Group Blog
 
All blogs
 
Tyrannochromis : ปลาหมอ T-rex นักล่าใต้ท้องทะเลสาบ มาลาวี




ย้อนกลับไปเมื่อ 135-65 ล้านปีก่อน ในยุคครีเตเซียส สมัยนั้นมนุษย์คงยังเป็นเห็บลมอยู่กระมัง

ในโลกที่เราไม่เคยเห็น มีสิ่งมีชีวิตที่เราไม่รู้จักอยู่มากมาย มีรูปร่างแตกต่าง ประหลาดหลากหลาย

ในยุคนั้นเป็นยุคของไดโนเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครอบครองโลกนี้ทั้งใบ

แทบจะทั่วทุกที่ ล้วนมีไดโนเสาร์คอยอาศัยหากินอยู่ด้วยกันตลอด

พวกกินพืช หากินเป็นฝูง รูปร่างใหญ่โต อุ้ยอ้าย สายตาไม่ดีนัก
เดินขบวนไล่เล็มกินพืชไปทั่วทั้งแผ่นดินที่พวกมันเดินผ่าน

แต่ในป่าดงพงหญ้าเหล่านั้น หาได้มีเพียงอาหารอันโอชะเท่านั้น



สายตาคู่หนึ่งหลบซุ่มอยู่หลังดงต้นแมกโนเลีย และต้นมาเปิ้ล

ดวงตาขนาดใหญ่โตของมันคอยจับจ้องเหยื่อที่ทีขนาดใหญ่โต
มันเฝ้ามองหาเหยื่อที่เจ็บป่วย หรือไม่ก็ยังเด็ก เนื่องจากพวกนี้จะไม่ต้องใช้แรงมากในการล่า

เพราะการล่าทุกครั้งนั้น มีอันตรายถึงชีวิต
มันเฝ้ารอเหยื่ออย่างใจเย็น รอจนเห็นเป้าหมายแน่ชัดจึงได้กระโจนออกมาจากที่หลบซ่อน

เจ้าไดโนเสาร์นักล่าตัวนี้คือ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex)


ด้วยขนาดที่ใหญ่โต สูง 6 เมตร และยาวกว่า 15 เมตร
มันเป็นไดโนเสาร์ล่าเนื้อที่ยืนสองขา ที่เท้ามีกรงเล็บแหลมคมพร้อมจะขย้ำเหยื่อเคราะห์ร้ายอยู่เสมอ

ดวงตาใหญ่โตได้หรี่เล็กลงเพราะเห็นเป้าหมาย หัวที่ใหญ่โตของมันเยื้องไปข้างหน้า
พร้อมกับขาและหางที่ช่วยให้มันไล่ล่าเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

เสียงฝีเท้าอันหนักแน่นแฝงไว้ด้วยความโหดร้ายแห่งสัญชาติญาณนักล่า ทำให้เหยื่อต่างแตกตื่นหนีกระเจิง



เหยื่อของมันคราวนี้คือ สเตกอซอรัส ไดโนเสาร์กินพืชที่มีเกล็ดแข็งที่หลังยาวเป็นแผงสำหรับป้องกันตัว
และมีหางที่เหมือนตุ้มเหล็กเป็นอาวุธ

สเตกอซอรัสวิ่งช้า เมื่อเจอภัยมันจึงหันหลังให้และใช้หางขนาดใหญ่คอยโบกพัด เพื่อป้องกันตน

เจ้า T-rex ตัวนี้ไม่ใช่นักล่ามือใหม่ มันมีแผลเป็นจากการโดนหางของสเตกอซอรัสมาแล้ว

มันหยุดรอเหยื่อใกล้ๆ และค่อยๆ ต้อนเหยื่อให้เข้าสู่มุมอับ ด้วยเสียงร้องอันน่าหวาดกลัว

สเตกอซอรัสถอยร่นจนติดมุมอับของภูผา มันยังคงโบกพัดหางเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี
แต่เมื่อเจ้า T-rex พุ่งเข้าชาร์ตตรงๆ นั้น หางของมันกลับไร้ประโยชน์

T-rex มิได้มีเพียงกรงเล็บเท่านั้น แต่มันยังมีปากขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยฟันหยักดุจใบเลื่อย

