Group Blog
 
All blogs
 

Color sweet Cichlid Part 1 : Microgeophagus altispinosus

ณ สวนจตุจักร

วันที่เฝ้า เดือนที่รอ พ.ศ.ที่คิดถึง




วันนี้อากาศร้อนบัดซบ ผมก้มๆ เงยๆ อยู่หน้าตู้ปลาที่วางเรียงรายกันเต็มผนัง
สายตาจับจ้องมองหาปลาตัวที่หมายมั่น ปั้นมือว่าจะหามาเลี้ยงให้จงได้

หาอยู่นานจนขาสั่น ในที่สุดเจ้าของร้านแกคงทนไม่ไหวเพราะพฤติกรรมของผมมันคล้ายคนมาขอหวยมากกว่ามาหาปลา

“สอบถามได้นะครับ” เจ้าของร้านหน้าตาเหมือนโจรแบ่งแยกดินแดนเอ่ยขึ้นข้างๆ ทำเอาผมสะดุ้งพองาม

“ครับ” ผมตอบสั้นๆ สายตาแค่เหลือบมองผ่านๆ

แกเดินห่างออกไปเหมือนคนเสียความมั่นใจอย่างแรง ซักพักพอแกรวบรวมความกล้าได้

แกจึงตรงมาที่ผมอีกครั้งหนึ่ง

“หาปลาอะไรอยู่หรอครับ” น้ำเสียงสงสัยปนเกรงใจนิดๆ ซึ่งถือเป็นมารยาทอันดีของคนไทยดังข้างๆ ตัวผมอีกแล้ว

ถ้าเป็นคนอื่นคงหงุดหงิดเจ้าของร้านปลาร้านนี้ แต่ผมเข้าใจแก เพราะผมอยู่ในร้านแกนานพอสมควร

สมมุติ ถ้าแกปวดขี้ขึ้นมา สิ่งที่แกทำได้คือ รีบๆ บริการลูกค้าคนนี้ให้เสร็จไวๆ

“อ่อ ผมหาปลาหมอ แรมโบลิเวีย อยู่น่ะครับ” ผมหันมาสบตา แล้วบอกสิ่งที่ผมต้องการ

เมื่อได้รับฟังคำตอบจากผมแล้ว เจ้าของร้านอึ้งนิดๆ และทำหน้าครุ่นคิดอยู่ซักพักหนึ่ง ก่อนบอกกับผมว่า

“ไม่มีครับ”

“ขอบคุณครับพี่” ผมพยักหน้าและบอกขอบคุณก่อนเดินออกจากร้านไป




ปลาหมอแรมโบลิเวียไม่ใช่ปลาหมอหายากในอดีต แต่ทุกวันนี้กลับหายหน้า หายตาไปอย่างไร้ร่องรอย

ทั้งๆ ที่สมัยก่อนมีให้ซื้อหากันมากมายจนกลายเป็นปลาธรรมดาๆ ไปเสียอย่างนั้น

ผมเลี้ยงปลาหมอแรโบลิเวียตัวสุดท้ายเมื่อราวๆ 4-5 ปีก่อน
ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าเลี้ยงแบบปล่อยทิ้ง ปล่อยขว้างมากๆ
ด้วยในตอนนั้นยังไม่รู้คุณค่าความงามที่แท้จริงของมัน

ผมเลี้ยงแรมโบลิเวียไว้ในตู้ 24 นิ้วที่มีกระถางต้นไม้เล็กๆ กองสุมเต็มไปหมด ขอนไม้ทรงน่าเกลียดวางไว้ด้านหลังตู้

ระบบกรองใช้เพียงแค่กรองฟองน้ำแค่นั้น และมีปลาตัวเล็กๆ อยู่อีกนิดหน่อย แต่จำไม่ได้ว่าปลาอะไร

ตู้ 24 นิ้วใบนั้นค่อนข้างหดหู่เพราะไม่มีไฟส่องสว่าง วางไว้ตรงชั้นหน้าห้องน้ำ ให้อาหารบ้าง เปลี่ยนน้ำนานๆ ที

ส่วนใหญ่จะเน้นเติมน้ำให้ซะมากกว่า

ปลาในตู้นั้นตายจากกันไปหลายปีแล้ว เนื่องจากอากาศหนาวเย็นช่วงต้นปี พัดพาเอาปลาในตู้ 24 นิ้วไปเฝ้าเง็กเซียนจนสิ้น

จากนั้นผมก็ไม่ได้สนใจปลาหมอตัวนี้อีกนานหลายปี



เมื่อหลายเดือนที่แล้ว อยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาซะเฉยๆ เปิดหนังสืออ่านเรื่องราวแล้วอยากหามาเลี้ยง

แต่คราวนี้ตั้งใจจะเลี้ยงให้ดีให้จงได้ จะไม่เลี้ยงทิ้งๆ ขว้างๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ปลาหมอแรมโบลิเวียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า microgeophagus altispinosa (Haseman, 1911)

มีชื่อทางการค้าว่า Bolivian Butterfly Cichlid


ชื่อ altispinosa เป็นภาษาลาติน แยกออกเป็น 2 คำคือ

Altus แปลว่าสูง และ Spinosus แปลว่าลักษณะที่เป็นหนาม รวมสองคำแล้วแปลว่า “ปลาที่มีครีบกระโดงสูง”
(พิชิต ไทยยืนวงษ์ /มหัศจรรย์พันธุ์ปลาหมอสี พิมพ์ครั้งที่ 1 ISBN 974-90016-2-1 หน้า 82)

โดยเมื่อถูกพบครั้งแรกได้ถูกตั้งชื่อว่า Crenicara altispinosa
ด้วยลักษณะที่คล้ายปลาหมอ รามิเรซ และพบกระจายอยู่ในประเทศ โบลิเวีย จึงถูกตั้งชื่อทางการค้าว่า “ปลาหมอแรมโบลิเวีย”



ลองเอาชื่อวิทย์ของปลาหมอแรมโบลิเวียมาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู
พบว่าปลาที่สายพันธุ์ดีนั้น สีสันสวยงามกว่าที่คิดไว้มาก

แต่ที่เห็นในบ้านเราจะไม่สวยแบบนี้ อาจเพราะสายพันธุ์ที่ได้มาไม่ดีเพียงพอ

ทำให้ครีบเครื่องครีบต่างๆ ดูหงิกงอ สีสันที่ควรสว่างสดใจ
กลับกลายเป็นเพียงรอยปื้น สีน้ำตาลกระจายไปทั่วลำตัว หัวและหน้าของปลา

อีกประการหนึ่งคือ ฟาร์มที่เพาะพันธุ์ไม่ได้สับสายเลือดของปลา
ทำให้ปลาเลือดชิด ผลผลิตออกมาไม่สวยงามเหมือนที่ตลาดคาดหวังไว้

จนทำให้ผู้ซื้อเอือมระอา หมดอาลัยตายอยาก จนไม่สนใจปลาตัวนี้อีกเลย





ปลาหมอแรมโบลิเวียที่สวยนั้น พื้นลำตัวต้องเป็นสีเนื้ออมเทานิดๆ

ส่วนแก้มและแผ่นปิดเหงือกจะมีสีเหลือบฟ้า-เขียวสะท้อนแสง
ตรงช่วงหน้าจนถึงกลางลำตัวควรเป็นสีเหลืองออก ไปจนถึงเหลืองเกือบเข้ม

เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์สีตรงที่ว่านี้จะเข้มขึ้นไปอีก





บริเวณดวงตาจะมีแถบสีดำพาดผ่านดวงตาทั้งสองข้าง

ตรงกลางลำตัวปรากฏจุดปื้นสีดำขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณะของปลาหมออเมริกาใต้หลายๆ ตัว

บริเวณกลางลำตัวช่วงท้าย ไล่ไปจนถึงหางปลาจะมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนพาดไป-มาจนถึงโคนหาง

เหลือบของเกล็ดเมื่อกระทบแสงแดดที่สาดส่องเข้ามาจะมีเหลือบสีฟ้าบางๆ ดูสวยงามมากทีเดียว


ครีบกระโดงต้องสูง ตรงสง่า ก้านครีบแข็งสามก้านแรกจะมีสีดำสนิท

ส่วนครีบถัดจากนั้นจะมีสีเหลือบเหลือง มีเส้นสีขาวที่ด้านของครีบกระโดง และขลิบด้วยแถบสีชมพูเข้มอีกที

ด้านท้ายสุดของครีบกระโดงจะมีสีออกส้มและมีจุดสีฟ้าสว่าง



ด้านครีบอกจะมีสีชมพูสด ครีบอกจะมีแถบเส้นสีขาว-ฟ้าพาดผ่านประมาณ 4-5 เส้น

ส่วนครีบก้นจะมีสีชมพูเข้ม มีจุดสีขาว-ฟ้า กระจายอยู่ด้านท้ายของครีบ เหมือนช่วงท้ายของครีบกระโดงหลัง

ครีบหางมีลักษณะใส มีก้านครีบพากผ่านไปมาเป็นรูป ตัว วี ในแนวนอน

ขอบบน-ล่างของครีบหางจะมีแถบเส้นสีชมพูเข้มเป็นแนวอยู่ทั้งบนและล่าง
เมื่อปลามีอายุมากขึ้น
เส้นที่ว่านี้จะยาวขึ้นจนเป็นเหมือนเปียสีชมพูเข้มสด ดูน่าหลงใหลมากๆ




ผมเฝ้าเพ้อฝันไปว่า ในบ้านเราน่าจะมีปลาสวยๆ แบบนี้คอยประดับวงการตลอดไป

เลยคิดจะพยายามเสาะหามาเลี้ยงให้ได้ เพื่อหวังว่าถ้าเพาะได้คงจะได้แจกจ่ายสายพันธุ์ให้เพื่อนๆ ที่ชอบปลาชนิดนี้บ้าง


แต่ดูความหวังมันช่างเลือนลาง


ผมหยุดอยู่ที่ร้านขายปลาเล็กปลาน้อยในบริเวณพลาซ่าที่โซนสัตว์เลี้ยง
วันนี้คนพลุกพล่าน สาวๆ หน้าตาจิ้มลิ้มเดินดูหมา-แมวกันหน้าสลอน





ร้านนี้เป็นร้านที่ผมรู้จักและอุดหนุนมาหลายปี พี่เจ้าของร้านใจดี
รูปร่างอวบอั๋นของแกบ่งบอกให้ทราบว่า บัดนี้แกใกล้จะเป็นเสี่ยไปเสียแล้ว

