กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น




พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)



..........................................................................................................................................................



พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)
ผู้สร้างวีรกรรรมที่เมืองแพร่


พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่คนแรก และเป็นผู้มีความกล้าหาญ ความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) ได้ถูกพวกเงี้ยวซึ่งก่อการจลาจลขึ้นที่เมืองแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ฆ่าตายที่บ้านร่องแวงอย่างทารุณ ต่อมาทางรัฐบาลสยามได้ปราบปรามพวกก่อการจลาจลเงี้ยวสงบราบคาบดีแล้ว ก็ได้สร้างอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ไว้ ณ หลักกิโลเมตรที่ ๔ ถนนสาย แพร่ – น่าน ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ไปทางอำเภอสูงเม่น เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของท่านผู้นี้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี”

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองจากแบบเจ้าผู้ครองนครมาเป็นแบบเทศาภิบาล โดยลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครลง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงกำกับเมืองมาช่วยราชการแผ่นดิน ที่เมืองแพร่ในขณะนั้นเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์อุดร (น้อยเทพวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองนคร และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) มาเป็นข้าหลวงกำกับเมืองแพร่เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐

พระยาไชยบูรณ์มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ. ๑๒๑) ได้มีพวกเงี้ยว (ไตใหญ่) ซึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษ และได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในเมืองแพร่พวกหนึ่ง กับพวกที่มาจากเชียงตุงพวกหนึ่ง ได้สมคบกันก่อการจลาจล และได้จับข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่ (คือ พระยาไชยบูรณ์) ตำรวจ และราษฎร์ชาวไทย (ภาคกลาง) ทั้งชายหญิงและเด็กฆ่าเสียอย่างทารุณ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎา รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ เวลาเช้า (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๕)

พวกก่อการจลาจลเงี้ยว อันมีพะกาหม่อม สล่าโป่ซาย จองแข่เป็นหัวหน้า คุมพรรคพวกประมาณ ๕๐๐ คนเศษ เข้าตีโรงตำรวจนอกประตูไชย เวลา ๑ โมงเช้า ขึ้นไปบนโรงพักไล่ฟันตำรวจแตกตื่นหนีไปหมด หาได้ทันต่อสู้ไม่ เพราะไม่ทันรู้ตัว ตำรวจภูธรถูกฟัน ๔ คน แต่หาถึงแก่ชีวิตไม่ มีแต่อำแดงคำภรรยาของนายร้อยตรีตาด ได้เอาปืน ๖ นัดยิงพวกโจรเงี้ยว แต่หาเป็นอันตรายอย่างใดไม่ พวกโจรเงี้ยวจึงเอาดาบไล่ฟันอำแดงคำกับบุตรเลี้ยงตายด้วยกันทั้งคู่ แล้วพวกโจรเงี้ยวก็พากันเก็บเอาอาวุธปืนของหลวง แล้วพากันเข้าไปในเมือง ผ่านทางประตูไชยเข้าไป เอาปืนยิงเข้าไปในโรงไปรษณีย์โทรเลข เก็บเอาเครื่องใช้และทุบเครื่องโทรเลข โทรศัพท์ หม้อแบตเตอรี่ สรรพหนังสือต่างๆ และบัญชี ทำลายสิ้น นายถมยา จีนบ๋าพนักงานไปรษณีย์โทรเลขหลบหนีไปได้ กระสุนปืนที่พวกโจรเงี้ยวยิงไปถูกจีนติดซึ่งขายหมูอยู่ในตลาดหลวงตายคนหนึ่ง

