Group Blog
 
All blogs
 
[Dimidiochromis compressiceps] เพรชนักล่า..................แห่งมาลาวี

สวัสดีครับ พี่ๆน้องๆ ทุกๆท่าน

ฉบับนี้ผมใคร่นำเสนอปลาหมอนักล่าตัวหนึ่งจากทะเลสาบมาลาวี

ปลาตัวนี้สำหรับผมเองแล้ว นับว่าเป็นปลาหมอที่ผมชอบมากที่สุดเลยทีเดียว

ปลาหมอตัวนี้มีสีสันที่สวยงามน่าประทับใจมากตัวหนึ่งเลยทีเดียว และยังมีสีสันที่สวยสดงดงามมากๆ ด้วย

ปลาหมอตัวที่ว่านี่คือปลาหมอ ปากยาว ครับ

ปลาหมอปากยาวมีชื่อวิทย์ว่า Dimidiochromis compressiceps




คำว่า compressiceps หมายถึงแบน หรือถูกบีบอัดจนแบน ซึ่งมีปลาหมอที่มีชื่อวิทย์แบบนี้อีกตัวคือ ปลาหมอคอมเพรสซิเซ็ป (Altolamprologus compressiceps) เป็นปลาหมอจากทะเลสาบทังกันยิกา

ปลาหมอปากยาว(ต่อไปนี้ผมขอเรียกชื่อนี้แล้วกันนะครับ) จัดว่าเป็นปลาหมอนักล่าแบบซุ่มโจมตี

โดยในธรรมชาติเจ้าปากยาว จะคอยดักซุ่มเหยื่อในดงสาหร่าย valisneria ซึ่งมีขึ้นอยู่มากมายในทะเลสาบ
เมื่อปลาเซ่อตัวใดว่ายผ่านก็จะพุ่งออกมาจับกินเป็นอาหาร
อาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกปลาขนาดเล็ก ในกลุ่ม mbuna ซึ่งมีมากมายหลากหลายในทะเลสาบแห่งนี้

และอีกวิธีหนึ่งซึ่งมักพบในระดับน้ำที่ลึกจนสาหร่าย valisneria ไม่สามารถขึ้นได้

เจ้าปากยาวมักจะท่องไปตามกองโขดหิน ใช้ความแบนที่ได้เปรียบของตัวมัน ลัดเลาะตามกองหิน ซอกหินหาปลาที่แอบอยู่ มากินเป็นอาหารได้เช่นกัน

โดยวิธีหลังนี้เจ้านี่จะใช้แรงจากกล้ามเนื้อและกระดูกขากรรไก ที่แข็งแรง ดูดทั้งน้ำและปลาเล็กๆ เข้าปากได้สะดวกโยธิน เจ๋งจริงๆ พ่อพระเอกของเรา



ปลาหมอปากยาวในวัยเด็กจะมีเพียงสีเงินๆ และเส้นแถบพาดเฉียงที่ลำตัว มักว่ายหากินอยู่ในบริเวณที่มีสาหร่ายขึ้นรก โดยจะกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่างๆ เช่นตัวอ่อนของแมลง แมลงน้ำขนาดเล็ก หนอนน้ำ ตัวอ่อนของลูกปลา กุ้ง ปู

ตัวผู้เมื่อโตขึ้นจะเริ่มมีสีสันขึ้นมาตามลำดับ โดยสีที่ขึ้นมานั้นจะเป็นสีฟ้าเหลือบน้ำเงินเงางาม เส้นที่พาดกลางลำตัวจะเริ่มจางลงไปเรื่อยๆ ครีบทวารจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ครีบหางจะมีจุดสีแดงขึ้นไล่ไปตามขอบเกร็ดที่ลำตัว ครีบหลงจะมีขอบแดง และขาดขึ้นที่ขอบครีบ นับว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามทีเดียวนะครับ

*** ในเรื่องของสีนั้น จากที่หาข้อมูลมาจะมีความแปรผันตามภูมิประเทศที่จับมา รวมถึงที่ตัวปลาด้วยโดยบางตัวก็มีครีบก้นสีเหลือง-ส้ม***