“สวัสดีครับพี่โอ๋” ผมกล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง

“สวัสดีครับ” พี่โอ๋เจ้าของร้านยิ้มแย้มตอบกลับ

“พี่โอ๋ พอจะหาปลาหมอ แรมโบลิเวียบ้างได้ไหมครับ” ผมไม่อ้อมค้อม ยิงคำถามใส่ทันที

พี่โอ๋หยุดคิดแป๊บนึงแล้วตอบมาว่า

“โอย.......ผมก็หาอยู่ครับ แต่ของไม่มีเลย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างเพื่อนๆ ผมที่ไต้หวัน มาเลย์ สิงค์โป ก็ไม่มีเลยครับ”

แกตอบแบบดับฝันของผม แต่สีหน้าแกบ่งบอกให้รู้ว่า แกก็ใจเดียวกับผมเช่นกัน

“หรอครับ อืม.....ไม่เป็นไรครับพี่ ผมเองก็หาอยู่ เดี๋ยวได้เรื่องยังไงจะมาบอกกล่าวครับ”

ผมลาแกแล้วเดินคอตกออกจากร้าน จมูกพลันได้กลิ่นสาบเหม็นเหมือนขี้ของสัตว์กินพืชหน้าขน

ไอ้ร้านตรงข้ามร้านพี่โอ๋นี่เอง ร้านนี้มีดีที่กลิ่นครับ
แขกไปใครมา โคตรน่าอวดอ้างมากๆ ว่าประเทศเรามีร้านขายนก ขายกระต่ายที่มีกลิ่นเหมือนรถขนขี้คว่ำอยู่หน้าร้าน

กลิ่นเกินจะทานทนจริงๆ บอกตรงๆ ผมไม่ใช่คนกระแดะนะ แต่ถ้าอยู่ไอ้ร้านนี้สักสองวัน ให้ดมขี้ก็คงหอม....





ปลาหมอแรมโบลิเวียไม่ใช่ปลาใหญ่โตอะไร ขนาดตัวผู้โตเต็มที่ส่วนใหญ่ก็ราวๆ 3.5 นิ้ว ส่วนตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย

การแยกปลาเพศผู้-เมียไม่ยากนัก ดูได้จากเครื่องครีบ และสีสันของปลา ที่มีครีบยาว สีเข้ม ก็ตัวผู้

ส่วนตัวที่สีอ่อน เครื่องครีบเล็กและไม่ยาวก็ตัวเมีย


ตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนตัวเมียเมื่อพร้อมผสมพันธุ์ส่วนท้องจะอ้วนขึ้น
ผู้เพาะพันธุ์ส่วนใหญ่มักเลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัว เพื่อให้ปลาจับคู่

เมื่อปลาจับคู่จะแยกปลาออกมาใส่ไว้ในตู้เพาะ ภายในตู้มีเพียงกรองฟองน้ำ
หาที่หลบซ่อนเพื่อให้ปลารู้สึกปลอดภัยเช่น ขอนไม้ผูกติดกับต้นไม้

จัดวางหินแผ่นเรียบวางลงไปแถวๆ ขอนไม้ หรืออาจจะใช้กระถางดินเผาก็ได้





เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์แล้ว ปลาทั้งสองจะช่วยกันทำความสะอาดแผ่นหินหรือวัสดุจมใต้น้ำ

ปลาตัวเมียจะวางไข่อย่างเป็นระเบียบก่อน จากนั้นปลาตัวผู้จะเข้ามาฉีดน้ำเชื้อเพื่อให้ไข่เกิดการปฏิสนธิ

กิจกรรมสวาทใช้เวลาซักพัก เมื่อเสร็จสิ้นพ่อปลาจะออกไปเฝ้าระวังภัยรอบๆ
ส่วนแม่ปลาจะเฝ้าบริเวณไข่ และใช้ครีบพัดโบกให้ไข่ได้รับออกซิเจน

แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ถึง 200 ฟอง
การที่เอาขอนไม้วางบังไว้ที่ด้านหน้าของหินที่ปลาวางไข่ เป็นการป้องกันปลาตกใจกินไข่

เนื่องจากเมื่อปลาวางไข่จะค่อนข้างมีการระวังภัยสูง หาสถานที่เพาะพันธุ์มีสิ่งรบกวนมาก

แม่ปลาอาจเครียด และรู้สึกไม่ปลอดภัย จนกินไข่ปลาเสียหมด





ผมหยุดซื้อน้ำอ้อยหนึ่งขวดจากแม่ค้าสาว หน้าตาเหมือนโคโยตี้ตามงานปิดทองลูกนิมิต

เธอขายเยื้องๆ หน้า JJ mall แสงแดดที่สาดส่องมา ทำให้เข้าใจว่าเธอคงร้อน รู้สึกไม่สบายตัวหากใส่เสื้อผ้ามือชิด

แต่ขอทีเถอะ ไอ้เสื้อShirt ที่มีกระดุมแค่สามเม็ดเนี่ย อย่าใส่ได้ไม๊
เวลาคุณเธอก้มๆ เงยๆ หยิบน้ำอ้อยให้ลูกค้า หน้าอกหน้าใจของเธอแทบทะลักออกมากองบนถนน

ไอ้กระผมเองก็ไม่ใช่คนดีเด่อะไร แต่พอมันเห็นแบบนี้ก็ได้แต่รู้สึกเป็นห่วงจริงๆ
เพราะเกิดเธอหันร้านผิด หันไปทางถนนใหญ่แล้วล่ะก็ มีหวังรถที่ขับขี่สรรจรกันไปมา คงได้ชนกันวินาศสันตะโร เป็นแน่

เปิดน้ำอ้อยจะกิน คุณเธอก้มลงไปนั่ง เล่นเอาผมกลืนน้ำอ้อยดัง “ อ้อออออออออออออ............ย”





ผมเดินฝ้ามลพิษของเมืองหลวงข้ามาที่ตลาด อตก.

อย่าเข้าใจผิดว่าผมจะมาซื้อกับข้าวนะครับ

ผมไปเพราะจะไปร้านขายปลาหมอสีสายแท้อีกร้านหนึ่งที่อยู่ที่นั่น
ร้านที่ว่านี้คือ ร้านเต้ย-ส้มครับ


“สวัสดีครับเฮียส้ม” ผมยกมือไหว้ตามมารยาทกับเฮียส้มเจ้าของร้านใจดี

“อ้าว แล้วพี่เต้ยไปไหนล่ะครับ” ผมถามต่อเมื่อมองไปรอบร้านแล้วไม่เจอพี่เต้ย เจ้าของร้านอีกคน

“อ่อ เปลี่ยนผ้าอนามัยอยู่ในห้องน้ำน่ะ” เฮียส้มตอบแบบหน้าตาเฉย เล่นเอาผมสะดุ้งโหยง

ก็จะไม่ให้สะดุ้งได้ยังไงล่ะครับ ก็พี่เต้ยของผม เขาเป็นผู้ชาย....





สักพักพี่เต้ยก็ออกมา เราทำการแซวกันเล็กน้อยตามประสาคนคบหาดูใจกันมานาน

“พี่เต้ยครับ พี่พอจะหา แรมโบลิเวีย ได้ไหมครับ” ผมยิงคำถามแบบตรงประเด็น


พี่เต้ยคิดซักแป๊บหนึ่งก่อนตอบว่า...

“เดี๋ยวพี่ลองหาให้นะ เดี๋ยวถามฟาร์มที่แกเคยส่งให้พี่เมื่อก่อนดู” แกตอบแบบให้ความหวังเล็กๆ กับผม


ซักพักเดียวแกก็หาเบอร์ฟาร์มที่ว่าจนเจอ จากนั้นก็ได้เรื่องครับ

“เขาไม่ได้เพาะแล้วนะ เขาว่าไปลุยกับโจรใต้ได้เงินเยอะกว่า” พี่เต้ยตอบแบบติดตลกร้าย


ผมเซ็งนิดๆ แต่ก็อดชื่นชมในความทุ่มเท ให้กับลูกค้าของร้านนี้จริงๆ ตั้งแต่รู้จักร้านนี้มา แกมีไมตรีดีๆ กับผมแบบนี้เสมอ





การเลี้ยงปลาหมอ แรมโบลิเวีย นั้นไม่ยาก ไม่ง่าย

อันดับแรกเลยคือมักมีคนบอกว่า แรมโบลิเวีย นั้นอยู่ดีๆ ก็ตายจากกันไป
ข้อนี้ผมเคยได้ยิน แต่ไม่เคยประสบกับตัวเองนะครับ

ข้อสังเกตแรกคือ ก่อนซื้อ เราได้ดูสภาพของปลา ขณะที่อยู่ที่ร้านหรือไม่
ว่าสภาพในตู้นั้น น้ำดี มีระบบกรอง สภาพปลาโอเค ไม่หอบ ไม่แอบ ครีบว่ายไม่ห่อ ปลากินและขับถ่ายดีหรือไม่

ก่อนซื้อ ควรถามทางร้านว่า ให้อาหารอะไร ให้ล่าสุดเมื่อไหร่ นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพฤติกรรมของปลาที่เราจะรับมาเลี้ยงได้อย่างดี


ทางที่ดี ขอให้เจ้าของร้านให้อาหารสักเล็กน้อย เพื่อเราจะได้ดูว่าปลาตื่นตัวดีไหม แต่แนะนำให้น้อยๆ พอนะครับ

พอเห็นว่าปลาสภาพดีแล้ว ก็บอกจองเอาไว้ได้เลย เดี๋ยวมาเอา ทิ้งเวลาซัก 3-4 ชั่วโมง

เพราะการขนย้ายปลาในขณะที่ปลาเพิ่งกินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

เพราะไหนจะต้องโดนไล่ตัก ใส่ถุง อัดอ๊อก และถูกเราหิ้งปุเลง ปุเลง ไป-มา
กว่าจะได้ปล่อยปลามีหวังปลาคงท้องอืด เครียด และไม่พร้อมสำหรับการปรับตัวแน่ๆ ครับ





จากที่ผมหาอ่านทั้งในเวป และหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทำให้รู้ว่า ปลาหมอแรมโบลิเวีย ไม่ได้เลี้ยงยากอะไรนัก

