Group Blog
 
All blogs
 
Geophagus steindachneri เจ้าหัวปูดที่น่ารัก

ก่อนอื่นต้องสวัสดีผู้ทุกท่านก่อนนะครับ ผมนาย ปลาระเบิด นักเขียนหน้าใหม่ไฟอ่อน (เพราะถ้าไฟแรงกลัวต้นฉบับจะไหม้ 5555)
ขออนุญาตมารับใช้พ่อแม่พี่น้อง เกี่ยวกับบทความปลาหมอสีสายพันธุ์แท้นะครับ

จะว่าไปผมเองก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรนัก แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด หากมีข้อผิดพลาดประการใด
ก็ติ-ชมได้ครับ ยินดีน้อมรับทุกคำติชม

เอาล่ะ เกริ่นกันยาวไปหน่อยจึงขอเข้าเรื่องกันเลยก็แล้วกัน
ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับปลาหมอหมอสีสกุลหนึ่ง ซึ่งผมอยากจะนำเสนอความสวยงาม น่ารักของพวกเขาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันหน่อย
ปลาหมอที่จะนำมาแนะนำ เขามีชื่อว่า ปลาหมอ Geophagus steindachneri มีชื่อการค้าว่า Hondae หรือที่เรารู้จักกันในนาม ปลาหมอฮอนเด้

ปลาหมอฮอนเด้ (ขอเรียกชื่อนี้นะครับ) เป็นปลาหมอจากอเมริกาใต้ มีถิ่นอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ Rio Magdalena, Rio Sinu และ Rio Cauca ในประเทศโคลัมเบีย สาขาของ Maracaobo ในเวเนซูเอลาโน่นแหน่ะ
ประวัติของปลาหมอฮอนเด้ ได้รับการบรรยายครั้งแรกโดย Eigenmann และ Hildebrand ในปีค.ศ.1910 ตัวอย่างจับได้ที่ Rio Magdalena ในประเทศโคลัมเบีย
โดยเริ่มต้นใช้ชื่อว่า Geophagus Hondae และในเวลาต่อมายังเกิดความสับสนจนเรียกว่า Geophagus pellegrini อีกด้วย
เพราะปลาสกุลนี้เมื่อยังเล็กจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ในช่วงนั้นวงการAquariumเมื่อสั่งปลาหมอ Geophagus Hondae ก็มักจะได้ปลาหมอGeophagus pellegriniติดมาด้วยเสมอ
จากนั้นในปี ค.ศ. 1974 Loiselle ก็ได้ตั้งชื่อให้ว่า Geophagus steindachneri ต่อมาในปี ค.ศ. 1993 Leibel จึงบรรยายลักษณะและแยกชนิดของปลาได้สำเร็จ ในตอนนั้นเขาได้บอกว่าปลาหมอ Geophagus hondae คือลูกปลาหมอGeophagus steindachneri
ส่วนปลาหมอGeophagus pellegrini นั้นกลับเป็นอีกชนิดนึงไป สิ่งหนึ่งที่ทำให้สับสนกันมากก็คือ ปลาหมอฮอนเด้นั้นมีหลาย Colouration แตกต่างกันตามลักษณะภูมิประเทศ