มันใช้ฟันเลื่อยเข้าฉีกกัดร่างเหยื่ออย่างไร้ความปราณี
เพียงไม่นาน เสียงโหยหวนของ สเตกอซอรัส ก็พลันเงียบไป ทิ้งไว้เพียงฝุ่นดินที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ






นั่นเป็นเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นใน ยุคครีเตเซียส ที่ผ่านมานานนมแล้ว
แม้ในปัจจุบัน T-rex จะสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่นำเอาข้อดีของมันมาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่เช่นกัน

หลายท่านอาจเดาว่าเป็น หมีแพนด้า หรือนกแพนกวิ้น อันนี้ต้องแสดงความเสียใจด้วย
เพราะท่านคิดผิด ในบทความนี้จะแนะนำปลาหมอสีตัวหนึ่ง
ที่มีวิธีการล่าไม่ได้แตกต่างจาก ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ เลยแม้แต่น้อย เผลอๆ อาจจะมีความว่องไวและรวดเร็วกว่าเสียด้วยซ้ำ

ปลาหมอที่ว่านี้อาศัยอยู่ในทะเลสาบ นยาซา หรือปัจจุบันเรียกขานกันว่า ทะเลสาบมาลาวี
มันมีอะไรดี จึงเปรียบได้กับ T-rex ใต้ทะเลสาบ
มีวิธีการล่า หากินอย่างไร
มันมีความดุร้ายที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้หรือมันน่าสนใจตรงไหน

ลองมาอ่านกันดูนะครับ....



Tyrannochromis ปลาหมอในกลุ่ม Haplochromis หรือ Hap เป็นปลาหมอขนาดกลาง-ใหญ่ที่ว่ายท่องไปทั่วในทะเลสาบมาลาวี
พวกมันมีหลากหลายสายพันธุ์ หลายสีสันและอุปนิสัย บ้างกินพืช บ้างกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก บ้างกินแม้กระทั้งปลาด้วยกันเอง....

จากชื่อสกุล ผู้อ่านจะเห็นคำว่า Tyranno ซึ่งคำนี้ได้มาจากชื่อของ ไทรันโนซอรัส (Tyrannosaurus) ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่เขียนไว้ในตอนต้นนั่นเอง
Tyrannochromis เป็นปลากินเนื้อ มักท่องตระเวนไปทั่วทั้งทะเลสาบ โดยมักพบว่าจะวนเวียนไม่ไกลจากปลาหมอกลุ่ม *Mbuna นัก

เมื่อออกล่าจะใช้สีสันและลวดลายที่ติดตัวมาพลางตัวคอยดักซุ่มอยู่ตามกองหินหรือกอสาร่าย เมื่อเหล่าปลา Mbuna น้อยว่ายเพลินหลงเข้าระยะหวังผล เจ้า Tyrannochromis จะสะบัดหางพุ่งตัวเข้าจู่โจมในยามเผลอ



ในสายน้ำสีฟ้า ที่ปกคลุมไปด้วยตะกอนใต้ผืนทราย เหล่าปลาน้อยต่างจับกลุ่มอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุ สายตาเฝ้าระวังของทุกตัวคอยสอดส่องมองหา ผู้ล่าอย่างระทึก แทบทุกตัวหายใจถี่หอบ เฝ้ามองเงาทะมึนภายใต้ผงตะกอน

เมื่อตะกอนจางหายไปแล้ว เงาทะมึนดำแหวกว่ายหายไป เหล่าปลาหมอ Mbuna สีสวยก็เฝ้าหากินตามกองหินอย่างสงบ

จ่าฝูงคอยเฝ้าระวังเภทภัยอยู่เหนือกองหินโดยมีปลาตัวเมียรายล้อม เป็นภาพที่งดงามยากจะลืม....
Tyrannochromis เพศผู้เท่านั้นที่จะมีสีสันสวยงาม ส่วนเพศเมียจะมีเพียงสีเงิน และลวดลายสีดำตามตัวแล้วแต่ชนิด



เจ้า Tyrannochromis นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิดคือ...

