Group Blog
 
All blogs
 
มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๒

จากกระทู้นี้ มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๑
vvv
vv
v
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=plaraberd&date=24-06-2008&group=1&gblog=13




จากตอนที่๑ ผมได้อธิบายถึงการพักปลาในกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าเอามาบอกเล่าให้ฟัง และวิธีการนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก

แต่วิธีที่ผมบอก เป็นเพียงวิธีที่ผมหาข้อมูลมาจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต และพี่ๆ ในเวปที่เลี้ยงปลาด้วยกันเท่านั้นนะครับ

อาจจะผิดหลักวิชาการไปบ้าง อาจไม่ครบถ้วนกระบวนความดีนัก
แต่ก็พอที่จะพักปลาให้ปรับตัวได้แน่นอน

ในตอนที่ ๒ นี้จะบอกเล่าถึงปลาในกลุ่มที่เลี้ยงแบบปกติซึ่งมีสี่ชนิดหลักๆ ได้แก่ S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis

เป็นกลุ่มที่มีการกระจายพันธุ์กว้าง มีลักษณะหลากหลายตามแหล่งอาศัย
ทำให้มีความแตกต่างตามแหล่ง และสามารถปรับตัวได้ง่ายในที่เลี้ยง

(คล้ายๆ ม็อบบ้านเราแหละครับ มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก เดี๋ยวประท้วงนู่น ประท้วงนี่
อีกหน่อยเราอาจจะเห็นม็อบสิวหัวช้างแห่งประเทศไทยก็ได้
เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาสิวหัวช้างอย่างจริงจัง ...)




ในการรับปลาในกลุ่มนี้มาเลี้ยงก็เพียงแค่สังเกตถึงลักษณะภายนอกของปลาก่อนซื้อ
ดูว่าในปลาที่เลือกมีอาการเปื่อย มีปรสิตติดอยู่หรือเปล่า
ปลามีอาการคันเนื้อ-คันตัวไม๊ มีจุดขาวๆขึ้นตามลำตัวหรือเปล่า
ที่หัวมีหลุม หรือรอยแผลลึกบ้างไหม

แต่ไม่ต้องถึงกับเอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องปลาในตู้นะครับ
อันนั้นเวอร์ไป เดี๋ยวโดนเจ้าของร้านตบเอาได้

ดูการว่ายน้ำว่าปกติอยู่หรือไม่ หากสังเกตดูว่าปลาไม่มีอาการผิดปกติ
จากนั้นก็ควรถามคนขายว่าปลามานานแล้วหรือยัง ขายดีไม๊ ลูกกี่คนแล้ว... เย้ย ! ไม่ใช่ๆ ต้องถามว่าพักปลานานแค่ไหน(ถ้าจะให้ดีต้องพักประมาณ 1-2 อาทิตย์)

ส่วนเรื่องการต่อรองราคาไม่สามารถแนะนำกันได้ เพราะเทคนิคใคร เทคนิคมัน



เมื่อรับปลามาแล้วก็ทำการแช่ถุงปลาให้นานหน่อย ซัก 30-45 นาที
จากนั้นนำน้ำในตู้มาค่อยๆ เทใส่ถุงปลาเพื่อให้ปลาปรับตัวกับน้ำใหม่
การรินน้ำก็ทำทุก 5 นาที ซัก 3 ครั้งก็น่าจะพอ
เมื่อถึงเวลาก็ปล่อยปลาลงไปได้เลยครับ

ในวันแรกนั้นไม่ควรให้อาหารเด็ดขาด เพราะปลาซึ่งเครียดจากการขนส่งนั้น เมื่อรับอาหารเข้าไป
อาจเกิดแก๊สในกระเพาะหรือลำไส้ ทำให้ท้องอืด ท้องบวม ท้องไม่มีพ่อ อะไรก็ว่าไป แต่ที่แน่ๆ อาจตายภายในวันเดียว...

การให้อาหารควรให้ในวันรุ่งขึ้น และให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน
(ประมาณว่าลองเชิง)จากนั้นเมื่อปลาดูแข็งแรงดี กินอาหารดีแล้วก็ค่อยเพิ่มปริมาณอาหารจนพอดี

ปลาในกลุ่มนี้แม้จะกินอาหารได้ไม่ยากเย็นนัก แต่เรื่องของอาหารนี่จะขอพูดเสียหน่อย




ด้วย Satanoperca ทั้งหลายแหล่นี้เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์
การให้อาหารที่เน้นหนักไปทางโปรตีนมากจนเกินไปนั้น ย่อมไม่เป็นผลดี เพราะในธรรมชาติปลาจะไล่หากินไปตามท้องน้ำ
ที่มีทั้งแมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง ลูกปลา รวมไปถึงตะไคร่ สาหร่ายบางชนิด ยอดอ่อนของต้นไม้น้ำ

