กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







....................................................................................................................................................


ประวัติ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภาคที่ ๑
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



เรื่องประวัติตอนก่อนรับราชการ



มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุลสุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ สกุลเป็นคฤหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลน้ำตก ริมแม่น้ำฟากตะวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณฯไม่ห่างนัก บิดาของท่านชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนเรียงกันเป็นลำดับดังนี้

๑. พี่ชายชื่อ ฉาย ได้เป็นหลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๒. พี่หญิงชื่อ นิล เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี(ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๓. พี่ชายชื่อ หมี ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลาคนหนึ่ง
๔. พี่ชายชื่อ คล้ำ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตกที่ตั้งเคหสถานของสกุลคนหนึ่ง
๕. พี่หญิงชื่อ หยา เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง(สังข์ พิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๖. ตัวเจ้าพระยายมราชเป็นลูกสุดท้อง

เรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นเด็กปรากฏว่าเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูศาลในเมืองสุพรรณฯ แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี พอมีงานทำบุญในสกุล เขานิมนต์พระใบฎีกา(อ่วม) วัดหงสรัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาแต่ก่อน ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ

ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยได้ยินกรมการเมืองสุพรรณฯชั้นผู้ใหญ่ในเครือญาติ ดูเหมือนจะเป็นหลวงยกกระบัตรเล่าความหลังให้ฟัง (ในสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต)ว่าท่านเป็นลูกคนสุดท้อง เกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคน จนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อยังเป็นเด็กมิใคร่มีใครเอาใจใส่นำพานัก บิดามารดาก็ใส่กัณ์เทศน์ถวายพระเข้ามากรุงเทพฯที่ว่านี้ ตามโวหารของญาติแสดงความพิศวง ด้วยมิได้มีใครเคยหวังว่าเจ้าพระยายมราชจะมาเป็นคนดีมีบุญล้ำเหล่ากอถึงเพียงนี้

แต่เมื่อคิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีที่จะเป็นทายาทของสกุล บิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณฯจนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชครอบครองบ้านเรือน บางทีก็จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเหมือนอย่างนายคล้ำเคยเป็นมาแต่ก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเช่นหลวงเทพสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน "ใส่กัณฑ์เทศน์" ถวายพระพาเข้ากรุงเทพฯนั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน

การศึกษาของเจ้าพระยายมราชเมื่อเข้ามาอยู่วัดหงส์ฯ ปรากฏว่าแรกมาเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ ๖ ปี ตอนนี้มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าพระใบฎีกาอ่วมเห็นจะเอาเป็นธุระ ระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดอย่างสามัญ เพราะท่านเป็นลูกคฤหบดีที่บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรม ตรงกับศัพท์ที่เรียกว่า "ลูกศิษย์" คือเป็นลูกด้วยเป็นศิษย์ด้วย ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสุภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่า ท่านได้รับความอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี อีกอย่างหนึ่งความรู้ภาษาไทยท่านก็ได้เรียนที่วัดหงส์ ไม่เคยเข้าโรงเรียนอื่นนอกจากไปเรียน ก.ข. นโม ที่วัดประตูศาลเมืองสุพรรณฯหน่อยหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ที่ท่านมีความรู้ภาษาไทยเชี่ยวชาญถึงเป็นครูผู้อื่นได้แต่ยังหนุ่ม ก็ต้องนับว่าได้ความรู้ภาษาไทยมาแต่สำนักพระใบฎีกาอ่วมด้วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ อายุท่านได้ ๑๓ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าญาติคงรับออกไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณฯแล้วส่งกลับมาอยู่กับพระใบฎีกาอ่วมที่วัดหงส์ตามเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระใบฎีกาอ่วมจัดการให้บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อมาอีก ๗ พรรษา ลักษณะการเล่าเรียนของสามเณรในสมัยนั้นมีระเบียบเกือบจะเหมือนกันหมดทุกวัด นอกจากเรียนเสขิยวัตรและท่องจำไหว้พระสวดมนต์ ให้เริ่มเรียนหนังสือขอมและหัดเทศน์มหาชาติสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดีอาจารย์จึงให้หัดเทศน์กัณฑ์มัทรี (เมื่อแรกท่านมาอยู่กับข้าพเจ้าเคยเทศน์ให้ฟังแหล่หนึ่งว่าทำนองพอใช้เสียงก็ดี ข้อนี้ผู้ที่เคยฟังท่านอ่านถวายชัยมงคลเมื่อเป็นเสนาบดีแล้ว คงจะจำได้ว่าเสียงท่านยังดีแม้เมื่อแก่ตัวแล้ว)

สามเณรองค์ไหนจะบวชอยู่นานอาจารย์ก็ให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมถีร์ "มูล" คือ ไวยากรณ์ภาษามคธ บางทีพระใบฎีกาอ่วมจะสอนให้เอง หรือมิฉะนั้นคงให้เรียนกับพระอาจารย์องค์อื่นในวัดหงส์ฯหรือวัดที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจารย์สอนชั้นมูลมีแทบทุกวัด เมื่อเรียนคัมภีร์มูลตลอดแล้วก็ตั้งต้นเรียนคัมภีร์พระธรรมบท ตอนนี้เรียกกันว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพราะเรียนคัมภีร์สำหรับจะเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญในสนามหลวง การเรียนถึงชั้นขึ้นคัมภีร์ต้องไปเรียนในสำนักอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษามคธ เจ้าพระยายมราชเริ่มเรียนในสำนักอาจารย์เพ็ญ (ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรกระวีเมื่อบวช) แล้วไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา(บุญ) และสำนักสมเด็จพระวันรัต(แดง)วัดสุทัศน์ต่อกันมา สมเด็จพระวันรัต(แดง) และพระยาธรรมปรีชา(บุญ) เป็นอาจารย์ที่เลื่องลือเกียรติคุณ ศิษย์ของท่านทั้ง ๒ นั้นได้เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็หลายองค์ จึงควรนับว่าเจ้าพระยายมราชได้โอกาสเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักดีอย่างยิ่งถึง ๒ แห่ง

ลักษณะการที่พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เบื้องต้นชีต้นอาจารย์ที่เลี้ยงดูผู้เป็นนักเรียนต้องพาไปฝากต่อท่านผู้จะเป็นอาจารย์ ต่อท่านชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจจะเรียนจริงๆจึงนับเข้าเป็นศิษย์ในสำนัก หนังสือเรียนในสมัยนั้นบังใช้คัมภีร์ใบลานก็ต้องหาเอาไปเอง ถ้าผู้เรียนไม่สามารถหยิบยืมหนังสือของผู้อื่นได้ ก็ต้องเที่ยวขอคัดลอกสำเนาจากฉบับของผู้อื่น และพยายามจารหนังสือด้วยฝีมือของตนเองไปให้ทันกับที่เรียน การจารหนังสือจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งซึ่งผู้จะเรียนพระปริยัติธรรมต้องฝึกหัดตั้งแต่ยังเรียนคัมภีร์มูล ข้อนี้เป็นเหตุให้เปรียญแต่ก่อนเขียนหนังสืองามโดยมาก

การเรียนนั้นถ้านักเรียนเป็นผู้อยู่ในวัดที่เป็นสำนักเรียนก็มักไปเรียนตอนเช้า ถ้าเป็นผู้อยู่ต่างวัดต้องฉันเพลเสียก่อนแล้วจึงไปเรียนในตอนบ่าย เวลาเดินไปใครเห็นก็รู้ว่าพระเณรนักเรียน เพราะแบกห่อคัมภีร์หนังสือเรียนไปบนบ่าเหมือนกันทุกองค์ ถึงเวลาเรียนท่านผู้เป็นอาจารย์ออกมานั่งอาสนะที่ปูไว้ มีกากะเยียสำหรับวางคัมภีร์ลานตั้งอยู่ข้างๆ พวกศิษย์นั่งรายกันอยู่ตรงหน้าและปันเวรกันเข้าไปแปลหนังสือให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถือคัมภีร์ที่แปลนั้นอีกฉบับหนึ่งคอยสอบแปลผิดศัพท์ใดหรือประโยคใด หรือแห่งใดมีกลเม็ดในกระบวนแปลอย่างไร อาจารย์ก็ทักท้วงสั่งสอนไปจนสิ้นระยะการเรียนของศิษย์องค์นั้น แล้วให้องค์อื่นเข้าไปแปลต่อไป วันหนึ่งสอนราว ๔ ชั่วโมง สำนักไหนมีนักเรียนมากเวลาไม่พอจะเข้าแปลต่ออาจารย์ได้หมด ก็ต้องกำหนดวันเป็นเวรเปลี่ยนกันเข้าแปลต่ออาจารย์ พวกศิษย์ที่ไม่ต้องเข้าแปลก็นั่งฟังได้ความรู้ประโยชน์แก่ตนไม่ไปเปล่า

เหตุใดเจ้าพระยายมราชจึงเรียนพระปริยัติธรรมต่ออาจารย์ถึง ๓ สำนัก ข้อนี้เป็นด้วยอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมความรู้ยิ่งหย่อนผิดกัน ถึงแม้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญถึงชั้นสูงด้วยกัน เล่ห์เหลี่ยมในการแปลก็มีต่างกัน แต่มีข้อสำคัญแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง คือถ้าไปเรียนต่ออาจารย์ที่ไม่สู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเวลาเรียนต่ออาจารย์มากเพราะศิษย์มีน้อย ถ้าเรียนในสำนักที่มีคนนับถือมาก เวลาที่ได้เรียนต่ออาจารย์น้องลง เพราะมีศิษย์มากถึงต้องผลัดเวรกันเรียน เจ้าพระยายมราชคงไปเรียนต่ออาจารย์เพ็ญเมื่อตอนแรกขึ้นคัมภีร์ เวลาความรู้ยังอ่อนได้มีเวลาเรียนมาก ครั้นมีความรู้พอเป็นพื้นแล้ว อยากจะมีความรู้ให้สูงขึ้นไปจึงย้ายไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา(บุญ) เมื่อมีความรู้ยิ่งขึ้นจนถึงเกิดประสงค์จะเข้าแปลหนังสือในสนามหลวง จึงไปเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัต(แดง) ด้วยท่านเป็นผู้สอบความรู้องค์หนึ่งที่ในสนามหลวง เพื่อจะให้ตระหนักใจในวิธีแปลตามนิยมของพระมหาเถระผู้สอบความรู้ในสนามหลวง เห็นจะไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต(แดง)ในเวลาเมื่อก่อนอุปสมบทไม่นานนัก

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบท บวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัต(แดง)เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่ พอบวชเป็นพระภิกษุแล้วในปีนั้นเองก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าแปลหนังสือก็ได้รับความสรรเสริญเป็นอย่างประหลาด ควรจะเล่าไว้ด้วย

แต่ก่อนมาการตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมไม่มีกำหนดปี เมื่อใดเปรียญซึ่งสำหรับทรงเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะมีน้อยตัวลงก็โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อหาพระภิกษุซึ่งทรงพระไตรปิฎกตั้งเป็นเปรียญสำรองไว้สำหรับเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นประเพณีเดิมมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วก็ว่างมาถึง ๑๔ ปี พระมหาเถรพากันวิตกว่าการสอบพระปริยัติธรรมเลิกร้างมาช้านาน ความรู้พระภิกษุสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกจะเสื่อมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ คราวเจ้าพระยายมราชเข้าแปลนั้น

ตั้งสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พอเปิดสนามก็เห็นสมจริงดังพระมหาเถรท่านวิตก ด้วยพระภิกษุสามเณรซึ่งเข้าแปลวันละ ๔ องค์ แต่วันแรกมาแปลตกหมด ไม่มีใครได้เป็นเปรียญเลยสักองค์เดียว เป็นเช่นนั้นมาหลายวัน จึงถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์(คือเจ้าพระยายมราช)เข้าแปล เมื่อแปลวันแรกได้ประโยคที่ ๑ ก็ไม่มีใครเห็นแปลกประหลาด เพราะพระภิกษุสามเณรที่แปลตกมาก่อนแปลได้ประโยคที่ ๑ แล้วไปตกประโยคที่ ๒ ก็มี ต่อเมื่อเจ้าพระยายมราชแปลได้ประโยคที่ ๒ จึงเริ่มมีเสียงกล่าวกันว่าบางที "คุณปั้น" จะได้เป็นเปรียญ ถึงวันท่านเข้าแปลประโยคที่ ๓ อันเป็นวันตัดสินว่าจะได้เป็นเปรียญหรือไม่ จึงมีคนพากันไปฟังมากทั้งพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน และคฤหัสที่เอาใจใส่ในการเรียนพระปริยัติธรรม ข้าพเจ้าก็ได้ไปฟังกับเข้าด้วยในวันนั้น พอท่านแปลได้ประโยคที่ ๓ สังเกตดูพระมหาเถรพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรกในการสอบพระปริยัติธรรมครั้งนั้น ผู้อื่นที่ไปฟังนั่งคอยเอาใจช่วยอยู่ก็พากันแสดงความยินดีทั่วหน้า แต่วันนั้นก็เรียกกันว่า "มหาปั้น" สืบมา

ตรงนี้ถึงที่จะเล่าเรื่องเจ้าพระยายมราชมาอยู่กับข้าพเจ้า สมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้รับกรม แต่เป็นนายพันตรีราชองครักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รับราชการประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่ห้องตรงมุมตึกยาวทางข้างฝ่ายตะวันตกประตูพิมานชัยศรี และกำลังจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ด้วย เวลาเช้าพอหัดทหารแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากโรงทหารเดินผ่านทางในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปดูงานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทุกวัน

ก็ที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลานั้นมีสำนักของหลวงตั้งอยู่ สำหรับสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ๔ แห่ง แห่งใหญ่กว่าเพื่อนพระยาธรรมปรีชา(บุญ)เป็นอาจารย์สอน ที่ในพระพุทธปรางค์ปราสาท (คือปราสาทเทพบิดรบัดนี้) นอกจากนั้นสอนตามเก๋งซึ่งสวร้างไว้บนกำแพงข้างหน้าวัดอีก ๓ แห่ง หน้าที่อุดหนุนสำนักเรียนทั้ง ๔ แห่ง เช่น จัดอาหารเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนเป็นต้น โปรดฯให้ข้าพเจ้าเอาเป็นธุระอุดหนุน เพราะโรงครัวของทหารมหาดเล็กอยู่ใกล้

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองเวลาเดินผ่านไปในวัดก็มักแวะฟังพระภิกษุสามเณรหัดแปลพระไตรปิฎกที่แห่งนั้นบ้างแห่งนี้บ้างเป็นเนืองนิจ เจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นสามเณรมาเรียนอยู่ที่พระพุทธปรางค์จึงเริ่มรู้จักกันกับข้าพเจ้า แต่ก็เพียงสนทนาปราศัยเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนองค์อื่นๆ เมื่อท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมถึงวันแปลประโยคที่ ๓ ข้าพเจ้าไปฟังได้พูดปลอบท่านอย่าให้หวาดหวั่น และได้แสดงความยินดีต่อท่านเมื่อแปลสำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกับท่านมากว่าเดือน

คืนวันหนึ่งเวลา ๒๐ นาฬิกา ท่านมาหาข้าพเจ้าที่โรงทหารมหาดเล็ก มีต้นไม้ดัดปลูกในกระถางมาให้ด้วยต้นหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าถามถึงธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่าจะมาลาสึกและเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้ฟังก็ประหลาดใจ ถามท่านว่าเมื่อได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้ว เป็นไฉนจะสึกแต่ยังมิได้รับพระราชทานพัดยศ อนึ่งตัวท่านก็ยังเป็นหนุ่ม ถ้าเรียนพระไตรปิฎกต่อไปคงได้เป็นเปรียญประโยคสูง แล้วได้เป็นพระราชาคณะตั้งตนเป็นหลักแหล่งได้ตลอดชีวิต จะมาทิ้งความเจริญของตัวเองเสียด้วยเหตุใด ท่านตอบว่าท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลพระปริยัติธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลนั้นด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอุทิศสนองคุณท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์มาแต่หนหลัง นึกไว้ว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้เป็นเปรียญก็จะสึกอยู่นั่นเอง

เมื่อข้าพเจ้าห้ามไม่ไหว แล้วก็เห็นว่าสึกเสียดีกว่าจำใจบวชอยู่ต่อไป จึงตอบว่าเมื่อสึกแล้วถ้าสมัครมาอยู่กับข้าพเจ้าก็จะรับด้วยความยินดี เหตุท่านเอาต้นไม้ดัดมาให้ด้วยในวันนั้น ข้าพเจ้ามานึกได้ต่อภายหลังว่าคงเป็นเพราะท่านยังเป็นพระภิกษุ จะถวายตัวด้วยให้ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นถวายต้นไม้ดัดแทน มาหวนรำลึกขึ้นในเวลาเมื่อเขียนเรื่องประวัตินี้ดูก็ชอบกล การที่ท่านให้ต้นไม้ดัดแทนดอกไม้ธูปเทียนนั้น ราวกับเป็นนิมิตสังหรณ์ว่าท่านถวายตัวแก่ข้าพเจ้า เพียงให้เป็นมัคคุเทศก์ชี้ทางที่ท่านจะไปได้ดี มิใช่มาเป็นข้ากับเจ้า หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้เคยทำบุญอธิษฐานร่วมใจกันมาแต่ชาติก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเกิดรุ่นราวครามเดียวกัน แล้วได้มาช่วยกันทำราชการงานเมืองในชาตินี้

เมื่อเจ้าพระยายมราชจะสึกได้มีจดหมายไปลาญาติฉบับหนึ่ง ถ้านับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๕๔ ปีแล้ว พวกลูกเขาค้นพบจดหมายฉบับนั้นที่เมืองสุพรรณฯ คัดสำเนาส่งมาให้ข้าพเจ้าเมื่อจะเขียนเรื่องประวัตินี้ จึงให้พิมพ์ไว้ด้วยต่อไปนี้


ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก


ลิขิตพระมหาปั้น ขอคำนับมายังพี่ {ฉาย,ดี(พี่เขย),นิล,หมี,คล้ำ,หยา} ได้ทราบ

ว่าฉันเห็นจะบวชไปไม่ตลอดเสียแล้ว ฉันจะลาสึกแล้ว ฉันทูลลา(ทางกรมธรรมการตามธรรมเนียม)แล้ว กำหนดวันสึก ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ชขึ้น ๑๒ ค่ำ สึกแล้วฉันจะตามเสด็จ(พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร)ขึ้นไปอยู่บางปะอินสักสามเดือน นายท่านจะทรงผนวช ตัวฉันนั้นท่านพระองค์ดิศวรกุมารท่านทูลขอไว้ เห็นจะพอเอาตัวรอดได้ไม่เป็นไรดอก ถ้าทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓๐ บาท ถ้าไม่ได้ทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓ ตำลึง นี่แลพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย เป็นกรรมของฉันแล้ว เคยรักน้องเพียงไหนก็ขอให้รักน้องเพียงนั้นเทอญ

ฉันเล่าตั้งแต่รู้ความมาก็ไม่ได้ประพฤติการชั่วให้พี่น้องมีความร้อนใจเลยสักอย่างเดียว ก็ครั้งนี้เห็นว่าพี่จะมีความเสียใจมาก ฉันอยากจะให้พี่นิลลงมาสักหน่อย ให้ถึงบางกอก ณ วันเดือนแปด ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขอให้มาให้ได้ทีเดียว พวกใน(กรุงเทพฯ)นี้เล่าใครๆก็ลาไม่ได้ เข้าไม่ยอมให้สึก ฉันคิดการครั้งนี้ก็คิดคนเดียว ครั้นฉันจะขึ้นมา(สุพรรณฯ)เล่าก็มาไม่ได้ การก็จวนอยู่แล้ว ขอพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลยนึกเสียว่า สมเด็จเจ้ายังต้องสึก

ลิขิตมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแมเบญจศก๑๖ (พ.ศ. ๒๔๒๖)


..........................................................................




เจ้าพระยายมราชเกิดปีเดียวกันกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแก่กว่าท่านไม่ถึงเดือน โดยปกติข้าพเจ้าควรจะบวชเป็นพระภิกษุในพรรษาเดียวกับเจ้าพระยายมราช แต่ข้าพเจ้าต้องรอมาบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสชวนให้ไปจำวัสสา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน แต่ในปีที่อายุข้าพเจ้าครบอุปสมบท พระอมราภิรัตขิต(อ่อน)เจ้าอาวาสมีพรรษายังไม่ถึงเขตที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสัยได้ จึงต้องรอมาปีหนึ่ง

เจ้าพระยายมราชสึกแล้ว ก็ขออาสาไปอยู่เป็นเพื่อนที่บางปะอิน จึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัดนิเวศฯด้วยกันกับข้าพเจ้าตลอดพรรษา ในเวลาเมื่ออยู่บางปะอินนั้นเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้พบปะพูดจากันทุกวัน ได้รู้นิสัยใจคอกันและกันก็เริ่มรักใคร่กันแต่นั้นมา เมื่อท่านอยู่วัดนิเวศฯไม่ได้อยู่เปล่า ใช้โอกาสที่มีเวลาว่างตลอดพรรษาขวนขวายเรียนความรู้ภาษาไทยทั้งหัดเขียนหนังสือไทยจนลายมืองาม นอกจากนั้นท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ประเพณีทางฝ่ายคฤหัสถ์จนสามารถเข้าสมาคมได้ ครั้นออกพรรษาข้าพเจ้าสึกก็กลับลงกรุงเทพฯด้วยกัน

เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส์ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญองเขียนหลานกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส์ เคยไปทำบุญที่วัดเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอ็นดูก็รับเป็นโยมอุปัฏฐากตลอดมาจนจักการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์เขียนจึงชวนให้พักอยู่ที่บ้าน


ประวัติตอนแรกรับราชการ


ประเพณีมีมาแต่โบราณ ผู้ได้เคยบวชเป็นพระราชาคณะหรือเป็นเปรียญ ถ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้สึกเมื่อายุเป็นกลางคนแล้ว ถ้าปรารถนาจะทำราชการก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ เพราะเหตุที่เป็นผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้มากมาแต่บวช มักได้เป็นขุนนางทีตำแหน่งในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง หรือกรมอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิตย์ ข้าราชการทั้ง ๓ กรมที่กล่าวมาแล้วเป็นพวกเปรียญลาพรต ซึ่งผู้อื่นมักเรียกกันว่า "พวกแก่วัด" หรือว่า "พวกอาราม" ทั้งนั้นก็ว่าได้

เมื่อตั้งโรงเรียนหลวงในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลือกข้าราชการกรมอาลักษณ์มาเป็นครู ครูในโรงเรียนหลวงก็เป็นตำแหน่งสำหรับพวกเปรียญลาพรตอีกแห่งหนึ่ง อาศัยประเพณีมีดังกล่าวมา เมื่อข้าพเจ้ากลับลงมารับราชการตามเดิม จึงจัดการให้นายปั้นเปรียญถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นับเป็นกำหนดในเรื่องประวัติได้ว่า เจ้าพระยายมราชแรกเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นอายุได้ ๒๒ ปี ส่วนราชการที่จะทำนั้น ในสมัยนั้นข้าพเจ้าสามารถจะหาหน้าที่ให้ท่านได้แต่ ๒ ทาง คือรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กทางหนึ่ง หรือเป็นครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกทางหนึ่ง ถามตัวท่าน ท่านสมัครจะรับราชการพลเรือน ข้าพเจ้าจึงส่งให้ไปหัดเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ชั้นแรกได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑๖ บาท แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นครูผู้ช่วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระราชทานรางวัลนักเรียนในงานประจำปีที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรในโรงเรียนทั่วไปพอพระราชทานหฤทัยในความเจริญของโรงเรียนนั้นมาก เมื่อเสด็จกลับดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชายที่พระชันษาถึงขนาดเข้าโรงเรียนมี ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ศักดิ์(กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม(กรมหลวงปราจิณกิติบดี)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช(กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)พระองค์หนึ่ง ให้ข้าพเจ้ารับเอาไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย

เมื่อข้าพเจ้าได้รับสั่งแล้วมาคิดถึงการที่จะฝึกสอนพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์นั้น เห็นว่าให้เรียนรวมกันทั้ง ๔ พระองค์จะดีกว่าให้แยกกันไปเรียนตามชั้นความรู้ในโรงเรียน แต่จะต้องมีครูคนหนึ่งต่างหากสำหรับสอนเฉพาะเจ้านาย ๔ พระองค์นั้น คิดหาตัวผู้ที่จะเป็นครู เห็นว่ามหาปั้น(คือเจ้าพระยายมราช)จะเหมาะกว่าคนอื่น เพราะมีความรู้พอจะเป็นครูได้ ทั้งอัธยาศัยใจคอก็เป็นคนดี ดังได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ขึ้นไปอยู่บางปะอินด้วยกันเมื่อข้าพเจ้าบวช ทั้งในเวลานั้นก็ยังเป็นแต่ครูผู้ช่วย ถึงถอนตัวมาก็ไม่ลำบากแก่การในโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงเลือกมหาปั้นให้มาเป็นครูผูสอนพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ และจัดห้องเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งต่างหากที่ท้องพระโรงของสมเด็จขพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าพระยายมราชก็ได้เลื่อนที่และได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๔๘ บาท เสมอครูประจำชั้นอื่นๆในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ตั้งแต่พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูกทั้งที่จัดให้พระเจ้าลูกยาเธอเรียนต่างหาก และที่ได้เลือกมหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ ๔ พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกยาเธอเหมาะดี คือไม่เหลาะแหละอย่างว่า "ประจบลูกศิษย์" แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิทสนมหมดทุกพระองค์

ต่อมาภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์(กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) เสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกพระองค์หนึ่ง ก็ได้เรียนต่อเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งพระราชหฤทัยเป็นยุติมานานแล้วว่าบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชายเมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้วจะโปรดฯให้ไปเรียนวิชาความรู้ถึงยุโรปทุกพระองค์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมพระจันทบุรีฯกับกรมหลวงราชบุรีฯพระชันษาถึงกำหนดโสกัน ทรงพระราชดำริว่ากรมหลวงปราจีณฯกับกรมหลวงนครชัยศรีฯพระชันษาอ่อนกว่าเพียงปีหนึ่งสองปี และได้ทรงเล่าเรียนอยู่ด้วยกันแล้ว จึงโปรดฯให้ทำพระราชพิธีโสกันต์และทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๑๕ วันด้วยกันทั้ง ๔ พระองค์ แล้วโปรดให้พระยาชัยสุรินทร(ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ์)เป็นผู้พาไปส่งยังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (เวลานั้นยังเป็นกรมหมื่น) ซึ่งเป็นอัครราชทูตสยามอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทรงจัดการเล่าเรียนต่อไป (แต่กรมหลวงชุมพรฯเวลานั้นพระชันษาเพียง ๖ ขวบ จึงมิได้เสด็จไปด้วย)

เมื่อจะส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปยุโรปครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่า พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมาเพียงปีเดียว ถ้าทิ้งหนังสือไทยก็จะลืมเสีย จึงดำรัสสั่งข้าพเจ้าให้หาครูไปยุโรปกับพระเจ้าลูกยาเธอสักคนหนึ่ง การเลือกก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องหาใครอื่น เพราะมีเหมาะแต่เจ้าพระยายมราชคนเดียว โดยได้เป็นครูและคุ้นเคยสนิทสนมกับพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์อยู่แล้ว ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระราชดำริเห็นหชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้ นายปั้นเปรียญ เป็น "ขุนวิจิตรวรสาส์น" มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ์(แผนกครู) เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยุโรป

เรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชตอนนี้คิดดูก็ชอบกล ถ้าหากท่านสมัครรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กก็ดี หรือเมื่อสมัครไปเป็นครูแล้ว แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้โปรดส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ดี หรือที่สุดถ้ามิได้ทรงพระราชดำริจะให้มีครูหนังสือไทยไปยุโรปกับพระเจ้าลูกยาเธอก็ดี เจ้าพระยายมราชก็คงจะมิได้มีโอกาสออกไปหาคุณวิเศษเพิ่มขึ้นที่ในยุโรป พฤติการณ์ชวนให้เห็นว่าผลบุญส่งท่านไปยังโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เหมือนอย่างที่เคยส่งท่านเข้ามาจากเมืองสุพรรณฯ อีกครั้งหนึ่ง น่าพิศวงอยู่

ตั้งแต่เจ้าพระยายมราชไปอยู่ยุโรปอยู่ห่างกับตัวข้าพเจ้าได้แต่มีจดหมายไปมาถึงกัน เรื่องประวัติตอนนี้ต้องเขียนตามความเห็นจดหมายเหตุและได้ยินคนอื่นเล่าโดยมาก เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จไปถึงกรุงลอนดอน กรมพระนเรศฯทรงหาบ้านแห่งหนึ่งให้ประทับอยู่ด้วยกัน เจ้าพระยายมราชกับนายสิบทหารมหาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ข้าพเจ้าเลือกไปเป็นพี่เลี้ยง ก็อยู่ด้วยกันที่บ้านนั้น

ส่วนการเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอนั้น กรมพระนเรศฯทรงหาครูฝรั่งคนหนึ่งมาสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลาเสมอทุกวัน เวลาว่างเรียนภาษาอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็สอนภาษาไทยถวาย

เล่ากันว่าเจ้าพระยายมราชชักเงินเดือนของตนเองไปจ้างครูสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวท่านด้วย ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ด้วยเวลาเมื่อแรกไปยังได้เงินเดือนน้อยนัก น่าจะเรียนต่อตอนเมื่อได้มีตำแหน่งในสถานทูตรับเงินเดือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อที่เจ้าพระยายมราชเรียนภาษาอังกฤษด้วยทุนของท่านเอง และพยายามเรียนจนรู้ภาษาอังกฤษอีกภาษาหนึ่งนั้น เชื่อได้ว่าเป็นความจริง พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จอยู่ลอนดอนได้ไม่ช้านัก เห็นจะราวสักปีหนึ่ง กรมพระนเรศฯก็เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แต่นั้นเจ้าพระยายมราชก็เป็นทั้งครูและเป็นพระอภิบาลเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียจะฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปีเป็นงานใหญ่ เชิญสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปช่วยงานด้วยกันกับพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ แต่ยังขัดข้องจะเสด็จไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น แต่เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแล้ว) เสด็จไปแทนพระองค์ ข้าพเจ้าเคยได้ยิน จะเป็นสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯตรัสเล่าหรือใครบอกก็ลืมไปเสียแล้ว ว่าเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯประทับอยู่ ณ กรุงลอนดอน ทรงทราบว่าพระเจ้าลูกยาเธอไม่สบายพระหฤทัยด้วยคิดถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระญาติวงศ์ อยากจะกลับมาเยี่ยมบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯสงสาร และทรงพระดำริเห็นว่าการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอในชั้นนั้นก็เป็นแต่ให้ครูไปรเวตมาสอนที่บ้าน ถึงแม้จะกลับมากรุงเทพฯ ถ้าให้ครูมาด้วยก็จะไม่เสียประโยชน์ในการเรียน จึงมีโทรเลขเข้ามากราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานยพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับมาชั่วคราวตามพระประสงค์

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯเสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับมากรุงเทพฯ ทางทวีปอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เจ้าพระยายมราชก็ตามเสด็จกลับมาด้วย มาถึงกรุงเทพฯเมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๑

เจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องวราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เป็นบำเหน็จครั้งแรก ถึงเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนซึ่งได้เคยอุปการะมาแต่ก่อนเห็นจะสิ้นชีพตักษัยแล้ว ยังเหลือแต่หม่อมราชวงศ์หญิงเขียน ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกอกน้อย เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมายังมีความอารีชวนท่านไปพักอยู่ที่บ้าน เจ้าพระยายมราชได้เคยพาหม่อมราชวงศ์เขียนมาหาข้าพเจ้า เป็นคนสูงอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ดูเจ้าพระยายมราชเคารพนับถืออย่างเป็นผู้ใหญ่

ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ที่จวนตำบลศาลาแดง ข้าพเจ้าไปหาได้พบหม่อมราชวงศ์เขียนอยู่ที่นั่น ไต่ถามได้ความว่าเมื่อหม่อมราชวงศ์เขียนแก่ชราลง อยู่ที่บ้านเดิมมีความอัตคัดขัดสน เจ้าพระยายมราชจึงไปรับมาเลี้ยงดูอุปัฏฐากสนองคุณให้มีความสุขสบาย และต่อมาเมื่อถึงแก่กรรมก็ปลงศพให้ด้วย

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ไปเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าอย่างแต่ก่อน การเรียนตอนนี้ผิดกับแต่ก่อนเพียงแบ่งเวลาให้ครูอังกฤษสอนครึ่งวัน เจ้าพระยายมราชสอนครึ่งวัน ส่วนตัวเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าก็กลับใกล้ชิดไปมาหาสู่กันเสมอเหมือนอย่างแต่ก่อน และยังไม่มีกำหนดว่าจะโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปอีกเมื่อใด

การที่เจ้าพระยายมราชได้กลับมากรุงเทพฯครั้งนั้น เป็นคุณแก่ตัวท่านโดยมิได้คาดหลายอย่าง จะกล่าวแต่เฉพาะที่เป็นข้อสำคัญคือ เมื่อเดินทางมาด้วยกันกับสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯได้ทรงรู้จักคุ้นเคยตระหนักพระหฤทัยว่า เป็นผู้มีความรู้และอัธยาศัยดี ก็ทรงพระเมตตากรุณา เป็นเหตุให้ทรงเกื้อหนุนดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า แต่ข้อที่เป็นคุณอย่างสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติของท่านนั้นคือ ที่มาได้ภรรยา เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะเล่าได้ด้วยความรู้เห็นของตนเอง

เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาถึงกรุงเทพฯได้ราวสัก ๒ เดือน วันหนึ่งท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าใคร่จะมีภรรยาให้เป็นหลักแหล่ง ท่านทราบว่าพระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์ เวลานั้นยังเป็นพระยาเพชดา)มีลูกสาว ถ้าข้าพเจ้าไปขอให้ท่าน บิดาเห็นจะไม่ขัดเพราะเคยเมตตากรุณาแต่เมื่ออยู่ลอนดอนด้วยกัน (เมื่อพระยาชัยวิชิตยังเป็นหลวงวิเศษสาลีได้ตามเสด็จกรมพระนเรศฯไปเป็นเลขานุการในสถานทูต) ข้าพเจ้าแต่งคนไปทาบทามก็ดูเหมือนจะให้ แต่ข้าพเจ้านึกลำบากใจด้วยตัวเองยังเป็นหนุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าบ่าว จะวางตัวเป็นเถ้าแก่ดูกระไรอยู่ จึงแนะให้ไปไหว้วานมารดาข้าพเจ้าให้เป็นเถ้าแก่สู่ขอ เพราะท่านก็เคยคุ้นกับพระยาชัยวิชิตพอจะพูดกันได้ เจ้าพระยายมราชไปบอกมารดา ท่านก็ยินดีรับจะไปขอให้ตามประสงค์ ด้วยท่านเมตตาปราณีเจ้าพระยายมราชตั้งแต่ไปอยู่วัดนิเวศฯด้วยกันกับข้าพเจ้า ท่านจึงชวนข้าพเจ้าไปขอ นางสาวตลับ ธิดาคนใหญ่ของพระยาชัยวิชิตให้แก่ขุนวิจิตรวรศาส์น พระยาชัยวิชิตก็ยิ้มแย้มยอมยกให้ด้วยความยินดี ว่าได้เคยคุ้นกับขุนวิจิตรวรสาส์น เห็นว่าเป็นคนดีพอจะวางใจให้ลูกสาวได้ แต่เมื่อตกลงกันจนได้ลงมือปลูกเรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิตที่บางขุนพรหมแล้ว มีความลำบากเกิดขึ้นด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงกำหนดเวลาให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปใกล้ๆกับวันฤกษ์ที่จะแต่งงาน

ข้าพเจ้าทราบก็ตกใจเกรงพระยาชัยวิชิตจะไม่ยอมให้แต่งงาน เพราะแต่งแล้วขุนวิจิตรวรสาส์นจะต้องทิ้งลูกสาวของท่านไปเสีย จึงรีบไปปรึกษาพระยาชัยวิชิตว่าจะทำอย่างไรดี แต่พระยาชัยวิชัตไม่ตกใจ กลับยิ้มแย้มตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้เขาไปฮันนีมูน (คือประเพณีฝรั่งพากันไปเที่ยวเมื่อแรกแต่งงาน) ก็แล้วกัน" จึงคงได้แต่งงานตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

เมื่อเจ้าพระยายมราชแต่ประวัติท่านผู้หญิงตลับได้พรรณนาถึงการพิธีที่ทำเมื่อแต่งงานพิสดาร ว่าเริ่มด้วยพิธีสงฆ์สวดมนต์และฉันที่เรือนหอ (จะเพิ่มอธิบายสักหน่อยว่าสวดมนต์เลี้ยงพระนั้นเป็นพิธีสำหรับขึ้นอยู่เรือนใหม่ต่างหาก ส่วนการแต่งงานสมรสนั้นพรสงฆ์หาเกี่ยวข้องไม่) ส่วนการพิธีทางฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ท่านเล่าว่าได้เชิญพระยาเจริญราชไมตรี(ชื่น ศรีเพ็ญ) กับคุณหญิงจันทเจริญราชไมตรีเป็นผู้ปูที่นอน ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพิธีปูที่นอนบ่าวสาวแทรกลงตรงนี้สักหน่อย เพราะเกี่ยวถึงเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเมื่อภายหลัง

อันคู่ผัวเมียซึ่งสมควรจะเป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาวนั้นต้องทรงคุณสมบัติประกอบกันหลายอย่าง เป็นต้น แต่ต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ผัวตัวเมียมาแต่ยังหนุ่มสาว จนแก่ด้วยกันอย่างหนึ่ง อยู่เป็นสุขสำราญร่วมใจกันมามิได้ร้าวฉานอย่างหนึ่ง สามารถตั้งตัวไดเป็นหลักฐานและมีบุตรธิดาที่จะสืบสกุลวงศ์อย่างหนึ่ง และเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมด้วยอย่างหนึ่ง ถ้าว่าโดยย่อคือผู้ซึ่งทรงคุณสมควรจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่บ่าวสาว เมื่ออยู่ด้วยกันต่อไป

ผู้ปกครองทั้ง ๒ ฝ่ายจึงปรึกษาหาคู่ผัวเมียซึ่งทรงคุณเช่นว่ามาเป็นผู้ปูที่นอนและประสิทธิพรให้คุณสมบัติของตนแก่บ่าวสาว ก็แต่คู่ผัวเมียซึ่งสมบูรณ์คุณสมบัติเช่นนั้นหายาก บางคู่มีคุณอย่างอื่นบริบูรณ์แต่ผัวกลัวเมียเกินขนาด ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าบ่าวก็มักรังเกียจ ถ้าผู้ผัวมีเมียน้อยผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวก็มักรังเกียจ เมื่อเลือกจึงต้องปรึกษาหารือให้พร้อมใจกันว่าเชิญคู่ไหน ส่วนผู้ที่ได้รับเชิญก็ย่อมรับทำให้ด้วยความยินดี เพราะเหมือนกับได้รับความยกย่องของมหาชนว่าเป็นผู้ทรงความดีอันควรนับถือ แต่ก็มีเสี่ยงภัยอยู่บ้างแม้ผัวเมียคู่นั้นไปเกิดแตกร้าวกันขึ้นเมื่อภายหลัง เข้าก็ไม่มีเชิญอีกต่อไป คล้ายกับถูกถอด หรือคู่ใดถึงความตายไปคนหนึ่ง คนที่ยังอยู่ก็ไม่ได้รับเชิญอีก เปรียบเหมือนถูกปลดขาดจากหน้าที่ ด้วยเหตุเหล่านี้คู่ผัวเมียซึ่งคนชอบเชิญปูที่นอนบ่าวสาวในสมัยนั้นจึงไม่มีมากนัก

อนึ่งการปูที่นอนบ่าวสาวนั้นมีแบบพิธีมาแต่โบราณ ผู้จะปูที่นอนบ่าวสาวต้องเรียนให้รู้ตำราด้วย เมื่อแต่งงานเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นพิธีปูที่นอนเพราะไปรดน้ำเมื่อตอนบ่าย พิธีปูที่นอนเข้าทำกันต่อเวลาค่ำราว ๒๑ นาฬิกา

มาได้เห็นพิธีนั้นเป็นครั้งแรกเมื่อแต่งงานหม่อมเจ้าจุลดิศลูกชายใหญ่ของข้าพเจ้ากับนางสาวแช่ม เปาโรหิต(น้องเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ)) ทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมใจกันเชิญพระยาพฤฒาธิบดี(ปลอด)กับคุณหญิงหนูพฤฒาธิบดี อายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ทั้ง ๒ คนเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาว เมื่อถึงเวลาจะทำพิธี ข้าพเจ้ากับพวกญาติเข้าไปนั่งคอยดูอยู่ในห้องนอนหลายคน นั่งอยู่กับพื้นด้วยกันทั้งนั้น พอถึงเวลาเริ่มการพิธี พระยาพฤฒาฯก็ลุกขึ้นยืนร้องถามข้อความต่างๆและมีทนายคอยตอบ จะเรียงคำตามที่จำได้ดังนี้

พระยาพฤฒาฯ "ถึงฤกษ์หรือยัง"
ทนาย "ถึงแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒาฯ "นายบุญมั่นมาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒาฯ "ก็นายบุญคงเล่า มาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"

แล้วถามถึงคนที่ชื่อเป็นสวัสดิมงคลอย่างอื่นต่อไปอีกสักสามสี่คน ทนายก็รับว่ามาแล้วทุกครั้ง เมื่อถามเสร็จแล้วพระยาพฤฒาฯลงนั่งหันหน้าไปพูดกับคุณหญิงหนูว่า "ถึงฤกษ์ดีแล้ว ผู้จะมาช่วยอำนวยพรก็มาพร้อมกันแล้ว เรามาช่วยกันปูที่นอนให้เถิดแม่หนู" ว่าแล้วก็ช่วยกันปูที่นอนจนเรียบร้อย แล้วพระยาพฤฒาฯกับคุณหญิงหนูก็ขึ้นไปนั่งเคียงกันบนที่นอน หันหน้าไปทางข้างหัวนอน ไหว้พระสวดมนต์ด้วยกันสักครู่หนึ่ง พอจบแล้วก็ลงนอนเคียงกันบนที่นอน ให้พรบ่าวสาวเป็นคำสนทนากันและกันเป็นทำนองดังนี้

พระยาพฤฒาฯ "ที่นอนน่านอน ใครนอนเห็นจะอยู่เย็นเป็นสุขสบาย อายุยืนนะแม่หนู"
คุณหญิงหนู "สบายนักคะ ถ้าใครนอนที่นอนนี้คงจะเกิดทรัพย์สินมากมูลพูนเขา มีลูกเต้าน่ารักน่าชม"

ให้พรโดยกระบวนสนทนาเช่นนี้อีกหลายอย่าง จนจบบทให้พรแล้ว นอนหลับตานิ่งเหมือนกับหลับอยู่สักครู่หนึ่งก็ลุกลงจากเตียงเป็นเสร็จการพิธี

ต่อมาอีกหลายปี เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีแล้ว ข้าพเจ้าจะแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพบุตรข้าพเจ้ากับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ์ ในพระองค์เจ้าพร้อมพงศอธิราช ข้าพเจ้าได้ยินว่าในสมัยนั้นมีผู้เชิญเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับปูที่นอนบ่าวสาวอยู่บ้างแล้ว จึงเชิญท่าน ท่านก็รับ

ครั้นถึงวันแต่งงาน เวลาจะปูที่นอนข้าพเจ้าอยากดูการพิธีเหมือนเมื่อครั้งชายใหญ่แต่งงานก็เข้าไปนั่งคอยดูอยู่ด้วยกันกับพวกญาติที่ในห้องนอน เจ้าพระยายมราชเข้าไปตรวจตราเครื่องที่นอนด้วยกันกับท่านผู้หญิงตลับ แล้วมาพูดกับข้าพเจ้า ว่าการที่ทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาว ท่านอยากทำให้เป็นสิริมงคลด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ ถ้ามีคนคอยดูทำให้ใจคอฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ เห็นว่าคล้ายกับเล่นละครหาเป็นมงคลจริงๆไม่ ข้าพเจ้าเกรงใจท่านก็ชวนกันออกมาเสียจากห้อง พอคนออกหมดแล้วท่านก็ปิดประตูลงกลอน เหลืออยู่ในห้องแต่ตัวท่านกับท่านผู้หญิงตลับ ๒ คนเท่านั้น จนเสร็จการพิธีจึงเปิดประตูออกมาข้างนอก

การพิธีปูที่นอนบ่าวสาวในชั้นหลังมาได้ยินว่า ผู้ปูที่นอนไม่ยอมให้ใครดูเหมือนอย่างครั้งนั้น จะได้แบบของเจ้าพระยายมราชไป หรือท่านจะได้แบบมาจากใครข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับได้มีเกียรติในการรับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวสืบมาช้านาน

พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯได้ ๑๐ เดือน ถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๑ ประจวบกับเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งในเวลานันเป็นตำแหน่งผู้ช่วยบุญชาการทหารเรือเสด็จตรวจการในยุโรป จึงโปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์พาพระเจ้าลูกยาเธอกลับไปส่งยังประเทศอังกฤษด้วย เสด็จไปครั้งนั้นเดินทางตามระยะที่พระองค์เจ้าสายฯได้กะไว้สำหรับพระองค์ท่านเอง ไปทางเมืองพม่าและอินเดียก่อน แล้วจึงไปลงเรือเมล์ที่เมืองบอมเบไปยุโรป เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกยาเธอได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองของชนชาติต่างๆหลายเมือง

กระบวนส่วนพระองค์พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปครั้งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงไปเหมือนครั้งก่อน มีแต่เจ้าพระยายมราชได้รับพระกรุณาของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯทรงอุกหนุน ด้วยกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตที่กรุงลอนดอน ได้เงินเดือนมากขึ้น เมื่อไปถึงลอนดอนจึงสามารถหาบ้านที่อยู่ต่างหาก เพราะมีภรรยาไปด้วยจะอยู่บ้านเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธออย่างแต่ก่อนไม่สมควร

ถึงสมัยนี้เจ้าพระยายมราชอาจทำราชการได้ทั้งที่สถานทูตและที่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เพราะทรงชำนิชำนาญหนังสือไทยมากแล้ว เป็นแต่ต้องแนะนำให้ทรงหนังสือต่างๆ แต่เมื่อเจ้านายไม่มีพี่เลี้ยงไทยอยู่ด้วยดังแต่ก่อน เจ้าพระยายมราชก็ต้องเอาเป็รธุระในการส่วนพระองค์มากขึ้น แม้เวลาพระองค์ใดประชวรก็ไปอยู่ดูแลรักษาพยาบาลจนกว่าจะหาย ฝ่ายท่านผู้หญิงตลับก็ไปด้วยช่วยทำการต่างๆถวายพระเจ้าลูกยาเธอ เช่นทำเครื่องอย่างไทยให้เสวยเป็นต้น ความรักใคร่ในระหว่างพระเจ้าลูกยาเธอกับเจ้าพระยายมราชจึงสนิทสนมอยู่ตามเคย มิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตอยู่ไม่ช้านัก ก็ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๒ เต็มตำแหน่ง

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมตอบแกรนดยุ๊กซาร์เรวิช รัชทายาทประเทศรุสเซีย (ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒) ที่ได้เสด็จมากรุงเทพฯเมื่อปีก่อน และโปรดให้ข้าพเจ้าไปยังราชสำนักประเทศอื่นๆ เพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เพื่อกิจการอย่างอื่นบ้างอีกหลายอย่าง เมื่อไปครั้งนั้นโปรดฯให้ข้าพเจ้าเชิญสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนวิจิตรวรสาส์น (คือเจ้าพระยายมราช) ขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาส์นไปพระราชทานด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจที่เกี่ยวกับพระเจ้าลูกยาเธอ ๒ พระองค์ คือ กรมหลวงราชบุรีสอบความรู้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว โปรดฯให้ข้าพเจ้าพาไปส่งยังวิทยาลัยไคลสต์เชิชในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดด้วย ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีฯนั้น มีพระราชประสงค์จะให้ไปเรียนวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก ด้วยสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ (พระอัยกาของเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้) ตรัสว่าจะทรงรับอุปการะให้ได้เรียนดังพระราชประสงค์ จึงโปรดฯให้ข้าพเจ้าพากรมหลวงนครชัยศรีฯไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กด้วย

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงลอนดอน ยินดีอย่างยิ่งด้วยไปได้พบกับพระเจ้าลูกเธอ และเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ เวนานั้นท่านผู้หญิงตลับมีลูกแล้ว ๒ คน บุตรคนหัวปีชื่อ สวาท(คือพระยาสุขุมนัยวินิตเดี๋ยวนี้)คนหนึ่ง ธิดาชื่อ ไสว(แต่เมื่อกลับมากรุงเทพฯมาถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเด็ก)คนหนึ่ง ข้าพเจ้าพักอยู่สถานทูต พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จมาหาและพาไปเที่ยวเนืองๆ ทั้งเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับก็หมั่นไปมาหาสู่ ข้างฝ่ายข้าพเจ้ามักไปที่ตำหนักพระเจ้าลูกยาเธอและที่บ้านเจ้าพระยายมราชเนืองๆ เป็นเริ่มแรกที่ข้าพเจ้าจะได้คุ้นกับท่านผู้หญิงตลับมาแต่ครั้งนั้น

เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้ส่งกรมหลวงราชบุรีฯเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็พากรมหลวงนครชัยศรีฯออกจากประเทศอังกฤษ และให้เจ้าพระยายมราชไปในตำแหน่งเป็นเลขานุการของข้าพเจ้า เพื่อจะได้เป็นเพื่อนกรมหลวงนครชัยศรีฯด้วย ไปพักอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสหน่อยหนึ่ง แล้วชวนพระยาสุริยานุวัติ(เกิด บุนนาค) เวลานั้นยังมียศเป็นพระและเป็นอุปทูตอยู่ประเทศฝรั่งเศสคนหนึ่ง กับมิสเตอร์ ไวก์ ที่ปรึกษาในสถานทูตที่ปารีสอีกคนหนึ่งไปด้วย ไปยังกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก่อน เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนเสด็จไม่อยู่ เจ้ารัชทายาท (คือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก พระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้)เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ทรงรับรองเลี้ยงดู ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อสมเด็จพระราชบิดาจะเสด็จไปประเทศรุสเซียได้ดำรัสสั่งไว้ ให้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าก็จะไปสู่ราชสำนักในรุสเซียจะได้พบพระองค์ ณ ที่นั้น ถ้าพากรมหลวงนครชัยศรีฯไปถวายที่นั่นก็จะทรงยินดี เพราะฉะนั้นกรมหลวงนครชัยศรีฯกับเจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยังประเทศต่างๆในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าอีกหลายประเทศ

ออกจากกรุงโคเปนเฮเกนไปยังกรุงเบอร์ลิน แต่ที่กรุงเบอร์ลินกรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จไปอย่างไปรเวต ข้าพเจ้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าไกเซอวิลเฮมที่ ๒ แล้วขึ้นรถไฟออกจากกรุงเบอร์ลินไปยังประเทศรุสเซีย ลงจากรถไฟที่เมืองโอเดสซาริมทะเลดำ แล้วลงเรือกำปั่นไฟของหลวงไปยังพระราชวังลิวาเดียอันเป็นที่ประทับในฤดูร้อน โปรดให้ไปอยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด

เวลานั้นมีเจ้านายไปประชุมกันอยู่ที่วังลิวาเดียมาก ในพระราชวงศ์รุสเซียมีสมเด็จพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๒ กับสมเด็จพระราชินีมารีเป็นประมุข ลูกก็เสด็จอยู่ที่นั่นทุกพระองค์ คือ ซาร์เรวิช แกรนดยุ๊กยอร์ช แกรนดัชเชสเซเนีย แกรนดยุ๊กไมเคล แกรนดัชเชสออลคา และแกรมดยุ๊กอเล็กซานเดอร์ซึ่งจะเป็นราชบุตรเขย เจ้านายในวงศ์เดนมาร์ก คือ สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนและสมเด็จพระราชินีหลุยส์ เจ้านายราชวงศ์อังกฤษ คือ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา(เวลานั้นยังเป็นปรินเซสออฟเวลล์) เจ้าหญิงวิกตอเรีย เจ้าหญิงหมอด (ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินีประเทศนอรเว) เวลาเสวยกลางวันเสวยด้วยกันแต่เจ้านาย

วันหนึ่งพอเวลาเสวยแล้ว สมเด็จพระเจ้าซาร์ดำรัสให้แกรนดยุ๊กไมเคลราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งยังรุ่นราวคราวเดียวกับกรมหลวงนครชัยศรีฯ ยังทรงเครื่องกะลาสีอยู่ ให้พวกกรมหลวงนครชัยศรีลงไปเล่นด้วยกันที่ในสวน พอลงไปถึงแกรนดยุ๊กไมเคลก็กรากเขาเล่นปล้ำตามประสาเด็ก กรมหลวงนครชันศรีฯของเราก็แววดีใจหาย แทนที่จะกระดากกระเดื่อง เขาปล้ำก็ปล้ำกับเขาบ้าง เล่นกันสนุกสนานอยู่ที่ในสวน สมเด็จพระราชินียืนทรงพระสรวลทอดพระเนตรอยู่ทั้ง ๒ พระองค์ เวลาค่ำเสวยพร้อมกันทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ รวมเบ็ดเสร็จทั้งพวกเรากว่า ๕๐ คน

