Group Blog
 
All blogs
 

ปลาระเบิดทำดี : Tankmates of Cichlid [๖]

อุ๊แม่เจ้า... !!!

ช่วงนี้งานน้อยลงไปพอสมควรแล้วนะครับ ก็เลยมีโอกาศ นั่งเปิดกระทู้เก่า

จากเมนู กระทู้หมุน กระทู้ เก่า และ บางทีเก๋า เล่นเพลินๆ

ไปเจอกระทู้แนะนำเมทปลาหมอที่ผมทำไว้ คลิ๊กเข้าไปแล้วใจหาย

ล่าสุดเมื่อ 2010-06-12 13:55 น. นี่มันผ่านมาปีกว่าแล้วหรือนี่...

ไม่แก่ให้มันรู้ไป สังขารหน๋อ




วันนี้เลยขอเอาปลาเมทแปลกๆ มาแนะนำสำหรับผู้เบื่อความจำเจสักชนิดนะครับ

ปลาตัวที่ว่านี้เป็นปลาไทย มีชื่อเท่ๆ ว่า ร่องไม้ตับ (ตับ ตับ ตับ ตับ)





เริ่มเรื่องคงต้องย้อนไปมีทติ้งคราที่แล้ว

ตอนไปเผอิญไปพบคุณ เอ็กซ์ <<<นั่งรถตู้คันเดียวกัน

แล้วเราก็เดินดูนู่น นี่ นั่นด้วยกัน ไอ้ผมก็เลยแวะร้านปลาแม่น้ำแห่งหนึ่งตามประสา
เพื่อหาอะไรใหม่ๆ เจ๋งๆ ใส่สมองบ้าง นอกจากปลาหมอ

และแล้วผมก็ไปเจอปลาตัวเงินๆ ครีบส้มๆ ที่กลางตัวมีแถบสีดำพาดในแนวนอน
(ที่ร้านเขาเลี้ยงในตู้ใส...)

หลังจากเพ่งดูสักพัก แล้วก็ตกลงว่าเอา แต่เอาตัวเดียวเพราะไม่รู้ว่าปลาอะไร
เกิดดุ หรือโตได้เป็นเมตร แล้วผมจะทำยังไง?





ผมถามเด็กในร้านว่าปลาอะไร เด็กบอกไม่รู้

เด็กหันไปถามเจ๊เจ้าของร้าน เจ๊แกก็ไม่รู้ แต่แกถามผมว่าเอากี่ตัว
(เอ๊ะ ยังไงอีเจ๊นี่...)

ผมก็ถามต่อว่า ตัวละเท่าไหร่

เจ๊ตอบราคามา และถามว่าเอากี่ตัว
(ยังไม่เลิกพยายามนะเจ๊นะ...)

ผมบอก เอาตัวเดียว เพราะคงไม่มีใครบ้าซื้อปลาที่ตัวเองไม่รู้จักไปทีละหลายตัว

และดูจากสภาพปลาแล้ว น่าจะเป็นปลาติดมามากกว่าที่เจ๊นี่จะขาย
หรืออาจเป็นปลาเหยื่ออะไรประมาณนั้น




เจ๊หันมาบอกว่า เอาตัวเดียว โอ๊ยไม่คุ้มค่าถุง อย่างโน้นอย่างนี้

ผมอารมณ์เสียนิดหน่อย บอกตรงๆ ตอนนั้น

แต่ก็ยังยืนยันว่าเอาตัวเดียว เพราะไม่รู้ชนิด และที่สำคัญ คนขายก็(เสือก)ไม่รู้
เป็นคนขายมันน่าจะมีความรู้หน่อยนะ ว่ามะ...


ลองนึกดู หากคุณไปซื้อปลา(อะไรก็ตามแต่) ถามคนขาย คนขายบอกไม่รู้ท่าเดียว
จะกล้าซื้อไม๊ ไม่ว่าราคามันจะสักกี่บาท ผมว่าส่วนใหญ่ คงถอยออกมาก่อน

เพราะความไม่รู้ มันทำให้เราท่าน คนเลี้ยงปลาพลาดมามากมายแล้ว จริงป่ะ




แม้ปากจะบ่น แต่เจ๊แกก็ยื่นถุงให้เด็กมันตักปลาจนได้ (เจ๊จะบ่นทำไม ไม่เข้าใจ)

แถมยังบอกด้วยว่า "เอาถุงเล็กนี่แหละ เอาตัวเดียวไม่คุ้ม"

เจ๊ยังยืนยันคำเดิม <<<ไม่คุ้มบ้าอะไร ปลาติดมา ถ้าผมไม่ซื้อก็คงตายหมด


หลังจากนั้นผมก็ได้พาปลาตัวน้อยไปตะลอนเสียหลายชั่วโมงแล้วจึงกลับบ้าน


กลับมาแล้วปล่อยปลาและนั่งๆ นอนๆ ดู เปิดหนังสือปลาก็ไม่มีที่คล้ายเลย
ก็เลยจัดการถ่ายรูปซะ เพื่อไปถามพี่ๆ ในเว็ป //www.siamensis.org





Osteochilus microcephalus คือชื่อวิทย์ของเจ้าปลาตัวนี้ ชื่อไทยเป็นชื่อที่ผมชอบมาก
ไม่รู้ใครคิด เท่จริงๆ นะครับ

ร่องไม้ตับ





ผมให้เวลาปลาปรับตัว และให้เวลาตัวเองในการแอบดูพฤติกรรมของปลาด้วย

จากที่เลี้ยงดูมาพอสมควร ก็ทำให้ผมพบว่า ร่องไม้ตับนี่เป็นปลาที่สวยตังนึงเลยนะ

อารมณ์จะคล้ายๆ เล็บมือนางประมาณนั้น แต่อาจจะดุกว่า ป้องกันตัวเองได้ดีกว่า

หวงที่ หวงทางพอสมควร ซึ่งเข้ากับปลาหมอมากๆ



แต่ว่าไม่ควรนำมาเลี้ยงกับปลาหมอขนาดเล็ก อย่างตระกูล Apistogramma
หรือแม้แต่พวกแรมขนาดเล็กทั้งหลายนี่ อย่าได้ลองเชียว

แค่ว่ายผ่านรูมันหน่อยเดียว มันไล่ซะอย่างกับเคยไปเผาตู้เสื้อผ้ามันเลยทีเดียว




อาหารการกินก็ไม่ใช่ปัญหา กินหมดทุกอย่าง อาหารเม็ด แผ่น เกล็ด อาหารสด ไม่ว่าจะเนื้อกุ้ง ไรทะเล ซัดเรียบ

กินเก่ง กินไว พุงป่องก่อนใคร...





หลังจากซื้อมาได้ ๑ สัปดาห์ ผมก็ได้แว๊บแอบโดดงานไปถามหาปลาชนิดนี้อีกที่ร้านเดิม
เด้กในร้าน งง งง แล้วบอกว่าไม่มีแล้วพี่

ไม่คิดว่าพี่จะมาจริงๆ (ก่อนกลับคราวที่แล้ว ผมบอกเด็กมันไว้ว่าถ้าดีจะกลับมาซื้อที่เหลืออีก 5-6 ตัว)

ผมมองตู้ปลาร้องไม้ตับใบเดิม ตอนนี้ไม่มีร่องไม้ตับแล้ว

มีแต่เสือตอลายเล็ก ขนาดสัก 6 นิ้ว ว่ายอยู่หลายตัว

คิดว่าปลาร่องไม้ตับที่เหลือ คงโดนเสือตอลายเล็ก สูบลงกระเพาะขี้หมดแล้ว...




ผมยังแอบสงสัยอยู่ว่า ถ้านำปลาชนิดนี้มาเลี้ยงเป็นฝูงสัก 10 ตัวขึ้นไป ในตู้ขนาด 48 นิ้ว ปลาจะมีพฤติกรรมยังไงหน๋อ

จะว่ายรวมฝูง หรือจะไล่ฟัดกัน อยากรู้จริงๆ

ทุกวันนี้เวลาไปสวนผมก็มักจะแวะร้านขายปลาแม่น้ำเพื่อหาเจ้าร่องไม้ตับขนาดเล็กอยู่เสมอ
เผื่อฟ้ามีตา จะได้หามาเลี้ยงเพิ่มสักหน่อย ก็คงจะดีทีเดียว





มาถึงข้อมูลคร่าวๆ บ้างนะครับ

เจ้านี่มีชื่อวิทย์ว่า Osteochilus microcephalus
ชื่อสกุลมาจากคำในภาษากรีกสองคำคือ

osteon แปลว่า กระดูก และ cheilos แปลว่าปาก

ส่วนชื่อชนิดนั้นมาจากคำว่า
Mikros แปลว่า เล็ก และคำว่า kephale แปลว่าหัว
แปลรวมๆ ว่า หัวเล็ก

น่ารักสมชื่อจริงๆ ไอ้หัวเล็กของผม




ขนาดโดยรวมในเว็บพี่ไทยบอก 12-15 เซนติเมตร พบได้ทั่วประเทศ
ส่วนใน fishbase.org บอกว่า 24 เซนติเมตร

ไม่รู้เชื่อใคร ใช้เวลาตัดสินแล้วกันนะครับ แต่ถ้าให้ดี โตอย่างเว็บพี่ไทบบอก ดีกว่านะ...




