กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)




....................................................................................................................................................




เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ นามเดิม พร หรือ ชุมพร เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เดิมในรัชกาลที่ ๔ ไปเรียนหนังสือเข้ามาจากเมืองอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ จึงโปรดฯให้เป็น นายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรวิเศษ ในกรมพระอาลักษณ์ มาในรัชการที่ ๕ โปรดฯให้ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก มาจนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โปรดฯให้เป็นพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัตินฤปรัตนสุปรีย์ ราชไปรเวตสิเกรตารี ว่าที่จางวางมหาดเล็ก และเป็นเลฟเตแนนต์เคอแนล ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดฯให้หมายตั้งเป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มีสำเนาประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังนี้


ด้วยเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ เขาไกรลาส ก่อนเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งโสกันต์แล้ว จะเสด็จขึ้นบนเขา

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเฉพาะกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าผู้ที่เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จขึ้นเขาไกรลาสแต่ก่อนนั้น เคยใช้ผู้ที่เป็นเจ้าพระยาแล้วทุกคราวมา ครั้งนี้พระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งโปรดฯให้แต่งตัวสมมติเป็นเทวดาจิตตุบาทเป็นตำแหน่งพระยาอยู่ พระยาภาสกรวงศ์ก็ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมาช้านาน สมควรจะดำรงฐานันดรยศเป็นเจ้าพระยาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยาภาสกรวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาตั้งแต่นี้สืบไป ให้ประกาศในเรียกพระยาภาสกรวงศ์ เป็น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เหมือนเช่นหมายตั้งตำแหน่งแต่กาลก่อน แต่หิรัญบัฏนั้นจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อมีโอกาสสมควรภายหลัง

กระทรวงมุรธาธร วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑


ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัฏ มีสำเนาประกาศดังนี้


ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัติรฤปรัตนสุปรีย์ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นผู้เชิญรับสั่งไปต่างประเทศ ครั้นมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้รับราชการในตำแหน่งที่ราชเลขานุการ และจางวางมหาดเล็ก ทั้งได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย ต่อมาได้เป็นราชทูตวิเศษออกไปประเทศยุโรปด้วยราชการสำคัญในครั้งนั้น ก็เป็นการสำเร็จตลอดตามพระบรมราชประสงค์ ทั้งนี้ได้เป็นเอกอัตรราชทูตไปยังราชสำนักต่างๆในประเทศยุโรป อันเป็นธรรมเนียมที่กรุงสยามได้ตั้งราชทูตประจำเป็นครั้งแรก และได้เป็นอัครราชทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้เป็นอธิบดีกรมศุลกากร แล้วได้รับตำแหน่งปลัดบาญชีในกรมพระคลังมหาสมบัติ ภายหลังได้เป็นผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคราว ๑ แล้วได้รับตำแหน่งที่เกษตราธิการ จนถึงในบัดนี้ก็ได้ดำรงในที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้รับราชการโดยสมควรแก่หน้าที่ มีฉันทวิริยอันแรงกล้า รับราชการเป็นที่ชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน และกอปรไปด้วยสุนทรัธยาศัยและสวามิภักดิ์ซื่อตรงจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก สมควรที่จะดำรงในตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ใหญ่ รับการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณผู้หนึ่งได้

ครั้นในพระราชพิธีมหามงคงโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมุรธาธรออกหมายประกาศ ให้เรียกนามเป็นเจ้าพระยามาแต่ครั้งนั้น แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะพระราชทานสุพรรณบัฏตามประเพณี บัดนี้เป็นมงคลสมัยสมควร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏนั้นว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มหาประยูรพงศ์ปัจฉิมดไนย นานาไสมยสมันตโกศล สกลราชกิตโยปการ อเนกคุณสารสุนทรประวัติ นฤปรัตนราชสุปรีย์ เสนาบดีอุดมศัก อัครปรมามาตย์ ชาติอาชวาธยาศรัย ศรีรัตนตรัยสรณธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ มุสิกนาม ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สิริสวัสดิพิพัฒนมงคลวิบุลยผล ธนสารสมบัติบริวาร สมบูรณ์ทุกประการ เทอญฯ


บุตรธิดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ คือ นายราชาณัตยานุหาร(พาสน์) และเจ้าจอมพิศ เป็นต้น
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓


....................................................................................................................................................



ประวัติเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)


เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มหาประยูรพงศ์ปัจฉิมดไนย นานาไสมยสมันตโกศล สกลราชกิตโยปการ อเนกคุณสารสุนทรประวัติ นฤปรัตนราชสุปรีย์ เสนาบดีอุดมศักดิ อรรคปรมามาตย์ ชาติอาชวาธยาไศรย ศรีรัตนไตรยสรณธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นบุตรที่สุดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ฯ ซึ่งเรียกกันสามัญว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หม่อมอินเป็นมารดา เกิดที่เมืองชุมพร ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๒ แรม ๙ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้เป็นบิดานังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุกพระกลาโหม ลงไปตั้งกองสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกอยู่ที่เมืองชุมพร เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เกิดที่นั่นจึงได้นามว่า "ชุมพร" แต่ก็เรียกกันว่า "พร"

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัยในรัชกาลที่ ๔ อายุเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้เพียง ๔ ขวบ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ เมืองยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เป็นผู้ปกครองสกุล จึงได้บำรุงเลี้ยงต่อมา ให้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักพระอาจารย์แก้วที่วัดประยูรวงศ์ฯ ด้วยกันกับบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน แต่การฝึกสอนในสมัยนั้นเพียงให้อ่านหนังสือออกและเขียนได้ ไม่ได้สอนถ้วนถี่พิสดารเหมือนเมื่อมีโรงเรียนในชั้นหลัง เพราะผู้ปกครองสกุลอื่น นอกจากราชสกุล ยังคงถือคติเก่าว่า วิชาหนังสือเป็นวิชาสำหรับเสมียน ไม่จำเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงจะต้องเล่าเรียนให้รู้ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นในพวกบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่ได้เล่าเรียนสำนักเดียวกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงไม่ปรากฏว่าใครเชี่ยวชาญในวิชาหนังสือถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ในชั้นนั้นก็ไม่ปรากฎว่ารู้วิเศษกว่าเพื่อน แต่ทว่าอุปนิสสัยของท่านรักเล่าเรียนปรากฏมาแต่ในชั้นนั้น

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อนเรียนของท่าน คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) และพระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) เป็นต้น เล่าให้ฟังว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น "ชอบวางตัวเป็นนักปราชญ์มาแต่เด็ก" ไม่ค่อยถูกกับเพื่อนฝูง จึงมักถูกเขารังแก ยกตัวอย่างดังเช่นเวลาตามเสด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปเที่ยวตามหัวเมือง เวลาจะเดินป่าแต่เช้า พวกเพื่อนมักแกล้งทิ้งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ฯ ให้มัวหลับไปไม่ทัน ท่านก็มีปัญญาป้องกันตัว เอาเชือกผูกเท้าโยงขวางประตูไว้ ใครออกประตูห้องไปต้องสะดุดเชือก เชือกก็ชักปลุกท่านให้ตื่น ดังนี้ แสดงอุปนิสัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งมีมาแต่ยังเยาว์

บางทีจะเป็นเพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ เห็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีอุปนิสัยชอบเล่าเรียนนี้เอง เมื่อจัดการโกนจุกแล้ว พออายุเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ ๑๕ ปี สมเด็จเจ้าพระยาฯก็ส่งไปเล่าเรียนวิชาที่ประเทศอังกฤษ ไปเรียนอยู่ที่โรงเรียนตำบลแบลกฮีท ใกล้กรุงลอนดอน เรียนอยู่ ๓ ปีมีความรู้พอพูดภาษาอังกฤษได้ และอ่านหนังสืออังกฤษเข้าใจความ ก็ต้องถูกถอนตัวออกจากโรงเรียน ด้วยเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นราชทูตออกไปยุโรป ไม่มีล่ามที่จะใช้ในส่วนตัว จึงไปเรียกเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มาใช้เป็นล่าม แล้วเลยพากลับคืนมากรุงเทพฯ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์กลับมานั้นอายุได้ ๑๙ ปี