เมื่อกลับจากลิวาเดีย สมเด็จพระเจ้าซาร์โปรดฯให้เรือไฟพระที่นั่งลำใหญ่รับข้ามทะเลดำมาส่งที่กรุงคอนสะแตนติโนเปิล (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอิสตันบูล) ราชธานีของประเทศตุรกี ชะรอยสมเด็จพระเจ้าอับดุลฮามิดสุลต่านตุรกีจะได้ทรงทราบถึงการรับรองพวกเราในประเทศรุสเซีย จึงโปรดฯให้รับเข้าไปอยู่ในพระราชวังยิลดิส อันเป็นที่เสด็จประทับด้วยกันทั้งนั้น และทรงแสดงพระเมตตาปรานีมาก เมื่อจะมาจากตุรกีก็ตรัสห้ามมิให้มาเรือเมล์ โปรดให้เรือกำปั่นหลวงมาส่งถึงกรุงอะเธนส์ราชธานีประเทศกีซ สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๑ (องค์พระอัยกาของสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๒ ซึ่งเสวยราชย์อยู่บัดนี้) ก็โปรดรับให้อยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เห็นจะเป็นด้วยมีพระราชประสงค์ จะตอบแทนพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงรับเจ้ายอร์ชราชโอรสซึ่งเข้ามากรุงเทพฯด้วยกันกับแกรนดยุ๊กซาร์เรวิช ออกจากประเทศกรีซมายังกรุงโรมในประเทศอิตาลี ตอนนี้กรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จเป็นอย่างไปรเวตเหมือนอย่างไปกรุงเบอร์ลิน เมื่อข้าพเจ้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอุมเบิตและไปเที่ยวชมเมืองฟลอเรนส์กลับมาถึงเมืองเนเปิล เป็นอันเสร็จราชการที่ข้าพเจ้าไปยุโรป แล้วก็ต้องแยกกัน กรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชกลับไปกรุงลอนดอน พระยาสุริยานุวัติกับมิสเตอร์ ไวก์ กลับไปกรุงปารีส ฝ่ายข้าพเจ้าก็ลงเรือกลับมาจากยุโรป มาแวะดูประเทศอียอปต์และอินเดียราว ๒ เดือน ตามได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่เจ้าพระยายมราชได้ไปประเทศต่างๆในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าครั้งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านมาก นอกจากได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศที่ไป ท่านได้ความคุ้นเคยเข้าสมาคมชั้นสูงในยุโรป ทั้งได้เห็นขนบธรรมเนียมในราชสำนักต่างๆได้ประโยชน์เหล่านั้นเหมาะกับเวลา พอท่านกลับไปถึงกรุงลอนดอนไม่ช้า สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯก็กราบทูลขอให้เลื่อนยศขึ้นเป็น เลขานุการชั้นที่ ๑ ในสถานทูต

ต่อมาได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระวิจิตรวรสาส์น และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ด้วย ถึงตอนนี้ทั้งตัวท่านและท่านผู้หญิงตลับได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้รับเชิญเข้ากับหมู่ทูตต่างประเทศเวลามีงานต่างๆเนืองนิจ

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นพระครูสอนหนังสือไทยถวายเมื่อตอนแรกเสด็จออกไปถึง จนเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) แต่ยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ออกไปเปลี่ยน


Create Date : 24 มีนาคม 2550
Last Update : 24 มีนาคม 2550 11:07:12 น. 6 comments
Counter : 5460 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


ถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นสิ้นเขตที่เจ้าพระยายมราชเป็นครูและพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ด้วยทรงพระเจริญวัย เสด็จแยกย้ายกันไปเรียนวิชาเฉพาะอย่างตามต่างประเทศ มิได้อยู่รวมกันเหมือนแต่ก่อน กรมพระจันทบุรีฯเสร็จการเล่าเรียนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯก่อนพระองค์อื่น จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช เมื่อยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาส์นกลับมาพร้อมกันกับกรมพระจันทบุรีฯ ท่านผู้หญิงตลับกับบุตรธิดา ๒ คนก็กลับมาด้วย มาอยู่ที่เรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิต ณ ตำบลบางขุนพรหม ต่อมาเมื่อพระยาชัยวิชิตถึงอนิจกรรมท่านผู้หญิงตลับได้รับมรดกบ้านนั้นก็อยู่ด้วยกันเป็นหลักแหล่งต่อมาถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๕ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านศาลาแดง ด้วยเหตุดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เจ้าพระยายมราชได้เป็นครูพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ อยู่ในกรุงเทพฯปีหนึ่ง อยู่ในยุโรป ๙ ปี รวมเป็น ๑๐ ปี ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความรักใคร่กันสนิทสนมยิ่งขึ้นโดยลำดับมา แม้เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับเข้ามารับราชการได้เป็นต่างกรม ถึงชั้นกรมพระและกรมหลวง และเจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นเสนายดีแล้ว เวลาเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับท่านยังเรียกว่า "ครู" ติดพระโอษฐ์อยู่อย่างเดิม หาเปลี่ยนเรียกว่า "เจ้าคุณ" ไม่ ผู้ที่เคยได้ยินก็เห็นจะยังมีมาก

ฝ่ายข้างเจ้าพระยายมราชก็รักใคร่อยู่อย่างเดิมไม่เสื่อมคลาย เมื่อท่านเขียนคำไว้อาลัยพิมพ์ในงานศพท่านผู้หญิงตลับในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ยังหวนพิไรรำพันถึงพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ แล้วรำพันต่อไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่านจับใจน่าสงสาร จึงคัดตอนที่กล่าวนั้นมาพิมพ์ด้วย


คำรำพันของเจ้าพระยายมราช



ข้าพเจ้าเคยถวายพระอักษรพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช แต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชา ฯ ประเทศยุโรป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าตามเสด็จไปอยู่ด้วยถึง ๙ ปี แม่ตลับไปทีหลังอยู่ ๖ ปี ท่านทั้ง ๔ พระองค์ทรงพระเมตตาสัญญากับข้าพเจ้าไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าตาย ท่านจะช่วยกันทรงเผาผีจะมิให้บุตรภรรยาต้องวุ่นวาย ข้าพเจ้านึกดีใจมากและหวังเต็มที่ว่าอย่างไรๆก็คงไม่พลาด เพราะถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน และบางพระองค์ก็เท่ากับว่าได้ทรงเริ่มต้นบ้างแล้ว คือเวลาข้าพเจ้าเจ็บป่วยทรงพระอุตสาหะเสด็จมาพยาบาล แต่อนิจจายังไม่ทันไรท่านมาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนข้าพเจ้าหมดแล้ว โดยพระชนมพรรษายังน้อยอยู่ทั้งนั้น แทนที่ท่านจะทรงเผาผีข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากลับต้องถวายพระเพลิงพระศพท่าน และรับอัฐิท่านด้วยความเศร้าสลดใจเสียอีก ในกรมพระจันทบุรีนฤนาถเป็นพระองค์สุดท้าย

ยังซ้ำทรงไว้อาลัยให้คิดถึงมากขึ้นคือทั้งในกรมหลวงราชบุรีฯและในกรมพระจันทบุรีฯ เมื่อจะเสด็จไปรักษาพระองค์ยังเมืองนอก ข้าพเจ้าไปส่ง เวลาจะทรงอำลารับสั่งแก่ข้าพเจ้าเป็นลางว่า "บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก" รับสั่งอย่างเดียวกันทั้ง ๒ พระองค์ เวลาก็ห่างไกลกันหลายปี แล้วก็ไม่ได้กลับมาเห็นกันอีกจริงๆดังนี้

ใช่แต่เท่านั้นยังมีเครื่องปลงอีก คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ได้เคยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า "ฉันก็เคยเป็นศิษย์เจ้าพระยายมราชเหมือนกัน ฉันยังได้เติมสร้อยสมญาเจ้าพระยายมราช ลงในสมุดสุพรรณบัฏว่า ฉัฎฐมราชคุรุฐานวโรปการี ให้เป็นหลักฐาน ถ้าเจ้าพระยายมราชตาย ฉันจะต้องนุ่งขาวให้" เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ที่ยังทรงพระกรุณาระลึกถึงความหลัง มีพระราชกระแสรับสั่งเช่นนี้ เป็นที่ปิติยินดีของข้าพเจ้าอย่างเหลือเกิน แต่ลงปลายก็เปล่าอีกเหมือนกัน ยังมิทันที่จะได้ทรงพระภูษาขาวพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพข้าพเจ้า ก็มาเสด็จสวรรคตเสียก่อน ข้าพเจ้ากลับต้องนุ่งขาวถวายพระบรมศพ ฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเศร้าโศกาลัยเป็นอย่างยิ่ง

เป็นการไม่เที่ยงแท้อยู่ดังนี้ เมื่อเอาธรรมเรื่องนี้เข้ามาหักก็ทำให้ข้าพเจ้าค่อยคลายความเศร้าใจคิดถึงแม่ตลับ ซึ่งดับสูญไปเมื่ออายุ ๖๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๔) แล้วนั้นลงได้มาก


..........................................................................




ประวัติตอนรับราชการในกระทรวงมหาดไทย


เขียนประวัติเจ้าพระยายมราชตอนนี้ จำต้องกล่าวถึงเรื่องกระทรวงมหาดไทย คล้ายกับเล่าเรื่องของตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อแรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก่อน จึงจะเข้าใจเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชเมื่อทำราชการกระทรวงมหาดไทยชัดเจน

เมื่อก่อนข้าพเจ้าไปยุโรป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกำลังทรงพระราชดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองพระราชอาณาเขตให้สมสมัย เริ่มด้วยแก้ไขตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ จะทรงตั้งกระทรวงเสนาบดีเพิ่มขึ้นอีก ๑๒ กระทรวงด้วยกัน

ตัวข้าพเจ้าในเวลานั้นเป็นกรมหมื่นและเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดีอันหนึ่งตามพระราชดำริ เหมือนกับเทียบที่จะเป็นเสนาบดีอยู่แล้ว เมื่อไปยุโรปข้าพเจ้าจึงเอาใจใส่หาความรู้เห็นซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กระทรวงธรรมการมาเป็นพื้น เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯยังไม่ถึง ๗ วัน ก็ประกาศพระบรมราชโองการให้ตั้งกระทรวงเสนาบดีดังทรงพระราชดำรินั้น แต่ในประกาศส่วนทรงตั้งตัวเสนาบดีประจำกระทรวงต่างๆ โปรดฯให้ปลดเจ้าพระยาบดินทรที่สมุหนายกเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแก่ชราออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ และทรงพระกรุณาโปรดฯให้ข้าพเจ้าย้ายไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นไป

การที่จะทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมิได้มีพระราชดำรัสถามความสมัครของข้าพเจ้า หรือแม้แต่ดำรัสให้ทราบก่อน ข้าพเจ้าต้องย้ายกระทรวงไปในทันทีมิได้เตรียมตัวและยังไม่คุ้นเคยกับราชการกระทรวงมหาดไทย ก็เกิดวิตก แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการเป็นเด็ดขาดแล้วก็ต้องย้ายจากกระทรวงธรรมการไปตามรับสั่ง

ต่อมาในเดือนเมษายนนั้น วันหนึ่งมีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าในที่รโหฐาน ข้าพเจ้าได้โอกาสจึงกราบทูลปรับทุกข์ถึงที่โปรดฯให้ย้ายไปว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าข้าพเจ้าได้พยายามก่อสร้างกระทรวงธรรมการมา ฝังใจอยู่แต่ในกระทรวงนั้น นึกว่าถ้าโปรดให้สนองพระเดชพระคุณในกระทรวงธรรมการต่อไป เห็นจะสามารถจัดให้ดีขึ้นได้ แต่ราชการกระทรวงมหาดไทยข้าพเจ้าไม่ได้เคยเอาใจใส่ศึกษา รู้แต่ว่าเป็นกระทรวงใหญ่มีหน้าที่บังคับบัญชาการกว้างขวาง ยากกว่ากระทรวงธรรมการมาก เกรงจะไม่สามารถทำการกระทรวงมหาดไทยได้สมพระราชประสงค์ ถ้าหาดพลาดพลั้งให้เสียหายอย่างไรก็จะเสียพระเกียรติยศ จึงมีความวิตกนัก

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสตอบว่า ทรงเชื่อแน่ว่า ถ้าข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการคงสามารถจัดการได้ดี แต่กรณีที่สำคัญกว่านั้นมีอีกอย่างหนึ่งบางทีข้าพเจ้าจะยังไม่ได้คิด ด้วยเวลานั้นต่างประเทศกำลังตั้งท่าจะรุกพระราชอาณาเขตเข้ามา ถ้าไม่จัดการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อยปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดิมต่อไป อาจจะเกิดเหตุถึงเสียอิสระบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองเสียอิสระแล้วกระทรวงธรรมการของข้าพเจ้าจะดีอยู่ได้หรือ การปกครองบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้ทั่วพระราชอาณาเขตสำคัญกว่า ด้วยเป็นการใหญ่และยาก ตกอยู่ในหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเป็นสำคัญ เพราะมีหัวเมืองอยู่ในบังคับบัญชามาก ได้ทรงพิจารณาหาตัวผู้จะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้จัดการได้ดังพระราชประสงค์มานานแล้วยังหาไม่ได้ จนมาทรงสังเกตเห็นว่าข้าพเจ้ามีความสามารถเหมาะกว่าผู้อื่น จึงได้ทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้อที่ข้าพเจ้าวิตกด้วยไม่คุ้นเคยกับราชการกระทรวงมหาดไทยนั้นก็เป็นธรรมดา แต่ตัวข้าพเจ้าก็คงเคยทราบอยู่แก่ใจ ว่าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้นพระองค์ต้องทรงรับเป็นภาระยิ่งกว่ากระทรวงอื่นๆมานานแล้ว ถ้าข้าพเจ้าอยากรู้นโยบายและกระบวนราชการกระทรวงมหาดไทย หรือมีความสงสัยอย่างไรก็กราบบังคมทูลถาม จะทรงพระกรุณาโปรดชี้แจงและอุดหนุนทุกอย่าง

พระราชดำรัสข้อหลัง อย่างว่า "ทรงรับเป็นครู" นี้เป็นข้อสำคัญแก่ตัวข้าพเจ้ามาก ได้ถือเป็นหลักและเป็นกำลังสืบมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ ถึงกระนั้นตอนแรกข้าพเจ้าไปบัญชาการกระทรวงมหาดไทยก็ลำบากมิใช่น้อย ด้วยย้ายไปแต่ตัวกับเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เมื่อยังเป็นหลวงไพศาลศิลปสาตร์ เลขานุการสำหรับตัวข้าพเจ้า ด้วยกัน ๒ คนเท่านั้น เวลาจะบัญชาการ ข้าพเจ้าต้องเชิญพระยาราชวรานุกูล(อ่วม)ปลัดทูลฉลองมานั่งกำกับ เมื่อเจ้าหน้าที่มาเสนอราชการอันใด ข้าพเจ้าถามพระยาราชวรานุกูลก่อน ว่าการเช่นนั้นแต่ก่อนเคยบังคับบัญชากันมาอย่างไร และท่านเห็นควรจะสั่งการอย่างไร น่าชมความอารีของพระยาราชวรานุกูล ท่ายบอกแบบแผนเยี่ยงอย่างและความคิดของท่านให้โดยมิได้รังเกียจ ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยหรือไม่เห็นมีทางเสียหายอย่างใดก็สั่งทางที่แนะนำ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยก็โต้แย้งและปรึกษากับท่านจนเป็นยุติแล้วจึงสั่งไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันเป็นข้อสำคัญหรือเห็วว่าเป็นเป็นข้อสำคัญ ไม่ควรจะทำไปแต่โดยลำพัง ข้าพเจ้าก็กราบทูลขอเรียนพระราชปฏิบัติแล้วจึงสั่งไป

ส่วนข้าราชการในกระทรวงใครเคยทำการอย่างไรมาแต่ก่อนก็คงทำไปอย่างเดิม แก้ไขเพียงให้ส่งการงานต่างๆอันตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่นตามประกาศไปยังกระทรวงนั้นๆ เช่น ส่งการชำระความอุทธรณ์ศาลหัวเมืองไปยังกระทรวงยุติธรรม (แต่ศาลตามหัวเมือง กระทรวงยุติธรรมว่ายังรับไม่ได้ ก็ต้องคงอยู่ในกระทรวงมหาดไทย) และส่งการบัตรหมายส่งกรมพลเรือนเวลามีการพระราชพิธีในกรุงเทพฯไปยังกระทรวงวังเป็นต้น

แต่กระบวนทำราชการในกระทรวง ซึ่งแต่ก่อนเคยนำข้อราชการไปเสนอเสนาบดีที่บ้านตามแบบโบราณ ข้าพเจ้าให้เจ้าหน้าที่มาเสนอในศาลาลูกขุนเวลาข้าพเจ้าไปทำการพร้อมกันทุกวัน ได้สมาคมถามไถ่การงานต่อเจ้าหน้าที่จนคุ้นและรู้อัธยาศัยข้าราชการ ตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ลงไปจนผู้น้อยทั้งกระทรวง ข้าพเจ้าบัญชาการอย่างศึกษาดังว่ามาอยู่สัก ๓ เดือนจึงสามารถสั่งราชการได้โดยลำพังตน แล้วปรารภจะศึกษาหาความรู้เห็นถิ่นที่และวิธีบังคับบัญชาการตามหัวเมืองต่อไป

พอถึงเดือนตุลาคมใน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น ข้าพเจ้าจึงกราบถวายบังคมลาไปเที่ยวตรวจราชการทางหัวเมืองเหนือ ไปทางเรือตรวจตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาและจังหวัดอื่นตามรายทางขึ้นไปทุกจังหวัด จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ ขึ้นเดินบกไปยังจังหวัดสวรรคโลก สุโขทัย ตาก แล้วลงเรือล่องมาทางจังหวัดกำแพงเพชรจนถึงจังหวัดอ่างทอง ขึ้นเดินบกจากที่นั่นไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่สุด ด้วยเวลานั้นจังหวันครไชยศรียังขึ้นอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นแต่ผ่านกลับมากรุงเทพฯ (ข้าพเจ้าได้รู้จักกับพวกญาติวงศ์ และได้ไปถึงบ้านเดิมของเจ้าพระยายมราชเมื่อไปตรวจราชการเมืองสุพรรณครั้งนั้นเป็นหนแรก)

เมื่อไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ข้าพเจ้าไปแลเห็นความลำบากเป็นข้อสำคัญแกการที่จะจักวิธีปกครองหัวเมือง ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ หัวเมืองมีมากด้วยกัน ทางคมนาคมกับกรุงเทพฯกว่าจะไปมาถึงกันก็หลายวันและหลายทาง พ้นวิสัยที่เสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯจะจัดการด้วยตนเองและจะไปตรวจตราการงานได้ทั่วถึงทุกแห่งเสมอ จะได้แต่มีท้องตราสั่งและตั้งข้อบังคับส่งไปในแผ่นกระดาษ พวกเจ้าเมืองกรมการทำอย่างไรก็ยากที่จะรู้

ก็ในเวลานั้นหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตที่ขึ้นกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดฯให้จัดรวมกันเป็นมณฑลมีเจ้านายต่างกรมและข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปเป็น "ข้าหลวงใหญ่"ประจำกำกับอยู่แล้ว ๔ มณฑล คือ เจ้าพระยารัตนธิเบศร์(พุ่ม) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพมณฑลหนึ่ง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม(เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอุดรมณฑลหนึ่ง กรมหลวงพิชิตปรีชากรม เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานมณฑลหนึ่ง และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์(เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลนครราชสีมามณฑลหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่ต้องเป็นห่วงถึง ๔ มณฑลนั้น

แต่คิดเห็นว่าหัวเมืองชั้นในถ้าจะจัดการปกครองให้เรียบร้อยก็จะต้องรวมเป็นมณฑล ๆ ละ ๔ เมือง ๕ เมือง และให้มีเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ มียศระหว่างเสนาบดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปประจำ จัดการตามคำสั่งเสนาบดีอยู่ในท้องที่มณฑลละคนเรียกว่า "ข้าหลวงเทศาภิบาล" (ซึ่งมาแปลงเป็นสมุหเทศาภิบาลเมื่อภายหลัง) และเปลื้องหน้าที่ของเสนาบดีส่วนบังคับบัญชาการภายในมณฑลนั้นๆ ให้เป็นหน้าที่ข้าหลวงเทศาภิบาล แบ่งเบาภาระให้เสนาบดีมีหน้าที่แต่คิดระเบียบการที่จะจัดและช่วยแก้ไขความขัดข้องของข้าหลวงเทศาภิบาล กับออกไปเที่ยวตรวจตราการที่จัดตามหัวเมืองเป็นครั้งเป็นคราว หรือว่าโดยย่อให้เสนาบดีเป็นผู้คิดและตรวจตรา ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ทำ ดังนี้จึงจะจัดการได้สำเร็จ

แต่ยังมีความลำบากข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเวลานั้นการปกครองตามหัวเมืองยังใช้แบบโบราณที่เรียกว่า "กินเมือง" (อาจจะได้แบบมาจากเมืองจีนแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะจีนก็เรียกว่า "กินเมือง" เหมือนกัน) ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมืองกรมการต้องละการทำมาหากิน มาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรมีความสุขปราศจากภยันตราย เพราะฉะนั้นราษฎรต้องตอบแทนด้วยอุปการะเลี้ยงดูเจ้าเมืองกรมการ อย่าให้ต้องอดอยากเดือดร้อน คือ ให้ใช้แรงอย่างหนึ่ง กับแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้เช่นข้าวปลาอาหารเป็นต้น ที่มีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัลสำหรับเจ้าเมืองกรมการเลี้ยงชีพจนเพียงพออย่างหนึ่ง แต่เดิมมาเจ้าเมืองกรมการได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินแต่ค่าธรรมเนียมความ และส่วนลดภาษาอากรบางอย่างเช่นค่านาเป็นต้น คนละเล็กละน้อย ครั้นการเลี้ยงชีพต้องอาศัยใช้เงินตรายิ่งขึ้น ข้าราชการกรมต่างๆในกรุงเทพฯที่จัดขึ้นใหม่ก็เปลี่ยนเป็นได้เงินเดือนเลี้ยงชีพ แต่ตามหัวเมืองยัง "กินเมือง" อยู่อย่างเดิม

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจราชการได้ความว่า เจ้าเมืองกรมการต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการโดยมาก เป็นข้อขัดข้องจะแก้ไขได้แต่ด้วยให้ข้าราชการหัวเมืองรับเงินเดือนเหมือนข้าราชการในกรุงเทพฯ จึงจะบังคับให้ตั้งหน้าทำราชการบ้านเมืองแต่อย่างเดียว และเลิกวิธีใช้อำนาจในตำแหน่งหาผลประโยชน์ได้

ข้าพเจ้ากลับมาจากตรวจราชการหัวเมืองครั้งนั้น เมื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแล้ว กราบบังคมทูลถึงความขัดข้อง ๒ ข้อที่กล่าวมา เห็นว่าจะต้องแก้ไขก่อนอย่างอื่น ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เรื่องตั้งมณฑลเทศาภิบาลโปรดฯให้ข้าพเจ้าคิดหาตัวผู้จะเป็นข้าหลวงถวาย และเรื่องจะให้ข้าราชการหัวเมืองได้เงินเดือนนั้น ก็จะทรงสั่งกระทรวงพระคลังให้มาปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าให้ตกลงกัน

การเลือกหาผู้จะเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลชั้นแรกก็ลำบากมิใช่น้อย เพราะต้องพิจารณาหาผู้ที่มีสติปัญญาสามารถ และเป็นผู้ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยประกอบกัน ในพ.ศ. ๒๔๓๕ นั้นหาตัวได้เหมาะแต่ ๒ คน คือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิทธิศักดิ์(เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย ข้าพเจ้าไปพบและชอบมาแต่เมื่อไปตรวจราชการหัวเมืองเหนือคน ๑ กับนายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท(สุข ชูโต) ซึ่งข้าพเจ้าเคยคุ้นมาตั้งแต่เป็นนายทหารมหาดเล็กอยู่ด้วยกันคน ๑ ถวายชื่อก็พอพระราชหฤทัย โปรดให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเป็น ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก และให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉทเป็น ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีณ แรกตั้งแต่ ๒ มณฑล ต่อมาปีหลังโปรดฯให้กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์(แต่เมื่อยังไม่ได้รับกรม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา และให้นายพันเอกพระยาดัษกรประลาด(อยู่) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ จึงมีเป็น ๔ มณฑลด้วยกัน

เรื่องเงินเดือนข้าราชการหัวเมืองนั้น ข้าพเจ้าปรึกษากับกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์(เมื่อยังไม่ได้รับกรม) ซึ่งทรงบัญชาการกระทรวงพระคลัง ท่านทรงเห็นชอบด้วย ว่าข้าราชการหัวเมืองทำการตามหน้าที่ในระเบียบที่จัดใหม่ควรได้รับเงินเดือนเหมือนข้าราชการในกรุงเทพฯ แต่ในเวลานั้นเงินแผ่นดินซึ่งสำหรับใช้จ่ายในราชการยังมีน้อย ตรัสขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยกระทรวงพระคลัง ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ อย่างเพิ่งตั้งข้าราชการตำแหน่งรับเงินเดือนเพิ่มจำนวนให้มากเร็วนัก และขอให้กำหนดอัตราเงินเดือนไว้ให้ต่ำสักหน่อย ข้อ ๒ เมื่อจัดการไป ขอให้มหาดไทยเอาเป็นธุระพิจารณาหาทางที่จะได้ผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มขึ้นด้วย ข้าพเจ้าก็รับตกลงตามพระประสงค์

มณฑลเทศาภิบาลมีแต่ ๔ มณฑลมาจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า การปกครองหัวเมืองจะจัดสำเร็จได้ จึงโปรดให้ประกาศโอนบรรดาหัวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด เว้นแต่พระนครกับหัวเมืองที่อยู่ติดต่อใกล้เคียงให้รวมกันเป็นมณฑลกรุงเทพฯขึ้นในกระทรวงนครบาลต่างหาก หาได้อยู่ในบังคับรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยไม่ เรื่องกระทรวงมหาดไทยเมื่อเริ่มตั้งมณฑลเทศาภิบาลมีมาดังนี้

แต่นี้จะกล่าวถึงเรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชต่อไป

เมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระวิจิตรวรสาส์นกลับมาจากยุโรปในตอนต้น พ.ศ. ๒๔๓๗ นั้น ขาดจากหน้าที่และตำแหน่งเดิมทั้งที่เป็นครูพระเจ้าลูกยาเธอ และเป็นเลขานุการในสถานทูต ฐานะเป็นผู้ว่างราชการ ทั้งตัวท่านก็อยากจะมาทำราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้า ตัวข้าพเจ้าก็อยากได้ท่านด้วย เพราะกำลังเสาะหาคนสำหรับส่งไปรับราชการหัวเมืองก็รีบกราบบังคมทูลขอ และได้พระวิจิตรวรสาส์นมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย

แต่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าตัวท่านเคยรับราชการในกรุงแต่เป็นครู และเป็นอยู่ไม่ช้านักก็ออกไปอยู่ในยุโรปเสียช้านาน ควรให้มีเวลาศึกษาหาความรู้ที่ยังบกพร่องเสียก่อน เผอิญเวลานั้นตำแหน่งเลขานุการประจำตัวเสนาบดีว่าง ด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีดำรัสขอเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เมื่อยังเป็นพระมนตรีพจนกิจไปเป็นครูสอนหนังสือไทยถวายสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกนาเธอ ทรงศึกษาอยู่ในยุโรป ได้พระวิจิตรวรสาส์นมาก็พอดี จึงให้เป็นตำแหน่งเลขานุการประจำตัวข้าพเจ้าแทนพระมนตรีพจนกิจ เป็นตำแหน่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าพระยายมราชในเวลานั้น เพราะอยู่ใกล้ชิดติดตัวเสนาบดีอยู่เสมอ ได้เห็นการงานในกระทรวงและได้รู้นโยบายที่จัดการปกครองหัวเมืองยิ่งกว่าเป็นตำแหน่งอื่น ถ้าทำการในตำแหน่งเลขานุการไป ผู้ทรงวุฒิเช่นท่านคงจะได้เป็นตำแหน่งชั้นสูงมิเร็วก็ช้า