เลี้ยงดูมาผมว่าปลาตัวนี้เหมาะที่จะเลี้ยงรวมกับปลาหมอจากทวีปอเมริกานะครับ
จะโซนไหนผมว่าได้หมด แต่ไม่ควรรวมกับปลาเล็ก อย่างพวกหมอแคระ อย่างที่บอกไป

ถ้าให้ดี รวมกับพวกปลาหมอกินดินนี่ เข้ากันมากพอดู
เรียกว่ากลมกลืนกันดีจริงๆ ครับ

อีกตัวที่น่าสนก็คือ ปลาหมอไฟร์เม้าท์ (Thorichthys meeki) เลี้ยงเป็นฝูงแล้วเอาเจ้าร่องไม้ตับมาใส่ด้วยก็น่าจะเข้ากันดี

เพราะขนาดเมื่อโตเต็มที่ก็พอสูสีกันเลยนะครับ





แต่ปลาที่หากินตามพื้นตู้ในโซนเดียวกับเจ้านี่ คงต้องเหนื่อยใจหน่อย เพราะหวงที่พอสมควร
อาจแก้ไขด้วยการสร้างช่องโพลงให้ไกลๆ กันหน่อยก็ดีครับ

ในช่วงแรกๆ ที่นำมาเลี้ยงอาจไม่ค่อยเห็นตัวเพราะปลายังไม่ชินตู้
แต่เชื่อว่าถ้าเลี้ยงจนคุ้นชิน ท่านจะเห็นเจ้านี่ว่ายตามหน้าตู้ประจำ 55 55



จุดเด่นของร่องไม้ตับนอกจากสีบริเวณครีบที่ออกส้มอมชมพูแล้ว
ยังมีลายพาดที่ตัวด้วยนะครับ ลายที่ว่านี่ เข้มบาง จางบ้างก็ดูไม่จำเจดี

และที่ผมชอบอีกอย่างนั่นก็คือ หนวด ของปลาชนิดนี้นี่แหละ ยาวสวยดีทีเดียว




ยังไงก็ถ้ามีโอกาศก็ลองหาปลาที่มันไม่จำเจมาเลี้ยงรวม ร่วมกับปลาหมอสีดูนะครับ
ผมว่าปลาไทยๆ เรานี่ก็เข้ากับปลาหมอสีจากทวีปอเมริกาดีทีเดียว

ไม่แน่วันนึงที่เราไม่สนใจ ปลาไทยทั้งหลาย อาจถูกเพื่อนบ้านสันดานเรยา
หอบหิ้วเอาไปอ้างศาลโลภ หาว่าเป็นปลาของมัน แม่น้ำของมัน นั่น นี่ นู่น ของมันอีกก็เป็นได้


เกิดเป็นคนไทยทั้งที รู้จักปลาไทยบ้าง ก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเนอะ พี่น้อง...


สวัสดี




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2554 15:17:00 น.
Counter : 4461 Pageviews.  

ปลาระเบิดคันหู : เรทรอคูลัส ปลาหมอน้ำเชี่ยว

สวัสดีครับ มาตอนนี้หาเรื่องอีกแล้ว
เนื่องจากเกิดไปสัญยง-สัญญากับพี่แขก (Login // Khaek แห่งเว็ป ninekaow.com ห้องปลาหมอสายแท้)
ว่าจะทำกระทู้ เพราะเห็นแก่ของกินที่พี่แขกอุตสาห์จะหิ้วมาให้

คนเราก็แบบนี้ครับ เห็นของอร่อยเป็นต้องพุ่งใส่

แต่จะกินฟรีมันก็กระไรอยู่ พ่อแม่สอนมาดีก็แบบเนี๊ย...
กระทู้นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบแทนขนมที่พี่แขกเอามาให้ครับ
ใครสนใจอยากกินขนมเปี๊ยะอร่อยๆ ติดต่อพี่แขกได้ ที่บ้านพี่เขาทำไส้
อร่อยจริงๆ ให้ดิ้นตาย...




มาว่ากันเรื่องปลาดีกว่า ตอนนี้ขอนำเสนอปลาหมอชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายปลาหมอสกุล Geophagus , Satanoperca
และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Eartheater ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้

ปลาตัวที่ว่านี้อยู่ในสกุล Retroculus หลายท่านอาจยังไม่คุ้นชินนัก
แต่ถ้าสนใจโปรดอ่านต่อครับ





สำหรับท่านที่สนใจปลากลุ่มนี้คงจะเคยผ่านหูผ่านตาบ้างนะครับ

เพราะมีหลายๆ ท่านโพสรูปยั่วจนน้ำลายหกแหมะหน้าจอ ทำให้บรรดาเพื่อร่วมงานหรือคุณเมียทั้งหลาย

คิดว่าท่านกำลังดูคลิปเพลงคันหูอยู่ก็เป็นได้

เนื่องด้วยรูปกายภายนอกที่สวยแบบเถื่อนๆนี่เอง ที่เราท่านต่างสนใจ
แต่สนใจไปก็เท่านั้นครับ เพราะยังไม่มีผู้ค้าท่านใด กล้าเอาเข้ามาขาย

คนเลี้ยงอย่างเราก็ได้แต่ฝันเปียก เอ๊ย ! ฝันหวานว่าคงมีสักวันที่ได้ปลาสกุลนี้มาครอบครอง



สกุล Retroculus นั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศบราซิล
พบได้ในแม่น้ำสาขาต่างๆของแม่น้ำอเมซอน เช่น Amapá , French Guiana , Xingu , Tapajó

โดยอาศัยอยู่ในจุดที่มีกระแสน้ำแรงกว่าเพื่อนร่วมกลุ่มชนิดอื่น
แหล่งน้ำที่ว่านี้เปรียบได้กับลำธารบ้านเรา กระแสน้ำแรง ใส สะอาด อุณหภูมิต่ำ
มีอ๊อกซิเจนละลายสูงมาก และมักเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ลึกมากนัก มีแก่งหินมากมาย





ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปลาสกุลนี้มีการปรับตัวจนทำให้ลักษณะภายนอกดูแตกต่างจากเพื่อนในกลุ่ม Eartheater

กล่าวคือ มีลำตัวที่ยาวขึ้น ความกว้างของลำตัวน้อยกว่าเพื่อนรวมกลุ่มทั้งหลาย
เนื่องจากเพื่อลดแรงเสียดทานจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ครีบอกมีขนาดใหญ่ แข็งแรงสำหรับช่วยในการพยุงตัว

ครีบหางมีความกว้างน้อยกว่า เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านและยังช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวต้านกระแสน้ำได้ดีนั่นเองครับ





ชื่อสกุล Retroculus มาจากคำวิเศษณ์ ในภาษาละติน Retro หมายถึงตำแหน่งข้างหลัง, ด้านหลัง

oculus, เป็นคำนามในภาษาละตินหมายถึง ตา เมื่อเอาสองคำมารวมกัน
จะหมายถึงตำแหน่งดวงตาของปลาอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนไปด้านหลังเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่นๆ

โดยในปลาสกุลนี้มีที่ได้รับการบรรยายตั้งชื่อวิทย์แล้วทั้งสิ้น 3 ชนิด ที่เหลือยังไร้นามอยู่อย่างนั้นต่อไป



โดยชนิดแรกที่จะกล่าวถึงนั่นคือ Retroculus lapidifer (De Castelnau, 1855)

lapidifer มาจากภาษาลาตินสองคำผสมกัน โดยคำว่า Lapi มาจากคำว่า lapidis หมายถึง หิน
Ferre แปลว่าเลื่อนออกไป แปลโดยรวมว่าผู้เคลื่อนย้ายหิน

เหตุที่ได้ชื่อเด็กแนวแบบนี้มาใช้นั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์พบเห็นพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้

ว่ามีการเคลื่อนย้ายเศษหินเศษกรวดสร้างเป็นรังเป็นหลุม เมื่อวางไข่เสร็จแล้วแม่ปลาจะนำเอาวัสดุต่างๆ
เช่นก้อนกรวดที่เลือกมาอย่างดี เศษกิ่งไม้ มาสุมบริเวณที่วางไข่







R. lapidifer พบได้ใน Rio Tocatins, Capim & Amazon ในประเทศบราซิล ขนาดเมื่อโตเต็มที่ราว 20.3 ซม.(www.fishbase.org)

ลักษณะโดยทั่วไป // ลำตัวมีสีอมเขียว มีจุดประสีฟ้าและสีแดงตามลำตัว
ครีบหลังมีสีเดียวกับลำตัวหากมองในบางมุมจะมีเหลือบประกาย
ฐานครีบหลังมีสีแดงในปลาโต มีขลิบสีส้มที่ครีบหลัง




ส่วนหางมีสีแดงประกายฟ้าอมเขียวขึ้นที่ด้านบนของครีบหาง ครึ่งล่างเป็นสีเขียว ครีบก้นมีขนาดใหญ่ สามารถพับเก็บได้เพื่อลงจอด
เอ๊ย! เพื่อการยืนด้วยครีบอกอย่างมั่นคง

ส่วนหัวมีลวดลายสีฟ้าพาดผ่านเป็นลายเส้น ดวงตาสีเหลือง ริมฝีปากมีสีเขียวเข้ม
ตรงแผ่นปิดเหงือกสีจุดขึ้นกระจุกอยู่สีสันเหมือนลายเส้นที่บริเวณหน้าครับ







Retroculus septentrionalis Gosse, 1971

septentrionalis มาจำคำว่า septentrio ในภาษาลาตินแปลว่า ภาคเหนือ

ปลาตัวนี้เป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดเลยนะครับ เนื่องจากแทบไม่มีข้อมูล และไม่มีรูปของปลาสภาพดีขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงสีสันเต็มที่ออกมาเลย

มีแต่รูปปลาตัวเล็กซึ่งยังแยกอะไรไม่ค่อยจะออก แถมอยู่ในลักษณะตื่นตกใจด้วยซ้ำ ทำให้เกิดลายดำเป็นปื้นๆ เนื่องจากตัวปลามีความเครียด

พบทางตอนเหนือของมวีปอเมริกาใต้ในบราซิล ขนาดโตเต็มที่ราว 19 ซม.







Retroculus xinguensis Gosse, 1971

คงไม่ต้องอธิบายมาก เห็นชื่อก็รู้เลยว่ามาจากแม่น้ำ xingu ในบราซิล แต่ก็ยังพบได้ใน Amazon, Tapajós ด้วยครับ

ลักษณะเหมือนเพื่อนร่วมสกุลแต่ต่างกันที่สีสัน โดยสีพื้นจะออกโทนสว่างกว่าเป็นสีเขียวอมเหลือง

บริเวณครีบต่างๆ จะมีฟ้าอมชมพู แต่เมื่อปลาจับคู่ครีบที่ว่านี้จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง



ลวดลายบริเวณครีบจะไม่เหมือน R. lapidifer ขนาดโตเต็มที่ราว 14.4 ซม.(www.fishbase.org)
แต่ในเว็บอื่นบอกสามารถโตได้ถึง 25 ซม.

