอาวันแรม ๑๒ ค่ำเป็นกำหนดมิให้พ้องกับวันไหว้พระที่วัดอื่น แล้วชักชวนพวกกรมการกับพวกคฤหบดีให้ช่วยกันตกแต่งวัดและมีการมหรสพ ประกาศพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรู้กันแพร่หลาย ก็เลยมีประเพณีไหว้พระวัดนิเวศน์ฯแต่ปีนั้นต่อมาทุกปีจนบัดนี้

การที่ข้าพเจ้าช่วยแต่งต้นไม่ในวัดนิเวศน์ฯมีข้อขบขันอยู่บ้าง ด้วยในพระวินัยห้ามมิให้พระภิกษุตัดต้นไม้ ดูน่าสันนิษฐานว่า ความหมายห้ามมิให้ทำให้ต้นไม้ตายเป็นสำคัญ แต่พระถือกันว่า ถ้าตัดต้นไม้แม้เพียงกิ่งก้านหรือตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้งอกงามดีขึ้น ก็เป็นอาบัติล่วงสิขาบทนั้น ถึงสั่งให้ผู้อื่นตัดก็ไม่พ้นอาบัติ แต่ว่ามีทางหลีกอาบัตินั้นได้ด้วยสั่งเป็นกัปปิยโวหารว่าให้ไป "ดู" ถึงผู้รังคำสั่งจะไปตัดต้นไม้ พระผู้สั่งก็ไม่เป็นอาบัติ ถือกันมาดังนี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะใช้กันมาแต่ก่อนเก่า เพราะบางทีมีความจำเป็นที่พระจะให้ตัดต้นไม้ เช่นมีต้นไม้เอนจะล้มทับกุฏิก็ดี หรือในป่าดงมีต้นไม้รกกีดขวางทางเดินจะหลีกไปไม่ได้ก็ดี พระจึงสั่งให้ผู้อื่นโดยกัปปิยโวหารให้ไป "ดู" ต้นไม้นั้น ผู้รับใช้เห็นเหตุก็ตัดต้นไม้ให้สำเร็จประโยชน์ ก็เลยสั่งเช่นนั้นเป็นประเพณี

จะมีมูลมาอย่างไรก็ตาม การที่สั่งให้ตัดแต่งต้นไม้ พระใช้คำว่า "ดู" เป็นประเพณี ถ้าใครไม่รู้มูลเหตุไปได้ยินคำสั่งเช่นว่า "ดูกิ่งนั้นเสียวสัดหน่อย ดูกิ่งนั้นให้สั้นเสียอีกสัก ๖ นิ้ว" หรือว่า "ดูหญ้าเสียให้เตียน" และ "ดูต้นนั้นเสียทั้งต้นทีเดียว" ดั่งนี้ ก็จะประหลาดใจ ข้าพเจ้าทราบคติเรื่องนี้มาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร เมื่อบวชพระก็สั่งให้ "ดู" คล่อง ที่วัดนิเวศน์ฯมีต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิเมืองพุทธคยาปลูกไว้เป็นเจดีย์วัตถุต้น ๑ โพธิ์ต้นนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดมาก ด้วยทรงเพาะเมล็ดเองแต่เมื่อก่อนเสวยราชย์(ดังปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์แจกในงานพระศพ พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี) เดิมอยู่ในกระถางมาช้านาน ครั้นเอาไปปลูกที่วัดนิเวศน์ฯได้อากาศและรสดินถูกธาตุก็งอกงามรวดเร็ว แต่แตกกิ่งสาขาเก้งก้างไม่มีใครกล้าตัดแต่งด้วยเกรงพระราชอาญาหือกลัวบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงเอาเป็นธุระสั่งให้ "ดู" กิ่งก้านพระศรีมหาโพธิที่เกะกะแต่งจนเรือนงาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นก็โปรด นอกจากนั้นข้าพเจ้าให้หาต้นมะม่วงขึ้นไปปลูกรายเป็นระยะในกำแพงวัด และหลวงสุรยุทธโยธาหาต้นหูกวางขึ้นไปปลูกรายที่ริมเขื่อนเพื่อให้รากยึดดินกันพัง ดูเหมือนจะยังอยู่จนบัดนี้ทั้ง ๒ อย่าง

เมื่อเวลาข้าพเจ้าบวช สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบางปอิน ๒ ครั้ง ครั้งแรกเสด็จไปถวายพุ่มเมื่อแรกเข้าพรรษา ครั้งหลังเสด็จไปพระราชทานพระกฐินเมื่ออกพรรษา โปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์วัดนิเวศน์ฯกับวัดชุมพลนิกายารามเข้าไปรับบิณฑบาตที่ในพระราชวังทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกรับบิณฑบาตทางบก ใช้สะพายบาตรมีสายโยคตามอย่างโบราณ อยู่ข้างลำบากแก่พระธรรมยุตเพราะเคยแต่อุ้มบาตร เจ้าคุณอมราท่านสั่งให้ฝึกหัดซักซ้อมรับบาตรสะพายสายโยค ด้วยเกรงว่าฝาบาตรหรือแม้ตัวบาตรจะไปพลัดตกลง

แต่เมื่อคราวพระราชทานกฐินเป็นฤดูน้ำ เข้าไปรับบาตรทางเรือ มีเรือสามปั้มฝีพายหลวงไปรับสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณอมราฯ และตัวข้าพเจ้ากับพระและเจ้าเณรที่บวชขึ้นไปด้วยกัน เราเป็นแต่นั่งไป ไม่ต้องทำอไรนอกจากคอยเปิดฝาบาตรรับอาหาร แต่พระสงฆ์ในท้องถิ่นองค์อื่นลงเรือสามปั้นเล็ก ซึ่งเรียกกันว่า "เรือรับบิณฑบาตร" มีบาตรตั้งข้าหน้าพายไปเองเหมือนอย่างไปเที่ยวรับบิณฑบาตรโดยปกติ พระสงฆ์บางองค์ไม่ชำนาญการพายเรือ เพราะโดยปกติไม่ใคร่ออกรับบาตร ไปได้ความลำบากก็มี ในปีข้าพเจ้าบวชนั้นได้ยินว่าเรือพระครูธรรมทิวากร(โห้)เจ้าอาวาสวัดชุมพลฯเข้าไปล่มที่ในพระราชวังต้องช่วยกันเอะอะ

เมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่วัดนิเวศน์ฯประจวบกับมีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งควรจะเล่า เพราะคนภายหลังยังไม่มีใครได้เคยพบเหตุเช่นนั้น เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ ๒๗ จนถึงวันที่ ๓๐ เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลหลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพายท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุผลต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงทราบข่าวว่าภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งละลอกน้ำในท้องทะเลแผ่ไปถึงนานาประเทศไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน เรื่องที่ข้าพเจ้าเล่านี้ถ้าใครจะใคร่รู้โดยพิศดาร จงไปดูในหนังสือเอนไซโคลปีเดีย บริแตนนิคะ ตรงอธิบายเรื่องเกาะกระกะเตาก็จะรู้ชัดเจน

คราวนี้ถึงตอนข้าพเจ้าจะสึก มีเรื่องประหลาดที่น่าเล่าอยู่บ้าง เมื่ออกพรรษาแล้วมีเวลาก่อนทอดพระกฐินหลวงอยู่หลายวัน ข้าพเจ้าทูลลาไปเที่ยวหัวเมืองข้างเหนือ ก็โปรดฯพระราชทานเรือไฟหลวงให้ใช้ และให้ไปทอดกฐินหลวงที่วัดธรรมามูล แขวงเมืองชัยนาทด้วย เมื่อกลับมาจัดการให้ราษฎรไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯแวลงมากรุงเทพฯ เพื่อทูลลาสึกตามธรรมเนียม ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชได้ลงมากรุงเทพฯครั้งเดียวเท่านั้น พักอยู่ ๓ วัน พอเฝ้าทูลลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็กลับขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ ต่อมาไม่กี่วันมีเรือไฟหลวงรับมหาดเล็กเชิญลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปถึงข้าพเจ้าฉบับ ๑ ความว่า พวกฮ่อจะลงมาตีหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือ(คือ มณฑลอุดร)อีก จะแต่งกองทัพให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์(เวลานั้นทรงบัญชาการมหาดไทย) เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปปราบฮ่อ มีพระราชประสงค์จะให้ข้าพเจ้ามีตำแหน่งไปในกองทัพครั้งนั้นด้วย ในพระราชหัตถเลขาตรัสว่า "เมื่อรับกฐินแล้วขอนิมนต์ให้สึกโดยเร็ว" ข้าพเจ้าทราบก็ยินดี ด้วยเป็นทหารจะได้ไปเห็นการทัพศึก รีบสั่งให้โหรหาฤกษ์ เฉพาะไปได้ฤกษ์ตรงกับวันที่จะพระราชทานพระกฐิน

สมเด็จพระสังฆราชท่านปรึกษากับเจ้าคุณอมราฯว่าข้าพเจ้าควรจะอยู่ให้เสร็จพิธีกรานกฐินเสียก่อน แล้วจึงสึกเมื่อตอนดึกในค่ำวันนั้น ครั้นถึงวันพระราชทานกฐิน พอเสด็จกลับแล้วข้าพเจ้าไปถวายสักการลาเจ้าคุณอมราฯ ท่านบอกว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงปรารภว่ามีความขัดข้องอยู่อย่างหนึ่งในการที่ข้าพเจ้าจะสึกในค่ำวันนั้น ด้วยพระสงฆ์ต้องสภาคาบัติเพราะค่ำวันนั้นนุ่งห่มผ้าไตรย้อมขมิ้นที่พระราชทานในการพระกฐินด้วยกันทั้งวัด แม้สมเด็จพระสังฆราชเองเมื่อก่อนวันทอดพระกฐินเข้าไปสวดมนต์ที่พระตำหนักใหม่ของพระอัครชายาเธอฯก็ไปห่มผ้าไตรย้อมขมิ้นเป็นอาบัติอย่างเดียวกัน จะรับปลงอาบัติให้ไม่ได้ ขอให้บอกข้าพเจ้าว่าเมื่อบวชได้บวชโดยบริสุทธิ์แล้ว จะสึกก็ควรให้บริสุทธิ์อย่าให้อาบัติติดตัวไปจึงจะสมควร ความยากก็เกิดขึ้น ด้วยพระสงฆ์ธรรมยุตซึ่งจะรับแสดงอาบัติมีอยู่ถึงวัดเสนาสน์ฯที่พระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างใกล้ ในเวลากำลังมาปรึกษากันอยู่ที่ตำหนักนั้น เผอิญเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปหา ท่านมีแก่ใจให้ยืมเรือไฟของท่านรับพระขึ้นไปแสดงอาบัติที่วัดเสนาสน์ฯ จึงวานคุณทรัพย์ขึ้นไปแสดงอาบัติบริสุทธิ์แล้วกลับมารับอาบัติข้าพเจ้าได้ทันเวลา

พิธีการสึกนั้นทำที่พระอุโบสถ ข้าพเจ้านิมนต์สมเด็จพระสังฆราชกับเจ้าคุณอมราฯ และพระฐานานุกรมอีก ๓ รูปนั่งเป็นคณะปรก พิธีก็ทำง่ายๆข้าพเจ้าเข้าไปกราบแล้วนั่งคุกเข่าประณมมือกล่าวแก่พระสงฆ์ว่า "คีหิติ มํธาเรถ" ถ้าแปลก็ว่า "ท่านทั้งหลายจงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัส" แต่เมื่อว่าไปแล้วเห็นสมเด็จพระสังฆราชท่านนั่งนิ่งเฉยอยู่ ข้าพเจ้าก็ประนมมือนั่งคุกเข่านิ่งอยู่ ประเดี๋ยวท่านสั่งให้ข้าพเจ้าว่าอีก แต่ให้ว่าอยู่เช่นนั้นซ้ำถึงสี่ห้าครั้ง เมื่อว่าครั้งหลัง ท่านหันไปถามเจ้าคุณอมราฯว่า "เห็นจะขาดละนะ" เจ้าคุณอมราฯรับว่า "ขาดแล้ว" ท่านจึงบอกให้ข้าพเจ้าไปเปลื้องไตรผลัดผ้าเป็นคฤหัส ทีทำเช่นนั้นเพราะท่านถือว่าการที่สึกใจต้องสิ้นอาลัยจริงๆ จึงจะขาดจากเพศสมณะถ้าใจยังอาลัยอยู่ถึงปากจะว่าอะไรก็ไม่ขาด ถ้าไปทำอะไรละเมิดพระวินัยก็จะเกิดเป็นปาบกรรมฐานภิกษุทุศีล จึงให้ว่าลาสึกซ้ำอยู่จนเห็นว่าใจสิ้นอาลัยจริงๆแล้วก็อนุญาตให้สึก

ครั้งนั้นจะเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงเมืองลพบุรีด้วย เมื่อสึกแล้วข้าพเจ้าเตรียมตัวจะไปตามเสด็จในตำแหน่งราชองครักษ์ แต่รุ่งขึ้นเช้าไปถวายพระราชกุศลมีพระราชดำรัสว่า อย่าไปตามเสด็จเลย ให้รีบกลับกรุงเทพฯเตรียมตัวไปทัพ พอเสด็จไปแล้วไม่มีเรืออื่น ข้าพเจ้าจึงขอยืมเรือแวดของหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ให้คนแจวลงมาจากวัดนิเวศน์ฯในเย็นวันนั้น จนใกล้รุ่งสว่างจึงมาถึงบ้าน แต่การที่จะไปทัพนั้น ต่อมาอีก ๑๕ วันก็บอกเลิก ด้วยได้ข่าวว่าพวกฮ่อถอยหนีไปหมดแล้ว เพราะรู้ว่าทางหัวเมืองเตรียมกองทัพไว้ไม่ประมาทเหมือนหนหลัง

ตั้งแต่สึกแล้วข้าพเจ้าก็ห่างกับเจ้าคุณอมราฯมาหลายปี เพราะนานๆท่านจึงลงมากรุงเทพฯครั้งหนึ่ง แต่เวลาข้าพเจ้าขึ้นไปบางปอินคราวใดก็ไปหาท่านเสมอ นอกจากตัวข้าพเจ้า ในเจ้านายมีกรมพระสมมตฯอีกพระองค์หนึ่งซึ่งสนิทชิดชอบกับท่าน เพราะทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯเมื่อท่านยังอยู่วัดนั้น มักไปหาท่านเหมือนกับข้าพเจ้า เรื่องเนื่องกับประวัติของท่านในระยะนี้ ดูเหมือนขุนปฏิบัติชินบุตร บิดาของท่านถึงแก่กรรม(หรือจะถึงแก่กรรมก่อนข้าพเจ้าบวชก็จำไม่ได้แน่) และทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานฐานานุศักดิ์ให้ท่านตั้งพระวินัยธรกับพระวินัยธรรมได้อีก ๒ รูป เสมอยศเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนั้นก็ที่มีคนศรัทธามาบวชเรียนในวัดนิเวศน์ฯมากขึ้น จนต้องสร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มเติมดังกล่าวมาแล้ว




 

Create Date : 22 มีนาคม 2550   
Last Update : 22 มีนาคม 2550 11:31:12 น.   
Counter : 2829 Pageviews.  


พระครูวัดฉลอง

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ วัดไชยธาราม
หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต




....................................................................................................................................................


เรื่องพระครูวัดฉลอง

เมืองภูเก็ตเดิมขึ้นอยู่กระทรวงกลาโหม จนเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรงมหาดไทยแล้ว จึงได้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ฉันลงไปตรวจราชการเมืองภูเก็ตครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เวลาฉันพักอยู่เมืองภูเก็ตพระครูวิสุทธิวงศาจารย์เป็นที่สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตอยู่ ณ วัดฉลองมาหา พอฉันแลเห็นก็เกิดพิศวงด้วยที่หน้าแข้งของท่านมีรอยปิดทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ระกะไปราวกับพระพุทธรูปหรือเทวรูปโบราณที่คนบนบาน

เมื่อพูดจาปราศรัยดูก็เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ เวลานั้นดูเหมือนจะมีอายุได้สัก ๖๐ ปี ฉันถามท่านว่าเหตุไฉนจึงปิดทองที่หน้าแข้ง ท่านตอบว่า "เมื่ออาตมาภาพเข้ามาถึงในเมืองพวกชาวตลาดเขาขอปิด" ฉันได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดอยากรู้ว่าเหตุไฉนคนจึงปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ข้าราชการเมืองภูเก็ที่เขารู้เห็นเล่าให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องประหลาดดังจะกล่าวต่อไปนี้

ท่านพระครูองค์นี้ชื่อ แช่ม เป็นชาวบ้านฉลองอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น เดิมเป็นลูกศิษย์พระอยู่ในวัดฉลองมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นเติบใหญ่บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้น จนอายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ เรียนวิปัสสนาและคาถาอาคมต่างๆ ต่อมาจนมีพรรษาอายุมากได้เป็นสมภารวัดฉลอง เรื่องประวัติแต่ต้นจนตอนนี้ไม่แปลกอย่างไร มาเริ่มมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์เมื่อเกิดเหตุ ด้วยพวกกรรมกรทำเหมืองแร่ที่เมืองภูเก็ตเป็นกบฏเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙(ดังจะมีเรื่องปรากฏในนิทานที่ ๑๕ ต่อไปข้างหน้า) เวลานั้นรัฐบาลไม่มีกำลังพอจะปราบปรามพวกจีนกบฏให้ราบคาบ ได้แต่รักษาตัวเมืองไว้ ตามบ้านนอกออกไป พวกจีนเที่ยวปล้นสดมฆ่าฟันผู้คนได้ตามชอบใจไม่มีใครต่อสู้ จึงเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต

เรื่องที่เล่าต่อไปนี้เขียนตามคำท่านพระครูวัดฉลองเล่าให้ฟังเอง ว่าเมื่อได้ข่าวไปถึงบ้านฉลองว่ามีจีนออกไปปล้น พวกชาวบ้านกลัวพากันอพยพหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามภูเขาโดยมาก เวลานั้นมีชายชาวบ้านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านสักสองสามคนไปชวนให้ท่านหนีไปด้วย แต่ท่านตอบว่า "ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนอายุถึงปานนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดด้วยจะทิ้งวัดไปเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละจะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย" พวกลูกศิษย์อ้อนวอนเท่าใดท่านก็ยืนคำอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่ยอมทิ้งวัดไปก็พูดกันว่า "เมื่อขรัวพ่อไม่ยอมไป พวกผมก็อยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่างหนึ่ง" ท่านจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้คนละผืน พวกนั้นไปเที่ยวเรียกหาเพื่อนได้เพิ่มเติมมาราวสัก ๑๐ คน เชิญตัวท่านให้ลงไปอยู่ในโบสถ์ พวกเขาไปเที่ยวหาเครื่องศัสตราวุธสำหรับตัวแล้วพากันมาอยู่ในวัดฉลอง พออีกสองวันจีนพวกหนึ่งก็ออกไปปล้น แต่พวกจีนรู้ว่าพวกชาวบ้านหนีไปเสียโดยมากแล้วเดินไปโดยประมาทไม่ระวังตัว พวกไทยแอบเอากำแพงแก้วรอบโบสถ์บังตัว พอพวกจีนไปถึงก็ยิงเอาแตกหนีไปได้โดยง่าย

พอมีข่าวว่าลูกศิษย์ท่านวัดฉลองรบชนะจีน ชาวบ้านฉลองที่หนีจีนไปซุกซ่อนอยู่ตามภูเขาก็พากันกลับมาบ้านเรือน ที่เป็นผู้ชายก็ไปหาท่านวัดฉลอง ขอรับอาสาว่า ถ้าพวกจีนยกไปอีกจะช่วยรบ แต่ท่านตอบว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะรบพุ่งอย่างไรก็ไปคิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะให้แต่เครื่องคุณพระสำหรับป้องกันตัว" คนเหล่านั้นไปเที่ยวชักชวนกันรวมคนได้กว่าร้อยคน ท่านวักฉลองก็ลงผ้าประเจียดแจกให้ทุกคน พวกนั้นนัดกันเอาผ้าประเจียดโพกหัวเป็นเครื่องหมาย ทำนองอย่างเป็นเครื่องแบบทหาร พวกจีนเลยเรียกว่า "อ้ายพวกหัวขาว" จัดกันเป็นหมวดหมู่มีตัวนายควบคุม แล้วเลือกที่มั่นตั้งกองรายกันเอาวัดฉลองเป็นที่บัญชาการคอยต่อสู้พวกจีน

ในไม่ช้าพวกจีนก็ยกไปอีก คราวนี้ยกกันไปเป็นขบวนรบ มีทั้งธงนำและกลองสัญญาณ จำนวนคนที่ยกไปก็มากกว่าครั้งก่อน พวกจีนยกไปถึงบ้านฉลองในตอนชาว พวกไทยเป็นแต่คอยสู้อยู่ในที่มั่นเอาปืนยิงกราดไว้ พวกจีนเข้าในหมู่บ้านฉลองไม่ได้ก็หยุดยั้งอยู่ภายนอก ต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายจนเวลาตะวันเที่ยง พวกจีนหยุดรบไปกินข้าวต้ม พวกไทยได้ทีก็รุกเข้าล้อมไล่ยิงพวกจีนในเวลากำลังสาละวนกินอาหาร ประเดี๋ยวเดียวพวกจีนก็ล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด ตามคำท่านพระครูว่า "จีนรบสู้ไทยไม่ได้ด้วยมันต้องกินข้าวต้ม พวกไทยไม่ต้องกินข้าวต้มจึงเอาชนะได้ง่ายๆ" แต่นั้นพวกจีนก็ไม่กล้าไปปล้นบ้านฉลองอีก เป็นแต่พวกหัวหน้าประกาศตีราคาศีรษะท่านวัดฉลอง ว่าใครตัดเอาไปให้ได้จะให้เงินสินบน ๑,๐๐พันเหรียญ ชื่อท่านวัดฉลองก็ยิ่งโด่งดังหนักขึ้น

เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้ว ยกความชอบของเจ้าอธิการแช่มวัดฉลองที่ได้เป็นหัวหน้าในการต่อสู้พวกจีนกบฏในครั้งนั้น ประจวบตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างอยู่ พระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งให้เป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา แต่ทางฝ่ายชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่าที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม ก็นับถือกันเป็นอย่างผู้วิเศษทั่วทั้งจังหวัด เรื่องที่เล่ามาเพียงนี้เป็นชั้นก่อเกิดการปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง

มูลเหตุที่จะปิดทองนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนนับถือท่านพระครูวัดฉลองว่าเป็นผู้วิเศษแล้ว ด้วยคราวหนึ่งมีชาวเมืองภูเก็ตสักสี่ห้าคนลงเรือลำหนึ่งไปเที่ยวตกเบ็ดในทะเล เผอิญไปถูกพายุใหญ่จนจวนเรือจะอับปาง คนในเรือพากันกลัวตา คนหนึ่งออกปากบนเทวดาอารักษ์ที่เคยนับพถือขอให้ลมสงบ พายุก็กลับกล้าหนักขึ้น คนอื่บนสิ่งอื่นที่เคยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ลมก็ไม่ซาลง จนสิ้นคิดมิรู้ที่จะบนบานอะไรต่อไป มีคนหนึ่งในพวกนั้นก็ออกปากบนว่า ถ้ารอดชีวิตได้จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง

พอบนแล้วลมพายุก็ซาลงทันที พวกคนหาปลาเหล่านั้นรอดกลับมาได้จึงพากันไปหาท่านพระครูขออนุญาตปิดทองแก้สินบน ท่านพระครูว่า "ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป จะทำนอกรีตมาปิดทองคนเป็นๆ อย่างนี้ข้าไม่ยอม" แต่คนหาปลาได้โต้ว่า "ก็ผมบนไว้อย่างนั้น ถ้าขรัวพ่อไม่ยอมให้ผมปิดทองแก้สินบน ฉวยแรงสินบนทำให้ผมเจ็บล้มตาย ขรัวพ่อจะว่าอย่างไร" ท่านพระครูจนถ้อยคำสำนวน ด้วยตัวท่านก็เชื่อแรงสินบน เกรงว่าถ้าเกิดเหตุร้ายแก่ผู้บน ปาบจะตกอยู่แก่ตัวท่านก็ต้องยอม จึงเอาน้ำมาลูบหน้าแข้งแล้วยื่นออกไปให้ปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง แต่ให้ปิดเพียงแผ่นเล็กๆแผ่นหนึ่งพอเป็นกิริยาบุญ พอคนบนกลับไปแล้วก็ล้างเสีย

แต่เมื่อกิติศัพท์เล่าลือกันไปว่า มีชาวเรือรอดตายได้ด้วยบนปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ก็มีผู้อื่นเอาอย่าง ในเวลาเจ็บไข้หรือเกิดเหตุการณ์ กลัวจะเป็นอันตรายก็บนปิดทองท่านพระครูวัดฉลองบ้าง ฝ่ายม่านพระครูมิรู้จะขัดขืนอย่างไรก็จำต้องยอมให้ปิด จึงเกิดเป็นประเพณีปิดทองท่านพระครูวัดฉลองขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตัวท่านเคยบอกกับฉันว่าที่ถูกปิดทองนั้นอยู่ข้างรำคาญ ด้วยคันผิวหนังตรงที่ปิดทอง จนล้างออกเสียแล้วจึงหาย

แต่ก็ไม่กล้าขัดขวางคนขอปิดทอง เพราะฉะนั้นท่านพระครูเข้าไปในเมืองเมื่อใด พวกที่ได้บนบานเอาไว้ใครรู้เข้าก็ไปคอยดักทางขอปิดทองแก้สินบนคล้ายกับคอยใส่บาตร ท่านพระครูเห็นคนคอยปิดทองร้องนิมนต์ ก็ต้องหยุดให้เขาปิดทองเป็นระยะไปตลอดทาง วันนั้นท่านกำลังจะมาหาฉันไม่มีเวลาล้างทอง จึงติดหน้าแข้งมาให้ฉันเห็น ตั้งแต่รู้จักกันเมื่อวันนั้น ท่านพระครูวัดฉลองกับฉันก็เลยชอบกันมา ท่านเข้ามากรุงเทพฯเมื่อใดก็เข้ามาหาฉันไม่ขาด เคยทำผ้าประเจียดให้ฉัน ฝีมือเขียนงามดีมาก ฉันไปเมืองภูเก็ตเมื่อใดก็ไปเยี่ยมท่านถึงวัดฉลองทุกครั้ง

การที่คนปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง เป็นแรกที่เกิดประเพณีปิดทองคนเป็นๆเหมือนเช่นพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นธรรมดาที่กิติศัพท์จะเลื่องลือระบือเกียรติคุณของท่านพระครูวัดฉลองแพร่หลาย จนนับถือกันทั่วไปทุกหัวเมืองทางทะเลตะวันตก ใช่แต่เท่านั้น แม้ในเมืองปีนังเป็นอาณาเขตของอังกฤษ คนก็พากันนับถือท่านพระครูวัดฉลอง เพราะที่เมืองปีนังพลเมืองมีไทยและจีนเชื้อสายไทย ผู้ชายเรียกกันว่า "บาบ๋า" ผู้หญิงเรียกกันว่า "ยอหยา" ล้วนนับถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก เขาช่วยกันสร้างวัดและนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปอย่ก็หลายวัด

แต่ในเมืองปีนังไม่มีพระเถระ พวกชาวเมืองทั้งพระและคฤหัสถ์ จึงสมมติท่านพระครูวัดฉลองให้เป็นพระมหาเถระสำหรับเมืองปีนัง ถ้าสร้างโบสถ์ใหม่ก็นิมนต์ให้ไปผูกพัทธสีมา ถึงฤดูบวชนาคเมื่อก่อนฟดูเข้าพรรษา ก็นิมนต์ให้ไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์บวชนาค และที่สุดแม้พระสงฆ์เกิดอธิกรณ์ก็นิมนต์ให้ไปไตร่สวนพิพากษา ท่านพระครูพิพากษาว่าอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ขาด เป็นอย่างสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วยอีกเมืองหนึ่ง ผิดกับเมืองภูเก็ตเพียงเป็นด้วยส่วนตัวท่านเอง มิใช่ในทางรีชการ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ ชาวกรุงเทพฯกับชาวเมืองปีนังยังห่างเหินกันมาก มีแต่เรือเมล์ไปมาระหว่างเมืองปีนังกับเมืองภูเก็ตทุกสัปดาห์ ไปมาหากันโดยง่าย ท่านพระครูวัดฉลองอยู่มาจนแก่ชรา อายุเห็นจะกว่า ๘๐ ปีจึงถึงมรณภาพ

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ได้ไปเมืองภูเก็ตช้านาน จนถึงรัชกาลที่ ๗ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเมืองภูเก็ตครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลานั้นท่านพระครูวัดฉลองถึงมรณภาพเสียนานแล้ว ฉันคิดถึงท่านพระครูจึงไปที่วัดฉลองด้วย ในคราวนี้สะดวกด้วยเมืองภูเก็ตมีถนนรถยนต์ไปได้หลายทาง รถยนต์ไปครู่เดียวก็ถึงวัดฉลอง เห็นวัดครึกครื้นขึ้นกว่าเคยเห็นแต่ก่อนจนแปลกตา เป็นต้นว่า กุฏิเจ้าอาวาสที่ท่านพระครูเคยอยู่ก็กลายเป็นตึกสองชั้น กุฏิพระสงฆ์และศาลาที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นก็มีอีกหลายหลัง เขาบอกว่ามีผู้ศรัทธาสร้างถวายพระครูเมื่อภายหลัง แต่เมื่อมีผู้ไปสร้างสิ่งต่างๆเหล่านั้น ท่านพระครูไม่ยอมให้แก้ไขในบริเวณโบสถ์ที่ท่านลงไปอยู่เมื่อต่อสู้พวกจีน กำแพงแก้วที่พวกลูกศิษย์เคยอาศัยบังตัวรบจีนครั้งนั้นก็ไม่ให้รื้อแย่งแก้ไข ยังคงอยู่อย่างเดิม

ที่ในกุฏิของท่านพระครูเขาตั้งโต๊ะที่บูชาไว้ มีรูปฉายของท่านพระครูขยายเป็นขนาดใหญ่ใส่กรอบอย่างลับแลตั้งไว้เป็นประธานบนโต๊ะนั้น มีรอยคนปิดทองแก้สินบนที่กระจกเต็มไปหมดทั้งแผ่น เหลือช่องว่างแต่ที่ตรงหน้าท่านพระครู ดูประหลาดที่ยังชอบบนปิดทองท่านพระครูอยู่จนเมื่อตัวท่านล่วงลับไปนานแล้ว ไม่เท้าของท่านพระครูที่ชอบถือติดมือก็เอาวางไว้ข้างหน้ารูปและมีรอยปิดทองด้วย

ไม้เท้าอันนี้ก็มีเรื่องแปลกอยู่ พวกกรมการเมืองภูเก็ตเขาเคยเล่าให้ฉันฟังตั้งแต่ท่านพระครูยังอยู่ ว่ามีเด็กผู้หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งในเมืองภูเก็ต เป็นคนมีวิสัยชอบพูดอะไรเล่นโลนๆ ครั้งหนึ่งเด็กนั้นเจ็บออกปากบนตามประสาโลนว่า ถ้าหายเจ็บจะปิดทองตรงที่ลับของขรัวพ่อวัดฉลอง ครั้นหายเจ็บถือว่าพูดเล่นก็เพิกเฉยเสีย อยู่มาไม่ช้าเด็กคนนั้นกลับไปเจ็บอีก คราวนี้เจ็บมากหมอรักษาอาการก็ไม่คลายขึ้น พ่อแม่สงสัยว่าจะเป็นด้วยถูกผีหรือแรงสินบน ถามตัวเด็กว่ามันได้บนบานไว้บ้างหรือไม่

แต่แรกตัวเด็กละอายไม่รับว่ามันได้บนไว้เช่นนั้น จนทนอาการเจ็บไม่ไหวจึงบอกตามความจริงให้พ่อแม่รู้ ก็พากันไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง แล้วปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรดี ท่านพระครูว่า "บนอย่างลามกเช่นนั้ใครจะยอมให้ปิดทองได้" ข้างพ่อแม่เด็กก็เฝ้าอ้อนวอนด้วยกลัวลูกจะเป็นอันตราย ท่านพระครูมิรู้ที่จะทำประการใด จึงคิดอุบายเอาไม้เท้าอันนั้นสอดเข้าไปใต้ที่นั่ง แล้วให้เด็กปิดทองที่ปลายไม่เท้า ผู้เล่าว่าพอแก้สินบนแล้วก็หายเจ็บ ฉันได้ถามท่านพระครูว่าเคยให้เด็กหญิงปิดทองที่ปลายไม้เท้าแก้สินบนจริงหรือ ท่านเป็นแต่ยิ้มอยู่ไม่ตอยรับหรือปฏิเสธ จึงนึกเห็นจะเป็นเรื่องจริงดังเขาเล่า

เรื่องพระครูวัดฉลองยังเห็นเป็นอัศจรรย์ต่อมาอีก เมื่อฉันไปอยู่เมืองปีนังใน พ.ศ.๒๔๗๗ ไปที่วัดสว่างอารมณ์เห็นมีรูปฉายท่านพระครูวัดฉลองเข้ากรอบลับแลตั้งอยู่บนโต๊ะเครื่องบูชาข้างพระประธานที่ในโบสถ์ และมีรอยปิดทองแก้สินบนเต็มไปทั้งแผ่นกระจก เช่นเดียวกับที่เมืองภูเก็ต เดี๋ยวนี้รูปนั้นก็ยังอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ ดูน่าพิศวง พิเคาระห์ตามเรื่องประวัติ เห็นว่าควรนับว่า พระครูวิสุทธิวงศาจารย์(แช่ม) วัดฉลองเป็นอัจฉริยบุรุษได้คนหนึ่งด้วยประการฉะนี้.


นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นิทานที่ ๑๔ เรื่องพระครูวัดฉลอง


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 20 มีนาคม 2550   
Last Update : 20 มีนาคม 2550 11:51:11 น.   
Counter : 2763 Pageviews.  


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชหัตถ์ซ้าย)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



....................................................................................................................................................

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นพระมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวังหลวงเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ที่ตำหนักใกล้ประตูอนงค์ลีลา เมื่อประสูติแล้วมีพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน และสมโภชเดือนตามราชประเพณี พระบาทวสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงในงานพิธีและพระราชทานพระนามว่า ดิศวรกุมาร และพระราชทานกาน้ำทองคำใส่น้ำเสวย ๑ ใบ เป็นของพระราชทานสมโภชเดือน

พระองค์ทรงเล่าว่าได้ทรงตั้งต้นทรงพระอักษร ก.ข. กับคุณแสง ข้าราชการฝ่ายในแต่พระชันษาได้ ๓ ขวบ เวลาเช้ามีคนเชิญสมุดเรียนใส่พานเดินนำเสด็จไปยังเรือนคุณแสง ทรงเรียน ก.ข. และสระราว ๑-๒ ชั่วโมง แล้วเสด็จกลับมาแต่งพระองค์ขึ้นไปเฝ้าพระราชบิดากับเจ้าจอมมารดาในเวลาเสวย ถ้าเจ้าจอมมารดาเที่ยงเจ็บ คุณย่าผู้เป็นน้องสาวก็เป็นผู้ตั้งเครื่องแทน วันหนึ่งเสด็จพ่อทรงตามเข้าไปยืนเกาะโต๊ะเสวยซึ่งสูงขนาดพระเศียรในเวลานั้น พระราชบิดาทรงลูบพระเศียรแล้วตรัสกับคุณย่าว่า "ลูกคนนี้จะเป็นที่พึ่งของเองได้ต่อไป" คุณย่าเล่าว่า เมื่อเสด็จพ่อยังเสวยนมอยู่นั้น ทูลกระหม่อมปู่ทรงลองเอานิ้วพระหัตถ์ใส่ในพระโอษฐ์แทนนม แต่เสด็จพ่อไม่ทรงดูดกลับหยุดนิ่งเสียเฉยๆจึงตรัสว่า "ลูกคนนี้ฉลาด"

เมื่อทรงพระอักษรถึงผสมตัวได้แล้วก็ทรงย้ายครูไปเรียนกับคุณปาน ราชนิกุล บุนนาค และเรียนอ่านหนังสือเล่มๆมีเรื่อง รามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น ในสมัยนั้นเรียกว่าขึ้นสมุด พระชันษา ๔-๕ ปีก็ได้ตามเสด็จออกอยู่เสมอ และได้ทรงเชิญพระแสงหนู(องค์เล็ก)ตามเสด็จด้วย เสด็จพ่อทรงเล่าว่าเวลานั้นรถม้ามีเข้ามาใหม่ๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถชนิดที่เรียกว่า Dog Cart เองเสมอ และพระราชโอรสธิดาเล็กๆก็ตามเสด็จด้วย เสด็จพ่อประทับในระหว่างพระบาท ทรงจำได้ว่าสายบังเหียนถูกพระเศียรเรื่อยไป วันหนึ่งคานรถหัก ตกลงมาจากรถกันทุกพระองค์ ทูลกระหม่อมปู่ทรงเป็นห่วงตรัสแต่ว่า "ลูกๆเป็นยังไง เจ็บไหมลูก" อย่างเดียว เวลาทรงพระราชยานเสด็จพ่อประทับข้างพระบาทคู่กับเสด็จลุง กรมพระสมมตอมรพันธุ์

และครั้งหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปในงานฉลองวัดหงษ์กลับมา เสด็จพ่อง่วงพระบรรทมตกลงมาจากพระราชยานหนหนึ่ง พวกข้าราชการอุ้มกลับขึ้นไปในระหว่างทาง ในเวลาเสด็นจออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม(ในสวนศิวาลัย)วันหนึ่ง พระราชบิดาทรงตรัสใช้ไปหยิบขวดหยกในเครื่องพระสำอางค์ที่ในห้องบรรทมมาถวาย เพราะจะพระราชทานให้พวกขุนนางดู เสด็จพ่อทรงเล่าว่า รู้สึกกลัวผีเป็นที่สุดที่จะต้องขึ้นไปบนพระที่นั่งที่ประทับพระองค์เดียว แต่แข็งพระทัยคลานขึ้นไปบนพระแท่นลดแล้วหยิบขวดนั้นมาถวายได้ถูก ได้รับการชมเชยจากผู้ใหญ่เป็นอันมากในคราวนี้ว่า ฉลาดใช้ได้เรื่องได้ราว ในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ก็ได้ตามเสด็จไปหว้ากอด้วย และกลับมาประชวรเป็นไข้ป่าพร้อมกับคุณย่าเหมือนกัน แต่หายทันขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชันษาได้ ๖ เข้า ๗ ปี ทรงเล่าว่าทรงจำได้ดีว่าได้ขึ้นไปทรงพระกันแสง ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องที่เสด็จพ่อทรงจำเรื่องราวในรัชกาลที่ ๔ ได้เพียงไร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ ปีเท่านั้น พวกสมเด็จเจ้าพระยามีท่านเจ้าคุณฝ่ายในต่างๆเป็นผู้เข้าควบคุมดูแลงานในพระราชฐานในตำแหน่งเจ้าคุณพนักงาน พวกคุณย่าต่างๆเรียกว่าหมดบุญกลับไปอยู่เรือนกลับเจ้านายเล็กๆ ต่างคนต่างทำขนมขายบ้าง ทำการช่างต่างๆขายบ้างอยู่เงียบๆ ส่วนพระราชโอรสธิดา ทรงเล่าว่าเรียนหนังสือแล้วก็ขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาเสวยทุกวัน เฝ้าแล้วก็เที่ยวเตร่ไปตามความพอใจ โดยมากก็ไปอยู่ในวัดพระแก้วดูเขาซ่อมแซมวัด จนสมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงช่วยท่านอาจารย์แดง(พระภิกษุ)เขียนรูปรามเกียรติ์ตามพระระเบียงได้ เสด็จพ่อนั้นเมื่อทรงเรียนจนทรงอ่านภาษาไทยได้ดีแล้ว พระชันษา ๘ ปีก็เสด็จออกไปเรียนอักษรขอมกับพวกกรมพระอาลักษณ์ ที่เก๋งกรงนกอยู่ริมพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยบัดนี้

ส่วนเวลาว่างก็เที่ยวอยู่ตามรอบวังทอดพระเนตรวัดพระแก้ว ทอดพระเนตรพวกทหารอยู่กันอย่างไร มีพวกพระพี่เลี้ยงผู้ชายตามเสด็จดูแลจนถึงเวลาก็เสด็จกลับเข้าวัง เสด็จพ่อทรงเล่าว่า คุณย่าไม่เคยตามพระทัยเลย คำสั่งเด็ดขาดนั้นคือ ปดไม่ได้ ถ้าผิดต้องรับโดยดีว่าผิดมิฉะนั้นจะถูกตีมาก เสด็จไปไหนมาก็ต้องมาเล่าให้แม่ฟังว่าเห็นอะไร ทำอะไรบ้าง ทรงเล่าว่า วันหนึ่งตามเสด็จออกไปข้างหน้า พบด้ามปากกาแก้วใส่น้ำสีๆตกอยู่ตรงบันไดก็ทรงเก็บเอามา เพราะโปรดเหลือเกิน แต่พอถึงตำหนักคุณย่าก็ถามว่าเอามาจากไหน ท่านก็ทรงบอกตามจริง แต่คุณย่าออกคำสั่งว่า ให้เอากลับไปวางไว้ที่เดิมเดี๋ยวนั้น ทรงเล่าว่าเสียดายเป็นกำลัง แต่ก็ต้องเอากลับไป ส่วนการเสวยก็ดี บรรทมก็ดี คุณย่าเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์ไม่เคยอดอยาก เข้มงวดแต่ในเรื่องศีลธรรม และการงาน

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจาดเสด็จเยี่ยมประเทศอินเดียแล้ว ทรงจ้างครูภาษอังกฤษคนหนึ่งชื่อ Mr.Francis George Peterson ให้มาสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้านายพระองค์ชาย โปรดฯให้ทุกพระองค์ทรงเลือกว่าจะเรียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เสด็จพ่อทรงเลือกเรียนภาษาอังกฤษเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี หนังสือที่ทรงเรียนยังมีอยู่ในหอสมุดดำรงฯ ท่านทรงเก็บรักษาไว้เอง ทรงเล่าว่าทรงเป็นลูกศิษย์ที่ครูรัก ครูไปไหนก็ชอบพาไปด้วย จนเข้าพระทัยและตรัสภาษาอังกฤษได้ ก่อนที่จะทรงอ่านออก วันหนึ่งครูพาไปหาเพื่อนฝรั่งด้วยกันที่ห้างมากวนและเลยจะค้างอยู่ที่นั่น คุณย่าตกใจว่ายังไม่เสด็จกลับ ให้คนออกเที่ยวตามหาได้พระองค์มาจนเวลา ๒ ยามแล้ว เสด็จพ่อทรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ ๔ ปี ทรงถึงเล่ม ๔ Forth Reader ก็ต้องออกจากโรงเรียนที่อยู่ตรงข้างประตูพิมานไชยศรี เพราะถึงเวลาโสกันต์และทรงผนวชเณรตามพระราชประเพณี เพื่อศึกษาการพระพุทธศาสนา ทรงผนวชที่วัดพระแก้วแล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ๑ พรรษา ลาผนวชเณรเมื่อพระชันษาได้ ๑๔ ปีเป็นอันจบการศึกษาชั้นแรกเพียงเท่านี้ ต่อไปจากนี้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองโดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ ในคราวหน้าจะได้เล่าถึงตอนทรงเข้ารับราชการต่อไปตอน