แต่เผอิญมีเหตุเกิดขึ้นคล้ายกับบุญมาหนุนหลังเจ้าพระยายมราชอีกโดยมิได้มีใครคาด ด้วยเมื่อทันเป็นตำแหน่งเลขานุการยังไม่ทันถึงปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมาแล้ว พอรวมหัวเมืองแล้วไม่ช้าพระยาทิพโกษา(มหาโต โชติกเสถียร) ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกอยู่ ณ เมืองภูเก็ต แต่เมื่อยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม มีใบบอกเข้ามายังข้าพเจ้าว่าเกิดอาการเจ็บป่วยขอลาพักรักษาตัวสัก ๖ เดือน ขอให้ข้าพเจ้าส่งใครไปรักษาราชการแทนในเวลาที่ป่วยนั้น

ข้าพเจ้ารู้สึกน้อยใจ เพราะหัวเมืองทางนั้นเพิ่งโปรดให้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้ายังไม่ทันจะรู้การงาน ควรที่พระยาทิพฯซึ่งเคยเป็นมิตรกับข้าพเจ้ามาแต่ก่อนจะอยู่ช่วยข้าพเจ้า กลับมาลาพักเสีย ถ้าไม่รับลาก็ต้องอ้อนวอนห้ามปราม นึกว่าข้าพเจ้าเป็นตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวง ถ้าต้องอ้อนวอนงอนง้อผู้น้อยก็เหมือนทำตัวอย่างไม่ดีให้เกิดขึ้น จึงตกลงปลงใจว่าจะยอมรับลาและส่งคนอื่นไปแทนตามประสงค์ แต่เมื่อคิดหาตัวผู้ที่จะส่งไปรั้งการมณฑลภูเก็ต ยังคิดไม่เห็นใคร

เวลานั้นเผอิญเจ้าพระยายมราชเอาหนังสือเข้าไปเสนอตามหน้าที่เลขานุการ พอข้าพเจ้าเห็นก็นึกได้ว่าพระวิจิตรฯนี้เองเป็นเหมาะดี ด้วยมีสติปัญญาอัธยาศัยพอจะไม่ไปทำให้เสื่อมเสียอย่างใดได้ จึงเล่าเรื่องความลำบากของข้าพเจ้าให้ท่านฟังดังกล่าวมาแล้ว ถามท่านว่าจะรับอาสาไปได้หรือไม่ ท่านตอบว่าข้าพเจ้าเห็นท่านจะทำราชการอย่างใดได้ ก็แล้วแต่ข้าพเจ้าจะใช้ ส่วนตัวท่านเองนั้นหามีความรังเกียจไม่ ข้าพเจ้าก็กราบทูลเรื่องพระยาทิพฯ ขอลาพักรักษาตัว และจะให้พระวิจิตรฯออกไปรักษาราชการแทนชั่วคราว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงมีท้องตราอนุญาตไปยังพระยาทิพฯ และจัดการหาเรือให้พระวิจิตรฯ ออกจากกรุงเทพฯไป เพราะการเดินทางไปเมืองภูเก็ตในสมัยนั้น ทางใกล้กว่าทางอื่นต้องไปเรือจากกรุงเทพฯ ไปขึ้นที่เมืองสงขลาแล้วเดินบกไป ผ่ามเมืองไทรบุรีไปลงเรือเมล์ที่เมืองปีนัง ไปยังเมืองภูเก็ต

ทางฝ่ายเมืองภูเก็ต พระยาทิพฯ (ชะรอยจะทราบว่าข้าพเจ้าขัดใจ) ก็มีใบบอกเข้ามาว่าจะงดการลา ข้าพเจ้าไม่ต้องส่งใครไปรักษาการแทนก็ได้ เจ้าพระยายมราชออกไปถึงเมืองสงขลาก็ได้ทราบข่าวนั้น บางทีพระยาทิพฯจะบอกมาให้ทราบด้วย จึงถามมาว่าจะให้กลับกรุงเทพฯหรือทำอย่างไรต่อไป

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าเมื่อเจ้าพระยายมราชจะไปก็ได้กราบถวายบังคมลา คนทั้งหลายรู้อยู่ทั่วกัน ออกไปครึ่งทางยังไม่ทันได้ทำอะไรจะสั่งให้กลับเข้ามาเปล่าๆดูน่าละอายอยู่ จะทูลเสนอให้ท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชก็ขัดข้องอยู่ เพราะตัวท่านเป็นแต่พระวิจิตรวรสาส์น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยังไม่สู้คุ้นนัก เกรงจะไม่โปรด ข้าพเจ้าจึงกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราช(เมื่อยังเป็นพระวิจิตรวรสาส์น) เป็นข้าหลวงพิเศษตรวจการที่เมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราช ให้รู้ระเบียบการปกครองท้องที่ใน ๒ จังหวัดนั้นจัดกันมาอย่างไร ให้ทำรายงานมาเสนอ เพื่อประกอบความคิดที่จะจัดมณฑลเทศาภิบาลต่อไป ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงสั่งไปยังเจ้าพระยายมราชให้พักอยู่เมืองสงขลา เที่ยวตรวจราชการ ๒ จังหวัดนั้นเสียก่อน เสร็จแล้วจึงกลับมา


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:10:54:05 น.  

 
 
 
(ต่อ)


ตรงนี้จะต้องเล่าเรื่องประวัติ ๒ จังหวัดนั้นแทรกลงสักหน่อย จังหวักนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชก็อยู่แต่ในสกุล "ณ นคร" ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาก็อยู่แต่ในสกุล "ณ สงขลา" สืบมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ไม่เคยมีคนสกุลอื่นเข้าไปแทรกแซง

เมื่อเวลาโอนหัวเมืองทั้ง ๒ นั้นมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาว่าง พระยาวิเชียรคิรี(ชม ณ สงขลา) เมื่อยังเป็นที่พระยาสุนทรานุรักษ์ เป็นผู้รั้งราชการจังหวัด ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี(หนูพร้อม ณ นคร) เมิ่อยังเป็นที่พระยาศรีธรรมราชผู้ว่าราชการจังหวัด (แต่มีผู้ฟ้องต้องถูกกักตัวอยู่ในกรุงเทพฯหลายปี จนรวมหัวเมืองมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจึงให้ท่านกลับออกไปว่าราชการตามเดิม) เวลานั้นรู้กันอยู่แล้วว่าคงรวมจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุงเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลอันหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

ข้าพเจ้าอยากจะสงสัยต่อไปว่าในเวลานั้นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีก็เกรงว่าพระยาวิเชียรคิรีจะได้เป็นเทศาฯ เพราะตัวท่านเองแก่ชราเสียแล้ว ฝ่ายข้างพระยาวิเชียรคิรีก็เกรงว่าเจ้าพระยาสุธรรมนตรีจะได้เป็นเทศาฯ เพราะมีบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้อื่นในมณฑลนั้น ที่จริงข้าพเจ้ายังไม่ได้คิดหาตัวผู้จะเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช แต่ชอบพอคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีและพระยาวิเชียรคิรีอยู่แล้วทั้ง ๒ คน

เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกไปถึงเมืองสงขลา ในตอนที่จะไปเมืองภูเก็ต พระยาวิเชียรคิรีได้รู้จักก็ชอบอัธยาศัยเริ่มสมัครสมานเป็นมิตรกันมากับพระวิจิตรวรสาส์นแต่ชั้นนั้นแล้ว แต่ทั้ง ๒ คนก็เห็นจะยังไม่ได้คิดว่าเจ้าพระยายมราชจะได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล เพราะยศยังเป็นชั้นพระ และจะไปราชการทางหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อมีตราตั้งพระวิจิตรวรสาส์นเป็นข้าหลวงตรวจการ ชะรอยพระวิเชียรฯจะนึกคาดการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นคนฉลาดและมีมิตรสหายในกรุงเทพฯมาก แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาปรานี พระยาวิเชียรฯก็เข้าอุดหนุนพระวิจิตรวรสาส์นให้ตรวจการได้สะดวก

และแสดงความประสงค์ต่อไป ว่าอยากจะจัดการเมืองสงขลาให้เข้าระเบียบใหม่ที่กระทรวงมหาดไทยจัดทางหัวเมืองชั้นใน ขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยชี้แจงแบบแผนให้ทราบว่าควรจะจัดอย่างไร เจ้าพระยายมราชมีจดหมายลับมาหารือ ข้าพเจ้าก็ตอบไปให้ช่วยแนะนำพระยาวิเชียรคิรีตามประสงค์ แต่นั้นที่เมืองสงขลาก็เริ่มจัดการปกครองท้องที่ตามระเบียบใหม่ ด้วยอาศัยพระวิจิตรวรสาส์นออกความคิด และพระยาวิเชียรคิรีเป็นผู้จัด ความเจริญก็เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาก่อน

ครั้นข่าวลือไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีก็เร่งพระวิจิตรวรสาส์นให้ไปเมืองนครศรีธรรมราช อาศัยกรณีอันมิได้คาดไว้ก่อนเกิดขึ้นอย่างนั้น เกียรติคุณของเจ้าพระยายมราชก็ปรากฏแพร่หลายไปตลอดมณฑล ตั้งแต่เป็นที่พระวิจิตรวรสาส์น

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสงขลาทรงสังเกต เห็นบ้านเรือนเจริญขึ้นกว่าได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน และได้ตรัสไต่ถามการงานต่างๆ เจ้าพระยายมราชกราบทูลชี้แจงชอบพระราชอัธยาศัย ในคราวนี้ก็ทรงหยั่งเห็นว่าพระวิจิตรวรสาส์นเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เมื่อเสด็จกลับจึงโปรดฯให้ประกาศตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์พระวิจิตรวรสาส์นขึ้นเป็น พระยาสุขุมนัยวินิต และทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชด้วย ส่วยพระยาสุนทรานุรักษ์ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาวิเชียรคิรี และพระราชทานพานทองเต็มตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แต่ส่วนพระยาสุขุมนัยวินิตต่อมาอีกปี ๑ ถึงพ.ศ. ๒๔๔๐ จึงได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศเป็นขุนนางผู้ใหญ่

มีอธิบายควรกล่าวแทรกตรงนี้ว่า ด้วยราชทินนาม "พระยาสุขุมนัยวินิต" ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานนั้น เป็นนามทรงสถาปนาขึ้นใหม่ให้สมกับคุณสมบัติของเจ้าพระยายมราช ด้วยทรงสังเกตเห็นว่าท่านมีสติปัญญาอย่างสุขุม สามารถทำการได้ด้วยผูกใจคน ไม่ชอบใช้อำนาจด้วยอาญา เมื่อพระราชทานนามนั้นผู้อื่นที่รู้จักท่านก็เห็นสมโดยมาก บางคนถึงกล่าวต่อไปว่า เพราะท่านเคยบวชอยู่นานจึงได้อัธยาศัยของพระติดตัวมาจากวัด แต่ส่วนตัวท่านเองนับถือนามที่ได้รับพระราชทานนั้นมาก ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบัญญัติให้มีนามสกุล เวลานั้นท่านเป็นเจ้าพระยายมราชแล้ว กราบบังคมทูลขอให้พระราชทานคำ "สุขุม" เป็นนามสกุล บรรดาญาติวงศ์ทางเมืองสุพรรณฯก็ขอเข้าชื่ออยู่ในสกุล "สุขุม" ด้วย ท่านจึงมีฐานะเป็นต้นสกุล สุขุม ด้วยประการฉะนี้

มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งในคราวเดียวกันกับมณฑลอื่นอีกหลายมณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลชุมพร และมณฑลภูเก็ต เว้นแต่มณฑลจันทบุรียังมิได้ตั้ง เพราะยังขัดข้องอยู่ต้องรออยู่หลายปี เมื่อมีมณฑลมากขึ้นก็โปรดให้ตั้งประเพณีมีการประชุมข้าหลวงเทศาภิบาพร้อมกันที่ในกรุงเทพฯปีละครั้ง นับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นต้นมา

ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลมีโอกาสเข้ามาเสนอราบงานการที่ได้จัดไปและปรึกษาความขัดข้องต่อเจ้ากระทรวง ทั้งเสนอความคิดเห็นในกิจการต่างๆที่จะจัดต่อไปในปีหน้า ประชุมกันที่ศาลาลูกขุนในราวปีละ ๗ วัน รายงานการประชุมพิมพ์ลงในหนังสือ "เทศาภิบาล" แจกจ่ายไปตามหัวเมืองด้วยทุกปี

เนื่องในการประชุมเทศาภิบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานเลี้ยงเวลาค่ำและเสด็จเสวยกับข้าหลวงเทศาภิบาลด้วยทุกปี นอกจากนั้นฉายรูปหมู่เป็นที่ระลึกด้วย บางปีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประทับในรูปหมู่นั้นด้วย อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยประการต่างๆ การจัดหัวเมืองซึ่งตั้งต้นด้วยจัดการปกครองท้องที่ แล้วขยายออกไปถึงจัดการอื่นๆ แก้ไขแบบเดิมตั้งระเบียบใหม่ เป็นต้นแต่วิธีเก็บภาษีอากรตั้งสาขาพระคลัง ทำการโยธาในท้องที่ และที่สุดจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ข้าหลวงเทศาภิบาลมีหน้าที่และต้องรับผิดชอบมากขึ้นเป็นลำดับมา

แต่เมื่อการปกครองหัวเมืองมีการงานเพิ่มเติมมากขึ้น ความลำบากก็เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยไม่มีตัวคนสำหรับหน้าที่ต่างๆพอแก่การ ข้าหลวงเทศาภิบาลต้องขอคนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยก็เที่ยวเสาะหานักเรียนที่สอบความรู้แล้วส่งไปปีละหลายๆคน ที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกลายเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยบัดนี้ ก็เกิดแต่หาคนรับราชการ แต่ในสมัยนั้นก็ยังหาได้น้อยนัก เรื่องนี้เป็นมูลที่จะแสดงความสามารถของผู้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลต่างๆให้เห็นว่าใครหัดคนเป็นหรือหัดไม่เป็น ใครรู้จักหัดคนในมณฑลของตนใช้ได้ ก็สามารถจัดการได้สะดวกกว่าที่ไม่รู้จักหัด เจ้าพระยายมราชอยู่ในพวกที่สันทัดหัดคนมาแต่แรก ด้วยท่านได้หลักสำคัญที่คนในมณฑลนับถือมาแต่ยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาส์นแล้ว ก็สามารถชักชวนคนชาวเมืองที่ท่านสังเกตเห็นว่าแววดี เป็นต้นแต่ลูกหลานเจ้าเมืองกรมการตลอจนลูกพ่อค้าและคฤหบดี เอาเข้ามาหัดทำราชการได้มาก แต่อุบายอย่างนี้ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอื่นๆก็ทำอย่างเดียวกันโดยมาก

ที่แปลกเฉพาะตัวเจ้าพระยายมราชนั้นพอท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว เวลาไปตรวจท้องที่ตางๆชอบสั่งสอนราษฎรตามท้องที่คล้ายกับพวกมิชชันนารีสอนศาสนา ผิดกันแต่ท่านสอนให้เป็นสามัคคีช่วยทำนุบำรุงกันและกัน และช่วยรัฐบาลทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความสุข ใครได้พบปะสนทนากับท่าน จะเป็นพระตามวัดก็ดี พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ดี ตลอดจนราษฎรและชนชาติอื่นที่อยู่ในบ้านเมืองก็พากันเลื่อมใส ท่านจะทำการอันใดเป็นแต่ชี้แจงประโยชน์ของการที่จะทำนั้นให้เข้าใจ คนก็เต็มใจช่วยมิพักต้องกะเกณฑ์จับกุม

คุณวิเศษของเจ้าพระยายมราชในข้อที่มีอัธยาศัย "เข้าคน" ได้ทุกชนิด มีเป็นอย่างแปลกประหลาด จะเอามาเล่าพอให้เห็นเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง คือ เมื่อก่อนท่านจะได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล เกิดไฟไหม้ที่วัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจนปรักหักพัง มีพระภิกษุองค์หนึ่ง เรียกกันว่า "อาจารย์ปาน" ศรัทธาเที่ยวชักชวนผู้คนให้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม ก็พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นับอยู่ในเจดีย์วัตถุอันเป็นหลักของประเทศสยามแห่งหนึ่ง บรรดาพุทธศาสนิกชนในแหลมมลายูนับถือทั่วไปจนถึงเมืองปีนัง เมืองสิงคโปร์ และเมืองมอญ เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์ปานจะบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุให้คืนดี คนทั้งหลายก็พากันเลื่อมใสศรัทธาที่จะช่วย ที่เป็นคนมั่งมีศรีสุขก็บริจาคเงินถวายอาจารย์ปานให้เป็นทุน ที่ไม่มีเงินก็เอาแรงของตนมาช่วยให้อาจารย์ใช้สอย บางพวกก็ถวายเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงคนทำงาน เวลาทำการปฏิสังขรณ์นั้นตัวอาจารย์พักอยู่ในวิหารน้อยที่วัดร้างตรงหน้าวัดมหาธาตุออกมา และปลูกเพิงมุงจากให้คนทำงานอาศัยเต็มไปในลานวัดนั้น มีพวกผู้ชายที่รับเป็นกรรมกรผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่ประจำทำงานคราวละหลายๆร้อย พวกที่เป็นผู้หญิงก็พากันไปรับทำครัวเลี้ยงพวกกรรมกรที่ทำงาน ว่าโดยย่อ คนนับถืออาจารย์ปานเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนั้น เป็นทำนองเดียวกันกับนับถือพระศรีวิชัยในมณฑลพายัพเมื่อภายหลัง

เมื่อเจ้าพระยายมราชไปพบอาจารย์ปาน แทนที่จะแสดงความรังเกียจในทางการเมือง กลับเข้าคบหาวิสาสะช่วยเหลือจนอาจารย์ปานนับถือ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชครั้งหนึ่ง อาจารย์ปานรับช่วยเจ้าพระยายมราชในการหากรรมกรหาบขน คือชักชวนพวกราษฎรที่มาทำการปฏิสังขรณ์นั้นเอง ให้ช่วยกันสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หว คนเหล่านั้นก็เต็มใจไม่มีใครรังเกียจ ถึงเจ้าพระยายมราชให้พาดสายโทรศัพท์แต่จวนของท่าน ไปจนวิหารน้อยที่อาจารย์ปานอยู่ จะต้องการแรงงานเมื่อใด พูดโทรศัพท์ไปถึงอาจารย์ปานก็ขอแรงส่งคนมาให้ได้ทันที

ครั้นนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเลยเสด็จไปทอดพระเนตรถึงโรงงานของอาจารย์ปาน ทรงอนุโมทนาแล้วโปรดตั้งอาจารย์ปานเป็นที่พระครูเทพมุนี ตำแหน่งพิเศษในคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราชต่อมา เรื่องนี้ถ้าเปรียบกับประวัติพระศรีวิชัยก็เห็นได้ว่า ผู้มีสติปัญญาอัธยาศัยเช่นเจ้าพระยายมราชอาจจะใช้อุบายแปรเหตุอันอาจจะให้ร้ายให้กลายเป็นดีได้

มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าจะเกิดผลจากที่คนทั้งหลายในมณฑลนับถือเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน คือตลอดเวลาที่ท่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชอยู่ ๑๐ ปีนั้น โจรผู้ร้ายสงบมิได้กำเริบทั่วทั้งมณฑล ข้อนี้หยั่งรู้ได้ด้วยสังเกตเห็นแต่เริ่มจัดการปกครองท้องที่มา ตำบลใดได้สาธุชนชั้นคฤหบดีที่ราษฎรในท้องที่นับถือเป็นกำนัน แม้โจรผู้ร้ายเคยชุกชุมมาแต่ก่อนก็สงบลงทันที แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่งคือที่ต้องยกย่องเอาใจกำนัน ให้รู้สึกว่าความดีอยู่ที่ปกครองลูกบ้านให้เป็นสุข ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือแม้แต่ข้าหลวงเทศาภิบาลเข้าใจว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นแต่คนสำหรับใช้ อะไรๆก็จะเอาแต่กับกำนันผู้ใหญ่บ้านตะบันไปอย่างว่า "ไม่แลเห็นอก" คนดีก็มักพากันหลีกเลี่ยงไม่รับเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้าแห่งใดเป็นเช่นนั้นโจรผู้ร้ายก็ไม่ราบคาบ

บางทีท่านผู้อ่านจะสงสัยว่าเพราะเหตุใดกำนันดีจึงคุ้มโจรภัยได้ ข้อนี้อธิบายว่าธรรมดาราษฎรไม่มีใครอยากจะให้มีโจรผู้ร้ายทั้งนั้น ถ้ามีหัวหน้าที่นับถือ ราษฎรก็เต็มใจช่วย เช่นกระซิบบอกให้รู้ตัวว่าพวกโจรจะปล้นสะดม ได้เตรียมป้องกันแต่ก่อนเหตุ หรือมิฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุแล้วก็พากันช่วยสืบเสาะจับกุมโดยเต็มกำลัง กำนันเช่นว่ามาราษฎรในตำบลมักเรียกกันว่า "คุณพ่อ" กำนันที่ข้าพเจ้าได้เคยพบในมณฑลนครศรีธรรมราช เจ้าพระยายมราชสามารถหาคนชั้น "คุณพ่อ" ได้เป็นพื้น และรู้จักเอาอกเอาใจด้วยอัธยาศัยของท่านอยู่เสมอ จึงเห็นว่าโจรผู้ร้ายจะสงบด้วยเหตุนั้น ในสมัยเมื่อยังไม่ได้ตั้งกรมตำรวจภูธร

เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ชอบทำการโยธาที่เป็นสาธารณประโยชน์ด้วยอีกสถานหนึ่ง มีสิ่งซึ่งท่านทำยังปรากฏอยู่หลายแห่ง นอกจากทำถนนใช้รถในบริเวณเมือง ทำถนนข้ามแหลมมลายูแต่เมืองนครศรีธรรมราชข้ามเทือกเข้าบันทัดไปต่อแดนจังหวัดตรังสายหนึ่ง ขุดคลองก็หลายสาย คือขุดคลองจากเมืองนครศรีธรรมราชชักสายน้ำจืดไปให้ราษฎรชาวปากพนังบริโภค ข้าพเจ้าขนานนามว่า "คลองสุขุม" สายหนึ่ง ขุดคลองเรือแต่ลำน้ำปากพญาไปถึงลำน้ำปากนครในจังหวัดนครศรีธรรมราชขนานนามว่า "คลองนครพญา" สายหนึ่ง ขุดชำระคลองท่าแพทางเรือสินค้าเข้าเมืองนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาสายหนึ่ง ขุดชำระคลองรโนดทางเรือในระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลาสายหนึ่ง ขุดคลองชลประทานแต่ทะเลสาบขึ้นไปถึงตำบลคอกช้างในจังหวัดพัทลุงเรียกว่า "คลองคอกช้าง" สายหนึ่ง ขุดคลองลัดแหลมเกาะใหญ่ในจังหวัดสงขลาเรียกว่า "คลองเกาะใหญ่" สายหนึ่ง ยังสถานที่สำหรับราชการต่างๆและที่พักของข้าราชการก็สร้างในสมัยเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลโดยมาก

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นเรื่องประวัติตอนนี้ ว่าเมื่อจะจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กระทรวงพระคลังขอให้กระทรวงมหาดไทยประหยัดเงินรายจ่าย ด้วยเงินรายได้ยังมีน้อยนัก และขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยพิจารณาทางที่จะบำรุงผลประโยชน์ให้ได้เงินแผ่นดินมากขึ้น ถ้าทำได้เช่นนั้นก็จะยอมจ่ายเงินเพิ่มจำนวนให้กระทรวงมหาดไทยจัดการหัวเมืองสะดวกขึ้น

เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอย้อนความขึ้นไปกล่าวเพื่อให้เป็นยุติธรรมและเป็นอนุสรณ์แก่เกียรติคุณของพระยาฤทธิรงค์รณเฉท(สุข ชูโต) ซึ่งอนิจกรรมไปช้านานแล้วให้ปรากฏ พระยาฤทธิรงค์ฯ ได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีณแต่แรกตั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ไปสังเกตตเห็นขึ้นก่อนว่าวิธีเก็บภาษีที่รัฐบาลให้มีผู้ประมูลกันเป็นเจ้าภาษีนายอากรไปเก็บเป็นปีๆนั้น ไม่ดี ทั้งได้เงินหลวงน้อยกว่าที่ควรจะได้และไม่ยุติธรรมแก่ราษฎร เพราะเจ้าภาษีนายอากร (อันเป็นจีนแทบทั้งนั้น) รับประมูลไปเพื่อแสวงหากำไรอย่างเดียว ใครได้อำนาจออกไปก็รีบบังคับเก็บภาษีอากรสุดแต่ให้ได้กำไร แต่ก่อนสิ้นปีมักใช้อุบายบีบคั้นและเก็บเกินพิกัดอัตรา ราษฎรจะฟ้องร้องก็เห็นว่าป่วยการทำมาหากิน มักยอมให้ตามใจเจ้าภาษีเหมือนซื้อรำคาญ แต่ที่จริงเจ้าภาษีเก็บได้แต่เพียงราษฎรที่อยู่ใกล้ๆ พอจะเก็บถึงราษฎรที่อยู่ห่างไกลเจ้าภาษาออกไปเก็บไม่ถึง ไม่ต้องเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติมีอยู่มาก

พระยาฤทธิรงค์ฯเห็นว่าเทศาภิบาลมีกรมการอำเภอกับทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านปกครองราษฎรอยู่ทั่วทุกแห่ง ถ้าเลิกวิธีที่ให้เจ้าภาษานายผูดขาด โอนการเก็บภาษีอากรมาให้เทศาภิบาลเก็บ จะได้เงินแผ่นดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมากโดยมิตองเพิ่มพิกัดอัตราอย่างไร และราษฎรก็จะไม่เดือดร้อนเหมือนเช่นเจ้าภาษีอากรเก็บด้วย

ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นความคิดดีจึงไปพูดกับกระทรวงพระคลัง (เวลานั้นกรมพระนราธิปฯเสด็จออกจากตำแหน่งเสียแล้ว) กระทรวงพระคลังยังไม่เห็นชอบ อ้างว่าถ้าเทศาภิบาลเก็บเงินไม่ได้จริงอย่างว่า จะเร่งเรียกอย่างเจ้าภาษีนายอากรไม่ได้ ข้าพเจ้าก็จนใจ

แต่เผอิญพอสิ้นปีนั้นนายอากรค่าน้ำเมืองปราจีณร้องขาด(ทุน) ขอลดเงินหลวงในปีหน้า กระทรวงพระคลังหาใครรับทำเท่าจำนวนเงินปีก่อนไม่ได้ กลัวเงินแผ่นดินจะตก จึงหันมายอมให้พระยาฤทธิรงค์ฯเก็บอากรค่าน้ำมณฑลปราจีณทดลองดูสักปีหนึ่ง และยอมตกลงว่าถ้าเทศาภิบาลเก็บอากรค่าน้ำได้เงินมากกว่าปีที่ล่วงมามากน้อยเท่าใด จะให้ใช้ในการเทศาภิบาล