ขอให้น้ำสะอาดเหมือนการเลี้ยงปลาเล็กทั่วๆไป นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ชอบเลี้ยงปลาชนิดนี้ในตู้พรรณไม้น้ำที่หนาแน่นซักหน่อย

มีที่หลบซ่อนให้ปลา แต่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่มีต้นไม้น้ำก็ได้เช่นกัน
ใส่ขอนไม้ กระถางดินเผา หินหลายๆ ขนาดลงในตู้ก็ย่อมได้

ในธรรมชาติ ปลาหมอแรมโบลิเวียกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่นตัวอ่อนของแมลงน้ำ ที่อยู่ในสายน้ำรวมไปถึงพวกที่ซุ่มซ่อนในพื้นทราย





พฤติกรรมที่น่ารักในการหากินของมัน ทำให้ผู้เลี้ยงต่างหลงใหลกับวิธีการหาอาหารของมัน

ปลาหมอแรมโบลิเวียมักจะจิกกินอาหารต่างๆ ตามเศษซากใบไม้ ขอนไม้ใต้น้ำ

หากอาหารอยู่ใต้พื้นทราย มันมักจะใช้วิธีจิกลงไปทั้งทรายแล้วร่อนทรายออกจากปาก และเหงือก ส่วนอาหารนั้นจะถูกแยกลงคอไป

พฤติกรรมนี้เหมือนปลาหมอในกลุ่ม Eartheater ทั้งหลายที่เชื่อว่าผู้ที่หลงใหลปลาหมอในกลุ่มอเมริกาใต้ต้องเคยเลี้ยงเป็นแน่

ในที่เลี้ยงเราสามารถให้อาหารสำเร็จรูปได้เลย ปลามักจะไม่ปฏิเสธ การให้อาหารควรให้แต่เพียงน้อย ให้เยอะปลาอาจตะกละกินเข้าไปมากจนทำให้ท้องอืดได้

อาหารสดปลานั้นชอบมาก แต่ควรล้างทำความสะอาดให้ดีๆ





เคยอ่านเจอมาว่าปลาหมอแคระในอเมริกาใต้ในสกุล Apistogramma นั้นแพ้เกลือ

เนื่องจากถิ่นอาศัยห่างไกลจากมหาสมุทร การได้รับเกลือเพียงน้อยนิด อาจทำให้ปลาตายได้


ซึ่งข้อนี้ค่อนข้างเป็นที่สังเกตของตัวผู้เขียนว่า ปลาหมอแรมโบลิเวียเองจะแพ้เกลือด้วยไหม


เหตุเพราะหลายท่านได้บอกเล่าว่า เลี้ยงๆอยู่ก็ตายไปเฉยๆ

ข้อนี้เป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเอง หากได้ปลามาเลี้ยงจะลองแยกตู้เลี้ยงดูเพื่อหาความจริงมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป





วันนั้นท้องฟ้าในยามเย็นหมองหม่น เหมือนใจผม


ผมหิ้วของกลับมาถึงห้องด้วยความเหนื่อยอ่อน
มองตู้ไม้น้ำแล้วจินตนาการไปว่า มีปลาหมอแรมโบลิเวียว่ายไป-มาอยู่สามสี่ตัว

ตัวใหญ่สุดแน่นอน เป็นตัวผู้กำลังป้อตัวเมียที่เหลืออีกสามตัวอย่างไม่มีเขินอาย

หินแผ่นใหญ่ที่เตรียมไว้ถูกปลาตัวเมียที่ตอนนี้ท้องอูมเป่งเต็มไปด้วยไข่ จิกเศษสิ่งสกปรกตามประสาปลาออกไป

เจ้าปลาตัวผู้ไล่ปลาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกห่างจากสวาทสถานที่มันได้จับจองเอาไว้

ผมนั่งจินตนาการถึงปลาสีหวานที่ตอนนี้ได้หายไปจากวงการปลาสวยงามเมืองไทยมาได้ 2 ปีแล้ว

ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่ ปลาหมอแรมโบลิเวียจะกลับมาเยี่ยมเยียนเมืองไทยอีก

และก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้ากลับมา ผู้เลี้ยงคนไทยยังจะสนใจใยดีปลาหมอสีหวานๆ ตัวเล็กๆ ชนิดนี้อีกหรือไม่

แค่คิดก็หดหู่สุดขั้วหัวใจแล้วนะครับ



ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมหรือเปล่า.... ว่านับวัน ปลาหมอสีสายแท้ในบ้านเรายิ่งเหลือน้อยชนิดมากขึ้นทุกที


ไม่รู้เพราะปลาหมอสีสายแท้ไม่ชอบเมืองไทย หรือคนไทยไม่ชอบปลาหมอสีสายแท้เสียแล้ว






สวัสดี






 

Create Date : 03 ตุลาคม 2552    
Last Update : 3 ตุลาคม 2552 13:46:07 น.
Counter : 5199 Pageviews.  

Tyrannochromis : ปลาหมอ T-rex นักล่าใต้ท้องทะเลสาบ มาลาวี




ย้อนกลับไปเมื่อ 135-65 ล้านปีก่อน ในยุคครีเตเซียส สมัยนั้นมนุษย์คงยังเป็นเห็บลมอยู่กระมัง

ในโลกที่เราไม่เคยเห็น มีสิ่งมีชีวิตที่เราไม่รู้จักอยู่มากมาย มีรูปร่างแตกต่าง ประหลาดหลากหลาย

ในยุคนั้นเป็นยุคของไดโนเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครอบครองโลกนี้ทั้งใบ

แทบจะทั่วทุกที่ ล้วนมีไดโนเสาร์คอยอาศัยหากินอยู่ด้วยกันตลอด

พวกกินพืช หากินเป็นฝูง รูปร่างใหญ่โต อุ้ยอ้าย สายตาไม่ดีนัก
เดินขบวนไล่เล็มกินพืชไปทั่วทั้งแผ่นดินที่พวกมันเดินผ่าน

แต่ในป่าดงพงหญ้าเหล่านั้น หาได้มีเพียงอาหารอันโอชะเท่านั้น



สายตาคู่หนึ่งหลบซุ่มอยู่หลังดงต้นแมกโนเลีย และต้นมาเปิ้ล

ดวงตาขนาดใหญ่โตของมันคอยจับจ้องเหยื่อที่ทีขนาดใหญ่โต
มันเฝ้ามองหาเหยื่อที่เจ็บป่วย หรือไม่ก็ยังเด็ก เนื่องจากพวกนี้จะไม่ต้องใช้แรงมากในการล่า

เพราะการล่าทุกครั้งนั้น มีอันตรายถึงชีวิต
มันเฝ้ารอเหยื่ออย่างใจเย็น รอจนเห็นเป้าหมายแน่ชัดจึงได้กระโจนออกมาจากที่หลบซ่อน

เจ้าไดโนเสาร์นักล่าตัวนี้คือ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex)


ด้วยขนาดที่ใหญ่โต สูง 6 เมตร และยาวกว่า 15 เมตร
มันเป็นไดโนเสาร์ล่าเนื้อที่ยืนสองขา ที่เท้ามีกรงเล็บแหลมคมพร้อมจะขย้ำเหยื่อเคราะห์ร้ายอยู่เสมอ

ดวงตาใหญ่โตได้หรี่เล็กลงเพราะเห็นเป้าหมาย หัวที่ใหญ่โตของมันเยื้องไปข้างหน้า
พร้อมกับขาและหางที่ช่วยให้มันไล่ล่าเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

เสียงฝีเท้าอันหนักแน่นแฝงไว้ด้วยความโหดร้ายแห่งสัญชาติญาณนักล่า ทำให้เหยื่อต่างแตกตื่นหนีกระเจิง



เหยื่อของมันคราวนี้คือ สเตกอซอรัส ไดโนเสาร์กินพืชที่มีเกล็ดแข็งที่หลังยาวเป็นแผงสำหรับป้องกันตัว
และมีหางที่เหมือนตุ้มเหล็กเป็นอาวุธ

สเตกอซอรัสวิ่งช้า เมื่อเจอภัยมันจึงหันหลังให้และใช้หางขนาดใหญ่คอยโบกพัด เพื่อป้องกันตน

เจ้า T-rex ตัวนี้ไม่ใช่นักล่ามือใหม่ มันมีแผลเป็นจากการโดนหางของสเตกอซอรัสมาแล้ว

มันหยุดรอเหยื่อใกล้ๆ และค่อยๆ ต้อนเหยื่อให้เข้าสู่มุมอับ ด้วยเสียงร้องอันน่าหวาดกลัว

สเตกอซอรัสถอยร่นจนติดมุมอับของภูผา มันยังคงโบกพัดหางเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี
แต่เมื่อเจ้า T-rex พุ่งเข้าชาร์ตตรงๆ นั้น หางของมันกลับไร้ประโยชน์

T-rex มิได้มีเพียงกรงเล็บเท่านั้น แต่มันยังมีปากขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยฟันหยักดุจใบเลื่อย

มันใช้ฟันเลื่อยเข้าฉีกกัดร่างเหยื่ออย่างไร้ความปราณี
เพียงไม่นาน เสียงโหยหวนของ สเตกอซอรัส ก็พลันเงียบไป ทิ้งไว้เพียงฝุ่นดินที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ






นั่นเป็นเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นใน ยุคครีเตเซียส ที่ผ่านมานานนมแล้ว
แม้ในปัจจุบัน T-rex จะสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่นำเอาข้อดีของมันมาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่เช่นกัน

หลายท่านอาจเดาว่าเป็น หมีแพนด้า หรือนกแพนกวิ้น อันนี้ต้องแสดงความเสียใจด้วย
เพราะท่านคิดผิด ในบทความนี้จะแนะนำปลาหมอสีตัวหนึ่ง
ที่มีวิธีการล่าไม่ได้แตกต่างจาก ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ เลยแม้แต่น้อย เผลอๆ อาจจะมีความว่องไวและรวดเร็วกว่าเสียด้วยซ้ำ

ปลาหมอที่ว่านี้อาศัยอยู่ในทะเลสาบ นยาซา หรือปัจจุบันเรียกขานกันว่า ทะเลสาบมาลาวี
มันมีอะไรดี จึงเปรียบได้กับ T-rex ใต้ทะเลสาบ
มีวิธีการล่า หากินอย่างไร
มันมีความดุร้ายที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้หรือมันน่าสนใจตรงไหน

ลองมาอ่านกันดูนะครับ....



