กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ม.ร.ว.โต จิตรพงศ (คู่พระบารมีนายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





.................................................................................................................................................................................................

คู่บารมีพระบิดาแห่งศิลปไทย
(มรว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)



ด้วยคำว่าคู่บารมี เราย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลที่มีส่วนช่วยส่งเสริมเกียรติคุณและมักจะเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งเกียรติคุณทัดเทียมกันกับบุคคลที่ได้รับการส่งเสริม เสมือนหนึ่งฐานรองรับพระพุทธรูป ย่อมประกอบด้วยวัตถุเนื้อเดียวกันกับพระพุทธรูป และมีส่วนช่วยให้พระพุทธรูปดูงามเด่นน่าเลื่อมใส ชวนสักการะยิ่งขึ้นกระนั้น

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า พระบิดาแห่งศิลปะไทย คนไทยที่มีความเป็นไทยทั้งกายและใจก็ย่อมเข้าใจได้ดี ว่าหมายถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพราะสมเด็จฯ องค์นี้ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และดุริยศิลปของไทย ยังมีปรากฏแก่หูแห่ตาชนรุ่นหลังอยู่มากมายหลายอย่าง เช่นอุโบสถวัดเบญจมบพิตร อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาอย่างยิ่งของไทย เพลงเขมรไทรโยค อันเป็นเพลงอมตะเหล่านี้เป็นต้น


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


บุคคลที่เป็นศิลปินโดยแท้นั้น ย่อมมีความรักและความหมกมุ่นในงานของตนอยู่เป็นนิจ บางครั้งความคร่ำเคร่งในงานจนเกินไปก็มักก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นแก่คนในครอบครัว และในกรณีเช่นนี้ ถ้าหากบุคคลในครอบครัวไม่มีความเข้าใจดีก็จะไม่สามารถประคับประคองทั้งด้านชีวิตและจิตใจของศิลปินผู้นั้น ให้ดำเนินไปในทางสูงส่งเพื่อศิลปะได้ด้วยดีเป็นแน่ อีกประการหนึ่ง ถ้าหากบุคคลในครอบครัวโดยเพราะสามีหรือภรรยา ไม่เข้าใจถึงคุณค่าแห่งศิลปะที่สามีหรือภรรยาของตนประกอบอยู่แล้ว ก็ย่อมมีการลิดรอนกำลังใจของบุคคลที่เป็นศิลปินนั้นอย่างไม่มีปัญหา

แต่เพราะพระบิดาแห่งศิลปะของไทย ทรงมีชายาเป็นคู่พระบารมี ชายาของพระองค์ท่านเป็นผู้ที่ประพฤติตนคล้อยตามพระนิยมในด้านศิลปได้อย่างงดงามดียิ่ง นอกไปจากคุณสมบัติด้านแม่เจ้าเรือน อันเป็นสมบัติประจำตัวของกุลสตรีไทยแท้ คู่พระบารมีของพระองค์ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติสามประการ คือประการที่เป็นคู่พระชนม์ชีพของยอดศิลปิน ประการที่เป็นคฤหปตานีที่ดี และประการที่เป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ท่านผู้นี้คือ หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์

คู่พระบารมีของพระบิดาแห่งศิลปะไทยเป็นธิดาหม่อมเจ้าแดง งอนรถ ณ อยุธยา หม่อมวันเป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ หม่อมเจ้าแดงทรงเป็นโอรสองค์เดียวในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้างอนรถ เมื่อหม่อมเจ้าแดงมีชันษาได้เพียง ๘๒ วัน พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าหญิงวงเดือนพระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้างอนรถจึงทรงรับหม่อมเจ้าแดงไปเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงอุปการะหม่อมเจ้าหญิงอ่างในพระบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ไปทรงอุปการะไว้ด้วย เพราะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าวงเดือน และของกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์เป็นพี่น้องกัน โดยที่หม่อมราชวงศ์เอี่ยม หม่อมมารดาของหม่อมเจ้าหญิงอ่างได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย พระองค์เจ้าวงเดือนจึงทรงให้หม่อมราชวงศ์เอี่ยมเป็นผู้ดูแลหม่อมเจ้าชายแดง และหม่อมเจ้าหญิงอ่างซึ่งมีพระชันษาแก่กว่าหม่อมเจ้าชายแดงประมาณ ๑๐ ปี ก็ได้ทรงช่วยดูแลหม่อมเจ้าชายแดงด้วย ทั้งหม่อมเจ้าหญิงอ่างและหม่อมเจ้าชายแดงจึงทรงมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งหม่อมเจ้าชายแดงทรงเจริญวัยเกินที่จะอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ จึงได้เสด็จออกมาอยู่ข้างนอก ทรงมีหม่อมและได้ทรงมีบุตร ๒ คน ธิดา ๒ คน แต่ทว่าบุตรธิดาทั้ง ๓ สิ้นชีพเสียแต่ยังเยาว์มากทั้งนั้น คงเหลือเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่ได้จนโต จึงมีนามว่า “โต”


กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์


เมื่อธิดาคนเดียวของหม่อมเจ้าแดงมีอายุได้ ๗ ปี ก็เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับหม่อมเจ้าหญิงอ่าง ซึ่งทรงมีหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องนมัสการ คือควั่นธูปเทียนสำหรับใช้ในราชการ จึงได้รับการอบรมสั่งสอนในวิชาการด้านนี้มาจากหม่อมเจ้าหญิงอ่างด้วย นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงอ่างยังทรงอบรมหม่อมราชวงศ์โตในด้านความประพฤติและกิริยามารยาทอุปนิสัยอย่างเข้มงวด ส่วนการอบรมด้านความรู้ของสตรี ซึ่งสมัยก่อนถือว่าการเรือนการครัวเป็นสิ่งสำคัญนั้น หม่อมเจ้าหญิงอ่างทรงอบรมด้วยการทรงปล่อยให้หม่อมราชวงศ์โตเล่นตามอย่างงานที่ท่านทรงทำ เช่นทำแป้งร่ำ น้ำอบ ควั่นธูปเทียน ตลอดจนเล่นหุงข้าวต้มแกง หม่อมราชวงศ์หญิงโตจึงทำงานอันเป็นวิชาของสตรีได้เอง เพราะเคยเล่นมาแต่เยาว์วัยแล้ว

หม่อมเจ้าหญิงอ่างทรงสนิทสนมคุ้นเคยกันมากกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระดำรัสเรียกว่า “น้าแฉ่” พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายทรงเป็นพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีตำหนักที่ประทับในบริเวณวังของพระโอรสที่ตำบลท่าพระ หม่อมเจ้าหญิงอ่างเคยเสด็จออกมาประทับกับพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย และหม่อมราชวงศ์หญิงโตก็ได้ตามเสด็จด้วย พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายโปรดหม่อมราชวงศ์หญิงโต จึงตรัสขอจากหม่อมเจ้าหญิงอ่าง เมื่อทรงได้รับความเห็นชอบจากหม่อมเจ้าชายแดงแล้ว หม่อมเจ้าหญิงอ่างก็ทรงยกหม่อมราชวงศ์โตถวายพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย หม่อมราชวงศ์โตจึงออกจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่วังท่าพระตั้งแต่นั้นมา


พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย


พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายทรงเป็นช่างดอกไม้และทรงชำนาญทำพุ่มขี้ผึ้ง และปักพุ่มบูชาต่างๆ ทรงทำพุ่มขี้ผึ้งขนาดต่างๆ ขายมาตั้งแต่ยังเสด็จอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว เมื่อเสด็จออกมาประทับที่วังท่าพระก็ยังทรงทำพุ่มขาย และได้ทรงขยายกิจการอีกมากมาย พระโอรสทรงเป็นช่างก็ทรงออกแบบลวดลายเขียนพาน ทำหุ่นทรงติดพุ่ม สวมยอดแบบตัวผึ้งถวายให้งดงาม เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงโตมาอยู่กับพระองค์หญิงพรรณราย ก็ได้ถ่ายวิชาต่างๆ จากพระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์นั้นไว้ด้วย

หม่อมราชวงศ์หญิงโตอยู่กับพระองค์เจ้าหญิงพรรณราบได้ ๑๐ ปี พระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์นั้นก็ทรงพระเมตตา ยกขึ้นเป็นพระชายาในปี พ.ศ. ๒๔๔๖

ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเรื่องสาส์นสมเด็จอันเป็นพระนิพนธ์ระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ย่อมจะระลึกได้ว่า มีอยู่หลายตอนที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ได้ทรงกล่าวถึง “แม่โต” เช่น “แม่โตถามว่าตะเกี่ยคืออะไร” หรือ “หม้อน้ำมนต์ที่ประทานไปนั้น แม่โตทักว่าไม่มีฝา” หรือ “แกก็นึกออกว่าหม้อน้ำสุวรรณสามก็ใช้ใบบัวปิด” แม้ว่าการที่สมเด็จฯ ยอดศิลปินจะทรงกล่าวถึงชายาของพระองค์ในทำนองเล่าสู่กันฟังฉันพี่น้องก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงอยู่ในตัวว่าชายาของพระองค์ท่านมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งใดบ้าง



หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ ธิดาของหม่อมราชวงศ์โตทรงเล่าถึง “คู่พระบารมีพระบิดาแห่งศิลปะไทย” ไว้ดังนี้

“ แม่ได้รับการอบรมอย่างโบราณ จึงเป็นคนรักสงบไม่ชอบความฟุ้งเฟ้อหรูหรา แม้จะได้รับการศึกษาชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย แต่เป็นคนสนใจใฝ่วิชาหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่ยอมล้าสมัย ทั้งมีวาสนาได้อยู่ใกล้ชิดบัณฑิต ชอบอ่านชอบคิด ช่างจำ จึงมีความรู้รอบตัวหลายแขนง เฉพาะวรรณคดีนั้นชอบมาก ถ้าตอนไหนไพเราะจับใจก็จำไว้ได้ขึ้นใจเป็นเรื่องๆ ”

และในด้านที่เป็นคู่พระบารมีนั้น

“ กับเสด็จพ่อนั้นแม่ดูแลถวายความสุข ความสะดวกสบาย ควบคุมกิจการรั้ววังต่างพระเนตรพระกรรณด้วยตนเองทุกอย่าง สิ่งใดที่เสด็จพ่อโปรด แม่ก็พยายามทำถวายให้ถูกพระทัยเป็นนิจ เสด็จพ่อโปรดการช่าง แม่ก็ประดิษฐ์ของที่ประกอบด้วยฝีมือช่างอันประณีตบรรจงถวายทุกโอกาส เช่นจะทรงเลี้ยงอาหารชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นนักโบราณคดีมาจากประเทศอินโดจีน แม่ก็เอามันเทศมาแกะสลักเป็นรูปปราสาท มียอดเป็นหน้าสี่หน้าเหมือนปราสาทบายนของเขมร เป็นเครื่องตั้งไว้กลางโต๊ะอาหาร หรือในวันประสูติซึ่งเคยทรงเชิญลูกหลาน และข้าราชการที่ได้ทรงอาศัยใช้สอยมาเลี้ยงเป็นงานประจำปี แม่ก็ประดิษฐ์ของแปลกๆ ด้วยการจัดอาหารและผลไม้เป็นรูปสัตว์และสิ่งอื่นๆ บ้าง ทำของกระจุกกระจิกที่น่าเอ็นดูถวายให้ทรงแจกชำร่วยบ้าง ห่อของฉลากเป็นรูปต่างๆ บ้าง พยายามจัดของแปลกของใหม่ไว้ให้ได้ชมเชยสนุกสนามทุกปี ถึงกลางเดือนสิบสองก็ชวนคนในวังทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำแพทำกระทงเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายเสด็จพ่อทรงลอยเพื่อชักจูงให้เด็กๆ หัดทำการช่าง ของใครทำดีก็ได้ประทานรางวัล จนเสด็จลุง (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) เคยตรัสเย้าว่า ‘เป็นนางนพมาศ’ ”

“คู่พระบารมี” พระบิดาแห่งศิลปะไทย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ อายุได้ ๗๔ ปี ๙ เดือน


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ม.ร.ว. โต ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์




คัดจากหนังสือ "รัดเกล้า" ของลาวัณย์ โชตามระ




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2551   
Last Update : 23 ธันวาคม 2551 17:08:46 น.   
Counter : 6014 Pageviews.  


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






..................................................................................................................................................................................................