เสด็จเข้ารับราชการ

เนื่องแต่โรงเรียนอยู่ตรงข้ามกับสนามหน้าวัดพระแก้ว(ทางในพระบรมมหาราชวัง)อันเป็นที่หัดทหารทุกวัน เสด็จพ่อได้ทอดพระเนตรเห็นอยู่เป็นนิตย์จึงทำให้ทรงอยากเป็นทหาร เมื่อทรงขออนุญาตต่อคุณย่า ย่าขอให้ให้ทรงทำสัญญาก่อนว่า ๑.จะไม่เล่นผู้หญิงชั่ว ๒.จะไม่ดื่มสุราเลย เพราะทหารในเวลานั้นมีแต่คนเลวๆและเกะกะ เสด็จพ่อตรัสเสมอว่าสัญญา ๒ ข้อนี้ทำให้พ่อเป็นคนบริสุทธิ์สะอาดมาตลอดชีวิต เสด็จเข้ามารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยเมื่อพระชันษา ๑๔ ปี อยู่ประจำกองที่พระระเบียงวัดพระแก้วในบังคับบัญชานายร้อยเอกเจิม แสงชูโต คือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้รับเงินเดือนๆละ ๑๖ บาท ทรงเล่าว่าบางวันร้อนจัดก็ชวนเพื่อนทหารไปนอนหน้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว แต่พอตื่นเช้าขึ้นก็เหลือแต่พระองค์กลิ้งอยู่กับพื้น ทั้งพระเขนยและผ้าคลุมบรรทมหายไปหมด ทรงโยนปืนอยู่ ๑ ปีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวงได้เงินเดือนๆละ ๔๐ บาท ทรงเล่าถึงเรื่องพวกทหารแตรวงสนุกๆหลายเรื่อง มีคนเป่าแตรดีอยู่คนหนึ่ง(ข้าพเจ้าลืมชื่อ)แต่แกชอบเล่นการพนัน

วันหนึ่งมีงานหลวงจะต้องมีแตรบรรเลง เมื่อมากันครบแล้วยังขาดอยู่แต่พ่อคนแตรดีคนนั้น จึงให้เที่ยวตามตัวกันเอะอะ สักครู่จึงได้รับเศษกระดาษเขียนมาว่า ถ้าต้องการตัวให้เอากางเกงไปรับที่พระระเบียงวัดโพธิ์ เพราะเสียพนันเหลือแต่กางเกงในตัวเดียว อีกคนหนึ่งชื่ออยู่ ทรงเล่าว่าเป็นคนที่ไม่มีดนตรีอยู่ในหัวเลย ให้ทดลองเล่นเครื่องต่างๆไม่ได้เลยสักสิ่ง แม้ให้เป็นคนตีกลองก็ตีผิดจังหวะ ถึงต้องกอดกลองไว้ไม่ให้ดัง ข้าพเจ้าได้ทันรู้จักคนหนึ่งชื่อช่วงเป็นคนเป่าขลุ่ย เราไปดูหนังกันที่โรงหนังนางเลิ้ง ขากลับออกมาพบทหารคนหนึ่งกำลังเดินเซๆ พอหันมาเห็นเสด็จพ่อก็ยืนตัวตรงทำวันทยาหัตถ์ เสด็จพ่อทรงหันไปทักว่า "ช่วง เองเมาอีกแล้วซี" เขาตอบเสียงเด็ดขาดว่า "แน่นอน" ท่านก็ทรงพระสรวลแล้วผ่านไป ทำให้เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ในระหว่างนายกับพลทหารนั้น แม้ห่างกันไปถึงเวลา ๓๐ - ๔๐ ปีมาแล้ว เขายังรู้สึกผูกพันกันดี

เสด็จพ่อทรงว่าแตรวงอยู่ ๒ ปี ก็ย้ายไปเป็นว่าที่นายร้อยโทบังคับทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เงินเดือน ๔๘ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ นี้ ได้ทรงเป็นนายร้อยเอกและราชองครักษ์ประจำพระองค์ และว่ากรมครัวเข้า(ข้าว)ต้นได้เงินเดือนถึงเดือนละ ๘๐ บาท พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้ทรงเป็นนายพันตรีผู้รับพระราชโองการ และว่ากรมกองแก้วจินดา(ปืนใหญ่)เงินเดือนขึ้นเป็น ๑๒๐ บาท ต่อมาอีก ๔ ปีได้ทรงเป็นนายพันโทผู้บังคับการทหารมหาดเล้ก เงินเดือนขึ้น ๒๔๐ บาท พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อพระชันษา ๒๒ ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้ทรงเป็นนายพลตรี เงินเดือนขึ้นถึง ๕๐๐ บาท

เสด็จพ่อทรงตรัสอยู่เสมอว่าท่านทรงได้รับการรักษาระเบียบและรักษาความสะอาดมาจากการเป็นทหาร ทรงถือพระองค์ว่าทรงเติบโตขึ้นมาทางทหารตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยจนเป็นนายพล แต่ถูกย้ายไปรับราชการทางแผนกอื่นเท่านั้น เนื่องแต่ได้ทรงจัดให้พวกทหารมหาดเล็กเรียนหนังสือ และขอพระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบจัดเป็นโรงเรียนขึ้น จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับการธรรมการ มีตำแหน่งเท่าเสนาบดีแต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกระทรวง เป็นแต่มีตำแหน่งนั่งประชุมในเสนาบดีสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓


ตอน ทรงว่าการศึกษาธิการและธรรมการ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเป็นอันมากแต่โดยปกติเมื่อได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว บางครั้งต้องทรงสองเองเพราะในเวลานั้นครก็หายากอยู่แล้ว ยังไม่มีใครเข้าใจคำว่าหลักสูตรอีกด้วย การสอบไล่ก็เพิ่งมีขึ้นในโรงเรียนนี้เป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาฯได้ทรงร่างข้อสอบ ทรงสอบ และจัดทำประกาศนียบัตรขึ้นเองทั้งนั้น หนังสือที่ทรงจัดให้เรียนยังทรงมัดไว้ดังมีอยู่ในหอสมุดดำรงฯ แล้วทรงเล่าว่าถ้าจะเอาเรื่องใดเข้าหลักสูตร จะต้องให้ทดลองสอนเด็กเสียก่อน ถ้าเป็นผลดีจึงจะเอาเข้าไปกระทรวง ฉะนั้นที่วังพระองค์ท่านจึงมีโรงเรียนเล็กๆห้องเดียวอยู่หลังหนึ่ง และพวกลูกๆตั้งแต่ของพระองค์ท่านและลูกคนในวัง ก็เป็นผู้สำหรับทรงทดลองทั้งนั้น

ทรงเล่าว่าครูก็มีต่างๆ บางคนสอนอย่างนั้นดี บางคนสอนอย่างนี้ดี มีขุนบัญญัติฯคนหนึ่งสอน ก.ข. ดีนัก แม้เด็กจะเกเรอย่างไรครูก็มีวิธีสอนจนอ่านได้ดีและเร็วด้วย เมื่อเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิษุ ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน เพราะเมื่อกำลังสร้างวัดนั้น เสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าวัดนี้เงียบสบาย เจ้านายทรงผนวชก็อยู่ได้ เสด็จพ่อจึงทูลว่าถ้าถึงปีทรงผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นหอสมุดในวัดนั้นบัดนี้

ในเวลาเสด็จอยู่ในวัดนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาวนามาเรียนหนังสือที่วัดด้วยหนังสือมูลบทบรรพกิจ และอ่านไม่ได้นอกจากท่องชี้ไปตามเรื่องว่า ก.ก่.ก้.ก๊.ก๋. ข.ข่.ข้.ข๊.ข๋. ฯลฯ แต่ชี้ก็ไม่ถูกตัว จึงตรัสถามพระผู้เป็นครูสอน ท่านอธิบายว่าเด็กมีเวลาเรียนเพียงปีละ ๓ เดือน ถึงหน้าทำนาก็ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ กลับมาเรียนใหม่ก็ลืมหมดต้องตั้งต้นกันไปใหม่ เป็นเหตุให้ท่านทรงคิดแบบเรียนเร็วขึ้นเพื่อจะให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน และเอาของที่จำได้ง่ายเช่น ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งเด็กเห็นอยู่เสอมๆช่วยความจำให้เร็จขึ้น ส่วนในเนื้อเรื่องก็ทรงเลือเอาแต่ที่จะจับใจเด็กเป็นประมาณ เพราะธรรมชาติของเด็กไม่สามารถจะเข้าใจคติธรรมได้ นอกจากชอบการตื่นเต้น จึงผูกเรื่องเช่น ตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง เป็นต้น เพื่อให้เด้กเห็นว่าแม้คนพิการก็ยังทำอะไรๆได้ แต่ท่านก็ได้ตรัสอยู่เสมอว่าถึงเวลาควรจะแก้ไขให้เหมาะแก่เวลายิ่งขึ้นแล้ว

ส่วนการศึกษาของชาตินั้น ทรงพระดำริว่าต้องดูความต้องการของประเทศว่าเรายังขาดคนชนิดใด ถ้ากระทรวงศึกษาธิการทำคนให้แก่ประเทศได้ถูกต้องตามเวลาแล้ว บ้านเมืองจะเจริญเร็ว และคนจะมีงานทำโดยทั่วถึงกัน เสด็จพ่อได้ทรงส่งหลานปู่คนใหญ่ไปหักเป็นพ่อค้าในยุโรปราว ๓๐ ปีมาแล้ว เผอิญเด็กไม่ค่อยชอบ และซ้ำกลับมาตายเอาด้วย ก็เป็นอันเราไม่มีพ่อค้าในครอบครัว และคนโดยมากก็ยังสนุกในการเป็นข้าราชการอยู่นั่นเอง ถ้าพวกไทยเราเอาใจใส่ในการเพาะปลูก และการเป็นพ่อค้าให้ถูกต้องตามควรแล้ว การเศรษฐกิจของเราจะเป็นผลดีแก่ประเทศสักเพียงไร ในสมัยเริ่มจัดการปกครองแบบใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น การอ่านเขียนได้ยังไม่ค่อยมีเพราะไม่มีเหตุจำเป็น จะเขียนใบบอกราชการกันสักทีก็ต้องไปเขียนที่วัดเพราะพวกพระท่านต้องรู้หนังสือเพื่อแปลบาลีออกเป็นไทย ฉะนั้นในเวลาเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ท่านเป็นเสนาบดี ท่านจึงจัดผู้อ่านเขียนได้ส่งให้หมาดไทยไปได้ทั่วประเทศ คนจึงมีงานทำกันทั่วถึง

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้านิโคลาซที่ ๒ เสด็จมาประพาสเมืองไทย(๑) ถึงวันเสด็จกลับจากบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกเสด็จพ่อเข้าไปที่พระองค์ แล้วตบพระขนองเสด็จพ่อตรัสแก่พระเจ้าซาร์ว่า "หม่อมฉันจะให้ดำรงไปเฝ้าเยี่ยมตอบแทนตัว" เสด็จพ่อทรงเล่าว่า พ่อเองก็ตกใจ เพราะไม่รู้ตัว" เวลานั้นพระชันษา ๒๙ เท่านั้น โปรดเกล้าฯให้เสด็จพ่อทรงเลือกคณะผู้ตามเสด็จเอง ซึ่งในสมัยนั้นต้องอยู่ในข่ายพระราชพิจารณาว่า ต้องมีรูปร่างงาม มารยาทเรียบร้อย ไม่ให้เสียชื่อสัญชาติไทย และต้อมมีสมองพอจะจำของดีๆกลับมาให้คุ้มค่าเสียเงินไปด้วย เสด็จพ่อเสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยไปถวายยังราชสำนักต่างๆในยุโรป และทอดพระเนตรการศึกษาต่างๆเมืองมาด้วย

ครั้นพอเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๗ วันก็ถูกพระราชประกาศย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาไทย โดยมิได้มีพระราชดำรัสถามก่อน ทรงเล่าว่า ทั้งตกใจและเสียใจที่จะต้องทิ้งการศึกษาซึ่งทำแปลนมาในใจไว้เรียบร้อยแล้ว จึงรีบเข้าไปกราบทูลว่า กลัวจะเสียชื่อเพราะทำงานมหาดไทยไม่สำเร็จ แต่มีพระราชดำรัสว่า กรมดำรง ฉันเชื่อว่าเธอจะทำการศึกษาได้สำเร็จ แต่บัดนีบ้านเมืองอยู่ในอันตราย(ร.ศ. ๑๑๒) ถ้าเราตกไปเป็นข้าของเขาอื่น การศึกษาที่เธอรักจะอยู่ที่ไหน ใครเขาเป็นนายเขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพอใจเขา เรามาช่วยกันรักษาชีวิตของประเทศไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเธอติดขัดอย่างไรก็มาปรึกษาฉันได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ทรงจากการศึกษามาแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕


ตอน ทรงว่ากระทรวงมหาดไทย

การปกครองในสมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น ยังปกครองตามแบบกรุงศรีอยุธยาคือแบบจตุสดมภ์ มี ๔ เสนาบดี เวียง วัง คลัง นา แยกกันปกครองคนละทิศ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปทางตะวันตกประเทศแล้ว จึงจำต้องจัดการปกครองอย่างใหม่ขึ้นให้ทันเวลา ดังทรงมีพระราชดำรัสกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น

เสด็จพ่อทรงเล่าว่า ท่านเสด็จมากระทรวงมหาดไทยแต่พระองค์เดียวกับพระมนตรีพจนกิจ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)ผู้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะไม่มีพวก จะเลือกเอาแต่ผู้สามารถทำงานได้จริง ในเวลาแรกเสด็จไปไม่ได้ทรงแก้ไขอะไรเลย ไปประทับทอดพระเนตรการงานที่เขาทำกันอยู่ทุกแผนก และประทับอยู่ในห้องเจ้าคุณราชวรานุกูล(อ่วม)ผู้เป็นปลัดทูลฉลองโดยมาก จนกระทั่งทรงทราบการงานที่ทำอยู่โดยละเอียดแล้วจึงทรงคิดแก้ไขโดยกราบบังคมทูลขอตั้งมณฑลและจังหวัด อำเภอ ขึ้นตามท้องที่ ด้วยเอาแผนที่สยามซึ่งพระองค์ท่านเองได้ทรงควบคุมเจ้าหน้าที่ทั้งฝรั่งและไทย จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ในเวลาทรงอยู่ในราชการทหาร

ตรัสเล่าว่าเอาแผนที่ปูขึ้นบนโต๊ะ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ท่าน ๒ พระองค์เท่านั้น ยืนคิดตามแผนที่ว่าจะเอาภูเขาและทางน้ำเป็นขอบเขตมณฑลและจังหวัดต่อไป แล้วจึงลงมือออกตรวจท้องที่แลเลือกคนทำงาน ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นสนุกนัก เพราะเมืองต่างๆไม่มีอยู่บนพื้นดินโดยมากอยู่ตามท้องน้ำ มีเรือนแพหรือแพอยู่ทั่วไป จวนเจ้าเมืองเป็นที่ว่าการ เป็นศาล เป็นคุก เสร็จไปในตัว เจ้าเมืองเองก็ได้เพียงค่าตอกตราใบละ ๑ ตำลึงคือ ๔ บาท พระองค์ท่านและสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นเสนาบดีคู่แรกที่ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆละ ๑,๐๐๐ บาทเป็นปฐม

มณฑลพิษณุโลกเป็นมณฑลแรกที่จัดตั้งขึ้น เพราะทรงพบเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์(เชย กัลยาณมิตร)เข้า จึงแน่พระทัยว่าจะทำได้ เสด็จพ่อทรงถือว่าการเลือกคนให้ถูกที่ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านตรัสกับพวกข้าราชการมีเทศาฯเป็นต้น อยู่เสมอว่า "การเลือกคนใช้ให้เหมาะแก่ตำแหน่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นนายคน การที่จะรู้ว่าถูกหรือผิดนั้นจะต้องขยันเอาใจใส่ดูอยู่เสมอว่า ผลงานที่เขาทำนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเขาทำได้ดีต้องยอมให้ว่าเป็นความดีของเขาเอง เราจะรับเอาได้เพียงแต่ว่าเลือกคนถูก ถ้าเขาทำผิดเราต้องรับเสียเองว่าเพราะเราเลือกเขาๆจึงมีโอกาสทำผิด ทั้งนี้เพราะอำนาจอยู่ที่ไหนความรับผิดชอบต้องอยู่ที่นั่นด้วย"

เมื่อมีผู้ใดโดยเฉพาะพวกฝรั่งทูลถามว่า "เอาเกณฑ์อะไรเลือกคน จึงทรงเลือกได้ถูกเสมอ" เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปเป็นข้าหลวงประจำเชียงใหม่ พูดอังกฤษก็ไม่ได้สักคำเดียว แต่กงสุลอังกฤษเกรงใจและเชื่อทุกอย่าง จนกระทั่งกระทรวงต่างประเทศถามว่าทำอย่างไรกัน กงสุลคนนั้นซึ่งเก่งกาจไม่น้อย จึงกลับตามเจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปได้ทุกอย่าง กลางคืนว่ากลางวัน กงสุลก็เห็นด้วย โดยมาท่านตอบด้วยทรงพระสรวลหรือมิฉะนั้นก็ว่า มันฟลุกซ์ แต่กับพวกเราๆท่านทรงอธิบายว่า "ถ้าเรียกผู้ใดมาสั่งงานจะให้ไปรับตำแหน่งใหม่ ผู้นั้นตอบรับว่าได้โดยเร็วและอ้ายนั่นก็ทำได้ อ้ายนี่ก็ง่าน ละก็เตรียมหาคนใหม่ไว้ได้ทันที ถ้าคนใดหนักใจ ซักถามถี่ถ้วนเห็นความลำบากละก็ เรานอนหลับตาได้"

การเสด็จออกอตรวจราชการก็มีอยู่เสมอ ทั้งๆทีรถไฟก็มีอยู่เพียงอยุธยาและโคราช รถยนต์ก็ยังไม่มี จึงมีแต่ม้า ช้าง เกวียน และเรือ เสด็จพ่อได้เสด็จตรววจราชการทั่วทุกเมือง เว้นแต่เมือเลยเมืองเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เสด็จ ทางเสด็จจะเห็นได้ในหนังสือนิทานโบราณคดีแล้ว ท่านได้ทรงชี้ที่ปลูกศาลากลางแทบจะทุกเมือง ถึงเวลามีงาวันประสูติพิเศษ จึงทรงทำนาฬิกาตั้งส่งไปประทานทุกศาลากลางเพื่อเป็นที่ระลึก แต่มีคำสั่งเด็ดขาดว่าไม่ให้ติดรูปพระองค์ท่านหรือให้ชื่ออะไรว่า ดำรง เจ้าคุณรัษฎาฯ(ซิมบี๊ ณ ระนอง)เคยซื้อสวนยางในพระนามท่าน ก็ถูกต่อว่าและขออย่าให้ทำ เจ้าคุณทูลตอบว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะจะล่อให้ราษฎรเชื่อว่าสวนยางดี จะได้ตามไปทำบ้างเท่านั้น

ส่วนการตั้งเมืองท่านทรงเล่าว่า โบราณเขาเอาที่มีน้ำและที่ราบทำนาได้เป็นหลักและระยะเมืองก็เอาเกณฑ์ตีนเดินแต่เช้ามืดถึงเย็นเป็นที่หยุกพัก ระยะทางจึงอยู่ในระยะ ๖๐ กิโลเสมอ ดังเช่นนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ในสมัยของพระองค์ท่านเอาความสะดวกของราษฎรเป็นหลัก เช่นถ้าทางน้ำเปลี่ยนใหม่ไม่สะดวกแก่การคมนาคม ราษฎรมักจะย้ายไปมน้ำ ถ้าเลือกที่ได้ถูกต้องมั่นคงก็ย้ายเมืองตามไป ถ้าไม่ถูกต้องก็แก้ไขชี้แจงให้เข้าใจกัน เมืองสมัยนั้นคือศาลากลางอยู่ที่ไหนที่นั่นคือเมือง สมัยนี้เห็นแต่เขาเรียกตลาดว่าเมืองกัน เหตุนี้ดอกกระมังจึงจำต้องมี หลักเมือง

การเสด็จตรวจราชการของเสด็จพ่อนั้น ตอนเช้าราว ๙ โมงเสด็จไปยังศาลากลาง (ซึ่งงานเต็มมือ เพราะกระทรวงอื่นๆ ยังไม่มีเงินมีคนพอจะออกไปตามหัวเมืองได้ จึงต้องฝากงานไว้กับมหาดไทยโดยมาก มีกรมแร่ธาตุ กรมป่าไม้ อัยการ เป็นต้น) ศาล โรงตำรวจภูฌธร คุก แล้วแวะเยี่ยมตามวัดและพ่อค้าในตลาด เสด็จกลับมาเสวยกลางวันที่ที่พัก พร้อมกับผู้ตามเสด็จ ตั้งแต่เมศาฯ เจ้าเมือง ลงไปถึงผู้ใหญ่บ้าน ถ้าที่มีพอทุกคนก็นั่งโต๊ะด้วย พวกเราผู้หญิงมีหน้าที่ทำกับข้าว จัดโต๊ะรับแขก แต่ได้นั่งกินด้วย ตอนนี้แหละข้าพเจ้ามักได้ยินท่านสั่งงาน และคุยกับคนทั่วๆไปอยู่เสมอ เสวยแล้วทรงพักบรรทม ๑ ชั่วโมง โดยมากเวลาบ่าย ๑๕ น. แม้ไม่บรรทมหลับก็ทรงพระอักษร เพราะตรัสว่าร่างกายมันมีเครื่องจักรเหมือนกัน ต้องให้มันพักบ้าง ๑๖ น.ตรง เสด็จลุกขึ้นแต่งพระองค์ ตอนนี้พวกเราได้ตามเสด็จด้วย เพราะเสด็จไปตามโบราณสถานทำการขุดค้นไต่ถามพวกพื้นเมือง กว่าจะกลับก็ราวค่ำมืด ถึงเวลาสรงน้ำและเสวยเย็นพร้อมกับเมศาฯ เจ้าเมือง จนราว ๒๑ น. จึงจะทรงพักทรงพระอักษร และเขาบรรทมราว ๒๒ น.