ทำให้ผู้เลี้ยงควรให้ความสำคัญในเรื่องสารอาหารมากกว่าการเลี้ยงที่หวังเพียงให้ปลาได้เจริญเติบโตรวดเร็ว ทันใจนักเลี้ยงปลา(ส่วนใหญ่)



ผู้เขียนมักเห็นกระทู้ที่ถามถึงการทำให้ปลาโตเร็ว ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะรีบให้ปลาโตกันไปถึงไหน

การให้อาหารมากจนเกินไปนั้นไม่ใช่เรื่องดี ยิ่งยังมีพวกที่เน้นอาหารสด มากกว่าการให้อาหารที่หลากหลาย

ทำให้ปลาหมอส่วนใหญ่นั้นมักจะเจ็บป่วยง่ายซะจนผู้เลี้ยงบางท่านนึกว่าปลาหมอสีนั้นเปราะ

พอปลาป่วยก็พยายามหายามาใส่ ดูแลบ้างไม่ดูแลบ้าง
ซึ่งจริงๆ แล้วการแก้ไขนั้นมันผิดตั้งแต่ต้น
แต่กลับมาหวังพึ่งกับยา ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก

การให้อาหารที่ดี เราควรรู้ถึงลักษณะการกินของปลาที่เราเลี้ยงก่อนว่า
ในธรรมชาตินั้น ปลาหากินแบบไหน กินอาหารประเภทใด
นั่นจึงเป็นแนวทางการเลือกอาหารที่ถูก



ปลาในกลุ่ม Satanoperca นั้นสามารถรับอาหารสำเร็จรูปได้
แต่อาหารสำเร็จรูปก็ควรจะเลือกชนิดที่มีสารอาหารครบถ้วน มีส่วนผสมของพืชด้วยจะดีมากๆ

ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย บางรุ่นผสมโปรไบโอติก ช่วยเรื่องระบบย่อย และควรเลือกอาหารแบบจม ไม่ใช่แบบลอย

หากเป็นอาหารลอยน้ำก็ควรแช่น้ำให้นิ่มก่อน จากนี้ก็ค่อยบีบให้จม และนำไปให้ปลากิน

อาหารสดก็ไม่ควรละเสีย หากมีเวลาก็ลองหาหนอนแดงแช่แข็งมาละลายน้ำแล้วล้างหลายๆ น้ำซักหน่อย จึงนำไปให้ปลากิน
อันนี้ผมว่าก็วิเศษแล้วนะครับ

อยากให้ผู้เลี้ยงที่ตัดสินใจเลี้ยงปลา ควรคิดไว้อย่างนะครับว่า Satanoperca ไม่ใช่ปลาที่โตเร็วนัก

เรียกได้ว่าโตช้ากว่าญาติต่างสกุลอย่าง Geophagus เลยทีเดียว ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาอัดอาหารจนปลาจุกตาย อันนี้โทษใครก็ไม่ได้
ปลาเองก็ไม่ผิดเพราะมีเท่าไหร่มันก็กินเท่านั้น ก็คงต้องโทษผู้เลี้ยงนั่นแหละครับ

Note : จากที่ได้หาข้อมูลมานั้น ทำให้ทราบว่า S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis
สามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งหนอนแดง ไส้เดือนน้ำ อาหารเม็ด
ส่วนอีกกลุ่มคือ S. daemon, S. Lilith, และ S. acuticeps จะชอบอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าในกลุ่มแรก
อาจเป็นเพราะปลา เคยชินกับอาหารที่มีอยู่ในแหล่งของตัวเองมานาน อาหารในแหล่งที่ปลาอยู่มีแต่แมลงน้ำตัวเล็กๆ (ไม่รู้เรียกว่าอะไร แต่คิดว่าน่าจะเหมือนไรน้ำจืดบ้านเรานะครับ)

การให้อาหารในช่วงแรกๆ ควรเริ่มให้ด้วย ไรแดง (ทีละน้อยๆ) อาทีเมียแรกเกิด หนอนแดง
หากจะลองให้อาหารสำเร็จรูป ก็ควรเลือกชนิดที่มีขนาดเล็ก และจมน้ำอย่างช้าๆ

ในการให้อาหารสด ควรระวังเรื่องเชื้อโรคที่ติดมาด้วยนะครับ
ทางที่ดี แช่ด้วยด่างทับทิมอ่อนๆ ซัก 15-30 นาที
แล้วค่อยล้างด้วยน้ำจืดหลายๆน้ำก่อนให้ปลากิน