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์


ในวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัตินั้น เวลา ๑๕.๓๘ น. (เวลาในประเทศอังกฤษ) ได้มีโทรเลขจาก ม.ร.ว. สมัครสมาน กฤดากร ราชเลานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ จากพระตำหนักโนล ตำบลครานเลฆ์ อันเป็นที่ประทับในอังกฤษมาถวายราชเลขานุการในพระองค์ที่กระเทพฯ มีใจความว่า โดยกระแสพระบรมราชโองการ ให้ราชเลขานุการแจ้งแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังว่า มีพระราชประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรี เชิญต้นไม้เงินและต้นไม้ทองไปพระราชทานพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่งตามราชประเพณี และโปรดให้เชิญพระราชกระแสรับสั่งกราบทูลแด่พระบรมวงศ์พระองค์นั้น ดังต่อไปนี้

”หม่อมฉันขอให้ทรงรับเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินและต้นไม้ทองนี้จากหม่อมฉัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความเคารพบูชาอย่างยิ่งของหม่อมฉัน สำหรับกำลังแห่งน้ำพระทัยและความมานะอดทนอย่างกล้าแข็งของพระองค์ ในการที่ได้เผชิญความยากลำบากอันใหญ่หลวงทั้งหลาย กับเพื่อเป็นของขวัญสำหรับแสดงความรู้สึกอย่างเหลือล้นของหม่อมฉัน ในพระคุณของพระองค์ท่าน ในการที่ทรงมีความจงรักภักดีอย่างแน่แท้ต่อตัวหม่อมฉันและต่อพระราชวงศ์ หม่อมฉันขอประทานด้วยความนอบน้อม ได้โปรดให้อภัยแก่หม่อมฉันสำหรับความยากลำบากและความสลดรันทดใจ ซึ่งหม่อมฉันอาจทำให้พระองค์ได้ทรงรับมา”

พระบรมวงศ์พระองค์นั้นได้ทรงมีพระโทรเลขตอบเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม มีข้อความว่า

สมัครสมาน โนล ครานเลฆ์
สำหรับกราบบังคมทูลพระกรุณา

“ขอพระราชทานตอบพระโทรเลขวันที่ ๒ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีใจที่จะหาคำกราบบังคมทูลได้ ขอพระราชทานกราบถวายบังคมแทบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเดชพระคุณล่นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ และต้นไม้ทองเงินซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจแล้ว จะนำไปถวายพระบาทสมเด็จพระบูรพมหาราชไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร”


พระบรมวงศ์พระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์ ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ ณ ต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๗๖ เมื่อทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว สมเด็จฯ ก็ทรงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


พระบาทสมเด็จ ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อเอ่ยนามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศราฯ คนไทยหรือแม้นแต่ชาวต่างชาติที่สนใจเรื่องศิลปะต่างๆ ของไทย ก็จะนึกถึงเพลงเขมรไทรโยค วัดเบญจมบพิตร ภาพเขียน รูปปั้น ตลอดจนพระเมรุต่างๆ ซึ่งยังคงมีรูปถ่ายปรากฏไว้ สมเด็จฯ ได้ทรงเขียนเล่าพระประวัติของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการที่ทรงสนพระทัยในงานศิลปะต่างๆ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไว้ดังต่อไปนี้

“มีคนร่ำลือตัวฉันอยู่บ้างว่ารู้อะไรต่างๆ ที่ลือมากอยู่ก็รู้การช่าง ถัดไปเป็นรู้ทางปี่พาทย์ จึงจะบรรยายวิชาทั้งสองอย่างซึ่งเกิดขึ้นแก่ตัวให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

วิชาเขียนนั้นตั้งแต่ฉันยังเล็กๆ อยู่ก็ให้นึกรักเป็นกำลัง พอดีกันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสมอบหมายให้เป็นหน้าที่เลี้ยงพระฉันเวร คือพระฉันทุกวันบนพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ แต่พอประเคนแก่พระแล้ว ก็เตร่ไปอยู่แก่พวกปี่พาทย์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งพรรณนาทีหลัง แม้ไม่อย่างนั้นก็เขาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดินดูพระระเบียงเสียรอบหนึ่งแล้วก็จำอะไรมา ครั้นกลับมาถึงเรือนก็เขียนสิ่งที่จำมานั้นไว้ ในการเขียนก็ง่ายๆ ใช้ดินสอขาวเขียนกับบานตูซึ่งเขาแขวะผนังเรือน ทำบานทาสีน้ำเงินด้วยสีน้ำมันปิดไว้ ขอให้เข้าใจว่ารูปนั้นไม่เหมือนเลย เป็นแต่ได้เค้าว่ารูปนั้นเป็นอยู่อย่างนั้นเท่านั้น ดูก็สมด้วยคำของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยกล่าวว่า วัดไหนมีเขียนวัดนั้นก็มีพระช่างเขียน ด้วยดูจำอย่างรูปที่เขียนไว้นั้น ถ้าวัดใดไม่มีเขียน ก็หาพระช่างเขียนในวัดนั้นไม่ได้ คิดว่าเป็นพูดถูก


กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย


เมื่อได้เขียนบานตู้อย่างที่เล่าแล้ว ได้เห็นเจ้านายชั้นเดียวกันที่ท่านแก่อายุกว่า ท่านเขียนรูปอะไรต่ออะไรก็ให้นึกชอบใจ ถึงกับมีสมุดเล่มหนึ่งพกไปเขียนอะไรต่ออะไร จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริม แต่จะเล่าถึงการที่ทรงส่งเสริมเป็นลำดับไปนั้น นึกไม่ได้ ได้แต่ลางคราว เช่นคราวหนึ่งตรัสสั่งให้เขียนรูปพระเจ้าแผ่นดินพม่า ซึ่งทอดพระเนตรเห็นในหนังสือพิมพ์ฝรั่ง อะไรทำให้เข้าใจๆไปในเวลานั้นก็จำไม่ได้ ว่าพระนาม “เม็งดงเม็ง” เขียนเสียเหงื่อแตกทุกขุมขน ขออย่าได้เข้าใจว่าเหมือน เป็นแต่ดีกว่าที่เคยเขียนมาแล้วเท่านั้น จำได้อีกครั้งหนึ่งว่าเสด็จไปทอดพระเนตรกองหินแลงที่เมืองสิงห์ ในแขวงกาญจนบุรี ก็โปรดเกล้าให้เขียนกองหินแลงนั้นที่ว่าเป็นปราสาท ทีหลังได้เห็นหนังฉายของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นมุดเข้าไป แสดงว่าปราสาทนั้นยังไม่พัง แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะต้นไม้ขึ้นคลุมเสียหมด ต่อมาอีก ได้ยินกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยพูดถึงไปเที่ยวเมืองสิงห์อีก กล่าวถึงปราสาทเขมร เป็นอันว่าพังไปแล้วก็มี ที่ยังคงรูปเป็นอยู่ก็มี เธอเอารูปฉายมาให้ไว้ด้วย เป็นอันเข้าใจได้ว่า เมืองสิงห์นั้นเป็นเมืองซึ่งมีการก่อสร้างของเขมรมาก แต่ร้างแล้ว กรมการแห่งกาญจนบุรีผู้ได้ปกครองอยู่ในเวลาโน้น เขาพบแต่กองหินแลงซึ่งเป็นปราสาทที่พังแล้ว จึงนำเสด็จไปทอดพระเนตรแต่เพียงเท่านั้น แล้วทีหลังก็พบอีก ที่พังแล้วก็มี ที่ยังคงรูปอยู่ก็มี แต่ไม่ได้เห็นด้วยต้นไม้ปกคลุม ในแผนที่ก็เขียนว่า เมืองสิงขร เสียด้วย ผิดความหมายกันไป อย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ นึกได้อีกคราวหนึ่งว่าโปรดเกล้าให้เขียนหินหมวกเจ๊กที่เขาลูกช้าง ในแขวงเพชรบุรี ที่เรียกว่า “หมวกเจ๊ก” นั้นก็เพราะหินก้อนหนึ่งมีสัณฐานข้างบนกว้าง ข้างล่างเล็กเรียว ดุจหมวกเจ๊กตั้งอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าเขาลูกช้างนั้นไม่เป็นเขา แต่เป็นหินสองสามก้อนตั้งรายๆ อยู่ในทุ่ง ผู้รู้เขาว่าที่นั้นเป็นท้องทะเลมาก่อน แต่เมื่อเขียนหินหมวดนั้นโตแล้ว เขียนได้เหมือนแล้ว ทั้งรู้ด้วยว่าทรงปิดในสมุดซึ่งจดรายวัน ทีหลังไปตามเสด็จที่ไหนก็เขียนแผนที่ที่นั่นถวาย ให้ทรงปิดสมุดไม่ต้องตรัสสั่ง


สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรควรพินิต


จะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไปอีก ที่ว่าทรงส่งเสริมฉันนั้นก็เพราะโปรดในการช่าง ครั้งหนึ่งฉันเล็กๆ มีฝรั่งชาวออสเตรียคนหนึ่ง ชื่อนายไปยา เข้ามาบวชเป็นเณรอยู่ที่สำนักพระมหาเอี่ยมวัดพิชัยญาติ ครั้นสึกออกมาก็มาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นายไปยาคนนั้นเป็นช่างเขียน จึงตรัสสั่งให้เขียนแผนที่ทุกสถาน เล่นเอาฉันอลิ้มอเลี่ยประจบเขาแทบตาย ด้วยอยากได้วิชาของเขา

จะย้อนกล่าวถึงเมื่อบวชเณร ฉันติดพระครูปั้นวัดบวรนิเวศด้วยท่านเป็นช่างเขียน เมื่อสึกออกมาอยู่ในกรมพระคลังข้างที่ ฉันคิดว่าแม่จะไม่ให้ติด จึงเอานายสายมาให้ นายสายนั้นเป็นช่างฝีมือดี เป็นลูกหลวงราชนุจิตร เรียกกันว่าปลัดส่าง แม่เขาเป็นแม่นมลุงมงคล คือ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ทีหลังเรียกกันว่าเจ้ากรมสาย เห็นจะเป็นด้วยเข้าไปเป็นเจ้ากรมช่างสิบหมู่ ทีหลังเป็นพระยาจินดา เจ้ากรมสายนั้นแกก็ดี สู้ติดสอยห้อยตาม

บรรดาช่างที่จะลือว่าดีนั้น ได้คิดเห็นว่าเป็นชอบกลนักหนาเป็นต้นว่าช่างฝีมืออ่อน แม้จะเขียนงูเหมือนกระทั่งเกล็ดและลงสีด้วย แต่ก็ยังแพ้ช่างที่เขาลือ เขียนด้วยถ่านไฟแต่พอเป็นรูป อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ก็เห็นว่าช่างที่มีฝีมืออ่อนนั้นถึงจะเขียนอย่างดีด้วยวิธีใดก็เห็นเป็นงูตายทั้งนั้น ส่วนคนที่เขาแข็ง ถึงจะเขียนด้วยของที่เลวกว่าก็ชนะ เพราะเหตุที่เห็นเหมือนงูเป็นๆ ดูดุจว่าจะเลื้อยไปได้ฉะนั้น จึงเห็นว่าไม่สำคัญในสิ่งที่เขียน สำคัญอยู่ที่การเขียนอย่างไร จึงพิจารณาไปในการที่จะลือชื่อซึ่งเห็นว่า

๑) ช่างคนใดที่ทำแต่การถ่ายถอนแล้วจะลือชื่อไม่ได้ คนที่เขาลือนั้นเปรียบว่าเขากินแบบที่ทำแล้วเข้าไป จนตกออกมาเป็นเหื่อนั่นจึงลือ
๒) เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง
๓) ต้องเห็นมากกับทั้งสังเกตจำด้วย จึงจะเป็นเครื่องเรืองปัญญา ถ้าได้เห็นน้อยหรือไม่จำก็ไม่ช่วยตัวได้

เห็นจะมีอีกมากอย่าง แต่เอาเพียงสามอย่างเท่านี้ก็ช่วยตัวได้มากแล้ว


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทีนี้จะกล่าวถึงทางปี่พาทย์ อันได้กล่าวอ้างไว้แล้วข้างต้นนั้น เมื่อลงมาที่วงปี่พาทย์เมื่อฉันเวรนั้น ไม่ได้เรียนทางปี่พาทย์มิได้ แต่เรียนกลองแขก ส่วนทางปี่พาทย์นั้นยังไม่กระดิกหู เพราะเป็นของละเอียดมาก จนโตแล้วฟังแตรวงทหารเขาเป่าเพลงไทยนำแถวจึงชอบใจจำเขา แม้กระนั้น ก็เป็นแต่ไล่ได้ด้วยปากเท่านั้น แล้วได้ยินเขาเป่าขลุ่ยจึงไปหาขลุ่ยมาคลำนิ้วมัน ก็ทำให้รู้ว่าเขาเป่ากันอย่างไรก็เป่าได้ ทีหลังเด็กคนใช้คนหนึ่งเขาสีซอได้ เขาว่าถ้าเขาสีซอแล้วจะเข้ากันได้ดี แต่เวลานั้นซอเขาก็ไม่ได้เอาไว้ในที่อยู่ จึงให้เขาไปเอามา แล้วก็สีและเป่าเข้ากัน ทีหลังอยากสีซอให้เป็นบ้าง จึงขอเรียนจากเขา เขาก็สอนให้ การสีซอนั้นยากมาก เพราะไม่มีอะไรเป็นกำหนด แม้วางนิ้วต่ำหรือสูงไปเสียงก็เพี้ยนไป อย่าหาแต่ว่าคนป่าๆ อย่างเราเลย ถึงคนที่ตีเครื่องอะไรได้ มาจับซอเข้า เสียงก็เพี้ยน....”

ผู้ที่เล่นดนตรีเป็นนั้น แม้จะไม่จับเครื่องดนตรีบรรเลง แต่เมื่อใดได้ยินผู้อื่นบรรเลง เมื่อนั้นก็อดไม่ได้ที่จะนึกทำนองตามไปด้วย บางทีก็ถึงกับหยุดฟัง ถ้าหากเพลงนั้นเพราะจับใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บวชอยู่ไม่ว่าพระว่าเณร มีสิกขาบทอยู่ข้อหนึ่งคือ นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา อันห้ามดูการขับร้องฟ้อนรำ

เมื่อสมเด็จฯ ทรงผนวชพระในปีพ.ศ. ๒๔๒๗ นั้น ได้ทรงจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศ และเสด็จออกรับบิณฑบาตอย่างภิกษุทั้งหลาย และวันหนึ่งก็ได้ทรงพบกับเหตุการณ์อันหนึ่ง ซึ่งทรงเล่าไว้ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้าความว่า

“... มีเรื่องเกล้ากระหม่อมบวชซึ่งติดจะขัน จะเก็บมาเล่าถวายอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเกล้ากระหม่อมบวชนั้น ได้ตั้งใจรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นพระพ้นอาบัติทั้งปวง ความปฏิบัติก็เป็นไปได้สมความปรารถนา แต่มาวันหนึ่งเจ้ากรรมจริงๆ เดินกลับจากบิณฑบาต พอถึงแถวหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ ก็พบคนขอทานตาบอดนั่งร้องเองสีซอเองอยู่ข้างถนน ตามที่ควรเป็นแล้ว ดนตรีของคนขอทานนั้นควรจะไม่น่าฟัง แต่ที่ไหนได้ นี่อะไรมันช่างเพราะดีเสียเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบการเล่นดนตรีที่ไพเราะจับใจเหมือนคราวนั้นเลย เล่นเอาลือสติ หย่อนฝีเท้ากว้าเดินช้าๆ ฟังสำเนียงบรรเลงจนพ้นมาด้วยความเสียใจ โกยเอาอาบัติไปพอแรง ...”


สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความสัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างที่เรียกด้วยภาษาชาวบ้านว่า เป็นน้องสองชั้น เพราะนอกจากสมเด็จฯ จะทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระชนนีของสมเด็จฯ คือพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ยังทรงเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนีในสมเด็จพระปิยมหาราชอีกด้วย ความข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงยืนยันในพระราชดำรัสพระราชทานพรในงานพระราชทานเลี้ยง เนื่องในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ซึ่งเจ้านายมาประชุมพร้อมกันในเวลาวันนี้ เป็นการมงคลโสกันต์ ซึ่งฉันจะได้กล่าวบัดนี้ จะต้องขอบอกเรื่องการที่จะได้ทำการโสกันต์ใหญ่ในครั้งนี้ (ฤๅจะว่าแต่เป็นโสกันต์อย่างกลางจะถูกกว่า) ก็การที่ได้คิดทำดังนี้ก็เพราะว่าจิตรเจริญเป็นลูกของน้าฉัน ควรนับว่าเป็นน้องอันสนิทขึ้นอีกชั้น ๑ เพราะเหตุดังนั้น”


พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย (หม่อมเจ้าหญิงแฉ่)


แต่ทว่าความเป็นน้องสองชั้น มิได้ทำให้สมเด็จฯ ทรงได้รับอภิสิทธิ์ในพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระปิยมหาราชแต่ประการใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุณธรรมประเสริฐพระองค์นั้น ได้ทรงบรรยายไว้ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระองค์แรก) เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส สยามมงกุฎราชกุมาร ว่า

“... ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง มิได้ยกย่องให้ยศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิด ต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดีก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงรู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่า ปรารถนาจะให้ไปในทางดีเพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปในทางผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด ...”

สมเด็จฯ ก็ทรงเหมือนกับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นๆ ที่สมเด็จพระปิยมหาราชทรงใช้ทำงานต่างๆตามวัยและความสามารถ สมเด็จฯ เองก็ทรงเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตรัสมอบหมายให้เป็นหน้าที่เลี้ยงพระฉันเวร ตั้งแต่สมเด็จฯ ยังเล็กๆ อยู่


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร


ราชการที่สมเด็จฯ ทรงทำมาแรก คือเป็นทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงเริ่มแต่คะเด็ดทหารมหาดเล็กซึ่งเท่ากับนักเรียนนายร้อย อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็ก อีกสิบปีต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชเอเดอแคมป์ (ราชองครักษ์) มียศเท่ากับนายร้อยเอก ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทรงรับราชการทหารจนถึงกับเคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และรักษาการผู้บัญชาการทหารเรือด้วย ทรงมียศทางทหารเป็นพลโท ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และอีกยี่สิบสองปีต่อมา ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับเลื่อนยศเป็นพลเอก เคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรงโยธาธิการเสนาบดีกระทรวงวัง และเสนาบดีกระทรงพระคลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย

ตั้งแต่ทรงรับราชการมา ทรงต้องปฏิบัติราชการสองด้าน คือราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ สำหรับประการหลังนี้เป็นราชการในด้านศิลปะ ซึ่งทรงได้รับการยกย่องอย่างสูงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงยกย่องไว้ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ว่า

“... ฉันไม่ได้นึกจะยอเลย แต่อดไม่ได้ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้ว ในเรื่องทำดีไซน์เช่นนี้ ...”

และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงไว้ในตอนหนึ่งของคำนำพระราชนิพนธ์เรื่อง ธรรมาธรรมะสงครามว่า

“... ครั้นเมื่อแต่งบทพากย์ขึ้นเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านให้มิตรสหายบางคนฟัง ก็ต่างชมกันว่าดี และวิงวอนให้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม เมื่อข้าพเจ้าได้ยอมตามคำขอของมิตรสหายแล้ว จึงได้นึกขึ้นว่าถ้าได้มีภพประกอบบทพากย์ด้วย จะชูค่าแห่งหนังสือขึ้น ข้าพเจ้าจึงทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดประดิษฐ์ภาพขึ้นประกอบเรื่อง เพราะเห็นว่าจะหาช่างใดในกรุงสยามที่เข้าใจความมุ่งหมายและความตั้งใจของข้าพเจ้าไม่ได้ดีเท่าเป็นแน่แท้ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเข้าพระทัยความประสงค์ของข้าพเจ้าดีปานใด ภาพทั้งหลายในสมุดนี้ย่อมเป็นพยานปรากฏอยู่เองแล้ว ...”


พระบาทสมเด็จ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระชนนีคือหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า จิตรเจริญ และทรงพระราชนิพนธ์คาถาพระราชทานพระพรประกอบพระนามอีกด้วย

อันคาถาพระราชทานพรนี้ ผู้รู้ทางโหราศาสตร์เคยกล่าวว่า เป็นเสมือนการทรงพยากรณ์ไว้ว่า ชีวิตภายหน้าของพระองค์ผู้ได้รับพระราชทานพระพรจะเป็นอย่างไร สำหรับสมเด็จฯ นั้นคาถาพระราชทานพระพร แปลเป็นความว่า

“... กุมารนี้จงเป็นผู้ได้นามว่า จิตรเจริญ จงไม่มีโรค มีความสุข มีอายุยืนยาว มีอำนาจลำพังตน มั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติ มีอิสริยยศแลบริวาร มีเดชอาจหาญ บริบูรณ์ด้วยกำลัง และเป็นที่รักใคร่ของคนหมู่มาก เป็นที่อันชนทั้งหลายมาสักการะเคารพนับถือ และจงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้แก่ผู้ใด มีชัยชำนะข้าศึกทั้งหลาย แต่ฐานนั้นๆ ทุกเมื่อเทอญ ...”


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จฯ ทรงมีพระชันษาเพียง ๕ พรรษากับ ๕ เดือน พระเชษฐภคินีพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว ทรงมีพระชนมายุได้เพียง ๑๑๓ พรรษา ทั้งสองพระองค์เสด็จอยู่กับพระชนนีที่ตำหนัก ในพระบรมมหาราชวัง ฐานะทางครอบครัวไม่ได้มั่งคั่งเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแต่ประการใด ม.จ. หญิงพรรณราย ทรงมีฝีพระหัตถ์ในทางช่าง ก็ทรงทำงานช่างเป็นการหารายได้มาค้ำจุน


สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนขัตติยกัลยา (พระองค์เจ้ากรรณิการ์แก้ว)


ม.จ. ดวงจิตร จิตรพงศ พระธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จฯ ทรงเล่าเรื่องเสด็จย่า คือพระชนนีของสมเด็จฯ ไว้ว่า

“... ส่วนเสด็จย่านั้นมีพระนิสัยเป็นช่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงชำนาญการทำดอกไม้สด เมื่อมีราชการงานหลวงก็ทีรงรับเกณฑ์งานร้อยพวงดอกไม้แขวนต่างๆ มาทำที่วังอยู่เสมอ ทรงเชี่ยวชาญการปักพุ่มทุกชนิดและพุ่มขี้ผึ้งเป็นอันมาก กล่าวกันว่าพุ่มขี้ผึ้งแบบที่ใช้ตัวขี้ผึ้งติดบนกระดาษรองนี้ เสด็จย่าทรงคิดประดิษฐขึ้น ด้วยพุ่มที่ทำกันแต่ก่อนนั้นใช้ตัวขี้ผึ้งติดบนไม้ระกำเสียบไม้ปักบนแกนดินเหนียว เหมือนพุ่มตาด ต้องใช้ความชำนาญและเสียเวลามาก จึงหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น ได้ทรงทำมาชำนาญตั้งแต่เสด็จอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาในรัชกาลนั้นสิ้นที่พึ่ง ต้องคิดอ่านหาลำไพ่เลี้ยงตัวกันแทบทุกคน เสด็จย่าก็มิได้เว้น ทรงทำพุ่มขี้ผึ้งขาย ตั้งแต่ขนาดใหญ่ใช้ตะลุ่มรองจนเล็กเท่าหมากดิบ ขนาดเล็กนั้นติดตัวขี้ผึ้งเท่าเมล็ดข้าวเปลือก มีตะแกรงสานด้วยไม้ไผ่รอง มีไม้ชำระ ไม้สีฟัน ไม้ขุดลิ้น ครบชุด ขายได้แพงมากถึงชุดละเฟื้อง ทั้งทรงทำถวายขายใช้ในราชการของหลวงด้วย ...”

เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เจ้าจอมมารดาต่างๆ ไม่เพียงแต่ถูกเรียกคืนเครื่องยศเท่านั้น แต่ยังถูกลดประโยชน์ที่เคยได้รับพระราชทานลงกว่าครึ่งค่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสารเจ้านายพี่น้องกับเจ้าจอมมารดาที่ต้องลำบากยากจน จึงตรัสขอให้รัฐบาลจ่ายเงินกลางปีแก่พระเจ้าพี่น้องเธอ พระองค์ชายปีละ ๒,๔๐๐ บาท พระองค์หญิงปีละ ๑,๖๐๐ บาทตั้งแต่นั้นมา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรฯ ทรงเป็นที่เคารพยกย่องในด้านงานศิลปะ แม้การใช้สีแต่งหน้า ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจนและถูกหลักเกณฑ์ เพราะทรงชำนาญจากการปฏิบัติ คือการแต่งหน้าละคร พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านศิลปะนั้น นอกจากจะค้นหาดูจากหนังสือพระประวัติและฝีพระหัตถ์ ซึ่งพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง และหนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ซึ่ง ม.จ.หญิง ดวงจิตร จิตรพงศ พระธิดาทรงนิพนธ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.โต จิตรพงศ ชายาแล้ว จะค้นหาได้จากพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” อันเป็นลายพระหัตถ์ ทรงโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และลายพระหัตถ์ถึงบุคคลต่างๆ อีกมากมาย

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ สมเด็จฯ ทรงได้รับตำแหน่งองค์อภิรัฐมนตรี อันเป็นเสมือนคณะที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเปลี่ยนการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น สมเด็จฯ เสด็จอยู่ในพระนคร จึงถูกเชิญพระองค์ไปอารักขาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมด้วยพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ ซึ่งเสด็จอยู่ในพระนครในเวลานั้น

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง ม.จ. หญิง อัปภัศราภา เทวกุล (ท่านหญิงแก้ว) พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมเด็จฯ ทั้งสองพระองค์พระราชทานยังท่านหญิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเสด็จอยู่ตางประเทศว่า

“เสด็จพ่อและแม่ของเธอ เสด็จพ่อนั้นเขาเอาไปขังประกันไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรฯ หน้าต่างก็ไม่ได้เปิด เปิดเฉพาะแต่ประตู มีลูกไปอยู่ด้วยองค์ละคน คอยผลัดกันนั่งพัดไปตลอดกลางวันกลางคืน ....”


สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


ในด้านส่วนพระองค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรฯ ทรงมีหม่อมห้าม ๒๓ ท่าน แต่ไม่ใช่พร้อมกันในเวลาเดียว ในขณะที่พระเชษฐาและพระอนุชาร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถ ต่างมีพระชายาและหม่อมห้ามพระองค์ละหลายๆ ท่าน แต่สมเด็จฯ ทรงมีเพียงครั้งละท่าน

ในหนังสือราชินิกุลรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้กล่าวถึงหม่อมห้ามของสมเด็จฯ ไว้ดังนี้

“ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระองค์เจ้าจิตรเจริญ) อ. ชั้น ๗ (พระราชโอรสในพระองค์พรรณราย) มีนางห้ามที่เป็นหม่อมมารดามีพระโอรสและธิดารวม ๓ คน ต่างสกุล

๑) หม่อมราชวงศ์ปลื้ม (ธิดาพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์) มีพระธิดา ๑ อง๕ คือ ญ. นามว่า หม่อมเจ้าปลื้มจิตร
บุรพชนของหม่อมราชวงศ์ปลื้ม ทางบิดามาแต่พระบรมราชวงศ์จักรีกับราชินิกูลรัชกาลที่ ๒ และราชินิกูลรัชกาลที่ ๓ ถึงชั้นกรมมาตยาพิทักษ์ มีนางห้ามหลายคน จักกล่าวในที่นี้แต่คนเดียว คือหม่อมน้อย ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) มีพระโอรสธิดา ๒ อง๕ องค์พี่เป็นพระธิดาทรงพระนามว่า “หม่อมเจ้าสารพัดเพชร” พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์มีนางห้ามและบุตรธิดามาก นางห้ามคน ๑ มีธิดา ๑ คือหม่อมราชวงศ์ปลื้มผู้เป็นนางห้ามสะใภ้หลวง และเป็นชายาของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทั้ง ๒ นี้เป็นพระบิดาและหม่อมมารดาของหม่อมเจ้าปลื้มจิตรนั้น

๒) หม่อมมาลัย (ธิดาเสมียนตรา (เผือก)) มีพระโอรส ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์แรกสืบพระวงศ์ คือ ช. นามว่า “หม่อมเจ้าเจริญใจ”
บุรพชนของหม่อมมาลัยมาแต่พระสัมภาหะบดี เป็นบิดานายเผือกเสมียนตราฝ่ายพระราชวังบวร เป็นบิดาหม่อมมาลัย ต่อมาบิดาหม่อมมาลัย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสาครสมบัติ

๓) หม่อมราชวงศ์โต (ธิดาหม่อมเจ้าแดง ในพระองค์เจ้างอนรถ) มีพระโอรสและธิดา ๔ องค์ คือ
ที่ ๑ ญ. นามว่า “หม่อมเจ้าประโลมจิตร”
ที่ ๒ ญ. นามว่า “หม่อมเจ้าดวงจิตร”
ที่ ๓ ช. นามว่า “หม่อมเจ้ายาใจ”
ที่ ๔ ช. นามว่า “ยังไม่มีนาม สมญาว่างั่ว”

(หมายเหตุ เมื่อสมเด็จวังบูรพาฯ ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้เสร็จ ในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ม.จ.หญิง กรณิกา พระองค์เล็กยังไม่ประสูติ – ลาวัณย์ โชตามระ)

พระโอรสธิดาทุกองค์ของสมเด็จฯ ทรงมีชื่อเรียกเล่นๆ (Nick-Name) เป็นจำนวนนับของไทยทั้งนั้น เริ่มแต่ ม.จ. หญิงปลื้มจิตร พระธิดาองค์แรก ทรงมีนามว่า เอื้อย พระโอรสองค์แรกที่สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ มีนามว่าอ้าย องค์ต่อมาเป็นชายทรงมีชื่อว่ายี่ องค์ชายถัดมาก็ สาม ไส และงั่ว (แปลว่าห้า) คือม.จ. เพลารถ ส่วนพระธิดาก็มีท่านหญิงอี่ ท่านหญิงอามแปลว่าสาม และท่านหญิงไอ คือม.จ.หญิงกรณิกา ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๔

พระธิดาองค์หนึ่งซึ่งทรงเสมือนเลานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ คือ ม.จ. ดวงจิตร ซึ่งคนทั้งหลายระบุถึงว่าท่านหญิงอาม ทรงเป็นพระธิดาที่ใกล้ชิดกับสมเด็จฯ ในด้านงานส่วนพระองค์กว่าโอรสธิดาองค์อื่นๆ ผู้ที่ต้องการจะทราบเรื่องราวต่างๆ ของสมเด็จฯ ก็จะไปเฝ้าและทูลถามจากท่านหญิงอาม นอกจากนั้นท่านหญิงอามยังทรงเป็นผู้ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า หนังสือดี หนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้น และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ หม่อมมารดา จะเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความข้อนี้ รวมทั้งความรู้ความรอบรู้ของท่านหญิงอีกด้วย

หนังสือเรื่อง “พระประวัติและฝีพระหัตถ์” ซึ่งพิมพ์ในงานพระเมรุของสมเด็จฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็เป็นงานนิพนธ์ของท่านหญิงอามเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง

หม่อมห้ามท่านสุดท้ายของสมเด็จฯ คือ ม.ร.ว.โต ผู้เป็นแบบอย่างกุลสตรีไทยสมัยเก่า คือเป็นแม่เหย้าแม่เรือน เก่งการฝีมือและสมเป็นคู่บารมีปราชญ์ เพราะมีความรอบรู้ เชื่อเมื่อคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ประทานหม้อน้ำมนต์แก่สมเด็จฯ และสมเด็จฯ ทรงทักว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีฝา ม.ร.ว.โต ก็ทูลว่าหม้อน้ำสุวรรณสามก็ไม่มีฝา ใช้ใบบัวปิด


ม.ร.ว.โต จิตรพงศ (คู่พระบารมีนายช่างใหญ่)


ในหนังสือเรื่อง “ตาลปัตร” ท่านหญิงอามได้ทรงเล่าว่า เมื่อสมเด็จฯ ทรงเลี้ยงอาหารแก่ชาวต่างประเทศที่เป็นนักโบราณคดี มาจากอินโดจีน ม.ร.ว.โต ก็เอามันเทศมาแกะสลักเป็นรูปปราสาทหินบายนเป็นเครื่องตั้งกลางโต๊ะอาหาร เมื่อถึงเทศกาลวันเดือนเดือนสิบสอง ม.ร.ว.โต ก็ชักชวนคนในบ้านให้ทำแพ ทำกระทงลอบประกวดกัน ผู้ที่สนใจอยากทราบเรื่องต่างๆ ของ ม.ร.ว. โต ผู้เป็นชายาคู่บารมีของสมเด็จฯ จะหาอ่านได้จากหนังสือเรื่องตาลปัตร ซึ่งท่านหญิงอามเป็นผู้นิพนธ์ขึ้น ได้ทรงเล่าประวัติของ ม.ร.ว.โต ซึ่งโอรสธิดาทุกองค์ตรัสเรียกและระบุถึงว่าแม่ไว้โดยละเอียดที่สุด

งานด้านช่างของสมเด็จฯ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมนั้น ผู้ที่ได้เห็นจะต้องออกปากว่า “มีชีวิตชีวา” ซึ่งสมเด็จฯ ตรัสเรียกว่ากระดิกได้ สมเด็จฯ เองก็ได้ทรงเล่าไว้ว่า
“... เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง ...”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะทรงเขียนรูปวัวเป็นลายปักงานศพเจ้าจอมมารดาหรุ่น จึงทรงเช่าวัวของแขกมายืนเป็นแบบอยู่หลายวัน และเมื่อจะทรงเขียนรูปหมี ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตรในเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ก็เสด็จไปทอดพระเนตรตัวหมีจริงๆ ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตร ที่บ้านคุณพระศัลยเวทวิศิษฐ์ (สาย คชเสนี)

ถ้าจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์แล้ว หนังสือหนาขนาดร้อยยกก็ไม่พอเป็นแน่แท้




คัดจาก ย้อนรอยราชตระกูล ของลาวัณย์ โชตามระ




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2551   
Last Update : 23 ธันวาคม 2551 17:09:59 น.   
Counter : 15223 Pageviews.  


สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


....................................................................................................................................................



พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” และต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา” และ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา” และเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ประสูติได้ไม่นาน สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายจากกรุงลอนดอนไปประทับที่เมืองเซาท์บอน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก จากนั้นไปประทับ ณ เมืองบอสคัม ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศอังกฤษ จนพระชันษาได้ ๖ เดือน จึงตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จกลับประเทศไทย

ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่ประเทศเยอรมนี และในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ประสูติที่โรงพยาบาลเมืองไฮเดลเบิร์ก

ในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และประทับอยู่จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ระหว่างนั้น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (Dr.Francis B. Sayre) ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศ เคยเล่าถวายสมเด็จพระบรมราชชนนกว่า ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งชื่อ ซองโซเลย์ (Champ Soleil) ที่ดูแลเด็กอย่างถูกหลักอนามัย เพราะเจ้าของเป็นแพทย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้ทรงนำพระธิดาและพระโอรสพระองค์ แรกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ โดยทรงฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน (Boston) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์อยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School)

เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard) ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี

ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตในปีใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระบรมราชชะนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส พระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ทรงเข้าศึกษาในสถาบันรับเลี้ยงเด็ก ซองโซเลย์ (Champ Soleil) อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๒ เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศส จากนั้นจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา “เมียร์มองต์” (Miremont)

ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมา และเพื่อให้สมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงเช่าบ้านค่อนข้างใหญ่ที่เมืองพยุยี (Pully) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโลซานน์ เพื่อเป็นที่ประทับและพระราชทานนามว่า “วิลล่าวัฒนา” (Villa Vadhana)

พ.ศ. ๒๔๗๘ ทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรี ชื่อ Ecole Superieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับจากชั้น ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ทรงสามารถสอบเข้าชั้น ๕ ในระดับมัธยมศึกษานี้ได้ ระหว่างนี้ทรงเรียนภาษาเยอรมัน และภาษาละตินด้วย

ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการศึกษา ในการสอบเลื่อนชั้นแต่ละปี ทรงทำคะแนนได้ผลงดงามมาก โดยทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายได้ระดับดีเยี่ยมเป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และที่ ๓ ของทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชชนนี พระอนุชา และสมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยเสด็จด้วยในครั้งนั้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงเสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และได้รับ Diplome de Chimiste A เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑

ในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ Diplome de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย


ทรงงาน

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ จึงได้ทรงแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ ซึ่งทรงเริ่มต้นเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑

ใน พ.ศ.๒๕๑๒ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอพระราชทานพระกรุณาให้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหารโดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลักสูตรนี้นับว่าเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม และในระหว่างที่ทรงปฏิบัติงานในฐานะพระอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบทูลเชิญเป็นองค์บรรยายพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕

เนื่องจากพระภารกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้นยังทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องการขาดแคลนอาจารย์ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตาเสด็จไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส โดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์คนอื่น ๆ

ระหว่างที่ทรงงานเป็นพระอาจารย์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลายด้าน เช่น ทรงเป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นประธานออกข้อสอบภาษาฝรั่งเศสในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยหลังจากที่ปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงได้ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความรอบรู้ทางวิชาการและการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาของสมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลายสาขาวิชา และทรงได้รับการเทิดทูลพระเกียติจากรัฐบาลและองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอเนกประการ ทรงมีน้ำพระทัยเสียสละสูงส่งต่อปวงพสกนิกร ทรงเกื้อกูลอุปถัมภ์งานในหลายด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งงานที่ทรงรับสืบทอดจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และงานที่ทรงสนพระทัยด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นจากหน่วยงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ กองทุน หรือโครงการต่างๆ ที่ทรงรับอุปถัมภ์ จึงนับได้ว่า ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่พสกนิกรชาวไทยเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม

....................................................................................................................................................



ประกาศ
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร


มีพระราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแต่พระองค์เดียวที่ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง ดังมีข้อความปรากฏอยู่ในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า นั้นแล้ว ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ยังใฝ่พระหฤทัยมั่นคงอยู่มิได้ทอดทิ้งในอุปการกิจ ที่มีแก่พระองค์ โดยเจตจำนงมุ่งหมายแต่จะทรงให้พระเกษมสุข และทรงพระเจริญยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศในมไหศูรยสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ในหลายวาระ และทรงรับเป็นพระธุระในการส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งได้ปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดในที่ทุกสถาน และรักษาพยาบาลในเมื่อทรงพระประชวรโดยมิได้มีความเบื่อหน่ายย่อหย่อน ด้วยมีพระประสงค์จะแบ่งเบาพระราชภาระ ทำให้ทรงความพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัยในการส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นอันมาก

นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ยังมีพระหฤทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา ปรารถนาที่จะให้ประชาชนทุกชนชั้นได้มีวิชาความรู้ มีฐานะความเป็นอยู่และมีสุขภาพอนามัยที่ดีถ้วนหน้า จึงทรงพระอุตสาหะรับเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ โดยมิได้ทรงคิดเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งทรงรับเป็นพระธุระบริหารกองทุนการกุศลสมเด็จย่า ทรงเป็นประธานมูลนิธิโรคไตมาแต่แรกเริ่ม และทรงรับมูลนิธิ ตลอกจนสมาคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกเป็นจำนวนมาก ได้ทรงปฏิบัติบริหารกองทุนมูลนิธิที่ทรงเป็นประธานและบริหารอยู่ โดยเต็มพระสติกำลังปรีชาสามารถ และได้พระราชทานความช่วยเหลือนานัปการแก่มูลนิธิและสมาคมที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ ทำให้กิจการต่างๆ ของกองทุน มูลนิธิ และสมาคมเหล่านั้น ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยความมั่นคง และก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง พระเกียรติคุณด้านนี้เป็นที่ประจักษ์เด่นชัด ด้วยเหตุนี้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากแห่ง จึงได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชาต่างๆ และเหรียญสดุดีพระกิตติคุณ

มาบัดนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญด้วยวัสสายุกาลวัยวุฒิ กอปรด้วยพระอัธยาศัยซื่อตรง ดำรงพระองค์มั่นอยู่ในสุจริตธรรมสัมมาจารี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองปรากฏอยู่เป็นอเนกปริยาย สมควรที่จะสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น โดยอนุโลมตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามจารึกตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒน์มงคล อิฐศุภผลธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยั่งยืนนานเทอญ


ประกาศ ณ วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน



....................................................................................................................................................



คัดจากหนังสือเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ ๗ รอบ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐




 

Create Date : 08 มกราคม 2551   
Last Update : 10 มกราคม 2551 7:34:05 น.   
Counter : 2203 Pageviews.  


ชิต บุรทัต

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




ชิต บุรทัต


....................................................................................................................................................