ในตัวเมียสีสันจะคงเดิมครับ คือ สีเงินๆ และมีเส้นพาดกลางลำตัวเหมือนปลาวัยเด็ก



ปัจจุบันมีปลาหมอปากยาวเผือกตาแดง ซึ่งจะมีสีขาวอมเหลืองปลอดทั้งตัว ครีบก้นสีส้มจนถึงแดงสด ซึ่งก็เป็นอีกสีหนึ่งที่น่าเก็บไว้มากๆ ครับ ผมเห็นแล้วยังชอบเลยนะครับ


เจ้าปากยาวนี่ในเมืองนอกเมืองนา อารยประเทศผู้เจริญแล้วทั้งหลาย เขาเรียกชื่อคอมม่อนเนมว่า Malawi Eye-biter แปลว่า ผู้กัดตา เพราะเนื่องด้วยพฤติกรรมการกินของมัน มันมักจะงับเหยื่อที่บริเวณตา (คืองับหัวนั่นแหละ) ทำให้ได้ชื่อนี้มีที่มาฉะนี้แล พี่น้องเอ๋ย โหดมากมาย....



ส่วนตัวแล้วผมยังไม่เคยเจอแบบนี้นะครับ เคยเจอแต่เจ้าปากยาวว่ายตามประชิดปลาเล็กในตู้ ผมสังเกตอยู่ซักพัก เพราะเจ้านี่ไม่เคยแสดงอาการอยากกินเพื่อนร่วมตู้มาก่อน

แต่วันนี้มันแปลกๆ ไป เลยเฝ้าดูซะหน่อย เพียงไม่นาน เจ้านี่ก็งับเข้าบริเวณหลังหัว (คาดว่าคงพลาดเล็กน้อย)
ผมล่ะตกใจแทบแย่ (แต่ไม่ถึงกับร้อง กรี๊ด นะครับ) รีบเปิดตู้เอากระชอนไล่ๆ มันไป ในที่สุดเจ้าปากยาวก็ปล่อยปลาน้อยออกมา

สภาพที่เห็นคือ เกร็ดที่โดนกัดบิดเบี้ยวและหลุด มีอาการหอบ หายใจเร็ว สงสัยคงตกใจมาก ดูๆอาการแล้วคล้ายๆกับคนถูกหวยรางวัลที่หนึ่งยังไงชอบกล 55 55



แสดงว่าแรงกัดนี่ไม่ธรรมดาเลย หลังจากนั้นเจ้าปากยาวของผมก็ไร้เพื่อนร่วมตู้ ถูกเนรเทศไล่ไปอยู่ตู้ขนาดกลางแทน..... ก็โหดซะ ขนาดจะกินเพื่อนร่วมตู้ได้ ปล่อยไว้จะเกิดความเสียหายเปล่าๆ

ปลาหมอปากยาวโดยเฉลี่ยจะมีขนาดราวๆ 20-25ซม. นับว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร
ตู้ที่ใช้เลี้ยงไม่ควรต่ำกว่า 30 นิ้ว ในกรณีที่เลี้ยงเดี่ยว แต่ถ้าหากจะเลี้ยงรวมเป็นฝูงหรือเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ก็ควรเป็นตู้ขนาด 48 นิ้วเป็นอย่างต่ำนะครับ

เนื่องจากปลาต้องการพื้นที่ว่ายน้ำพอสมควรนะครับ หากตู้เล็กกว่านี้สามารถเลี้ยงตัวเล็กๆ ได้อย่างสบาย แต่เมื่อปลาโตขึ้นก็อย่าลืมเปลี่ยนตู้ให้ด้วยนะครับ




ตู้เองก็ควรมีฝาปิดมิดชิดหน่อย เพราะเจ้านี่อาจกระโดดออกมานอนแห้งนอกตู้ได้ เรื่องแบบนี้กันไว้ดีกว่าแก้นะครับ

โดยส่วนตัวผมแนะนำแผ่นพลาสติก ที่เอาไว้กั้นตู้ครับ เพราะมีรูระบายอากาศ ทำให้อุณหภูมิในตู้ไม่ร้อนจนเกินไป

ในที่เลี้ยงปลาหมอปากยาวเป็นปลาที่กินอาหารได้หลากหลายนะครับ

ซึ่งจริงๆ ปลาหมอส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น เช่น ไรทะเล หนอนแดง หนอนนก กุ้งฝอย ลูกปลาขนาดเล็ก อาหารสำเร็จรูป