ถ้าเป็นเวลาเดินป่าโดยขบวนม้า เสด็จออกแต่เช้ามืด ถ้าทางไกลมากก็ออกแต่มืดๆเอาแสงพระจันทร์เป็นแสงสว่าง มีตำรวจภูธรชั้นนายสิบเป็นผู้นำทางคนเดียว ต่อมาก็ถึงหญิงเหลือและข้าพเจ้า บางทีก็มีชายดิศด้วย แล้วถึงเทศาฯ ข้าราชการและมหาดเล็ก ทุกคนมีข้าวหลามแนบอานม้าไปคนละกระบอก ไข่ไก่ต้มคนละใบกับห่อเกลือพริกไทยใส่ไปในกระเป๋าเสื้อ แรกๆออกเดินทางท่านคุยกับผู้นำไปเรื่อยๆจนราวๆ ๑๐ - ๒๐ นาที ท่านตรัสว่า ต้องให้ม้ามันรู้จักใจเราเสียก่อนถึงค่อยใช้มัน แล้วหันมาตรัสถามเราว่า "พร้อมหรือยัง" พอทูลว่า "พร้อมแล้ว" ท่านก็บอกผู้นำว่า "ไป" คำเดียว แล้วก็ออกวิ่งกันสนุก วิ่งไปสัก ๑๐ นาที แล้วก็หยุดเดินเตาะแตะไปใหม่ ท่านว่าถ้าเราเหนื่อยม้ามันก็เหนื่อยเหมือนกัน วิ่งๆหยุดๆไปอย่างนี้จนเที่ยงก็หยุดกินกลางวัน บางที่ก็ที่วัด ที่หมู่บ้าน ที่ใต้ต้นไม้ เอาผ้าเอากระดาษปูนั่ง ถ้าลมเย็นๆกินแล้วหลับไปพักใหญ่กันก็มี แต่เด็จพ่อท่านไม่เคยหลับเลยอย่างดีก็พิงหลับพระเนตรครู่เดียว แล้วก็ออกสำรวจและคุยกับผู้คนมีพระภิกษุเป็นต้น พอราวบ่าย ๑๔ น. ก็เริ่มเดินทางตอนบ่ายโดยมากไม่มีวิ่งเลย นอกจากทางยังไกลมาก ถึงที่พักแรมก็เกือบๆค่ำ พอมีเวลาทำกับข้าวเลี้ยงกันเพราะกองเกวียนเขามักจะมาถึงที่พักแรมก่อนหรือมิฉะนั้นก็หลังเรานิดหน่อย พอกินเย็นพร้อมๆกันแล้วก็หลับเป็นตายไปทุกคน วันแรกๆยังมีเสียงครางสัก ๒ คืน เพราะพลิกตัวทีก็ปวดไปหมด พอ ๒ วันแล้วก็เคยไปเอง ข้าพเจ้ายังนึกสนุกไม่หายเลย

อีกประการหนึ่งที่พักแรมหรือที่เรียกกันว่าพลับพลาป่านั้นเป็นเรือนไม้ไผ่มุงด้วยใบพลวง พื้นเป็นฟาก ไม่มีตะปูสักตัวเพราะเขาใช้ตอกมัด ตามเสาตามฝาเขาเอากระบอกไม้ไผ่ใส่เฟิร์นบ้าง กล้วยไม้บ้าง ตกแต่ติดห้อยเป็นระยะๆสวยงาม ส่วยแคร่ไม่ไผ่ใต้ต้นไม้ก็แสนจะร่มเย็นเป็นสุข น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เห็นของเช่นนั้นอีกแล้ว เสด็จพ่อกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองโดยไม่มีโปรแกรม และให้ราษฎรถวายฎีกาฟ้องร้องได้ตั้งแต่เสนาบดีลงไป ส่วนพระราชหัตถเลขาถึงเทศาฯนั้น ท่านก็ขอพระราชทานว่าไม่ต้องผ่านทางพระองค์ท่านก่อน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงเมื่อพระชันษา ๓๗ ปี

การเสด็จไปกระทรวงมหาดไทยเป็นประจำวันนั้น ท่านเสด็จขึ้นทางบันไดหลังบ้าง ข้างหน้าบ้าง เพื่อจะทอดพระเนตรให้ทั่วถึง ท่านตรสว่า การรักษาความสะอาดและหาคนดีใช้นั้นต้องทนเหนื่อยเอา แม้เสด็จมาอยู่หอพระสมุดและมิวเซียมแล้วก็ยังทรงทำอยู่เช่นนั้น คืดทรงพระดำเนินเป็นรอบๆทั่วไป และมักจะหยุดทอดพระเนตรคนทำงานตามโต๊ะ บางทีทรงเห็นคนลายมือดีก็สั่งให้ย้ายไปอยู่ทางขีดเขียนคัดลอก ถ้าคนใดอ่านหนังสือท่านก็หยุดดูว่าอ่านเรื่องอะไร วันหนึ่งกลับมาแล้วท่านตรัสกับพวกเราว่า "ทั้งๆดูอยู่เองด้วยไม่ย่อมอยู่ในอำนาจการเพ็ดทูล ก็ยังถูกหลอก เจ้าคนนั้นมันอ่านหนังสืออยู่หน้าเดียว ๓ -๔ วันแล้ว คงนึกว่าพ่อไม่สังเกต" แล้วท่านก็ทรงพระสรวล ครั้งหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย มีห้องเสวยกลางวันอยู่ข้างห้องเสนาบดี เป็นโต๊ะกลมราว ๖ -๗ คน และมีบ๋อยอยู่ประจำ ๑ คน พวกเราเด็กๆจะออกมาวังกับเสด็จพ่อก็ออกไปนั่งคอยอยู่ในห้องนี้ เพราะบ๋อยให้กินขนมปังทาเนยโรยน้ำตาล และนั่งดูช้างเผือกอยู่บนขอบหน้าต่างกระทรวง

วันหนึ่งพี่ชายข้าพเจ้าซึ่งทำงานอยู่สรรพากรกับมิสเตอร์ไจล์ เพราะเพิ่งกลับมาจากยุโรป ซื้อข้างแกงเข้าไปนั่งกินที่โต๊ะในห้องนั้น เผอิญเสด็จพ่อจะเสวยน้ำท่านก็เปิดประตูเข้าไปเรียกบ๋อย พอเจอะพี่ชายข้าพเจ้าเข้าเท่านั้น พระพักตร์ก็บึ้งไปทันที ตรัสถามว่า "เจ้าชาย พวกเธอเขากินกันที่ไหน" พี่ชายข้าพเจ้าทูลว่า "ข้างล่าง" ท่านตรัสว่า "เธอก็ลงไปกินกับเขา ที่นี่ห้องเสนาบดีไม่มีพ่อลูก" ข้าพเจ้ามองดูพี่แล้วสงสาร เพราะลุกขึ้นถือจานข้าวนั้นออกไปทันที ทั้งๆทีกำลังกินอยู่อย่างหิวโหย แต่ถ้าเวลาไรเราเห็นพระพักตร์ท่านตึงเช่นนั้นแล้ว พวกเราจะไม่มีใครดื้อสู้หรือเถียงเลย เพราะรู้ว่าท่านเอาจริงเช่นเดียวกับตำรวจภูธรคนหนึ่งเขาจะไปจับผู้ร้าย อธิบายว่าจะต้องให้ได้ตัวเพราะกลัวในกรมเสนาบดีท่าน ข้าพเจ้าเถียงว่า "กลัวทำไม เด็จพ่อไม่เห็นน่ากลัวเลย" เขาร้องว่า "อ้าวฝ่าบาทไม่รู้จัก เสด็จพ่อท่านเป็นคนจริงนะซี เราถึงกลัว" แต่สำหรับข้าราชการอื่นๆตั้งแต่เทศาฯ เจ้าเมือง ลงมาไม่เห็นมีใครกลัว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทั้งข้าราชการและเสนาบดีดูจะรักกันมากกว่ากลัวกัน

ท่านตรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเรียกท่านผู้ใหญ่ว่า คุณตา คุณลุง คุณอา คุณพี่ จนเรานึกว่าเป็นญาติกันจริงๆ เจ้านายต่างเมืองก็ให้เรียก เจ้าลุก เจ้าอา เจ้าพี่อยู่เสมอ ข้าพเจ้าเคยทูลถามว่า "เด็จพ่อเอาลูกเล็กๆไปตรวจราชการด้วยทำไม ดูยุ่มย่ามจริงๆ" ท่านตรัสว่า "อ้าวเธอช่วยพ่อทำราชการยังไม่รู้ตัว ไปถึงไหนคนก็มาหา มาดีก็มี มาฟ้องร้องกันก็มี ถ้ารายไหนจะเจอะกันไม่ได้ พ่อก็บอกให้เขาไปเล่นกับลูกฉันก่อน ให้เขาพูดกันคนละที เราก็รู้ความจริง" ท่านตรัสเสมอว่า อย่ามีพวก เพราะถ้ามีพวกเรา จะต้องมีพวกเขาเกิดขึ้น และมากกว่าเสมอด้วย

ครั้งหนึ่งเทศาฯคนหนึ่งมาทูลลาจะไปรับตำแหน่งใหม่ ท่านตรัสบอกว่า "เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชศัสตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยศรัทธาแล้ว ไม่มีใครมาถอดเจ้าคุณได้แม้ในหลวง เพราะท่านก็ทรงปรารถนาให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน" อีกข้อหนึ่งท่านตรัสว่า "อำเภอดีเป็นเจ้าเมืองได้ทุกคน แต่เจ้าเมืองดีเป็นเทศาฯไม่ได้ทุกคน" ด้วยทรงอธิบายว่าเพราะเทศาฯต้องใช้ความคิดให้กว้างขวางด้วย มีเจ้าเมืองเก่าๆบางคนท่านตรัสบอกตรงๆว่า "เจ้าคุณอย่าเป็นเทศาฯเลยนะ เพราะเหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปมาก ฉันรู้ว่าเจ้าคุณทำไม่ได้ ถ้าส่งเข้าไปทั้งรู้ก็แปลว่าส่งเข้าไปให้เสียชื่อ เท่ากัยฉันฆ่าเจ้าคุณเปล่าๆ เอาบำนาญเป็นสุขเมื่อแก่ดีกว่า" เจ้าคุณพวกนั้นหลายคนก็มิได้โกรธเคือง กลับตามมาทำงานให้หอพระสมุดเปล่าๆอีกด้วย เสด็จพ่อไม่ทรงกริ้วใครต่อหน้าคน ถ้าใครผิดก็เรียกเข้าห้องเสนาบดีพูดชี้แจงขอกันตรงๆ เพราะท่านตรัสว่าความผิดกับความชั่วไม่เหมือนกัน ถ้าผิดต้องให้โอกาส แต่ถ้าชั่วจนช่วยไม่ได้แล้วต้องตัดไปเลย เรื่องศัตรูเหมือนกันถ้าเราหนีพ้นก็หนีให้สุดไกล แต่ถ้าหนีไม่พ้นจงเข้าใหกล้จนรู้เสมอว่าเขาทำอะไรและเราทำอะไร ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคำหยาบจากเด็จพ่อเลยตั้งแต่เกิดมา ถ้ากริ้วใครผิดไปท่านก็กลับไปขอโทษ แม้จนพวกมหาดเล็ก

เสด็จพ่อทรงมีความจำแม่นอย่างประหลาด แม้ในเวลาทรงพระชราแล้ว ถ้าเราอ่านข่าวเรื่องพบของโบราณที่อำเภออะไรในหนังสือพิมพ์ ยังไม่ทันออกชื่อเมือง ท่านจะทรงบอดต่อได้ทันทีว่า อำเภอนั้นอยู่ต่ออำเภอนั้น เวลาไปทางเรือก็จะตรัสบอกได้ทุกแห่งว่าตรงไหนมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับในทางพงศาวดารหรือเรื่องนิทานอะไร เพียงแลเห็นเขาเป็นเงาๆเท่านั้น ท่านจะทรงบอกได้ทันทีว่า เขาอะไรอยู่ที่ไหน เข้าใจว่าแผนที่สยามอยู่ในพระเนตรท่านตลอดเวลา ถ้าไปทางเรือในแม่น้ำ ถึงคลองบางแมว เมืองอ่างทอง ท่านจะทรงชี้ให้ดูทุกทีว่า "ตรงนี้เถรขวาดกระโดดลงน้ำเป็นจระเข้" ตรัสว่าเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นแผนที่ดีนัก ได้เคยให้สำรวจท้องที่เป็นถูกทุกหมู่บ้านและอำเภอ ด้วยเหตุนี้อย่างหนึ่งที่ทรงเห็นว่าไม่ควรจะเปลี่ยนชื่อท้องที่ เพราะทำให้เสียความรู้ในทางพงศาวดารว่าแห่งหนตำบลใดแน่ ถ้าเป็นเสด็จทางเรือทะเล คือ เรือไฟชื่อ นครศรีธรรมราช ไปตรวจหัวเมืองปักษ์ใต้ก็ลงเรือนั้นไปจากกรุงเทพฯ แล้วจอดขึ้นเรือเล็กไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เดินบกโดยกระบวนช้าง

ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จไปกรุยทางรถไฟสายใต้ ในฐานะเจ้าของท้องที่ ต้องตื่นแต่มืด พอตี ๕ ก็ออกเดินกระบวนช้างเป็นแถว ข้าพเจ้ายังเล็กมีพี่เลี้ยงแม่นมไปด้วยคนละช้าง วันแรกๆเมาช้างร้องไห้ไปตลอดทาง หรือจะเป็นเพราะกลัวช้างด้วยก็ได้ รู้สึกว่ากลัวตั้งแต่ขึ้นเกยไปแล้ว เพราจะต้องเหยียบคอมันโดดเข้าไปในกูบซึ่งพี่เลี้ยงเขาขึ้นไปคอยรับอยู่ก่อน เดินทางไปจนถึงเที่ยงก็ได้หยุดพักกินกลางวัน พอบ่าย ๑๔ น. ก็ออกเดินใหม่ ถึงบ่าย ๑๗ น. จึงจะถึงที่พัก เมื่อต้องขี่ช้างแต่เช้า ๕ น.เช้า จนถึง ๕ น.เย็นทุกวันเข้าก็เลยหายเมาไปเอง แต่มีเจ้าคุณรัษฎาฯซิมบี๊ท่านคอยเลี้ยง พอหยุดพักกลางวันเป็นแอบมากวักมือเรียกไปกินทุเรียนกับท่าน เพราะเด็จพ่อท่านทรงเกลียด พอเห็นก็ไล่ทุกทีว่า "ไปๆ ไปกินให้พ้น" เราเด็กๆชอบ ยังจำท่าทางเจ้าคุณรัษฎาฯท่านนั่งขัดสมาธิจิ้มทุเรียนใส่ปากทีละเม็ดได้ดี อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องดินฟ้าอากาศ เสด็จพ่อท่านทรงกะไม่ผิดเลยว่าฤดูนั้นจะต้องไปทางไหน

การตรงเวลาอย่างหนึ่ง ท่านทรงถือมาก ว่าผู้ใดไม่ถือเวลาเป็นสำคัญ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีหลัก เชื่อถือไม่ได้เพราะโลเล เวลาของท่านต้องเป๋งทุกที เช่น จะไปรถไฟ พอขึ้นรถๆก็ออกพอดี ในเวลาเสด็จไปยุโรปใน พ.ศ.๒๔๗๓ พอถึงโฮเต็ลวันแรก ท่านก็ตรัสบอกพวกตามเสด็จทุกคนรวมทั้งพวกเราด้วยว่า "ฉันกินกลางวันบ่ายโมง(๑๓ น.) กินเย็น ๒ ทุ่ม(๒๐ น.)" แล้วไม่ตรัสซ้ำอีก พออีก ๑๐ นาทีจะถึงเวลา ท่านเป็นลงไปห้องรับแขกแล้วทอดพระเนตรรูปบ้าง หนังสือนำเที่ยวและของขายบ้าง พอถึงบ่ายโมงเป็นเสด็จเข้าประทับโต๊ะ แม้จะเป็นพระองค์เดียว บ๋อยประจำโต๊ะก็เริ่มเสริฟอาหาร ฉะนั้นถ้าใครเข้าไปทีหลังก็ได้กินอาหารน้อยสิ่งเพราะผ่านไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตามเสด็จพ่อได้ทรงทำงานที่สำคัญที่สุดในพระชนมชีพของพระองค์ท่าน คือจัดการปกครองแบบใหม่อยู่ถึง ๒๓ ปี ทรงตั้งมณฑล ๑๘ มณฑล จังหวัด ๗๑ จังหวัด โดยไม่มีลูกของพระองค์เท่านเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองเลยสักคนเดียว การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนันก็ตั้งแบบไว้เพื่อฝึกหัดจะให้เป็นประชาธิปไตย เมื่อเลือกกันได้แล้ว ก็ตรัสสั่งไปยังเจ้าเมืองนายอำเภอว่าให้เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาประชุมด้วยทุกครั้ง และไต่ถามแกว่าจะต้องการสะพาน ถนนตรงไหนๆและมีอะไรอีกบ้างที่จะต้องการ คำตอบโดยมากก็มีแต่ว่า "ขอรับ แล้วแต่ใต้เท้าจะเห็นควร" เท่านั้น ประชาธิปไตยจึงคงเป็นไปได้เพียงเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านได้เองตลอดมา ส่วนการตำรวจภูธรนั้นโปรดให้พระยาวาสุเทพ(ครูเชาว์ ชาวเดนมาร์ก)เป็นผู้บังคับการ เจ้าคุณผู้นี้ตรวจงานโดยไม่มีกำหนด บางทีเวลา ๒๔ น. ก็ขอติดรถไฟสินค้าไปและหยุดตามสถานีตำรวจต่างๆและค้างคืนที่นั่น งานตำรวจภูธรจึงเรียบร้อยและเร็วเหมือนกันทุกแห่ง จนในหลวงตรัสว่า "ฉันเบื่อโรงตำรวจของกรมดำรงฯ" เพราะเหมือนๆกันหมดทุกแห่ง

ส่วนการสืบเสาะค้นคว้าในทางพงศาวดารและโบราณคดีเป็นผลพลอยได้จากการมหาดไทย เพราะเผอิญให้ท่านทรงโปรดในทางนั้นอยู่ด้วย เราจึงได้ความรู้กันอย่างสนุกสนาน และยอมรับว่าท่านเป็น พระบิดาแห่งประวัติศาตร์แต่อย่างเดียว บางคนก็ยังมีข้อกังขาว่า สมเด็จฯกรมพระยาฯท่านรู้ได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงบอกไว้เสียในที่นี้ด้วยว่า เสด็จพ่อทรงเรียนโบราณคดีจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ทั้ง ๒ พระองค์นี้ท่านทรงเรียนมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระชันษาถึง ๓๐ ปีเศษแล้วเมื่อกรุงเก่าแตก ฉะนั้นจึงไม่ได้รู้ด้วยการเล่าลือ หรือฝันขึ้นเองเลย

อีกประการหนึ่งคนแต่ก่อนความจำท่านแม่นยำ และท่านมักจะเล่ากันต่อๆมาให้ลูกหลานฟัง เช่นตัวข้าพเจ้าก็ได้รู้เรื่องต่างๆจากผู้หลักผู้ใหญ่มาเป็นชั้นๆ และเกิดในรัชกาลที่ ๕ ก็ยังจำเหตุการณ์และพบผู้รู้เห็นในรัชกาลนั้นมาตลอดจึงจำได้ไม่ลืมเลือน ผลของการเหนื่อยยากของเสด็จพ่อที่ได้รับเป็นส่วนพระองค์ นอกจากได้รับพระราชทานที่วังถนนหลานหลวงเป็นรางวัลในการจัดตั้งมณฑลได้สำเร็จแล้ว ก็คือพระนามว่าเป็นบิดาประวัติศาสตร์ และได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมพระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระชันษา ๔๙ ปี

เสด็จพ่อประชวรต้องทรงพักราชการใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้วหมอถวายความเห็นว่าทำงานหนักไม่ได้ต่อไป จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘


ตอน ทรงว่าการหอพระสมุดสำหรับพระนคร

โปรดเกล้าฯให้ทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาด้วย รับเงินเดือนเต็ม คือ ๓,๒๐๐ บาท และทีพระราชดำรัวในวันถวายตราตำแหน่งคืนว่า "กรมดำรง อย่าทรงทิ้งหอพระสมุดนะ" เสด็จพ่อทรงรับพระราชโองการว่าไม่ทิ้ง แล้วก็ทรงตั้งต้นเรื่องหอพระสมุดเริ่มทรงพระอักษรที่มีอยู่ในหอเรื่อยไป จนทรงทราบตามสำนวนโวหารได้ว้าเป็นหนังสือชนิดใด แล้วประกาศรับซื้อหนังสือเก่าว่าจะให้ราคาตามค่าของหนังสือนั้นๆ อีกประการหนึ่งท่านทรงใช้ข้าราชการเก่าๆที่ติดตามมาทำงานในหอพระสมุดโดยมีแต่เบี้ยบำนาญบ้าง เสมียนพนักงานบ้าง ให้ช่วยกันสืบเสาะหาหนังสือเก่ามารวบรวม ถึงวันเสาร์วันอาทิตย์ก็เสด็จไปเที่ยวตามลำน้ำ จัดอาหารกลางวันไปในเรือยนต์ ถ้าวัดอยู่ในคลองเล็กก็ลงเรือจ้างเข้าไปจนถึงวัด แล้วขึ้นไปคุยกับท่านสมภารขอชมของเก่าๆที่ท่านมี บางองค์ท่านก็ให้ดู แต่บางองค์ท่านก็ปิดโดยนิ่งเฉยเสีย ถ้านักสืบของเราเขารู้ ท่านก็เจาะจงขอดู ในเวลานั้นหอพระสมุดมีตู้ทองลายรดน้ำยู่ ๔ - ๕ ใบ ท่านทรงพบมีอยู่ตามวัดงามๆท่านจึงอธิบายแก่ท่านพระเจ้าของว่า "ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าท่านมีของดีๆ ถ้าท่านให้ผมยืมไปตั้งไว้ยังหอพระสมุดในชื่อท่าน ใครๆมาเห็นก็จะรู้จักท่านและรู้จักวัดไปพร้อมกัน ถ้าท่านคิดถึงก็ไปดูที่หอพระสมุดได้เสมอ" ท่านสมภารก็ถวายมาทั้งๆที่จริงท่านก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก

เมื่อมาถึงหอแล้วท่านก็ตั้งไว้กลางห้องเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นของใคร อยู่ที่ไหน ครั้นได้มา ๒ -๓ ใบแล้ว ท่านก็ทรงจัดการเชิญพระสงฆ์ให้มาชมหอพระสมุดโดยส่งคนไปนิมนต์พระในเวลาที่ถวายพุ่มเข้าพรษาที่วัดพระแก้ว เสร็จแล้วก็เลยมาหอพระสมุด ท่านทรงคอยรับและอธิบายเองและทูลขอเจ้านายฝ่ายในให้ทรงจัดหมากพลูบุหรี่ น้าร้อน น้ำเย็นมาเลี้ยงพระในวันนั้น ทรงพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆแจกเป็นที่ระลึก ทรงทำอยู่ ๒ วันติดๆกันเพียงปีเดียว พระที่ดูแล้วเกิดศรัทธาส่งตู้ทองมาให้หอพระสมุดเรื่อยๆจมีใส่หนังสือได้เต็มหอวชิรญาณ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ด้วยได้มาโดยมิเสียสตางค์เลย

เมื่อมีตู้หนังสือดีๆแล้ว ปัญหาการพิมพ์หนังสือก็เกิดขึ้นเพราะทุนของหอพระสมุดนั้นเรียกได้ว่าไม่มีเลย แลครามสำคัญของหอพระสมุดก็ไม่มีใครเอาใจใส่ นอกจากผู้รักหนังสือซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นราวๆ ๒๐- ๓๐ คน เสด็จพ่อจึงทรงคิดทูลเจ้านายพี่น้องและขุนนางผู้ใหญ่ ให้ทรงพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทานในงานต่างๆที่จะทำกัน เช่นงานพระศพหรืองานวันประสูติเป็นต้น เสด็จพ่อจะทรงรับจัดพิมพ์ถวายเสร็จ ขอแต่ให้ประทานแก่หอ ๒๐% เล่มเท่านั้น การพิมพ์หนังสือเป็นของแจกในงานจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยประการฉะนี้ ส่วนหนังสือร้อยละ ๒๐ เล่มที่หอได้มานั้น ก็ทรงเปิดห้องขายหนังสือขึ้น จำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อให้นักเรียนซื้อได้ ยังคงมีอยู่จนบัดนี้ เมื่อเวลาเสด็จพ่อเสด็จออกจากหอพระสมุดมีเงินค่าขายหนังสือเหล่านี้อยู่ที่หิรัญญิกถึง ๓๐,๐๐๐ บาท การรับคนทำงานนั้นทรงถือหลักว่าต้องมีงานที่ทำแล้วให้กรรมการดูว่าจะรับหรือไม่

เมื่อเสด็จอยู่มหาดไทยมีคนมาถวายตัวเสมอ ท่านทรงรับไว้ฝึกหัดเอง จนเห็นว่ามีความสามารถทำงานได้จึงส่งออกไปทดลองตามหัวเมือง แล้วขึ้นมาตามลำดับชั้น ครั้นเสด็จออกจากมหาดไทยแล้วก็ยังมีคนมาถวายตัวขอทำงานด้วย ท่านตรัสว่า "เวลานี้แก่เสียแล้ว ให้ดีอะไรใครไม่ได้ ไปหาที่พึ่งเอาใหม่เถิด แต่จะแนะนำให้ว่าอย่าไปดูภายนอกของเขา จงดูที่หัวใจว่าเขามีนรก-สวรรค์อยู่ในใจพอที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้หรือไม่" ถ้ากับคนที่ทำงานอยู่แล้ว ท่านตรัสว่า "ไม่ต้องมาประจบฉันดอก ไปประจบงานเขามากๆก็ดีไปเอง" การเสด็จตรวจโบราณสถานนั้นมีเสมอ ใกล้บ้างไกลบ้าง อย่างน้อยๆก็เสด็จกรุงเก่าและประทับอยู่ในพระราชวังโบราณกับเจ้าคุณโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาล อยู่ได้ตั้งสองสามชั่วโมง ถ้าเป็นเมืองไกลทรงสั่งเจ้าเมืองนายอำเภอไว้ให้บอกพวกนายพรานเดินป่าว่า ถ้าผู้ใดพบสถานโบราณวัตถุที่ใด ให้มารายงานจะได้รับรางวัลตามค่าของสถานที่นั้นๆ

บางครั้งกำลังวิ่งม้าไปในป่า ถ้าเจอะแผ่นหินเป็นรอยเกลี้ยงเกลาต้องหยุดม้าลงแงะงัดขึ้นมาดูว่ามีตัวอักษรหรือไม่ เราได้พบศิลาจารึกหลายแผ่น ถ้าพบแล้วต้องวยกขึ้นล้างถูด้วยแปรงจนดินที่อุดอยู่ในรอยต่างๆนั้นออกหมด แล้วเอากระดาษว่าวปะลงไปบนรอยจารึก เอาน้ำตบกระดาษแรงๆแล้วซ้อนกระดาษลงไปราว ๓ แผ่น พอรอยเด่นขึ้นมาแล้วก็ทิ้งตากแดดไว้ให้แห้ง แห้งสนิทแล้วเอาหมึกเจ๊กทาบนหน้ากระดาษเบาให้ทั่วแผ่น พอหมึกแห้งก็กระเทาะเอากระดาษออกจากหิน พื้นก็เป็นสีดำและตัวอักษรเป็นสีขาวเพราะกระดาษลงไปอยู่ในรอยจารึกไม่ถูกหมึก สิ่งแรกที่ตรัสถามโปรเฟสเซอร์เซเดส์ก็คือหลักศิลานั้นอายุเท่าไร ภาษอะไร เรื่องอะไร เพราะโปรเฟสเซอร์ผู้นี้ แก่อ่านภาษาขอม มอญ บาลี สังสกฤต ไทยได้ดี ถ้าไม่เป็นเรื่องที่จะค้นต่อก็ม้วนใส่กลักสังกะสี เอากลับมาแปลในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเคยช่วยเขาล้างเช็ดหลักศิลามาหลายอัน เวลาไปเห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงรู้สึกรักและคุ้นเคยกันมานาน บางคราวพอยกหินขึ้นจากดิน งูสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมก็วิ่งปรูดปราดออกมา ทำเอาเรากระโดดกันไปพักหนึ่ง หมอบอกข้าพเจ้าว่า "ฝ่าบาทหัดฉีดยาเสียหน่อยไม่ดีรึ" ข้าพเจ้าตอบว่า "เอฉันท่ามันจะแทงเนื้อใครไม่ลง เอาหมอเอายาไปด้วยดีกว่า" ก็เป็นอันตกลงกัน

หอพระสมุดในสมัยเสด็จพ่อทรงเป็นสภานายกนั้น มีหนังสือใหม่ๆออกพิมพ์เสมอ เพราะไม่มีใครได้อยู่เปล่าๆทุกคนต้องค้นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่เสมอ และมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ถึง ๕ คนคือ โปรเฟสเซอร์ เซเดส์ ค้นคว้าในทางตะวันตกประเทศ พราหมณ์ กุปตสวามี และพราหมณ์ ป. สาสตรี ค้นทางอินเดีย พระเจนจีนอักษร(สุดใจ) ค้นทางเมืองจีน มหาฉ่ำ ค้นทางเมืองเขมรในเรื่องที่เกี่ยวแก่เมืองไทย ทรงบอกไปยังหอสมุดต่างๆในโลกว่าถ้าใครพบเรื่องเกี่ยวกับไทยแล้ว ขอให้ส่งมาให้หอพระสมุดจะยินดีสมณาคุตามสมควร ด้วยเหตุฉะนี้จึงพบเรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จพ่อได้ทรงพระดำริทดลองจัดตั้งสมาคมวรรณคดีขึ้น โดยทรงเชิญผู้ที่มีงานทำให้เกิดประโยชน์แล้วมาเป็นกรรมการ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ของเรา และเชิญคนนอกมีหลวงพ่อฮีแลร์ ของร.ร.อัสสัมชัญและท่านอาจารย์พิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นต้น มาประชุมไต่ถามกันและกันตามปรารถนา เช่น หลวงพ่อฮีแลร์ ท่านบอกว่า "ขนมปังนั้นมาจากคำว่า Pain ของฝรั่งเศส" เป็นต้น ข้าพเจ้าก็พลอยได้พึ่งหนังสือ-ศาสนาคุณ ที่ได้รับพระราชทานรางวัลเข้าไปเป็นกรรมการด้วย แต่ท่านตรัสบอกไว้ว่าตอนนี้เป็นชั้นทดลอง "ถ้าตั้งติดได้เช่น French Academy ของเมืองปารีสแล้ว(๒) จะมีกรรมการจริงๆเพียง ๕๐ คน และจะต้องคัดเอาพระภิกษุกับผู้หญิงออกเป็นกรรมการพิเศษ ถเทได้อย่างนี้คำว่าราชบัณฑิยสภาก็จะอยู่ตลอดไป แม้พ่อตายแล้วงานก็ไม่สูญไปด้วย" เผอิญยังไม่ทันได้ตั้งเป็นทางการเพียงออกหนังสือรายปักษ์ได้ ๘ เล่ม ก็มีการเปลี่ยนแปลงปกครอง ราชบัณฑิตยสภาก็พลอยสูญไปโดยปริยาย ยังมีของอีก ๒ สิ่งที่เสด็จพ่อทรงค้างไว้ คือ ๑. หอรูป Picture Gallery ๒. หอจดหมายเหตุ National Archive

๑. หอรูป ได้ทรงจัดไว้เป็นแผนกๆคือรูปคน รูปสถานที่ รูปเหตุการณ์ และให้ไปขอร้านถ่ายรูปมาอย่างลบะ ๒ แผ่น ส่วนทางกระจกถ่ายรูปของหลวงในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ รวมทั้งของพระองค์ท่านเองก็เอาไปรวมไว้ในแผนกห้องรูปนี้ทั้งหมด ครั้นยุบร้านถ่ายรูปหลวงฉายาลักษณ์ท่านก็ให้ไปขอรับกระจกทั้งหมดมาไว้แห่งเดียวกัน ในเวลานี้ก็ยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์และได้พิมพ์จำหน่ายไปเรื่อยๆ ท่านได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า "นี่พ่อตั้งหอรูปไว้ให้นะ แต่อายุพ่อไม่สำเร็จต้องช่วยกันทำต่อไป" ข่าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อท่านผู้ใหญ่หลายครั้ง เผอิญท่านไม่เห็นความสำคัญของหอรูป การณ์จึงคงมีอยู่เท่าที่เป็นอยู่นี้ เมื่อเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์ไปใหม่ๆ เจ้าคุณอนุมานราชธน ได้มาวานให้ข้าพเจ้าและหญิงเหลือไปช่วยดูกระจกรูปที่หอรูปมีอยู่เพื่อจะจดลงไว้ว่าเป็นรูปใครและรูปอะไร เพราะถ้าหมดคนรู้จักแล้ว แม้พิมพ์ออกมาก็จะเป็นเพียงกระดาษเปล่าไม่มีค่าอะไรได้แต่เดา ข้าพเจ้าไปดูแล้วเห็นมีมากมายและขาวเป็นดำมำให้วิงเวียน จึงขอให้พิมพ์ลงในกระดาษเยก่อนแล้วจะจดชื่อลงไว้ข้างหลัง และทำบัญชีให้หยิบง่าย แต่ทำไปได้เพียง ๔๐ รูปก็หมดทุนซื้อกระดาจึงต้องหยุดทำแต่นั้นมา รู้สึกว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายนัก เพราะถ้าเรามีหอรูปดีๆแวจะเป็นประโยชน์ในทางทรรศนศักษาได้เป็นอย่างดี

๒. เรื่องหอจดหมายเหตุ ท่านตรัสว่า "เราหาหนังสือ หลักฐานทางราชการในสมัยก่อนๆลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก ๑๐๐ - ๒๐๐ ปี เด็กๆจะแต่งหนังสือเรื่องอะไรก็จะหาหลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ต้องลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ" ข้าพเจ้าทูลถามว่า "จะเอาหนังสือมาจากไหน" ท่านตอบว่า "สั่งไปตามกระทรวงว่าหนังสืออะไรที่พ้น ๒๕ ปีแล้วให้ส่งเข้าหอนี้ เราจ้างเด็กผู้หญิง(เพราะรายจ่ายต่ำด้วยไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว) ด้วยเงินเดือนน้อยมาเป็นผู้เลือกปีเลือกเรื่อง เข้าแฟ้มเรื่อยไปในไม่ช้าเราก็จะได้เรื่องติดต่อกันมาเป็นหลักฐาน แต่ก็เป็นเรื่องเช่นเดียวกับหอรูป คือยังไม่มีใครเห็นความสำคัญ หนังสือเก่าที่มีอยู่ก็อยู่ไปเรื่อยๆรอวันให้ปลวกฉลองพระเดชพระคุณชาติต่อไป

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวังหน้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และโปรดฯให้เสด็จพ่อทรงจัด วันที่ไปรับสถานที่จากทหารซึ่งอยู่ในตอนหลังพระที่นั่งนั้น ในบางห้องปิดไว้ไม่ได้ใช้ เต็มไปด้วยขี้ค้างคาวกลิ่นตลบอบอวลไปหมด ทางระเบียงพระที่นั่งก็หักพังหลังคาห้อยเป็นแห่งๆ เสด็จพ่อทรงพระดำเนินตรวจทั่วแล้วตรัสว่า จะไปขอเงินคลังก็ไม่ได้เพราะเขาจะต้องให้รอเพราะราชการด่วนยังมี แต่อายุพ่อมันไม่รอด้วย ต้องคิดหาสตางค์เอาเอง" ต่อมาวันหนึ่งท่านตรัสว่า "ลูกพูน พรุ่งนี้ทำน้ำชาไปมิวเซียมให้พ่อ ๒๐ คน พ่อจะเลี้ยงเพื่อนๆแล้วให้เธอไปรินน้ำชา" ถึงเวลาข้าพเจ้าก็ไปจัดโต๊ะที่สนามด้านเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เพราะแดดร่มตรงนั้น สักครู่ก็มีพวกพ่อค้าทั้งฝรั่ง แขก จีนเดินเข้ามาเป็นแถว ท่านก็ทรงเชิญไปนั่งโต๊ะกินน้ำชาจนอิ่มแล้ว ก็ตรัสกับเขาว่า "ในหลวงประทานที่วังหน้านี้ให้ฉันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติ จะไปขอเงินคลังเขาก็คงไม่ให้ ฉันก็แก่ลงทุกที กลัวจะไม่ได้ทำ แล้วก็นึกถึงพวกท่านว่า ท่านอยู่ในเมืองไทยมาช้านาน คงจะยินดีที่จะช่วยที่จะเห็นความเจริญของเมืองไทย จึงได้เชิญมาช่วยกันดูสถานที่ในวันนี้ ว่าเราจะต้องซ่อมแซมอะไรอย่างไรบ้าง และขอให้ช่วยเท่าที่ท่านจะช่วยได้เถิด" ทุกคนอมยิ้ม แต่มิสเตอร์ แมลคั่ม Malcom นายห้างบอร์เนียวพูดว่า เพิ่งได้พบผู้เชี่ยวชาญทางขอทานวันนี้เอง ทุกคนก็หัวเราะ แล้ว Mr. Malcom พูดอีกว่า "ขอตอนกินแล้วเสียด้วย เราจะไม่ให้ก็ไม่ได้" แล้วก็ทรงนำพวกแขกเดินดูทั่วๆไป แล้วต่างคนก็ต่างกลับด้วยความเบิกบาน ไม่ได้พูดอะไรกันอีก พอรุ่งเช้ารถยนต์ก็ขนไม้ ขนตะปู ซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคาและปูพื้น ฯลฯ เข้ามากองไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานอย่างเพียงพอ ท่านทรงพระสรวลแล้วเรียกนายอี๋ด หัวหน้าช่างไม้ในพิพิธภํณฑ์มาเป็นผู้ทำ ทรงกำชับว่าให้ใช้คนไทยทั้งหมดเพื่อให้รู้จักทำเป็น พิพิธภัณฑ์ของชาติจึงกลับบริบูรณ์ขึ้นได้โดยรัฐบาลมิได้ออกสตางค์ช่วยเหลือเลย

ภายหลังทรงขอคลังมาทำโรงเก็บราชรถได้ ๒๐,๐๐๐ บาท ด้วยทรงยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ให้จะลาออก เพราะตั้งพระทัยจะจัดเรื่องรถอย่างเมืองโปรตุเกส เมื่อสถานที่สมบูรณ์ดีแล้วก็เริ่มลงมือจัด ของเก่าที่มีอยู่โดยมาก คือนกสตั้ฟขนร่วงๆ และของที่โยนๆไว้ด้วยไม่มีใครเอาใจใส่เท่าใดนัก เสด็จพ่อทรงเห็นว่าคนไทยกำลังต่องการความรู้ในเรื่องตัวเองจึงทรงจัดไปทางช่วยการศึกษา มีห้องราชพิธีบนพุทไธสวรรย์ ห้องรูปทองแดงจัดเป็นสมัยๆในอิศราวินิจฉัย ฯลฯ ดังเห็นอยู่บัดนี้เป็นต้น ท่านทรงพระดำเนินบอกให้จัดให้จดเรื่องราวเองทุกๆเช้าจนถึงเวลาเสวยกลางวันจึงกลับวัง ถ้าขาดตู้ขาดโต๊ะท่านทรงเรี่ยไรจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ถ้าเป็นเรื่องศาสนาท่านทรงขอพระสงฆ์ จนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ท่านว่า "มีแต่เรี่ยไรคฤหัสถ์ นี่กลับตรงกันข้าม" แต่พระมหาเระท่านก็ช่วยให้ของและชี้แจงถวายแทบทุกองค์ เพราะท่านรู้ประโยชน์ส่วนรวมดี ส่วนของอื่นๆสิ่งไรไม่มีท่านก็ขนไปจากวังจนเกือบๆจะหมด แล้วท่านก็ทรงเล่นอย่างอื่น เช่นเก็บของปลอมไว้เป็นบทเรียนเป็นต้น มีเพื่อนฝูงพากันทักว่าของจากวังนั้นจะให้เลยได้แน่หรือ ถ้าพระองค์เองออกแล้วผู้ใดจะมาแทน ท่านจนต่อข้อทักท้วงจึงโปรดให้จดไว้ว่า ประทานยืม จนบัดนี้




 

Create Date : 20 มีนาคม 2550   
Last Update : 20 มีนาคม 2550 10:10:57 น.   
Counter : 5537 Pageviews.  


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชหัตถ์ขวา)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ




....................................................................................................................................................