Tyrannochromis ปลาหมอในกลุ่ม Haplochromis หรือ Hap เป็นปลาหมอขนาดกลาง-ใหญ่ที่ว่ายท่องไปทั่วในทะเลสาบมาลาวี
พวกมันมีหลากหลายสายพันธุ์ หลายสีสันและอุปนิสัย บ้างกินพืช บ้างกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก บ้างกินแม้กระทั้งปลาด้วยกันเอง....

จากชื่อสกุล ผู้อ่านจะเห็นคำว่า Tyranno ซึ่งคำนี้ได้มาจากชื่อของ ไทรันโนซอรัส (Tyrannosaurus) ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่เขียนไว้ในตอนต้นนั่นเอง
Tyrannochromis เป็นปลากินเนื้อ มักท่องตระเวนไปทั่วทั้งทะเลสาบ โดยมักพบว่าจะวนเวียนไม่ไกลจากปลาหมอกลุ่ม *Mbuna นัก

เมื่อออกล่าจะใช้สีสันและลวดลายที่ติดตัวมาพลางตัวคอยดักซุ่มอยู่ตามกองหินหรือกอสาร่าย เมื่อเหล่าปลา Mbuna น้อยว่ายเพลินหลงเข้าระยะหวังผล เจ้า Tyrannochromis จะสะบัดหางพุ่งตัวเข้าจู่โจมในยามเผลอ



ในสายน้ำสีฟ้า ที่ปกคลุมไปด้วยตะกอนใต้ผืนทราย เหล่าปลาน้อยต่างจับกลุ่มอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุ สายตาเฝ้าระวังของทุกตัวคอยสอดส่องมองหา ผู้ล่าอย่างระทึก แทบทุกตัวหายใจถี่หอบ เฝ้ามองเงาทะมึนภายใต้ผงตะกอน

เมื่อตะกอนจางหายไปแล้ว เงาทะมึนดำแหวกว่ายหายไป เหล่าปลาหมอ Mbuna สีสวยก็เฝ้าหากินตามกองหินอย่างสงบ

จ่าฝูงคอยเฝ้าระวังเภทภัยอยู่เหนือกองหินโดยมีปลาตัวเมียรายล้อม เป็นภาพที่งดงามยากจะลืม....
Tyrannochromis เพศผู้เท่านั้นที่จะมีสีสันสวยงาม ส่วนเพศเมียจะมีเพียงสีเงิน และลวดลายสีดำตามตัวแล้วแต่ชนิด



เจ้า Tyrannochromis นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิดคือ...

Tyrannochromis macrostoma (Regan, 1922)
Tyrannochromis maculiceps (Ahl, 1926)
Tyrannochromis nigriventer Eccles, 1989
Tyrannochromis polyodon (Trewavas, 1935)



ส่วนตัวผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเคยมีการนำ Tyrannochromis มาขายในบ้านเราหรือไม่
แต่จากที่คอยสอบถามได้ความมาว่า เคยมีเจ้า Tyrannochromis nigriventer เพียงชนิดเดียวที่เคยหลงเข้ามา
ที่เหลือนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาแต่อย่างใด
ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของ Tyrannochromis ทั้ง 4 ชนิดกันดีกว่านะครับ



Tyrannochromis macrostoma (Regan, 1922)
มาโครสโตม่า เป็น ไทรันโนโครมิสที่มีขนาดใหญ่ โดยโตได้เต็มที่จะมีขนาดราว 10-14นิ้ว
เจ้านี่ถือว่าเป็นปลาหมอนักล่าที่น่ากลัวมากๆ ในทะเลสาบมาลาวี ด้วยขนาดที่ใหญ่โต ปากกว้าง
สีฟ้า-น้ำเงินที่ตัวก็กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ลายน้ำเงินเข้ม จางๆ ที่ตัวก็สามารถเป็นเครื่องมือในการพลางตัวได้อย่างดี
บริเวณครีบหลังมีขลิบสีขาว ด้านใต้คาง ครีบอก ครีบท้อง รวมถึงส่วนล่างของหางจะมีสีเหลืองสด
ก้านครีบอกก้านแรกจะเป็นสีขาว ครีบก้นมีจุดสีฟ้าตัดกับสีเหลืองแลดูสวยงาม



Tyrannochromis maculiceps (Ahl, 1926)
มาคูลิเซพส์ มีขนาดความยาวราวๆ 10-14 นิ้ว แต่ความดุร้ายและความสวยงามนั้นไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่า T. Macrostoma จะมีสีสันที่สดใส
แต่เจ้า มาคูลิเซพส์ กลับมีสีสันที่เข้ม และดุดันกว่า โดยจะออกโทนน้ำเงิน เขียว ม่วง และยังมีแถบสีดำลากผ่านบริเวณกลางลำตัวหนึ่งเส้น และบริเวณใกล้ครีบหลังอีกหนึ่งเส้น ด้านล่างของลำตัวตั้งแต่คาง ครีบอก ท้อง ครีบก้นจะมีสีเหลืองเข้มสดกว่า มาโครสโตม่าด้วย

สำหรับมาคูลิเซพส์นี่ จะมีความผันแปรในเรื่องของสีสันเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่แหล่งที่มานะครับ เป็นชนิดที่มีเลี้ยงกันพอสมควรในเมืองนอกเลยนะครับ



Tyrannochromis nigriventer Eccles, 1989
ตัวนี้เป็นตัวแรกเลยที่ผมรู้จัก เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือ นิกริเวเตอร์ นั้นจะมีลักษณะที่คล้ายกับ มาโครสโตม่า

แต่จะต่างกันที่ มาโครสโตม่านั้น มีช่วงล่างและครีบก้นสีเหลืองสว่าง ส่วน นิกริเวเตอร์จะมีครีบก้นสีส้มแดง

ตามเนื้อตัวจะมีจุดดำจางๆ ทั่วตัว ที่หน้ามีแถบดำพาดผ่านดวงตา โดยขนาดตัวจะมีขนาดราวๆ 14 นิ้ว

นิกริเวนเตอร์จะมีแบ่งแยกเป็นสองชนิดนะครับ นั่นคือ ทางเหนือ และใต้ โดยปลาจากทางเหนือจะมีสีของหางเป็นสีส้มเหลือง ส่วนทางใต้จะเป็นสีส้มแดงครับ



Tyrannochromis polyodon (Trewavas, 1935)
ตัวนี้เป็นตัวที่ผมเหนื่อยหน่ายใจที่สุดครับ เพราะข้อมูลนั้นน้อยเหลือเกินจะว่าด้วยหายาก หรือไม่นิยมเลี้ยงก็ไม่ทราบนะครับ แต่จะละไว้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันจะไม่ครบเสีย

โพลโยดอน มีลักษณะที่คล้ายกับ นิกริเวนเตอร์พอสมควร แต่จะมีขนาดเล็กซักหน่อย คือราวๆ 18.5 ซม.

จากที่ค้นหาข้อมูลมานั้นมีแต่รูปที่เป็นวิชาการ และตัวปลาไม่มีสีสันเต็มที่เท่าใดนัก

จึงทำให้การแยกลักษณะเด่น-ด้อยเป็นไปได้ลำบากพอสมควร แต่คิดว่าไม่น่าแตกต่างจากสามชนิดที่กล่าวไว้แล้วแน่นอนครับ




รู้จักลักษณะโดยทั่วไปแล้วทั้ง 4 ชนิด คราวนี้เรามาดูเรื่องการเลี้ยงดูบ้างนะครับ
ในธรรมชาติ Tyrannochromis เป็นปลากินปลาด้วยกัน แต่ในที่เลี้ยงสามารถกินอาหารได้ไม่เลือก ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด ไม่เกี่ยง

แต่ควรดูเรื่องคุณค่าทางสารอาหารเป็นหลัก และความหากหลายของชนิดและสารอาหารเป็นหลักครับ

ขนาดตู้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงนั้น ควรมีขนาดตั้งแต่ 60 นิ้วขึ้นไป เพราะ Tyrannochromis นั้นเป็นปลาหมอที่มีความดุร้ายพอประมาณ ไม่ถึงกับไล่เอาเป็นเอาตาย

การจัดตู้พื้นตู้ควรปูด้วยทรายหรือกรวดละเอียด ไม่จำเป็นต้องใส่หินมากมายนัก เน้นเหลือที่ว่างให้ปลาว่ายให้มากๆ ครับ ระบบกรองต้องดี มีพื้นที่ให้แบคทีเรียอาศัยเยอะๆ

เพราะ Tyrannochromis เป็นปลากินเนื้อ และกินมาก ถ่ายมาก การเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ในจำนวนที่ไม่มากจะเป็นการดีกับปลา



ปลาที่เลี้ยงรวม ร่วมกันได้นั้นควรเป็นปลาหมอในทะเลสาบมาลาวีที่มีขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงนะครับ เช่นปลาหมอ บลูดอลฟิน (Cyrtocara moorii) ปลาหมอรอสตราตัส (Fossorochromis rostratus) ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัส (Nimbochromis fuscotaeniatus) เป็นต้น


ควรหลีกเลี่ยงปลาหมอในกลุ่ม mbuna ขนาดเล็กเพราะอาจถูกจับกินเอาได้



การผสมพันธุ์ของปลากลุ่มนี้นั้น ต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่หรือบ่อ โดยใส่ตัวผู้ 1 ตัวต่อปลาตัวเมีย 3-5 ตัว

แม่ปลาจะฟักไข่ในปากเป็นเวลาราวๆ 14 วันเป็นอย่างน้อย ลูกปลาแรกเกิดจะอยู่กับแม่ปลาซักระยะ

อาหารในระยะแรกเป็นพวกไรทะเลแรกเกิด อาหารเม็ดขนาดเล็ก ลูกปลาในระยะแรกนั้นจะโตเร็วมากครับ



ในช่วงระยะเวลานี้ ร้านขายปลาหมอสายแท้ในบ้านเราต่างกระตุ้นตลาดด้วยการสั่งปลาใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ปลาสายพันธุ์ที่สมัยก่อนได้แต่ดูในนิตยสารนั้น ปัจจุบันหลายสายพันธุ์ต่างทยอยแหวกว่ายไป-มาในเมืองไทยอยู่ไม่น้อย

ผมเชื่อว่าหากวันนึงปลาหมอมาลาวีขนาดใหญ่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง Tyrannochromis คงเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะมีเข้ามากระตุ้นตลาดอีกเป็นแน่ครับ


สวัสดี...