พระยาฤทธิรงค์ฯไปจัดการเก็บอากรค่าน้ำได้เงินมากขึ้นสักสองสามเท่า เกินคาดหมายโดยมิต้องเพิ่มพิกัดอัตรา พอประจวบเวลากรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ก็ทรงเห็นทันทีว่าควรเลิกผูกขาดเก็บภาษีอากรจากราษฎร เปลี่ยนมาให้เทศาภิบาลเก็บเหมือนกันทุกมณฑล จึงทรงพระดำริให้ตั้งกรมสรรพากรนอกขึ้นในกระทรวงมหาดไทย และตั้งกรมสรรพากรในกระทรวงนครบาล เป็นพนักงานจัดการเก็บภาษีอากรแต่นั้นมา จำนวนเงินผลประโยชน์แผ่นดินก็ได้มากขึ้นนับปีละหลายล้านติดต่อกันมาหลายปี กระทรวงพระคลังก็ยอมจ่ายเงินในการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับมา ตามที่กรมพระนราธิปฯได้ตรัสรับไว้แต่แรก

เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล ก็สามารถจัดการเก็บภาษีอากรถ้วนถี่ ได้เงินหลวงในมณฑลนครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้นกว่าที่จะต้องจ่ายใช้ในการตั้งมณฑลมาก กระทรงพระคลังจึงเพิ่มเงินรายจ่ายให้ท่านทำการโยธาต่างๆที่พรรณนามาแล้ว และยอมให้สร้างเรือกำปั่นไฟชื่อ "นครศรีธรรมราช" ขึ้นลำหนึ่ง สำหรับตัวท่านไปเที่ยวตรวจการในมณฑล เพราะสมัยเมื่อยังไม่ได้สร้างทางรถไฟไปมายาก ต้องใช้เรือแจวพายเป็นพาหนะไปทางทะเลลำบาก เรือศรีธรรมราชนั้นได้ใช้สำหรับขนเงินแผ่นดินเข้ามาส่งกรุงเทพฯ และมารับเสนาบดีไปตรวจราชการตามมณฑลชายทะเลด้วย

เมื่อเจ้าพระยายมราชจัดการปกครองจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราชเป็นระเบียบ และมีเรือนครศรีธรรมราชเป็นพาหนะ อาจจะไปมาตามหัวเมืองในมณฑลได้สะดวกแล้ว ข้าพเจ้าจึงให้ท่านคิดจัดการปกครองมณฑลปัตตานี ในสมัยนั้นยังเรียกว่า "เมืองแขกทั้งเจ็ด" ซึ่งขึ้นต่อเมืองสงขลาต่อลงไป เรื่องเจ้าพระยายมราชจัดเมืองแขกทั้งเจ็ดควรเป็นข้อสำคัญในเรื่องประวัติของท่านอย่างหนึ่ง ด้วยเป็นเหตุให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าท่านมีสติปัญญาสามารถชั้นสูง และเป็นปัจจัยอันหนึ่งซึ่งท่านได้เป็นเสนาบดีในสมัยต่อมา แต่จะต้องเล่าเรื่องพงศาวดารเมืองแขกทั้งเจ็ดให้ผู้อ่านทราบเสียก่อน

เมืองแขกทั้งเจ็ดนั้นเดิมรวมกันเป็นเมืองเดียวเรียกว่าเมือง "ปัตตานี" เจ้าเมืองเป็นมลายูถือศาสนาอิสลาม มียศเป็นสุลต่าน บางสมัยก็เป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา บางสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจก็ตั้งตัวเป็นอิสระ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า สุลต่านเมืองปัตตานีตั้งตัวเป็นอิสระมาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ยอมกลับมาเป็นประเทศราชอย่างเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงดำรัสสั่งให้พระมหาอุปราชยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานี เมื่อได้เมืองแล้วทรงตั้งเจ้าชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง ซึ่งมาอ่อนน้อมต่อไทยให้เป็นพระยาปัตตานีครองเมืองเป็นประเทศราชต่อมาอย่างเดิม

แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง มีแขกอาหรับคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นซาหยัด (คือสายโลหิตลงมาจากนาบีมะหะหมัดผู้ตั้งศาสนาอิสลาม) มาสอนศาสนาอิสลามที่เมืองปัตตานี มีพวกมลายูเลื่อมใสมากเลยชวนพระยาปัตตานีให้เป็นขบถ รวบรวมชาวเมืองปัตตานีสมทบกับพวกแขกสลัด ยกเป็นกองทัพมาตีเมืองสงขลา แต่กองทัพไทยที่เมืองสงขลากับเมืองนครศรีธรรมราชช่วยกันตีพวกขบถแตกพ่ายไป แล้วเลยลงไปตีเมืองปัตตานีได้อีกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริเห็นว่าจะให้เมืองปัตตานีเป็นเมืองใหญ่อย่างแต่ก่อนต่อไป ไว้ใจไม่ได้ จึงดำรัสสั่งให้แยกอาณาเขตเมืองปัตตานีเดิมออกเป็น ๗ เมือง คือ เมืองตานีหนึ่ง เมืองยิหริ่งหนึ่ง เมืองสายบุรีหนึ่ง เมือระแงะหนึ่ง เมืองราห์มันหนึ่ง เมืองยะลาหนึ่ง และเมืองหนองจิกหนึ่ง ให้ขึ้นต่อเมืองสงขลาทั้ง ๗ เมือง

ส่วนผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นทรงตั้งผู้ที่มีความชอบช่วยปราบขบถครั้งนั้น เป็นไทยบ้าง เป็นมลายูชาวเมืองบ้าง ให้เป็นเจ้าเมืองมียศเป็นพระยา ใช้วิธีปกครองอย่างเคยเป็นมาแต่ก่อน คือ (อย่างเมืองประเทศราช) เก็บภาษีอากรและใช้กฎหมายเดิมได้โดยลำพัง เป็นแต่ต้องถวายต้นไม้ทองเงินและเครื่องบรรณาการ ๓ ปีครั้งหนึ่ง เหมือนกันทั้ง ๗ เมือง นอกจากนั้นก็แล้วแต่เจ้าเมืองสงขลาจะบังคับบัญชา หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ก็เหมือนเป็นกำลังของเจ้าเมืองสงขลาอย่าง "กินเมือง" ทั้ง ๗ นั้น เป็นเช่นนั้นมากว่า ๑๐๐ ปี

เมื่อก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าได้เคยลงไปถึงเมืองเหล่านั้นบางเมือง สังเกตเห็นราษฎรเป็นไทยกับเป็นมลายูมากไล่เลี่ยกัน และตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกันโดยปรองดอง เป็นแต่ถือศาสนาผิดกันและใช้ภาษาแต่กัน เพราะเหตุนั้นจึงคิดว่าจัดการปกครองเมืองแขกทั้งเจ็ดจะต้องใช้นโยบายให้เหมาะกับท้องที่ คือรวมหัวเมืองแขกทั้งเจ็ดเข้าด้วยกันคล้ายกับมณฑล แต่ให้เรียกว่า "บริเวณ" เพราะยังขึ้นอยู่ในจังหวัดสงขลา และจะต้องแก้ไขระเบียบการปกครองให้ผิดกับเมืองอื่นบ้าง จึงให้เจ้าพระยายมราชลงไปตรวจตามเมืองทั้งเจ็ดให้รู้ลักษณะการที่เป็นอยู่อย่างไร และทำรายงานมาเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสียก่อน แล้วปรึกษาหานโยบายที่จะจัดต่อไป เจ้าพระยายมราชตรวจแล้วเสนอรายงานมีเนื้อความว่า

๑). วิธีปกครองเมืองทั้งเจ็ดเป็นอย่างที่เรียกกันว่า "กินเมือง" เจ้าเมืองจะทำอย่างไรก็ได้ สุดแต่อย่าขัดขืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเท่านั้น

๒). ภาษีอากรยังเก็บอย่างโบราณก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยกตัวอย่างเช่นเก็บค่านาด้วยเอาจำนวนโคสำหรับใช้ไถนาเป็นเกณฑ์เก็บภาษี โคคู่ละเท่านั้นๆ ไม่ต้องรังวัดเนื้อนา (วิธีนี้เป็นมูลที่เรียกว่า "นาคู่โค" ) ภาษีอย่างอื่นก็ให้จีนรับผูกขาดไปเก็บ ใช้ทั้งวิธีชักส่วนสินค้าและวิธีให้ซื้อขายได้แต่เจ้าภาษี

๓). การปกครองราษฎรในท้องที่ก็แล้วแต่เจ้าเมืองจะตั้งใครเป็นนายตำบล และจะต้องการใช้แรงงานเมื่อใด หรือให้ราษฎรหาสิ่งของอย่างไรให้เมื่อใด ก็เกณฑ์ตามใจเจ้าเมือง

๔). การชำระตัดสินความอยู่ในอำนาจ "โต๊ะกาลี" คืออาจารย์ทางฝ่ายศาสนาเป็นผู้ชำระตัดสินตามกฎหมายอิสลาม มีเมืองหนองจิกเมืองเดียวที่ใช้กฎหมายไทยเพราะเจ้าเมืองเป็นไทยมาหลายชั่วคนแล้ว


เมื่อเสนอรายงานแล้ว เจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าปรึกษากันเห็นว่าการปกครองท้องที่ตามแบบมณฑลเทศาภิบาลชั้นในจะจัดในเมืองทั้งเจ็ดได้สะดวก แต่จะต้องใช้นโยบายผ่อนผันในอย่างอื่นบ้างบางอย่าง อย่าให้พวกมลายูชาวเมืองรู้สึกว่าไทยลงไปจัดการให้เดือดร้อนกว่าแต่ก่อน ในเรื่องนี้เห็นเป็นข้อสำคัญมีอยู่ ๓ ข้อ คือ

๑). การเก็บภาษีอากรยังไม่ควรแก้ไขให้เหมือนกับเมืองอื่นในมณฑล ให้ราษฎรเสียภาษีอากรแต่ตามที่เคยเสียอยู่อย่างเดิมเป็นแต่เลิกผูกขาด แม้จะลดพิกัดลงบ้างก็เชื่อว่าคงจะได้จำนวนเงินมากขึ้นเหมือนเคยปรากฏในมณฑลอื่น

๒). ยังไม่ควรเลิกศาลโต๊ะกาลี เพราะราษฎรนับถือศาสนาอิสลามมีอยู่มาก เป็นแต่จะแก้ไขด้วยเลือกตั้งพวกอาจารย์ศาสนาอิสลามที่คนนับถือมาก เป็น "ดาโต๊ะยุติธรรม" ขึ้นไว้คณะหนึ่งราว ๒๐ คน ถ้าคนถือศาสนาอิสลามเป็นความกัน หรือเป็นจำเลยในคดีที่ต้องตัดสินด้วยกฎหมายทางศาสนา คือความผัวเมียอย่างหนึ่ง ความมรดกอย่างหนึ่ง ให้คู่ความเลือกดาโต๊ะยุติธรรมที่ได้ตั้งไว้เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนหนึ่ง หรือหลายคนตามตกลงกันมานั่งชำระตัดสินในศาลไทย ถ้าคู่ความเป็นไทยหรือเป็นความประเภทอื่น ศาลไทยชำระและตัดสินตามกฎหมายไทยทั้งสิ้น

๓). ไม่ควรให้ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองอยู่ในเวลานั้น (อันเป็นมลายู ๖ คน เป็นไทยคนหนึ่ง) ได้ความเดือดร้อนเพราะที่ไปจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครอง ข้อนี้ปรึกษากันเห็นว่ามีทางที่จะแก้ไขอย่างเดียวแต่ให้เงินบำนาญทดแทนให้พอเลี้ยงผลประโยชน์ที่ต้องขาดไป

ปรึกษากันแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตามความคิดที่ปรึกษาตกลงกันนั้น ก็ให้เจ้าพระยายมราชลงไปแก้ไขวิธีการปกครองบริเวณเจ็ดเมืองตามหลักดังกล่าวมา


.........................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:10:55:45 น.  

 
 
 
(ต่อ)


เจ้าพระยายมราชลงไปจัดการตั้งบริเวณเจ็ดเมืองครั้งนั้น ท่านใช้อุบายอย่าง "สุขุมคัมภีรภาพ" สมกับนามที่ท่านได้พระราชทาน จะกล่าวแต่รายการที่เป็นข้อสำคัญ เมื่อประกาศพระบรมราชโองการให้รวมเมืองทั้ง ๗ ตั้งเป็นบริเวณแล้ว ท่านแสดงความให้ปรากฎแพร่หลายต่อไป ว่าระเบียบการที่จะจัดนั้นจะถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานปกครองตามระเบียบใหม่ก็จะเลือกแต่ผู้มีความสามารถจะเป็นไทยหรือมลายูก้เป็นได้เหมือนกัน ท่านพยายามระวังป้องกันมิให้เกิดความรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู เป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง

ส่วนการที่เกี่ยวกับเจ้าเมืองในเวลานั้น ท่านก็ชี้แจงให้ทราบรายตัวทั่วทุกคนว่าระเบียบการปกครองที่จัดใหม่ดังเช่นได้จัดในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลานั้น ต้องแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรและผ่อนผันการใช้แรงงานราษฎรผิดกับอย่างเดิม ท่านเกรงว่าผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองเคยได้มาแต่ก่อนจะขาดไปมิมากก็น้อย เพื่อจะมิให้เดือดร้อนจะให้เป็นตัวเงินประจำปีทดแทนเท่าผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองเคยได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมอย่างแต่ก่อน ขอให้เจ้าเมืองจดบัญชีมาให้ท่านทราบเป็นรายการว่าเคยได้ผลประโยชน์จากการอย่างใดเป็นเงินเท่าใด จะได้ตั้งเป็นจำนวนเงินบำนาญว่าเจ้าเมืองคนไหนจะได้ปีละเท่าใด พวกเจ้าเมืองก็พากันยินดีที่จะได้เงินโดยมิต้องขวนขวาย หรือต้องถูกคนเก็บเงินภาษีอากรยักยอกเหมือนแต่ก่อน ต่างก็ยอมรับด้วยความยินดี และพากันทำบัญชีเงินผลประโยชน์ที่ตนเคยได้รับมายื่น เจ้าพระยายมราชเห็นบัญชีก็รู้เท่า ว่าจำนวนเงินที่ตั้งมาสูงกว่าที่เคยได้รับจริงโดยมาก แต่ท่านก็ยอมรับเพราะประสงค์จะให้ตกลงโดยพอใจด้วยกันทุกฝ่ายและเห็นว่าให้เฉพาะชั่วอายุเดียว ทั้งเชื่อว่าคงเก็บผลประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นคุ้มปรือเกินจำนวนเงินที่ยอมให้

แต่ก็มีขบขันอยู่บ้าง เช่นพระยาเพชราภิบาล (พ่วง ณ สงขลา)เป็นเจ้าเมืองหนองจิกได้เงินบำนาญมากกว่าเงินเดือนของเจ้าพระยายมราชผู้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้รับเกือบเท่าหนึ่ง แต่พระยาหนองจิกก็ช่วยเจ้าพระยายมราชมาก เพราะเป็นเจ้าเมืองหนึ่งใน ๗ เมืองนั้น พระยาหนองจิกทำอย่างไรเจ้าเมืองอีก ๖ เมืองก็ต้องทำด้วย ช่วยให้การจัดสะดวกขึ้นอย่างหนึ่ง

ข้อสำคัญที่เจ้าพระยายมราชจัด "บริเวณ" ครั้งนั้นอีกอย่างหนึ่ง คือเอาข้าราชการไทยจากจังหวัดอื่นไปเป็นตำแหน่งในบริเวณน้อยที่สุด เลือกหาแต่ผู้ชำนาญการอันหาตัวไม่ได้ในท้องถิ่น ถ้าคนในท้องถิ่น ไทยก็ตามมลายูก็ตาม สามารถจะทำได้แม้จะทำไม่ได้ดีทีเดียวก็ใช้คนในท้องถิ่น ท่านได้คนสำคัญไปจากต่างถิ่นอันควรจะกล่าวถึงคนหนึ่ง คือ พระยาเดชานุชิต(หนา บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่พระศักดิ์เสนี ลงไปเป็นข้าหลวงประจำบริเวณ (และภายหลังได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อตั้งบริเวณเป็นมณฑลปัตตานี) อยู่ประจำทำการต่างหูต่างตาเจ้าพระยายมราช

ข้าราชการไทยเอาไปจากที่อื่นเวลานั้นเป็นชั้นกรมการอำเภอและเจ้าหน้าที่สรรพากรเป็นพื้น มีประหลาดอยู่ที่การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน พวกมลายูชอบกันมาก ได้คนดีๆที่เป็นชนิด "คุณพ่อ" ดังกล่าวมาแล้วแทบทั้งนั้น เรียกตามเสียงมลายูว่า "กำแนร์" "พเยแบร์" ทำการตามหน้าที่ด้วยใจสมัครอย่างแข็งแรง

ถ้ารวมความโดยย่อ เจ้าพระยายมราชจัดหัวเมืองทั้งเจ็ดครั้งนั้น สามารถทำการยากให้เป็นง่ายได้ด้วยสติปัญญาและความเพียรของท่าน อันสมควรยกเป็นเอกเทศในเกียรติคุณของท่านได้อย่างหนึ่ง

เมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้รับราชการพิเศษนอกหน้าที่ในตำแหน่งหลายครั้ง จะกล่าวแต่โดยย่อ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดฯให้เป็นข้าหลวงไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนที่สักราชบรรจุพระส๔ปไว้ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งอังกฤษขุดพบและลอร์ดเคอสันอุปราชอินเดียทูลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงเป็นประมุขของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เป็นข้าหลวงพิเศษลงไปเมืองกลันตัน เมื่อเจ้าเมืองคนก่อนถึงอนิจกรรม

เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๔ โปรดฯให้ล่วงหน้าไปจัดการรับเสด็จเมืองชวา ด้วยกันกับพระยาปฏิพัทภูบาล(คอยุเหล ณ ระนอง) ครั้งนั้นเมื่อเสด็จไปถึงเมืองบันดุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ(กรมหลวงนครราชสีมา)ไปประชวรหนัก ต้องเสด็จพักอยู่ที่เมืองบันดุงเกือบเดือน ในระหว่างนั้นเผอิญกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(เมื่อยังเป็นกรมหมื่น)ก็ประชวร เจ้าพระยายมราชก็ป่วยลงด้วย ก็ยิ่งเกิดความลำบากขึ้นในกระบวนเสด็จ พอเจ้าพระยายมราชหายป่วยเป็นแต่ยังอ่อนกำลัง พระอาการกรมหลวงราชบุรีฯค่อยคลายขึ้น หมอเห็นว่าพอจะกลับได้ จึงโปรดฯให้กรมหลวงราชบุรีฯกับเจ้าพระยายมราชกลับมาก่อน มิได้ตามเสด็จตลอดทาง

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ โปรดฯให้เป็นข้าหลวงไปทำหนังสือสัญญาที่เมืองกลันตัน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ โปรดฯให้พระยามหาอำมาตย์(เส็ง วิริยสิริ) เมื่อยังเป็พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช(เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) ไปราชการถึงยุโรป พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพเจ้าเรียกพระยาสุขุมนัยวินิตเข้าไปรับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยชั่วคราว แล้วกลับออกไปรับราชการตามเดิม และในปีนั้นโปรดฯให้เป็นข้าหลวงไปรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์) ที่เมืองปีนังเมื่อเสร็จการทรงศึกษาในยุโรปเสด็จกลับคืนมายังพระนคร

นอกจากนั้นในเวลาเมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้สนองพระเดชพระคุณ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลนครศรีธรรมราชถึง ๔ ครั้ง เป็นเหตุให้ทรงพระเมตตาปรานีทั้งเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ข้าพเจ้ากำหนดว่าจะออกไปตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมาช สั่งให้เจ้าพระยายมราชส่งเรือนครศรีธรรมราชเข้ามารับ และให้เตรียมพาหนะสำหรับเดินบกไว้ ณ เมืองนครศรีธรรมราช จะไปตรวจถนนสายที่จะไปจังหวัดตรัสด้วยกันกับตัวท่าน

เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกรุงเทพฯ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงพระคลังทรงเวนคืนตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้พระยาสุริยานุวัตร(เกิด บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการย้ายไปเป็น้สนาบดีกระทรวงพระคลัง แต่ยังหาได้ทรงตั้งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการไม่

ข้าพเจ้าไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชเจ้าพระยายมราชก็มาคอยอยู่ที่นั่นและจัดพาหนะเตรียมไว้พร้อมแล้ว ข้าพเจ้าก็กำหนดว่าจะพักอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๒วันแล้วจะเดินทางไป แต่พอไปถึงวันหนึ่งก็ได้รับพระราชโทรเลขว่า "ฉันเห็นว่าพระยาสุขุมจะว่าการกระทรวงโยธาธิการได้ เธอจะให้ได้หรือไม่ ถ้าให้ได้ก็สั่งให้เข้ามาโดยเร็ว" ดังนี้ ข้าพเจ้าอ่านพระราชโทรเลขก็เข้าใจเหตุที่ดำรัสถามข้าพเจ้าว่าถวายพระยาสุขุมได้หรือไม่ คนเป็นเพราะทรงพระราชดำริเกรงว่าข้าพเจ้าจะหาตัวแทนถวายไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่คิดเห็นว่าจะได้ผู้ใดแทน แต่เห็นว่าตำแหน่งเสนาบดีสำคัญกว่าเทศาและบุญมาถึงพระยาสุขุมฯจะได้มีเกียรติยศยิ่งขึ้นไป ไม่ควรข้าพเจ้าจะขัดขวาง ถึงจะลำบากในการหาตัวแทนก็ต้องทนเอา

จึงเชิญพระยาสุขุมฯมาหาแล้วส่งพระราชโทรเลขให้ดู ท่านอ่านแล้วก็นิ่งอยู่มิได้ว่าประการใด คงเป็นเพราะเห็นว่าเป็นพระราชโทรเลขถามความเห็นข้าพเจ้าโดยเฉพาะตัว ข้าพเจ้าเป็นผู้พูดก่อน ก็แสดงความยินดีต่อท่าน และสั่งให้ท่านรีบกลับเข้าไปกรุงเทพฯตามพระราชประสงค์ แล้วจึงมีโทรเลขกราบทูลสนองว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเห็นตามพระราชดำริ ได้สั่งให้พระยาสุขุมรีบเข้าไปกรุงเทพฯแล้ว"

วันรุ่งขึ้นเมื่อข้าพเจ้าจะออกเดินทาง เจ้าพระยายมราชมาส่ง เมื่อจับมือลากันน้ำตาก็หลั่งตาด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะในใจมีทั้งความยินดีและความอาลัยระคนปนกัน พอข้าพเจ้าออกเดินทางไปแล้ว ท่านก็ลงเรือไปรับครอบครัวที่เมืองสงขลาพากันเข้าไปกรุงเทพฯ ไปอยู่บ้านเดิมซึ่งได้รับมรดกพระยาชัยวิชิต ณ ตำบลบางขุนพรหม


ประวัติตอนเป็นเสนาบดีในรัชกาลที่ ๕


เจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่ ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านเข้ามารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เวลานั้นอายุท่านได้ ๔๔ ปี ชั้นแรกโปรดฯให้เป็นแต่ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดี อยู่สักสองสามเดือนเหมือนอย่างทดลองเสียก่อนว่าจะสามารถเป็นเสนาบดีได้หรือไม่ แล้วจึงทรงตั้งให้เป็นตัวเสนาบดีเต็มตำแหน่ง แต่ยังคงมีนามว่า พระยาสุขุมนัยวินิต อยู่ตลอดเวลาที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

แต่งเรื่องประวัติตอนนี้ข้าพเจ้าจะต้องขอออกตัวสักหน่อย ด้วยตั้งแต่เจ้าพระยายมราชเข้ามาเป็นเสนาบดีอยู่ในกรุงเทพฯ แม้จะได้พบปะกับข้าพเจ้าเสมอ และยังรักใคร่กันสนิทเหมือนอย่างแต่ก่อนก็ดี แต่รับราชการต่างกระทรวงกัน ข้าพเจ้าไม่รู้การงานของท่านถ้วนถี่เหมือนเมื่อเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ความที่ข้าพเจ้าแต่งอาจจะบกพร่องหรือผิดไปได้บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องขออภัย

กระทรวงโยธาธิการในสมัยนั้นจัดเป็น ๓ แผนก คือกรมรถไฟแผนกหนึ่ง กรมไปรษณีย์และโทรเลขแผนกหนึ่ง และกรมโยธาแผนกหนึ่ง การงานแผนกต่างๆเหล่านั้น เวลาเมื่อเจ้าพระยายมราชไปว่าการกระทรวงโยธาธิการ กรมรถไฟพวกฝรั่งผู้เชียวชาญทำการอยู่เป็นพื้น เสนาบดีเป็นแต่ตรวจดูและช่วยชี้แจงแก้ไขความขัดข้องที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่น มิสู้เป็นการหนักนัก กรมไปรษณีย์โทรเลข สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดฯให้แก้ไขเป็นระเบียบเรียบร้อยมาไม่ช้านัก แต่การในกรมโยธากำลังยุ่งถึงต้องเอาเจ้ากรมออกจากตำแหน่ง

แรกเจ้าพระยายมราชเข้าไปเป็นเสนาบดีต้องแก้ยุ่งของกรมโยธาเป็นการสำคัญ ก็ในเวลานั้นกรมโยธากำลังสร้างพระราชมณเฑียรในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถานที่พระราชวังดุสิตยุ่งอยู่ด้วยแห่งหนึ่ง เจ้าพระยายมราชเข้าไปแก้ไขระเบียบการงานที่สร้างพระราชมณเฑียร มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเพื่อเรียนพระราชปฏิบัติและรับมาทำการตามพระราชประสงค์เนืองๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือได้เข้าใกล้ชิดสนิทพระองค์ทรงคุ้นยิ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงหยั่งเห็นคุณวิเศษของท่านเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือว่าการงานอันใดที่ดำรัสสั่ง เจ้าพระยายมราชมีสติปัญญาสามารถเข้าใจพระราชประสงค์ได้โดยถูกต้องและพยายามทำการนั้นๆให้สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุที่จะพอพระราชหฤทัยใช้สอยเจ้าพระยายมราชมาแต่นั้นแต่นั้น

ความที่กล่าวนี้มีเค้าเงื่อนที่พึงเห็น ดังเช่นเมื่อจะเสด็จไปยุโรปครั้งที่ ๒ มีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ทรงฝากฝั่งเจ้าพระยายมราชให้เอาธุระช่วยดูแลพระราชฐานด้วยคนหนึ่ง มีสำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราชกราบทูลตอบ ส่อให้เห็นข้อที่ทรงพระเมตตาเจ้าพระยายมราชอย่างสนิทสนมในเวลานั้น และเจ้าพระยายมราชมีความสามิภักดิ์ในน้ำใจเพียงไร จึงให้พิมพ์สำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราชลงในนี้ด้วย



วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์สก ๑๒๕
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุขุมนัยวินิต ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า

ด้วยเช้าวันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชหัตถเลขาลงวันวานนี้ ทรงพระราชปรารภถึงจะเสด็จประพาสยุโรป แลโปรดเกล้าฯให้ข้าพระพุทธเจ้าหมั่นตรวจตราที่พระที่นั่งอัมพรสถานเสมอ เผื่อว่าจะมีการขัดข้องประการใด ก็ให้สนองพระเดชพระคุณไป แลจะโปรดเกล้าฯพระราชทานกระแสเป็นทางราชการด้วย ในชั้นนี้โปรดฯเกล้าให้ข้าพระพุทธเจ้ารีบติดโทรศัพท์ระหว่างพระที่นั่งอัมพร กับตำหนักสมเด็จกรมหลวงนริศฯ เพื่อจะได้พูดถึงกันได้ในเวลาเมื่อมีการจำเป็น กับข้อความอื่นๆอีกหลายประการนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าทุกประการแล้ว พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าหาที่สุดมิได้

ที่ทรงพระมหากรุณาไว้วางพระราชหฤทัยดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ความจริงข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่วัด ได้เล่าเรียนอยู่บ้าง และเชื่อถือในความกตัญญูกตเวที ว่าเป็นสิริมงคล แลเป็นราศีแก่ตัว ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯถึงเพียงนี้ ก็ตั้งใจจะสนองพระเดชพระคุณทั้งราชการแผ่นดินแลในส่วนพระองค์ ไม่ถือว่าการหยาบหรือการละเอียด หรือความเหน็ดเหนื่อยอย่างใดอย่างหนึ่งเลย

อีกประการหนึ่งข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเสมอ ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทย่อมเป็นหลักอันสำคัญแห่งพระราชอาณาจักรสยามอยู่พระองค์เดียว ถ้าจะเปรียบก็ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรป เพราะฉะนั้นการรักษาพระองค์จึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่ต้องสงสัย เสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้คงจะกระทำให้ทรงพระเป็นสุขสำราญขึ้นเป็นอันมาก แต่ที่จะทรงพระสำราญนี้ก็ต้องประกอบพร้อมด้วยแพทย์อันวิเศษ แลอากาศทางข้างเมืองนอกประการ ๑ ทั้งราชการแผ่นดินตลอดถึงพระบรมวงศ์และพระราชูประถากฝ่ายใน ทางข้างหลังนี้ก็ต้องให้เป็นที่เรียบร้อยปราศจากการขัดข้องด้วยประการ ๑ แม้ว่าการทางข้างหลังนี้ไม่เรียบร้อย จะนับว่าเป็นที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยนั้นไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเช่นนี้

เพราะฉะนั้นในระหว่างเวลาที่เสด็จไม่อยู่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งใจอยู่ว่าส่วนราชการกระทรวงก็จะสนองพระเดชพระคุณมิให้ถอยหลัง ส่วนราชการในพระองค์สิ่งใดที่ได้ทรงมอบหมายไว้ ก็จะสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลัง หรือให้ยิ่งกว่าเสด็จประทับอยู่ในพระนคร

อนึ่งเครื่องโทรศัพท์นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้ลงมือทำในวันพรุ่งนี้แล้ว

ควรมิควรสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ


ข้าพระพุทธเจ้า (ลงนาม) สุขุมนัยวินิต ขอเดชะ




..........................................................................



