Group Blog
 
All blogs
 
N.cylindricus =====>>> ปลาน่ารัก ที่กำลังจะกลับมา....



สมัยที่ผมเริ่มหลงใหลในปลาหมอสายแท้ ผมมักจะท่องตะลุยไปทั่วในสวนจตุจักร
ทั้งร้านเล็ก ร้านใหญ่ ผมเข้าไปหมด ซื้อบ้าง ดูบ้าง พูดคุยขอความรู้บ้าง

ปลาหลายต่อหลายตัวผ่านมือผมไปด้วยความอยากได้ใคร่มี บางตัวไม่รู้ว่าเลี้ยงยังไงก็ยังซื้อหามาใส่ตู้

บางตัวอยู่นาน บางตัวก็จากไปเร็ว

หลังจากเป็นแบบนี้ไปนานๆ เข้าผมก็คิดได้ว่า

“น่าจะหาข้อมูลปลา ก่อนจะซื้อหามาเลี้ยง”

ไม่งั้นชีวิตน้อยๆ เหล่านี้อาจต้องจบลงเร็วก่อนเวลาอันสมควร

ในปี พ.ศ. 2545 ผมได้ประสบพบเจอกับหนังสือปลาหมอสีที่ชื่อว่า “มหัศจรรย์พันธ์ปลาหมอสี” ที่เขียนโดยพี่พิชิต ไทยยืนวงศ์

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผม ทำให้ผมได้รับทราบและรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งปลาที่มีอยู่แล้ว ปลาที่เคยเห็นและไม่เคยเห็น

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมหลงใหลปลาหมอดีมาสัน (Pseudotropheus demasoni)

ปลาหมอสกุล Aulonocara

ปลาหมอฟรอนโตซ่า(Cyphotilapia/Gibersossa frontosa )





ผมใช้หนังสือเล่มนี้เป็นทั้งครู ทั้งเพื่อนแก้เหงาอยู่หลายปีดีดัก

เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มโตขึ้น มีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงปลาหมอสีมากขึ้น (แต่ยังไม่พอ ต้องมากกว่านี้อีก)

ส่วนหนังสือนั้น ก็ดูแก่ชรา หน้าปกที่เคยสดสวยเริ่มเหลืองเก่า มีรอยยับตามขอบมุม

สันกาวเริ่มอ่อนล้าโรยแรง ยึดหน้ากระดาษเอาไว้แทบไม่อยู่


ผมมักเปิดหนังสือเล่มนี้ดูเสมอๆ แม้จะมีสภาพเก่าคร่ำครึเพียงใดก็ตาม

จนวันนึง ผมมาสะดุดกับปลาตัวนึงเข้าให้

ปลาตัวนี้เป็นปลาตัวกลมๆ ยาวๆ ริมฝีปากหนา ตาโต ตั้งแต่ส่วนหัวจรดข้อหางมีเส้นสีน้ำตาลเข้มพาดอยู่

ผมนึกเอะใจว่าทำไมผมถึงไม่ได้สนใจปลาตัวนี้เลยหน๋อ มันแต่ไปหลงชมชอบปลาอื่นๆ อยู่ได้

ทั้งๆที่ปลาตัวนี้ก็สวยดี มิได้ขี้เหร่แต่อย่างใด

เอาล่ะซิครับ งานนี้สนุกอย่างแน่นอน....





เวลาคนเรามันอยากได้อะไรขึ้นมา ถ้าเหาะไปได้ก็คงเหาะไปคว้าเลยนะครับ

ผมเองก็เช่นกันรีบนั่งรถไปสวนจตุจักรอย่างเร็วรีบ

ก้มๆ มองๆ ส่องหาปลาเป้าหมาย ได้แล้วก็คุยราคา ต่อรองนิดหน่อย

เจ้าของร้านก็จ้วงปลาขวับ อัดอ๊อก.....ฟู่ มัดถุง….”เปรี๊ยะ”

ผมก็กลับบ้านสบายใจพร้อมปลา 1 ตัว

ปลาที่ผมสอยมานี้มีชื่อว่า...ปลาหมอ ไซลินดริคัส (อันนี้เจ้าของร้านบอกมาครับ)

ชื่อวิทย์คือ Neolamprologus cylindricus Staeck & Seegers 1986

เมื่อได้ปลามาแล้วก็เอาถุงปลาแช่น้ำซัก 15 นาที ปรับน้ำเล็กน้อย
จากนั้นก็ปล่อยปลา นั่งดูสบายอารมณ์