มาประสบโชคด้วยหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้สอยอย่างราชเลขานุการ สำหรับเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างประเทศ ถึงอนิจกรรมในปีเถาะนั้น ตำแหน่งว่างอยู่ พอสมเด็จเจ้าพระยาฯ นำเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถวาย ก็โปรดฯให้รับราชการแทนหม่อมราโชทัย และต่อมาไม่ช้าก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายราชณัตยานุหาร ตำแหน่งหุ้มแพรวิเศษ ในกรมพระอาลักษณ์ รับราชการในตำแหน่งนั้นมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ท่านเคยเล่าเอง ว่าเมื่อแรกท่านได้เป็นตำแหน่งราชเลขานุการนั้น ความรู้ของท่านทั้งในภาษาไทยและภาษาอังวกฤษยังบกพร่องมาก เพราะได้โอกาสเรียนมาแต่ก่อนน้อยนัก แต่ท่านมีหน้าที่ทำราชการอยู่ในห้องอาลักษณ์ ได้อาศัยเรียนหนังสือไทยในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ต่อมา ส่วนภาษาอังกฤษนั้นท่านพยายามต่อความรู้โดยหาหนังสืออ่านเอาเอง เหมือนอย่างท่านพยายามเรียนภาษามคธและสันกฤตในเวลาชั้นหลัง ความที่กล่าวนี้เป็นเหตุให้คนทั้งหลายมักสังเกตและกล่าวกันว่า พระยาภาสกรวงศ์ไปไหนมีสมุดหนีบรักแร้ไปด้วยเป็นนิจ ถึงตัวข้าพเจ้าก็ได้ทันเห็น

ในตอนนี้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้จัดการให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อุปสมบทเป็นพระภิกษุ บวชที่วัดประยูรวงศ์ฯ อันเป็นวัดของสกุล แต่บวชเป็นธรรมยุติ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทานนามฉายาว่า "ภาณวโร" บวชแล้วไปอยู่ที่วัดบุปผาราม เมื่อลาสิกขาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯจัดให้แต่งงานกับนางสาวเปลี่ยน ราชินิกูลวงศ์ชูโต ซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงอยู่ด้วยกันมาจนกาลปัจจุบันนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นธิดา นายสุจินดา (พลอย) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด) จมื่นศรีสรรักษ์เป็นบุตรคุณหญิงม่วง คุณหญิงม่วงเป็นธิดาเจ้าคุณราชพันธ์ชูโต มารดาท่านผู้หญิงเปลี่ยนชื่อนิ่ม เป็นธิดาพระยาสุรเสนา (สวัสดิ ชูโต น้องจมื่นศรีสรรักษ์(ถัด)) มารดาของนิ่มชื่อคุณเปี่ยม เป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เพราะฉะนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงนับเป็นเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย เมื่อแต่งงานแล้วสมเด็จเจ้าพระยาฯ แบ่งที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งได้ให้พระยาอภัยสงคราม (นกยูง) ผู้เป็นบุตรอยู่แต่ก่อน และถึงอนิจกรรมไปแล้วนั้น ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่ตอนข้างริมแม่น้ำ (คือบ้านที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่เมื่อถึงอนิจกรรม)