ต่อจากนั้น พวกโจรเงี้ยวก็ยิงเข้าไปในบ้านพระยาราชฤทธานนท์ข้าหลวงหลายสิบนัด กระสุนปืนถูกบ่าวข้าหลวงตาย ๑ คน บาดเจ็บไปหลายคน ส่วนพระยาฤทธานนท์ข้าหลวงและบุตรภรรยาหลบหนีไปได้ พวกโจรเงี้ยวเข้าไปเก็บเอาทรัพย์สิ่งของไปหมด แล้วพวกโจรเงี้ยวก็ยิงเข้าไปที่ที่ว่าการจังหวัดแพร่ แล้วขึ้นไปเอาขวานผ่าง้างกำปั่น เก็บเอาเงินหลวงไปประมาณ ๓๙,๐๐๐ บาท ทำลายของของเครื่องใช้ตลอดจนเอกสารต่างๆ เสียหายไปหมด แล้วพวกโจรเงี้ยวก็คุมพรรคพวกตั้งอยู่ที่ที่ว่าการจังหวัดแพร่ บางพวกก็พากันยิงเข้าไปที่ศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดแพร่) และยิงเข้าไปที่บ้านของนายเฟื้องผู้พิพากษา ผู้พิพากษาหลบหนีไปได้ พวกโจรเงี้ยวเข้าไปเก็บเอาทรัพย์สิ่งของไปหมดสิ้น แล้วพวกโจรเงี้ยวเข้าไปที่บ้านพะทำมะรง ๆ หนีไป พวกโจรเงี้ยวก็เปิดเอาพวกนักโทษออกจากเรือนจำ เอาขวานผ่าง้างเอาโซ่ตรวนออก พวกนักโทษเลยเข้าสมทบกับพวกโจรเงี้ยว เที่ยวปล้นพวกข้าราชการ มีบ้านหลวงวิมล นายแขวง (คือนายอำเภอ) เก็บเอาทรัพย์สิ่งของไปแบ่งกัน ในวันเดียวกันนั้น เวลาราวบ่าย ๓ โมง พวกโจรเงี้ยวได้ไปคุมเอาตัวเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ และเจ้านายอื่นๆ มีเจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรี เจ้าราชบุตร พระวังซ้าย พะวิไชยราชา พระคำลือ พระไชยสงคราม พระเมืองไชย นายน้อยสวน ไปยังสนามที่ว่าการจังหวัดแพร่ แล้วพวกโจรเงี้ยว ซึ่งมีนายร้อยสล่าโป่ซายเห็ดแมน นายร้อยพะกาหม่อง นายร้อยปู่ออ นายร้อยจองแข่ นายร้อยจองติ นายร้อยจีนนะเห็นแมน นายร้อยจะก่า ปู่จอตังอู่ นายร้อยหม่อมโม นายร้อยส่างมน นายร้อยจองทุน นายร้อยจองคำ เป็นหัวหน้า ได้บังคับให้เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ และเจ้านยที่จับกุมตัวไปนั้น ทำหนังสือปฏิญาณต่อกันไว้ มีความว่า

๑. เดิมเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) มีพระยาราชฤทธานนท์มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองแพร่ ได้ทำการกดขี่ข่มเหงบรรดาพวกเจ้านายแลราษฎรแลพวกลูกค้า มีพม่า ต้องซู่ เงี้ยว ที่เข้ามาอาศัยแขวงเมือง ได้ความเดือดร้อนเป็นอันมาก

๒. ครั้นถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ศกนี้ (พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาเช้า ๑ โมง มีพวกลูกค้าทั้งหลายได้คบคิดกันมาปราบปรามกำจัดพวกข้าหลวงไทยแตกหนีไปจากเมืองแล้ว

๓. เจ้านายกรมการ พร้อมด้วยลูกค้า ได้พร้อมใจกันมอบบ้านเวนเมืองคืนถวายไว้กับเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ให้เป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองต่อไป

๔. ต่อไปเมื่อหน้าถ้าบังเกิดศึกทางฝ่ายใดขึ้นมาเวลาใดก็ดี เจ้านายกรมการและลูกค้าที่มีชื่ออยู่ท้ายหนังสือนี้ ต้องช่วยกันปราบปรามข้าศึกศัตรูด้วยเต็มกำลังทั้งสองฝ่าย

เมื่อทำหนังสือสัญญาดังกล่าวแล้ว ก็มีการดื่มน้ำสบถทำสัตย์สาบานต่อกัน แล้วพวกโจรเงี้ยวก็แบ่งกำลังติดตามพระยาราชฤทธานนท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้าราชการคนไทย (ภาคกลาง) ไป สำหรับคนพื้นเมืองพวกโจรเงี้ยวไม่ทำอันตราย เจ้านายเมืองแพร่ที่เข้าด้วยพวกโจรเงี้ยว มีเจ้าน้อยไจลังกา ส่วนเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์และเจ้านายอื่นๆ ที่ปรากฏนามนั้นได้ให้การต่อ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งในขณะนั้น) ว่าถูกพวกโจรเงี้ยวบังคับ จึงจำใจต้องทำสัญญากับพวกโจรเงี้ยวด้วยความรักชีวิต