หลังจากผมได้ไล่หาข้อมูลของปลาชนิดนี้แล้ว ยังมีความสับสนอยู่มาก (แหล่งข้อมูลเองก็ไม่ได้บอกรายละเอียดมากนัก คาดว่าคงสับสนแบบผมเหมือนกัน) เนื่องจากปลาหมอGeophagus pellegrini คล้ายกับปลาหมอGeophagus steindachneri
เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่pellegriniจะมีลำตัวกว้างสูงกว่า สีออกเหลืองส้ม แต่จะให้บอกว่าเป็นpellegriniจริงๆก็ดันไปคล้ายกับปลาหมอ Geophagus crassilabris อีก
ทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมเวลาหลายปี จึงไม่มีใครสามารถแยกแยะ (อาจพอแยกได้แต่ไม่กล้าฟันธง )ว่าปลาหมอชนิดไหน เป็นอย่างไร เพราะหากจะให้พูดจริงๆแล้ว
ปลาหมอฮอนเด้ มีลักษณะลำตัวยาวเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม สีสันค่อนข้างคล้ายกัน เพียงแต่ฮอนเด้จะมีเกร็ดสีทองคำขาว เคลือบอยู่ตั้งแต่หลังแผ่นปิดเหงือกจนถึงกลางลำตัวช่วงล่าง
(งงกันไหมครับเนี่ย) ส่วนปลาหมอ Geophagus crassilabris จะมีสีสันที่ตัวออกม่วงคล้ำๆจางๆ มีขลิบขาวที่ปลายครีบหลัง ครีบก้นและหางครับ
ซึ่งทั้งสามชนิดนั้น ล้วนมีหัวตุ่ยๆทั้งหมด แต่อย่าไปคิดมากครับ บ้านเรามีขายเฉพาะ Geophagus steindachneri ส่วนอีกสองชนิดยังไม่เคยเห็นนำเข้ามาครับ


ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหมอฮอนเด้คือ Geophagus steindachneri โดยคำว่า steindachneri ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Franz Steindachner (1834-1919) นักอนุกรมวิทย์ทานชาวเยอรมัน
ส่วนคำว่า Hondae กลายเป็นคำพ้องไป แต่ในการซื้อขาย ยังเรียกปลาชนิดนี้ว่า ฮอนเด้ (Hondae)

โดยในธรรมชาติปลาหมอฮอนเด้อาศัยในแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ จะหากินสิ่งมีชีวิตเล็กๆตามพื้นท้องน้ำ หรือตามกระแสน้ำบ้าง เช่นพวกตัวอ่อนแมลง หนอนน้ำต่างๆที่ซุกซ่อนตามท้องน้ำ
ลูกกุ้งลูกปูขนาดเล็กๆ โดยเขาจะไล่จิกตามพื้นกรวดพื้นทราย เมื่อกรวดทรายเข้าปากแล้วก็จะกรองอาหารลงคอ ส่วนกรวดทรายจะออกทางเหงือกแทนครับ

ลักษณะที่ดูโดดเด่นของปลาหมอฮอนเด้อยู่ที่หัวครับ เพราะเมื่อปลามีขนาดได้2.5-3นิ้วส่วนหัวของฮอนเด้จะเริ่มมีสีแดงและนูนสูงขึ้น
ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเด่นของเค้าเลยทีเดียว ลักษณะทั่วไปนั้นฮอนเด้จะมีลำตัวยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนหัวลาดเอียง
ปากอยู่ส่วนล่างของศรีษะ มีกระสีดำกระจายอยู่ตั้งแต่ตรงกลางลำตัว ขึ้นไปส่วนบนของหลัง ซึ่งจุดดำนี้เป็นลักษณะเฉพาะของตัวปลาเองด้วย
ส่วนท้องมีเกร็ดสีทองคำขาว เมื่ออายุมากขึ้นสีจะเคลือบมาถึงส่วนแก้มทำให้ดูสวยงามขึ้นจับใจ (ในบางแหล่งจะไม่มีเกร็ดเคลือบครับ คาดว่าเป็นลักษณะแตกต่างที่แหล่งอาศัย)
ปลาหมอฮอนเด้จะพัฒนาส่วนหัวไปตามอายุขัยครับ ยิ่งมีอายุมากก็จะยิ่งมีหัวที่นูนมากขึ้น



ในที่เลี้ยงฮอนเด้มีขนาดได้ถึง 15 เซนติเมตร แต่ในธรรมชาติจะมีขนาด 19.5 ซม. ตัวเมียจะมีขนาด 10 เซนติเมตร
ปลาเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย มีสีสันสดสวยกว่า ส่วนหัวจะปูดนูนกว่าเพศเมีย ครีบเครื่องต่างๆจะยาวกว่ามากครับ