R.xinguensis ถือว่าเป็นพระเอกของปลาในสกุลนี้เลยนะครับ
ด้วยสีสันที่สว่างตากว่า เมื่อปลาพร้อมผสมพันธุ์สีสันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก

บริเวณอกจะมีแต้มสีแดงเกิดขึ้น ริมฝีปากมีสีเหลืองอมเขียวนิดๆ ดูน่ารักซะไม่มี



หลังจากที่ทราบข้อมูลคร่าวๆ ของปลาในสกุลนี้ไปบ้างแล้ว ทีนี้มาดูเรื่องการเลี้ยงดูรักษาบ้างนะครับ

ตรงนี้ผมว่าคนเลี้ยงปลาหมอในกลุ่ม Geophagus, Satanoperca

น่าจะไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก เพราะของมันเคยๆกันอยู่
แต่หากวันนึงปลากลุ่มนี้เข้ามาในบ้านเราก็อยากให้ระวังเรื่องของการจัดการตู้หน่อยนะครับ

เพราะจริงๆ แล้วปลาในสกุล Retroculus ก็เลี้ยงไม่เหมือน Eartheater อื่นๆ เสียทีเดียว

เหมือนที่เคยเกิดกับ Satanoperca demon ที่มีคนมาบ่นให้ฟังว่าเอาไปเลี้ยงแล้วร่วงระนาว...

ทั้งๆที่เคยเลี้ยง สุรินัมกับ ทาปาโจสรอดมาแล้วแท้ๆ

รายละเอียดปลีกย่อยเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรศึกษาตรวจสอบครับ ถึงแม้จะเป็นปลาเพาะก็ตาม
แต่การเพาะแค่ไม่กี่รุ่น ก็ไม่อาจทำให้ปลาสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปได้

ไม่อย่างนั้นคงมีคนเลี้ยง ฟรอนบุรุนดิในตู้น้ำหมัก เคียงคู่กับปลากะแมะได้ไปแล้วล่ะครับ จริงไม๊...



ทีนี้จะมาว่าเรื่องการเลี้ยงก่อน เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ
ซึ่งทางที่ถูกที่ควรเราควรลำลองสภาพแวดล้อมในธรรมชาติมาไว้ในตู้ของเรา

แต่ไม่ต้องขนาดไปสร้างแก่งหินหรือน้ำตกมาวางไว้ในตู้ให้ใหญ่โตเกินไปนะครับ
ขอแค่มีการวางแผนที่ดีโดยเริ่มตั้งแต่ขนาดตู้ปลาก่อนเลย



ปลาในกลุ่มนี้ตู้ที่ควรจัดหามา ไม่ควรเล็กกว่า 36 นิ้ว แต่ทางที่ดีควรเริ่มต้นที่ 48 นิ้วไปเลยจะเยี่ยมมาก

จัดหาชัยภูมิที่อากาศถ่ายทีไม่อบอ้าว เพราะนั่นจะทำให้ปลาอยู่ลำบาก
เนื่องจากอากาศร้อน ออกซิเจนในน้ำจะต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเป็นอย่างแรก

เพราะถ้าหากตู้ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่อับ ร้อน แล้วล่ะก็ ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาให้แก้ไขกันไม่จบไม่สิ้น



ระบบกรองก็ควรจัดหนัก จัดเต็ม วัสดุกรองจะไม่พูดมากนะครับเนื่องจากผมใช้แต่หิมพัมมิสและปะการังเป็นหลัก

ส่วนสินค้ามียี่ห้อต่างๆ อันนั้นก็แล้วแต่ท่านจะพึงใจซื้อหามาใช้ เพราะถ้าพูดเชียร์อะไรไป จะหาว่าปลาระเบิดไม่เป็นกลาง

จากที่เขียนไว้แล้วว่าปลากลุ่มนี้อยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลแรงสักหน่อย

ดังนั้นแรงของปั๊มน้ำจึงควรเลือกให้แรงกว่าเดิมสักหน่อย ปูพื้นด้วยกรวดขนาดเล็กไม่มีคม จัดวางสภาพแวดล้อมให้เปิดพื้นที่โล่งไว้มากๆหน่อย



เพราะเมื่อปลาโตขึ้นจนพร้อมผสมพันธุ์ ปลาจะจับคู่สร้างรังทำหลุมขนาดใหญ่ราวๆ 1-2 หลุม
และตัวปลาเองจะเริ่มก้าวร้าวขึ้น แต่ไม่ถึงกับไล่กัดใครหนักหน่วงนัก
เป็นเพียงแค่การไล่ไปให้พ้นๆ เท่านั้น

เศษวัสดุชิ้นเล็กๆ สามารถจัดหามาโปรยเพื่อให้ปลาได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติให้ท่านได้ชื่นชมกัน



เช่นเศษกิ่งไม้จมน้ำท่านสามารถหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยราว 3-4 ซม.
โปรยลงไปในตู้ให้ปลาได้ขุดย้าย หินก้อนใหญ่นั้นก็ควรจะมี ควรเลือกหินที่มีลักษณะหลายแบบ

ทั้งแบน ทั้งกลม ตามสภาพแวดล้อมที่ปลาจากมา

ต้นไม้น้ำนั้นใส่ได้ แต่ผู้เขียนไม่นิยมนัก เพราะขี้เกียจดูแล
ถ้าอยากให้มีก็ลองหาต้นไม้ที่ทนทานสักหน่อยก็ดีครับ

ขอนไม้เลือกชนิดที่ไม่เป็นกิ่งนะครับ เพราะปลาอาจไล่กันจนกิ่งไม้ทิ่มตาได้ เลือกแบบเป็นท่อนๆ วางนอนสุมลงไปดีกว่า



ปั๊มลมเป็นสิ่งที่ควรมีเช่นกันสำหรับการเลี้ยงปลาจากแหล่งน้ำไหลต่างๆ
วางในบริเวณมุมอับของตู้เช่นมุมตู้ นอกจากเพิ่มออกซิเจนแล้ว ยังช่วยให้เศษตะกอนต่างๆ ถูกเป่าขึ้นมาปะทะกันกระแสน้ำจากปั๊ม

ทำให้เศษตะกอนเหล่านั้นถูกพัดปลิวลิ่วละล่องไหลเข้ากรองอย่างสะดวกโยธิน
นอกจากเพิ่มอ๊อกซิเจนแล้วปั๊มลมยังช่วยให้อุณหภูมิต่ำลงด้วยนะครับ

หากยังเย็นไม่พอใจท่านและปลา พัดลมตัวเล็กๆก็น่าสนใจไม่น้อย



เรื่องอาหารการกินนั้นส่วนตัวผู้เขียนอยากให้เน้นหนักไปทางอาหารเม็ดจมน้ำครับ

เพราะสะดวก สะอาด ก่อนให้ก็แช่น้ำก่อนไม่ว่าอาหารเม็ดนั้นจะบรรยายสรรพคุณวิเศษวิโสเพียงใดก็ตาม

เชื่อเหอะ... อาหารเม็ดห่อละหลายร้อยก็ทำปลาท้องอืดตายมาแล้ว!!!







ส่วนเรื่องอาหารสด จากประสบการณ์การทำปลาตายมาเยอะ
แนะนำว่าไรทะเลล้างสะอาด และเนื้อกุ้งสับ ประเสริฐที่สุดแล้ว
ชนิดอื่นผู้เขียนไม่แนะนำ แต่ถ้าอยากให้ก็ไม่มีใครห้าม เชิญตามสบาย



ทีนี้มาว่าเรื่องน้ำ จากที่หามาปลาตัวนี้ชอบน้ำกลางๆ นะครับ
เพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีเศษซากพืชทับถมอะไรเลย
(เศษซากพืชโดนน้ำพัดไปแม่น้ำสาขาอื่นหมดแล้ว)

แต่ถึงกระนั้นก็มีช่วงทดสอบความอึดเหมือนกัน คือในฤดูร้อน แหล่งน้ำที่ปลาอาศัยจะแห้งลง
จากลำธารที่ไหลแรงจะกลายเป็นสายน้ำไหลเท่าเยี่ยวแมว ค่า pH กลางๆ

เมื่อหน้าน้ำ จะกลายเป็นค่า pH ต่ำลงในหน้าแล้ง เนื่องจากปลาจะอาศัยอยู่ตามแก่งน้ำตื่นๆ ที่ติดอยู่บนโขดหินบ้าง ริมตลิ่งบ้าง




ตัวไหนโชคดีมีวิชาก็จะสามารถอยู่ในแก่งหินที่มีหลุมขนาดใหญ่พอจะเอาตัวรอดได้
ตัวไหนไม่ขยันเรียนก็ซวยหน่อย เพราะอาจไปติดในร้องหินตื้นๆลึกเพีง 1 นิ้ว

แถมแสงแดดก็แผดเผา จากธรรมดาเคยอยู่สบายๆ 22-26องศา
ก็จะซวยขนาดหนัก ไปนอนดิ้นกระแด่วๆ ในแอ่งน้ำลึกเพียงหนึ่งนิ้ว
แถมอุณหภูมิสูงถึง 35 องศา บ้าจริงเชียว...

ซึ่งพวกปลาป่าที่นำมาขายกันก็จับเอาหน้าแล้งนี่แหละครับ
ดังนั้นปลากลุ่มนี้จึงสามารถปรับตัววอยี่ในอุณหภูมิที่กว้างมาก

แต่เอาเลี้ยงในตู้ ก็อย่าให้เกิน 30 องศาแล้วกัน และอย่าให้อุณหภูมิแกว่งเป็นตาแก่ไม่ใส่ กกน.ล่ะ เดี๋ยวปลาจะป่วยเอาได้อีก



การเปลี่ยนถ่ายน้ำนี่ พูดจนปากจะยานถึงไข่

ไม่มีคลอรีน ไม่ใส่สารเคมีมั่ว ไม่หมักปลาด้วยเกลือ เพราะเราจะเลี้ยงปลาหมอ ไม่ใช่ทำปลาร้า

เปลี่ยนน้ำตามความเหมาะสม ตามจำนวนปลา และเอาเท่าที่ระบบกรองจะรับไหว เรื่องเปลี่ยนน้ำมันไม่มีสูตรตายตัว อย่ายึดติด


เปลี่ยนบ่อยในปริมาณที่พอเหมาะปลาก็อยู่กับเรานาน

เปลี่ยนบ้างไม่เปลี่ยนบ้างก็ป่วยบ้าง ไม่ป่วยบ้าง

ไม่เปลี่ยนเลย ก็ไม่มีปลาเหลือให้เลี้ยง โอเค๊... เข้าใจไม่ยากชิมิ๊





ทีนี้มากล่าวถึงสิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด และถือว่านี่คือชีวิตของผู้เขียนเลยนั่นคือ เรื่องการผสมพันธุ์
(หมายถึงปลานะ ไม่ใช่ตัวผู้เขียนเอง)

ก็ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน เลี้ยงไป ดูแลไป เดี๋ยวปลาก็จับคู่กันเองถ้าในตู้มีปลาตัวเมีย แต่มีทริคเล็กๆ ซึ่งทำได้