ผมว่าน่าจะปลอดภัยดีมิใช่น้อยเลยทีเดียว




ทีนี้จะมาเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูซักหน่อย
ปลาในกลุ่มนี้มีขนาดตั้งแต่ 8-12 นิ้ว ดังนั้นขนาดตู้ที่ควรใช้คือ 36-48 นิ้ว ต่อปลา4-5ตัว
หากจำนวนปลามากกว่านั้นก็ควรเพิ่มขนาดตู้ด้วยนะครับ

หลายคนบอก โห....ไอ้นักเขียนเวอร์ ปลาตัวแค่นี้ใช้ตู้ใหญ่โตอะไรนักหนา

ใช่ครับปลามันตัวแค่นี้ แต่ขนาดตู้ที่ผมบอกนั้นหมายถึงขนาดตู้ที่เลี้ยงแล้วสวย
ปลาไม่อึดอัดขนาดว่ายไปทางซ้ายชนตัวนี้ ว่ายไปทางขวาชนตัวนู้น
ลองนึกถ้าเป็นเรา เดินไปทางไหนก็มีแต่คนมาคอยเบียดไป-มา ผมว่าไม่ใครก็ใครคงได้คลั่งจนบ้าแน่ๆ

ตู้ขนาดที่บอกนั้นกว้างขวางพอที่จะให้ปลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่นว่ายน้ำ(เหมือนเราเดิน) ทำมาหากินขุดคุ้ยหาอาหารแก้เซ็งไปตามวาระโอกาสที่เหมาะสม



เมื่อคิดขนาดตู้ได้แล้ว ก็ควรสรรหาของตกแต่งตู้เสียหน่อย
ไม่ต้องถึงขนาดเอาประสาทเขาพระวิหารมาวางไว้ในตู้หรอกนะครับ

เดี๋ยวจะเป็นเรื่องเป็นราวกันไป เอาแค่หาวัสดุปูพื้นที่จำลองธรรมชาติ ที่ปลาจากมาบ้าง

ยอดนิยมสำหรับนักเลี้ยงปลาบ้านเราก็ได้แก่ กรวด ควรเลือกขนาดที่ละเอียดหน่อยเพื่อปลาจะได้อม-ถุยกันได้

การปูก็ควรปูบางๆ ไม่งั๊นนานไปมันจะหมักหมม แต่ในตำราฝรั่งเขาบอกให้ปูหนาประมาณ2.5-5 นิ้ว

แต่ผมคิดว่าผู้เลี้ยงจะลำบาก ต้องคอยดูดกรวดอยู่บ่อยๆ

เมื่อปูกรวดทั่วตู้แล้วก็ลองหาขอนไม้ สวยๆ วางไว้เสียหน่อย ไม่ต้องวางให้รก ให้แน่นเหมือนค่ายกลในหนังจีนนะครับ

ปลาพวกนี้ต้องการพื้นที่ว่ายน้ำพอสมควรเลย ควรเว้นช่วงให้โล่งบ้าง
ส่วนหินก้อนใหญ่ๆ นั้นอันนี้แล้วแต่ครับว่าจะใส่หรือไม่ใส่ แล้วแต่คนชอบ

แต่ขอเสริมให้ลองใส่ใบหูกวางแห้งลงไปซักหน่อย ผมว่าน้ำสีชาๆ มันดูสวย เหมาะกับตัวปลาอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ

ขอให้ใส่ไปซัก 1-2 วันพอนะครับ ไม่ต้องแช่จนเน่า เดี๋ยวจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปฉิบ



ว่ากันเรื่องตู้แล้ว มาต่อที่ระบบกรองกันบ้าง ต้องบอกว่าปลากลุ่มนี้ไวต่อไนเตรทพอสมควรเลยนะครับ

โดยอาการที่จะเห็นก็ได้แก่ โรคหัวเป็นรู (Hole in the Head, HITH )
ท้องบวม(ไม่นับจากการใส่เกลือเกินความจำเป็น) อาการเปื่อย เป็นต้น

ดังนั้นเราควรมาเริ่มที่กรองก่อนเลยนะครับ กรองขนาดใหญ่ วัสดุกรองมีคุณภาพ
อัดใยแก้วหนาๆ เพื่อไม่ให้ตะกอนชิ้นใหญ่ๆ หลุดลงไปในระบบกรอง