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขัติยพิศาลสุรบดีบรมราชินีศรีพัชรินทรภราดร สโมสรอเนกนิติปรีชา มหาสุมันตยานุวัตรวิบูลย์ ไพรัชราชกิจจาดุลย์สุนทรปฏิญาณ นิรุกติญาณวิทยาคณาทิศาสตร์ โหรกลานุวาทนานาปกรณ์ เกียรติกำจรจิรกาล บริบูรณ์คุณสารสมบัติ สุจริตสมาจารย์วัตรมัทวเมตตาชวาธยาศรัย ศรีรัตนไตรสรณธาดา กัลยาณธรรมมิกนาถบพิตร ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑

แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามนั้น พระราชทานพระพรด้วยคาถาพระราชนิพนธ์ดังต่อไปนี้

เทวญฺญตโรทยวํโส............อิติ เสฏฺฐาภิเธญฺยโต
นามํ โหตุ กุมารสฺส............อมสฺเสว ปิยสฺส เม
รตนตฺตยเตเชน.................มยฺหญฺจ ปุญฺญเตชสา
อยํ ทีฆายุโก โหตุ.............กุมาโร มมปุตฺตโก
อโรโค สุขิโต โหตุ.............ยสวา ปริวารวา
สมนฺนาคโต จ โหตุ............ตถารูเปน เตชสา
ยถาสกํ รกฺเขยฺย................มาตรํ อญฺญโปสโต
กุลญฺจ อนุรกฺเขยฺย.............เปตฺติกมฺปิ อนาคเต ฯ


คำแปลคาถาพระราชนิพนธ์

"คำว่า เทวัญอุไทยวงศ์ จงเป็นนามแห่งกุมารนี้นี่แล ผู้เป็นที่รักของเราโดยเป็นนามาภิธัยอันประเสริฐ เพราะเดชแห่งพระรัตนตรัยด้วย เพราะเดชแห่งบุญของเราด้วย ขอกุมารผู้เป็นบุตรของเรานี้ จงมีอายุยืนนานมีความสุขสำราญ ไม่มีโรค มียศ มีบริวาร แลประกอบด้วยเดชเป็นปานนั้น พึงรักษามารดาของตนอย่างไร จากบุรุษอื่น แลพึงตามรักษาตระกูล แม้เป็นของบิดาไว้ในอนาคตกาลฯ"

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นที่๒ ในพระเจ้าลูกยาเธอที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งทรงสภาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดีพัชรินทรมาตาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นพระชนนี พระองค์ที่ ๑ พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรชัย ประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระองค์ที่ ๒ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ ประสูติเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน ประสูติเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถฯ ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระองค์ที่ ๖ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ ประสูติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘

พระโอรสธิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติในรัชกาลที่ ๔ ถ้าว่าโดยรุ่นพระชันษาเป็น ๓ ชั้น คือ ที่ประสูติแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ นับว่าเป็นชั้นใหญ่ได้โสกันต์ แลถ้าเป็นพระราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๔ แทบทั้งนั้น พระราชโอรสธิดาซึ่งประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ มาจนปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๔ นับว่าเป็นชั้นกลาง พอทรงพระเจริญวัย แต่ไม่ทันได้โสกันต์ในรัชกาลที่ ๔ พระราชโอรสธิดาซึ่งประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๕ มานับว่าเป็นชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๔ ยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้น สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการอยู่ในพระเจ้าลูกเธอชั้นกลาง เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ กำลังทรงเล่าเรียน พอประจวบการเปลี่ยนแปลงวิธีศึกษาของพระราชกุมาร อันเป็นเหตุข้อสำคัญในเรื่องพระประวัติเนื่องตลอดถึงที่ทรงรับราชการบ้านเมืองในสมัยต่อมา เพราะฉะนั้นควรจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาของเจ้านายในสมัยนั้นให้พิสดารสักหน่อย

อันการศึกษาของเจ้านานยและลูกผู้ดีมีสกุลแต่ก่อนมา โรงเรียนหรือวิทยาลัยอย่างเช่นเราเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้ยังหามีไม่ แต่ส่วนวิธีศึกษานั้น ถ้าจะว่าก็มีเป็นชั้นประถม มัธยมและอุดมศึกษา ทำนองเดียวกับระเบียบในปัจจุบัน กุลบุตรเริ่มเรียนวิชาเบื้องต้นแต่อ่านเขียนและจรรยามารยาท แล้วเรียนวิชาสามัญชั้นสูงขึ้นไป ที่สุดเรียนวิชาเฉพาะอย่างเป็นอาชีพ แต่สถานที่เล่าเรียนนั้นต้องไปศึกษาสำนักชีต้นอาจารย์ และผู้ชำนาญวิชาซึ่งประสงค์จะเล่าเรียน ให้ฝึกหัดสั่งสอนโดยเฉพาะตัวไปจนกว่าจะรอบรู้ชำนิชำนาญทำการเป็นอิสระได้โดยลำพัง เป็นประเพณีมีมาดังนี้แต่โบราณ ส่วนพระราชกุมารนั้น การศึกษาชั้นประถมทรงเล่าเรียนภายในพระบรมมหาราชวัง ในสำนักเจ้านายหรือกุลนารีที่รอบรู้เป็นอาจารินี ฝึกสอนแต่ยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์ ครั้นเจริญพระชันษาถึง ๗ ปี ๘ ปี ก็เริ่มทรงเล่าเรียนชั้นมัธยมศึกษา คือ เรียนภามคธเป็นต้น แลฝึกหัดขัตติยวิชาต่างๆ เช่นทรงม้าแลยิงปืนเป็นต้น ถึงชั้นนี้ทรงศึกษาต่ออาจารย์ผู้ชาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ฝึกสอนที่ในพระบรมมหาราชวังข้างฝ่ายหน้า ทรงร่ำเรียนไปจนโสกันต์ แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรไปประทับอยู่วัดพรรษาหนึ่งบ้าง นานกว่านั้นบ้าง ทรงศึกษาอักขรสมัยชั้นสูง แลพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเป็นที่สุดของชั้นมัธยมศึกษา ครั้นลาผนวชจะทรงปฏิบัติราชการทางใดก็ทรงศึกษาเฉพาะราชการทางนั้น ต่อท่านผู้ใหญ่ซึ่งชำนิชำนาญหรือได้บัญชาการนั้นๆ ไปจนทรงสามารถรับราชการได้โดยลำพังพระองค์ เป็นแบบแผนสืบมาดังนี้

การเปลี่ยนแปลงประเพณีศึกษาของเจ้านาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มก่อน เหตุด้วยทรงพระราชดำริเห็นโดยพระปรีชาญาณมาแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ว่าสยามประเทศนี้คงจะมีกิจการเกี่ยวข้องกับฝรั่งยิ่งขึ้นทุกที ความรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมฝรั่ง จะเป็นความต้องการของบ้านเมืองในวันหน้า จึงทรงพากเพียรเรียนภาษาอังกฤษต่อพวกมิชชันนารีอเมริกัน จนทรงสันทัดแต่ยังทรงผนวช แต่ผู้อื่นที่คิดเห็นดังพระราชดำริ หรือที่ได้อุตส่าห์พยายามตามเสด็จในการเรียนนั้นมีน้อย ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อมาไม่ช้าก็เกิดเกี่ยวข้องกับฝรั่งดังทรงคาดไว้ เหตุด้วยรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศมาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แลมีกงสุลต่างประเทศกับพ่อค้าเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้นทุกที จนกิจการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเป็นข้อสำคัญขึ้นในราชการแผ่นดิน

เพราะเหตุดังกล่าวมา เมื่อพระโอรสธิดาทรงพระเจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำหนดจะให้เรียนภาษาอังกฤษในชั้นมัธยมศึกษาทุกพระองค์ โปรดฯให้หาผู้ฝึกสอน ไดครูผู้หญิงมาจากเมืองสิงคโปร์คนหนึ่งชื่อ นางลีโอ โนแวน โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นเป็นที่แรกที่ภายในพระบรมมหาราชวัง พระโอรสธิดาที่เป็นชั้นใหญ่ได้ทันเข้าเล่าเรียนในโรงเรียนนั้น แต่นางลีโอ โนแวนสอนอยู่ไม่เต็ม ๓ ปีก็กลับไปเสีย หาตัวแทนไม่ได้จึงต้องเลิกโรงเรียนเสียคราวหนึ่ง แต่ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรียนรู้มากอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้จ้างหมอจันดเลมาสอนภาษาอังกฤษถวายในเวลาเมื่อทรงเสด็จออกไปประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนต่อมาตลอดจนรัชกาลที่ ๔ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงพยายามจัดการศึกษาของพระเจ้าน้องยาเธอทั้งปวงตามพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถฯ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕

แต่การศึกษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้น ขยายกว้างออกไปกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะเหตุได้เสด็จไปทอดพระเนตรวิธีการของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์แลเมืองชวาครั้งหนึ่ง ต่อมาได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่ประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่ง จึงโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับผู้ดีมีสกุลขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กซึ่งทรงจัดขึ้นใหม่ เพราะเจ้านายและบุตรหลสานข้าราชการสมัครฝึกหัดเป็นทหารอยู่มากด้วยกัน โรงเรียนที่ตั้งขึ้นครั้งนั้น เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแห่ง ๑ โปรดฯให้พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)เมื่อยังเป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษอังกฤษขึ้นอีกแห่ง ๑ ได้ครูอังกฤษชื่อนาย แฟรนซิส ยอช แปเตอรสัน มาเป็นอาจารย์ โปรดฯให้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอฯชั้นใหญ่ที่ยังไม่มีตำแหน่งราชการ กับทั้งพระเจ้าน้องยาเธอชั้นกลางชั้นเล็กซึ่งมีพระชันษาถึงเวลาเล่าเรียนชั้นมัธยม เข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแทบทั้งนั้น นอกจากพระเจ้าน้องยาเธอ ยังมีหม่อมเจ้าแลพวกผู้ดีที่เป็นนายทหารมหาดเล็กที่ โปรดฯให้เข้าเล่าเรียนในโรงเรียนภาษาอังกฤษก็อีกมาก ความที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีศึกษาในประเทศนี้ ซึ่งดำเนินสืบมาโดยลำดับจนเกิดกรมแลกระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาสำหรับประเทศปัจจุบันนี้ แต่นี้จะกล่าวถึงส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับพระประวัติ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการต่อไป

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงเล่าเรียนอักขรสมัยชั้นประถมในสำนักพระองค์เจ้าหญิงกฤษณา พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเริ่มทรงเล่าเรียนภาษามคธขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ในสำนักพระยาปริยัติธรรมดา(เปี่ยม) แต่ทรงพระเยาว์ไม่ทันจะได้เรียนภาษาอังกฤษเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงเล่าเรียนวิชาความรู้ชั้นมัธยมศึกษาต่อมา จนโสกันต์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อปีมะแม ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์แลเรียนอักขรสมัยชั้นสูงต่อมาในเวลาเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่นั้นจนตลอดพรรษา ได้ถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์ฉกษัตริย์ แล้วลาผนวชมาประทับอยู่ ณ ตำหนักข้างหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กับพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย ด้วยวังซึ่งพระองค์เจ้าอุณากรรณฯได้พระราชทานที่ใกล้สะพานถ่านยังสร้างไม่แล้ว แต่ต่อมาไม่ช้าสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้พระราชทานวังกรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ที่ริมแม่น้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์(อยู่ในบริเวณโรงเรียนราชินีบัดนี้) ทั้งสองพระองค์จึงหาแพจอดเป็นที่ประทับอยู่หน้าวังนั้น แต่พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยสิ้นพระชนม์เสียเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖

ขณะเมื่อ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการลาผนวชสามเณรนั้น พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยได้ทรงตำแหน่งเป็นนายร้อยตรีอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงทรงสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ได้ฝีกหัดอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กด้วยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่ามีพระปรีชาเฉลียวฉลาด และทรงเล่าเรียนรอบรู้เกินกว่าพระชันษาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่เพียงนั้น ก็ทรงพระเมตตาโปรดฯให้ตามเสด็จประพาสอินเดียในปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นรุ่นเล็ก ๒ พระองค์ด้วยกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเหตุให้ทรงชอบชิดสนิทเสน่หามาแต่ครั้งนั้น

ครั้นเสด็จกลับจากอินเดีย เมื่อโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง( ณ ตึกข้างประตูพิมานไชยศรี ที่ตั้งสำนักงานกรมพระคลังข้างที่บัดนี้) สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการก็ได้เข้าเป็นนักเรียนในชั้นแรก แต่ในชั้นนั้นนักเรียนมีมากด้วยกัน มีครูแต่คนเดียวจึงต้องแบ่งนักเรียนออกเป็นสองแผนกๆเจ้านายเรียนตอนเช้า แผนกนายทหารเรียนตอนบ่าย เจ้านายไม่ติดเล่าเรียนได้โอกาสได้เข้าเฝ้าแทนในตอนบ่ายเป็นนิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงใช้สอยสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการติดพระองค์ต่อมาในเวลาที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษอยู่นั้น แต่ส่วนโรงเรียนภาษาอังกฤษตั้งอยู่อย่างเช่นแรกตั้งเพียงสัก ๒ ปีเศษ นักเรียนร่วงโรยไป เพราะพระเจ้าน้องเธอที่เป็นชั้นใหญ่เสด็จไปมีตำแหน่งรับราชการต่างๆเสียเป็นลำดับมา พวกนายทหารมหาดเล็กเมื่อการทหารมีมากขึ้น เวลาที่จะเล่าเรียนภาษาอังกฤษก็น้อยลง

แลที่สุดนักเรียนที่เลิกเรียนไปโดยสิ้นความอุตสาหะก็ยังมีอีกพวกหนึ่ง นักเรียนลดน้อยลงจนครูคิดจะลากลับไป แต่สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แลพระเจ้าน้องยาเธอมีอีกบางพระองค์ ซึ่งทรงรักจะศึกษาต่อไปให้ตลอด จึงชักชวนครูแล้วกราบบังคมทูลฯขอให้ตั้งการฝึกสอน ณ ตำหนักหอเทพพิทย ที่ริมประตูศรีสุนทร(ตรงห้องเครื่องมหาดเล็กที่สร้างใหม่บัดนี้) อันเป็นที่ประทับของสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชในสมัยนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษต่อมาในชั้นนี้อีกปีเศษจึงเลิกเรียน เพราะต่างพระองค์ต่างไปมีตำแหน่งรับราชการตามกันโดยลำดับ

พระประวัติสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการตอนเสด็จเข้ารับราชการแผ่นดิน จะแสดงให้ทราบเรื่องชัดเจนจำจะต้องกล่าวถึงลักษณะราชการที่เป็นอยู่ในเวลานั้น พอเป็นเค้าความเสียก่อน เพราะสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเข้ารับราชการแผ่นดินในสมัยอันเป็นหัวต่อข้อสำคัญของพงศาวดารบ้านเมืองตอน ๑ แลได้ทรงมีหน้าที่กระทำการสำคัญของบ้านเมืองตั้งแต่แรกเสด็จเข้ารับราชการ ก็ลักษณะราชการตอนต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชันษาได้เพียง ๑๖ ปี ยังนับว่าอยู่ในเขตทรงพระเยาว์วัย จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์มา ๕ ปี เพราะฉะนั้นในระหว่างเวลา ๕ ปีนั้น ยังไม่ต้องทรงรับภาระราชการแผ่นดินทั่วทุกอย่าง จึงเสด็จไปประพาสทอดพระเนตรลักษณะการงานในนานาประเทศ แลทางจัดการแต่บางอย่าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเป็นข้อสำคัญถึงราชการบ้านเมือง ดังเช่นตั้งกรมทหารมหาดเล็กแลเริ่มจัดบำรุงการเล่าเรียนดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นต้น

จนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระชันษาพ้นเขตทรงพระเยาว์วัย เมื่อทรงผนวชแล้วจึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ทรงว่าราชการแผ่นดินรับผิดชอบเองต่อมา ราชการที่เป็นความลำบากอยู่ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็นพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับภาระว่าราชการแผ่นดินนั้น มีการพระคลังเป็นสำคัญ เหตุด้วยแต่ก่อนมาการเก็บภาษีอากรผลประโยชน์แผ่นดิน แยกย้ายกันอยู่ในกระทรวงต่างๆ แล้วแต่เจ้ากระทรวงจะจัดการเก็บ พระคลังมหาสมบัติเป็นแต่พนักงานรับเงินหลวงตามแต่ต่างกระทรวงจะส่งมา ผลประโยชน์ซึ่งควรได้สำหรับแผ่นดินรั่วไหลไปเสียทางอื่นเป็นอันมา แต่ส่วนการใช้จ่ายนั้นพระคลังมหาสมบัติต้งจ่ายเพิ่มรายการขึ้นทุกที ที่สุดเงินรายได้ก็ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลเป็นหนี้สินอยู่เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าว่าราชการแผ่นดิน จึงต้องทรงพระราชดำริแก้ไขความขัดข้องเรื่องการพระคลังก่อนอย่างอื่น ทรงหารือกับสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งอธิบดีพระคลังมหาสมบัติ จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ นั้น ให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากรในกระทรวงต่างๆขึ้นเป็นทีแรก อันเป็นต้นของกระทรวงพระคลังทุกวันนี้ แต่ในชั้นแรกเมื่อตั้ง ตัวพนักงานซึ่งสามารถทำงานให้ลุล่วงได้ดังพระราชประสงค์ยังมีน้อยไม่พอแก่การ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าการที่จัดจะไม่สำเร็จ จึงรับหน้าที่ส่วนการตรวจบัญชีต่างกระทรวงมาทรงทำเอง เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดฯให้จัดตั้งสำนักงานเรียกในครั้งนั้นว่า "ออดิต ออฟฟิศ" ขึ้นในพระราชมณเฑียรสถานใกล้ที่เสด็จประทับ แล้วทรงเลือกสรรผู้ช่วยพระราชธุระซึ่งทรงรับไปนั้น ได้กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งเพิ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นพระองค์ ๑ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเพิ่งทรงเล่าเรียนสำเร็จพระองค์ ๑ โปรดให้เป็นหัวหน้าพนักงาน ออดิต ออฟฟิศ มาแต่แรกตั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงทำการที่ออฟฟิศนั้นทุกวัน การก็สะดวกแก่พระราชธุระตลอดไปจนถึงราชการอย่างอื่นๆ จึงโปรดฯให้เจ้านายซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานในออดิต ออฟฟิศสนองพระเดชพระคุณช่วยพระราชธุระ อย่างเป็นราชเลขาธิการในราชการอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นจากการตรวจบัญชีคลัง และต่อมาไม่ช้าก็ทรงจัดออฟฟิศนั้นตั้งเป็นพนักงานราชเลขาธิการ เป็นต้นเดิมของกรมราชเลขาธิการทุกวันนี้ การตรวจบัญชีคลังคงเป็นแต่ส่วนหนึ่งของพนักงานราชเลขาธิการ

เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเข้ารับราชการมีตำแหน่งในออดิตออฟฟิศนั้น แม้พระชันษาได้เพียง ๑๗ ปี พระคุณวุฒิปรากฏแก่คนทั้งหลาย ว่าทรงพระปรีชาฉลาดเฉลียวแลรอบรู้ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษและวิชาเลข ในกระบวนที่ได้เล่าเรียนไม่มีผู้ใดจะเยี่ยมยิ่งกว่าในสมันนั้น ก็ผู้ที่รับราชการใกล้ชิดพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน มีรู้ภาษาอังกฤษคนเดียวแต่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งได้ไปเรียน ณ ประเทศอังกฤษเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เมื่อกลับมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเป็นนนายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรพิเศษในกรมพระอสาลักษณ์ รับราชการเป็นทำนองราชเลขาธิการฝ่ายภาษาต่างประเทศมาจนตลอดรัชกาล

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นตำแหน่งราชเลขาธิการ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาจางวางมหาดเล็ก แลเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย เมื่อสมเด็จฯพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสด็จเข้าไปรับราชการจึงมีผู้ที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ สำหรับทรงใช้สอยในการต่างประเทศเป็นสองขึ้นด้วยกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ก็แลราชการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเกิดเป็นการสำคัญมาแต่ในรัชการที่ ๔ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ลักษณะการที่เกี่ยวข้องนั้น เมื่อในรัชการที่ ๔ มีแต่เนื่องด้วยเหตุที่ฝรั่งต่างประเทศเข้ามาค้าขายในเมืองไทย กับเรื่องเขตแดนเป็นข้อสำคัญ มาถึงรัชการที่ ๕ การเกี่ยวกับฝรั่งเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือที่มีพระราชประสงค์จะตรวจค้นตำรับตำราของต่างประเทศเลือกเฟ้นแบบแผนมาใช้ในราชการต่างๆที่จะทรงจัดขึ้นในประเทศนี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ จึงได้ทรงมีหน้าที่รับราชการเกี่ยวเนื่องในการต่างประเทศ เพราะเหตุทรงคุณวุฒิเหมาะแก่การนั้นมาแต่แรกมีตำแหน่งรับราชการแผ่นดิน

แม้เมื่อมีตำแหน่งรับราชการแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ยังทรงพยายามเล่าเรียนต่อมาในเวลาว่างราชการ ทั้งวิชาภาษาไทยภาษาอังกฤษและวิชาเลข วิชาเลขนั้น ในตอนนี้ทรงศึกษาวิชาเลขตามวิธีไทยในสำนักขุนโชติพรหมา(เสริม)ในกรมโหรหลวงต่อมา จนทรงทราบวิชาโหรศาสตร์ อาจจะทำปฏิทินแลคำนวนสุริยุปราคาจันทรุปราคาได้ ภายหลังมาจึงทรงคิดวิธีปฏิทินไทยใช้ตามสุริยกาลขึ้นทูลเกล้าฯถวายและโปรดฯให้ใช้เป็นประเพณีของการบ้านเมืองแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ สืบมาจนบัดนี้ ในส่วนทางความรู้ฝ่ายต่างประเทศนั้น

ในตอนนี้ นายเฮนรี่ อาลบาสเตอร เข้ามารับราชการมีตำแหน่งอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เป็นที่ทรงปรึกษาหารือด้วยเนืองนิจ ผลของการที่ทรงพระอุตสาหะศึกษาหาความรู้ต่อมาโดยลำพังพระองค์ตอนนี้ เป็นเหตุเพิ่มพูลพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้นโดยลำดับมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นคุณวุฒิ แลทรงพระเมตตาสมเด็จฯกรมพนระยาเทวะวงศ์วโรปการเพียงใด มีแจ้งอยู่ในประกาศครั้งทรงตั้งเป็นกรมหมื่นฯดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า ไม่จำต้องพรรณาในที่นี้

ถึงพ.ศ. ๒๔๒๑ มีเหตุอริเกิดขึ้นในระหว่างรัฐบาลไทยกับนายทอมัส ยอชนอกส์ ผู้เป็นเอเย่นต์แลกงสุลเยเนราลผู้แทนรัฐบาลอังกฤษอยู่ในกรุงเทพฯ แลในสมัยนั้นตั้งแต่ไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลต่างประเทศเป็นแต่ตั้งกงสุลเป็นผู้แทนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมียศเพียงเป็นกงสุลเยเนราลเป็นอย่างสูง ฝ่ายไทยก็ยังหามีทูตไปอยู่ในต่างประเทศที่มีทางไมตรีไม่ การที่จะเจรจาว่ากล่าวกับรัฐบาลต่างประเทศใด ได้แต่พูดจากับกงสุลของประเทศนั้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดอริขึ้นกับกงสุล ไม่มีทางที่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลของกงสุลนั้นทราบความจริงได้ นอกจากแต่งราชทูตพิเศษออกไปยุโรป เมื่อในรัชกาลที่ ๔ มองสิเออร์อุบาเล็ต กงสุลฝรั่งเศสเคยมาประพฤติเกะกะขึ้นคราว ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นราชทูตพิเศษออกไปยังเมืองฝรั่งเศส

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อนายนอกส์ กงสุลเยเนราลอังกฤษประพฤติเกะกะขึ้น เสนาบดีปรึกษากันให้ทำตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษออกไปว่ากล่าวกับรัฐบาลที่เมืองอังกฤษ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปราชการครั้งนั้น ตำแหน่งราชเลขาธิการว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นราชเลขาธิการ ต้องรอการทรงผนวชเป็นพระภิกษุมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้ทรงผวชพร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามประเพณีพระเจ้าน้องยาเธอทรงผนวช สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว วัดราชประดิษฐ์เป็นพระกรรมวามจาจารย์ ทรงผนวชแล้วไปประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ์ แต่ในเวลานั้นราชการในหน้าที่ราชเลขาธิการมีมาก ทรงเกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงได้ความลำบาก จึงกราบถวายบังคมลาทรงผนวชแต่เพียง ๑๕ วัน พอมิให้ผิดขัตติประเพณีที่เคยมีมา เมื่อลาผนวชแล้วได้พระราชทานวังเดิมของพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยที่ใกล้สะพานถ่าน แลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักพระราชทาน ได้เสด็จประทับอยู่วังใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ แลต่อมาถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นฯ มีคำประกาศทรงยกย่องความชอบความดีในครั้งนั้นดังนี้


คำประกาศ


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๔ พรรษา ปัตยุบันกาลสัปปสังวัจฉรวิสาขมาส กาฬปักษ์เอกาทสีดิถี ศศิวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำรอว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ได้ทรงอุตส่าห์ร่ำเรียนวิชาทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษชำนิชำนาญ จึงได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตรากตรำมาแต่ทรงพระเยาว์จนเวลาบัดนี้ มีพระทัยจงรักภักดีต่อราชการ ประกอบด้วยความอุตสาหะพากเพียรมิได้ย่อหย่อน ทรงบังคับการงานสิ่งใดโดยซื่อตรงเที่ยงธรรมเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาช้านาน บัดนี้ทรงเจริญวัยวุฒิปรีชาฉลาดในราชกิจทั้งปวงทั่วถึง สมควรจะได้รับราชอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนตำแหน่งยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงเจริญพระชนมายุพรรณสุขพลปฏิญาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลธนสารสมบูรณ์อดุลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการเทอญ

ให้ทรงตั้ง เจ้ากรม เป็นหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๖๐๐

ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นภูบาลสวามิภักดิ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้ทรงตั้งสมุหบาญชี เป็นหมื่นรักษพยุหพลถือศักดินา ๓๐๐

ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงแลในกรมตามอย่างตามธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ตั้งแต่ ณ วัน ๒ฯ๑๑๖ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก ศักราช ๑๒๔๓ เป็นวันที่ ๔๕๗๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


..........................................................................