ส่วนค่าน้ำในที่เลี้ยงนั้นก็ไม่ได้ต้องการอะไรเป็นพิเศษเลย โดยปลาสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีค่า ph ประมาณ6.5-7.0 อุหภูมิ 25-30 องศา นับว่าเป็นปลาที่ไม่ต้องการค่าน้ำอะไรมากมายแต่อย่างใด



ในการเลี้ยงฮอนเด้นั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงควรมีขนาด24นิ้วขึ้นไปครับ โดยขนาดตู้นั้น หากคิดจะเลี้ยงตัวเดียวก็ควรเริ่มต้นที่ตู้ 24 นิ้ว
ตู้36นิ้วเหมาะสำหรับลูกปลาและปลาวัยรุ่นมากกว่า อาจใส่ปลาได้7-10ตัว ส่วนปลาขนาดวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่นั้นควรลงตู้ 48 นิ้วขึ้นไปเลยครับเพื่อปลาจะได้มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ
และทำให้ปลาลดความกร้าวร้าวได้ครับ แต่หากคิดจะเลี้ยงเป็นคู่ เพื่อผสมพันธุ์ ตู้ที่แนะนำควรมีขนาด 36-48 นิ้วจะดีกว่าครับ
ระบบกรองก็อาจจะเป็นกรองข้างหรือกรองนอกไปเลย เพราะปลาชนิดนี้ต้องการน้ำที่สะอาด เพื่อสุขภาพของปลาเองครับ


หากเลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไปนั้น ปลาอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แม้ไม่ถึงตายแต่ก็จำทำให้ปลาที่อ่อนแอ ไม่กล้ามากินอาหารได้ครับ หากเห็นแบบนั้นแล้วอย่ารอช้าครับ
แยกปลาตัวที่อ่อนแอออกมา แยกเลี้ยงไว้ให้สุขภาพดีเสียก่อน จากนั้นพอตอนกลางคืนค่อยปิดไฟแล้วปล่อยปลากลับลงตู้เลี้ยงรวมครับ ปลาเจ้าถิ่นจะได้ไม่รู้ตัวส่วนปลาที่อ่อนแอจะได้มีเวลาปรับตัวและหาที่หลบซ่อนได้ครับ
การจัดตู้ปูกรวดนั้น ควรใช้กรวดเบอร์เล็กๆละเอียดๆ จัดตามแบบลุ่มน้ำอเมซอน โดนข้างหน้าปูหนาสัก2นิ้ว ด้านหลัง 4 นิ้ว
ซึ่งที่แนะนำให้ใช้กรวดละเอียดนั้นก็เพราะว่าปลาหมอฮอนเด้นั้นเขาจะมีวิธีการหากินในธรรมชาติ โดยการอมกรวดเข้าไปเพื่อหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรืออาหารลงท้องส่วนกรวดขนาดใหญ่จะทำให้ปลาไม่สามารถทำมาหากินได้ครับ
และอาจทำให้ปลาเกิดอาการเครียดหรือชินกับตู้เลี้ยงได้ช้าครับ
ภายในตู้สามารถใส่ขอนไม้ กระถางดินเผาให้ปลามีที่หลบซ่อนบ้างนิดหน่อย ต้นไม้ควรเป็นต้นไม้ติดขอน เพราะปลาสกุลGeophagus จะมีพฤติกรรม
คุ้ยหาอาหารตามพื้น
อาหารของปลาชนิดนี้ ขอบอกตรงๆเลยครับว่า ในที่เลี้ยงปลาหมอฮอนเด้สามารถปรับตัวกินอาหารได้หลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นใส้เดือนน้ำ หนอนแดง ไรทะเล
อาหารเม็ดทั้งแบบจมน้ำหรือลอยน้ำกินได้หมด
*อาหารเม็ดควรเลือกชนิดที่ดีหน่อยนะครับ เพื่อสุขภาพของปลา และก่อนให้ก็ควรแช่น้ำให้นิ่มก่อน เพื่อปลาจะได้กินง่ายขึ้น และยังลดอาการท้องอืดได้อีกด้วยนะครับ
**อาหารสดนั้นถ้าเป็นพวกไรน้ำจืด หนอนแดง ก่อนนำมาให้ปลากินควรแช่น้ำเกลือเข้มข้นก่อนซัก15-30นาที จากนั้นจึงล้างด้วยน้ำจืดจนสะอาดจะช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บของปลาได้เป็นอย่างดีครับ
***ไรทะเล ก่อนให้ควรแช่น้ำจืดซักครึ่งชั่วโมงก่อนนะครับ เพื่อล้างความเค็มออก จากนั้นค่อยล้างน้ำสะอาดอีกซัก2-3น้ำ เพื่อสุขภาพของปลานะครับ