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2552 9:20:32 น.
Counter : 6019 Pageviews.  

มาทำความเข้าใจเพิ่มเติม เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะกับปลาครับ

อันนี้ผมนำมาให้อ่านนะครับ

ต้องยกความดี ความชอบให้พี่ต้น แห่งเวป //www.genepoolaquarium.com/

ขอขอบคุณพี่ที่ให้ความรู้ดี ดี เสมอมาครับ

ไปอ่านกันเลย
v
v
v


การดื้อยา นั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่เราใช้ยา ที่เป็น ยาประเภท ยาปฏิชีวนะ กับ แบคทีเรียซะส่วนใหญ่ครับ เพราะยาพวกนี้มีกลไกการทำงาน ที่ละเอียดซับซ้อนมาก ความละเอียดซับซ้อนในที่นี้ หมายถึง ลงลึกในระดับโมเลกุล
และในเมื่อมันลงลึกในระดับโมเลกุล การปรับตัวของแบคทีเรีย ในการต้านยาพวกนี้จึงเกิดได้ง่ายมาก เพราะแค่กลายพันธุ์นิดเดียว ก็อาจจะสามารถต้านยาปฏิชีวนะใดๆได้แล้วครับ
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การเกิดการดื้อยา และการกลายพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นง่าย แต่คำว่าง่ายและเร็วในที่นี้นั้น ก็กินเวลานานมากๆครับ ไม่ได้เกิด ปุบปับ อย่างที่เข้าใจกันแน่นอน ต้องมีการใช้ยาซ้ำๆซากๆกันเป็นเวลานานพอสมควรครับ ไม่ใช่ครั้งสองครั้ง แน่นอน อย่างน้อยๆก็เป็นปีๆ จึงจะพบเชื้อดื้อยาได้

แต่ในความเป็นจริง ที่คนใช้ยาปฏิชีวนะมักไม่เข้าใจกันก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะกับปลานั้น เราจะเลือกใช้แต่ยาเจนเนอเรชั่นเก่าๆ แก่ๆ ทั้งนั้น ในการเริ่มต้นครับ ไม่ว่าจะเป็น เตทตร้า ออกซี แอมม๊อกซี่ ฯลฯ ที่เรารู้จักกันนี่แหละครับ จริงๆแล้ว มันเป็นยา ที่ผลิตค้นพบขึ้นมา นานมากๆแล้ว นานซะจน ฝุ่นจับแล้วครับ ตอนนี้ มียาใหม่ๆ กว่ายาพวกนี้ เยอะมากๆ เป็นร้อยๆชนิด สาเหตุที่มียาใหม่ๆก็เพราะว่า เชื้อโรค ณ. ปัจจุบันนี้นั้น มีวิวัฒนาการไปไกล และเกิดการดื้อยาพวกนี้มานานมากๆแล้ว เราจึงต้องพัฒนายาหนีมันให้พันไปเรื่อยๆครับ

แล้วทำไม เราจึงต้อง ใช้ยาเก่าๆ ที่ตอนนี้ไม่ทันสมัย เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่า ในความเป็นจริงนั้น ในธรรมชาติ เราจะพบเชื้อโรคที่ดื้อยาได้น้อยอยู่ครับ บางทีก็น้อยซะจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ จึงทำให้ยาเจนเนอเรชั่นเก่าๆพวกนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นบรอดสเปตรัม หรือออกฤทธิ์ได้วงกว้างทั้งแกรมบวกและลบ ยังคงใช้การได้อยู่ครับ
และที่สำคัญ การที่เราเลือกใช้ยาเก่าๆ ก่อน ก็เพราะว่า ถ้าในกรณีเหตุการณ์จริง เกิดเชื้อโรคดื้อยาเก่าขึ้นจริงๆ และถูกคัดกรอง โดยยาเก่าๆเรียบร้อยแล้ว เราก็ยังเหลือยาใหม่อีกมากมายหลายร้อยชนิด คอยจัดการกับมันอยู่ครับ ยังไงมันก็ไม่รอดแน่นอน
ในทางกลับกัน ถ้าเราดันไปใช้ยา ที่ใหม่ที่สุด แล้วเกิดไม่หายขึ้นมา แบบนี้ ก็หลอน ครับ ขนาดให้ยาดีที่สุดแล้ว ใหม่ที่สุดแล้ว มันยังทนได้ แล้วจะหาอะไรมาสู้กับมันอีก คำตอบมีเพียงอย่างเดียว คือ ก็ต้องถอยลงไปใช้ยาเก่าตัวอื่นจนกว่าจะเจอยาที่มันแพ้นั่นแหละครับ

ดังนั้น ถ้าใครได้อ่านถึงตรงนี้ คงจะจับไอเดียได้ว่า การดื้อยานั้น คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราในตอนนี้ ใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ?
ไอ้ดื้อน่ะ มันดื้อไปไกลแล้วครับ สำหรับยาโบราณเช่น แอมม๊อกซี่ฯ ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่ามันจะมาดื้อเอาตอนนี้ครับ

ประเด็นจริงๆก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อนั้นเราไม่ค่อยกลัวการดื้อยาเท่าไรครับ เพราะเรามีตัวเลือกอีกเยอะดังที่อธิบายไปแล้ว แต่การทำเช่นนั้น คือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำครับ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และที่สำคัญก็คือ มันทำลายระบบกรอง และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ซะหมดสิ้น การเลี้ยงปลา ไม่ใช่การดองปลาครับ ไม่มีอะไรตายตัว ไม่มีของวิเศษใดๆวิเศษไปกว่า ความรู้และความเข้าใจในการเลี้ยงอย่างแท้จริง

ส่วนในการใส่ยา หรือดองยาเพื่อป้องกันโรค ตามฟาร์มใหญ่ๆ นั้น เค้าจะใช้สารเคมี ที่มีฤทธิวงกว้าง ที่ไม่ใช่สารปฏิชีวนะครับ จึงไม่เกิดการดื้อยา เมื่อใช้ซ้ำๆซากๆกันเป็นระยะเวลานานๆ เปรียบเสมือนเรา เอาแอลกอฮอลฆ่าเชื้อโรคบนแผล นั่นแหละครับ ทำไมไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า ใชแอลกอฮอลฆ่าเชื้อ มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้วไม่ยอมเปลี่ยน เชื้อโรคมันจะดื้อยา จริงป่าวครับ

อ้อ ลืมบอกไปว่า
ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆ ที่ใชกับปลาได้ผลตอนนี้
เอาที่ใหม่ล่าสุด คือ เซปฟาโลสปอริน เจนเนอเรชั่นทรี
และ มาโบฟอกซาซิน ครับ




 

Create Date : 30 ตุลาคม 2551    
Last Update : 30 ตุลาคม 2551 11:56:24 น.
Counter : 739 Pageviews.  

N.cylindricus =====>>> ปลาน่ารัก ที่กำลังจะกลับมา....



สมัยที่ผมเริ่มหลงใหลในปลาหมอสายแท้ ผมมักจะท่องตะลุยไปทั่วในสวนจตุจักร
ทั้งร้านเล็ก ร้านใหญ่ ผมเข้าไปหมด ซื้อบ้าง ดูบ้าง พูดคุยขอความรู้บ้าง

ปลาหลายต่อหลายตัวผ่านมือผมไปด้วยความอยากได้ใคร่มี บางตัวไม่รู้ว่าเลี้ยงยังไงก็ยังซื้อหามาใส่ตู้

บางตัวอยู่นาน บางตัวก็จากไปเร็ว

หลังจากเป็นแบบนี้ไปนานๆ เข้าผมก็คิดได้ว่า

“น่าจะหาข้อมูลปลา ก่อนจะซื้อหามาเลี้ยง”

ไม่งั้นชีวิตน้อยๆ เหล่านี้อาจต้องจบลงเร็วก่อนเวลาอันสมควร

ในปี พ.ศ. 2545 ผมได้ประสบพบเจอกับหนังสือปลาหมอสีที่ชื่อว่า “มหัศจรรย์พันธ์ปลาหมอสี” ที่เขียนโดยพี่พิชิต ไทยยืนวงศ์

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผม ทำให้ผมได้รับทราบและรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งปลาที่มีอยู่แล้ว ปลาที่เคยเห็นและไม่เคยเห็น

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมหลงใหลปลาหมอดีมาสัน (Pseudotropheus demasoni)

ปลาหมอสกุล Aulonocara

ปลาหมอฟรอนโตซ่า(Cyphotilapia/Gibersossa frontosa )





ผมใช้หนังสือเล่มนี้เป็นทั้งครู ทั้งเพื่อนแก้เหงาอยู่หลายปีดีดัก

เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มโตขึ้น มีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงปลาหมอสีมากขึ้น (แต่ยังไม่พอ ต้องมากกว่านี้อีก)

ส่วนหนังสือนั้น ก็ดูแก่ชรา หน้าปกที่เคยสดสวยเริ่มเหลืองเก่า มีรอยยับตามขอบมุม

สันกาวเริ่มอ่อนล้าโรยแรง ยึดหน้ากระดาษเอาไว้แทบไม่อยู่


ผมมักเปิดหนังสือเล่มนี้ดูเสมอๆ แม้จะมีสภาพเก่าคร่ำครึเพียงใดก็ตาม

จนวันนึง ผมมาสะดุดกับปลาตัวนึงเข้าให้

ปลาตัวนี้เป็นปลาตัวกลมๆ ยาวๆ ริมฝีปากหนา ตาโต ตั้งแต่ส่วนหัวจรดข้อหางมีเส้นสีน้ำตาลเข้มพาดอยู่

ผมนึกเอะใจว่าทำไมผมถึงไม่ได้สนใจปลาตัวนี้เลยหน๋อ มันแต่ไปหลงชมชอบปลาอื่นๆ อยู่ได้

ทั้งๆที่ปลาตัวนี้ก็สวยดี มิได้ขี้เหร่แต่อย่างใด

เอาล่ะซิครับ งานนี้สนุกอย่างแน่นอน....