ฝ่ายพระยาฤทธานนท์ ข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่นั้น เมื่อพวกโจรเงี้ยวระดมยิงโรงพัก ก็ได้ใช้ปืนยิงต่อสู้หลายนัด เมื่อเห็นพวกโจรเงี้ยวมีกำลังมากกว่า ก็วิ่งหนีไปทางวัดพระร่วง เพื่อรายงานให้เจ้าหลวงเมืองแพร่ทราบ และขออาวุธและเกณฑ์กำลังคนต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยว และได้พบกับขุนพิพิธโกษากรณ์ ข้าหลวงคลัง หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย นายสมบุตร สมุห์บัญชีแขวง นายแม้น พนักงานอัยการแพร่ และนายสวัสดิ์ รองเสนาตำแหน่งนา ซึ่งมาหลบซ่อนอยู่ก่อน พระยาราชฤทธานนท์และข้าราชการพวกนั้น ได้วิ่งไปที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่อีก เพื่อจะพบเจ้าหลวงและขออาวุธ แต่ไม่พบเจ้าหลวง พบแต่พระยาไชยสงครามและเจ้าราชบุตร ก็ทราบว่าเจ้าหลวงหนีไปอยู่ที่ห้างบอมเบเบอร์ม่า เมื่อไม่พบเจ้าหลวง พระยาราชฤทธานนท์ก็หนีต่อไปอีก โดยมีนายแม้นพนักงานอัยการไปด้วย ส่วนพวกข้าราชการนอกจากนี้ ถูกพวกโจรเงี้ยวไล่หนีออกไปอีกทางหนึ่ง

พระราชฤทธานนท์จึงให้นายแม้นไปเกณฑ์ราษฎรที่บ้านกาศ เพื่อจะมาต่อสู้พวกโจรเงี้ยว นายแม้นจึงไปยังบ้านกาศ และให้บุตรแคว่น (กำนัน) ไปตามพระกันทคีรี นายแขวง (นายอำเภอ) เมืองแพร่ ซึ่งขณะนั้นไปราชการปักหลักเขตแคว่น (เขตตำบล) ที่บ้านกวาง ปรากฏว่าเกณฑ์ราษฎรได้ประมาณ ๘๐ คน จึงนำมายังเมืองแพร่ เพื่อจะพบกับพระยาราชฤทธานนท์ แต่ไม่พบคงพบแต่นายน้อยขัด นายแคว่น (กำนัน) จึงได้ให้นายน้อยขัดไปที่บ้านพระยาพิไชยราชา เสนาตำแหน่งคลัง เพื่อถามถึงกำลังและที่พักของพวกโจรเงี้ยว พระพิไชยราชาแจ้งว่า อย่าต่อสู้พวกเงี้ยวเลย เพราะเกรงพวกโจรเงี้ยวจะฆ่าเอา ให้รีบหนีเอาตัวรอดเถิด เพราะพวกโจรเงี้ยวจะฆ่าแต่เฉพาะคนไทย (ภาคกลาง) เท่านั้น ส่วนคนพื้นเมืองไม่ทำร้าย พระกันทคีรี นายแม้น และราษฎรที่ถูกเกณฑ์มา ก็มีความท้อถอย ต่างคนต่างก็แยกกันหนีไป โดยไม่ได้การต่อสู้แต่อย่างใด

ฝ่ายพระยาราชฤทธานนท์ เมื่อนายแม้นไปเกณฑ์ราษฎรแล้ว เกรงว่าพวกโจรเงี้ยวจะมาพบเข้า จึงหนีไปยังบ้านร่องกาศ ก็ถูกแคว่น (กำนัน) และแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ร่องกาศจับตัวส่งให้พวกโจรเงี้ยว เงี้ยวจึงนำตัวพระยาราชฤทธานนท์ พร้อมกับพลตำรวจคนหนึ่งเข้ามาเมือง แต่พอถึงร่องแวง พวกโจรเงี้ยวก็ฆ่าพลตำรวจเสีย ส่วนพระยาราชฤทธานนท์นั้น เมื่อมาถึงบ้านร่องคาว พวกโจรเงี้ยวก็ใช้ดาบฟัน ๓ ครั้ง ครั้งแรกฟันถูกหู ครั้งที่สองฟันถูกตา ครั้งสุท้ายฟันถูกท้องจนถึงแก่ชีวิต ณ ที่นั่นเอง แล้วพวกโจรเงี้ยวตัดศีรษะพิงเสากระดานป้ายไว้ พระยาราชฤทธานนท์ถูกฆ่าตาย วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕

การที่นายแคว่น (กำนัน) แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ร่องกาศจับตัวพระยาราชฤทธานนท์ส่งให้พวกโจรเงี้ยว เพราะพวกโจรเงี้ยวให้สินบนแก่ผู้ที่จับพระนยาราชฤทธานนท์ ๓๐๐ บาท และม้าอีก ๒ ตัว

ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม นั้น นอกจากฆ่าพระยาราชฤทธานนท์แล้ว พวกโจรเงี้ยวยังได้ฆ่าพระเสนามาต ๑ นายเกลี้ยง ๑ จ่านายสิบนายอ่วม ๑ พลตำรวจที่โรงพักสูงเม่น ๒ คน นายร้อยตรีตาด และพลตำรวจที่มาจากบ่อแก้วรวม ๓ คน

ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกโจรเงี้ยวได้ฆ่าหลวงวิมลข้าหลวงผู้ช่วย ๑ หลวงศรีพิชัย ๑ นายร้อยตรีตาดตำรวจเมืองแพร่ ๑ นายไหลเสมียน ๑ อำแดงขาว อำแดงนาค ภรรยาขุนพิพิธ ๒ คน นายจันทร์ แทนนายแขวงยมเหนือ (เมืองสอง) และหนูศรีบุตรขุนพิพิธ ๒ คน

ครั้นในวันที่ ๒๘ – ๒๙ – ๓๐ – ๓๑ กรกฎาคม พวกโจรเงี้ยวก็จัดแต่งหัวหน้าคุมไพร่พล แล้วไปคอยดักด่านอยู่ที่เขาพลึงบ้าง บ่อแก้วบ้าง และตัวพะกาหม่องนั้นคุมพลไปตีเมืองลำปาง และตัวพะกาหม่องถูกปืนตายในที่รบ พวกโจรเงี้ยวเลยแตกหนีกลับมาเมืองแพร่

ฝ่ายพวกโจรเงี้ยวที่ยกไปทางเขาพลึง ได้ปะทะกับกองทัพของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย) ที่ตำบลโป่งอ้อ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกโจรเงี้ยวเสียชีวิตไป ๒๒ คน ป่วยและบาดเจ็บอีกหลายคน ฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตทหารไป ๑ คน ถูกกระสุนปืน ๑ คน และคนส่งหนังสือถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย ๑ คน พวกโจรเงี้ยวที่ยกไปทางบ่อแก้วไม่ได้ปะทะกับฝ่ายรัฐบาล แต่เมื่อทราบข่าวว่าพวกของตนที่ปะทะกองทัพพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรแตกหนีไป ก็ถอยกลับเข้าไปในเมืองแพร่

การที่พะกาหม่องคุมสมัครพรรคพวกก่อการจลาจลขึ้นครั้งนี้ ก็เพราะมีต้นเหตุดังที่หม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล ธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไว้ในหนังสือ “แพร่ – น่าน” ว่า “ส่วนต้นเหตุของเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากเสด็จพ่อว่าเรื่องเดิมนั้น พะกาหม่องเป็นลูกหนี้เจ้านางแว่นทิพย์ น้องเจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ ๔,๐๐๐ บาท ไม่มีจะใช้ก็หนีมาอาศัยพวกพ้องอยู่ในเมืองแพร่ วันหนึ่งเห็นเขาขนเงินส่วยเข้าไปที่ศาลากลาง ก็นึกขึ้นว่า ถ้าได้เงินนี้ไปใช้หนี้ก็จะกลับไปบ้านได้ แล้วพะกาหม่องก็รวบรวมพวกพ้องบุกเข้าไปปล้นตามที่เล่ามานี้ เผอิญทำไดโดยสะดวก จึงเลยคิดการใหญ่ขึ้น จนเลยกลายเป็นกบฏไป”

เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลสยามทราบเหตุการณ์จลาจลในเมืองแพร่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นมาปราบปรามพวกโจรเงี้ยว จนสงบราบคาบในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้นเอง



กบฏเงี้ยว



ส่วนเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่นั้น ด้วยความเกรงกลัวในความผิด ที่ไม่ต่อสู้ป้องกันบ้านเมือง และต้องสงสัยว่าคบคิดกับพวกโจรเงี้ยวก่อการจลาจล ซึ่งจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ยังไม่ได้สอบสวนความผิด ด้วยความเกรงพระราชอาญาดังกล่าว เจ้าหลวงเมืองแพร่จึงหนีออกจากเมืองแพร่ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ร.ศ. ๒๑๒ (พ.ศ. ๒๔๔๕) โดยออกทางประตูศรีชุม มีผู้ติดตามไปคือ พระยาเทียมยศ นายหนานวัด กับราษฎรผู้ติดตามอีกประมาณ ๑๐ คน โดยเดินเลียบฝั่งแม่น้ำยมไปทางเหนือจนถึงบ้านแม่ลาย (แม่หล่าย) บ้านแม่คำมี บ้านห้วยอ้อย และเมืองลี ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งในเวลานั้น ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส และอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจนสิ้นชีวิต ณ ที่นั้น

ฝ่ายนายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ ได้ทราบเหตุจากเจ้าราชวงศ์กับนางชื่นภรรยา ก็สั่งให้บุตรหลานและเจ้านายทั้งในเมืองแพร่ เมืองน่าน และส่งข้าราชการตำรวจทหารออกสกัดกั้น และสืบหาทางที่เจ้าหลวงเมืองแพร่ได้เล็ดลอดหลบหนีไปหลายสาย ก็ปรากฏว่าไม่พบ ต่อมาจึงทราบว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่กับพวกหลบหนีออกไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเสียแล้ว

ต่อมาวันที่ ๓๐ กันยายน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์ทนตรี แม่ทัพใหญ่ ได้ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตแขวงเมืองแพร่ และชนทั้งหลายทราบทั่วกันว่า

ข้อ ๑. เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ เวลาเช้า เจ้าพิริยะเทพวงศ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการหายไป โดยไม่ได้แจ้งว่าจะไปหรือมีธุระอันจำเป็นจะต้องไป และทั้งไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการด้วย

ข้อ ๒. ได้สั่งให้ข้าราชการ และเจ้านายบุตรหลานของเจ้านครแพร่ ออกไปติดตามโดยรอบคอบเกือบทั่วทั้งเมืองแพร่ เพื่อจะเชิญให้กลับมารับราชการตามเดิม ก็ไม่พบปะเจ้านครแพร่

ข้อ ๓. เหตุที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์ ละทิ้งหน้าที่ราชการไปดังนี้ ก็เป็นอันเห็นได้ว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ได้ตั้งใจหนีไป โดยไม่เต็มใจจะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกต่อไปแล้ว

ข้อ ๔. ตามกฎหมายของบ้านเมืองถือในพระราชกำหนดบทอัยการลักษณะขบถศึก มาตรา ๑๕ มีข้อความว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ให้ผู้ใดครองเมืองรั้งเมือง ถ้าผู้นั้นละทิ้งหน้าที่ราชการบ้านเมืองของตนไปเสีย โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุการณ์อันควรไป หรือไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหน้าที่ราชการแล้ว ผู้นั้นต้องรับโทษเป็นอย่างเบาที่สุดก็คือ ให้ถอดออกจากหน้าที่ราชการที่ตนได้รับตำแหน่งอยู่นั้นเสีย

ข้อ ๕. กฎหมายบทนี้ ก็เป็นอันตรงกับหน้าที่ราชการในเวลานี้ที่จะใช้โดยเข้มแข็ง เพราะว่าบ้านเมืองได้เกิดจลาจลแล้ว ควรที่ข้าราชการต้องรับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเต็มสติกำลังใจของตน


เพราะฉะนั้น จึงประกาศให้ข้าราชการและราษฎรในเขตเมืองแพร่ทราบทั่วกันว่า

๑. เจ้าพิริยะเทพวงศ์กระทำความผิดลงแล้ว ครั้งนี้ต้องด้วยพระราชกำหนดบทพระอัยการศึกลักษณะขบถศึก ให้ถอดออกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ แล้วให้คงเป็นน้อยเทพวงศ์ตามเดิม