แต่เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอยู่ไม่เต็ม ๒ ปี ก็เกิดเหตุต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล เหตุที่จะย้ายไปนั้นข้าพเจ้าทราบอยู่ ด้วยเกี่ยวกับเรื่องประวัติของตัวข้าพเจ้าเองอยู่บ้าง เรื่องเป็นดังจะเล่าต่อไปนี้

คือ เมื่อกระทรวงมหาดไทยจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลมาได้สักสองสามปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงปรารถแก่ข้าพเจ้า ว่ากระทรวงมหาดไทยก็ได้จัดวิธีปกครองหัวเมืองวางเป็นระเบียบแล้ว แต่กระทรวงนครบาลเฉยอยู่ไม่ได้จัดอะไรให้ดีขึ้นเลย ที่จริงท้องที่ที่กระทรวงนครบาลปกครองก็เหมือนอย่างมณฑล หนึ่งโอนเอาไปรวมเข้ากระทรวงมหาดไทยเสียเหมือนอย่างหัวเมืองมณฑลอื่นๆจะไม่ได้หรือ

ข้าพเจ้าคิดดูแล้วกราบทูลว่าท้องที่ที่กระทรวงนครบาลปกครองเป็นแอย่างมณฑลหนึ่งก็จริง แต่เป็นมณฑลราชธานีอันเป็นที่ประชุมทั้งสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง และที่ร้ายอย่างยิ่งเหมือนกับราชธานีประเทศอื่นๆ ถ้าโปรดให้ข้าพเจ้าต้องบังคับการมณฑลกรุงเทพฯด้วย เกรงจะติดกิจการต่างๆต้องประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีเวลาไปเที่ยวตรวจการตามหัวเมือง การที่จัดขึ้นตามมณฑลต่างๆก็จะทรุดโทรมหรือรั้งราไปไม่เจริญ ข้าพเจ้าเห็นว่ามณฑลกรุงเทพฯอยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณถึงผู้บัญชาการจะหย่อนความสามารถก็อาจทรงพิจารณาเร่งรัดตักเตือนได้ อย่าเพิ่งเอาหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯรวมเข้าในกระทรวงมหาดไทยเห็นจะดีกว่า ได้ทรงฟังไม่ตรัสประการใดต่อไป เรื่องก็เป็นอันระงับมาหลายปี

จนมีกรณีเกิดขึ้นด้วยเรื่องพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร โปรดให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นทีละมณฑลหนึ่งหรือสองมณฑล ตามแต่กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมจะปรึกษาตกลงกัน ได้ใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารตามหัวเมืองที่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทยสำเร็จมาหลายมณฑล แต่กระทรวงนครบาลไม่รับจัดการใช้พระราชบัญญัตินั้นในมณฑลกรุงเทพฯ ด้วยอ้างว่าเป็นการยากเหลือกำลังที่จะจัดได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงขัดเคือง

วันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปแล้ว มีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าในที่รโหฐาน ดำรัสว่า "ฉันทนกรมเมือง(คือพระทรวงนครบาล)ต่อไปไม่ไหวแล้ว เธอจะรับมณฑลกรุงเทพฯไปรวมกับมหาดไทยได้หรือไม่" ใจข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากรับอยู่อย่างเดิม แต่สังเกตดูพระราชอัธยาศัยกำลังทรงขุ่นเคือง จะกราบทูลปฏิเสธซ้ำเหมือนหนหลังก็เกรงจะถูกกริ้ว

เผอิญนึกขึ้นได้ในขณะนั้นเหมือนอย่างเขาว่า "เทวดาดลใจ" ก็กราบทูลสนองว่า "แก้ด้วยสับเปลี่ยนตัวเสนาบดีจะดีดอกกระมัง คือ โปรดให้ย้ายพระยาสุขุมนัยวินิตมาว่าการกระทรวงนครบาล เพราะเคยชำนาญการมณฑลเทศาภิบาลมาแล้ว และย้ายเสนาบดีกระทรงนครบาลไปว่าการกระทรวงโยธาธิการ บางทีจะแก้ไขความขัดข้องได้" มีพระราชดำรัสตอบว่า "ชอบกล" แล้วมิได้ทรงปรารภเรื่องนั้นต่อไป ต่อมาอีกสองสามวันก็มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สับเปลี่ยนตัวเสนาบดีดังกล่าวมา เจ้าพระยายมราชจึงได้ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล แต่ในชั้นแรกยังคงเป็นพระยาสุขุมนัยวินิตอยู่อย่างเดิม


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:10:57:19 น.  

 
 
 
(ต่อ)


สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงหยั่งเห็นสติปัญญาสามารถของเจ้าพระยายมราช และได้เคยทรงใช้ชิดติดพระองค์ไว้วางพระราชหฤทัยอยู่แล้ว เมื่อย้ายตำแหน่งไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล ก็โปรดให้คงอำนวยการก่อสร้างในพระราชวังดุสิตอยู่ย่างเดิม และโปรดให้โอนกรมสุขาภิบาลซึ่งพ่วงอยู่กับกระทรวงเกษตราธิการในเวลานั้นมาขึ้นในกระทรวงนครบาลด้วย

ตรงนี้เห็นควรจะย้อนความถอยหลังขึ้นไปเล่าถึงกำเนิดของกรมสุขาภิบาลด้วย ราวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เจ้าพระยาอภัยราชา(โรลังค์ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไป กราบทูลว่าพวกชาวต่างประเทศมักติเตียนว่ากรุงเทพมหานครยังโสโครก และไม่มีถนนหนทางสำหรับมหาชนไปมาตามสมควรแก่เป็นราชธานี ทูลแนะนำให้คิดจัดมุนินสิเปอล (เดี๋ยวนี้เรียกว่า เทศบาล) เหมือนเช่นเขาจัดกันในเมืองต่างประเทศ

ทรงปรึกษาความเห็นของเจ้าพระยาอภัยราชาในที่ประชุมเสนาบดี เห็นว่าที่จะจัดเทศบาลในกรุงเทพฯเหมือนอย่างเมืองต่างประเทศในสมัยนั้นยังไม่ได้ เพราะหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยได้ทำไว้กับต่างประเทศมีอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลไทยจะตั้งกฏหมายอันใดที่บังคับถึงชาวต่างประเทศต้องบอกให้รัฐบาล(คือกงสุล)ต่างประเทศทราบก่อน ต่อเขายินยอมจึงจะตั้งกฏหมายเช่นนั้นได้ แม้ตั้งกฏหมายได้แล้วถ้าชาวต่างประเทศละเมิดกฏหมายก็ต้องไปร้องฟ้องต่อศาลกงสุล ความในหนังสือสัญญามีอยู่ดังนี้ แลชาวต่างประเทศในเมืองไทยก็อยู่ในกรุงเทพฯเป็นพื้น จะจัดเทศบาลคงติดขัดด้วยพวกกงสุลต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องป้องกันคนในบังคับของตนโต้แย้งขัดข้องต่างๆยากที่จะจัดให้สำเร็จได้ เจ้าพระยาอภัยราชาก็ยอม

แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่า ที่เขาติเตียนนั้นเป็นความจริงโดยมาก เราจะมัวใส่โทษหนังสือสัญญาไม่ทำอะไรแก้ไขให้ดีขึ้นเสียเลยหาควรไม่ จึงดำรัสสั่งให้ตั้ง "กรมสุขาภิบาล" ขึ้นสำหรับบำรุงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ด้วยบำบัดความโสโครกและทำถนนหนทางเป็นต้น ทรงตั้งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศวิวัฒน์(ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เมื่อยังเป็นพระยาจางวางมหาดเล็ก เป็นอธิบดีกรมสุขาภิบาล ได้ทำงานบำรุงพระนครมาหลายอย่าง

ครั้นทรงตั้งเจ้าพระยาเทเวศร์ฯเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ยังโปรดฯให้เจ้าพระยาเทเวศร์ฯอำนวยการสุขาภิบาลอยู่ด้วย กรมสุขาภิบาลจึงไปพ่วงอยู่กับกระทรวงเกษตราธิการ

เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลนั้น ประจวบเวลาเจ้าพระยาเทเวศร์ฯมีอาการเจ็บป่วยทุพพลภาพ ถึงต้องออกจากตำแหน่งเสนาบดี ทั้งประจวบเวลากำลังทรงพระราชดำริจะสร้างสิ่งสำคัญคือ ประปา ชักน้ำจืดมาให้บริโภคในกรุงเทพฯและสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ในพระราชวังดุสิต จึงโปรดให้โอนกรมสุขาภิบาลมาขึ้นในกระทรวงนครบาล เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง รวมหน้าที่กับทั้งพนักงานก่อสร้างซึ่งเคยอยู่ในกระทรวงโยธาธิการกับพนักงานก่อสร้างในกรมสุขาภิบาล ให้มาอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าพระยายมราชด้วยกัน

แรกเจ้าพระยายมราช (เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต) เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล พอท่านศึกษาหน้าที่ราชการต่างๆในตำแหน่งและได้สมาคมคุ้นกับข้าราชการในกระทรวงแล้ว ก็เริ่มจัดการปกครองท้องที่ ให้ใช้วิธีปกครองเมืองต่างๆในมณฑลกรุงเทพฯอย่างเดียวกันกับหัวเมืองขึ้นมหาดไทย ตัวเสนาบดีรับหน้าที่ผู้บัญชาการมณฑล กำหนดท้องที่ในจังหวัดกรุงเทพฯเป็น "อำเภอชั้นนอก" และ "อำเภอชั้นใน" อำเภอชั้นนอกให้มีกรมการอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านปกครองเหมือนอย่างหัวเมืองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย แต่อำเภอชั้นในคือ ตัวพระนครและจังหวัดธนบุรี มีแต่กรมการอำเภอขึ้นตรงต่อกระทรวง หามีกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่

เมื่อวางระเบียบปกครองที่มีพนักงานสำหรับปกครองติดต่อกับราษฎรทุกถิ่นแล้ว ก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนตัวเสนาบดีดังกล่าวมาแล้ว ที่ในมณฑลกรุงเทพฯ แต่พอตั้งต้นก็เกิดด้วยพวกจีนในกรุงเทพฯตื่น พากันปิดร้านไม่ขายของ

เวลานั้นข้าพเจ้ายังอยู่ที่บ้านเก่าริมเชิงสะพานดำรงสถิตย์ มีจีนเช่าร้านที่หน้าบ้านขายของอยู่ ๒ ร้าน ข้าพเจ้าเห็นปิดร้านก็ให้ไปเรียกจีนผู้เช่ามาถาม ว่ามีความเดือนร้อนอย่างไรหรือจึงปิดร้าน ได้คำตอบว่าไม่มีความเดือนร้อนอย่างไร แต่พวกจีนเขาทิ้งใบปลิวสั่งให้ปิดร้าน ว่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งพวกเขาจะมาปล้นทำลายของในร้านให้หมด กลัวภัยต้องปิดร้าน

ข้อนี้ภายหลังมาข้าพเจ้าอ่านหนังสือฝรั่งแต่ง ว่าด้วยประเพณีในเมืองจีน จึงได้รู้มูลเหตุของการปิดร้าน เขาเล่าว่าเมืองจีนใช้วิธีปกครองอย่าง "กินเมือง" (ดังพรรณนามาในที่อื่นแล้ว) มาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่อาณาเขตเมืองจีนกว้างใหญ่ไปมาถึงกันยาก ถ้าราษฎรเมืองไหนถูกเจ้าเมืองบีบคั้น(เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า สะควีส)เหลือทน จะไปร้องเรียนต่อจ๋งตก (อุปราช) ก็ไม่ถึง จึงมักนัดกันปิดร้านไม่ค้าขาย เพื่อให้ข่าวระบือไปถึงจ๋งตกจะได้ให้มาช่วยระงับทุกข์ร้อน

พวกราษฎรจีนรู้และใช้ประเพณีมาช้านาน คงมีจีนบางพวกแนะนำให้จีนในกรุงเทพฯทำอย่างนั้น แต่พวกจีนที่ค้าขายหาเลี้ยงชีพไม่พอใจจะปิดร้านจึงต้องขู่เข็ญให้กล้ว ครั้งนั้นเจ้าพระยายมราชท่านไปปรึกษากับกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช(ศิษย์เก่าของท่าน) เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ตกลงใช้อุบายให้ทหารม้าสัก ๒ กองร้อย แยกกันเป็นหลายหมวด เดินแถวผ่านไปตามถนนเจริญกรุงจนถึงบางรัก(๒) และที่อื่นซึ่งมีจีนอยู่มากในเวลาบ่ายคล้ายกับไปตรวจตรา ไม่มีใครรู้ว่าทหารม้าจะลงไปทำอะไร พอรุ่งขึ้นเจ้าพระยายมราชให้นายพลตระเวนลงไปสั่งให้จีนเปิดร้ายขายค้าเหมือนอย่างเดิมก็ยอม(และยินดี)เปิดด้วยกันหมด

ยกเรื่องมากล่าวเป็นตัวอย่างพอให้รู้วิธีทำการของเจ้าพระยายมราช ซึ่งชอบและสามารถจะทำการงานกลมเกลียวกับกระทรวงอื่น ไม่ถือเข้าถือเรา จึงทำการให้สำเร็จประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองมาก

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อปรากฏเกียรติคุณว่าสมควรเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาเป็น เจ้าพระยายมราช เต็มตามตำแหน่ง เมื่อทรงตั้งมีประกาศดังนี้


ประกาศ
เลื่อน พระยาสุขุมนัยวินิต เป็น เจ้าพระยายมราช


ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาลเป็นอดิตภาคล่วงแล้ว ๒๔๕๑ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มักกฏสังวัจฉระ กติกมาศกาฬปักษ์ จันทรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ พฤศจิกายนมาศ โสภสมาสาหคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตพบรม มหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปริมินทรธรรมิกราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาสุขุมนัยวินิตได้เริ่มรับราชการมาในกรมศึกษาธิการ ด้วยเหตุเป็นผู้ได้เรียนภาษาบาฬีมีความรู้เข้าแปลในสนามมีประโยคได้เป็นเปรียญ ภายหลังได้เป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ออกไปทรงเล่าเรียนในประเทศยุโรปเป็นครั้งแรก เพราะเหตุที่ได้ถวายพระอักษรถาษาไทยมาแต่ยังเสด็จอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าลูกยาเธอผู้เป็นศิษย์โดยสนิททุกพระองค์ ครั้นเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จเข้าเรียนภาษาอังกฤษมีเวลาว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ช่วยในสถานทูตสยามกรุงลอนดอนอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ถือโอกาสอันออกไปอยู่ในประเทศยุโรปนั้นด้วยดี เรียนภาษาอังกฤษในระหว่าง ๗ ปีที่ได้รับราชการอยู่นั้นด้วยความเพียรและทุนของตนเอง มีความรู้กว้างขวาง

ทั้งเป็นผู้ที่ได้เข้าตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทววงศวโรปการ แลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จไปยังราชสำนักต่างๆในประเทศยุโรปแลอเมริกา ในชั้นหลังที่สุดได้เป็นเลขานุการแลทำการแทนราชทูตสยามในประเทศอังกฤษชั่วคราว

ครั้นเมื่อกลับเข้ามายังกรุงเทพพระมหานคร ได้เริ่มต้นรับราชการเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แล้วไปเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการเมืองสงขลาและเมืองพัทลุง ซึ่งภายหลังรวมขึ้นเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช แล้วแลขยายออกไปถึงเมืองมลายู ๗ เมือง ได้เริ่มต้นการปกครองมณฑลด้วยความสามารถเป็นอันมาก วางแบบอย่างการปกครอง การสรรพากรแลการคลัง เริ่มตั้งการยุติธรรม วางระเบียบแบบอย่างก่อนที่จะส่งยังกระทรวง ส่วนการโยธาในกระทรวงนั้นก็ได้ขุดคลองแลทำทางเป็นที่สัญจรไปมา ทั้งทางบกทางเรือเป็นอันมาก ส่วนการปกครองเมืองมลายูซึ่งเป็นการยากด้วยเกี่ยแก่ศาสนา ก็ได้จัดวิธีพิจารณาอนุโลมให้เป็นการสำเร็จลงเป็นแบบอย่างเรียบร้อยได้ ส่วนการในระหว่างที่รับราชการนั้นก็มีหลายคราว คือไปประเทศอินเดีย แลยวา แลไปรักษาราชการ แลทำสัญญาเมืองกลันตัน อันเป็นข้อราชการสำคัญที่ต้องใช้สติปัญญาเป็นอันมาก ได้รับราชการในมณฑลนอกกรุงเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี มีความรู้ความชำนาญกว้างขวางในทางปกครองพระราชอาณาเขตร

ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้เริ่มจัดการในกระทรวงนั้น ท่านเป็นผู้ได้รับฉลองพระเดชพระคุณการส่วนพระองค์ในการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานแลดำริห์เริ่มการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเวลาได้ออกไปตรวจการมณฑลไทรบุรีแลมลายูประเทศซึ่งเข้ากันในการปกครอง ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประเทศยุโรปครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล เพื่อจะได้ตรวจตราจัดการปกครองมณฑลกรุงเทพฯแลบัญชาการกรมสุขาภิบาล ส่วนการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณฉะเพาะพระองค์ มีการก่อสร้างพระที่นั่งเป็นต้น ก็ยังติดอยู่เป็นการฉะเพาะตนอีกแผนกหนึ่ง

พระยาสุขุมนัยวินิตเป็นผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง มั่นคงต่อความคิดอันได้กำหนดไว้ว่าจะทำแล้วมิได้ละเลยให้จืดจางเสื่อมคลาย มีความรู้แลสติปัญญาพอที่จะใช้ความตั้งใจนั้นให้ดำเนินไปได้ด้วยแยบคลาย แลอุบายอันชอบ ประกอบด้วยความกตัญญูแลกตเวที ทั้งเมตตาปราณีเป็นเบื้องหน้า มีความอุตสาหะแลความเพียรเป็นกำลัง จึงอาจจะยังราชกิจทั้งปวงในหน้าที่ให้สำเร็จได้โดยสะดวกดีควรจะชม เป็นที่นิยมทั่วไปในหมู่ชนเป็นอันมาก ปรากฏมาโดยลำดับ ทรงพระราชดำริว่าผู้ซึ่งมีอัธยาศัยแลความสามารถเช่นนี้ คงจะได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ที่ยืนยาวสืบไป เป็นผู้สมควรจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องขึ้นไว้ในตำแหน่งเจ้าพระยาให้เป็นตัวอย่างของข้าราชการทั้งปวงสืบไปภายหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาสุขุมนัยวินิตขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร มิหินทราธิบดี ศรีวิชัยราชมไหสวรรยบริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกาธิกรณ์ สิงหพาหเทพยมรุธาธร ราชธานีมหาสมุหประธานสุขุมนัยบริหารอเนกนรสมาคม สรรโพดมมสุทธิศุขวัฒณาการ มหานคราภิบาลอรรมาตยาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ คชนาม ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุพรรณ สุขศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ


..........................................................................



เจ้าพระยายมราชอื่น หรือผู้อื่นซึ่งได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลแต่ก่อนมา ไม่มีท่านผู้ใดเคยทำราชการในกระทรวงนั้นมากและใหญ่ยากกว่าเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ข้อนี้อาจอ้างได้ด้ววยไม่เกรงคำคัดค้าน เพราะเสนาบดีกระทรวงนครบาลแต่ก่อน มีแต่หน้าทีในการปกครองรักษาสันติสุขในราชธานีเป็นสำคัญ

จนถึงเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)ต้องรับราชการเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เมื่อแต่งประวัตินี้มีเวลาแต่พอจะจาระไนได้แต่โดยย่อ คือ อำนวยการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างประปา และสร้างโรงทำไฟฟ้าหลวงสำหรับใช้ทางฝ่ายเหนือพระครเป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อขยายภูมิพระนครให้กว้างขวางออกไปในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้เจ้าพระยายมราชเป็นผู้อำนวยการสร้างถนนและสะพานแทบทุกแห่ง

ส่วนการปกครองรักษาสันติสุขของพระนครในหน้าที่กระทรวงนครบาลก็ยากยิ่งขึ้นโดยลำดับมา ตั้งแต่ก่อนเจ้าพระยายมราชมาเป็นเจ้ากระทรวง เมื่อถึงสมัยท่าน ท่านเอาคุณสมบัติที่ผู้รู้จักผูกใจคนอันมีประจำตัวมาแต่ก่อนแล้ว มาใช้เป็นกำลังได้มาก คือว่าไม่ถือตัวทำภูมิเข้าคนได้ทุกชั้นเป็นต้น ชาวพระนครทุกชาติทุกภาษาใครมีกิจธุระที่จะให้ท่านช่วย ก็ยอมให้ไปถึงตัวได้ทั่วหน้าเป็นนิจ การอันใดที่พอจะช่วยได้ก็ช่วยด้วยความเต็มใจ และไม่เบียดเบียนผู้ใดอันเป็นเหตุที่ท่านได้รับไมตรีจิตของคนทั้งหลายพากันนับถือโดยมาก แต่ถ้าว่าโดยทั่วไปเจ้าพระยายมราชได้อาศัยพระเมตตากรณาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอุดหนุนโดยไว้วางพระราชหฤทัย เป็นปัจจัยประกอบกับคุณวุฒิของท่าน จึงได้มีเกียรติระบือชื่อเสียงว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕

การที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตาเจ้าพระยายมราชถึงเพียงใด มีกรณีที่เป็นอุทาหรณ์จะนำมาแสดงไว้ด้วย ครั้งหนึ่งเจ้าพระยายมราชป่วยเป็นไข้ถึงต้องล้มหมอนนอนเสื่อขาดเฝ้าไปหลายวัน โปรดฯให้มหาดเล็กไปฟังอาการกราบทูลเสมอ พอเจ้าพระยายมราชค่อยคลายป่วยเดินได้เป็นแต่ยังอ่อนเพลีย วันหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเรือพระที่นั่งยนต์เสด็จไปเยี่ยมเจ้าพระยายมาชถึงบ้านที่บางขุนพรหม ดำรัสว่า อยากเสด็จมาเยี่ยมแต่เมื่อแรกเจ็บ แต่ขัดอยู่ด้วยราชประเพณีแต่ก่อนมา ถ้าเสนาบดีคนใดป่วยจนอาการถึงจะไม่รอดแล้วพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จไปเยี่ยม เสด็จไปเยี่ยมใครคนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่าเสนาบดีคนนั้นจะตาย จะเสด็จมาเยี่ยมแต่แรกป่วย ทรงเกรงจะลือกันว่าเจ้าพระยายมราชจะถึงอสัญกรรม จึงรอมาจนอาการฟื้นแล้วจึงเสด็จไปเยี่ยม

แต่การที่เสด็จไปเยี่ยมครั้งนั้น มาเป็นคุณข้อสำคัญแก่เจ้าพระยายมราชเมื่อภายหลัง ด้วยทอดพระเนตรเห็นบ้านเรือนของท่านที่บางขุนพรหม ซอมซ่อไม่สมกับเกียรติยศเสนาบดีผู้มีความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานบ้านศาลาแดงซึ่งเดิมเป็นบ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต) แล้วตกเป็นของหลวงและยังว่างอยู่นั้น ให้เป็นสิทธิ์แก่เจ้าพระยายมราชเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๕๓ ท่านได้อยู่ต่อมาจนตลอดอายุ ต่อมาในปีนั้นเองถึงเดือนกรกฎาคม เจ้าพระยายมราชทำบุญฉลองอายุครบ ๔ รอบปี เวลานั้นสมเด็จพระพุทเจ้าหลวงเสด็จประทับอยู่เมืองเพชรบุรี ทรงพระราชหัตถเลขาพระราชทานพร กับของขวัญมายังเจ้าพระยายมราช ดังพิมพ์ไว้ต่อไปนี้


บ้านปืน เพ็ชรบุรี

วันที่ ๑๐ กรกฎาคม (๔๓) รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

เจ้าพระยายมราช


พรุ่งนี้จะเป็นวันทำบุญอายุครบ ๔ รอบ อันเป็นที่ผูกใจจำมั่นอยู่นั้น จึงขอจดหมายฉะบับนี้ให้พร

ขอให้มีอายุยืนนาน ปราศจากโรคภัยอันเป็นที่ตั้งแห่งกำลังกายและกำลังปัญญา ที่จะได้ทำการอันหนักสำหรับน่าที่ให้สำเร็จได้ตลอด

แท้จริงราชการที่เราทำอยู่ด้วยกันบัดนี้เป็นการที่คนเกิดมาคู่บารมีกันจึงจะทำได้ เพราะเป็นการยาก การหนักซึ่งคนสามัญจะเห็นความให้ตลอดได้ยาก ขอเสี่ยงบารมีของตัวเองให้พรเจ้าพระยายมราชด้วยเดชความสัตยสุจริต ปรารถนาดีต่อประชาชนแลชาติภูมิ ขอให้พรทั้งปวงประสิทธิ์แก่เจ้าพระยายมราชด้วยความสัจอันกล่าวอ้างนี้

ได้ส่งซองบุหรี่มาเป็นของขวัญ ขอให้ไว้เป็นที่หมายน้ำใจและเป็นสวัสดิมงคลด้วยเทอญ

จุฬาลงกรณ์ ปร.




..........................................................................