เวลาคนเรามันอยากได้อะไรขึ้นมา ถ้าเหาะไปได้ก็คงเหาะไปคว้าเลยนะครับ

ผมเองก็เช่นกันรีบนั่งรถไปสวนจตุจักรอย่างเร็วรีบ

ก้มๆ มองๆ ส่องหาปลาเป้าหมาย ได้แล้วก็คุยราคา ต่อรองนิดหน่อย

เจ้าของร้านก็จ้วงปลาขวับ อัดอ๊อก.....ฟู่ มัดถุง….”เปรี๊ยะ”

ผมก็กลับบ้านสบายใจพร้อมปลา 1 ตัว

ปลาที่ผมสอยมานี้มีชื่อว่า...ปลาหมอ ไซลินดริคัส (อันนี้เจ้าของร้านบอกมาครับ)

ชื่อวิทย์คือ Neolamprologus cylindricus Staeck & Seegers 1986

เมื่อได้ปลามาแล้วก็เอาถุงปลาแช่น้ำซัก 15 นาที ปรับน้ำเล็กน้อย
จากนั้นก็ปล่อยปลา นั่งดูสบายอารมณ์

คำว่า Neolamprologus หมายถึงเส้นใต้ตาของปลากลุ่มนี้
ส่วนคำว่า cylindro มาจากภาษาลาติน หมายถึงรูปทรงกระบอก
ซึ่งบ่งชี้ถึงรูปร่างของเจ้าปลาหมอน่ารักๆ ตัวนี้





ในธรรมชาติ N. cylindricus มักจะเฝ้าวนเวียนทำมาหากินแถวๆ กองหินที่ทับซ้อนกันจนเกิดซอกหลืบ หรือถ้ำ

ปลาจะจับกลุ่มกันอยู่ในระแวกถ้ำของตนเอง

เมื่อทราบดังนั้นในตอนที่เตรียมนำปลามาเลี้ยง

ผมได้เพิ่มหินก้อนกลางๆ ลงไปหลายก้อน ในตู้ที่ปูด้วยกรวดสีขาว หนาราวๆ 2 ซม.

จัดหินด้านหลังทับซ้อนจนเกิดช่อง รู ยังไม่พอ ผมยังเอากระถางดินเผามาทุบแบ่งครึ่ง

นำมาวางไว้ในด้านหน้าตู้เพื่อให้เป็นที่อาศัยของปลาน้อยที่หมายปอง

หมู่กองหินน้อยใหญ่ใต้ทะเลสาบทังกันยิกา เป็นที่อาศัยของปลาหมอมากมาย ทั้งกินพืช และกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

Neolamprologus ทั้งหลายเป็นปลาที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ซุกซ่อนตามซอกหลืบของกองหิน ตามผิวพื้นทรายขาวสะอาด

ก่อเกิดระบบนิเวศที่น่าชม ผู้ล่านั้นก็เลือกกินอย่างพอเพียงเพื่อประทังชีวิต

หาใช่โลภโมโทสันยัดทะนาหากินอย่างไม่หยุดหย่อน เหมือนมนุษย์ไม่

ทำให้ปลากลุ่มนี้มีอาหารมากมายไม่จำเป็นต้องแย่งกันกิน เหมือนสัตว์บางเผ่าพันธุ์





เมื่อได้ปลาในวันแรก ผมจะไม่ให้อาหารปลาเด็ดขาด

นั่นหมายถึงปลาทั้งหลายต้องอดกินด้วย

การอดอาหารสำหรับปลาที่อยู่ในระบบปิดนั้นไม่ใช่เรื่องโหดร้ายกับปลาแต่อย่างใด

กลับเป็นการช่วยให้ปลาได้มีเวลาย่อยอาหาร พักผ่อนระบบย่อย ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย

การอดอาหารที่ดี ไม่มีใครกำหนด แต่สำหรับผมเองแล้วจะอดราวๆ อาทิตย์ละ 1 วัน

เมื่อเข้าสู่วันใหม่ผมรีบตื่นขึ้นมานั่งดูเจ้าไซลินดริคัสเป็นตัวแรก ปลายังคงแอบๆ บ้างพองาม

ผมเริ่มให้อาหารเม็ดแช่น้ำจนนิ่มน่วม ให้ทีละ 3-4 เม็ด บี้ๆ เล็กน้อยพองาม เพื่อหวังให้เศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยตกลงไปที่พื้นเป็นอาหารแก่ปลาตัวเล็ก





เจ้าฟรอนน้อย 2 ตัวว่ายโฉบเข้ามากินอาหารบริเวณกลางน้ำ

ตามด้วยเจ้าเลลูปอายสีส้มสดใสเข้ามากินตามบ้าง

เจ้าคอมเพรชซิเซ็ปตัวแบนคอยคุมเชิงอยู่ด้านล่างรอกระแสน้ำพัดอาหารเข้ามาหาตัวมัน

แล้วเจ้าไซลินดริคัสล่ะ .......



เจ้านี่ยังคงสงบนิ่งอยู่ในซอกหลืบของหิน ผมถอนหายใจเล็กน้อยเพราะหวังว่าจะเห็นเจ้านี่กินอาหารให้ชื่นตา

เศษอาหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยปลิวไป-มา เจ้าจูลิโดจอมซ่าทั้ง 5 ตัว

ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ คอยเก็บเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ให้เสียของ

เวลาผ่านมาตามการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์ จากฝากตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตก

ท้องฟ้าสีครามเข้มเมื่อตอนเที่ยงแปรเปลี่ยนเป็นสีส้มอมชมพู

ดูคล้ายใครมาย้อมฟ้าให้ชาวประชาได้ชื่นชม

เมื่อเวลาเย็นมาถึงก็เท่ากับว่า ได้เวลาปลาหิว

ผมเตรียมหนอนแดงแช่แข็ง ไม้ตายสุดท้ายที่จะต้องทำให้เจ้าไซลินดริคัสสนใจใยดีอาหารให้จงได้





ผมล้างหนอนแดงจนละลายจากก้อนเหลี่ยมๆ เป็นตัวหนอนเส้นแดงๆ

แล้วบรรจงหยิบหนอนใส่ตู้ ปล่อยหนอนลงตรงท่อกรองเพื่อให้กระแสน้ำพัดพาอาหารไปให้ทั่วตู้

เมื่อเหล่าน้อยแดงสีสวยปลิวล่องลอยไป มา จนทั่ว

เหล่าปลาน้อยคอยไล่เก็บกินอย่างสนุกสนาน


แม้แต่เจ้าคอมเพรสซิเซ็ปตัวแบน ยังออกมาคอยเก็บส่วนแบ่งของตน

แล้วเจ้าไซลินดริคัสล่ะ...........

ผมมองเห็นปลาน้อยไล่กินอาหารไปไม่ไกลจากที่หลบซ่อน

สายตายังคงระแวดระวังภัย เมื่อไล่กินไปจนไกลออกจากถ้ำซักหน่อย

เจ้าปลาก็ว่ายพุ่งกลับไปยังที่ซ่อน ไม่นานนักก็โผล่หน้าออกมา

สายตายังคงระแวงภัยเช่นเดิม

ผมประทับใจในความไม่ประมาทของเจ้าปลาน้อย ซึ่งเป็นสมบัติจากบรรพบุรุษที่คอยส่งต่อมาให้ลูกหลานแทบทุกตัวตน

ยกเว้นก็เพียงเหล่าผู้มีอารยะ ที่คิดว่าเผ่าพันธุ์ของตนยังคงสามารถดำรงคงอยู่ในดาวเคราะห์สีฟ้าแห่งนี้ได้ชั่วลูกสืบหลาน

จนทำให้หลงลืมจารีตประเพณีที่บรรพบุรุษคอยสั่ง คอยสอนให้อยู่อย่างเคารพธรรมชาติ

จนตอนนี้ถึงคราวที่ธรรมชาติได้สนองความจองหอง เปรียบดั่งมารดาที่กลั้นใจลงโทษบุตรในอุทธรณ์

แต่นั่นก็มิทำให้มนุษย์บางผู้ บางคนสำนึก กลับฉกฉวยเอาเปรียบในขณะที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์กำลังลำบาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงโทษจากมารดาที่ชื่อว่าธรรมชาติในครั้งหน้า คงรุนแรงจนลูกๆ ต้องหลั่งน้ำตาอีกครั้ง...





ไซลินดริคัสเป็นปลาที่ว่ายกลางตู้ (ในหนังสือและเวปไซด์บอกมาอย่างนั้น แต่จากที่เห็นมันว่ายไปหมดแหละครับ)

มักจะวนเวียนตามกองหิน หรือซอกหลืบตามแต่ผู้เลี้ยงจะจัดไว้ให้


ปลาหมอไซลินดริคัส เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 11 ซม.ในเพศผู้ ส่วนเพศเมียจะย่อมลงมาอีกนิดหน่อย

ในการแยกเพศนั้นปลาตัวเล็กๆ ที่วางขายกับแทบเป็นไปไม่ได้เนื่องจากลักษณะภายนอกค่อนข้างคล้ายกัน

การแยกเพศให้แน่นอนนั้นให้ดูเมื่อปลามีอายุราวๆ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง

ลักษณะทั่วไปคือ ลำตัวกลมยาว ส่วนหัวยื่นแหลม ริมฝีปากหนา

ภายในปากมีฟันแหลมคมเรียงรายเต็มไปหมด

มีเส้นโค้งใต้ตาเป็นสีเขียวอมฟ้าจาง ที่ส่วนหลังโค้ง ลำตัวมีลายสีน้ำตาลเข้ม

พาดตั้งแต่ส่วนหลังยาวไปถึงส่วนด้านข้างของท้อง

ลายพาดเริ่มตั้งแต่ส่วนหัวจรดข้อหาง ครีบอก ครีบก้อน ครีบหาง จนถึงครีบหลังมีลักษณะใส ล้อมรอบด้วยริ้วสีฟ้าตัดขอบล้อมรอบอยู่





ไซลินดริคัสพบได้ทั่วในทะเลสาบในระดับน้ำลึกราวๆ 10 เมตร

ปลาจากทางเหนือ จะมีลายที่จางกว่า ส่วนปลาจากทางใต้จะมีลายที่เข้มและเส้นสีน้ำตาลจะใหญ่กว่าปลาจากทางเหนือ