ถึงสมัยนี้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงรับราชการสองตำแหน่ง คือ ในตำแหน่งราชเลขาธิการ เป็นที่ทรงปรึกษาในราชการต่างประเทศด้วยตำแหน่งหนึ่ง มีตำแหน่งในกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้บัญชาการกรมบัญชีกลางด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ต้องแบ่งเวลาไปรับราชการที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ แล้วเข้าไปประจำราชการในสำนักงานกรมราชเลขาธิการเสมอทุกวัน เมื่อทรงรับราชการในตำแหน่งดังกล่าวมานี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงคิดอ่านการสำคัญให้สำเร็จดังพระราชประสงค์สองอย่าง คือ ในเรื่องตั้งราชทูตไทยไปประจำอยู่ในราชสำนักต่างประเทศเป็นทีแรก ได้เริ่มตั้งในประเทศอังกฤษเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ แล้วตั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆต่อมา ได้ผลตัดความลำบากซึ่งต้องเจรจาว่าขานกับกงสุลในกรุงเทพฯนี้ แล้วเลยเป็นเหตุให้นานาประเทศยกย่องเกียรติยศสยามประเทศตั้งราชทูตมาประจำในราชสำนักนี้เรื่อง ๑

ต่อมาถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้ทรงคิดอ่านเรื่องทำสัญญากับรัฐบาลอังกฤษให้มีวิธีการศาลต่างประเทศเข้ามาไว้ในอำนาจศาลไทยได้อีกเรื่อง ๑ การทั้งสองเรื่องนี้มิได้ปรากฎพระนามสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการในจดหมายเหตุราชการ เพราะเวลานั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดียังเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้จัดการแลทำหนังสือสัญญาตามรับสั่ง แต่ที่แท้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงขวนขวายแต่ต้นจนสำเร็จทั้งสองเรื่อง

ต่อมาถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เกิดปัญหาขึ้นถึงเรื่องผู้ที่จะเป็นแทน คนทั้งหลานเห็นกันโดยมากว่าไม่มีผู้ใดจะเหมาะกว่าสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริเห็นเช่นนั้น แต่หากยังทรงเกรงอยู่ว่าจะเกิดความครหา เพราะเหตุที่เสนาบดีในสมัยนั้นล้วนเป็นผู้ใหญ่สูงอายุ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการพระชันษาได้เพียง ๒๗ ปี คนทั้งหลายจะเข้าใจกันว่า ทรงตั้งแต่งเพราะความลำเอียงโดยทรงสพระเมตตาในส่วนพระองค์ ต่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์กราบบังคมทูลรับรอง จึงได้ทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรงต่างประเทศนั้น ประเพณีที่เป็นอยู่ในกระทรวงต่างๆ เสนาบดีเจ้ากระทรวงย่อมบัญชาราชการที่บ้านเรือนของตน เจ้าหน้าที่มีราชการอันใดก็นำไปเสนอแลรับคำสั่งที่บ้านเสนาบดี ยังมิได้ตั้งสำนักงานซึ่งข้าราชการในกระทรวงตั้งแต่ผู้ใหญ่จนผู้น้อยจะต้องไปพร้อมกันทำราชการตามเวลาอย่างทุกวันนี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการไม่ทรงเห็นชอบในประเพณีที่เป็นอยู่เช่นนั้นได้กราบบังคมทูลเมื่อจะทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้มีที่สำนักงานกระทรวงการต่างประเทศเหมือนกับประเทศอื่น จึงพระราชทานวังสราญรมย์ให้ยืมใช้เป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เป็นแรกที่จะมีศาลาว่าการกระทรวงฯซึ่งเสนาบดีต้องไปประจำทำการเหมือนกับข้าราชการผู้น้อยเป็นเยี่ยงอย่างขึ้นก่อน แล้วกระทรวงอื่นจึงได้จัดตามต่อมา ไม่ได้ตั้งสำนักงานอย่างเดียว ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระดำริจัดขึ้นเป็นที่แรกถึงระเบียบการในสำนักงานกระทรวง เช่นแบ่งหน้าที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดจนร่างเขียนแลเก็บจดหมายในราชการ ซึ่งใช้กันเป็นแบบอยู่ทุกกระทรวงในทุกวันนี้ ก็เป็นของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระดำริจัดขึ้นในครั้งนั้น กระทรวงอื่นรับแบบอย่างทำตามต่อมา แลที่สุดมีข้อสำคัญในพงศาวดารอย่างหนึ่ง ซึ่งควรกล่าวไว้ให้ปรากฏ คือที่สมเดจฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นเสนาบดีแรกที่เป็นผู้รู้ภาษาต่างประเทศ แต่ก่อนมาหาปรากฏเคยมีไม่

ถึงปีจอ พ.ศ ๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระเกียรติยศเป็นกรมหลวงฯ มีคำประกาศทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้


คำประกาศ



ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๙ พรรษา ปัตยุบันกาลโสณสังวัจฉร วิสาขมาส กาฬปักษ เอการสีดิถี ศุกรวาร ปุริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ มีความชอบเป็นอันมาก ได้ปรากฎอยู่ในประกาศเมื่อเลื่อนกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว จำเดิมแต่นั้นมาก็ได้ทรงพระอุตสาหะรับราชการต่างๆซึ่งเป็นราชการสำคัญใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นที่ได้ทรงปรึกษาหารือในราชกิจต่างประเทศแลการในพระนครเป็นอันมาก แต่ยังเสด็จดำรงอยู่ในที่ไปรเวตสิเกรตารีหลวง ก็ได้รับกระแสพระราชดำริมีหนังสือไปมากับคนต่างประเทศด้วยข้อราชการในส่วนพระองค์บ้าง ข้อราชการแผ่นดินบ้าง ระงับเหตุการณ์อันจะเป็นความลำบากในราชการให้เบาบางแลสงบระงับไปโดยมาก จนภายหลังได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศ จัดการในตำแหน่งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย สมควรแก้แบบอย่างราชการกรุงสยามในกาลก่อน แลอนุโลมตามแบบอย่างประเทศทั้งปวงในการซึ่งสมควรนั้น ราชการในกรมผู้ว่าการต่างประเทศก็สงบเรียบร้อยเป็นอันเบาพระราชหฤทัย แลเป็นคุณต่อราชการขึ้นเป็นอันมาก การซึ่งจะทรงพระดำริการอันใดย่อมดำรงอยู่ในความสุจริตยุติธรรมเป็นประธานที่ตั้ง ทั้งความซื่อสัตย์กตัญญูต่อใต้ละอองธุลีพระบาททั้งสองประการเจือกัน เพราะฉะนั้นการอันใดซึ่งจะทรงพระดำริย่อมเป็นคุณแก่ปวงชนทั่วหน้า แลเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เป็นการได้อย่างหนึ่งเสียอย่างหนึ่ง จะเป็นแบบบันทัดฐานของข้าราชการ ซึ่งจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปภายหน้า การซึ่งทรงประพฤติพระองค์อยู่พระอัธยาศัยแลความประพฤติพระองค์ทั้งปวงย่อมเหินห่างจากอคติทั้ง ๔ ประการ เบาบางจากความริษยาแลความกำเริบฟุ้งซ่าน โอบอ้อมอารีแลอ่อนน้อมทั่วไปในพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการทั้งปวง ประกอบไปด้วยพระสติปัญญากว้างขวางลึกซึ่ง สามารถในราชกิจใหญ่ยิ่งทั้งปวงทุกประการ ถึงว่ามีพระชนมายุน้อยก็ได้รับราชการในตำแหน่งอันใหญ่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งราชการในแผ่นดินและราชการในพระองค์ สมควรที่จะได้ดำรงพระเกียรติยศในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสั่งให้สภาปนาเลื่อนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณสุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลธนสารสมบูรณ์ อดุลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการเทอญ

ให้ทรงเลื่อนเจ้ากรม เป็นหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๖๐๐

ให้ทรงเลื่อนปลัดกรม เป็นขุนภูบาลสวามิภัดิ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้ทรงเลื่อนสมุหบาญชี เป็นหมื่นรักษพยุหพล ถือศักดินา ๓๐๐

ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงแลในกรมตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ตั้งแต่ ณ วัน ๖ฯ๑๑๖ ค่ำ ปีจออัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ เป็นวันที่ ๖๔๐๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้


..........................................................................



ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประเทศอังกฤษจะทรงฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปี ในงานใหญ่เช่นนี้เป็นประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดิน แลประธานาธิบดีต่างประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรไมตรี ถ้ามิได้ไปช่วยงานเองก้ย่อมแต่งเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่เป็นผู้แทนไปช่วยงาน แลในครั้งนี้เมื่อรัฐบาลอังกฤษบอกกำหนดงานมากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จไปช่วยงานฉลองราชสมบัติ ณ ประเทศอังกฤษแทนพระองค์ แล้วโปรดฯให้เสด็จไปยังประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวีเดน และไปถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าวิลเฮมที่ ๑ เอมปเรอเยอรมัน ณ ประเทศเยอรมันนีด้วย

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสด็จไปยุโรปครั้งนั้น นอกจากที่เป็นผู้แทนพระองค์แลไปเจริญทางพระราชไมตรีดังกล่าวมา ได้รับกระแสรับสั่งไปให้ทรงตรวจตราลักษณะการปกครองของนานาประเทศเป็นสำคัญด้วยอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเวลานั้นกระทรวงเสนาบดีที่ได้จัดการเป็นระเบียบเรียบร้อยตามสมควรแก่สมัยแล้ว มีแต่กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว กระทรวงอื่นๆยังคงทำตามแบบโบราณบ้าง ได้แก้ไขระเบียบการแต่เล็กน้อยบ้าง กระทรวงแลกรมซึ่งทรงได้จัดตั้งขึ้นใหม่นอกจากกระทรวงเสนาบดีก็มี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าถึงเวลาสมควรจะจัดกระทรวงเสนาบดีทั้งปวง ให้ทำหน้าที่ติดต่อเป็นรัฐบาลอันเดียวกันตามแบบแผนประเทศรุ่งเรือง จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงตรวจตราลักษณะการปกครองของนายนาประเทศ มาประกอบการที่ทรงปพระราชดำริ เพราะเหตุนี้ เมื่อเสร็จราชการในยุโรปแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงเสด็จกลับมาทางอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นด้วย แลเมื่อเสด็จมาถึงประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลญี่ปุ้นแสดงความประสงค์ที่จะให้ทางพระราชไมตรีในระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสยามกลับมีขึ้นรเหมือนแต่โบราณ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงทำหนังสือแสดงทางไมตรีมีกับญี่ปุ่นในเวลาเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงโตกิโอนั้น




 

Create Date : 19 มีนาคม 2550   
Last Update : 20 มีนาคม 2550 8:12:03 น.   
Counter : 11896 Pageviews.  


เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้ว

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น




พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)




....................................................................................................................................................


ตามทางสืบสวนได้ความว่า บรรพบุรุษของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)เป็นพราหมณ์ ชื่อศิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อยู่ในตำแหน่งราชปุโรหิต มีบุตรได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนเป็นที่ พระมหาราชครูพระราชปุโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ศรีบรมหงส์ องค์บุริโสดมพรหมทิชาจารย์

พระมหาราชครู มีบุตรปรากฏนามต่อมา ๒ คน คือ เจ้าพระยาพิศณุโลก(เมฆ) และเจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)

เจ้าพระยาพิศณุโลก(เมฆ) มีบุตรปรากฏนามต่อมา ๓ คน คือ
๑. เจ้าพระยานเรนทราภัย(บุญเกิด)
๒. เจ้าพระยาสุรินทรภักดี(บุญมี)
๓. เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)
ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช เป็นต้นสกุล "ศิริวัฒนกุล","จันทโรจวงศ์","บุรณศิริ","สุจริตกุล","ภูมิรัตน","ชัชกุล" รวม ๖ สกุล

เจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)มีบุตรธิดาปรากฏนามต่อมา ๖ คน คือ
๑. ญ.เลื่อน
๒. เจ้าพระยาพลเทพ(ทองอิน) ต้นสกุล "ทองอิน" และ"อินทรผล"
๓. กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์(มุก) ภัสดากรมหลวงนรินทรเทวี(กุ) ต้นสกุล "นรินทรกุล"
๔. ท้าวทรงกันดาร(ทองศรี)
๕. ญ.ทองเภา ไปอยู่พม่าเพราะถูกกวาดต้อนเมื่อคราวไทยเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ว่าเป็นพระราชมารดาพระเจ้าธีบอ
๖. เจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น)

เจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น)มีบุตรธิดาปรากฏนามต่อมา ๘ คน คือ
๑. เจ้าจอมปริก ในรัชกาลที่ ๑
๒. จมื่นเด็กชายหัวหมื่นมหาดเล็ก(แตงโม) ในกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๑
๓. เจ้าจอมปรางค์ ในรัชกาลที่ ๒
๔. เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)
๕. หลวงรามณรงค์(โต)
๖. พระยาพิชัยสงคราม(โห้)
๗. หลวงมหาใจภักดิ์(เจริญ)
๘. หลวงพิพิธ(ม่วง)
๙. คุณหญิงบุนนาคกำแหงสงคราม(ทองอิน อินทรกำแหง)

บุตรที่ ๔ คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)นั้นเกิดแต่ท่านผู้หญิงฝัก เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๒๐ เป็นปีที่ ๑๐ ในสมัยกรุงธนบุรี ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออกซึ่งบัดนี้นับเป็นเขตจังหวัดพระนคร ตอนเชิงสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทยทุกวันนี้

ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาอภัยราช(ปิ่น)นำนายสิงห์ บุตรชายขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศนสุนทร นายสิงห์ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความอุตสาหะพากเพียรสม่ำเสมอ ได้รับพระราชทานยศโดยลำดับจนเป็น จมื่นเสมอใจราช

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ แล้ว โปรดฯให้ย้ายไปรับราชการที่วังหน้า ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พระนายเสมอใจราช

ในระหว่างที่เป็นพระนายเสมอใจราชนี้เอง เคยต้องโทษครั้งหนึ่งเพราะต้องหาว่าพายเรือตัดหน้าฉาน ตามเรื่องมีว่า ตอนเช้าวันนั้นพนักงานได้จัดเทียบเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนไว้พร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังมิได้เสด็จลง หมอกกำลังลงจัดพระนายเสมอใจราช(สิงห์)มีธุระผ่านเรือไปทางนั้นในระยะไม่ห่างเพราะหมอกลงคลุมขาวมัวไปหมด ในที่สุดก็ถูกจับไปลงพระราชอาญาจำอยู่ที่ทิมในพระราชวังหลวง แต่อาศัยพระอนุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร ได้ทรงพระกรุณาช่วยให้พ้นโทษโดยเร็ว

เมื่อพระนายเสมอใจราช(สิงห์)พ้นโทษแล้ว ได้รับราชการในตำแหน่งเดิมอีก ต่อมาได้รับพระราชทานบรรศักดิ์เป็นพระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวร

พระยาเกษตรรักษา(สิงห์)เป็นผู้มีนิสัยขะมักเขม้นทั้งในทางราชการ และในการทางบ้าน เมื่อว่างจากราชก็ดำริการค้าขาย พยายามต่อสำเภาแต่งออกไปค้าขายยังเมืองจีน สิ่งที่ขายได้ผลดีมากคือเศษเหล็ก จัดหาซื้อส่งไปขายเป็นจำนวนมาก สถานที่ตั้งต่อสำเภาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอู่ตะเภา ก็คือที่บริเวณวัดตึกทุกวันนี้ การค้าขายได้กำไรดี ทางราชการก็เจริญดีเรื่อยมาจนต้องโทษเป็นครั้งที่ ๒

ราชการสำคัญของพระยาเกษตรรักษา(สิงห์)ที่ต้องปฏิบัติในระหว่างนี้ก้คือการนา ได้ออกไปควบคุมการทำนาหลวงอยู่เนื่องๆ ในที่สุดต้องหาว่าไปตั้งค่ายคูอย่างทำศึก และประกอบกับการที่ค้าขายเศษเหล็กเป็นส่วนตัวอยู่ด้วย น่าระแวงว่าจะสะสมเหล็กทำอาวุธบ้างกระมัง จึงถูกนำตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ได้อาศัยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเป็นครั้งที่ ๒ เหมือนกัน ซึ่งเวลานั้นยังเป็นรัชกาลที่ ๒ พระองค์อยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ และทรงบัญชาราชการสำคัญหลายอย่าง ทรงอนุเคราะห์พระยาเกษตรรักษา(สิงห์) แม้จะต้องโทษถูกจำอยู่ก็ผ่อนหนักเป็นเบาตลอดมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๒

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาให้พระยาเกษตรรักษา(สิงห์)พ้นโทษ และต่อมาโปรดฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นในกิจการสำคัญของชาติ จนปรากฏเกียรติคุณประจักษ์อยู่ในพระราชพงศาวดารเป็นต้น

ถึง พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าอนุวงศ์ นครเวียงจันทร์คิดการกบฎยกกองทัพจู่โจมเข้ามายึดนครราชสีมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปทางสระบุรี แล้วโปรดฯให้กองทัพยกไปทางเมืองปราจีนบุรี เพื่อรุกเข้าทางช่องเรือแตกอีก ๔ ทัพ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เป็นแม่ทัพหน้า

พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เดินทัพถึงเมืองสุวรรณภูมิพบกองทัพเจ้าโถง นัดดาพระเจ้าอนุวงศ์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ริมเมืองพิมายก็ยกเข้าตีถึงตะลุมบอน ทัพเจ้าโถงรับไมหยุดก็แตกกระจายไปสิ้น เมื่อได้ชัยชนะแล้วพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เคลื่อนกองทัพไปตั้งอยู่เมืองขอนแก่น แล้วยกไปตีค่ายเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตกอีก จึงหยุดพักพลอยู่ ณ เมืองยโสธร เพื่อสะสมกำลังสำหรับยกไปปราบนครจำปาศักดิ์ต่อไป ฝ่ายเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ตั้งค่ายอยู่เมืองศรีสะเกษ ได้ทราบข่าวว่าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จะยกกองทัพตัดตรงไปนครจำปาศักดิ์ ก็รีบยกมาตั้งรับที่เมืองอุบลราชธานี และให้เจ้าปานและเจ้าสุวรรณอนุชาทั้งสอง ยกทัพมาตั้งยันทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่ที่แดนเมืองยโสธร พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็เคลื่อนกองทัพออกตีทัพเจ้าปานและเจ้าสุวรรณแตก แล้วตามตีทัพเจ้าราชบุตร ณ เมืองอุบลราชธานี ฝ่ายไทยชาวเมืองอุบลราชธานีที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเจ้าราชบุตร เมื่อทราบว่ากองทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปถึง ก็พร้อมกันก่อการกำเริบฆ่าฟันพวกเจ้าราชบุตรล้มตายเป็นอลม่านขึ้นในค่าย กองทัพพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็ตีโอบเข้ามา เจ้าราชบุตรเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็พาพรรคพวกหนีไปนครจำปาศักดิ์ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)รีบยกกองทัพติดตามไปไม่ลดละ