Tyrannochromis macrostoma (Regan, 1922)
Tyrannochromis maculiceps (Ahl, 1926)
Tyrannochromis nigriventer Eccles, 1989
Tyrannochromis polyodon (Trewavas, 1935)



ส่วนตัวผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเคยมีการนำ Tyrannochromis มาขายในบ้านเราหรือไม่
แต่จากที่คอยสอบถามได้ความมาว่า เคยมีเจ้า Tyrannochromis nigriventer เพียงชนิดเดียวที่เคยหลงเข้ามา
ที่เหลือนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาแต่อย่างใด
ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของ Tyrannochromis ทั้ง 4 ชนิดกันดีกว่านะครับ



Tyrannochromis macrostoma (Regan, 1922)
มาโครสโตม่า เป็น ไทรันโนโครมิสที่มีขนาดใหญ่ โดยโตได้เต็มที่จะมีขนาดราว 10-14นิ้ว
เจ้านี่ถือว่าเป็นปลาหมอนักล่าที่น่ากลัวมากๆ ในทะเลสาบมาลาวี ด้วยขนาดที่ใหญ่โต ปากกว้าง
สีฟ้า-น้ำเงินที่ตัวก็กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ลายน้ำเงินเข้ม จางๆ ที่ตัวก็สามารถเป็นเครื่องมือในการพลางตัวได้อย่างดี
บริเวณครีบหลังมีขลิบสีขาว ด้านใต้คาง ครีบอก ครีบท้อง รวมถึงส่วนล่างของหางจะมีสีเหลืองสด
ก้านครีบอกก้านแรกจะเป็นสีขาว ครีบก้นมีจุดสีฟ้าตัดกับสีเหลืองแลดูสวยงาม



Tyrannochromis maculiceps (Ahl, 1926)
มาคูลิเซพส์ มีขนาดความยาวราวๆ 10-14 นิ้ว แต่ความดุร้ายและความสวยงามนั้นไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่า T. Macrostoma จะมีสีสันที่สดใส
แต่เจ้า มาคูลิเซพส์ กลับมีสีสันที่เข้ม และดุดันกว่า โดยจะออกโทนน้ำเงิน เขียว ม่วง และยังมีแถบสีดำลากผ่านบริเวณกลางลำตัวหนึ่งเส้น และบริเวณใกล้ครีบหลังอีกหนึ่งเส้น ด้านล่างของลำตัวตั้งแต่คาง ครีบอก ท้อง ครีบก้นจะมีสีเหลืองเข้มสดกว่า มาโครสโตม่าด้วย

สำหรับมาคูลิเซพส์นี่ จะมีความผันแปรในเรื่องของสีสันเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่แหล่งที่มานะครับ เป็นชนิดที่มีเลี้ยงกันพอสมควรในเมืองนอกเลยนะครับ



Tyrannochromis nigriventer Eccles, 1989
ตัวนี้เป็นตัวแรกเลยที่ผมรู้จัก เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือ นิกริเวเตอร์ นั้นจะมีลักษณะที่คล้ายกับ มาโครสโตม่า

แต่จะต่างกันที่ มาโครสโตม่านั้น มีช่วงล่างและครีบก้นสีเหลืองสว่าง ส่วน นิกริเวเตอร์จะมีครีบก้นสีส้มแดง

ตามเนื้อตัวจะมีจุดดำจางๆ ทั่วตัว ที่หน้ามีแถบดำพาดผ่านดวงตา โดยขนาดตัวจะมีขนาดราวๆ 14 นิ้ว

นิกริเวนเตอร์จะมีแบ่งแยกเป็นสองชนิดนะครับ นั่นคือ ทางเหนือ และใต้ โดยปลาจากทางเหนือจะมีสีของหางเป็นสีส้มเหลือง ส่วนทางใต้จะเป็นสีส้มแดงครับ



Tyrannochromis polyodon (Trewavas, 1935)
ตัวนี้เป็นตัวที่ผมเหนื่อยหน่ายใจที่สุดครับ เพราะข้อมูลนั้นน้อยเหลือเกินจะว่าด้วยหายาก หรือไม่นิยมเลี้ยงก็ไม่ทราบนะครับ แต่จะละไว้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันจะไม่ครบเสีย

โพลโยดอน มีลักษณะที่คล้ายกับ นิกริเวนเตอร์พอสมควร แต่จะมีขนาดเล็กซักหน่อย คือราวๆ 18.5 ซม.