ตอน ๑
เรียนภาษาไทยและบาลีถึงอุปสมบท

ชิต บุรทัต เกิดเมื่อ ๒๔๓๕ วายชนม์ ๒๔๘๕ เป็นบุตรนายชู (เปรียญ ๕ ประโยค) บิดา และนางปริกมารดา นายชูบิดาได้สอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณรอยู่ที่วัดราชบพิธ เพราะสมัยนั้นครูสอนภาษาบาลีโดยมากตามวัด ภิกษุที่เป็นเปรียญละเพศสมณะแล้วสอนหนังสือบาลีเกือบทั้งนั้น บิดาชิต บุรทัตก็ดุจกัน สำหรับ ชิต บุรทัต ได้ศึกษาอักษรสมัยทั้งไทยมคธเป็นทุนเดิมมาจากบิดามารดาก่อน มีเชาวนปฏิภาณเฉลียวฉลาดในด้านการศึกษาดี พออายุสมควรก็ได้เล่าเรียนศึกษาชั้นปะถมและมัธยม ณ วัดราชบพิธนั่นเอง บางท่านว่าเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามด้วย (อ่านแล้วคิดดู) อายุครบ ๑๔ ปีก็สอบไล่ได้ชั้นประโยคมัธยมศึกษา (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๘) เมื่อเรียนภาษาไทยได้ครบหลักสูตรแล้ว ครั้นต่อมาก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระอุปัชฌายะ ส่วนการศึกษาภาษาบาลีเมื่อชิต บุรทัตบรรพชาเป็นสามเณร ก็ได้รับการสอนจากบิดาผู้บังเกิดเกล้าเองโดยมาก บรรพชาอยู่ได้ประมาณ ๒ พรรษาก็ลาเพศจากสามเณร มาดำเนินประกอบธุรกิจการงานตามควรแก่อัธยาศัยของตน

ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๒ ชิต บุรทัตสละเพศฆราวาสมาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพกวี) เป็นพระอุปัชฌายะ และได้รับการศึกษาภาษาบาลี ณ สำนักวัดนั้นเอง โดยพระอมราภิรักขิต (อยู่ เขมจาโร เปรียญ ๙ ประโยค) เป็นครูสอน มีความรู้ความสามารถเรียนได้ถึงหลักสูตรประโยค ๕-๖ คล่องแคล่วเป็นอย่างดี แม้ภิกษุสามเณรรุ่นเดียวกันหาทัดเทียมได้ยาก

เวลานั้นสนามหลวงได้เปิดการแปลพระปริยัติธรรมประจำปีสอบพระภิกษุสามเณรทั่วไป ชิต บุรทัตได้แปลพระธรรมบทจากภาษามคธมาเป็นภาษาไทย ได้แปลถอดใจความมาเป็นภาษาไทยได้เป็นยอดเยี่ยมกว่าบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลายที่เข้าสอบด้วยกัน แตกฉานรู้สัมพันธ์-ไวยากรณ์ สนธิ สามัญญาภิธานทุกอย่างทางด้านภาษาบาลี ทั้งๆ ที่ใจจอดอยู่กับการประพันธ์ด้วย เหมือนคำโบราณที่ว่า “จับปลาสองมือ” ปลาหลุดมือไปหมดเป็นการถูกต้องแล้ว แต่ชิต บุรทัตไม่ใช่อย่างนั้น เยี่ยมยอดทั้งสองทาง ทั้งทางบาลีและภาษาไทยควบคู่กันไปทีเดียว ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ผลได้สมค่าน่าสรรเสริญ จึงได้สมญาว่า “ชิต บุรทัต กวีเอก” แต่นั้นมาตราบเท่าทุกวันนี้

ตามที่ว่าการแปลภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย ชิต บุรทัตเยี่ยมยอดนั้น เช่นปกติครูบาอาจารย์ที่สอนภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนกันในสมัยนั้น ก็ย่อมสอนแปลบาลีกันอย่างตรงไปตรงมาคือ แปลตามศัพท์ ธาตุ ปัจจัย ไวยากรณ์ แม้ในสนามหลวงก็เช่นนั้น การแปลบาลีในสนามหลวงออกมาเป็นภาษาไทยของชิต บุรทัตนั้น ถ้าจะยกคำมคธมาตั้งประกอบแล้วแปลเป็นไทยความก็จะยาวมากไป จะยกมาประกอบให้ผู้อ่านเห็นเพียงสังเขปเท่านั้น คพมคธว่า “อิมัง ธัมมเทศนัง สัตถา เวฬุวเน วิหรันโต จูฬปันกกัตเถรัง อารัพภ กเลสิ” โดยทั่วๆ ไปและปกตินิยมจะต้องแปลกันว่า “พระศาสดาอยู่ในเวฬุวัน ปรารภแล้วซึ่งพระจูฬปันถกเถระ กล่าวแล้วซึ่งธรรมเทศนานี้” โวหารการแปลของชิต บุรทัตไม่แปลอย่างนั้น จะต้องแปลให้คำสละสลวยทีเดียวว่า “สมเด็จพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวัน (วิหาร) ทรงปรารภพระเถระจูฬถก จึงตรัสแสดงพระธรรมเทศนานี้” และอีกบางเช่น “พหูชนา สัตถารัง วันทิตวา” ซึ่งแปลกันว่า “ชนเป็นอันมากไหว้พระศาสดาแล้ว” ชิต บุตรทัตแปลว่า “บรรดามหาชนได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว” นี่ก็เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ให้เห็นแล้วว่าชิต บุรทัตมีความสามรถดีกว่า เห็นชัดแล้วในเรื่องแปลภาษามคธมาเป็นคำภาษาไทย เป็นผู้แตกฉานรอบรู้คำราชาศัพท์และคำสามัญได้ดีเป็นยอดเยี่ยมว่าคำนั้นๆ ควรจะใช้ในที่อย่างใด หรือเช่นยกตัวอย่างคำสองคำมาให้เห็น “ราชา คันตวา” แปลว่า “พระราชาไปแล้ว” ชิตจะต้องแปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินแล้ว” อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อแปลในขณะนั้น บรรดาหมู่พระเถรานุเถระต่าง แม่กองและกรรมการในสนามหลวงชมเชยและรู้สึกแปลกใจโดยไม่นึกเลยว่า สามเณรชิตรูปนี้มีโวหารฉลาดเฉียบแหลมในฝ่ายภาษาไทยได้เป็นอย่างดีอีก และชมว่ารู้จักร้อยแก้วคำพูดของใครจะพูดอย่างไร ตัดเติมเสริมต่อๆได้เป็นอย่างดี คำของพระศาสดา คำของพระเจ้าแผ่นดิน คำของประชาชนจะใช้คำพูดสามัญอย่างไร ราชาศัพท์ให้เหมาะสมอย่างไรก็ใช้ถูกต้องทุกอย่าง แปลไปก็ไม่เสียรูปศัพท์เดิมคงรูปอยู่ ใจความก็ได้ชัดเจนดีที่สุด ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ววัดวาอารามที่ส่งภิกษุสามเณรเข้าสอบยังสนามหลวง การแปลภาษามคธมาเป็นไทยจึงนิยมใช้กันมา แต่ชิต บุรทัตเขาแปลเป็นปฐมแรกจนใช้เป็นตัวอย่างสนามหลวงมาถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นศรีประวัติในวงการภาษาบาลีเป็นอันมาก เพราะชิต บุรทัตเริ่มแปลเป็นตัวอย่างไว้

ครั้นต่อมา ชีวิตสามเณรชิต บุรทัตทางด้านภาษาบาลีเล่าเรียนฝักใฝ่น้อยไป เพราะเข้าใจหลักใหญ่ภาษาบาลีดีว่า ประโยคประธานการแปลภาษาบาลีมาเป็นไทยตามหลักสูตรซาบซึ้งดีแล้ว จึงไม่พะวงเท่าใดนัก เรียกว่าเพลามือไป จึงใน พ.ศ. ๒๔๕๒ นี้เองได้มีหนังสือพิมพ์รายปักษ์อุบัติขึ้นมา ๑ ฉบับ ชื่อ “ประตูใหม่” เจ้าของและบรรณาธิการมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสารัตถ์ธุรธำรง (วอน โกมลเมนะ) ตอนหลังเป็น “หลวงพรหมประกาศ” หนังสือประตูใหม่หนักไปในเรื่องกวีนิพนธ์มีโคลง-ฉันท์-กาพย์-กลอน-ร่าย-ดอกสร้อย-สักวา ฯลฯ ใครจะแต่งเข้าประกวดได้ทั้งนั้น อัตรารางวัลหนังสือนี้ควรทราบไว้บ้าง โดยมีอยู่ ๓ รางวัล รางวัลที่ ๑ เงิน ๑ บาท ประตูใหม่ ๑ เล่ม รางวัลที่ ๒ เงิน ๕๐ ส.ต. ประตูใหม่ ๑ เล่ม รางวัลที่ ๓ ประตูใหม่ ๑ เล่ม และยังมีรางวัลชมเชยอีกหลายรางวัล อัตราค่ารับหนังสือประตูใหม่ปีหนึ่ง ๒๔ ฉบับ อัตรารับในกรุงเทพฯ ๓.๕๐ บาท ถ้าหัวเมือง ๔.๐๐ บาทถ้วน รวมทั้งค่าไปรษณีย์ด้วย ซื้อปลีกฉบับละ ๒๕ ส.ต. ลองคิดเทียบดูกับหนังสือพิมพ์สามทหารของเราในด้านกวีนิพนธ์เฉพาะการสมนาคุณรางวัลที่ ๑ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าห่างไกลกันมาก ผิดกันหนึ่งในร้อยอย่างที่เขียนไว้ให้เห็นนี้ หรือว่าอาจเป็นไป “ตามสถานการณ์” ก็ไม่ผิดนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนักกวีของเราก็คงเห็นประจักษ์ชัดว่าศักดิ์ศรีของผู้ประพันธ์ด้านกวีนิพนธ์ว่ามีเกียรติอันล้ำค่าสูงส่งเพียงใด ซึ่งได้รับรางวัลอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องที่ควรภูมิใจมิใช่น้อย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า (เพื่อเงินเป็นของเล็กน้อย-เกียรติยศสำคัญยิ่งกว่า) หวังว่าทุกคนคงเห็นอย่างข้าพเจ้า

ตามที่เขียนเล่าการเป็นมาของหนังสือพิมพ์ “ประตูใหม่” ฉบับนี้อุบัติขึ้นหนักไปทางกวีนิพนธ์แล้ว ก็ควรจะทราบเสียด้วยว่า ผู้ประพันธ์รุ่นนั้นชอบใช้นามจริงหรือนามแฝงกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าผู้ประพันธ์สมัยนั้นชอบใช้ทั้งนามจริงและนามแฝงลงในบทประพันธ์ กาพย์-กลอน-โคลง-ฉันท์ ของตัวกำกับเป็นอันมาก จบบทกาพย์บทหนึ่งของผู้ได้รับรางวัลในหนังสือพิมพ์ “ประตูใหม่” ในกาพย์บทนั้นว่า “นายชายและนายชิน – นายถวัล – เอกชน – พ.จ. ทิดโม้คน – ชำนาญกลอนอักษรสาร” ฯลฯ เขาหยิบยกชมกันเองในเรื่องนามปากกาสมัยนั้น

ในครั้งนี้เองเมื่อมี “ประตูใหม่” ออกมาในชนิดร้อยกรองในแบบฉันทลักษณ์กำลังดำเนินอยู่จนกระทั่งหยุดเลิกไปนั้น ชีวิตของชิต บุรทัตปล่อยให้คลุกคลีอยู่กับประตูใหม่นี้ไม่ว่างเว้นเลย แทบทุกปักษ์ได้ส่งบทประพันธ์เข้าประกวดแข่งขันได้รางวัลเกือบทุกปักษ์ แม้ไม่ได้รับรางวัลก็ได้รับความชมเชยเสมอๆ ตลอดมา เขาเจริญรุ่งโรจน์ในงานประพันธ์ชั่วระยะเวลารวดเร็วระหว่าง “ประตูใหม่” อุบัตินี้ ชิต บุรทัตใช้นามปากกาว่า “เอกชน” โด่งดังแต่นั้นมาเป็นที่รู้ทั่วไปว่า นามปากกา เอกชน คือใครในสมัยนั้น ซึ่งเขาได้ฝากลีลาการประพันธ์โวหารกวีในประตูใหม่ไว้มากมาย ข้าพเจ้าจึงได้นำบทประพันธ์นั้น เช่น โคลงกระทู้ – ดอกสร้อย – สักวา – กาพย์ – ฉันท์ มาให้ฟังเท่าที่อาจเป็นประโยชน์แก่พวกเราบ้างไม่มากก็น้อย (เข้าทำนองว่ารู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม) เพื่อทราบไว้

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๑
น้ำ อะไรเพื่อนเฮ้ย............................เจ๊กขาย
แข็ง แต่มันละลาย............................ออกได้
แสง เป็นประกายพราย......................บางกอก นะเอย
แก้ว ละอัฐใส่ให้...............................ดื่มแล้วหวานเย็น ฯ

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๑
กล หนึ่งตักศึกกล้า............................ทำดุจ
พวน เชือกพวกเรือฉุด........................ย่อมใช้
เรือ แพ-ภริยาบุตร์............................แต่สนิท สนมนา
โยง หมู่ปฏิปักษ์ได้...........................เหตุด้วยมิตรธรรม ฯ

โคลงกระทู้ รางวัลที่ ๒
หม้อ ศัพท์มคธนั้น............................กุมภะ
เข้า ศัพท์ตัณฑุละ............................เร่งรู้
เตา ไฟอุทธนะ................................จงอย่า ลือเนอ
ไฟ ว่าอัคคีผู้...................................ทราบแล้วควรจำ ฯ