เจ้าพระยายมราชได้รับพรกับของขวัญที่พระราชทานครั้งนั้น จะมีความชื่นชมยินดีและรู้สึกพระเมตตากรุณาสักเพียงใดพอจะคาดได้ แต่ไม่มีผู้ใดแม้ตัวเจ้าพระยายมราชเองที่จะคาดว่าต่อมาอีกเพียง ๔ เดือน สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าจะประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น เป็นเหตุให้เกิดโศกาลัยทั่วไปทั้งประเทศ

เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีอยู่ ๔ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๕ เวลานั้นอายุท่านได้ ๔๘ ปี


.......................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:10:58:27 น.  

 
 
 
(ประวัติ เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ภาคที่ ๒
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร



สมัยรัชกาลที่ ๖


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลานั้นเจ้าพระยายมราชนับว่าย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย แต่สำหรับตำแหน่งราชการได้บรรลุถึงขีดสูงสุดคือตำแหน่งเสนาบดีแล้ว การงานซึ่งท่านทำระหว่างสมัยนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านได้รับความรู้จากความชำนิชำนาญ อันประกอบด้วยสติปัญญาเฉียบแหลม นิสัยส่วนตัวของท่านและความประพฤติต่อผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เกี่ยวกับท่านทั่วไป ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผลแห่งความชำนิชำนาญอันประกอบด้วยปัญญาดังกล่าวมาแล้ว ยิ่งท่านเจริญขึ้นด้วยอาวุโสและด้วยลาภยศฐานันดร ท่านยิ่งแสดงอุปนิสัยอ่อนโยนและถ่อมตัวยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ในตอนที่แล้วมาความประจักษ์ว่า ภายในระยะ ๔ ปีที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและกระทรวงนครบาลนั้น ท่านได้ทำตัวให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างรวดเร็ว จนทรงสำแดงพระมหากรุณาธิคุณอุปการะเป็นการวส่วนตัว เช่นพระราชทานบ้านศาลาแดงให้อยู่ เจ็บไข้ก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมถึงบ้านเป็นต้น รู้สึกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงคงจะทรงพระกรุณาเจ้าพระยายมราชดุจผู้ใหญ่ที่ชุบเลี้ยงผู้น้อย อย่างที่เรียกว่า ปั้นขึ้นให้เป็นตัวแล้วและผู้น้อยนั้นยังแสดงความสามารถให้เห็นชัด เป็นการรับรองว่าผู้ใหญ่ได้ยกย่องโดยถูกต้องและโดยปราศจากการลำเอียงแล้วด้วย

ราชการในสมัยนั้นเป็นไปในลักษณะที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเดียวเท่านั้น หากทรงทำหน้าที่อัครมหาเสนาบดี หรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรี ด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพราะต้องประทับเป็นประธานในเสนาบดีสภา ต้องทรงวางแนวรัฐประศาสโนบายให้แก่เจ้ากระทรวง ยังต้องควบคุมให้กิจการเป็นไปตามแนวรัฐประศาสโนบายนั้นด้วย

ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาล วิธีปฏิบัติราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาย่อมเปลี่ยนไปบ้าง ตามส่วนแห่งพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่แล้วมาโดยคล่องแคล่วถูกพระราชอัธยาศัย บางทีอาจไม่สะดวกสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ก็เป็นได้ อาการเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเสมอ ไม่แต่ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีเท่านั้น แต่ระหว่างหัวหน้าการงานทุกอย่างทุกชั้นกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนก็เหมือนกัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบัญชาราชการโดยอาศัยหลักรัฐประศาสโนบายเดียวกันกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่พระราชอัธยาศัยไม่สู้เหมือนกันที่เดียว ในรัฐกาลที่ ๕ ตอนกลาง และตอนหลังเสนาบดีส่วนมากเป็นบุคคลที่ท่านเลี้ยงขึ้นมาแต่ตำแหน่งต่ำๆ ทรงคุ้นเคยมามาก ทรงหัดมาเอง ตรงกับคำที่พูดกันเล่นๆว่าเป็น "ลูกศิษย์" ท่านทั้งนั้น ในรัชกาลที่ ๖ ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชันษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์เป็นผู้มีอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษฏ์ดังรู้กันอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชกาลก่อน โดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายให้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชกาลที่แล้วมา

ส่วนเจ้าพระยายมราชนั้น เมื่อลักษณะการเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังคงสนองพระเดชพระคุณให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่อมา ยิ่งได้ทรงใช้มากขึ้นก็ยิ่งทรงพระเมตตาขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งโปรดเกล้าฯให้ยกกระทรวงมหาดไทยอันเป็นกระทรวงใหญ่ที่สุดกระทรวงหนึ่งมาสมทบไว้ในความรับผิดชอบของท่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

ความสัมพันธ์ในระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พอจะแยกออกกล่าวได้เป็น ๓ สถาน คือ

๑. ทรงชุบเลี้ยงเป็นฉันสหายและฉันข้าในราชสกุล
๒. ทรงยกย่องฉันปราชญ์และอาจารย์
๓. ทรงใช้สอยและยกย่องฉันเสนาบดีและมุขมนตรี

จะได้พิจารณาหลักฐานจากเอกสารต่างๆมาประกอบให้เห็นอาการทั้ง ๓ อย่าง ดั่งได้กล่าวมาแล้วนี้โดยลำดับ

ในฉันสหายและข้านั้น จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ทรงปรับทุกข์เนืองๆตรงมายังยังเจ้าพระยายมราช ตลอดจนกระทั่งทรงฝากฝั่งข้าไทส่วนพระองค์ ซึ่งทรงเป็นห่วงว่า เมื่อสิ้นพระองค์ลงไปแล้วอาจได้รับความลำบากอดอยากขัดสนเป็นต้น ในเวลาทรงทำพระราชพินัยกรรมครั้งใดก็โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราชเจ้าไปลงนามเป็นพยานและเป็นผู้กราบบังคมทูลสอบทานตามธรรมเนียมการทำพินัยกรรม นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระมหากรุณาให้ตั้งเครื่องเสวยรับเสด็จที่บ้านเนืองๆ เวลาเสด็จประพาสบางคราวก็โปรดให้ไปตามเสด็จ เมื่อพระราชทานตราวัลภาภรณ์เป็นบำเหน็จความชอบส่วนพระองค์ ก็ได้ทรงร่างคำยกย่องความดีความชอบด้วยพระองค์เองว่า "ได้ปฏิบัติ(พระองค์)เช่นพยาบาลในเวลาประชวรเป็นต้น (เวลาประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ) นับว่าเป็นที่ทรงคุ้นเคยอย่างสนิทสนม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว และต่อมายังได้สนองพระเดชพระคุณในส่วนพระองค์ ทั้งเมื่อก่อนเสวยราชย์และเสวยราชย์แล้ว" ครั้นเมื่อพระราชทานสุพรรณบัฏทรงพระราชนิพนธ์สร้อยนามพระราชทานด้วยว่า "นิตยภักดีศรีสุโขปสดัมภก"


ในฉันครูนั้น นอกจากที่ยังทรงยกย่องอยู่บ่อยๆโดยทรงเรียกเจ้าพระยายมราชว่า "ครู" แล้ว ควรจะสังเกตด้วยว่าในประกาศพระราชทานตราวัลภาภรณ์ (๒๔๖๒) ซึ่งได้อ้างมาข้างบนนี้แล้วนั้น ยังมีควทามอีกข้อหนึ่งซึ่งว่า "เจ้าพระยายมราชได้รับราชการถวายพระอักษรเมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ" อีกแห่งหนึ่งได้ทรงไว้ในคำพระราชนิพนธ์ "ตามใจท่าน" ซึ่งฌปรดเกล้าฯให้พิมพ์ช่วยงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี ของเจ้าพระยายมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้นว่า

"เรื่องละครนี้......ได้สำเร็จเป็นภาษาไทยขึ้นได้ โดยอาศัยความพยายามของผู้เป็นศิษย์ของเจ้าพระยายมราชถึง ๒ คน คือข้าพเจ้าผู้แปลและประพันธ์เรื่องคนหนึ่ง กับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ผู้ทรงช่วยประทานความเห็นในทางแปลศัพท์และโวหารของเชกส์เปียร์อีกองค์หนึ่ง ส่วนข้าเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณที่เจ้าพระยายมราชได้มีแก่ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยและอยู่ในประเทศที่ห่างไกลจากเมืองบิดร" เมื่อตอนพระราชทานสุพรรณบัฏนั้น ก็มีอยู่วรรคหนึ่งซึ่งว่า "ฉัฎฐมราชคุรุฐานะวโรปการี"

ในฐานปราชญ์ได้ทรงยกย่องสืบมาแต่ข้อที่เจ้าพระยายมราชเคยเป็นเปรียญเมื่อครั้งอุปสมบท จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่ขาวเป็นอุบาสกเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาเสด็จลงบูชาพระในงานวิสาขบูชาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้เป็นราชบัณฑิตถวายน้ำที่พระที่นั่งอัฐทิศในเบื้องต้นแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งสองคราว นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพัดเปรียญจำลอง ยกย่องความรู้ในทางธรรมวินัยอีกด้วย ในหมวดนี้บางทีจะควรกล่าวถึงการที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนาระหว่างที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นพระราชวงศ์ จะมาทรงทำหน้าที่พระยาแรกนาไม่ได้นั้น เพราะได้ทราบจากตัวท่านเองว่าผู้เป็นพระยาแรกนาต้องรักษาศีลและทำการบูชาพระโดบละเอียดลออเป็นพิเศษ ได้โปรดเกล้าฯให้ท่านทำหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ จนถึง ๒๔๖๔

ในส่วนที่ทรงใช้และยกย่องฉันเสนาบดีและมุขมนตรีนั้น อยู่ข้างจะเป็นเรื่องยาวสักหน่อย เพราะความจริงถ้าจะว่าถึงอัธยาศัยเจ้าพระยายมราชแล้ว แท้จริงเจ้าพระยายมราชมิได้มีนิสัยเป็นปราชญ์หรือกวีหรือนักประพันธ์แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นผู้รู้จักเอาชนะแก่การ รู้จักใช้วิธีชนะแก่ความชั่วร้ายของผู้อื่นด้วยความดี แม้แต่ตัวท่านเองท่านก็ชนะอย่างสมบูรณ์จนไม่รู้จักเสียสติด้วยความโกรธ สิ่งที่เหมาะแก่นิสัยท่านที่สุดก็คือ การทำราชการ การบังคับบัญชาคน ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านเพลิดเพลินยิ่งไปกว่าการทำราชการ และดูเหมือนจะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเสียด้วย ผู้ที่ไม่เคยร่วมราชการกับท่านแต่คุ้นเคยกับท่านในส่วนตัว ได้เคยสังเกตว่าเมื่อท่านกลับจากทำงานถึงบ้านแล้ว ใจก็ยังหมกหมุ่นอยู่ในข้อราชการ ถ้าจะคุยกับท่านเรื่องใดๆก็ดูไม่จับใจเท่าเรื่องราชการ จึงขอแสดงหลักฐานพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุล ดังต่อไปนี้


วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๖

ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น)

นามสกุลของเจ้าพระยายมราชนั้น ฉันได้ไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าตัวเจ้าพระยายมราชเองนับว่าเปนผู้ที่ทำให้สกุลได้มีชื่อเสียงในแผ่นดินไทย เจ้าพระยายมราชเองได้ตั้งตนขึ้นได้โดยอาไศรยคุณธรรมในตัว เปนผู้ที่มีสติปัญญาและอุสาหวิริยภาพมาก ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ได้รับราชการเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและในตัวฉันเองสืบมา

ราชกิจใดๆ ที่เจ้าพระยายมราชได้ปฏิบัติมาก็ปรากฏว่าได้ใช้ความไตร่ตรองอันสุขุม ทั้งเจ้าพระยายมราชก็ได้มีชื่อเสียงปรากฏแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเปนพระยาสุขุมนัยวินิต จนได้มีคำว่า "สุขุมนัยวินิต" ประกอบอยู่ในสร้อยสมยา

เพราะฉะนั้นฉันขอให้นามสกุลเจ้าพระยายมราชว่า "สุขุม" (เขียนเปนตัวอักษรโรมันว่า "Sukhum")

เพื่อให้เปนเกียรติยศปรากฏนามแห่งเจ้าพระยายมราชในตำนานแห่งชาติไทย ขอให้สกุลสุขุมเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน

วชิราวุธ ปร




พิเคราะห์ดูราชการของท่านในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เห็นจะแยกได้เป็น ๒ ตอน คือ ตอนเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลหนึ่ง ตอนที่รวมกระทรวงนครบาลกับมหาดไทยหนึ่ง ในต้นต้นจำจะต้องย้อนไปกล่าวถึงความเบื้องหลังเล็กน้อย

ตัวท่านเองเคยเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงปรารภกับท่านว่า การที่โปรดเกล้าฯให้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลนั้น โดยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการที่เป็นชิ้นใหญ่ ๒ - ๓ อย่าง ซึ่งยังไม่ได้ทำหรือทำแล้วยังไม่สู้สำเร็จทีเดียว คือการกำหนดให้ประชาชนมีเวลาเข้ารับราชการทหารหนึ่ง การจัดระเบียบที่ประชาชนออกเงินอุดหนุนราชการเป็นรายตัวหนึ่ง การประปาสำหรับพระนครหนึ่ง สองอย่างข้างต้นนั้นได้สำเร็จไปแล้วในรัชกาลที่ ๕ แต่การประปายังค้างอยู่

ปัญหาเรื่องประปานี้เป็นปัญหาสำคัญเพราะเวลานั้นมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ในเวลาหน้าแล้วน้ำในแม่น้ำเค็มหรือกร่อย เมื่อมีโรคระบาดลุกลามขึ้นครั้งใดก็ย่อมเสียชีวิตประชาชนและเสียความไว้วางใจแห่งนานาประเทศบรรดาที่ติดต่อ ดังจะเห็นได้จากวิธีที่พวกฝรั่งในสหรัฐมลายูชอบกล่าวทับถมว่า ถ้าใครมาเที่ยวกรุงเทพฯก็ขอให้ระวังอย่ามาตายลงเป็นต้น ที่สำคัญอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ถูกกักด่านสินค้าใหญ่ๆ เช่น สุกร โค กระบือ ซึ่เป็นโรคระบาดบางอย่างอีกด้วย จึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีน้ำที่สะอาดใช้บริโภคให้แพร่หลาย แต่การตั้งประปาไม่สำเร็จเพียงซื้อเครื่องจักรมากรองน้ำให้บริสุทธิ์ หรือเพียงก่อสร้างบริเวญประปาที่พญาไทยขึ้นเท่านั้น ยังต้องทำการขุดคลองลำเลียงน้ำขึ้นไปจนถึงเชียงราก ซึ่งต้องจัดการติดต่อหาซื้อที่ดินตลอดทางขึ้นไป แล้วยังมีปัญหาเรื่องกำลังไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องจักรอีกด้วย แปลว่าตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นอีกโรงหนึ่ง ซึ่งไม่สู้จะง่ายนักเพราะเป็นการขัดกับสัมปทานที่บริษัทไฟฟ้าสยามได้ไว้ในสมัยก่อนจะคิดทำประปานั้นด้วย การทั้งนี้เจ้าพระยายมราชได้จัดไปจนสำเร็จเป็นชิ้นที่ควรยกขึ้นกล่าวอันหนึ่ง

ส่วนกิจการโดยปกติของกระทรวงนครบาลนั้น งานที่สำคัญที่สุดย่อมอยู่ในหมวดปกครองท้องที่ แต่ท้องที่กรุงเทพฯนั้นผิดกับภายนอกเพราะมีผู้คนสำส่อน ทั้งต่างชาติต่างภาษาเป็นอันมาก ทั้งในเวลานั้นลำบากด้วยเรื่องนายนาประเทศยังสงวนอำนาจกระทรวงศาลด้วยหลักสภาพนอกอาณาเขต อันเป็นเหตุติดขัดในเรื่องจับกุมชำระผู้ร้าย และผู้หลีกเลี่ยงพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆนานา เข้าใจว่าผู้ปกครองท้องที่คงจะต้องใช้ความอดทนระมัดระวังมิใช่น้อย

ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โอนราชการเรือนจำทั่วประเทศสยามเข้ามาไว้ในบังคับบัญชาเสนาบดีกระทรวงนครบาลตั้งเป็นกรมใหญ่เรียกว่า กรมราชทัณฑ์ และได้โอนกรมตำรวจภูธรเข้ามารวมกับตำรวจนครบาลเป็นกรมใหญ่อีกกรมหนึ่งเรียกว่า กรมตำรวจภูธรและนครบาล เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบขึ้นอีกเป็นอันมาก ได้แก้ไขขยายกิจการอื่นๆในหน้าที่ เช่นงานเจ้าท่า งานสุขาภิบาลเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานต่างกระทรวงซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลต้องรับทำในฐานที่เป็นเทศาภิบาลมณฑลกรุงเทพฯอีกด้วย เป็นต้นว่า งานสัสดี งานศึกษาประชาชนและงานสรรพกร

ในระหว่างนี้ เจ้าพระยายมราชได้ริเริ่มตั้งบริษัททำปูนซิเมนต์ขึ้นโดยได้ตรวจพบดินขาวใกล้ทางรถไฟสายเหนือ ในตำบลที่เคยได้ชื่อว่าเมืองเสนาราชนครหรือเมืองขีดขิน ใกล้สถานีบ้านหมอระหว่างสระบุรีกับลพบุรี เป็นบริษัทใหญ่มีทุนหนึ่งล้านบาท และอยู่ในจำพวกบริษัทไทยแรกๆที่มีทุนส่วนมากเป็นของไทย และจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย แม้ว่าบริษัทไทยโดยมากจะตั้งไม่ใคร่ติดในเวลานั้นก็ดี แต่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยนี้ดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ในขั้นต้นทำปูนซีเมนต์ขึ้นได้วันละ ๔๐๐ ถัง ได้ขยายการงานจนบัดนี้ทำปูนได้ถึงวันละ ๑,๒๐๐ ถัง และสามารถแบ่งกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้น

ในระยะแรกแห่งรัชกาลที่ ๖ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เริ่มตั้งกองเสือป่าขึ้น ท่านก็ได้อาสาสมัครเข้าเป็นพลเสือป่าอยู่ในกองหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบังคับการด้วยพระองค์เอง ครั้นเมื่อขยายการเสือป่าออกไปให้มีเสือป่ารักษาดินแดน คือพลเรือนที่มิใช่นักรบ อาสาทำหน้าที่ป้องกันท้องที่ตามแบบ Territorial Army ของอังกฤษ ระหว่างมหาสงครามนั้นท่านได้เป็นผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯซึ่งจัดเป็นกองพลใหญ่ เป็นตำแหน่งซึ่งได้รับคำยกย่องว่า "ยากมาก เพราะต้องบังคับบุคคลต่างกระทรวงทบวงการมากหลาย" (คัดจากคำปรึกษาความชอบตามพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๔๖๐)

ในหน้าที่นี้ท่านได้โดยเสด็จไปฝึกซ้อมกลางสนามในเขตระหว่างนครปฐมกับราชบุรี ในหน้าที่แม่ทัพต่อสู้กับพระองค์หลายครั้ง ได้เป็นราชองครักษ์พิเศษ จนกระทั่งในที่สุดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานยศให้เป็นนายพลเสือป่าเป็นบำเหน็จ ในเวลาเดียวกันนั้นโปรดเกล้าฯให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นทั่วพระราชอาณาเขตและให้เจ้าพระยายมราชเป็นสภานายก จัดการลูกเสือกรุงเทพพระมหานครตลอดมา จนท่านพ้นจากหน้าที่ราชการ

ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยที่รูปการณ์ในมหาสงครามเปลี่ยนแปลงไป คือการรบไม่ได้จำกัดอยู่ในระหว่างนักรบเท่านั้น เรือดำน้ำเยอรมันออกทำร้ายแก่เรือค้าขายเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาเสนาบดีสภาเห็นชอบพร้อมกัน ในการที่จะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อค้านการกระทำของฝ่ายเยอรมันดังได้กล่าวมาแล้ว

หน้าที่ตระเตรียมตกอยู่ในระหว่างทหารตำรวจและผู้ปกครองท้องที่เป็นส่วนมาก เจ้าพระยายมราชเกี่ยวด้วยหน้าที่รักษาความสงบในพระนคร ตลอดจนการจับกุมชนชาติที่เวลานั้นเป็นศัตรู ต้องกำกับงานกวดขันถึงไปอยู่ที่กระทรวงนครบาลตลอดคืน

ในคืนก่อนที่จะประกาศสงครามเมื่อรุ่งขึ้นกิจการดำเนินสำเร็จไปแล้ว เสนาธิการทหารบก (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) ซึ่งเสด็จมาประทับอยู่ด้วยตลอดคืนนั้น ออกพระโอษฐ์ว่า "ฉันเป็นห่วงเจ้าคุณมาก เพราะงานใหญ่และใหม่ ไม่คิดเลยว่าจะเรียบร้อยถึงเพียงนี้" เมื่อสงครามถึงที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรมหาโยธินแห่งเครื่องราชอิสริยยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องแสดงความชอบ ปรากฏคำปรึกษาความชอบดังนี้

"คณะที่ปรึกษาประชุมกันตามความในพระราชบัญญัติมาตรา ๒๐ เห็นพร้อมกันว่า มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช ซึ่งในตำแหน่งเสนากระทรวงนครบาลได้อำนวยการเรื่องเกณฑ์พลเมือง ในกรุงเทพฯ เข้ารับราชการตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร แต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติในเขตนี้มาจนบัดนี้ นับว่าเป็นราชการซึ่งยากยิ่งกว่าในเขตอื่นๆ เพราะมีคนสำส่อนมาก ในทางเสือป่าก็ได้รับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯแต่ต้นมา อันเป็นตำแหน่งยากมาก เพราะต้องควบคุมบุคคลต่างกระทรวงทบวงการมากหลาย นับว่ามีความชอบตามพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีมาตรา ๑๖ ตอนท้ายนั้น"

"อนึ่งในการประกาศสงครามเยอรมันนีแลเอาสเตรียฮังการี ได้เป็นผู้อำนวยการจับกุมชนชาติศัตรู ทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร การอันนั้นสำเร็จเรียบร้อยดียิ่ง นับว่ามีความชอบตามพระราชบัญญัติมาตรา ๑๕ ตอนท้าย มหายอักษร จ จึงเห็นว่าสมควรได้รับพระราชทานฐานันดรชั้นมหาโยธิน"

ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดอุทกภัยทั้งในประเทศสยามและประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส ประเทสพม่า ซึ่งเป็นแหล่งข้าวใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง ๓ ประเทศ เป็นเหตุที่จะพึงวิตกว่าราษฎรจะอดข้าว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งกรรมการกำกับตรวจตราการค้าข้าวขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อผ่อนผันมิให้เกิดทุพภิกขภัย แต่ให้โอกาสได้ผ่อนขายบ้างตามกำลังและจำนวน พอมิให้การค้าขายต้องหยุดชะงักเสียทีเดียว ได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราชเข้าร่วมอยู่ในคณะนั้นด้วย ท่านได้เป็นกรรมการที่ "เป็นราชการ" ยิ่งผู้หนึ่งในคณะนั้น ในที่สุดก็สามารถป้องกันทุพภิกขถัยมิให้เกิดขึ้นได้

ก่อนที่จะผ่านไปสู่ยุคหลังแห่งรัชกาลที่ ๖ คือตอนที่รวมกระทรวงมหาดไทยนั้นจะต้องกล่าวเติมด้วยว่า ในระหว่างยุคแรกนี้ได้ทรงพระราชดำริตั้งยศสูงสุดฝ่ายพลเรือนขึ้นอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า "มหาอำมาตย์นายก" ให้เทียบเท่าจอมพลทหาร และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) และเสนาบดีกระทรวงนครบาลรับพระราชทานยศชั้นนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็มิได้พระราชทานยศนี้แก่ผู้ใดอีก

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์มีอาการป่วย กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนนั้นการปกครองท้องที่แยกย้ายกันอยู่เป็นหลายกระทรวง คือพระนครอยู่ในหน้าที่นครบาล หัวเมืองอยู่ในกลาโหม มหาดไทยและกรมท่า ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รวมหน้าที่ปกครองหัวเมืองมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแห่งเดียว บัดนั้นราชการได้ดำเนินมาถึงขีดขั้นสมควรที่จะรวมหน้าที่ปกครองท้องที่ไว้แห่งเดียวได้แล้ว ทรงเห็นว่าเจ้าพระยายมราช "เป็นผู้ชำนาญในการปกครองท้องที่มานานแล้วทั้งในกรุงและหัวเมือง และอยู่ในฐานะแห่งมุขมนตรี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก สมควรจะได้รับพระราชภาระตามโครงการที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ได้" (คัดจากประกาศตั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕) จึงโปรดให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตามรูปใหม่นี้

ในที่นี้น่าจะกล่าวแทรกลงสักหน่อยหนึ่งถึงลักษณะงานปกครองท้องที่ ใครๆก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่ากระทรวงมหาดไทยที่จัดขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เพื่อให้เข้ารูปงานสมัยใหม่นั้น ปลดหน้าที่ตุลาการไปไว้ยุติธรรม แต่รวมการปกครองท้องที่หัวเมืองทั้งหมดเข้ามาไว้ และมีอัยการ(หัวเมือง) กรมป่าไม้ กรมสรรพากรนอก เป็นกรมขึ้นใหญ่ๆเกิดขึ้นตามระยะเวลาต่อนั้นบ้าง จัดขึ้นแต่เดิมบ้าง ผู้ทรงริเริ่มจัดการทั้งนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความนิยมแห่งประชาชนหรือข้าราชการทั่วๆไป ตั้งแต่นั้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ มีอยู่ว่าเป็นกระทรวงที่ก้าวหน้าและบริบูรณ์ด้วยสมรรถภาพเป็นอย่างเยี่ยม เพราะฝีพระหัตถ์เสนาบดีพระองค์นั้นเป็นข้อใหญ่ และด้วยเหตุนี้เองงานที่ริเริ่มขึ้นใหม่หลายอย่าง จึงมักเกิดขึ้นโดยอาศัยพระองค์ท่าน ยิ่งเวลาล่วงไปงานก็หนักขึ้นทุกที จนกระทรวงนั้นขยายตัวใหญ่กว่ากระทรวงใดๆทั้งสิ้น

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประชวร และกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพยายามที่จะผ่อนผันโอนงานที่พอจะโอนได้ไปไว้กระทรวงอื่นเสียบ้าง เพราะผู้ที่จะมีอุตสาหะด้วย มีสติปัญญาด้วยให้เท่าเทียมกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้ก็หายากอยู่ ทั้งตอนนี้มีงานใหม่เกิดขึ้นเป็นงานใหญ่ คืองานกรมสาธารณสุข เหตุฉะนั้นจึงได้โอนงานเรือนจำและตำรวจไปไว้ในนครบาล (ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น) และโอนงานสรรพากรนอกไปรวมกับสรรพากรในขึ้นอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โอนงานอัยการไปไว้กระทรวงยุติธรรม ครั้นต่อมาได้มีอุปสรรคเกิดขึ้นบางอย่างในทางดำเนินงานระหว่างกระทรวงกรมใหญ่ต่างๆ ซึ่งยังก้าวก่ายกันอยู่บ้าง เช่นแผนกอัยการเมื่อไปเสียจากสังกัดผู้ปกครองท้องที่ ทำให้ความร่วมมือในระหว่างสองหน้าที่นั้นอ่อนลง ในโอกาสที่รวมหน้าที่ปกครองอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๖๕ นี้จึงโปรดเกล้าฯให้โอนหน้าที่อัยการมาไว้ในกระทรวงมหาดไทยใหม่ แต่ยกกรมราชทัณฑ์จากกระทรวงนครบาล ไปขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรม เพื่อแบ่งปันภาระแก่กัน


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:11:03:38 น.  