หมั่นซักใยแก้วบ่อยๆ

เรื่องของกระแสน้ำที่เกิดจากปั๊ม หรือท่อปล่อยน้ำจากกรองเข้าสู่ตู้ก็สำคัญนะครับ

ไม่ควรให้กระแสน้ำแรงจนเกินไป เพราะปลาในกลุ่มนี้อาศัยในแหล่งน้ำไหลเอื่อยๆ ดังนั้นการที่กระแสน้ำแรงจนปลาปลิวไป ปลิวมา ไม่ดีแน่นอน

การเปลี่ยนน้ำนั้นควรเปลี่ยนถี่หน่อย โดยอาจเริ่มที่ 30% ต่ออาทิตย์
ถ้ายังไม่พอก็ลองเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละสองครั้งดูครับ
มันไม่แน่นอนไอ้เรื่องเปลี่ยนน้ำเนี่ย บางคนเลี้ยงเยอะก็เปลี่ยนบ่อย บางคนเลี้ยงน้อยก็อาทิตย์ละครั้ง บอกกันเป็นสูตรไม่ได้หรอกครับ

อีกเรื่องนึงที่อยากบอกคือ เหล่าปลาร่วมตู้ต่างๆนั้น ก่อนนำไปใส่ควรพักปลาก่อนเพราะอย่างที่บอก
ปลาที่รวบรวมจากธรรมชาตินั้น(ปลาในกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ) มักจะไม่มีภูมิต้านทานโรคแปลกๆ แผลงๆ ซักเท่าใดหรอกนะครับ

และปลาที่นำมาเลี้ยงรวมนั้น อย่างไรเสียก็ขอให้ขนาดเล็กกว่า หรือถ้าขนาดพอๆกันก็ต้องไม่ดุร้ายบ้าบอมากนะครับ ปลาพวกนี้เครียดเป็นตาย จำไว้



ปลาที่แนะนำก็ได้แก่ ปลาในกลุ่ม Satanoperca ด้วยกัน ปลาในสกุล Geophagus ที่มีลักษณะนิสัยหากินเหมือนกัน และควรให้ขนาดเล็กกว่าด้วย อย่าได้เอาพวกขนากใหญ่กว่าไปใส่เชียว

ปลาเตรทตร้าขนาดเล็ก-กลางเช่น รัมมีโนส บรีดดิ้งฮาร์ท เตรทตร้า (Hyphessobrycon ฯลฯ

ปลาซิลเวอร์ดอลล่า ปลาซัคเกอร์ขนาดกลางที่ไม่มีนิสัยดุร้าย

Sailfin Pleco (Glyptoperichthys gibbiceps)

เหล่าปลาหมูขนาดกลาง(ต้องไม่ใช่ปลาหมูที่อาศัยอยู่ตามลำธารเด็ดขาด เพราะจะผอมและตายอย่างรวดเร็ว)

ตอนที่สองนี้ ขอจบเนื้อหาเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าเป็นตอนจบ เราจะมาทำความรู้จักเหล่าปีศาจน้อยแหล่งอเมริกาใต้ กันเรียงตัวดีกว่านะครับ






สวัสดี



รูปภาพประกอบบทความนำมาจากเวป //www.karpalo.net/s-daemon/
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ



Create Date : 02 กรกฎาคม 2551
Last Update : 5 กรกฎาคม 2551 8:52:38 น. 6 comments
Counter : 4606 Pageviews.

 
หน้าตาคล้ายปลานิลนะคะ
ตระกูลใกล้ๆกันรึเปล่าเอ่ย


โดย: ขำกลิ้ง ลิงกับหมอ (patra_vet ) วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:52:36 น.  

 
ไม่ใกล้กันเลยครับ ปลานิล มาจากแอฟริกา ส่วน Satanoperca เขาอยู่อเมริกาใต้ครับ

ปลานิลนี่ เลี้ยงในบ่อดีๆ มีอาหารหลากหลาย สมบูรณ์ ก็สวยงามใช้ได้เลยนะครับ ไม่เชื่อไปดูที่เขาดิน ตัวใหญ่มากกกกกกก



โดย: ลายเส้นหลังเขา วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:8:30:01 น.  

 
ได้ความรู้จังเลย


โดย: bigwat วันที่: 18 กรกฎาคม 2551 เวลา:10:04:35 น.  

 
ดีกว่าตัวอื่นอีกกกกกกก ไม่ดีเลย


โดย: 10310 IP: 117.47.103.218 วันที่: 8 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:20:31 น.  

 
ปลาแบบนี้น่ารักกว่าเยอะไม่เหมือนปลาที่น่าเกลียด


โดย: 3564 IP: 117.47.103.218 วันที่: 8 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:24:38 น.  

 
www.manghwytak ขอบอก (ไม่มีอยู่จริงในโลก)


โดย: 0901060540 IP: 117.47.103.218 วันที่: 8 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:27:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.