ดอกสร้อย “พิศเอ๋ย” ได้ที่ ๑ – ๒ ตามลำดับ
.........พิศเอ๋ยพิศพระเมรุ์...................................อิศวเรนทรบรมวงษ์องค์ที่ห้า
เรืองอร่ามงามระยับประดับประดา.........................ช่างโสภาบริเวณเมรุ์สุวรรณ
หากพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพ.........................มิด่วนรีบครรไลล่วงสรวงสวรรค์
คงทรงปลื้มพระหฤทัยใช่น้อยครัน........................สุดรำพรรณ์ความวิไลให้สิ้นเอย
........พิศเอ๋ยพิศพระโกษฐ์................................เรืองวิโรจน์พรรณรายลายจำหลัก
พิศเมรุ์ทองเหลืองอร่ามงดงามนัก........................พิศลายลักษณ์แลสล้างช่างสมทรง
พิศพระที่นั่งทรงธรรมล้ำวิจิตร.............................ช่างประดิษฐ์ชวนพิศพิศวง
ดั่งเทพวิศนุจิตรจำนง.........................................นฤมิตรลงเพื่อถวายจอมไทยเอย

เฉพาะบทดอกสร้อยบทนี้ ได้รับรางวัลตลอดถึงรางวัลชมเชยรวมถึง ๕ รางวัลด้วยกัน ในงานพระเมรุท้องสนามหลวงรัชกาลที่ ๕ มีผู้ส่งเข้าประกวดแข่งขันมากมาย แต่ลีลาคารมโวหารกวี ชิต บุรทัตได้รับเกียรติมาก

ดอกสร้อย “สายเอ๋ย” รางวัลที่ ๒
..........สายเอ๋ยเชื้อสาย...........................ของชาติชายสี่อย่างอ้างไว้หนา
สำหรับพระเจ้าจอมกระษัตริย์ขัติยา.............ทรงเลือกหามนตรีสี่ประการ
หนึ่ง ตระกูลเสนาเนื่องมามาก....................สอง นั้นหากทรงเจริญเกินดังขาน
สาม รู้สรรพวิทยาศึกษาชาญ.....................สี่ อาจหาญด้วยปัญญาปรีชาเอย

บทสักวา “น้อมเกล้า” รางวัลที่ ๑
..............สักวาน้อมเกล้าถวายพระพร........ขออำนาจบวรรัตน์พิพัฒน์สาม
อีกเทวาทรงฤทธิ์สถิตตาม.........................ภูมิคามชลชัฏและฉัตรไชย
ให้พระองค์ทรงพระนฤโศก........................นฤโรคนฤทุกข์เป็นสุกใส
นิรุปัทวะนฤนัย........................................พระชนม์ให้ยืนนานสำราญเอย

บทสักวา “คนไทย” รางวัลที่ ๒
...........สักวาคนน้ำใจเพชร......................พริกเม็ดเล็กว่าเผ็ดยังเผ็ดกว่า
เข็มว่าแหลมแหลมกว่าเข็มเต็มราคา............เกลือเล่าว่าเค็มอย่างไรไม่ทนทาน
ไม่พรั่นใครมาอย่างไรไปอย่างนั้น..............ไม่หวาดหวั่นขามขยาดจิตอาจหาญ
ไม่กลัวใครแต่ไม่เที่ยวเลี้ยวรังควาน............คิดแต่การเครื่องเจริญดำเนินเอย

บทสักวา “เดือนสิบเอ็ด” รางวัลที่ ๒
.............สักวาเดือนสิบเอ็ดคราวกุศล..........นักนิพนธ์จัดกระบวนแห่กฐิน
พลโคลงออกนำหน้าล่องวาริน....................ข้างซ้ายสิ้นพลลักษณ์สักวา
เรือทรงวงแวดด้วยพลฉันท์........................พลดอกสร้อยทั้งนั้นเป็นกองขวา
กองตามหลังกาพย์เห่พลเสภา....................แห่แหนมาทอดวัดนพทวารเอย

คำถวายพระพร ในวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ๑๕ เมษายน ๑๒๙

........ข้าบาทนิพนธสุภวา-..........................กยเพื่อประสงค์สรวม
ชีพถวายพระพรพจนรวม............................นวบทยุบลไข
........ในวันเถลิงศกพระจอม.......................รัฐปิ่นนครไทย
ศุกร์วารปัณณรสใน...................................จิตรมาสศกจอ
........ข้าบาทสยามิกอุบัติ...........................ณะประเทศสยามขอ
โอนอ่อนศิราพยพยอ.................................กิติไท้ถวายพร
........ด้วยเดชพระตรัยรตนเป็น....................สรณานิรันดร
อีกทวยคณาคณอมร..................................ณ พิภพพิมานสรรพ์
........ทั้งเทพย์สถิต ณ ชลสี-.......................ขรพฤกษอารัญ
อีกเทพเสวตฉัตรอนัน-...............................ตมหิทธิเดชา
........เชิญช่วยขจัดอุปัทวสรร-.....................พภยันตรายคลา
คลาดจาดพระโรคนิรพยา-...........................ธิพิบัตินิวัติสูญ
........จุ่งทรงเจริญพระชนมา-.......................ยุศมยิ่งพลาภูล
เพิ่มด้วยพระเดชวรพิบูลย์............................ดุจเทวราชินทร์
........ปวงเหล่าริปู ณ จตุทิศ.........................มนคิดมิชอบยิน
เดชท้าวผะผ่าวจิตรถวิล...............................มละซึ่งพยศตน
........จุ่งทรงสถิตย์อิศวราง-.........................คิกครองประชาชน
กอบด้วยสวัสดิ์วิปุลผล................................จิรหมื่นฉนำ เทอญ

เท่าที่รวบรวมบทประพันธ์ ชิต บุรทัต ในประตูใหม่มาให้ท่านอ่านอยู่นี้ เพียงหนึ่งในร้อยที่ยังเหลือปรากฏอยู่ในประตูใหม่ จึงเป็นที่น่าเสียดาย บทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ก็ดี ฉันท์เฉลิมพระเกียรติชมงานพระเมรุท้องสนามหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ดี ก็มิได้นำมาลงให้ท่านอ่านกันได้ บทฉันท์กล่อมช้างสวรรค์ ตอนบูชาไหว้ครูเชิญเทพเจ้ามาประชุมในโรงพิธี (เป็นกาพย์ฉบับ ๑๖) และตอนสอนพระเสตรให้ลืมป่าดงพงไพร (เป็นวสันตดิลกฉันท์) กับตอนชมกรุงเทพฯ เหมือนสวรรค์พิมานลอยอยู่บนอัมพร (เป็นอินทรวิเชียรฉันท์) นั้น อุปมาลีลาโวหารกวีไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ ถึงฉันท์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุท้องสนามหลวงก็ไพเราะดุจกัน มีการชมพระบรมโกษฐ์และชมพระเมรุบรรจุเนื้อความรสกวีไว้มากมาย ล้วนน่าสดับตรับฟังทั้งนั้น นับว่าเอกยอดเยี่ยมทีเดียว มีอยู่หลายร้อยบทประกอบทั้งบทประพันธ์ที่ได้รางวัลที่ ๑ ก็ยังมิได้นำมาลงให้ท่านอ่านอีกมาก

จะนำมาลงให้ท่านอ่านกันก็ยาวนัก (ทั้งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์สามทหารก็จำกัดด้วย) จึงนำมาลงให้ท่านอ่านได้เพียงเล็กน้อยเท่านี้ และยังมีคำฉันท์ถวายชัยมงคลในวันราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๖ กับฉันท์ราชสดุดีและอนุสาวรีย์กถา พระบาทสมเด็จ ฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นคำฉันท์ และยังมีกาพย์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุฯ อีกที่มิได้นำมาลง ล้วนเป็นวรรณกรรมของชิต บุรทัต กวีเอกทั้งนั้น ผลงานของเขาเป็นที่น่าปลื้มใจแก่บุคคลทั่วๆ ไปจนถึงบัดนี้ เข้าใจว่าบทประพันธ์ของชิต บุรทัต ยุคประตูใหม่นี้เอง สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยมาก


ตอนที่ ๒

เมื่อชิต บุรทัตเห็นว่าบทประพันธ์ของเขาเป็นที่นิยมแล้ว การประกวดแข่งขันชิงรางวัลแต่ละคราวก็ได้รับรางวัลได้ลงพิมพ์ตามโอกาสเสอมๆ เช่นนี้ จึงเป็นเครื่องจูงใจในการกวีทวีมากขึ้นตามลำดับ นามปากกา “เอกชน” ก็มิได้ใช้นามนี้นามเดียวเท่านั้น นามแฝงอื่นๆ ยังมีอีก เช่น เอ. “ศรีสุข” เทพศิรินทร์ (ส) “ช” ศรีสุข ท.ศ.ร. “ศรีสุข” กับ นายอิทธิ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ล้วนเป็นนามแฝงของชิตด้วยทั้งนั้น รวมทั้ง แมวคราว เจ้าเงาะ ด้วย แต่ยุคประตูใหม่ยังมิได้ใช้นามนี้

ผู้เขียนยังคิดเสียดายที่ไม่สามารถนำบทประพันธ์ดังกล่าวนั้นๆ มาลงให้ละเอียดลออได้ หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทประพันธ์กล่อมช้างสวรรค์ หรือกาพย์ฉันท์ชมพระเมรุ ฯลฯ อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็จะทราบว่าชิต บุรทัตสมเป็นจิตกวีเอกจริง ไม่เฉพาะแต่มวลสมาชิกประชาชนหรือในหมู่กวีเท่านั้นที่นิยม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงชื่นชมเหมือนกัน ถึงทรงออกพระโอษฐ์ตรัสว่า “สามเณรชิต เชิงประพันธ์บทกวีมีเชาวนปฏิภาณดีมาก... ถ้าเป็นฆราวาสได้อยู่กรมอาลักษณ์ที่พระยาศรีสุนทรโวหารเหมาะสม แต่ต้องได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยคก่อน” พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ ชิต บุรทัตก็ทราบเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้กระตือรือร้นทางภาษาบาลีเท่าใดนัก คงมุ่งหน้าคลุกคลีกอยู่ด้วยการประพันธ์ต่อไป

เท่าที่ทราบมาว่าตามหลักสูตรภาษาบาลี เรียนสอบไล่ได้เป็นสามเณรรู้ธรรมบัดนี้เทียบเท่านักธรรมตรี แต่บางแห่งว่าแปลบาลีได้สำเร็จ ๑ ประโยคไม่ถึง ๓ ประโยค คำพูดประโยคหลังนี้ใกล้ต่อความเป็นจริง (คือสอบไม่ได้ถึง ๓ ประโยค ชิต บุรทัตอยากลาเพศจากสามเณรก็ยังลาไม่ได้เพราะสอบได้ประโยคเดียว เกรงขัดพระราชหฤทัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) ตอนนี้เองจึงเป็นมูลเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สมัยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง เป็นองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ) ทรงโปรดประทานให้สามเณรชิต บุรทัตเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อทรงรู้จัก เมื่อได้พบพอพระทัยแล้ว ก็ได้โปรดประทานให้ค้นหนังสือต่างๆ ดูได้ในหอพระสมุดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องกวีนิพนธ์เป็นส่วนใหญ่

เมื่อชิต บุรทัตได้มีโอกาสเป็นพิเศษอย่างนี้แล้ว ก็ได้ค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือกวีนิพนธ์นั้นๆ เพิ่มพูนความรู้ฉลาดเฉลียวในเชิงกวีขึ้นอีกเป็นอันมาก และยิ่งกว่านั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ก็ยังทรงมีพระคุณอุปการะสนับสนุนชิต บุรทัต (เข้าใจว่าสมัยอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว) โปรดให้แต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร พราหมณ์สวดสังเวยในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สี่ลาด้วยกัน ชิต บุรทัตประพันธ์ลาที่สามในลาทั้งสี่ ร่วมกับท่านกวีผู้มีเกียรติสูงอีกสามท่านด้วยกัน มีหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตกถึก) พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ได้รับพระราชทานเงินรางวัลเป็นเงินตราสองชั่ง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

ครั้นต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๕๔ ชิต บุรทัต (เป็นสามเณร) ได้ย้ายจากสำนักวัดเทพศิรินทราวาส มาอยู่ยังสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนถึงประโยค ๗ ตลอดมา จนได้อุปสมบทโดยพระอุปการคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พระองค์ท่านทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ด้วย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดเทพศิรินทราวาสเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างแปสมบทอยู่นั้น (พระชิต ชุตินฺธโร) ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลี มีปฏิภาณแคล่วคล่องว่องไวเฉียบแหลม แปลภาษามคธมาเป็นไทยได้เป็นอย่างดี เหมือนดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่โปรดปรานถูกพระหฤทัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ามาก กำลังอุปสมบทอยู่ได้มีมิตรสหายเพื่อนฝูงนักประพันธ์มิใช่นักประพันธ์ไปมาเยี่ยมเยียน ทั้งภิกษุสามเณรและฆราวาสมากมายเสมอเป็นเนืองนิตย์ อาทิเช่น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา และหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล สามพระองค์นี้ก็เสด็จมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอด้วย


ลาเพศบรรพชิต

ตั้งแต่พระภิกษุชิต ชุตินฺธโร (นามฉายามคธ) อุปสมบทแล้วระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๕๕ นั้น พระภิกษุชิตยังพยายามเล่าเรียนภาษาบาลีอยู่ตลอดมา และได้ประพันธ์บทกวีนิพนธ์อยู่เสมอเหมือนกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงโปรดปรานให้อยู่งานรับใช้ตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ เพราะพระภิกษุชิตมีเชาวน์ไวดีรอบรู้ทุกอย่างในเรื่องศาสนกิจ หาภิกษุสามเณรอื่นเสมอได้ยาก