การที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยา ควรนับว่าเป็นโชคสำคัญในประวัติของท่าน เพราะท่ารผู้หญิงเปลี่ยนเป็นนารีที่เฉลียวฉลาด และสามารถในกิจการ จะหาผู้ที่เสมอเหมือนได้โดยยาก ตรงกับลักษณะภริยาที่ยกย่องในพระบาลีว่า เปรียบด้วยมารดาและสหายของสามีรวมกันทั้ง ๒ สถาน ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสามารถรับดูแลการงานบ้านเรือน ตลอดไปจนพิทักษ์รักษาโภคทรัพย์ทั้งปวง มิให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อนาทรร้อนใจ และเอาเป็นธุระในการต้อนรับเลี้ยงดูผู้ที่ไปมายังบ้านเรือนสามี บางทีถึงอาจช่วยเจ้าพระยาภาสกรตลอดไปจนในกิจราชการ ไม่มีใครที่จะประมาณได้ ว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้รับประโยชน์และความสุขเพราะได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยานั้น สักเท่าใด แต่ข้อนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่น่าสงสาร โดยความที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้เคยอาศัยท่านผู้หญิงเปลี่ยน สิ้นกังวลในการอยู่กินมาเสียช้านาน เมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนถึงอนิจกรรม ท่านได้ความเดือดร้อนแสนสาหัส ก็ไม่อาจจะแก้ไขให้บรรเทาได้โดยลำพังตน จนเจ้าจอมพิศว์ธิดาออกไปอยู่ปรนนิบัติแทนมารดาต่อมา ท่านจึงค่อยได้ความสุขในตอนเมื่อแก่ชรามาจนถึงอสัญกรรม

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังเป็นนายราชาณัตยานุหารได้ประสพโชคอีกคราวหนึ่ง แต่ต้องนับว่าเนื่องด้วยความดีของท่านด้วย ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น พระชันษายังเยาว์วัย ในสมัยนั้นข้าราชการที่จะเฝ้าแหนใกล้ชิด มักเกรงสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะสงสัยว่าไปกราบบังคมทูลฯ ข้อความ อันมิควรทูล มีน้อยคนที่จะกล้าเฝ้าแหนเพ็ดทูลโดยไม่หวาดหวั่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่ในผู้หนึ่ง ซึ่งกล้าเข้าไปให้ทรงใช้สอยโดยความสวามิภักดิ์ มิได้ครั่นคร้าม จึงได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย และได้ทรงใช้สอยเป็นประโยชน์มากแต่นั้นมา ด้วยเวลานั้นในบรรดาข้าราชการไทย มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์คนเดียวที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษ ถึงพอจะค้นหาแบบแผนต่างประเทศได้ เปรียบเหมือนกับเป็นผู้ถือลูกกุญเเจตู้ตำรับตำราต่างประเทศในสมัยนั้นแต่ผู้เดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก แต่ยังคงมีชื่อว่านายราชาณัตยานุหาร เพรายังคงรับราชการเป็นราชเลขานุการอยู่อย่างเมื่อรัชกาลก่อน

ได้ตามเสด็จประพาสทั้งคราวเสด็จประเทศชวาและประเทศอินเดีย ราชการต่างๆที่อาศัยแบบอย่างต่างประเทศจัดขึ้นในสมัยนั้น คือ ตั้งระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และตั้งกรมทหารมหาดเล็ก เป็นต้น ตลอดจนจัดโรงเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านาย และโรงเรียนภาษาไทยในกรมทหารมหาดเล็ก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้ตรวจค้นต้นตำราทั้งนั้น ในกรมทหารมหาดเล้กนั้นโปรดฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก เป็นนายพันโท ฯ ผู้บังคับการ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เมื่อยังเป็นนายราชาณัตยานุหารเป็นนายพันตรี ฯ ตำแหน่งแอดชุแตนต์ ครั้นพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ถึงอนิจกรรม ทรงพระกรุณาโปรดฯเลื่อนนายราชาณัตยานุหาร ขึ้นเป็นพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัตินฤปรัตนสุปรีย์ มีตำแหน่งเป็นราชเลขานุการ ว่าที่จางวางมหาดเล็ก และเป็นนายพันโทบังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย

ถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่าราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บรมราชาภิเษกครั้งปีระหา พ.ศ. ๒๔๑๖แล้ว ทรงเริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมต่างๆหลายอย่าง คือตั้งรัฐมนตรีอันเรียกในครั้งนั้นว่า เคาซิลออฟสะเตต และองคมนตรีอันเรียกว่า ปริวีเคาซิล เป็นต้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็ได้มีหน้าที่การเรียบเรียงพระราชบัญญัติและเป็นสมาชิกตัวสำคัญในมนตรีทั้ง ๒ สภานั้น เพราะเหตุที่ในสมัยนั้นก็ยังมีแต่ท่านผู้เดียวที่สามารถรับราชการในทางข้างภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว แต่มาถึงชั้นนี้เหล่าพระเจ้าน้องยาเธอซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทรงเล่าเรียนวิชาการต่างๆ มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น เริ่มมีความรู้ออกจากโรงเรียนมารับราชการได้โดยลำดับกัน สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นพระองค์แรกที่ทรงสันทัดทางภาษาอังกฤษ เมื่อมีพระเจ้าน้องยาเธอเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆได้มากขึ้น จึงค่อยทรงปลดเปลื้องหน้าที่ราชการสำคัญ ซึ่งรวมการบังคับบัญชาอยู่ในเจ้าหน้าที่ผู้เดียว แยกออกไปตามสมควรแก่ประโยชน์ของราชการ จึงโปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน ราชองครักษ์ ทรงบังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้บังคับอยู่แต่ก่อน

ต่อมาถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ เกิดเหตุด้วยนายทอมมัสยอกน๊อก กงสุลเยเนอราลอังกฤษ เข้ามาทำวุ่นวายในเรื่องอันเนื่องด้วยนายสำอาง อมาตยกุล จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษออกไปยังประเทศอังกฤษ ว่ากล่าวกับรัฐบาลในเรื่องนั้น ก็เป็นการสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ และเมื่อเสร็จราชการที่ประเทศอังกฤษแล้ว ได้โปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษไปเจริญทรงพระรชไมตรี ยังราชสำนักในประเทศอื่น คือประเทศเยอรมันนีเป็นต้น ซึ่งยังมิได้เคยมีราชทูตไทยไปถึงแต่กาลก่อน

เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตไปครั้งนั้น ต้องละหน้าในตำแหน่งราชเลขานุการ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นราชเลขานุการต่อมา จนเสด็จไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ส่วนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น เมื่อกลับมาจากราชการประเทศยุโรปโปรดฯให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังสวน และคงรับราชการในตำแหน่งจางวางมหาดเล็กด้วย ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปช่วยงาน ซึ่งสมเด็จพระราชินีวิกเตอเรีย ประเทศอังกฤษ ฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปี ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้แทนเสนาบดีว่าการกระทรงต่างประเทศทางกรุงเทพฯนี้ ตลอดเวลาที่สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จไปราชการ และครั้งนั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับ กลับมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้โปรดฯให้ทรงทำหนังสือปฏิญาณเป็นทางไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นด้วย แล้วจึงทรงนำหนังสือปฏิญาณมายังกรุงเทพฯ เพื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามประเพณี เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตเชิญหนังสือปฏิญาณนั้นไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น ตามประเพณีการทำหนังสือปฏิญาณและสัญญา