แต่อาหารพวกปลาเหยื่อ กุ้งฝอยนี่ ไม่ต้องคิดจะใส่เลยครับ ไม่ค่อยจะกินเท่าไหร่ นอกจากจะตัวเล็กๆจริงๆ
ส่วนใหญ่แล้วออกจะชอบอาหารที่อยู่ตามพื้นกรวดเสียมากกว่า

ปลาที่เลี้ยงรวมกับฮอนเด้ได้นั้นผมขอแนะนำปลาหมอสกุลGeophagusหรืออาจจะเป็นพวกปลาเตรทตร้าขนาดกลางรวมไปถึงปลาเทวดา และอีกชนิดหนึ่งที่อยากนำเสนอคือเหล่าปลาแพะครับ อูยส์ แค่นึกภาพก็น่ารักเกินบรรยายแล้วครับ
หลีกเลี่ยงปลาขนาดใหญ่ที่มีนิสัยดุร้าย กร้าวร้าวหรือที่พอจะกินฮอนเด้เป็นอาหารได้ เช่นปลาหมอขนาดใหญ่ ปลาหมอครอสบรีดเป็นต้น




ในการเพาะพันธุ์นั้น ควรทำตู้เพาะพันธุ์เฉพาะโดยใส่ตัวผู้หนึ่งตัวต่อตัวเมียหลายๆตัว ตัวผู้จะเป็นฝ่ายเลือกปลาที่ถูกใจเองครับ (น่าอิจฉาปลาจริงๆ)
เมื่อพ่อแม่ปลาพร้อมผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเข้าไปเกี้ยวพาปลาตัวเมียโดยการว่ายไปข้างๆแล้วทำตัวสั่นๆกางครีบเพื่อเชื้อชวนปลาตัวเมีย
เมื่อตัวเมียยินยอมพร้อมผสมพันธุ์ ทั้งคู่จะหาทำเล จากนั้นก็จะขุดหลุมสร้างอาณาเขต ตามโพรงไม้ หรือตามก้อนหินผิวเรียบ
เมื่อปลาทั้งสองพร้อมแล้ว ตัวเมียไข่ออกมาจากนั้นจะรีบอมไข่ไว้ในปาก ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อตามเข้าไป ไข่จะมีปริมาณ 40-80 ฟอง
เมื่อลูกปลาเริ่มว่ายน้ำ อาหารที่ให้ได้แก่ไรทะเลแรกเกิด ไรน้ำจืด อาหารสำเร็จรูปแบบผง
และช่วงที่กำลังฟักตัวนั้น ควรงดการรบกวนปลาทุกอย่างครับ เพราะเดี๋ยวแม่ปลาจะกลืนไข่เสีย

จบแล้วครับสำหรับปลาตัวแรกที่ผมนำเสนอ หวังว่าทุกท่านคนชื่อชอบนะครับ อาจจะดูเกร็งๆไปบ้างก็ต้องขออภัย เพราะมือใหม่หัดเขียนครับ
วันนี้เนื้อที่หมดแล้วครับ เจอกับฉบับหน้านะครับ //สวัสดีครับ//

อ้างอิง //www.cichlid-forum.com/articles/geo_steindachneri.php

//www.wetpetz.com/steindachneri.htm


Create Date : 23 มกราคม 2551
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 8:55:48 น. 0 comments
Counter : 2714 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.