ระหว่างจำพรรษาอยู่นี้ อันการเล่าลือในเรื่องมาตุคามนั้น (เกี่ยวด้วยผู้หญิงซึ่งเรียกว่าสีกา) พระภิกษุชิตมิได้มีการเกี่ยวข้องให้เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของตัวหรือแก่วัดวาอารามอย่างใดเลย แต่กฎแห่งกรรมจะลอยลมพัดมาแต่ชาติไหนไม่ทราบ จึงทำจิตใจของพระภิกษุชิตให้ผันผวนปรวนแปร คิดอยากจะเปลื้องผ้ากาสาวพัตร์ออกเสีย (คิดจะสึก) จึงแสดงอาการออกมา คิดจะเข้าเฝ้าทูลลาสึกแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้ผู้อื่นรู้ บรรดาภิกษุสามเณรตลอดญาติมิตรทั้งหลายพอทราบเรื่องการคิดจะทูลลาสึกของพระภิกษุชิต จึงได้พากันทักท้วงไว้ ความก็ทราบถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงตรัสสั่งให้พระภิกษุชิตเข้าเฝ้า ดำรัสถามว่า “จะคิดทูลลาสึกหรือ” พระภิกษุชิตทูลถวายตอบว่า “พ่ะย่ะค่ะ” จึงทรงรับสั่งต่อไปว่า “สึกยังไม่ได้ ยังไม่ควรสึก อยู่จำพรรษาไปก่อน”

การที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงตักเตือนและยังมิให้พระภิกษุชิตทูลลาสึกนั้น อาจเป็นด้วยเหตุผลสองประการคือ พระภิกษุชิตยิงมิได้สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ครบตามหลักสูตรเปรียญ ๓ ประโยค ตามที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าตรัสไว้ประการหนึ่ง ประการที่สอง พระภิกษุชิตปฏิบัติงานกิจการทางสงฆ์รับใช้ตำแหน่งเลขานุการได้ดีเป็นเยี่ยม จึงจะทรงเอาไว้ใช้ส่วนพระองค์ (ไม่ให้สึก) เหตุสองประการนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าจึงทรงมิให้พระภิกษุชิตทูลลาสึกโดยประการใดประการหนึ่งก็ได้ เหตุอื่นก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะให้พระองค์ทรงยับยั้งอย่างนี้ จึงเห็นได้ว่ากาลานุโยคแห่งวิถีชีวิตโคจรในอนาคตของแต่ละบุคคล ใครๆ ก็ไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าสุขทุกข์ของเราจะให้ผลอย่างไร รุ่งโรจน์หรืออับเฉาอย่างไร ก็ประมาณคาดคะเนไม่ถึงได้ เพราะกาลยังไกลกับปัจจุบันอยู่ นอกจากพระบรมศาสดาพระองค์เดียวซึ่งเป็นพระสัพพัญญูรู้ภาวการณ์อย่างนี้ได้ แม้เรื่องราวของพระภิกษุชิตนี้ก็เหมือนกัน ขอท่านผู้อ่านรอฟังต่อไป

เมื่อกาลานุโยคอันเป็นเครื่องประกอบชี้กาละของดวงชีวิตโคจรซึ่งได้พูดมาแล้วนั้น ทุกๆ คนได้รับผลไม่เหมือนกัน ย่อมหมุนเวียนไปตามดวงชีวิตซึ่งพรหมลิขิตตามแต่จะอำนวยผล พระภิกษุชิต ชุตินฺธโรนี้ก็เหมือนกัน เมื่อคิดทูลลาสึก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าตรัสยับยั้งมิให้สึกนั้น จิตใจก็ยังคิดอยู่เสมอที่จะทูลลาสึกต่อมา แต่มีเพื่อนภิกษุสามเณรและมิตรสหายทักท้วงไว้อีกเหมือนก่อนๆ พระภิกษุชิตจึงใช้ความสงบเงียบอยู่ตลอดมาอย่างเนือยๆ ซึ่งใครไม่รู้ความนึกคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทราบความจริงจากพระภิกษุชิตเลย เฉพาะด้านการประพันธ์บทกวีนิพนธ์ในระยะนี้ก็พลอยน้อยไปด้วย บรรดาภิกษุสามเณรเพื่อนสหธรรมิกร่วมอาวาสเดียวกันยิ่งมีความสงสัยมากขึ้น

จริงอยู่ไม่ผิด พวกถือธรรมะชอบพูดกันว่า ทุกคนย่อมมีกิเลสพัวพันหมกมุ่นอยู่ในหัวใจแทบทุกคนไม่มากก็น้อย เว้นแต่พระอรหันต์ขีณาสพเท่านั้นหลุดพ้นได้ เมื่อความจริงเป็นเครื่องประจักษ์อยู่อย่างนี้ ถึงพระภิกษุชิตแม้จะดำรงอยู่ในสมณะซึ่งเป็นเพศสงบไตรทวารก็ยังไม่พ้นตัวกิเลสอันละเอียดอ่อน คอยสั่นสะเทือนจิตใจให้ไหวอยู่เสมอเป็นเนืองนิตย์ คอยแต่จะดึงจิตใจของพระภิกษุชิตให้ลาเพศพรหมจรรย์ให้ได้

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระภิกษุชิตกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังด้วยเชิงประพันธ์บทกวีนั้น ในต้นรัชกาลนี้เอง เวลานั้นการบันเทิงด้วยมหรสพต่างๆ มีน้อย ยิ่งภาพยนตร์แล้วไม่มีเป็นล่ำเป็นสันอึกทึกกึกก้อง โฆษณากันทุกแง่ทุกมุมเหมือนปัจจุบันนี้เลย ภาพยนตร์ในสมัยนั้นได้แต่ทัศนาหย่อนใจกันเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น คงมีแต่โรงละครร้องเปิดการแสดงกันมากจึงหาดูได้ไม่ยากนัก และในยุคนั้นมีโรงละครตั้งชื่อกันเพราะๆ มากมายหลายโรงด้วยกันเช่น ละครปรีดาลัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย ไฉวเวียง และละครปราโมทัย เป็นต้น

คณะละครที่กล่าวมานี้ คณะละครปรีดาลัยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งทรงริเริ่มตั้งขึ้นแสดงในวังของพระองค์ที่ถนนแพร่งนรา ราวปลายรัชกาลที่ ๕ รุ่งเรืองตลอดมาถึงรัชกาลที่ ๖ เป็นคณะละครร้องแสดงยอดเยี่ยมกว่าคณะอื่นๆ มีบทบาทซาบซึ้งตลอดการประพันธ์เรื่อง การจัดฉาก การประกอบเนื้อเพลงร้องดีเด่นที่สุด เค้าเรื่องดำเนินด้วยกลอนแปดใช้เป็นบทร้องเพลงและเจรจาประสานเสียงช่วย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงอบรมฝึกสอนทั้งนั้น เรื่องบทละครที่นำแสดงท่านทรงประพันธ์โดยมาก โดยใช้นามปากกาว่า “พระศรี” กำกับเรื่อง

ครั้นต่อมา เมื่อคณะละครปรีดาลัยหยุดการแสดงแล้ว คณะละครปราโมทัยของนายเล็ก สมิตสิริ ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น พระโสภณอักษรกิจ แสดงต่อมา รุ่งเรืองถึงขีดสุดยอดอยู่พักหนึ่ง มีพระเอกพระรองนางเอกนางรองลูกคู่และตัวประกอบอีกเป็นจำนวนมาก ผู้แสดงล้วนเป็นผู้หญิงเกือบทั้งนั้น รูปร่างหน้าตากำลังสวยสดงดงามอยู่ในเกณฑ์วัยรุ่น เลือกคัดจัดสรรมาแสดง เป๋นที่ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้ทัศนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะละครปราโมทัยเปิดการแสดงอยู่ วิกหน้าโรงหวยนั้น ใกล้วังบูรพาเดิม (โรงหนังควีนส์บัดนี้)

ในตอนนี้เอง พระภิกษุชิตก็ได้รับนิมนต์จากนายเล็ก สมิตสิริ ผู้จัดการ ขอให้แต่งบทละครร้องเพื่อให้คณะปราโมทัยแสดง พระภิกษุชิตรับนิมนต์ แล้วก็ประพันธ์บทละครหลายเรื่องด้วยกัน ให้แก่คณะละครปราโมทัยแสดง โดยมาใช้นามปากกากำกับเรื่องว่า เจ้าเงาะ บ้าง เอกชน บ้าง แต่เป็นที่น่าเสียดายบทละครร้องโดยฝีปากพระภิกษุชิต ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมไว้นั้นยังกระจัดกระจายอยู่ค้นไม่พบหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งถ้าจำไม่ผิดเห็นจะมีเรื่องชื่อว่า “โกงมะโรงมะเส็ง” เรื่องอื่นๆ จำไม่ได้เลย นี่ก็พอเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระภิกษุชิตเป็นกวีเอกในยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ จริง

บทประพันธ์ตามฉันทลักษณ์แล้วประพันธ์ได้อย่างดี ไม่ใช่โคลงและฉันท์อย่างเดียวเท่านั้น แม้บทละครร้องก็ประพันธ์ได้ดีเหมือนกัน จึงเป็นที่สบอารมณ์ของนายเล็ก สมิตสิริมาก บทละครร้องของพระภิกษุชิตถ้าคณะละครปราโมทัยนำออกแสดงเมื่อใดแล้ว ผู้ทัศนาเข้าชมแออัดล้นหลามทุกๆ คราว ค่าผ่านประตูก็เก็บได้มาก เป็นที่นิยมของชาวเมืองหลวงทั่วไป ชื่อเสียงของพระภิกษุชิตก็รุ่งโรจน์โด่งดังมาภายใต้นามปากกาว่า “เจ้าเงาะ” อีกคำรบหนึ่ง ซึ่งไม่แพ้นามปากกาที่ใช้ว่า “เอกชน” ในประตูใหม่นั้นเลย

และในสมัยนั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่า บทละครทุกๆ เรื่องที่ผู้เขียนประพันธ์ขึ้นนั้น โดยมากผู้เขียนเรื่องเกือบทุกคนต้องเข้าช่วยกำกับตัวผู้แสดง ให้แสดบทบาทตามบทละครที่ตนแต่งขึ้นนั้นเกือบทุกราย เพื่อให้การแสดงเป็นไปตามอารมณ์จังหวะที่ตนปรารถนาจึงจะเข้ากับเรื่องที่แต่งได้ดี จึงพยายามคลุกคลีอยู่กับตัวละครผู้แสดงมิใช่น้อยทีเดียว เพื่อให้เรื่องของตัวดีเด่นขึ้นอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนบทละครร้องบางคน เมื่อเริ่มต้นเขียนหรือเขียนแล้ว และเมื่อไปช่วยกำกับการแสดงเรื่องของตนนั้น เท่าที่ทราบมาต้องเป็นผู้ที่ชอบเสพสุราบำรุงสมองประสาท ให้มีเชาวน์ปฏิภาณดีเป็นทุนเดิมไว้เกือบทั้งนั้น

เมื่อกฎธรรมดาบ่งล้อมชีวิตจิตใจของนักประพันธ์บางคนอย่างที่พูดมาข้างต้นนั้น เมื่อถูกเข้าแล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อใช้มัยสมองประพันธ์เรื่องนั้นๆ จะต้องหยุดเสพสุราเพื่อให้มันสมองแล่นทำงานเองอย่างนั้นรึ ต้องไม่ไปกำกับตัวละครให้ทำบทบาทเข้ากับเรื่องอันเป็นของยียวนกวนใจ ปล่อยไปตามเพลงอย่างนั้นรึ ใครเล่า ซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้ว จะปฏิเสธเสียงดังๆออกมาว่าเป็นของไม่จำเป็นเลย ก็เห็นจะฝืนกฎธรรมดาเกินไปแน่ ผู้เขียนเชื่อทีเดียวว่า ผู้ประพันธ์แต่ละท่านคงผ่านพ้นไปได้น้อย เพราะเป็นเรื่องของโลกียวิสัยจิตใจยังเป็นปุถุชนอยู่อย่างว่า การเสพสุราแต่น้อยพอดิบพอดี ก็ย่อมเป็นของหย่อนใจสมองแล่นปฏิภาณดี และการเข้าใกล้ชิดตัวละครกำลังวัยสาวรุ่นกำดัดน่าพึงพอใจนั้น ไหนเลยจิตใจใครจะมาตั้งเป็นสมาธิอย่างพระอริยะเจ้าได้

เมื่อภาวการณ์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พวกนักประพันธ์โดยเฉพาะบทละครร้อง จะต้องมีพฤติการณ์อื่นแทรกแซงอย่างนี้แล้ว ผู้อ่านลองนึกดูทีหรือว่าสำหรับพระภิกษุชิตนั้น ในเมื่อมีอิฏฐารมณ์จรมากระทบโดยเฉพาะหน้าเกิดขึ้นบ้างอย่างนี้แล้ว จิตใจจะผันผวนปรวนแปรไปในรูปใด ท่านผู้อ่านก็จะทราบได้ทันทีว่า พระภิกษุชิตต้องเสพสุราเป็นแน่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปกำกับตัวละครให้แสดงบทบาทให้สมกับบทละครที่ประพันธ์อย่างผู้อื่นเขาทำกัน ประการใดประการหนึ่งเป็นแน่ ความจริงของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องอิงนิยายเพื่อสร้างให้เป็นเรื่องขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมหมุนไปตามดวงชีวิตหรือกฎธรรมดา อย่างพูดมาแล้วนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องยืดยาวโดยรวบรัดตัดให้สั้นเข้า จึงขอเขียนเท่าที่รู้และทราบมาในสมัยนั้นว่า “พระภิกษุชิตได้เสพสุรา และไปกำกับตัวละครแสดงจริง” เสียแล้ว ในสมัยคณะละครปราโมทัยแสดงอยู่นั่นเอง