จากที่ค้นหาข้อมูลมานั้นมีแต่รูปที่เป็นวิชาการ และตัวปลาไม่มีสีสันเต็มที่เท่าใดนัก

จึงทำให้การแยกลักษณะเด่น-ด้อยเป็นไปได้ลำบากพอสมควร แต่คิดว่าไม่น่าแตกต่างจากสามชนิดที่กล่าวไว้แล้วแน่นอนครับ




รู้จักลักษณะโดยทั่วไปแล้วทั้ง 4 ชนิด คราวนี้เรามาดูเรื่องการเลี้ยงดูบ้างนะครับ
ในธรรมชาติ Tyrannochromis เป็นปลากินปลาด้วยกัน แต่ในที่เลี้ยงสามารถกินอาหารได้ไม่เลือก ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด ไม่เกี่ยง

แต่ควรดูเรื่องคุณค่าทางสารอาหารเป็นหลัก และความหากหลายของชนิดและสารอาหารเป็นหลักครับ

ขนาดตู้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงนั้น ควรมีขนาดตั้งแต่ 60 นิ้วขึ้นไป เพราะ Tyrannochromis นั้นเป็นปลาหมอที่มีความดุร้ายพอประมาณ ไม่ถึงกับไล่เอาเป็นเอาตาย

การจัดตู้พื้นตู้ควรปูด้วยทรายหรือกรวดละเอียด ไม่จำเป็นต้องใส่หินมากมายนัก เน้นเหลือที่ว่างให้ปลาว่ายให้มากๆ ครับ ระบบกรองต้องดี มีพื้นที่ให้แบคทีเรียอาศัยเยอะๆ

เพราะ Tyrannochromis เป็นปลากินเนื้อ และกินมาก ถ่ายมาก การเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ในจำนวนที่ไม่มากจะเป็นการดีกับปลา



ปลาที่เลี้ยงรวม ร่วมกันได้นั้นควรเป็นปลาหมอในทะเลสาบมาลาวีที่มีขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงนะครับ เช่นปลาหมอ บลูดอลฟิน (Cyrtocara moorii) ปลาหมอรอสตราตัส (Fossorochromis rostratus) ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัส (Nimbochromis fuscotaeniatus) เป็นต้น


ควรหลีกเลี่ยงปลาหมอในกลุ่ม mbuna ขนาดเล็กเพราะอาจถูกจับกินเอาได้



การผสมพันธุ์ของปลากลุ่มนี้นั้น ต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่หรือบ่อ โดยใส่ตัวผู้ 1 ตัวต่อปลาตัวเมีย 3-5 ตัว

แม่ปลาจะฟักไข่ในปากเป็นเวลาราวๆ 14 วันเป็นอย่างน้อย ลูกปลาแรกเกิดจะอยู่กับแม่ปลาซักระยะ

อาหารในระยะแรกเป็นพวกไรทะเลแรกเกิด อาหารเม็ดขนาดเล็ก ลูกปลาในระยะแรกนั้นจะโตเร็วมากครับ



ในช่วงระยะเวลานี้ ร้านขายปลาหมอสายแท้ในบ้านเราต่างกระตุ้นตลาดด้วยการสั่งปลาใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ปลาสายพันธุ์ที่สมัยก่อนได้แต่ดูในนิตยสารนั้น ปัจจุบันหลายสายพันธุ์ต่างทยอยแหวกว่ายไป-มาในเมืองไทยอยู่ไม่น้อย

ผมเชื่อว่าหากวันนึงปลาหมอมาลาวีขนาดใหญ่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง Tyrannochromis คงเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะมีเข้ามากระตุ้นตลาดอีกเป็นแน่ครับ


สวัสดี...



Create Date : 01 พฤษภาคม 2552
Last Update : 7 พฤษภาคม 2552 9:20:32 น. 3 comments
Counter : 6019 Pageviews.

 
ไม่สวย


โดย: i IP: 125.24.35.230 วันที่: 7 มิถุนายน 2552 เวลา:5:20:19 น.  

 
หน้ามันดูโหดดีนะพี่

แต่ถ้าพี่คิดจะเลี้ยง หนูว่าอย่าเลย

เพราะหน้าพี่โหดกว่า

เดี๋ยวปลาจะเฉาตายยย


โดย: บัวบุษบง IP: 203.156.25.84 วันที่: 25 ตุลาคม 2552 เวลา:15:48:46 น.  

 
เย่ออกไข่แล้ว555


โดย: army IP: 222.123.12.87 วันที่: 15 มิถุนายน 2553 เวลา:18:33:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.