เมื่อปลาเริ่มมีทีท่าว่าจะจับคู่ก็ให้ใส่ใบหูกวางแห้งลงไปหน่อย

เพื่อให้ค่า pH ต่ำลง ซึ่งจากที่หาข้อมูลมาทางฝรั่งเขาว่าจะช่วยให้ปลาพร้อมผสมพันธุ์กันมากขึ้น

อันนี้ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆ เพราะหลังๆ ก็เห็นเพาะปลากลุ่ม Eartheater ในน้ำที่มีค่า pH กลางๆ
วางไข่กันให้ครึก ราคาร่วงระนาวอย่างที่เราท่านเห็นกันอยู่



พ่อปลาแม่ปลาจะเริ่มขุดหลุมทำรัง สร้างเรือนหอ และเริ่มมีพฤติกรรมผีเข้า
นั่นคืออารมณ์ร้ายไล่ชาวบ้านเขาไปทั่ว ถึงตอนนี้แนะนำให้เอามารหัวใจออกไปเลี้ยงที่อื่น

แล้วงดรบกวนปลาทั้งสองซะ อย่าขัดจังหวะ ตับ ตับ ตับ ตับ



แม่ปลาจะวางไข่ทีละประมาณ 10-20 ฟอง จากที่หามาเขาว่าได้ไข่รวมสุทธิที่ 150-200 ฟองเลยทีเดียว ไข่จะฟักเอาเมื่อผ่านไปราว 3-4วัน

7-8 วันให้หลังลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำตามประสาปลาห้าว

ในช่วงนี้สามารถให้อาหารขนาดเล็กเช่นไรทะเลแรกฟัก หรืออาหารผงสำหรับอนุบาลลูกปลาได้แล้วครับ

ส่วนจะปล่อยให้พ่อแม่ปลาเลี้ยงดูต่อ หรือจะให้พ่อแม่บุญธรรม
(คนเลี้ยงนั่นแหละ)เลี้ยงดูนั้น อันนี้ก็แล้วแต่ผู้เลี้ยงท่านจะตัดสินใจ



ในภายภาคหน้าหากมีใครกล้าเอาปลากลุ่มนี้มาขาย
ก็หวังเพียงว่าจะมีผู้สนใจแห่ไปซื้อหามาเลี้ยงดู ให้คนนำเข้ามากำลังใจมากขึ้นหน่อยนะครับ

ผมเชื่อว่าคนไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สบายมาก
หากมีความตั้งใจ แต่ก็อย่างว่า ณ ตอนนี้ ขอให้มีเข้ามาขายก่อนทีเถิด

อยากเลี้ยงจนจะลงแดงอยู่แล้ว




สวัสดี




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2554 14:49:30 น.
Counter : 2826 Pageviews.  

ปลาระเบิดลองของ : โรเบิร์ทสันอาย ควายน้ำจุดฟ้า ผู้พิชิต



สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกแล้วกับ Cichlid corner ฉบับนี้ขอนำปลาหมอตัวเขื่องชนิดหนึ่ง ซึ่งหาดูไม่ค่อยได้แล้วในท้องตลาด

นำมาให้ทุกๆ ท่านได้รู้จักกันสักหน่อย เผื่อท่านมีตู้ว่างอยู่พอดี มิรู้จะใส่ปลาอะไรลงไป
อานิสงส์ผลบุญอาจตกไปสู่ปลาหมอที่ถูกลืมชนิดนี้บ้างก็ได้นะครับ



ฉบับนี้ขอกล่าวถึงควายน้ำผู้พิชิตนามว่า “ปลาหมอโรเบิร์ทสันอาย” บ้านเราเรียกแบบฟังแล้วจั๊กจี้หูว่า โรเบิร์ทโซนี่

ไม่แน่หากกาลเวลาเล่นตลก เราอาจได้ยินชื่อปลาว่า โรเบิร์ทซัมซุง ก็เป็นได้ -*-




พวกฝรั่งแขนลายเรียกเก๋ๆว่า False Firemouth, Robertson's Cichlid และ Turquoise Cichlid

เจ้าโรเบิร์ทสันอายนี้มีชื่อวิทย์ว่า Astatheros robertsoni
เดิมนั้นอยู่ในสกุล Amphilophus แต่เพิ่งมีการแยกปลาในสกุลบางชนิดออกให้มาอยู่ในสกุล Astatheros เมื่อเดือนกันยายน ปี 2010 นี้เอง



Astatheros หมายถึง มีจุดเหมือนไข่มุก ซึ่งอธิบายถึงจุดเด่นของปลาในสกุลนี้
ส่วนชื่อ robertsoni นั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ Dr. Robertson เจ้าของสวนยางในประเทศแคเมอรูน



โรเบิร์ทสันอาย อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกลาง โดยพบได้ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ไล่ไปถึง กัวเตมาลา

โดยอาศัยอยู่ตามแม่น้ำสาขาต่างๆ ชาวบ้านที่นั่นเห็นกันจนชิน พร้อมบอกว่า เนื้อแน่นอร่อยดี...

ด้วยขนาดที่ใหญ่โต ทำให้เจ้านี่โดดเด่นได้ทั้งในตู้ปลาและโต๊ะอาหาร



ในบ้านเรานั้นไม่ค่อยมีให้พบเห็นสักเท่าไหร่แล้วนะครับ ไม่ทราบว่าหายไปไหน

ตัวผู้เขียนเองก็ได้มาแบบฟลุ๊คๆ อยู่ในร้านขายปลาร้านหนึ่ง ก้มลงไปผูกเชือกรองเท้า เลยไปเห็นเข้าจึงรับมาเลี้ยง

อีกตัวมีเฮียใจดี ยกให้เลี้ยงฟรีๆ ตอนนี้เลยมีโรเบิร์ทสันอายเลี้ยงตั้งสองตัวเชียว



จากที่เลี้ยงดูมาสักพักใหญ่ๆ เจ้าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้ายบ้างในบางครั้ง แต่ก็ไม่มากเท่าเพื่อนร่วมทวีปอีกหลายๆ ชนิด

ดังนั้นไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะถ้าพลาดปลาเล็กๆ อย่างพวกปลาเตรทตร้าจากอเมริกาใต้ อาจเป็นอาหารว่างก็เป็นได้



แต่ถ้านำมาเลี้ยงกับปลาที่มีขนาดพอๆกัน หรือใหญ่กว่าแล้ว โรเบิร์ทสันอายจะดูเรียบร้อยน่ารักเลยทีเดียว

ปลาที่เลี้ยงรวมได้ควรเป็นปลาหมอจากอเมริกากลางชนิดต่างๆ ที่ไม่ดุมากนัก เช่น ปลาหมอไฟร์เม้าท์ (Thorichthys meeki) ปลาแคชฟิชชนิดต่างๆ ปลาหมอทะเลสาบอย่างฟรอนโตซ่าก็ยังไหว




ในการเลี้ยงรวมนั้นควรดูเรื่องขนาดตู้ จำนวนและขนาดปลาให้ดีด้วยนะครับ เรื่องการเลี้ยงนั้นคงบอกได้แค่คร่าวๆ นะครับ

เพราะไม่มีสูตรตายตัว ผมเคยเห็นเขาเลี้ยงเป็นฝูงในตู้ขนาดใหญ่ก็สวยสมกับขนาดตู้ดีเหมือนกัน

ว่ายเป็นกลุ่มๆ พลางขุดหาอะไรกินไปเรื่อย ทำให้ดูเผินๆ คล้ายปลาหมอในสกุล Geophagus จากอเมริกาใต้อยู่เหมือนกัน



ส่วนการเลี้ยงเบื้องต้นนั้นโดยควรเริ่มจากตู้สัก 24 นิ้ว สำหรับปลาขนาด 3-5 นิ้ว 1 ตัว อยู่สบายๆ ระบบกรองก็ตามแต่ใจและงบประมาณเลยครับ

กรองข้าง กรองนอก กรองฟองน้ำได้หมด ขอแค่ให้ใหญ่พอจะบำบัดน้ำได้ทันท่วงทีเป็นใช้ได้

พอปลามีขนาดใหญ่โตขึ้นจึงควรเริ่มขยับขยายตู้ให้ปลาอยู่อาศัยได้อย่างสบาย

การจัดตู้นั้นตามสะดวกเลยครับ จะปูกรวด วางหิน วางขอนไม้ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ควรใส่พืชน้ำทั้งหลาย

เพราะปลาอาจกัดแทะเล่น หรือคุ้ยต้นไม้หลุดลอยให้เห็นจนเซ็งก็เป็นได้



เรื่องน้ำนี่ก็ไม่มีอะไรมากครับ ตามประสาปลาหมออเมริกากลางทั่วๆ ไป น้ำสะอาดปราศจากคลอรีนเป็นพอ

ด้านอาหารการกินนั้นปลาสามารถกินอาหารเม็ดได้เลย โดยกินครั้งละมากๆ เสียด้วย

แต่ก็ไม่ควรให้มากนักนะครับ เดี่ยวท้องจะอืดเอาได้ อาหารสดก็ลูกกุ้ง เนื้อกุ้ง ไรทะเลล้างสะอาด






โรเบิร์ทสันอาย อาจจะไม่ใช่ปลาสวยแบบที่หลายๆ คนชอบนะครับ ออกเป็นปลามีเสน่ห์มากกว่า

ด้วยรูปร่างแบนข้างเล็กน้อย ช่วงลำตัวสูง หน้ายาว เครื่องครีบกางใหญ่ โดยเฉพาะครีบหลัง ครีบก้นและหาง

ที่เครื่องครีบจะมีสีฟ้าเงางาม มีจุดเล็กๆ ประตามครีบ ขอบครีบและปลายครีบหลังมีสีแดง หางปลาก็มีสีแดงตัดกับจุดสีฟ้าเช่นกันครับ



ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนปนเทา สามารถปรับเข้มอ่อนตามสภาพแวดล้อมและอารมณ์ของปลา

ในบางครั้งเมื่อปลาตกใจตัวปลาจะมีแถบเส้นแนวตั้งประมาณ 8-10 เส้น โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนบ่าไล่ไปถึงโคนหาง กลางลำตัวมีแถบจุดสีดำเรียงต่อกัน ตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกจนถึงโคนหาง

ที่โคนหางจะมีจุดสีดำขนาดใหญ่ 1 จุด จุดสีดำที่ว่านี้สามารถจางหายได้ตามสภาพอารมณ์ของปลาด้วยเช่นกัน