ปลาจากทั้งสองแหล่งนี้จะมีลายพาดสีน้ำตาลเข้มทั้งหมด 10 ลายเท่ากัน

ไซลินดิคัสที่โตเต็มวัยจะมีสีเหลืองจางบ้าง เข้มบางที่ส่วนหัวด้วยนะครับ

ในการเลี้ยงนั้นควรอิงลักษณะจากจัดตู้จากธรรมชาติ โดยการปูพื้นด้วยกรวดละเอียด

ใส่หินน้อยใหญ่ลงไปให้เกิดซอกหลืบ หากเลี้ยงปลาอื่นๆ ร่วมด้วย

ก็ควรเลือกปลาที่มีลักษณะการหากินต่างกันเล็กน้อย รวมไปถึงเรื่องขนาดและความก้าวร้าว

พูดถึงความก้าวร้าวนี่ Neolamprologus ทุกสายพันธุ์มีความดุร้ายใช่ย่อยเลยนะครับ

ทั้งปลาที่เล็กกว่า ว่ายน้ำเอื่อยๆ หรือแม้แต่เพศผู้พวกเดียวกัน





Neolamprologus ทุกชนิดจะไม่ทำร้ายต้นไม้น้ำ สามารถใส่ต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายได้มากมาย

เนื่องจากสภาพแวดล้อมในธรรมชาตินั้น ยังพอมีต้นไม้น้ำขึ้นอยู่บ้าง

แต่จะติดก็ตรงที่ว่า ปลาหมอจากทะเลสาบส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบแสงสว่างมากนัก

อาจทำให้ต้นไม้ได้รับแสงไม่เพียงพอ จนใบซีดเหลือง และเน่าตายได้

การเพาะพันธุ์นั้น ควรนำปลาที่แยกเพศได้แล้สมาเลี้ยงในตู้ที่มีถ้ำเยอะๆ

ไม่ควรเลี้ยงปลาที่มีความคล้ายคลึงกันมากเช่น N.leleupi

เพราะอาจผสมพันธุ์ข้ามชนิดก็เป็นได้

เมื่อปลาเพศเมียวางไข่ ปลาเพศผู้จะคอยเฝ้าวนเวียนขับไล่ผู้รุกรานอย่างบ้าคลั่ง

ช่วงนี้ถ้าเป็นไปได้ควรแยกปลาชนิดอื่นออกไปให้หมด

ไข่ปลาจะมีจำนวนราวๆ 30-70ฟอง ไข่ค่อนข้างเล็ก ประมาณ 4-5 วัน

ลูกปลาจะฟักอกจากไข่และว่ายน้ำได้เมื่อมีอายุราวๆ 14-16 วัน

พ่อและแม่ปลาจะคอยปกป้องลูกน้อยต่อไปจนกว่าลูกน้อยพร้อมจะเผชิญโลกกว้างด้วยลำครีบของตนเอง

อาหารสำหรับลุกปลาแรกเกิดนั้นสำคัญ ทางที่ดีควรเอากระบอกฉีดยา(ที่เอาเข็มออกแล้ว)

สูบอาหารสดขนาดเล็กแล้วนำไปฉีดในสถานที่มีลูกปลาอยู่ วันละ 3-5 ครั้ง

ให้น้อยๆ แต่บ่อยๆ ลูกปลาจะโตเร็วมากครับ





จากวันที่ผมได้มีโอกาสเลี้ยงเจ้าไซลินดริคัสน้อย เวลาผ่านไปนานหลายปีดีดัก

เจ้าปลาน้อยลาโลกเนื่องจากผมให้อาหารเยอะและไม่ได้เปลี่ยนน้ำ จนเจ้าปลาน้อยท้องอืด ตัวบวมตาย

วันเวลาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง มาวันนี้ผมคิดว่าผมมีความพร้อมที่จะเลี้ยงปลาหมอชนิดนี้ให้ดีได้แล้วล่ะครับ

เพื่อนๆ พี่ๆ ล่ะครับ พร้อมจะเลี้ยงเจ้าปลาหมอตัวนี้ไปพร้อมๆ กับผมไหมครับ.....









 

Create Date : 29 สิงหาคม 2551    
Last Update : 1 กันยายน 2551 14:59:54 น.
Counter : 2881 Pageviews.  

มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๓

มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๑

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=plaraberd&date=24-06-2008&group=1&gblog=13

มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๒

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=plaraberd&month=02-07-2008&group=1&gblog=14



มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๓

สวัสดีครับ
ตอนนี้เป็นตอนที่ ๓ แล้วนะครับ จริงๆ ก็ไม่อยากให้ยืดยาวอะไรขนาดนี้หรอกนะครับ

แต่ข้อมูลที่สู้อุตสาห์หามาเป็นเดือนๆ ไหนจะต้องนั่งรถฝ่าการจราจรอันแสนจะติดขัดไปหาพี่ๆ ร้านปลาที่พอจะให้ข้อมูลได้
ไหนจะต้องมานั่งจัดเรียงข้อมูล เรียงลำดับก่อน-หลัง

โอย.....นี่ถ้าไม่เกรงใจ บก. ผมจะเขียนให้อ่านซะ ๗ ตอน (บก. มองตาเขียวปี๋เลย เหอๆๆ)

ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวอดเขียน เอาเป็นว่าฉบับนี้ ผมขอทำตามสัญญานะครับ ว่าจะนำปลาแต่ละตัวมาอธิบายกันให้ครบถ้วนทั้ง ๗ ตัว
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า เนอะ...

ขอเริ่มด้วยกลุ่มแรกเลยแล้วกันนะครับ กลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ มีสามชนิดได้แก่ S. daemon, S. Lilith และ S. acuticeps








Satanoperca daemon (Heckel, 1840)
ในเวเนซูเอราเรียกว่า acara (อคารา) ส่วนในบราซิลเรียกว่า acara chinga, acara pappaterra

ชื่อทางการค้า Threespot Eartheater
อาศัยอยู่ในตอนเหนือของอเมริกาใต้ และแม่น้ำฝั่งทะเลของประเทศ กายยานา (Guyanas)
ทางเหนือของแม่น้ำ Paraguary ทางตอนเหนือของ ริโอ โอริโนโค(Orinoco)
อเมโซนาส (Amazonas) ทางตอนบนของ ริโอเนโกร (Rio NaGro)

สภาพที่อยู่อาศัย เป็นแม่น้ำในรูปแบบของ Black water พื้นน้ำเป็นหาดทราย
กระแสน้ำไหลเอื่อยๆ ผาดผ่านป่าดิบชื้น
บริเวณน้ำตื้นริมตลิ่งมีกิ่งไม้รากไม้พาดลงมามาก
Ph. ของน้ำประมาณ 3.5-5
ขนาดโตเต็มที่ราวๆ 10 นิ้ว

กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารโดยมากจะได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา(ตัวเล็กมากๆ และว่ายน้ำไม่เร็วนัก)
ตัวอ่อนของแมลงน้ำ ตัวอ่อนแมลง เมล็ดพืชบางชนิด ยอดอ่อนของต้นไม้น้ำ สาหร่าย ตะไคร่น้ำตามพื้น
ในที่เลี้ยงกินอาหารได้ง่ายและหลากหลาย
ฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปได้ไม่ยากนัก แต่ในระยะแรกควรให้อาหารสดก่อน

จุดเด่นอยู่ที่จุดตรงกลางลำตัวสองจุดและที่ข้อหางอีกหนึ่งจุด
จึงได้ชื่อเรียกว่า Threespot Eartheater

ซึ่งสามารถแยกได้ตั้งแต่ตอนเล็กๆ ในปลาโตที่ปลาครีบหลังจะมีเปียสีแดงยื่นยาว คล้ายๆ ปลาหมอเฮกเคลลิอาย(Acarichthys heckeli )




Satanoperca lilith (Kullander & Ferreira, 1988)
ชื่อทางการค้า One Spot Eartheater

แหล่งอาศัยพบใน ทวีปอเมริกาใต้ ลุ่มน้ำอเมซอน ริโอเนโกร
(ตรงจุดที่มีการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำหลายสาย)
ที่ปากแม่น้ำCurucuriari ในลุ่มน้ำ Branco

ลักษณะภายนอกคล้าย S. daemon มาก แต่จะต่างกันตรงจุดที่กลางลำตัว
โดย S. lilith จะมีเพียงจุดเดียว และมีที่โคนหางอีกหนึ่งจุด
ขนาดเมื่อโตเต็มที่ราวๆ 10 นิ้ว
อาหารและสภาพที่อยู่อาศัยเหมือนกับ S. Daemon






Satanoperca acuticeps (Heckel, 1840)
ชื่อทางการค้า Sharphead eartheater

แหล่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณ ริโอ อเมโซนาส
บริเวณริโอเนโกรแต่ต่ำลงมาจากจุดที่แม่น้ำไหลมาบรรจบกัน

ปลาในกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะทั้งสามชนิด S. Acuticeps ถือว่ามีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุด
และหลากหลายมากกว่าอีกสองชนิดแรก โดยบางครั้งจะพบพวกมันในแหล่งน้ำขังที่มีอ๊อกจิเจนต่ำ มีเศษซากของกิ่งไม้ ใบไม้ทับถม
มีรายงานว่าพบใน tefe ที่ Tapajos อีกด้วย

S. Acuticeps ในยามปกติสามารถแยกออกจาก S. daemon และ S. Lilith ได้โดยดูจากจุด
เพราะ Satanoperca acuticeps มีจุดมากที่สุด
โดยมีที่ลำตัวสามจุดและที่โคนหางอีกหนึ่งจุด
อาหารและลักษณะที่อยู่อาศัยเหมือน Satanoperca daemon


ต่อไปเรามาดูกลุ่มที่มีการกระจายพันธุ์กว้างกันบ้าง ในกลุ่มนี้เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยยุ่งยากในการปรับน้ำซักเท่าไหร่






Satanoperca jurupari (Heckel, 1840)ชื่อทางการค้า จูรูพารี

กระจายพันธุ์กว้างมากในทวีปอเมริกาใต้ ทำให้สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายสภาพแวดล้อม
สามารถพบได้ในบึงน้ำกร่อยใกล้ทะเล ไล่ไปจนแม่น้ำที่มีสภาพเป็น Blackwater ปานกลาง

พบได้ในหลายประเทศทั้ง เวเนซูเอรา เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ บราซิล
พบในลุ่มแม่น้ำอเมซอน ริโอโอริโนโค(Orinoco)
อเมโซนาส(Amazonas) Rio Orosa ใกล้ Iquitosในเปรู
ริโอเนโกร(Rio NaGro) แม่น้ำ British Guiana ปากแม่น้ำอเมซอนใน Amapa ที่ประเทศบราซิล
ทางทิศตะวันออกของeastern French Guiana