ฝ่ายครัวเมืองต่างๆทางเจ้าราชบุตรกวาดไปรวมไว้ในนครจำปาศักดิ์ทราบขจ่าวว่ากองทัพเจ้าราชบุตรเสียที จึงพร้อมกันก่อการกำเริเบเอาไฟจุดเผาบ้านเรือนในนครจำปาศักดิ์ไหม้ขึ้นเป็นอันมาก เจ้าราชบุตรเห็นดังนั้นจะเข้าเมืองมิได้ก็รีบหนีข้ามฟากแม่น้ำโขงไปทางตะวันออก พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็ยกกองทัพเข้าไปตั้งมั่นในนครจำปาศกดิ์ และให้กองตระเวนออกสืบจับพวกเจ้าราชบุตร ได้ตัวเจ้าราชบุตร เจ้าปาน เจ้าสุวรรณ มาจำไว้ แล้วเดินทัพมาตั้งอยู่เมืองนครพนม พอทราบข่าวว่าทัพหลวงกรมพระราชวังบวร จะเสด็จกลับกรุงเทพฯจึงรีบเดินทางมาเฝ้ากราบทูลชี้แจงข้อราชการ กรมพระราชวังบวรก็โปรดฯให้พระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่จัดการบ้านเมืองทางภาคอีสานจนกว่าจะสงบเรียบร้อย

ครั้นกรมพระราชวังบวรเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯก็กราบทูลความดีความชอบของพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ที่เข้มแข็งในการสงคราม สามารถปราบปรามกบฎให้พ่ายแพ้ลงได้โดยเร็ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้มีตราขึ้นไปเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เวลานั้นอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๑

เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) จัดการบ้านเมืองตามท้องถิ่นให้สงบลงตามสมควรแล้ว ให้เพี้ยเมืองจันทน์อยู่รักษานครเวียงจันทน์พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการ จึงพาเจ้าอุปราชลงมาเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯในปลายปีนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ผู้ว่าที่สมุหนายกเชิญไปสร้างพระวิหารประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส

รุ่งขึ้นปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ โปรดฯให้เจ้าพำระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ผู้ว่าที่สมุหนายก ยกกองทัพไปนครเวียงจันทน์อีก

เมื่อไปถึงหนองบัวลำภู เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ก็แต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดให้เปลี่ยนราชทินนามนี้เป็น"บรรเทาทุกขราษฎร์" เมื่อปีฉลูเบญจศก--กัมม์) หลวงสุเรนทรวิชิต เป็นกองหน้าคุมทหาร ๕๐๐ คน ยกล่วงหน้าขึ้นไปตั้งอยู่พันพร้าวก่อน ครั้นกองหน้าไปถึงพันพร้าว ได้ทราบข่าวเพี้ยกรมการที่ให้อยู่รักษานครเวียงจันทน์ มีกิริยาอาการผิดปกติอยู่บ้าง พระยาราชรองเมืองไม่ไว้ใจแก่เหตุการณ์จึงจัดให้พระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต แบ่งกำลัง ๓๐๐ คน ยกข้ามไปตั้งฟังราชการอยู่ที่นครเวียงจ้นทน์

ฝ่ายพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวน ญวนอุดหนุนและนำมาส่งยังนครเวียงจันทน์ พร้อมทั้งมีกำลังในอาณาเขตเวียงจันทน์ประมาณ ๑,๐๐๐ คน พวกญวนราว ๘๐ คนเศษ พระเจ้าอนุวงศ์ทำเป็นทียอมสารภาพรับผิดแสดงไมตรีจิตกับนายทัพนายกองไทยเป็นอย่างดี จนนายทัพนายกองไทยหลงเชื่อว่าพระเจ้าอนุวงศ์จะไม่เป็นปรปักษ์อีก พอรุ่งขึ้นเพลาบ่าย ๔ โมง พระเจ้าอนุวงศ์ก็ยกพวกเข้าล้อมยิงกองพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ซึ่งตายใจมิได้ระวังคุมเชิงไว้ พลทหารอยู่บ้างไม่อยู่บ้าง ในที่สุดก็แตกเสียทีแก่พระเจ้าอนุวงศ์ทั้งนายทั้งพลถูกฆ่าตายเกือบหมด ที่พยายามหนีลงน้ำจะว่ายข้ามฟากมา ก็ถูกพวกเจ้าอนุวงศ์ลงเรือตามฆ่าฟันย่อยยับ ได้เหลือรอดตายว่ายน้ำหนีมาได้คือ หมื่นรักษานาเวศกับพลทหารเพียง ๔๐ เศษ

เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ได้ทราบว่าพวกญวนพาพระเจ้าอนุวงศ์กลับมานครเวียงจันทน์ ก็รีบเดินทัพไปพอถึงค่ายพันพร้าวบ่าย ๓ โมง ก่อนหน้าที่พระเจ้าอนุวงศ์จะลงมือล้อมยิงกองพระยาพิชัยสงครามเพียงชั่วโมงเดียว เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เห็นชาวเวียงจันทน์กลุ้มรุมฆ่าฟันที่หาดทรายหน้าเมืองก็เข้าใจว่ากองพระยาพิชัยสงครามคงเป็นอันตราย เป็นเวลาจวนตัวจะรีบยกกองทัพข้ามไปช่วย เรือก็ไม่มี ทั้งกำลังคนก็ยังน้อย พอเวลาค่ำหมื่นรักษาเทเวศมารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนเเย็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จะตั้งรับอยู่ที่ค่ายพันพร้าวทหารก็น้อยตัว จะถอนมานครราชสีมาก็ไกลนัก พระยาเชียงสาเรียนว่า เมืองยโสธรผู้คนข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ รับอาสาจะนำเดินทางลัดก็ตกลงออกเดินทางจากค่ายพันพร้าวในคืนวันนั้น มุ่งตรงไปยังเมืองยโสธรทันที

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ เมื่อสังหารกองพระยาพิชัยสงครามวอดวายแล้ว ทราบว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปตั้งอยู่ค่ายพันพร้าว ก็จัดให้เจ้าราชวงศ์รีบยกกองทัพข้ามฟากมาล้อมจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ครั้นเจ้าราชวงศ์ยกมาและทราบว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ยกไปเมืองยโสธรเสียแล้ว เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ก้เร่งกองทัพออกตามไปโดยเร็ว

วันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ได้ทราบว่าเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ยกทัพตามมา จึงรีบจัดกองทัพยกไปต่อสู้ กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บกหวาน ต่างบุกบั่นสู้รบถึงตะลุมบอน บังเอิญม้าของเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เหยียบคันนาแพลงล้มลงทับขาเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ทันใดนั้นพอดีเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ขับม้าสะอึกเข้าไปถึง จึงเอาหอกแทงปักตรงกลางตัวเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)รู้ท่วงทีอยู่ก่อนแล้วจึงเบ่งพุ่งลวงตาเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์เมื่อหอกพุ่งปร๊าดลงไป เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)แขม่วท้องแล้วเอี้ยวหลบปลายหอกแทงเฉี่ยวข้าง เสียดผิวท้องถูกผ้าทะลุ หอกก็ปักตรึงอยู่กับดิน เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์จะดึงหอกขึ้นแทงซ้ำ แต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)จับคันหอกยึดไว้ แล้วพยายามชักมีดหมอประจำตัวจะแทงสวนขึ้นไป เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ดึงหอกไม่ได้สมประสงค์จึงชักดาบที่คอม้าออก เงื้อจะจ้วงฟันเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ฝ่ายหลวงพิพิธ(ม่วง)น้องชายเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เห็นดังนั้น จึงกระโจนเข้ารับดาบเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ เสียทีถูกเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ฟันขาดใจตายทันที ขณะที่เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์กำลังจ้วงฟันอยู่นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ชักมีดหมอออกทัน และได้ทีก็แทงสวนขึ้นไปถูกโคนขาเจ้าราชวงศืเวียงจันทน์ เป็นแผลลึกและตัวเจ้าราชวงศืเวียงจันทน์ก็ผงะตกจากหลังม้าเลือดสาดแดงฉาน พวกมหาดเล็กเข้าใจว่านายตาย รีบช่วยกันประคองเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์จัดการหามหนีไปโดยเร็ว

ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ให้จัดการบาดแผลเรียบร้อยเเล้ว เร่งทหารให้รีบตามกองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ไปทันที ตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขงก็ไม่ทัน จึงเดินทางไปตั้งพักอยู่ที่พันพร้าว

การที่เจ้าราชวงศ์ต้องถอยหนีคราวนั้น เป็นผลให้ชาวเวียงจันทน์เข็ดขยาดกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)เป็นอันมาก แม้จนพระเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่คิดต่อสู้อีก พระเจ้าอนุวงศ์รีบจัดแจงพากันหนีไปจากนครเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น

กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์) เดินไปถึงเมืองพันพร้าวภายหลังเมื่อพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปแล้ววันหนึ่ง จึงแบ่งกำลังยกไปตามจับโดยเร็วที่สุด จับได้เจ้านายบุตรหลานพระเจ้าอนุวงศ์มาหลานองค์ ทราบว่าพระเจ้าอนุวงศ์หนีไปทางเมืองพวน ก็เร่งให้กองทหารรีบตามไปจับให้ได้ ถึงเดือนธันวาคม เมืองพวนช่วยกับเมืองหลวงพระบางพยายามตามจับพระเจ้าอนุวงศ์ส่งมาให้ จับได้ที่น้ำไฮเชิงเขาไก่แขวงเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)อยู่จัดราชการจนเรียบร้อยตลอด เห็นว่าเป็นที่วางใจก็กลับลงมาเฝ้ากราบทูลข้อราชการใน พ.ศ. ๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาสถาปนา เจ้าพระยาราชสุภาวดี(สิงห์)ขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก เวลานั้นท่านอายุย่างขึ้นปีที่ ๕๓

เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สมุหนายก รับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในพระนครเพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๗๕ ก็โปรดฯให้ออกไปราชการที่เมืองพัตบอง รุ่งขึ้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ไทยจำเป็นต้องรบกับญวน(ดังปรากฏเหตุการณ์ตามที่กรมศิลปากร ทำบันทึกประจำปีลงไว้ให้ทราบ มีแจ้งอยู่ในจดหมายเหตุต่อไปนี้) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สมุหนายกเป็นแม่ทัพใหญ่ ผู้สำเร็จราชการ ยกไปรบกับญวนขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖

ในระหว่างที่ไปบัญชาการรบอยู่ ณ เมืองพัตบอง พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง ศรีเพ็ญ)แต่งให้หมื่นจงอักษร คุมเอาของกิน ๕๐ ชะลอมส่งไปให้ เป็นการแสดงไมตรีจิตตามฉันผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)นอกจากจะตอบขอบใจตามธรรมเนียมแล้ว ยังแสดงความรู้สึกอันจริงใจให้พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง ศรีเพ็ญ)ทราบอีกว่า การของกินนั้นอย่าให้ส่งเสียเป็นธุระอีกเลย ถึงจะบรรทุกเกวียนไปเท่าใดก็หาพอไม่ ด้วยนายทัพนายกองมากต้องเจือจานไปทุกแห่ง เป็นนิสัยไปราชการทัพก็ต้องอดอยากเป็นธรรมดา ให้พระยาศรีสหเทพตั้งใจแต่ที่จะตรงราชการ กับให้บอกกระแสพระราชดำริออกไปให้รู้เนืองๆจะได้ฉลองพระเดชพระคุณให้ถูกกับพระราชดำริ

บางปีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)ได้กลับเข้ามาเฝ้ากราบทูลข้อราชการด้วยตนเองบ้าง และในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกไปบัญชาการทัพที่เมืองพัตบอง บางคราวต้องไปทำการสำรวจกำลังพลตามท้องถิ่น เช่นทางภาคอีสานจะได้ทราบจำนวนที่ใกล้ความจริง เป็นประโยชน์ในราชการต่อไป

เจ้าพระบดินทรเดชา(สิงห์)ต้องไปตรากตรำในการสู้รบกับญวน เพื่อป้องกันเขมรมิให้ถูกญวนกลืนเสียตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ จนถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ ในที่สุดญวนขอผูกไมตรีอย่างเดิม ฝ่ายไทยเห็นว่าได้ช่วยเขมรให้กลับมีราชวงศ์ปกครอง และมีอำนาจในการรักษาประเทศเขมรอย่างแต่ก่อน ไม่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาญวนอยู่ในลักษณะเป็นเมืองขึ้นของไทย ฟังพระราชกำหนดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร เป็นแต่ถึงกำหนด ๓ ปีนำบรรณาการไปออกแก่ญวนครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำแนะนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)

จึงโปรดฯให้รับเป็นไมตรีกับญวน และให้มีตราไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ปรารภข้อราชการตามสมควร แล้วแจ้งความรู้สึกส่วนพระองค์ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมร เข้าพระทัยว่าทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้มา กลับมาสมคิดสมหมายง่ายๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)คิดราชการถูก อุตส่าห์พากเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา "ออกไปลำบากตรากตรำ คิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบญจศก ช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทร ไม่เห็นเกาะไม่เห็นฝั่ง พึ่งมาได้ขอนไม้น้อยลอยมา ได้เกาะเป็นที่ยึดที่หน่วงว่ายเข้าหาฝั่ง" (ดูตราฉบับลงวันพุธเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๐๙)

เมื่อได้จัดการพิธีราชาภิเษกพระองค์ด้วง เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ตามพระราชโองการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินเดชา(สิงห์)ก้เดินทางกับมาประเทศสยาม ณ วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ ในระหว่างนั้นเกิดจีนตั้วเหี่ยก่อการกำเริบขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)จึงแวะช่วยทำราชการปราบปรามจนสงบ แล้วเข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ

ความอ่อนแอซึ่งมีมาแต่ก่อนจนถึงสมัยนั้น ได้ทำความหนักใจให้แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)เป็นอันมาก จนท่านต้องใช้ความเฉียบขาดเป็นหลักในการบังคับบัญชา จึงได้ผลคือทำการปราบปรามกบฎพระเจ้าอนุวงศ์นครเวียงจันทน์ และช่วยป้องกันเขมรจากญวน สำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเกียรติคุณมาสู่ทหารไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังน่าเสียใจอยู่บ้างว่า ท่านต้องใช้เวลานานเกินสมควร และขาดผลสำคัญที่น่าจะได้ยิ่งกว่าที่ได้แล้วอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะความอ่อนแอของนายทัพนายกองเป็นเหตุให้ต้องยืดเวลาเยิ่นเย้อออกไป และตัดทอนความไพบูลย์ของผลสำเร็จลงเสียไม่น้อยนั่นเอง เนื่องจากลักษณะที่กล่าวมาในลักษณะตรงกันข้าม เป็นอันพิสูจน์ให้เห็นความมั่นคงของบ้านเมืองได้ประการหนึ่งว่า สยามจะยั่งยืนในเอกราชได้ก็ต้องกำจัดมูลรากของความอ่อนแอให้หมดไปเสีย

นอกจากจะทำประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแก่บ้าเมืองแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห)ยังได้พยายามทะนุบำรุงการพระศาสนา เช่นบูรณะปฎิสังขรณ์หรือสร้างวัด แม้ในระหว่างไปราชการทัพก็ยังเป็นห่วงถึง บางคราวได้ขอร้องให้พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง เพ็ญศรี)ช่วยเป็นธุระให้บ้าง

รวมวัดที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้ปฎิสังขรและสร้างใหม่ คือ

๑. ปฏิสังขรวัดจักรวรรดิราชาวาส(เดิมเรียกวัดสามปลื้ม) และสร้างพระปรางค์กับวิหารพระบางที่เชิญมาจากนครเวียงจันทร์(พระบางนั้นเดิมอยู่ที่นครเวียงจันทร์ ครั้งกรุงธนบุรีทำสงครามกับนครเวียงจันทร์มีชัยชนะ จึงเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้มีการสมโภชพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นั้นพร้อมกับฉลองชัยชนะของบ้านเมือง เป็นงานมโหฬารยิ่ง เมื่อวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๒ ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระเจ้านันทเสน นครเวียงจันทร์ ขอพระราชทานพระบางกลับคืนไปนครเวียงจันทร์ ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสร็จการปราบกบฏพระเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์แล้ว จึงเชิญพระบางกลับลงมาอีก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)สร้างวิหารประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานกลับไปประดิษฐานที่นครหลวงพระบาง แล้วโปรดให้เชิญพระนาคจากหอพระในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานไว้ในวิหารนั้นแทนพระบาง วัดจักรวรรดิราชาวาสสืบมาจนทุกวันนี้)

๒. ปฎิสังขรณ์วัดพรหมสุรินทร์ จังหวัดพระนครในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดปรินายก และทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา

๓. ปฏิสังขรณ์วัดช่างทอง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านผู้หญิงฝักผู้เป็นมารดาได้สร้างไว้ อยู่ที่เกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๔. ปฏิสังขรณ์วัดวรนายกรังสรร(เขาดิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๕. สร้างวัดเทพลีลา ในคลองบางกะปิ ชาวบ้านเรียกว่าวัดตึกบ้าง วัดตึกคลองตันบ้าง ได้ยินว่าวัดนี้สร้างในระหว่างไปทำสงครามขับเคี่ยวกับญวน เมื่อต้องขุดคลองบางกะปิและทำนาไปตลอดทางเพื่อสะสมเสบียงกองทัพ และเพื่อความบริบูรณ์ของบ้านเมืองในเวลาต่อมาด้วย จึงถือโอกาสให้ทหารในกองทัพได้ร่วมกันสร้างวัดเป็นที่ยัดหน่วงในการทำศึก และปลูกกำลังใจในการต่อสู้เพื่อรักษาพระศาสนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก

๖. ยกที่บ้านถวายเป็นวัด แล้วสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเสนาสนะพร้อม มีชื่อว่าวัดไชยชนะสงครามแต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวัดตึกจนทุกวันนี้ อยู่ตรงข้ามกับเวิ้งนครเขษมใกล้สี่แยกวัดตึก จังหวัดพระนคร

นอกจากนี้ยังสร้างวัดที่เมืองพัตบอง และเมืองอุดงมีชัยเป็นต้น อีกทั้งได้ช่วยทะนุบำรุงการพระศาสนาในประเทศเขมร ได้สืบต่อศาสนวงศ์มาจนสมัยปัจจุบันนี้

ปีที่กลับจากประเทศเขมรนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)มีอายุย่างขึ้น ๗๒ ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อมา ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ก็ถึงอสัญกรรมด้วยโรคปัจจุบัน(อหิวาตกโรคซึ่งบังเกิดชุกชุมในปีนั้น) รุ่งขึ้นปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระราชทานเพลิงศพวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ที่เมรุผ้าขาว ณ วัด สระเกศ(แต่ในพงศาวดารว่าเป็นวันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม)

รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ซึ่งมีอยู่ในเก๋งจีนข้างพระปรางค์วัดจักรวรรดิราชาวาส(วัดสามปลื้ม)นั้น พระพุฒาจารย์(มา)ไปถ่ายมาจามเมืองเขมรอีกต่อหนึ่งแล้วจัดการหล่อขึ้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ เมื่อองหริรักษ์(นักองด้วง)พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)ถึงอสัญกรรมแล้ว องหริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตรทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย(เมืองหลวงเก่าเมืองเขมร)แล้วให้พระภิกษุสุกชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์ด้วยปูนเพชร และประกอบการกุศลมีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้งที่เก๋ง ชาวเขมรเรียกว่า"รูปองบดินทร"ตลอดมาจนบัดนี้ รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๒

การถ่ายอย่างรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชามาหล่อไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาสนี้ เนื่องด้วยพระพุฒาจารย์(มา)เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพยมุนี ระลึกถึงอุปการคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้ความเจริญเรียบร้อยแก่วัดจักรวรรดราชาวาสมาโดยเอนกประการ นับว่าเป็นอนุสาวรีย์สำคัญที่วัดจักรวรรดิราชาวาสระลึกถึงคุณความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ซึ่งมีต่อบ้านเมืองและพระศาสนา แล้วร่วมใจกันสร้างขึ้นไว้เป็นทำนองปฏิการคุณโดยปริยาย ซึ่งขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงอสัญกรรมพระพุฒาจารย์ยังเป๋นสามเณรอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสนี้ ทันได้เห็นกิจการบูรณะของท่านด้วยดีทุกอย่าง จึงได้ให้คนไปวาดเขียนถ่ายอย่างรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมรมาให้นายเล็กช่างหล่อจัดการหล่อขึ้น ขณะที่ปั้นหุ่นรูปได้อาศัยช่างเขียน และท่านทองภรรยาเจ้าพระยายมราช(แก้ว)ซึ่งมีอายุทันได้เห็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ช่วยกันติชมแก้ไขเห็นว่าเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว จึงได้จัดการหล่อขึ้น ประจวบกับพระพุฒาจารย์มีอายุครบ ๕ รอบ( ๖๐ ปี)จึงได้ร่วมทำพิธีฉลองอายุในคราวเดียวกัน รูปนี้ หล่อขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๑ กับ พ.ศ. ๒๔๔๗

เหตุประจวบอีกอย่างก็คือขุนวิจิตรจักราวาส(คำ)ไวยาวัจกร วัดจักรวรรดิราชาวาส ขออนุญาตพระพุฒาจารย์สร้างเกซิ้นนามเจ้าพระยาบดินทรเดชาไว้เป็นที่ระลึกสักการะด้วยอักษรจีน อ่านได้ความว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) สลักลงในแผ่นหินอ่อน และสร้างเก๋งจีนข้างพระปรางค์ใหญ่ด้านตะวันออกซึ่งเดิมเคยเป็นที่วางดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระปรางค์ ฝังศิลาจารึกเกซิ้นไว้กับผนังด้านหลังภายในเก๋ง แล้วเลยประดิษฐานรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชารวมไว้ในเก๋งนั้นด้วยทีเดียวเป็นที่ระลึกสักการะของผู้เคารพนับถือตลอดมาจนทุกวันนี้



....................................................................................................................................................




 

Create Date : 19 มีนาคม 2550   
Last Update : 20 มีนาคม 2550 8:26:23 น.   
Counter : 6041 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com