๒. ถ้าการต่อไป เจ้าพิริยะเทพวงศ์จะออกหมายหรือคำสั่งอย่างใดห้ามไม่ให้เชื่อถือเป็นอันขาด

๓. หน้าที่ข้าหลวงรักษาราชการเมืองแพร่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร เป็นผู้รั้งราชการต่อไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๓๐ กันยายนรัตนโกสินทรศก ๑๒๑



เป็นอันว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ได้ถูกออกเป็น “นายน้อยเทพวงศ์” แต่นั้นมา ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีนามสกุล “ณ แพร่” แต่เชื้อวงศ์ของเจ้าเมืองแพร่ยังมีเหลืออยู่ โดยแยกวงศ์ตระกูลเป็นหลายสาย คือ แพร่พันธุ์ (นามสกุลของนายโชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา “ยาขอบ” ผู้เขียนวรรณกรรมอันลือชื่อเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ปัจจุบันบุตรชาย นายมานะ แพร่พันธุ์ เป็นบรรณาธิการ นสพ. พิมพ์ไทย) วราราช (นามสกุลของขุนวีระภักดี) วังซ้าย , เตมียานนท์ , แก่นหอม , หมายศปัญญา , และวงศ์บุรี เป็นต้น

วีรกรรมของพระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี” ซึ่งพยายามที่จะรวบรวมกำลังต่อสู้กับพวกโจรเงี้ยว แม้จะไม่มีอาวุธเพียงพอก็ตาม และในขณะที่พวกโจรเงี้ยวปล้นเมืองนั้น ก็มิได้มีความพะวงถึงครอบครัวบุตรภรรยา และทรัพย์สมบัติของตน โดยเห็นแก่บ้านเมืองเป็นส่วนใหญ่ ผลที่สุดต้องถูกพวกโจรเงี้ยวฆ่าตายอย่างทารุณ นับว่าเป็นผู้เสียสละชีพเพื่อประเทศบ้านเมืองอย่างน่าสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป ทางการจึงได้สร้างศิลาจารึกเป็นอนุสาวรีย์แก่พระยาราชฤทธานนท์พหลภักดีไว้ดังกล่าวแล้ว



หนังสืออ้างอิง

๑. ที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๕๐๑
๒. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๘ (ปราบเงี้ยวตอนที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๕
๓. จังหวัดแพร่ งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ๒๕๐๐


..........................................................................................................................................................


คัดจากหนังสือ "คนดีเมืองเหนือ" ของสงวน โชติสุขรัตน์




Create Date : 30 เมษายน 2550
Last Update : 30 เมษายน 2550 15:47:51 น. 4 comments
Counter : 9144 Pageviews.  
 
 
 
 
บันทึกได้ละเอียดดีค่ะ
.....สุวรรณบาตรคนหนึ่ง
 
 

โดย: minuit (minuit ) วันที่: 19 มิถุนายน 2550 เวลา:18:57:35 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ minuit สุวรรณบาตร
ตอบช้าไปนิดหนึ่ง ขออภัยนะครับ
ขอบพระคุณที่ลูกหลานท่าน ได้เข้ามาเยี่ยม Blog ครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:9:24:35 น.  

 
 
 
เพิ่มเติมให้ค่ะ
นามสกุลสุววณบาตร ที่เป็นนามสกุลพระราชทานนั้น เดิมสะกด "สุวรรณบาตร์" (Suvarnapatra) แต่ต่อมาในชั้นหลัง มีการสะกดเพี้ยนไปเป็น "สุวรรณบาตร" คือตัวการันต์ได้หายไป
ที่ทราบเรื่องนี้เพราะคุณยายเคยเล่าให้ฟังค่ะ ว่าท่านต้องเซ้นรับรองในเอกสารราชการหลายฉบับว่า เป็นบุคคลคนเดียวกัน เหตุเพราะตัวการันต์นี่แหละ)
 
 

โดย: minuit วันที่: 17 ตุลาคม 2551 เวลา:12:38:11 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณครับคุณ minuit
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 31 ตุลาคม 2551 เวลา:20:10:59 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com