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์กลับจากราชการคราวนี้ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นตำแหน่งอธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม จึงได้สร้างสถานที่อันปรากฏอยู่บัดนี้ และขนานนามว่า กรมศุลกากร แต่นั้นมา ต่อนี้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ไปรับราชการเป็นตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่คราวหนึ่ง แต่ไม่ช้านัก ครั้นถึงพ.ศ. ๒๔๓๓ เมื่อโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม) เลื่อนขึ้นเป็นที่สมุหพระกลาโหม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เป็นที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ แต่ยังคงบรรดาศักดิ์เป็นพระยา จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดฯให้ย้ายจากกระทรวงเกษตราธิการไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ในตอนนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้(๑)ยังทรงพระเยาว์ มีพระอาการประชวรเรื้อรัง เเพทย์กราบบังคมทูลฯ แนะนำให้เชิญเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล และเวลานั้นประจวบมีราชการชุก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพาไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นพระอภิบาล ตามเสด็จไปอยู่เป็นผู้ดูแล ณ เกาะสีชัง ซึ่งเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่นั้น จนหายประชวรเสด็จกลับมากรุงเทพฯ ครั้นถึงพระราชพิธีโสกันต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เวลานั้นบรรดาศักดิ์ยังเป็นพระยาฯ เป็นผู้เชิญเสด็จขึ้นเขาไกรลาสฝ่าย ๑

และเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม อันเป็นวันโสกันต์นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส ก่อนเวลาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จขึ้นเขา มีรับสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรประกาศเป็นพระบรมราชโองการพิเศษ ว่าผู้ที่เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จขึ้นเขาไกรลาสแต่ก่อนมา เคยใช้แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามาทุกคราว พระยาภาสกรวงศ์ก็ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานหิรัญบัตรเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา จึงโปรดฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ วรราชณัตินฤปรัตนสุปรีย์ ฯ แต่วันนั้นไป เมื่อมีโอกาสจึงจะไดเพระราชทานหิรัญบัตรต่อภายหลัง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัตร(ด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นราชินิกูล และมีบำเหน็จความชอบมามาก) และเครื่องยศตามฐานันดรเจ้าพระยา ฯ เสนาบดี มีราชทินนามดังแจ้งอยู่ข้างต้นประวัตินี้

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการมาจนแก่ชราทุพพลภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกจากตำแหน่งเสนาบดีแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมาจนถึงอสัญกรรม

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาโดยลำดับหลายอย่าง จะกล่าวแต่เฉพาะชั้นสูงซึ่งได้เป็นที่สุดนั้น คือสังวาลย์สำหรับตำแหน่งลัญจกราภิบาลแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ๑ ปฐมาภรณ์ช้างเผือก ๑ ปฐมาภรณ์มงกุฎสยาม ๑ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๒ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันชั้นที่ ๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเข็มราชการในพระองค์ เหรียญบุษปมาลา เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญราชินี และเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีอีกหลายอย่าง

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์อันเนื่องในราชการสิ้นเนื้อความเพียงที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าจะจบเรื่องประวัติที่แต่งเพียงเท่านี้ ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยทราบอัธยาศัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังมีมากด้วยกัน คงจะมีผู้ไม่พอใจ ด้วยเห็นว่ายังขาดความซึ่งควรจะกล่าวถึงอัธยาศัย และความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และบางคนก็อาจจะสงสัยว่าเป็นเพราะข้าพเจ้าคิดเห็นเป็นความเสื่อมเสียในตัวท่านจึงไม่แต่ง เพราะฉะนั้นจะต้องกล่าวถึงประวัติอันเป็นส่วนอัธยาศัย และความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไว้ด้วย

เมื่อจะแต่งตอนนี้ ข้าพเจ้าระลึกได้ถึงคำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธ์ ซึ่งนับว่าเป็นมหามิตรของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์พระองค์ ๑ ได้เคยทรงปรารภเรื่องอัธยาศัยและความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ดำรัสว่าในพระบาลีกล่าวว่า กิเลสกับวาสนา ๒ อย่างนี้ ตัดได้ขาดแต่พระพุทธเจ้า นอกจากพระพุทธเจ้า แม้พระอัครสาวกก็ตัดได้แต่กิเลส วาสนานั้นตัดหาได้ไม่ เป็นต้นว่าพระสารีบุตรชาติก่อนเกิดเป็นวานร เมื่อมาเป็นพระขีณาสพแล้ว เดินไปถึงห้วยน้ำยังโดดข้ามอย่างวานร เพราะตัดวาสนาที่ติดตัวไม่ได้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้นที่จริงกิเลสก็อยู่ข้างเบาบาง เป็นแต่หนักอยู่ด้วยวาสนา ถ้าเกิดทันครั้งพระพุทธกาล บางทีเห็นจะได้มรรคผล แต่คงไปทำให้เกิดอื้อฉาวในมณฑลพุทธสาวกเพราะวาสนาติดตัวไป กรมพระสมมติฯได้ดำรัสอย่างนี้