 
 
 
(ต่อ)

เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าเป็นเสนาบดีมหาดไทยตามรูปใหม่นี้แล้ว ได้ตั้งใจจัดการอย่างเข้มแข็ง เป็นที่สังเกตว่าการงานเดินคล่องแคล่วขึ้นมาไหม่จนมีเสียง (หนังสือพิมพ์) เรียกท่านว่า "The New Broom" (ไม้กวาดอันใหม่ซึ่งสะสางกิจการที่ค้างๆ) ในตอนนี้ได้ออกกฎเสนาบดีจัดระเบียบการอยู่ชุดหนึ่ง บางกฎน่าจะยกมากล่าวในที่นี้เพื่อแสดงอนุสนธิแห่งประวัติการปกครองท้องที่ คือ

๑) ข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมืองชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งกำหนดหน้าที่อำนาจและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ตามลำดับชั้น น่าจะอธิบายลงในระยะนี้ด้วยว่า การกำหนดหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบนั้นเดิมก็เคยมี โดยพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ เป็นต้น แต่เทศา เจ้าเมือง และนายอำเภอมิได้ทำงานเฉพาะแต่งานของกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว หากต้องทำงาน "ฝาก"จากกระทรวงอื่นอีกด้วย เพื่อจะอาศัยใช้อำนาจของผู้ปกครองท้องที่ เช่นในการเก็บภาษีก็ต้องใช้อำนาจผู้ปกครองท้องที่บางอย่าง ในการศึกษาต้องใช้อำนาจที่จะเกณฑ์เด็กมาเรียนเป็นต้น ในเวลาต่อมาเมื่อการงานของรัฐบาลขยายตัวขึ้น งานฝากเหล่านี้ทวีขึ้นทุกที จนกระทั่งผู้ปกครองท้องที่โดยเฉพาะชั้นนายอำเภอไม่มีเวลาและกำลังจะทำให้ได้ผลดีทุกอย่างไป เหตุฉะนั้นข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมืองชั่วคราวอันนี้ จึงต้องเกิดขึ้นและพึงสังเกตความแห่งหนึ่งซึ่งกล่าวว่า

"มาตรา ๑๖ ถ้ามีราชการแผนกอื่นซึ่งเป็นระเบียบการประจำหรือระเบียบใหม่ที่เสนาบดีกระทรวงนั้นๆได้ทำความตกลงเห็นชอบพร้อมกันกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว และมอบการอย่างใดแผนกใดให้อยู่ในความบังคับบัญชาของผู้ปกครองท้องที่แล้ว ก็ให้ผู้บังคับบัญชาท้องที่นั้นๆมีอำนาจเหนือพนักงานแผนกนั้นๆ ในการที่จะให้คุณโทษเหมือนดังข้าราชการในแผนกปกครองตามข้อบังคับนี้ (พึงสังเกตว่าแต่นี้ไป เสนาบดีต่างกระทรวงสั่งสมุหเทศาภิบาลเอาเองตามใจชอบอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ต้องตกลงกับเสนาบดีมหาดไทยก่อน)

๒) กฎระเบียบการ (ที่ ๑) ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปสืบสวนผู้ร้ายด้วยตนเอง สาระแห่งกฎอันนี้มีอยู่ว่า

"การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น แต่จะถือเป็ความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นอยู่เย็นเป็นปกติสุข พอสมควร..."

"และจะถือว่าเป็นความผิด ความบกพร่อง เมื่อการปกครองยุ่งยิ่งไม่เรียบร้อย เพราะปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่ราบคาบก็ตาม หรือเพราะแตกความสามัคคีในฝ่ายพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ไม่กลมเกลียวกันด้วยการแย่งยื้อถืออำนาจไม่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ...ก็ตาม"

๓) นอกจากนี้ยังมีกฎอื่นๆอีก ๘ กฎ ระบุหน้าที่หรือตักเตือนกำชับเจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยมากเพ่งเล็งในเรื่องปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างจะกำเริบ

เจ้าพระยายมราชฉลองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระมหากษัตริย์เพียงไร จะพึงหยั่งรู้ได้ด้วยบำเหน็จสูงสุด และที่ไม่ใคร่มีใครจะได้เคยรับ เช่นยศมหาอำมาตย์นายกซึ่งได้กล่าวมาแล้ว อีกบำเหน็จหนึ่งซึ่งพึงสังเกตก็คือได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งข้าราชการน้อยคนนักที่จะได้รับพระราชทาน เคยมีอยู่ก็แต่ (๑) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ (๒) เจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒนพิพัฒนศักดิ(วอน บุนนาค)เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ (๓) จอมพลเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต(หม่อมราชวงศ์ อรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา)เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เท่านั้น แต่ท่านทั้งสามนี้ยังว่าเป็นราชนิกุลและราชสกุล ผู้ที่มิได้มีวุฒิทางกำเนิดเข้าช่วยด้วยนั้น เห็นจะมีแต่เจ้าพระยายมราชแต่ผู้เดียว

ลุพุทธศักราช ๒๔๖๗ ทรงพระราชปรารภว่า ตามราชประเพณีที่เคยมีมา เสนาบดีที่ได้ราชการดี ย่อมทรงยกย่องให้เป็นเจ้าพระยาชั้นหิรัญบัฏ หากเป็นราชสกุลหรือราชนิกุลก็พระราชทานสุพรรณบัฏเป็นพิเศษ ดุจทรงสถาปนาพระยศเจ้านาย เจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานหิรัญบัฏมาแต่รัชกาลก่อน ทรงเห็นว่ามีความชอบและความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้จารึกนามใหม่ลงในสุพรรบัฏ มีพิธีอ่านประกาศในงานเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่เคยรับพระราชทานเลื่อนจากหิรัญบัฏขึ้นมาเช่นนี้ แต่ก็มิได้มีพิธีเช่นนี้ (ความชอบที่อ้างในประกาศก็ทำนองดังได้พรรณนามาแล้ว และปรากฏอยู่แล้วในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และพระราชนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ "เรื่องตั้งเจ้าพระยา" จึงมิได้คัดมาลงไว้ที่นี้อีก)

ในลำดับนี้ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่การก่อสร้างพระราชฐานชิ้นใหญ่ๆ และสำคัญอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเเละหัวเมือง จะยกขึ้นกล่าวแต่เพียงบางชิ้น เช่นพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ มาสำเร็จลงในรัชกาลนี้ เป็นงานใหญ่ที่สุดของท่านในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สวนสุนันทา วังปารุสกวัน พระตำหนักสวนกุหลาบเป็นต้น

นอกจากการก่อสร้างยังได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่พิเศษอื่นยอีกหลายอย่าง เช่นเป็นกรรมการราชนาวีสมาคม ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อชักชวนราษฎรบริจาคทุนช่วยราชนาวีหาซื้อเรือรบมาเพิ่มกำลัง จนในที่สุดได้เรือ "พระร่วง" มาลำหนึ่ง เป็นกรรมการปกครองวชิรพยาบาล ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้นเป็นสถานพยาบาลสำหรับภาคเหนือแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นมรรคนายกวัดหงษรัตนาราม ซึ่งเป็นสำนักอุปสมบทของท่าน และวัดสามพระยา ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเดิมของท่าน และเมื่อจวนจะถึงกาลที่สุดแห่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชปรารภจะให้มีพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าและหัตถกรรม กสิกรรม อุตสาหกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ ของบ้านเมือง เนื่องในโอกาสที่จะได้เสวยราชย์มาครบ ๑๕ ปีนั้น ก็ได้ทรงมอบให้ท่านเป็นผู้อำนวยการตระเตรียมงาน พระราชทานที่ส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดงให้จัดเป็นสถานพิพิธภัณฑ์และให้ก่อสร้างเป็นวนาสำหรับพระนคร โดยพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นที่หย่อนใจของประชาชน ท่านได้เป็นผู้คิดสร้างสวนนี้ ได้โปรดพระราชทานนามสวนนี้ว่า สวนลุมพินี แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่ทันจะถึงกำหนดที่จะได้ฉลองสิริราชสมบัติก็พลันเสด็จสวรรคต งานพิพิธภัณฑ์จึงเป็นอันงดคงมีแต่สวนลุมพินีอยู่ทุกวันนี้

องค์แห่งความสำเร็จในหน้าที่ราชการของเจ้าพระยายมราชที่สำคัญในหน้าที่ราชการของเจ้าพระยายมราชที่สำคัญนอกจากในข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เห็นจะมีอยู่อีกสัก ๒ อย่างซึ่งจะเว้นกล่าวถึงไม่ได้ คือรู้จักรวบรวมหาคนดีมาใช้ประการหนึ่ง และพรหมวิหารธรรมของตัวท่านเองอีกประการหนึ่ง ในข้อต้นนั้นควรจะสังเกตว่าท่านรู้จักใช้คนทุกอย่าง ใช่แต่จะได้ชุบเลี้ยงคนมีสติปัญญามีหลักธรรมในใจมั่นคงขึ้นจนถึงได้เป็นอธิบดีเป็นหลายคนเท่านั้น คน "ใช้ยาก" ด้วยมีพยศ ท่านก็รู้จักกล่อมเกลาจนสามารถเป็นได้ถึงชั้นนั้นอีกไม่น้อยคน คนเก่าที่มีอยู่แล้วได้พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งจนถึงได้ดีเป็นตำแหน่งสูงรองตัวท่านเอง เช่น พระยาศรีธรรมาธิราช(เจิม บุณยรัตพันธ์) ก็มี และที่น่าอัศจรรย์อยู่บ้างคือไปเที่ยวหยิบเอาคนที่ไม่เคยใช้มาใช้ได้เป็นผลสำเร็จอีกหลายคน เช่นพระยาจ่าแสนยบดี(ชิต สุนทรวร) ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ในส่วนข้อหลัง (พรหมวิหาร) นั้นเล่า เห็นจะรวมใจความพูดได้สั้นๆ ว่าน่าจะเป็นการยากที่จะหาคนที่จะบันดาลให้งานใหญ่โต เช่นงานบัญชาการกระทรวงสำเร็จไปได้โดยดี แต่คงตั้งอยู่ในความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังเช่นเจ้าพระยายมราชนี้ เชื่อว่าผู้ใดที่รู้จักท่านดีพอคงจะรับรองคำกล่าวอันนี้ได้ด้วยความเต็มใจเป็นแน่ จริงอยู่เมื่อชมแล้วก็ต้องติ ถ้ามีเรื่องจะติหากจะติท่านแล้วก็เห็นจะต้องติว่ามีธรรมหมวดนี้ค่อนข้างจะมากเกินไปสักหน่อยในบางโอกาส แต่เมื่อติดังนี้แล้วก็ต้องไม่ลืมว่า แม้เช่นนั้นงานใหญ่ของท่านก็สำเร็จไปได้ทุกชิ้น


สมัยรัชกาลที่ ๗


ในรัชกาลที่ ๗ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในกิจการเบื้องต้นแห่งพระราชภาระที่ขึ้นเสวยราชย์แลพระบรมราชาภิเษกบางอย่าง ที่ควรจะยกมากล่าวก็มี เช่นในการประชุมพระบรมวงศ์และเสนาบดีในเวลาดึก ต่อจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงนั้น เมื่อที่ประชุมรับทราบพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๖ ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์แล้ว เจ้าพระยายมราชได้เป็นผู้นำข้าราชการลงจากเก้าอี้ที่นั่งประชุมคุกเข่ากับพื้นถวายบังคม ๓ ครั้ง เป็นการรับรองพระราชประสงค์อันนั้นในนามของข้าราชการและประชาชน นอกจากนั้นยังคงมีหน้าที่ถวายน้ำในนามของประชาชนทิศอุดรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฐานเป็นราชบัณฑิต เช่นเดียวกันกับที่ได้เคยฉลองพระเดชพระคุณมาแล้วในรัชกาลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

ครั้นต่อมาไม่ช้า (วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๖๘) ท่านได้ปรารภอายุสังขารที่ชราลง ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รวมเวลาที่รับราชการได้ถึง ๔๓ ปี ใน ๔๓ ปีนี้ท่านรับราชการในตำแหน่งครูและอาจารย์เจ้านายและตำแหน่งผู้ช่วยและเลขานุการสถานทูตสยามกรุงลอนดอนอยู่ ๑๑ ปี ในตำแหน่งเลขานุการกระทรวงมหาดไทยตลอดจนถึงข้าหลวงเทศาภิบาล ๑๒ ปี ตำแหน่งเสนาบดี ๒๐ ปี เป็นอันว่าส่วนมากแห่งเวลาราชการของท่านเป็นอยู่ในตำแหน่งเสนาบดี มีน้อยท่านที่จะได้รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีนานถึงเพียงนี้ และแม้ว่าท่านที่จะได้อยู่ในจำพวกเสนาบดีที่สามารถก็ดี แต่กว่าจะขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้ก็ต้องรับราชการมาแล้วตั้ง ๒๓ ปี เข้าอยู่ในข่ายทรงพิจารณาเลือกเฟ้นอย่างละเอียด เพราะในกาลครั้งนั้นเป็นการยากนักหนาที่ใครๆจะขึ้นมาถึงตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงได้ในเร็ววัน

เมื่อออกจากราชการแล้วก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นผู้ถวายพระพรชัยในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษาแทนข้าราชการและประชาชนต่อมาจนเลิกพิธีนั้น หน้าที่นี้เจ้าพระยายมราชได้รับทำสืบต่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ มาจน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นเวลา ๒๗ ปี

อนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้โปรดเกล้าฯให้แก้ไขระเบียบการแห่งองคมนตรีสภาโดยคัดเลือกองคมนตรีขึ้น คณะหนึ่งมีจำนวน ๔๐ ท่าน ทรงเลือกสรรทั้งข้าราชการประจำการและนอกตำแหน่ง อีกทั้งองคมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญในอาชีพอื่นจากการทำราชการด้วย ให้มีหน้าที่ออกความเห็นในกิจการบ้านเมือง และสนองพระราชปุจฉาที่พระราชทานลงไปเนืองๆ ที่เกี่ยวด้วยกิจการบ้านเมืองและทุกข์สุขของประชาชน เป็นการทดลองฝึกหัดให้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ที่จะตั้งระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญขึ้นในภายหน้า กิจสำคัญอันหนึ่งซึ่งกรรมการนี้ได้ทำ คือตรวจพิจารณาและแก้ไขส่วนหนึ่งแห่งร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ที่เจ้าหน้าที่ร่างทูลเกล้าฯถวายขึ้นไป เจ้าพระยายมราชได้เป็นผู้หนึ่งซึ่งทรงเลือกสรรให้เป็นสมาชิกแห่งสภากรรมการองคมนตรีนี้ ได้ฉลองพระเดชพระคุณอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสภานั้นถูกยุบไป

อนึ่งในระหว่างรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยายมราชได้สมัครเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสภากาชาดสยาม ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้จัดระเบียบเปลี่ยนแปลงใหม่ ได้มีส่วนช่วยเหลือสภานั้นด้วยกำลังแรง โดยรับเป็นกรรมการแห่งสถานั้นหลายปี และด้วยกำลังทรัพย์คือได้บริจาคเงิน ๒,๑๐๐ บาท ร่วมกับท่านผู้หญิงตลับสร้างประตูเข้าออกและรั้วหน้าโรงพยาบาลจุลาลงกรณ์ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ร่วมปริจาคเงินอีก ๑๐,๐๐๐ บาท อุทิศถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างสถานเสาวภา ครั้นอายุครบ ๖๐ ปีใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้บริจาคเงินอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๘๐,๐๐๐ บาท สร้างตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ขึ้น ๒ หลัง ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งมาเสร็จในระยะเวลาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ และพระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลของเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)" ตึกนี้ใช้สำหรับเป็นที่พักรักษาคนป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคสตรี และสำหรับคนคลอดบุตร โดยเหตุที่มีคุณูปการดังกล่าวมาแล้ว สภากาชาดได้ลงมติให้เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ ๑ เพื่อเชิดชูเกียรติยศท่านไว้ด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น โรงพยาบาลที่ท่านบริจาคเงินสร้างอีก ๔๐,๐๐๐ บาท ที่เมืองสุพรรณบุรีก็เสร็จลงเหมือนกัน ได้เปิดใช้และขนานนามว่า "โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)"

หลังจากที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่พิเศษบ้าง เช่นเป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน และกรรมการกฤษฎีกาในสำนักนายกรัฐมนตรี

เจ้าพระยายมราชเป็นบุคคลที่ไม่สามารถจะอยู่เฉยๆได้โดยไม่ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหตุนั้นในระหว่างที่ว่างราชการตอนนี้จึงปรากฏว่าท่านมิได้อยู่ว่างๆกี่มากน้อย ธุระที่ท่านพอใจถัดจากการทำราชการมาเห็นจะเป็นการก่อสร้าง ระหว่างนี้ท่านก็ได้มีโอกาสควบคุมการสร้างพระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตริปชา ในที่สวนนอกเหนือพระราชวังดุสิต

ควรจะกล่าวความแทรกในที่นี้สักหน่อยหนึ่งว่า แต่รัชกาลที่ ๕ มาแล้ว ดูเหมือนจะได้ทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราชเป็นธุระช่วยเหลือกิจการผลประโยชน์ของเจ้าจอมมารดาแส ในเวลาต่อมาท่านได้เป็นธุระวิ่งเต้นในกิจการทั้งปวงของท่านเจ้าจอมมารดาผู้นี้กับพระธิดาทั้งสองพระองค์ ในเมื่อท่านว่างราชการลง เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปฉลองพระเดชพระคุณวิ่งเต้นในการรักษาพยาบาลตลอดจนช่วยเจ้าภาพทำศพท่านแต่ต้นจนถึงเวลาพระราชทานเพลิงและงานอัฐิในที่สุด แล้วยังได้อาสาดูแลพระธุระทั้งปวงของเจ้านายพระธิดาทั้งสองพระองค์ทุกสถาน เป็นการที่ตัวท่านเองเคยพูดด้วยความภูมิใจว่า ได้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้เป็นพระบรมชนกนาถแท้จริง

ขึ้นชื่อว่าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๕ แล้ว เจ้าพระยายมราชเป็นยินดีที่จะรับพระภาระทรงใช้สอยทุกสถาน ด้วยความกตัญญูกตเวทีอันมีอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น แต่ที่ท่านรักใคร่สวามิภักดิ์เป็นพิเศษนั้นก็คือพระองค์ที่เคยทรงเป็นศิษย์ (กรมพระจันทบุรี, กรมหลวงราชบุรี, กรมหลวงปราจีณ, กรมหลวงนครชัยศรี กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และความสนิทสนมอันนี้ได้ช่วยให้ราชการของท่านสะดวกขึ้นมากเหมือนกัน เพราะท่านได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีร่วมคณะกับเจ้านายผูทรงเป็นศิษย์นั้นทุกพระองค์ อนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านผู้หญิงตลับก็ป่วยกลับไปกลับมาจนถึงอนิจกรรมลง ท่านก็ได้มีเวลารักษาพยาบาลและทำศพจนตลอด

กิจธุระของท่านอีกอย่างหนึ่งในระหว่างนี้ คือเรื่องโรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนนี้ในชั้นเดิมได้มีพระราชเสานีย์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถให้ท่านช่วยในการจัดตั้ง ด้วยทุนที่ท่านผู้หญิงตลับเป็นหัวหน้าเรื่ยไรมาได้ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต ได้จัดเป็นโรงเรียนสำหรับเลี้ยงเด็กหญิงอนาถา และท่านผู้หญิงตลับเป็นผู้อำนวยการ เด็กในโรงเรียนนั้นได้รับการศึกษาทั้งสามัญวิชาชั้นต่ำๆพอสมควรแก่อัตภาพ เด็กเรียนสำเร็จออกจากโรงเรียนมาแล้วหลายชุดโดยลำดับ การใช้จ่ายได้อาศัยดอกเบี้ยของทุนนั้น ซึ่งเจ้าพระยายมราชช่วยมอบหมายให้ข้าราชการผูใหญ่บางนาย เช่นนายพลตำรวจตรีพระยาอธิกรณประกาศ ควบคุมหาผลประโยชน์ และบางทีก็มีผูใจบุญบริจาคเพิ่มเติมบ้าง ครั้นท่านผู้หญิงตลับถึงอนิจกรรม งานบังคับบัญชาโรงเรียนนี้จึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพระยายมราช และได้ดำเนินสืบมาโดยดี จนถึงเวลาที่ตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯขึ้น จึงได้มอบให้ไปดูแลตามหน้าที่

เป็นความเห็นของคนโดยมากว่า นอกจากสติปัญญาเฉียบแหลมและสามารถดังกล่าวมาแล้ว เจ้าพระยายมราชยังได้มีเคราะห์ดีเป็นอย่างยิ่งที่มีภรรยาเป็นนารีรัตน คือท่านผู้หญิงตลับ เพราะท่านผู้หญิงตลับนี้เกิดมาในสกุลข้าราชการผู้ใหญ่สืบต่อกันมาหลายชั้น ย่อมเป็นโอกาสที่จะได้รับความอบรมมาก่อนเป็นอย่างดี ครั้นเมื่อสามีได้เป็นใหญ่เป็นโตมีหน้าที่ต้องปกครองคนหลายชั้นหลายชนิด ท่านผู้หญิงตลับได้เป็นกำลังสำคัญทางบ้าง ทั้งในทางที่จะเชื่อมความสามัคคีกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของสามีและประชาชนพลเมืองทั่วไป ทั้งในทางที่จะรับปรับทุกข์สุขทั้งเป็นผู้ไว้วางตัวสมแก่ฐานะที่ได้เป็นท่านผู้หญิงแห่งเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่งด้วย เมื่อท่านผู้หญิงตลับมีอายุ ๕ รอบ เจ้าพระยายมราชได้บำเพ็ญการกุศลฉลองอายุให้ ณ วัดปทุมวนารามและได้สร้างกุฎีถวายไว้ในวัดเป็นที่ระลึก มีผู้คนไปช่วยงานมาก แสดงให้เห็นความนิยมรักใคร่ในตัวท่านและท่านผู้หญิงของท่านอย่างชัดเจน

เมื่อกล่าวถึงท่านผู้หญิงตลับแล้วก็น่าจะกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยในครอบครัวและเป็นบิดาและกุลเชษฐที่ดีแท้ เพราะได้รวบรวมเลี้ยงญาติไว้ในบ้านทุกชั้น ตั้งแต่พระยาสมบัติภิรมย์พี่ชาย ซึ่งท่านประคับประคองดูแลเป็นนักหนานั้นลงไป สำหรับบุตรธิดาก็มีความกรุณายิ่งนัก ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วถึงพรหมวิหารธรรมของท่าน และอยากจะย้ำความนั้นในที่นี้อีกเกือบทุกข้อและยังเลยไปถึงหลานด้วยซ้ำ เช่นบุตรข้าพเจ้าเองถ้าคนใดเจ็บลง แม้ท่านจะอยู่ในหรือนอกราชการ ถ้าเดินไหวเป็นต้องมาเยี่ยมถึงบ้านทุกครั้ง ทราบว่าหลานทุกคนทุกสกุลก็เช่นเดียวกัน

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้นถึงความสามรถของท่านที่จะกุมสติไว้อยู่โดยสมบูรณ์ ในที่นี้อยากจะย้ำความนั้นอีกทีหนึ่งว่า ในกิจการครอบครัวก็เช่นกันกับในการทำราชการ แม้เวลาจวนจะถึงอสัญกรรม หมอต้องฉีดยาบรรเทาทุกขเวทนาอันเกิดแต่ปอดอักเสบ เมื่อเวลาสร่างความอึดอัดยังยิ้มพูดได้สติดีว่า "ลูกมากหมอมากก็ยังไม่ยอมให้ตาย" แม้แต่หมอที่เคยชินกับความตาย เมื่อได้ยินดังนี้แล้วก็ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้


สมัยรัชกาลที่ ๘


เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่ จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จึงสภาผู้แทนราษฎรอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติเมื่อ ณ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง อันมีท่านเจ้าพระยายมราชเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยผู้หนึ่ง อันตำแหน่งหน้าที่นี้นับว่าเป็นเกียรติยศสูงและสำคัญมาก ท่านเจ้าพระยายมราชได้ตั้งใจพยายามบริหารราชการมาด้วยความเรียบร้อย เป็นประโยน์แก่ราชการทั้งในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์และราชการแผ่นดินเป็นอันมาก

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยที่ได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าการที่ปฏิบัติไปเป็นที่ข้องใจของประชาชน ก็ใคร่ขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้นถึง วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๐ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ ซึ่งประกอบด้วยท่านเจ้าพระยายมราชในคณะนั้นด้วย ท่านเจ้าพระยายมราชได้บริหารราชการสืบต่อมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านได้ถึงอสัญกรรมในเวลาที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานยศทางฝ่ายทหาร ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ

เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๗๘ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอก นายทหารพิเศษประจำกรมทหารอากาศ และ

เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๗๙ ได้รับพระราชทานยศ เป็นนายนาวาอากาศเอก แห่งกองทัพทหารอากาศ

ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระรชดำเนินจากต่างประเทศกลับเข้ามาเยี่ยมราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ท่านเจ้าพระยายมราชได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณ ทั้งในทางส่วนพระองค์และทางราชการแผ่นดินเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนภรณ์ชั้นที่ ๑ ในวันเสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงเทพพระมหานคร และในวันพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ โดยที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดมาแล้วโดยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดฯเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศถาดชาทองคำเป็นเกียรติยศ อันเคยมีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นับว่าเป็นเกียรติยศอันสูงศักดิ์

ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความอุตสาหะพิริยะอันแรงกล้า แม้จะมีอาการป่วยไข้พอที่จะทำกิจการงานใดได้ ก็ได้พยายามมารับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ด้วยความอดทนมานะ จนกระทั่งมาล้มเจ็บหนักพักใหญ่ครั้งสุดท้ายนี้ ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประทับอยู่ในพระมหานคร

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ท่านเจ้าพระยายมราชผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ถึงอสัญกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และได้โปรดเกล้าฯให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จไปแทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำอาบศพ ณ บ้านศาลาแดง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลองกุดั่นน้อยประกอบ พร้อมทั้งเครื่องเกียรติยศศพเทียบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่ศพเมื่อวันครบกำหนด ๗ วัน

อนึ่งโดยที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้ถึงอสัญกรรม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯว่า ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นข้าราชการผู้ใหญ่และได้ปฏิบัติราชการกอปรด้วยคุณงามความดี เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก สมควรจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการศพโดยตลอด ในส่วนที่เกี่ยวกับเกณฑ์ของหลวง ตั้งแต่งวันพระราชทานน้ำอาบศพตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทางราชขการดำเนินการโดยอนุโลมอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์นั้น ทั้งนี้นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในตระกูล สุขุม เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้


........................................................................................................................................................

ในคลังกระทู้ มีเกร็ดความรู้เกี่ยวเนื่องในประวัติเจ้าพระยายมราชมากมายครับ
เพชรพระมหามงกุฏ - เจ้าพระยายมราชา (ปั้น สุขุม)
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:11:05:37 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com