คำว่า Neolamprologus หมายถึงเส้นใต้ตาของปลากลุ่มนี้
ส่วนคำว่า cylindro มาจากภาษาลาติน หมายถึงรูปทรงกระบอก
ซึ่งบ่งชี้ถึงรูปร่างของเจ้าปลาหมอน่ารักๆ ตัวนี้





ในธรรมชาติ N. cylindricus มักจะเฝ้าวนเวียนทำมาหากินแถวๆ กองหินที่ทับซ้อนกันจนเกิดซอกหลืบ หรือถ้ำ

ปลาจะจับกลุ่มกันอยู่ในระแวกถ้ำของตนเอง

เมื่อทราบดังนั้นในตอนที่เตรียมนำปลามาเลี้ยง

ผมได้เพิ่มหินก้อนกลางๆ ลงไปหลายก้อน ในตู้ที่ปูด้วยกรวดสีขาว หนาราวๆ 2 ซม.

จัดหินด้านหลังทับซ้อนจนเกิดช่อง รู ยังไม่พอ ผมยังเอากระถางดินเผามาทุบแบ่งครึ่ง

นำมาวางไว้ในด้านหน้าตู้เพื่อให้เป็นที่อาศัยของปลาน้อยที่หมายปอง

หมู่กองหินน้อยใหญ่ใต้ทะเลสาบทังกันยิกา เป็นที่อาศัยของปลาหมอมากมาย ทั้งกินพืช และกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

Neolamprologus ทั้งหลายเป็นปลาที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ซุกซ่อนตามซอกหลืบของกองหิน ตามผิวพื้นทรายขาวสะอาด

ก่อเกิดระบบนิเวศที่น่าชม ผู้ล่านั้นก็เลือกกินอย่างพอเพียงเพื่อประทังชีวิต

หาใช่โลภโมโทสันยัดทะนาหากินอย่างไม่หยุดหย่อน เหมือนมนุษย์ไม่

ทำให้ปลากลุ่มนี้มีอาหารมากมายไม่จำเป็นต้องแย่งกันกิน เหมือนสัตว์บางเผ่าพันธุ์





เมื่อได้ปลาในวันแรก ผมจะไม่ให้อาหารปลาเด็ดขาด

นั่นหมายถึงปลาทั้งหลายต้องอดกินด้วย

การอดอาหารสำหรับปลาที่อยู่ในระบบปิดนั้นไม่ใช่เรื่องโหดร้ายกับปลาแต่อย่างใด

กลับเป็นการช่วยให้ปลาได้มีเวลาย่อยอาหาร พักผ่อนระบบย่อย ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย

การอดอาหารที่ดี ไม่มีใครกำหนด แต่สำหรับผมเองแล้วจะอดราวๆ อาทิตย์ละ 1 วัน

เมื่อเข้าสู่วันใหม่ผมรีบตื่นขึ้นมานั่งดูเจ้าไซลินดริคัสเป็นตัวแรก ปลายังคงแอบๆ บ้างพองาม

ผมเริ่มให้อาหารเม็ดแช่น้ำจนนิ่มน่วม ให้ทีละ 3-4 เม็ด บี้ๆ เล็กน้อยพองาม เพื่อหวังให้เศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยตกลงไปที่พื้นเป็นอาหารแก่ปลาตัวเล็ก





เจ้าฟรอนน้อย 2 ตัวว่ายโฉบเข้ามากินอาหารบริเวณกลางน้ำ

ตามด้วยเจ้าเลลูปอายสีส้มสดใสเข้ามากินตามบ้าง

เจ้าคอมเพรชซิเซ็ปตัวแบนคอยคุมเชิงอยู่ด้านล่างรอกระแสน้ำพัดอาหารเข้ามาหาตัวมัน

แล้วเจ้าไซลินดริคัสล่ะ .......