ในปลาขนาดเล็กจุดสีดำที่ว่านี้จะยังไม่มี จะมีก็เพียงจุดสีดำกลางลำตัว 1
จุด และโคนหางอีก 1 จุด



จุดเด่นของปลาชนิดนี้คงหนีไม่พ้นสีฟ้าเงางามที่เคลือบตามแก้ม แผ่นปิดเหงือก และบริเวณครึ่งล่างของลำตัว

ตามเกล็ดมีจุดสีฟ้าเล็กๆ ประตามตัวทั่วไปหมดโดย หากปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะจุดประสีฟ้านี้จะดูโดดเด่นมากทีเดียว

ในปลาบางตัวจะมีแก้มสีเหลืองส้ม และบริเวณอกมีสีแดงด้วยครับ




ลักษณะส่วนหัวของโรเบิร์ทสันอายนั้นเมื่อแรกพบจะนึกไปถึงปลาหมอในสกุล Geophagus

เพราะหน้าแหลมยาวแบบนี้ เหมาะที่จะใช้หากินอาหารต่างๆ ตามท้องน้ำอย่างมาก

โรเบิร์ทสันอายเองในอดีตก็เคยอยู่ในสกุล Amphilophus ซึ่งก็ขึ้นชื่อเรื่องขุดคุ้ยหาอาหารตามพื้นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นปลาหมอฟรามิงโก้ (Amphilophus citrinellum) เป็นต้น



โรเบิร์ทสันอายนั้นถือว่าเป็นปลาหมอขนาดใหญ่ทีเดียว โดยตัวผู้สามารถโตได้ถึง 10 นิ้ว ส่วนปลาตัวเมียจะโตได้ราวๆ 6-7นิ้ว



การแยกเพศปลาทั้งสองเพศนั้นไม่ยุ่งยากมากนัก หากมีตัวอย่างให้เปรียบเทียบ

โดยปลาเพศผู้จะมีเครื่องครีบที่ใหญ่-ยาวกว่า สีสันเข้มกว่า ลำตัวจะดูยาวกว่า ส่วนปลาเพศเมียนั้นลำตัวจะเล็กและสั้นกว่า



การผสมพันธุ์นั้นจัดอยู่ในกลุ่มวางไข่เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์จะเริ่มทำการขุด (ขุดอีกแล้ว) เพื่อสร้างอาณาเขต

จากนั้นปลาจะวางไข่ตามวัสดุใต้น้ำต่างๆ เช่นหินผิวเรียบเป็นต้น แม่ปลาจะวางไข่จากนั้นพ่อปลาจะตามเข้าไปฉีดน้ำเชื้อเพื่อให้ไข่ได้รับการผสม

ไข่จะฟักตัวราวๆ 3 วัน ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำและกินอาหารได้ในวันที่ 5-7



แม้โรเบิร์ทสันอาจจะไม่ใช่ปลาหมอที่มีสีสันสดสวยถูกใจมหาชนมากมายนัก

แต่หากมหาชนผู้เจริญทั้งหลายมีโอกาศได้นั่งพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่แล้ว
เชื่อเหลือเกินว่าคงได้พบความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของปลาหมอแก้มฟ้าตัวนี้อย่างแน่นอนครับ




สวัสดี




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2554    
Last Update : 18 มิถุนายน 2554 10:57:55 น.
Counter : 2095 Pageviews.  

ปลาระเบิดรื่นเริง : Heros <<<ฮีโร่ พระเอกใหญ่ ใจดี




ย้อนกลับไปราวปี 48 บ่ายวันเสาร์ ผมยื่นอึ้งอยู่กลางงานประกวดปลา ที่ห้างใหญ่ย่านงามวงศ์วาน

ปลาตัวกลมๆ สีเหลืองอร่าม มีจุดแดงกระจายทั่วตัว ที่หน้ามีลายเส้นสีแดงวาดลวดลายสวยงามไปตามแก้ม

ครีบบน-ล่างยาวสลวยเหมือนมีโทมัส ทอร์ (กระด๊อก) มาจัดทรงให้

ปลาตัวนั้นติดป้ายกลมๆ เขียนว่า “ชนะเลิศ”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเกิดหลงรักปลาหมอตัวกลมๆ ตัวนี้เข้าอย่างจัง

หลังจากดูงานจนเสร็จ นั่งแท็กซี่ต่อไปสวนจตุจักร กะว่าจะหาปลาสวยๆ แบบนี้ไปเลี้ยงสักตัว





ปลาหมอที่ว่านี้มีนามว่า ปลาหมอเซเวรัส บ้านเราเรียก ปลาหมอเซวาลุ่ม
ชื่อวิทย์ตายตัวที่ใช้กันคือ Heros severus

ชื่อสกุลจากที่หาๆ มายังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม Heckel ถึงได้ใช้ชื่อนี้

เพราะคำว่า Heros มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลได้รวมๆ ว่า พระเอก(ฮีโร่)

ในอดีตผมเคยค้นหาเจอในเว็บเมืองนอกเว็บหนึ่ง (อะไร petzap นี่แหละ)
แต่เว็บปิดไปราวๆ 2 ปี ไอ้ที่เซฟไว้ก็หายไปเสียแล้ว แปลประมาณว่า หมายถึงโล่ของนักรบ (ของกรีก โรมัน ประมาณนั้น)

ท่านใดพอจะทราบความหมาย รบกวนแจ้งที ข้องใจมากมาย...




ทีนี้เราข้ามไปเรื่องอื่นกันดีกว่า อย่าไปใส่ใจมากนักกับชื่อวิทย์ที่ยังหาความหมายไม่ได้

ผมว่าหลายคนคงเคยเห็น รู้จัก และเคยเลี้ยงปลาหมอเซเวรัสกันบ้างนะครับ <<<ต่อแต่นี้จะเรียกอย่างนี้นะครับ

อย่างแรก เรามารู้จักปลาในสกุล Heros กันหน่อยดีกว่านะครับ

ปลาในสกุลนี้จะมีรูปร่างออกไปทาง วงรี ลักษณะตัวแบนข้าง
หน้าผากลาดโค้งลงมากถึงปาก ปากมีขนาดเล็ก ภายในปากมีฟันเรียงรายอยู่มากมาย

ในตัวโตเต็มวัยหน้าผากจะมีลักษณะโหนกนูนนิดๆ ดวงตาใหญ่อยู่ด้านข้างของส่วนหน้า หากมองด้านตรงจะเห็นดวงตาปูดออกมาหน่อยๆ

ในบ้านเราน่าจะมีมาขายเป็นสิบปีได้มั้งครับ

ในอดีตเคยมีมาขายหลายสายพันธุ์ เช่น เซเวรัสเขียว เซเวรัสทอง (ทั้งแบบเหลืองทั้งตัวและเหลืองแต่มีลวดลาย)
และยังมีพวก sp. ผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นกันบ้างเล็กน้อย

ได้รู้ลักษณะทั่วๆ ไปของ Heros กันบ้างแล้ว ทีนี้เรามาทำความรู้จักกันแบบเรียงตัวเลยดีกว่านะครับ






Heros efasciatus Heckel, 1840



คำว่า efasciatus มาจากภาษาลาติน หมายถึง ไม่มีแถบ แถบที่ว่านี้คือ แถบบนตัวปลา เป็นแถบแนวตั้งสีเข้มครับ

ซึ่งในระยะหลังก็พบ Heros efasciatus ซึ่งมีแถบที่ว่านี้เหมือนกัน ในการระบุชนิดมักจะเติมชื่อแหล่งเข้าไปด้วยเพื่อป้องการอาการมึนครับ

เรื่องตลกอย่างหนึ่งสำหรับ efasciatus คือปลาตัวนี้ทั่วโลกใช้ชื่อการค้าว่า Severum

ทั้งๆที่ปลาที่ควรจะใช้ชื่อนี้ควรเป็น Heros severus มากกว่า

ซึ่งการเอาชื่อทางการค้ามาเรียกปลานั้น มักจะทำให้สับสนมากพอดู ดังนั้นควรยึดถือชื่อวิทย์เป็นหลักนะครับ

ในบ้านเราผมยังไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ เลย แต่อาจมีเข้ามาบ้างแล้วผมไม่ทราบก็เป็นได้ครับ





Heros efasciatus ตัวหลักๆ จะมีสีพื้นเป็นสีเขียว-เหลือง อมเทา
และมีลวดลายเส้นสีแดงกระจายเต็มตัวครับ ที่ส่วนท้ายของลำตัวจะมีแถบสีดำขึ้น 1 แถบในแนวตั้ง

ส่วนอกของปลาจะมีปื้นสีแดงสด (ขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้างตามอารมณ์)

สีที่ว่านี้จะไล่ยาวตั้งแต่อก ไล่ไปที่ครีบอกส่วนท้องจนถึงครีบก้นเลยนะครับ

ครีบที่ว่านี้เวลาเลือก ควรเลือกตัวที่ครีบไม่บิดเบี้ยวนะครับ

เพราะเมื่อปลาโตขึ้นครีบเครื่องเหล่านี้จะช่วยให้ปลาดูสวยงามมากขึ้นทีเดียวครับ



ปลาตัวผู้


Heros efasciatus จะพบได้ในแม่น้ำสาขาต่างๆ ในแม่น้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ เช่น Rio Amazonas ในประเทศบราซิล , Rio Ucayali ในเปรู, Rio Solimoes

ซึ่งเป็นเขตบรรจบกันของแบล็ควอเตอร์ และไวท์วอเตอร์ กับ Rio negro ใกล้ manaus รวมไปถึง Rio Xingu

นับเป็นการแพร่กระจายที่กว้างที่สุดในปลากลุ่มนี้ และพบได้บ่อยที่สุดด้วย

การแพร่กระจายแบบนี้ทำให้ปลาในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของสีและลวดลายพอสมควร...




ปลาตัวเมีย


เกร็ดเล็ก เกล็ดน้อย :

H. efasciatus มักถูกทำให้สับสนกับ H. severus แต่สิ่งที่แยกได้คือ H. efasciatus เป็นปลาวางไข่

ส่วน H. severus เป็น mouth brooders <<<อันนี้ตะลึงเล็กน้องเพราะจากที่ทราบมา ปลาในกลุ่มนี้วางไข่ทั้งนั้น พึ่งรู้ว่า H. severus เลี้ยงลูกในปาก


อ้างอิงจาก : //www.aquariacentral.com/forums/showthread.php?t=141558


เรื่องตลกของ H. efasciatus คือ ปลาตัวนี้ถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ จนกลายเป็นแบบ สีเหลือง สีเหลืองมีลาย และสีแดง

แต่ในบ้านเราและต่างประเทศกลับเรียกปลาชนิดนี้เป็น Heros severus มันน่าน้อยใจแทนปลายิ่งนัก ชิชะ




Heros appendiculatus Castelnau, 1855



คำว่า appendiculatus เป็นภาษาลาติน หมายถึง ส่วนที่เพิ่มเติม, ส่วนที่ยื่นออก

ซึ่งในกรณีนี้น่าจะหมายถึงลายแนวตั้งบนตัวปลาที่เพิ่มเข้ามาในช่วงท้อง แต่ไม่ยาวสุดจนถึงหลัง

Heros appendiculatus นั้นส่วนใหญ่จะมีสีออกไปทางโทนเขียวอมน้ำเงิน (บางครั้งออกดำไปเลยก็มี)

แต่ช่วงล่างของลำตัวตั้งแต่อก ครีบอก ส่วนท้องไล่ไปถึงครีบก้นจะมีสีแดงสด สวยงาม

ถูกอกถูกใจพวกชอบปลาหมอแนวดิบๆ ถ่อยๆ ยิ่งนัก



บริเวณลำตัวจะมีแถบเส้นสีดำแนวตั้งพากยาวตั้งแต่ฐานครีบก้านถึงกลางลำตัว เส้นที่ว่านี้มีอยู่ทั้งสิ้น 5 เส้น (ไม่นับเส้นยาวที่อยู่โคนหางนะครับ)

สามาระเข้มและจางได้ตามแต่อารมณ์ปลา แต่ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้เลยครับ

H. appendiculatus นั้นมีชื่อทางการค้าว่า Turquoise Severum เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าสีที่ตัว ที่หน้านั่นเองเพราะสีเหมือนแร่ Turquoise ที่มีสีออกเขียวอมน้ำเงิน

พบอาศัยบริเวณตอนบนของ Rio Amazonas ในประเทศเปรู



Heros notatus (Jardine, 1843)



notatus มาจากภาษาลาติน หมายถึง marked ซึ่งอธิบายถึงจุดบนตัวปลาที่เด่นชัดกว่าเพื่อนร่วมสกุลชนิดอื่น


ใบปลาบางตัวจุดที่มีขนาดใหญ่นั้นอาจเรียงต่อกันจนดูคล้ายเส้นเลยทีเดียว

พบเจอได้ในแม่น้ำอเมซอน ในประเทศบราซิล, Río Negro, Essequibo River ใน Guyana




ปลาตัวนี้ โดยส่วนตัวผมว่าสวยงามมากทีเดียว ด้วยสีเนื้อสีตัวที่ออกไปในโทนสว่าง

คือมีทั้งสีน้ำตาลอ่อน เขียว และมีจุดแต้มสีน้ำตาลแดง แต้มตามตัว

ที่บริเวณส่วนหัวจุดแต้มจะมีสีที่สดขึ้นและต่อกันจนเป็นลวดลายวิจิตรงดงาม

ที่ตัวปลาบริเวณท้องจะมีเส้นแนวตั้ง เรียงตั้งแต่หลังดวงตา(ในบางตัวจะเริ่มที่หลังแผ่นปิดเหงือก)

ไล่มาถึงด้านบนของครีบก้น ถึง 6 เส้น ไม่นับเส้นสุดท้ายที่พาดขวางตัวปลาในบริเวณท้ายลำตัวนะครับ

เส้นที่ว่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าของ Heros appendiculatus มากโขทีเดียว จนมองดูเหมือนจุดสีดำขนาดใหญ่



ในปลาเพศผู้นั้นจะมีจุดที่ใหญ่ และสีเข้มกว่าปลาตัวเมียมาก และเมื่อโตเต็มวัยจะมีหน้าผากที่โค้งมนได้รูป

ส่วนตัวเมียหน้าออกแหลมๆ ตัวผู้จะตัวโตกว่า เครื่องครีบจะยาวกว่า ลวดลายที่ครีบจะเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด

Heros notatus มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกขานกันนั่นคือ severum Guyanese









Heros severus




severus มาจากภาษาลาติน หมายถึง ร้ายแรง, รุนแรง ในบางครั้งหมายถึง สง่างาม

ไม่ใช่ได้ชื่อจาก ศาสตราจารย์ เซเวอร์รัส สเนป ในนิยายแฮรี่ พอทเตอร์ (ไอ้หนูหัวบาก) นะ อันนั้นคนละตน คนละตัวกัน
ประเดี๋ยวเสกให้หน้าตาดีเหมือนคนเขียน... (กลัวล่ะซิ เหอๆ )

เซเวรัสตัวนี้มีการแพร่กระจายอยู่อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ทั้งทางตอนบนของ Rio negro ตอนบนและตอนกลางของแม่น้ำ ออริโนโค่ ในประเทศบราซิล ในเวเนซูเอลา โคลัมเบีย แต่โดยรวมจะอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้

ดังนั้นจึงทำให้มีการผันแปลของสีตามแหล่งที่พบปลามากมาย



แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ จะมีสีเขียวเหลืองคล้ำ
ดวงตาสีแดง ส้ม ที่ท้ายของลำตัวมีแถบเส้นสีดำแนวตั้ง 1 เส้น พาดยาวตั้งแต่ฐานครีบหลังถึงฐานครีบก้น

ด้านข้างลำตัวจะมีจุดสีส้มแดงกระจายเป็นแนวยาว ส่วนอกมีสีส้มแดง
มีแถบแนวตั้งที่ลำตัวราวๆ 7-8 เส้น แถบเหล่านี้สามารถมีหรือไม่มีก็ได้ตามแต่อารมณ์ของปลา

บริเวณส่วนหัวจะไม่มีลวดลาย (หรือถ้ามีก็น้อยมาก และมักจะขึ้นที่แผ่นปิดเหงือก)

ในปลาเพศผู้จะมีจุดที่บริเวณด้านล่างของแผ่นปิดเหงือก ส่วนในตัวเมียนั้นจะไม่พบ หรือถ้ามีก็น้อยมาก

ปลาเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เครื่องครีบยาวใหญ่กว่า

ในบ้านเราที่มีจำหน่ายภายใต้ชื่อเซเวรัสเขียวครับ






Heros spurius Heckel, 1840




คำว่า spurius มาจากภาษาลาติน หมายถึง เท็จ ไม่จริง ซึ่งอธิบายถึงความคล้ายคลึงที่ใกล้เคียงกับ Heros modestus (อธิบายโดย Heckel ใน 1,840)

แม้จะเหมือนแต่ไม่ได้เป็นชนิดเดียวกัน และปัจจุบัน Heros modestus ถูกจัดอยู่ในชนิด H. efasciatus จุดสังเกตได้คือ H. spurius จะมีจุดใหญ่กว่า H. efasciatus แต่ไม่เท่า Heros notatus ครับ

ลักษณะจุดของ H. spurius จะมีลักษณะต่อกันเป็นเส้นแต่ไม่ยาวมาก ช่องว่างระหว่างเส้นจะห่าง ไม่เป็นระเบียบมากนัก

กระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำอเมซอน ในบราซิล และ แม่น้ำ Guaporé

ปลาตัวนี้ข้อมูลค่อนข้างน้อยและหาดูชมได้ยากที่สุดในบรรดาเพื่อนร่วมสกุลทั้งหมดครับ






หากลองหาข้อมูลของปลาในกลุ่มนี้ จะทราบเลยว่ามีความสับสนอยู่มากทีเดียว

ด้วยลักษณะที่คล้ายกันมาก ลวดลายและสีมีความเหมือนกัน แหล่งกระจายพันธุ์ กระจุกอยู่บริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้
และพบเจอได้ทั้งในเขตแบล็ควอเตอร์ และไวท์วอเตอร์

ทำให้ส่วนตัวผู้เขียนเองต้องยึดเอาชนิดที่อธิบายไว้ในข้างต้นจากเว็บ //www.cichlidae.com/




เพราะข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างอัพเดทมากที่สุด และท่าน แอด คอนนิ่ง นั้นก็ถือเป็นผู้รอบรู้ทางด้านปลาหมอสีทั่วโลกตัวจริง

ดังนั้นในบทความนี้จึงขอยึดข้อมูลการแยกชนิดจากเว็บไซด์ดังกล่าวไว้ก่อนนะครับ



Heros sp. Curare



นอกจากชนิดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีพวกแปลกแยก มีลักษณะเด่นตามแหล่งที่พบอีกมากมาย

เชื่อว่าอีกนานโขทีเดียวกว่าจะคัดแยก จัดระเบียบให้ครบ เผลอๆ ผู้เขียนตายไปเป็นผีแล้ว ยังบรรยายแยกชนิดกันไม่เสร็จเลยทีเดียว

ด้วยความที่ยังมีความสับสนอยู่มากนั้นเอง ทำให้บทความนี้ทำหน้าที่ได้เพียงแค่การแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

และอย่าได้เชื่อทุกตัวอักษรที่พิมพ์ลงไปจนกว่าท่านจะได้ค้นคว้าหาข้อมูล และตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง





ทีนี้เรามาดูเรื่องทั่วๆ ไปของปลาในสกุล Heros กันบ้างนะครับ

ปลาในสกุลนี้ถือว่าเป็นปลาใหญ่ทีเดียว ด้วยขนาดโตเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 10-12 นิ้ว!!!

ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงสำหรับปลาขนาดเล็กควรเริ่มต้นที่ ตู้ 24 นิ้วขึ้นไป
เพื่อความสบายตาของท่านผู้ชม และความสบายใจของตัวปลาเอง



Heros sp. Curare


ในธรรมชาตินั้นเหล่าลูกปลาจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยวัสดุใต้น้ำเช่นขอนไม้ หิน รากไม้ริมตลิ่ง กระแสน้ำจะไหลเอื่อยๆ

แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นเหล่าปลาหนุ่มสาวทั้งหลายจะแยกย้ายไปอาศัยในแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยพรรณไม้น้ำ สภาพน้ำจะนิ่ง ลึก พื้นน้ำจะเป็นดินโคลน กรวดทรายอะไรก็ว่ากันไป

ในการเลี้ยงนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับปลาโดยมีวัสดุใต้น้ำบ้าง

ในปลาที่มีโทนมืด เช่นเซเวรัสเขียวนั้นควรปูวัสดุที่มีสีอ่อน เช่นกรวดแม่น้ำสีอ่อน กรวดแก้วสีขาวเป็นต้น


จัดวางหิน ขอนไม้ให้ปลาได้หลบซ่อนบ้างเพื่อลดความเครียดในระยะแรก วัสดุที่นำมานั้นไม่ควรมีปลายแหลมคม

เพราะเห็นรูปร่างอ้วนๆ แบบๆ แบบนี้ แต่เซเวรัสยามตกใจกลับเป็นปลาที่พุ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ทั้งแรง ทั้งเร็ว จึงอาจเกิดบาดแผลได้




Heros sp. 'Cameta' or 'Marajo'


หินที่มีลักษณะแบน ผิวเรียบนั้นมีประโยชน์มาก เพราะปลาสามารถนำมาเป็นสถานที่วางไข่ได้
รวมไปถึงกิ่งไม้ ขอนไม้ที่มีขนาดใหญ่กำลังดี ได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน

น้ำที่ใช้เลี้ยงขอแค่สะอาด ไม่มีสารพิษก็สามารถเลี้ยงได้สบายจิต
ระบบกรองควรเลือกขนาดให้ใหญ่เข้าว่า เพราะถือว่าเป็นปลาที่กินจุทีเดียว



Heros sp. 'Puala Coaro-Rio Negro'


จากที่เลี้ยงมานับสอบตัว ยังไม่เคยมีตัวไหนที่ป่วยตายเลย ส่วนใหญ่ เบื่อแล้วเอาไปแลกปลาอื่นบ้าง ขายบ้าง แจกบ้าง

จะมีที่เคยตายต่อหน้าต่อตา ก็ตายด้วยโดนปลาใหญ่กว่า งับเข้าหัว
เพราะดันทะลึ่งจ้องจะกินอาหารเม็ดเดียวกันนั่นเอง
(ต่างฝ่ายต่างจ้องจะงับอาหารเม็ด เผอิญได้ตัวเล็ก ดันงับก่อน ตัวใหญ่เลยงับพลาด งับเข้าหัวพอดี ไอ้ตัวเล็กเลยไปเฝ้าเง็กเซียนซะ...)



Heros sp. 'Uatuman'


อาหารที่โปรดปรานนั้น..... ไม่มี -*-“

มันกินหมด กินทุกอย่าง ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด เนื้อกุ้ง เนื้อเก้งที่ไหนพวกซัดเรียบ

ให้ไปเหอะ วันละ มื้อสองมื้อ บันเทิงใจดีแท้

แต่อาหารที่ให้ก็ควรมีส่วนผสมของพืชบ้างนะครับ กินเนื้ออย่างเดียว ท้องผูกตายชัก

ทีนี้มาดูเรื่องเพื่อนร่วมตู้กันบ้าง รู้กันแล้วว่าไม่ดุ แต่ก็ควรเลือกเพื่อนขนาดที่กำลังดีหน่อย และไม่ชอบตอด

เพราะครีบยาวๆ ของเซเวรัสนั้นต้องใช้เวลาพอควรกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม



Heros sp. Santarem


ส่วนตัวนั้นเลี้ยงรวมกับ เตรทตร้าขนาดเล็กอย่าง รัมมี่โนส ปลาแพะ ปลาหมู ปลาเทวดา ก็สามารถอยู่กันได้อย่างสงบสุข
ไม่มีมาเดินประท้วงอะไรกันวุ่นวาย

และยังสามารถเลี้ยงรวมกับปลาขนาดใหญ่ที่ไม่ดุอย่าง ปลาหมอฟรอนโตซ่า ได้ด้วย อยู่กันดีเชียว...

แต่ก็ใช่ว่าจะอารมณ์ดี ร่าเริงตลอดเวลานะครับ ยังไงก็เป็นปลาหมอ
ความดุก็มีบ้างสำหรับพวกเดียวกันในบางครั้ง

และโดยเฉพาะตอนผสมพันธุ์นั้น พ่อ-แม่ปลาค่อนข้างหวงที่ หวงทางมากทีเดียว




เซเวรัสนั้นเป็นปลาที่ค่อนข้างจะจับคู่กันนานสักหน่อย กว่าจะได้เสียเป็นเมียผัวกัน (บางเว็บว่าไว้ 3-6 เดือนเลยทีเดียว)

แม่ปลาจะวางไข่ติดตามวัสดุใต้น้ำ เช่นหิน กระถางดินเผา ขอนไม้ ได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน

เมื่อแม่ปลาวางไข่เสร็จ พ่อปลาก็จะเข้าไปฉีดน้ำเชื้อ เพื่อให้ไข่ได้รับการผสม

หลังจากนั้นแม่ปลาจะทำหน้าดูดูแลไข่ คอยพัดโบกออกซิเจนให้ไข่ ส่วนพ่อปลาจะคอยระวังภัยภายนอก

พิเศษหน่อยตรงที่ H.severus พ่อปลาสามารถเลี้ยงลูกไว้ในปากได้ด้วย ส่วนชนิดอื่นๆ ทำไม่ได้ครับ

ลูกปลาฟักออกมาราวๆ วันที่ 3-4 สามารถให้อยู่กับพ่อ-แม่ปลาได้ เพราะพ่อแม่ปลาไม่มีพฤติกรรมการกินลูกตัวเอง



Female




male


ปลาตัวนี้ยิ่งเลี้ยงยิ่งสวยนะครับ ไม่จำเป็นต้องเร่งให้โต
หรือเร่งสีแต่อย่างใด ตามสไตล์คนไทยใจร้อนที่พอเห็นปลาคนอื่นโตกว่า สีสดกว่า

ก็พยายามหาของไร้สาระมายัดใส่ให้ปลา เพราะหวังให้โตสวยทันใจคนเลี้ยง

ยิ่งเร่งมาก ก็ยิ่งตายไว แทนที่ปลาจะอยู่อย่างสุขภาพดีที่ควรเป็น กลับกลายเป็นการเร่งปลาให้ไปสู่ภพที่ดีกว่า

ดังนั้นควรเลี้ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ควรย้ายตู้บ่อยๆ เพราะปลาอาจจิตตก หยุดกิน

หรือถ้าในกรณีที่ปลาจับคู่กันอยู่แล้ว หากไปย้ายที่ให้ปลาเครียด ผู้เลี้ยงอาจพลาด ไม่ได้เห็นผลผลิตงดงามที่กำลังจะตามมาก็เป็นได้



Heros notatus : male




Heros notatus : female


นอกจากนี้ยังมีพวก sp. ทั้งหลายที่ยังไม่ขอกล่าวเพราะกลัวจะเวียนหัวกันไปใหญ่

ด้วยข้อมูลที่หามานั้นไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ เพราะใช้ในหลักการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าปลาเสียมากกว่า

ในบ้านเรานั้นที่มีให้เห็นก็มีอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้นนะครับ เช่น เซเวรัสเขียว เซเวรัสทอง(ทั้งแบบเหลืองๆ ลายไม่ค่อยมี และมีลายพร้อยไปทั้งตัว) รวมถึงเซเวรัสแดงที่พัฒนากันจนมีลายแดงทั้งตัว


และล่าสุดที่เห็นคือ Heros sp. Black <<<เรียกตามเว็บเมืองนอก ในเมืองไทยยังไม่มีชื่อเรียก ปลาตัวนี้สีออกน้ำตาลเทา-ดำ มีสีแดงช้ำๆ ที่คอเล็กน้อย ผู้เขียนยังไม่เคยเลี้ยง ได้แต่ยืนดูนานๆ เท่านั้นครับ



อีกตัวที่จะต้องกล่าวคือ Heros sp. 'rotkeil' ชื่อเล่นๆ ที่เรียกกันว่า Redheaded Severum.

ตัวนี้เป็นอีกตัวที่เป็นดาวเด่นในวงการปลาสวยงาม ในบ้านเรายังไม่เคยเห็นเหมือนเดิมครับ นอกจากหิ้วเข้ามาหรือสั่งเข้ามาเท่านั้นครับ









เขียนมาเสียมากมาย หากสนใจอยากหาปลาหมอตัวใหญ่ สวย ไม่ดื้อ ไม่ดุ กินง่ายอยู่ง่าย มาเลี้ยงสักตัว หรือสักฝูง

ก็อยากให้แลเหลียวทองปลาตัวนี้บ้างนะครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง

ปลาระเบิดเอาหำเป็นประกัน....

สวัสดี...




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2553    
Last Update : 2 ธันวาคม 2553 13:24:48 น.
Counter : 5068 Pageviews.  

ปลาระเบิดเกิดมาทำไม : มายันน้อยคอยรัก




สวัสดีครับ ทุกๆ ท่าน

ไม่ได้นั่งพิมพ์กระทู้เสียนานนม
ล่าสุดก็น่าจะราวๆ เดือน กรกฎาคม นู่นเลย น่าจะผ่านมาราวๆ 3 เดือนได้แล้วมั้งครับ

ที่หายไปมันมีสาเหตุหลายๆ อย่างครับ ส่วนหนึ่งด้วยงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

และอาการเจ็บป่วยของสังขารผุๆ ของผมนั่นเอง

รอบนี้เจ็บป่วยนานครับ เป็นเดือนเลยทีเดียว การเป็นไข้ครั้งนี้ทำให้รู้เลยว่า
ชีวิตของคนเรานั้นไม่เหมือนขึงอยู่บนเส้นด้วย

จะทำอะไรบางครั้งก็ไม่ต้องมุ่งมองไปถึงอนาคตมากสักเท่าไหร่ รีบเร่งทำวันนี้ให้ดีเข้าไว้

จะสนุกกับชีวิตยังไง ก็อย่าให้เดือดร้อนใคร ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ด้วยนะครับ






มาวันนี้ขอเล่าเรื่องปลาชนิดหนึ่ง ที่คิดว่าคงไม่ได้ประสบพบเจอกันแล้วในชาตินี้

เนื่องเพราะคงไม่มีใครสนใจ ใคร่เลี้ยงกันสักเท่าไหร่


จะว่าปลาไม่สวยก็ไม่เชิง แต่คงเป็นเพราะปลาตัวนี้เหมาะสำหรับผู้คนที่มีใจเสียมากกว่าครับ

ปลาหมอที่จะมาแนะนำแบบขำๆ ให้ได้ดูกันก็คือปลาหมอ มายัน (ExCichlasoma urophthalmus)