ข้าพเจ้าจะลองอธิบายต่อไป อันวาสนาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น ถ้าว่าเป็นอุปมาโดยย่อ เปรียบดังเห็นใครจะคันตรงไหนแล้วเป็นอดที่จะจี้เกาเข้าที่ตรงนั้นไม่ได้ ใช่ว่าจะทำด้วยอคติอย่างใดเป็นมูลเสมอนั้นก็หาไม่ เป็นด้วยอดไม่ได้เป็นพื้น กรมพระสมมตฯท จึงทรงเห็นว่าเป็นวาสนาอย่างที่กล่าวในพระบาลี ถ้าจะรวมเรื่องที่เกิดปากเสียงเพราะวาสนาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มาพรรณนาก็เห็นจะไม่หมดได้ จะยกมาแสดงแต่พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นวันสวดมนต์ถือน้ำ เจ้านายกับข้าราชการประชุมกันอยู่ที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พอพระราชาคณะองค์หนึ่ง ซึ่งรู้กันโดยมากว่าท่านเล่นหนังเดินมา เจ้าพระยาภาสฯก็เอ่ยทักขึ้นว่า "อย่างไรเจ้าคุณตะโจ สบายดีหรือ" ท่านเจ้าคุณจะเข้าใจหรือไม่ก็หาทราบไม่ แต่พอท่านเดินขึ้นอุโบสถไปแล้ว เจ้านายพากันสั่นพระเศียร ว่าเจ้าพระยาภาสฯทักมนุษย์น่ากลัวจริงๆ

แต่นั้นมาถ้าใครทักถามผู้อื่นด้วยอกัปปิยวาจา ก็มักจะกล่าวกันว่า ทักคนราวกับเจ้าพระยาภาสฯ เลยเกิดเป็นคำแผลงสำหรับใช้เมื่อกล่าวแสดงว่า ผู้ใดใช้อกัปปิยวาจาต่อผู้ใด ก็ว่า "ทัก" ผู้นั้นดังนี้ เจ้าพระยาภาสฯไม่แต่ "ทัก" ด้วยปากอย่างเดียว บางทีก็แต่งหนังสือ "ทัก" เช่นเมื่อช่วยแต่งหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท และเมื่อเป็นกรรมการแต่งหนังสือวชิรญาณต่อมา ถึงเคยเกิดถ้อยความ ตัวท่านเองได้ความเดือดร้อนรำคาญหลายคราวก็ไม่เข็ด แต่การที่ทักนั้น ถ้าจะว่าก็ไม่ปราศจากยุติธรรมทีเดียว เพราะถ้าผู้ที่ถูกท่านทัก ทักตอบท่านบ้าง จะตอบรุนแรงสักเท่าไรท่านก็ไม่ถือโกรธ เมื่อผู้อื่นเห็นยุติธรรมที่มีอยู่ในอัธยาศัยของท่าน ความขัดเคืองก็เสื่อมคลาย เพราะฉะนั้น ถึงผู้ใดจะไม่ชอบก็เป็นแต่ติเตียน หามีผู้ใดที่จะเป็นศัตรูปองร้ายต่อท่านไม่ นอกจากลุต่ออำนาจต่อวาสนาดังกล่าวมาแล้ว เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้มีคุณความดีหลายอย่าง คือเป็นกัลยาณมิตรเป็นต้น ท่านโอบอ้อมเผื่อแผ่ต่อมิตรไม่เลือหน้าว่าเป็นผู้ที่สูงหรือต่ำศักดิ์ และคบด้วยมิได้คิดจะเอาเปรียบผู้ใด จึงมีผู้ที่ชอบพอกว้างขวาง แม้ผู้ที่เคยถูกท่านทัก เมื่อรู้จักอัธยาศัยของท่านแล้ว ก็กลับเป็นมิตรกับท่านโดยมาก