การกระจายพันธุ์ที่กว้างเช่นนี้ทำให้จูรูพารีมีความแตกต่างตามสภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัย
แต่หลักๆในบ้านเรานั้นแยกได้โดยดูที่จุดที่แก้มบนแผ่นปิดเหงือกจะเป็นจุดเล็กๆ บนตัวปลาจะมีเหลือบเขียว
และจากที่ดูมาในจูรูพารีที่มีขายในบ้านเราน่าจะเป็นจูรูพารีจาก ริโอเนโกร
ทั่วไปจะมีขนาดราวๆ 25 เซนติเมตร

สามารถอาศัยในน้ำที่มีค่า pH ตั้งแต่ 4-8 เป็นปลาที่มีขายในบ้านเรานานมากๆแล้ว แต่ปัจจุบันกลับเป็นของหายากเสียนี่

จัดเป็นปลาที่ทนทาน เลี้ยงง่าย กินอาหารได้หลากหลาย
สามารถเลี้ยงเป็นฝูงเล็กๆ 4-5ตัว ในตู้ขนาด 36 นิ้ว





Satanoperca leucosticta (Muller & Troschel, 1848)

เจ้าตัวนี้เป็นตัวที่มีปัญหามากๆในวงการเลี้ยงปลา เพราะค่อนข้างคล้ายคลึงกับจูรูพารี
เหตุเพราะปลาสองชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ที่ใกล้เคียงและทับซ้อนกัน
โดยจูรูพารีจะกระจายพันธุ์ทางเหนือ ส่วนลูคอสนั้นกระจายพันธุ์อยู่ทางใต้
ในแม่น้ำ Essequibo ใน Guyana และ Nickerie รวมไปถึงแม่น้ำในประเทศ Surinume

การแยกปลาสองชนิดนี้ในตอนเล็กนั้นเป็นเรื่องยาก แต่พอจะแยกออกได้บ้างเมื่อปลาโตขึ้นโดยลูคอสจะมีมุกที่ใหญ่กว่า เยอะกว่าจูรูพารี

และมุกของลูคอสนั้นยังมีเหลือบสีฟ้า สีทอง ซึ่งต่างจากจูรูพารีซึ่งมีสีเหลือบเขียว

ในบางแหล่งมุกของ ลูคอส จะติดกันจะดูเป็นลวดลาย หยักไปโค้งมาหรือที่บ้านเราเรียกอย่างสามัญว่า มุกลายสมอง

หากลองหาข้อในอินเตอร์เน็ตดูจะพบว่า ทั้งจูรูพารี และลูคอส มักจะมีอักษรย่อ sp. cf. ตามหลังอยู่หลายครั้ง

ไม่ต้อง งง กันนะครับ อักษรย่อพวกนั้นมีความหมายดังนี้ sp. หมายถึงยังไม่สามารถระบุชนิดได้ ส่วน cf. หมายถึงตัวที่คล้าย คล้ายคลึง

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการแยกชนิดของ จูรูพารี และลูคอสนั้นถึงได้น่าสับสนวุ่ยวายขนาดที่ทำให้ผม จำต้องเขียนบรรยายเจ้าปลากลุ่มนี้ถึง 3 ตอนด้วยกัน

นั่นเป็นเพราะว่า ปลาในแต่ละแหล่งมันมีความแตกต่างกันไงครับ

แต่ถ้าจะให้เอาปลามาวางตรงหน้าแล้วให้บอกว่าตัวนี้มาจากไหน อันนี้ผู้เขียนจนปัญญาจริงๆ ครับ





Satanoperca mapiritensis (Fernandez-Yepez, 1950)

ปลาตัวนี้เป็นอีกตัวที่หายากและไม่ค่อยจะได้พบเจอซักเท่าไหร่ (ในเมืองนอกนะ แต่ในเมืองไทย ไม่เคยโผล่มาเลย)

การแยกนั้นให้ดูที่จุดบนแก้มครับ S. Mapiritensis จะมีจุดขนาดเล็ก ในปลาบางแหล่งอาจไม่พบจุดที่แก้มเลยก็มี
แต่ก็ดันไปคล้ายกับเจ้า Satanoperca sp. "Negro-Alto Orinoco" อีกเสียนี่
ทำให้ยัง งงๆ กันชอบกลแฮะกับการแยกปลาสองชนิดนี้

การกระจายพันธุ์จะอยู่ทางตอนกลางและตอนล่างของ Rio Orinoco ในประเทศ เวซูเอรา
ในเวปบางเวปบอกว่าขนาดราวๆ 14 ซม. แต่ผมว่าน่าจะตกสำรวจ
เพราะปลาน่าจะใหญ่กว่านั้นนะครับ แต่ตอนนี้ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าใหญ่แค่ไหน เลยขอใช้ขนาด 14 ซม. เป็นหลักไปก่อนแล้วกัน





Satanoperca pappaterra (Heckel, 1840)
ชื่อทางการค้า Pantanal Eartheater

S. pappaterra อาศัยในลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในGuapor ในบราซิลและโบลิเวีย ลุ่มแม่น้ำ Paran
ในแหล่งอาศัยพบในแหล่งน้ำไหลเอื่อยๆ ในบึงน้ำกร่อย ที่พื้นล่างเป็นหาดทรายและโคลน มีตะกอนทับถมมากมาย

โตแล้วมีขนาดราวๆ 17 เซนติเมตร
ในการแยกจากปลาชนิดอื่นโดยดูที่ลำตัวของ S. pappaterra จะเป็นเหลือบสีเหลืองทอง และแถบสีดำที่ด้านบนของลำตัว มีเจ้านี่ตัวเดียวครับที่มีแถบที่ว่านี่สองแถบ ตัวอื่นๆ เขามีที่กลางลำตัวแถบเดียว






ที่เล่าขานมานี่เป็นเพียงชนิดหลักๆ ของ Satanoperca เท่านั้นนะครับ

ยังมีพวกที่ใช้ sp. และ cf. อีกนะครับ

มีมากมายเหลือเกินตามแหล่งที่จับมาได้ ยกตัวอย่างคร่าวๆ เช่น Satanoperca sp. "Red Lips" ตัวนี้สีสันเหมือนจูรูพารี แต่ตรงริมฝีปากมีสีแดงคล้ายสาวๆ ในยุค 60

อีกตัวที่ผมชอบนักชอบหนาก็คือ Satanoperca cf. leucosticte “Amazonas Red”


ตรงนี้พิเศษตรงที่หน้าและแก้มจะมีสีแดงตัดกับมุกสีทอง สวยสะดุดตามากครับ





Satanoperca เป็นปลาที่มีการผสมพันธุ์แบบกึ่งอมไข่และวางไข่
พ่อแม่ปลาจะเริ่มจับคู่กัน ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่วางไข่
ช่วงนี้ทั้งคู่จะคอยไล่ปลาตัวอื่นๆ ให้ออกไปพ้นจากบริเวณเรือนหอ
ปลาทั้งคู่จะช่วยกันขุดหลุมและวางไข่ บางครั้งอาจวางติดกับขอนไม้ หิน เมื่อวางเสร็จตัวเมียจะอมไข่ ส่วนตัวผู้จะคอยเป็นยามลาดตระเวน

ลูกปลาจะฟักใน 3 วัน ในช่วงแรกลูกปลาจะยังมีไข่แดงติดอยู่
ลูกปลาแรกเกิดควรอนุบาลด้วยอาหารขนาดเล็กเช่นลูกไร อาทีเมียแรกเกิด หรืออาหารสำเร็จรูปแบบผง



เมื่อผ่านช่วง 7 วันไปได้ก็สามารถให้ไส้เดือนน้ำกิน เพื่อลูกปลาจะได้คอยตอดกินได้ตลอด ลูกปลาโตเร็วพอสมควรหากน้ำดีอาหารดี

การจับคู่นั้นมักเกิดขึ้นได้หลายช่วงเวลา แต่หากตู้นั้นไม่สงบพอ

ปลาก็จะไม่ยอมวางไข่นะครับ ฉะนั้นใครคิดจะเพาะผมว่าควรจัดวางตู้ให้อยู่ในบริเวณที่คนไม่พลุกพล่าน
มีแสงน้อย พ่อ-แม่ปลาจะรู้สึกปลอดภัย และจะผสมพันธุ์กันเองเมื่อพร้อมครับ







เล่ามาเสียยาวเหยียด หาข้อมูลมานานนม ปลาปีศาจแม้จะมีชื่อน่ากลัวเพียงใด

แต่ปลาเหล่านี้ก็มิใช่ปลาที่ดุร้าย ไม่ทำร้ายพวกพ้อง ไม่เคยทำอะไรให้ใครเดือดร้อน
ไม่เหมือนคนเรานะครับ ตัดผมโกนหนวด แต่งตัวดีๆ มีเงินมีอำนาจเข้าหน่อย แทนที่จะทำตัวให้ดีเหมือนรูปกายภายนอก

กลับคิดแต่เรื่องไม่เข้าท่า หาโอกาสจะโกงกินเพื่อตัวเองและพวกพ้อง บางพวกบางกลุ่มอ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก่อหวอดเร่งเร้าให้คนในชาติฆ่ากันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

คนแบบนี้แหละครับที่สมควรเรียกว่าปีศาจ และก็รู้สึกว่าช่วงนี้ ปีศาจออกทีวีทุกวันเลยนะครับ ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมหรือเปล่าเอ่ย....





................... <อวสาน>..................


ขอขอบคุณ :
คุณ 0835419237 ที่ตั้งกระทู้นี้ //www.ninekaow.com/wbs/view.php?sub=05&id=3422
ทำให้ผมได้ความรู้ในการแยกชนิดปลา

คุณ NaRuTo ที่ช่วยแชร์ประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ให้กับผม

ขอบคุณ คุณรุต Isfishaqurium ที่ช่วยไขความกระจ่างในการแยกชนิดปลาให้ผมเสียที หลังจากที่งงอยู่เป็น นานสองนาน

พี่เต้ย เฮียส้ม แห่งร้านเต้ย-ส้ม ตลาด อตก. ที่คอยให้ความรู้อยู่เสมอมา

ขอบคุณข้อมูลอันมีค่า รูปสวยๆ ในโลกแห่งอินเตอร์เน็ต





 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2551 8:36:32 น.
Counter : 3224 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.