คำว่า cichla นั้น หมายถึง kichle มาจากภาษากรีกแปลว่า wrasse ซึ่งหมายถึง ปลาทะเลในตระกูล Labridae

ส่วนคำว่า Soma นั้นหมายถึง body ซึ่งโดยรวมจะมีความหมายว่า ปลาที่มีรูปร่างเหมือนปลาทะเลในตระกูล Labridae

ซึ่งอธิบายได้ตรงประเด็นเอามากๆ เพราะปลาในลุ่มน้ำแถบอเมริกากลางส่วนใหญ่ ก็มีรูปร่าง รูปทรงนี้แทบทั้งนั้นครับ

ส่วนของชื่อวิทย์นั้น ur ตัดมากจากคำว่า "oura,"ในภาษากรีกแปลว่า หาง
ส่วนคำว่า ophthalmus มาจาก"ophthalmos,"ในภาษากรีก แปลว่า ดวงตา

รวมๆ แล้วหมายถึงปลาที่มีตาอยู่ที่หาง ซึ่งอธิบายถึงลักษณะพิเศษของปลาชนิดนี้เนื่องด้วยมีจุดสีดำขนาดใหญ่ที่โคนหาง

รอบๆ จุดสีดำนั้นมีสีขาวอมเทา ทำให้เหมือนดวงตานั่นเอง <<<เห็นไหมล่ะ ถ้าคุณๆ ค้นหาความหมายต่างๆ จนเจอ คุณก็จะเสพรับเสน่ห์ของปลาได้อย่างเต็มๆ




ที่เขียนที่เล่ามานี่ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ บอกตรงๆ ว่าผมเองก็ลืมปลาตัวนี้ไปแล้วเหมือนกัน

จนเมื่อมาได้เจอในร้านเจ้าพ่อปลาหมอสายแท้ย่าน อตก. (อีตูดไก่)

จึงได้นั่งเพ่ง นั่งคิดสักพัก จนเริ่มไม่แน่ใจจึงได้ถามเจ้าของร้านไปว่าปลาอะไรหน๋อ?

เจ้าของร้านหันไปมองแบบปลงสังเวชเล็กๆ แล้วบอกว่า ยูรอปทาลมัส

ผมถึงกับตาโตลุกขึ้นมาถ่ายรูปเสียกว่าสิบรูป <<<พอดูได้ 4 รูป เจริญจริงๆ พ่อคุณเอ๊ย

จนแล้วจนเล่าก็นั่งเก็บรูปชุดนี้ไว้จนลืมเลยล่ะครับ กว่าเดือนเชียนจนนึกขึ้นได้ว่า อ้าว......ยังไม่ได้จัดการไฟล์รูปพวกนี้เลยนี่นา

ว่าแล้วก็จัดแจงบรรจงทำไฟล์ให้พอดูได้ กระทู้นี้จึงเกิดขึ้นมานี่แหละครับ

ที่นี้หากท่านมีเวลา ลองมาทำความรู้จักชนเผ่ามายันสักหน่อย เพื่อความสนุกในการอ่านกระทู้

และยังจะทำให้ท่านได้เริ่มเห็นเสน่ห์ของปลาหมอหน้าตาบ้านๆ ตัวนี้เพิ่มมากขึ้นนะครับ

//www.dek-d.com/board/view.php?id=1457577




จากรูปท่านจะเห็นว่าเจ้ามายันนั้นมองเผินๆ แทบจะไม่แตกต่างจากปลาหมอ เฟสเต้ (exCichlasoma festae)



แต่มนุษย์ก็ยังได้ค้นพบการแยกปลาทั้งสองชนิดนี้ออกจากกันจนได้ (เก่งจริงๆ เลยครับ 55 55)

โดยดูตามรูปนะครับ

//www.drpez.net/portal/biblioteca_de_ciclidos/p2_articleid/191


ปลาหมอมายันนั้นมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก เบลิซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัสและนิคารากัว

ตัวแรกที่ได้รับการบรรยายคือในปี 1862 ในชื่อ Heros urophthalmus โดย Dr. Albert Günther จาก British Museum of Natural History


ต่อมา Franz Steindachner เห็นว่าไม่ได้การแล้ว ชักจะ งง กันใหญ่ จึงอธิบายแย้งไปว่า

เขาได้รับตัวอย่างจากเม็กซิโก เป็นปลาขนาดเล็กและได้ตรวจดูอย่างละเอียดพบว่าเครื่องหมาย (แกคงหมายถึงลวดลายต่างๆ บนตัวปลา) รวมไปถึงแหล่งที่พบนั้น

ไม่ควรจะใช้สกุล Heros เพราะนั่นมันปลาจากอเมริกาใต้
แต่เจ้ามายันนั้น เส้นทางการกระจายพันธุ์พบไปทางเหนือ คือ ขึ้นไปทางเหนือ จนถึงเม็กซิโก

ดังนั้นจึงควรนำเจ้ามายันน้อย ให้ไปอยู่กับสกุลอื่น ซึ่งเป็นปลาจากทางอเมริกากลาง ดูจะเหมาะสมกว่า

และมีให้เลือกหลายสกุล ได้แก่ Herichthys urophthalmus, Parapetenia urophthalma, and Astrontous urophthalmus. Nandopsis urophthalma,

และสุดท้ายได้จัดให้อยู่ในสกุล Cichlasoma จนถึงทุกวันนี้ครับ





Dr. Albert Günther ได้รับตัวอย่าง+รายงานในปี 1983 จากทะเลสาบ Petén ในกัวเตมาลา

และหลังจากนั้นก็ได้รับรายงานว่า เจ้ามายันน้อย ก็ได้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา
โดยเริ่มพบที่บางส่วนของฟลอริด้าเบย์และในภาคใต้ของ Everglades Florida, USA
จะด้วยปลาหลุดลงแหล่งน้ำหรือมีอยู่แล้วอันนี้ก็ไม่ทราบได้นะครับ

รู้แต่ว่าพบได้ในภาคใต้ของอเมริกาด้วย รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบ้านเราก็มีรายงานเช่นกัน 55 55

คาดว่าน้ำท่วมปีนี้น่าจะไหลไปถึงบางปะกงโน่นเลยทีเดียวครับ
(มีคนเคยตั้งกระทู้ในเว็บพี่ต้น แต่ลบไปแล้วมั้ง) ส่วนเว็บอื่นก็มีรายงานครับ

//www.wefishingthai.com/PHPBB3/viewtopic.php?f=9&t=340


นอกจากนี้ ยังมีชื่อแต่หนหลังที่ตั้งกันมาเพื่อเรียกปลาตัวนี้ให้ง่ายปากเข้าไว้ ตามเทรนด์ ตามกระแสกันไปด้วยนะครับ

Mayan cichlid (English)
Mexican mojarra (English)
Orange tiger (English)
castarrica (Spanish)
schwanzfleckbuntbarsch (German)




ทีนี้เรามาดูข้อมูลทั่วๆ ไปของเจ้าปลาหมอมายันกันบ้างนะครับ

ปลาหมอมายันรูปร่างออกแนวคลาสสิก <<<หมายถึงรูปร่างเหมือนปลานิลบ้านเรานี่แหละ 55 55

มีรูปร่างคล้ายปลาซันฟิช จากอเมริกาเหนือ รูปทรงรี เหมือนไข่ ครีบหลังเป็นก้านครีบแข็ง

ครีบหางและครีบก้นมีสีเขียวมะกอก ขอบครีบมีสีแดง จุดเด่นของมายันน้อยคือสีและลวดลายครับ

ลวดลายที่ตัวปลาจะเป็นลายาพดแนวตั้ง 5-7 เส้น มีสีอออกฟ้าเทา

ในปลาขนาดใหญ่หรือโตเต็มวัยจะมีแถบสีฟ้าเทาสว่างขึ้นที่ขอบเส้นตลอดแนว

สีตัวจะเป็นสีเขียวมะกอกอมเทา อมเหลือง อมชมพู บางครั้งอาจเป็นสีส้มแดงซึ่งจะเป็นช่วงที่ปลามีความสวยงามมากที่สุด





ปลาขนาด 7 ซม. ใน 1 ปีจะมีความยาวเพิ่มขึ้นที่ 13 ซม. โดยประมาณ เมื่อเข้าปีที่สอง จะมีความยาวถึง 20 ซม.

(วัดจากปลาในธรรมชาติ ในที่เลี้ยงอาจมีขนาดมาก-น้อยกว่านี้ ตามแต่บุญเก่าของปลาและความเอาใจใส่ของผู้เลี้ยง)

และเมื่อมีอายุมากกว่า 2 ปี ความยาวจะพุ่งไปที่ 33-66 ซม. เลยทีเดียว แต่มาตรฐานโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 30-40ซม.

ในช่วงปีแรกนั้นสามารถแยกเพศได้ด้วยปลาตัวผู้นั้นจะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่ามาก
ในที่เลี้ยง ปลาหมอชนิดนี้สามารถมีอายุได้กว่า 11 ปีเลยทีเดียวครับ



การกินอยู่นั้นปลาชนิดนี้จะกินปลาขนาดเล็ก สัตว์มีเปลือกเช่นกุ้ง หอยขนาดเล็ก ตัวอ่อนของยุง แมลงวัน

รวมไปถึงพืชจำพวกสาหร่ายขนาดเล็ก

ปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในแหล่งน้ำกร่อยด้วยนะครับ นับว่าเป็นปลาที่มีความสามารถในการปรับตัวมากทีเดียว

กินก็ง่าย อยู่ก็ง่าย อย่างนี้ น่าเลี้ยงไม๊ล่ะครับ นอกจากเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้ว มายันน้อยยังมีเนื้อที่อร่อย

ในสมัยอารยธรรมมายันยังรุ่งโรจน์ ปลาชนิดนี้ถูกนำมาบริโภคด้วยเช่นกัน แม้ในปัจจุบันนี้เองก็ตาม

มายันมากมายยังเชิดหน้าชูตา ในฐานะอาหารเลิศรสตามภัตคารหรูหลายแห่งในฟลอริด้า สหรัฐเชียวนะครับ









อ้าว..... ว่าจะเขียนเล่นๆ ให้สั้นสักหน่อย เผลอแผลบเดียวร่ายยาวมาเสียเยอะเชียวนะครับ
ขออภัยด้วยก็แล้วกัน แบบว่า ของมันสนุกมือ


ปิดท้ายด้วยรูปที่ถ่ายไว้เอง 4 รูปครับ








สวัสดี




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2553    
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 11:11:53 น.
Counter : 4156 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.