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เลี้ยงมักให้อาหารสำเร็จรูปกัน เพราะสะดวกและปลอดภัยจากโรคที่ติดมากับอาหารสด

ในการให้อาหารนี่ควรระวังนะครับ เพราะปลาหมอปากยาวท้องอืดง่ายมากๆ ทั้งที่ตัวมันเองนั้นแสนจะตะกละกินเก่งอย่าบอกใคร
ผมเองนั้นในช่วงแรกๆ ก็เสียปลาหมอปากยาวขนาด 4 นิ้วไปเพราะประเด็นนี้ การให้อาหารควรให้แต่น้อย โดยในปลาเล็กให้วันละ 2 มื้อ ส่วนปลาใหญ่กว่า 6 นิ้ว ให้เพียงวันละ 1 มื้อ โดยจะให้วันเว้นวันครับ



เรื่องน้ำท่านี่ก็สำคัญ จากประสบการณ์ของผม ปลาหมอจากทะเลสาบส่วนใหญ่ชอบน้ำสะอาด

และมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วถ้าในน้ำที่อาศัยมีค่าของเสียอยู่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรเปลี่ยนในปริมาณไม่เกิน 30 % ในทุกๆ 3-7 วัน

ระบบกรองก็ควรจะเป็นระบบกรองที่ดี มีพื้นที่สำหรับใส่วัสดุกรองมากหน่อย ถ้าได้กรองข้างเต็ม กรองนอก หรือกรองล่างเลยยิ่งแจ๋วเลยนะครับ

และควรล้างวัสดุกรองบ่อยๆ หากไม่แล้วปลาอาจเป็นตุ่มสีขาวๆ ขึ้นมาที่ส่วนหัว ลำตัว (ไม่ใช่โรคจุดขาว) หากเกิดอาการนี้ ควรล้างกรองพร้อมเปลี่ยนน้ำ
ด่วนเลยนะครับ

การจัดตู้นั้นอาจจะผิดแผกไปขากการเลี้ยงปลาหมอมาลาวีกลุ่ม มบูนาซักหน่อย

เพราะปลาหมอปากยาวนั้นไม่ได้อาศัยบริเวณโขดหิน ฉะนั้นควรเปิดพื้นที่ท้องน้ำให้โล่งโดยปูกรวดบางๆ ไม่แนะนำให้ใช้ทราย เพราะหมักหมมง่าย

ในปลาเล็กอาจใส่ต้นไม้ปลอมได้ ส่วนปลาใหญ่นั้น วางหินก้อนกลางๆ ซัก 2-5 ก้อนไว้ด้านหลังดีกว่าครับ





เพื่อนร่วมตู้นั้นก็อย่างที่บอก อย่าเล็กจนกินได้ และอย่าดุร้าย เพราะเจ้าปากยาวนั้นไม่ใช่ปลาดุร้ายนะครับ ส่วนใหญ่จะไม่ไล่กัดใครเขา ถ้าจะเอา ก็คงออกไปทางจับกินเสียมากกว่า

เพื่อร่วมตู้ที่แนะนำได้แก่ ปลาหมอบลูดอลฟิน ปลาหมอสกุลอาวโลโนคารา เช่น เรดพีค๊อก ยูซิสซ่า บลูนีออน
หรืออาจเป็นปลาหมอจากฝั่งทังกันยิกาก็ได้เช่นกันครับ แนะนำปลาหมอฟรอนโตซ่าครับ เลี้ยงด้วยกันก็สวยดีทีเดียว

โดยรวมแล้วผมถือว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย และไม่ต้องการอะไรมากมายนัก หากผู้เลี้ยงได้ทำความเข้าใจกับตัวปลาแล้วล่ะก็ คงไม่มีปัญหาแน่นอนครับ

ท่านผู้อ่านล่ะครับ มีตู้ว่างสักใบไหมครับ ถ้ามีแล้วไม่รู้จะลงปลาอะไรดี ผมขอฝากเจ้าปลาหมอปากยาวตัวนี้ไว้ให้ท่านๆ ได้พิจารณาไว้เป็นตัวเลือกซักตัวนะครับ





Create Date : 31 มีนาคม 2551
Last Update : 1 เมษายน 2551 16:07:04 น. 0 comments
Counter : 4922 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.