อะไรเป็นมูลกรณีให้พระภิกษุชิตเสพสุรานี้ เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่า “ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น” เพราะชื่อเสียงของพระภิกษุชิตกำลังรุ่งโรจน์อยู่ทั่วทั้งพุทธจักรและอาณาจักรในเชิงกวีนิพนธ์ยุคนี้ ไม่น่าจะมีอธิกรณ์เสพสุราเกิดขึ้นอย่างนี้เลย เอาละ ไหนๆ จะแจงสี่เบี้ยตามความเป็นจริงให้ละเอียดแล้ว ผู้เขียนจึงขอเขียนย้อนวกไปเบื้องต้นอีกว่า คราวเมื่อพระภิกษุชิตประพันธ์บทละครร้องให้แก่คณะละครปราโมทัยแสดงนั้น ทุกๆ เรื่องก่อนจะลงมือแสดงวันใด วันนั้นเองยามราตรีผู้จัดการละครต้องใช้ให้คนเอารถยนต์มารับพระภิกษุชิตที่วัดบวรนิเวศวิหารไปที่โรงละครปราโมทัย เพื่อกำกับตัวละครให้แสดงบทบาทและจังหวะให้เข้ากับเรื่องที่ประพันธ์ขึ้นเป็นอย่างนี้เสมอมา เรื่องก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ตอนนี้เอง ผู้เขียนเข้าใจว่าพระภิกษุชิตเสพสุราแล้ว บางคนว่าเสพมาแต่เป็นสามเณรแล้วก็มี บางคนว่าบางคราวมีขวดเหล้าโยนจากกุฏิพระภิกษุชิตลงในคลองข้างกุฏิเสมอๆ อย่างนี้ก็มี) ฉะนั้นเรื่องทั้งหลายแหล่เหล่านี้ขอฝากเป็นการบ้านให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านลองคิดดูบ้าง ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏแค่ไหน

ต่อจากนั้นมา ผู้จัดการละครปราโมทัยกับพระภิกษุชิตก็สัมพันธ์กันโดยทำนองนี้อยู่ไม่ขาดระยะ จิตใจของพระภิกษุชิตในเรื่องคิกทูลลาสึกต่อองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็ยังมิคลายน้องลงเลย จึงในวันหนึ่งความกดดันจากสิ่งแวดล้อมภายนอกครอบจิตใจให้คิดมากหนักเข้า พระภิกษุชิตนั่งอยู่ที่กุฏิของตนเอง พร้อมทั้งเปิดขวดสุราบรั่นดีรินดื่มอย่างสบายใจอยู่ภายในกุฏินั้น ในขณะพระภิกษุชิตเสพสุราอยู่นี่เอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าโปรดรับสั่งให้พระที่อยู่เวรรับใช้ไปตามพระภิกษุชิตมาเพื่อรับใช้ส่วนพระองค์ พระเวรรับบัญชาแล้วจึงไปตามพระภิกษุชิตที่กุฏิ ก็พบพระภิกษุชิตกำลังนั่งเสพสุราอยู่

พระเวรจึงย้อนไปเรียนพระเทพกวี (มณี ฉันโน) เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระมหานายกให้ทราบก่อน เมื่อเจ้าคุณมหานายกทราบแล้วจึงไปที่กุฏิพระภิกษุชิต ก็พบพระภิกษุชิตกำลังเสพสุราอยู่ยังมิเลิก เมื่อเกิดประสบการณ์ขึ้นเฉพาะหน้าอย่างนี้ ท่านเจ้าคุณมหานายกจึงไปกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้ทรงทราบ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงทราบแล้ว ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงทรงลงทัณฑกรรมของวัด (การทำโทษ) ให้พระภิกษุชิตสึกได้ และทรงให้รดน้ำต้นโพธิ์ในวัดอีกสามสิบบาตรด้วย (ไม่ใช่เป็นการปัพพาชนียกรรม อย่างคนบางคนที่พูดถกเถียงกันมาแล้วล้วนแต่เป็นแง่ร้ายทั้งนั้น)

เมื่ออวสานกาลของพระภิกษุชิตผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เป็นอันสิ้นสุดลงเพียงนี้ บรรดาเพื่อนคฤหัสถ์บรรพชิต เมื่อได้สดับตรับฟังข่าวการสึกของ “ชิต” กวีเอกแล้ว พากันรู้สึกเศร้าสลดใจเสียดายไปตามกัน และเจ้านายบางพระองค์มีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า) ทรงเสียพระทัยมาก และยังเสด็จมาเยี่ยมพร้อมทั้งประทานผ้าไหมแพรพรรณให้แก่ “ชิต” กวีเอก ซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้วอย่างมากมาย

กาลล่วงต่อมา ข่าวการสึกของ “ชิต” ก็ทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงทราบเข้า พระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัยโยไม่สมความปรารถนาเป็นอันมาก จึงออกพระโอษฐ์ตรัสสั่งไว้อีกว่า คำว่า “เอกชน” นี้ ทรงห้ามไม่ให้ใช้ลงเป็นนามแฝงของ “ชิต” ในบทประพันธ์ทุกอย่างต่อไปอย่างเด็ดขาดด้วย ต่อจากนั้น “ชิต” กวีเอก เมื่อประพันธ์บทกวีขึ้นเมื่อใดแล้ว เพื่อไม่ขัดตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ก็มิได้ใช้นามปากกา “เอกชน” ลงในบทประพันธ์นั้นเลย โดยใช้นามปากกาเปลี่ยนใหม่ว่า “แมวคราว – เจ้าเงาะ” แทน “เอกชน” แต่นั้นมา

ความจริง “ชิต” กวีเอก เมื่อต้องอธิกรณ์เสพสุราแล้ว ข้าพเจ้าไม่ใช่จะวิพากษ์วิจารณ์โน้มน้าวช่วยแก้ตัวให้ “ชิต” กวีเอกประการใด แต่ตามอัตโนมัติแล้วเห็นว่า การเสพสุรากำลังเป็นพระภิกษุนั้น ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้ามีความรู้น้อยในเรื่องพระวินัยบัญญัติก็จริง แต่เห็นว่า “พระภิกษุเสพสุรา” นั้น หากจะผิดตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ก็คงผิดเป็นแต่ล่วงข้อสิกขาบท “ปาจิตตีย์” เพียงเป็นลหุกาบัติเท่านั้นเอง ไม่เหมือนภิกษุที่ต้องปาราชิกหรือต้องสังฆาทิเสส ตามพระวินับบัญญัติว่าด้วยครุกาบัติ ซึ่งหนักร้ายแรงที่สุด เมื่อตัวสิกขาบทปรากฏในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้แล้ว จึงประมวลเข้ากับการเสพสุราของ “ชิต” ที่แล้วมาจนสึกนั้น โทษทางพระวินัยก็เป็นเพียงลหุกาบัติอย่างเบาที่สุด การที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้สึกเสียนั้น เป็นเรื่องของประชาชนพลเมือง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถือกันว่าเป็น “โลกวัชชะ” หาใช่โทษร้ายแรงอย่างใดไม่ พระองค์จึงทรงให้สึกไปตามความปรารถนาของ “ชิต” ที่คิดแผนไว้โดยทำนองนี้นานมาแล้ว

....................................................................................................................................................


คัดจากสวนหนังสือ ประวัติชิต บุรทัต กวีเอก โดย ชัชวาล อู่ทรัพย์




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2550   
Last Update : 22 ธันวาคม 2550 10:48:41 น.   
Counter : 9979 Pageviews.  


กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ


พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ


...............................................................................................................................................

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณจอมมารดาเอมเป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเสด็จดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงศึกษาวิชาการอย่างฝรั่ง เป็นเหตุให้ทรงชอบพอกับพวกมิชชั่นนารีอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้มาสอนภาษาและวิชาอย่างฝรั่งให้แก่ไทยในสมัยนั้น จึงประทานพระนามว่า “ยอชวอชิงตัน” ตามนามประธานาธิบดีคนแรกของสหปาลีรัฐอเมริกา ข้างฝ่ายไทยจึงเรียกพระนามว่า “หม่อมเจ้ายอด” ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร ต่อมาพระราชทานพระสุพรรณบัฏ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ได้ทรงศึกษาเป็นอย่างดีสำหรับราชสกุลในสมัยนั้น เหตุด้วยเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนิตย์มาแต่รัชกาลที่ ๓ พระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอย่างใด เช่นการฝึกหัดทหารย่างฝรั่งการช้างจักรกลและการต่อเรือรบ ซึ่งได้ทรงมีหน้าที่มาแต่รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงใช้สอยฝึกหัดกรมหมื่นบวรวิชัยชาญมายิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น อักขรวิธีภาษาไทยได้ทรงศึกษาแตกฉาน ถึงสามารถแต่งกาพย์และฉันท์ได้เป็นอย่างดี มีปรากฏอยู่หลายเรื่อง ภาษาอังกฤษก็ได้ทรงศึกษาถึงสามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษเข้าพระทัยได้ดี วิชาขี่ช้างขี่ม้าและมวยปล้ำ ตลอดจนนาฏกรรมบางอย่างก็ได้ทรงฝึกหัด นอกจากนี้ยังมีวิชาเบ็ดเตล็ดในกระบวนช่างอีก เป็นต้นว่า ช่างเคลือบและช่างหุ่น กล่าวกันว่าวิชาช่างที่ได้มาจากฝรั่งก็ทรงสันทัดอีกหลายอย่าง

เมื่อบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กรมหมื่นบวรวิชัยชาญยังไม่ได้โสกันต์ ด้วยเมื่อเวลาพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงประชวรหนักจึงต้องงดงาน ต่อเสร็จการพระบรมศพแล้ว จึงได้โสกันต์ในพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงจดกรรไกรพระราชทาน ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงทรงผนวชเป็นสามเณร มีงานสมโภชที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แล้วแห่มาทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายไว้ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ต่อมาเมื่อทรงผนวชพระเสด็จประทับอยู่วัดบวรนิเวศ

กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงรับใช้ใกล้ชิดติดพระองค์ และรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั่วไปทุกอย่าง เวลาเสด็จไปไหนก็ตามเสด็จด้วย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงซื้อบ้านของพวกข้าราชการวังหน้า แต่ก่อนตอนริมคลองคูเมื่อเดิมข้างฝั่งเหนือตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ไป จนต่อเขตวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (ตรงที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบกบัดนี้) สร้างวังพระราชทาน และพระราชทานตึกตรงหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นที่สำนักอีกแห่ง ๑

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทรงบังคับบัญชากรมทหารเรืองฝ่ายพระบวรราชวัง กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้เสด็จมารับราชรวมกันกับเจ้านายวงหลวงชั่วเวลา ๓ ปี ก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ เจ้านายผู้ใหญ่ท่านตรัสเล่าว่า กรมหมื่นบวรวิชัยชาญนั้น พระอัธยาศัยสุภาพ โดยปรกติมักถ่อมพระองค์ เมื่อมาสมทบกับเจ้านายวังหลวง ก็พอพระหฤทัยที่จะสมาคมคบหาแต่เพียงชั้นหม่อมเจ้าที่เป็นพระโอรสผู้ใหญ่ในเจ้าต่างกรม วางพระอัธยาศัยเป็นกันเองอย่างสนิทสนม กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้พระราชทานอุปราชาภิเษกเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระชันษาได้ ๓๑ ปี

เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับอุปราชาภิเษกนั้น ราชมนเทียรและสถานที่ต่างๆ ในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซ่อมแซมสร้างไว้ยังบริบูรณ์ดี มีสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏว่าทรงสร้างใหม่แต่ที่วังซึ่งเสด็จอยู่แต่ก่อน (ตรงที่โรงพยาบาลทหารบกทุกวันนี้) รื้อสร้างใหม่ทั้งวังทำเป็นตึกอย่างฝรั่ง มีเขื่อนเพชรรอบวัง และทางฉนวน มีสะพานข้ามคลองเข้ามาถึงพระราชวังบวรฯ แต่การค้างมาหาได้เสด็จไปประทับไม่ ส่วนที่พระราชวังบวรฯ เป็นแต่สร้างพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น ทรงขนานนามว่า “พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส”

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญโปรดในการช่างต่างๆ มาแต่เดิม ทรงตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ทรงประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประฯต จะหาเสมอได้โดยยาก แต่โรงงานการช่างในครั้งนั้น ใช้แก้ไขสถานที่ซึ่งมีมาแล้วแต่เดิมโดยมาก ปลูกสร้างใหม่ก็แต่ของเล็กน้อย มาในตอนหลังทรงหัดงิ้วขึ้นโรงหนึ่ง ก็ใช้สถานที่เดิมให้เป็นที่พวกงิ้วอาศัย

ส่วนการภายนอกพระราชฐาน มีการสำคัญที่ได้ทรงบัญชาซ่อมทำต่อของเก่าให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ก็มาก เช่นป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมเสือซ่อนเล็บที่เมืองสมุทรปราการ นอกจากนั้นยังมีการซ่อมพระอารามที่ชำรุด และค้างมาอีกหลายพระอารามคือ วัดส้มเกลี้ยง วัดดาวดึงส์ วัดชนะสงคราม และวัดหงส์รัตนาราม

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี ประชวรพระโรควักกะพิการ เสด็จทิวงคตที่พระที่นั่งบวรบริวัตร เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา


ราชสกุลในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ




 

Create Date : 19 กันยายน 2550   
Last Update : 19 กันยายน 2550 11:25:56 น.   
Counter : 3332 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com