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ประกอบกุศลกรรมก็หลายอย่าง คือได้บำรุงวัดประยูรวงศ์ฯ อันเป็นวัดสำหรับสกุลของท่านเป็นต้น ยังมีพฤน(๒)ศาลา ท่านสร้างเมื่อทำศพมารดา ปรากฏอยู่ในวัดประยูรวงศ์อย่าง ๑ โรงธรรมศาลา เเรกสร้างสำหรับสอนธรรมแก่นักเรียน อยู่ข้างหน้าวัดประยูรวงศ์อีกหลัง ๑ วัดนวลนรดิศอันเป็นวัดของเจ้าคุณย่าและสมเด็จเจ้าพระยาฯ บิดาของท่าน ท่านก็ได้ช่วยทำนุบำรุงบ้าง ยังมีการต่างๆทั้งเป็นส่วนการกุศล และเป็นการทำนุบำรุงวิชาความรู้ตลอดจนการค้าขาย ที่ท่านได้ดำริจัดตั้งอีกหลายอย่าง แต่หาใคร่จะมีผลอยู่ถาวรยืดยาวไม่ จึงไม่กล่าวในที่นี้

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ อันเป็นข้อปกิณกะยังมีอีกมาก ถ้าจะเก็บมาเรียบเรียงให้หมดหนังสือนี้จะยืดยาวนัก เวลาที่แต่งก็มีน้อย จำต้องยุติไว้เพียงเท่าที่กล่าวมา จะกล่าวซ้ำอีกข้อเดียวแต่ว่า เมื่อตอนท่านแก่ชรานี้ นับว่าเป็นผู้ได้ความสุขด้วยประการทั้งปวง เพราะสิ้นห่วงใยในกิจภาระส่วนตัว ได้ความชอบพอนับถือของญาติมิตรทั่วไป ข้อนี้เห็นได้เช่นในเวลาสงกรานต์ ท่านได้รับพระราชทานรดน้ำ และมีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการพากันไปรดน้ำท่านเป็นอันมาก ทุกปีมา ได้ทำงานฉลองอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดบรรดาญาติมิตรได้พร้อมกันไปแสดงความยินดีอวยพรให้แก่ท่าน ครั้งนั้นท่านได้พิมพ์หนังสือเรื่องประกาศตั้งเจ้าพระยาฯ แจกตอบแทน ยังปรากฏเป็นที่ระลึกอยู่

ตั้งแต่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ออกจากราชการประจำ นับเวลาล่าวมาได้ ๑๗ ปี ถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านป่วยถึงอสัญกรรม คำนวณอายุได้ ๗๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงความชอบความดีของท่านที่ได้มีมา ทั้งในราชการและในส่วนพระองค์ กอปรทั้งที่ท่านมีเกียรติยศเป็นเจ้าราชินิกูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำฌาปนกิจศพของท่านที่พระเมรุท้องสนามหลวง ต่อเนื่องในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กำหนดพระราชทานเพลิงเมื่อ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๖๕ สิ้นเรื่องประวัติเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เพียงเท่านี้.


....................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒) คำว่า พฤน ท่านผูกจากชื่อของท่านว่า พร ชื่อมารดาของท่านว่า อิน


Create Date : 06 เมษายน 2550
Last Update : 6 เมษายน 2550 20:53:40 น. 0 comments
Counter : 6195 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com