เจ้านี่ยังคงสงบนิ่งอยู่ในซอกหลืบของหิน ผมถอนหายใจเล็กน้อยเพราะหวังว่าจะเห็นเจ้านี่กินอาหารให้ชื่นตา

เศษอาหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยปลิวไป-มา เจ้าจูลิโดจอมซ่าทั้ง 5 ตัว

ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ คอยเก็บเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ให้เสียของ

เวลาผ่านมาตามการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์ จากฝากตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตก

ท้องฟ้าสีครามเข้มเมื่อตอนเที่ยงแปรเปลี่ยนเป็นสีส้มอมชมพู

ดูคล้ายใครมาย้อมฟ้าให้ชาวประชาได้ชื่นชม

เมื่อเวลาเย็นมาถึงก็เท่ากับว่า ได้เวลาปลาหิว

ผมเตรียมหนอนแดงแช่แข็ง ไม้ตายสุดท้ายที่จะต้องทำให้เจ้าไซลินดริคัสสนใจใยดีอาหารให้จงได้





ผมล้างหนอนแดงจนละลายจากก้อนเหลี่ยมๆ เป็นตัวหนอนเส้นแดงๆ

แล้วบรรจงหยิบหนอนใส่ตู้ ปล่อยหนอนลงตรงท่อกรองเพื่อให้กระแสน้ำพัดพาอาหารไปให้ทั่วตู้

เมื่อเหล่าน้อยแดงสีสวยปลิวล่องลอยไป มา จนทั่ว

เหล่าปลาน้อยคอยไล่เก็บกินอย่างสนุกสนาน


แม้แต่เจ้าคอมเพรสซิเซ็ปตัวแบน ยังออกมาคอยเก็บส่วนแบ่งของตน

แล้วเจ้าไซลินดริคัสล่ะ...........

ผมมองเห็นปลาน้อยไล่กินอาหารไปไม่ไกลจากที่หลบซ่อน

สายตายังคงระแวดระวังภัย เมื่อไล่กินไปจนไกลออกจากถ้ำซักหน่อย

เจ้าปลาก็ว่ายพุ่งกลับไปยังที่ซ่อน ไม่นานนักก็โผล่หน้าออกมา

สายตายังคงระแวงภัยเช่นเดิม

ผมประทับใจในความไม่ประมาทของเจ้าปลาน้อย ซึ่งเป็นสมบัติจากบรรพบุรุษที่คอยส่งต่อมาให้ลูกหลานแทบทุกตัวตน

ยกเว้นก็เพียงเหล่าผู้มีอารยะ ที่คิดว่าเผ่าพันธุ์ของตนยังคงสามารถดำรงคงอยู่ในดาวเคราะห์สีฟ้าแห่งนี้ได้ชั่วลูกสืบหลาน

จนทำให้หลงลืมจารีตประเพณีที่บรรพบุรุษคอยสั่ง คอยสอนให้อยู่อย่างเคารพธรรมชาติ

จนตอนนี้ถึงคราวที่ธรรมชาติได้สนองความจองหอง เปรียบดั่งมารดาที่กลั้นใจลงโทษบุตรในอุทธรณ์

แต่นั่นก็มิทำให้มนุษย์บางผู้ บางคนสำนึก กลับฉกฉวยเอาเปรียบในขณะที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์กำลังลำบาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงโทษจากมารดาที่ชื่อว่าธรรมชาติในครั้งหน้า คงรุนแรงจนลูกๆ ต้องหลั่งน้ำตาอีกครั้ง...





ไซลินดริคัสเป็นปลาที่ว่ายกลางตู้ (ในหนังสือและเวปไซด์บอกมาอย่างนั้น แต่จากที่เห็นมันว่ายไปหมดแหละครับ)

มักจะวนเวียนตามกองหิน หรือซอกหลืบตามแต่ผู้เลี้ยงจะจัดไว้ให้


ปลาหมอไซลินดริคัส เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 11 ซม.ในเพศผู้ ส่วนเพศเมียจะย่อมลงมาอีกนิดหน่อย

ในการแยกเพศนั้นปลาตัวเล็กๆ ที่วางขายกับแทบเป็นไปไม่ได้เนื่องจากลักษณะภายนอกค่อนข้างคล้ายกัน

การแยกเพศให้แน่นอนนั้นให้ดูเมื่อปลามีอายุราวๆ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง

ลักษณะทั่วไปคือ ลำตัวกลมยาว ส่วนหัวยื่นแหลม ริมฝีปากหนา

ภายในปากมีฟันแหลมคมเรียงรายเต็มไปหมด

มีเส้นโค้งใต้ตาเป็นสีเขียวอมฟ้าจาง ที่ส่วนหลังโค้ง ลำตัวมีลายสีน้ำตาลเข้ม

พาดตั้งแต่ส่วนหลังยาวไปถึงส่วนด้านข้างของท้อง

ลายพาดเริ่มตั้งแต่ส่วนหัวจรดข้อหาง ครีบอก ครีบก้อน ครีบหาง จนถึงครีบหลังมีลักษณะใส ล้อมรอบด้วยริ้วสีฟ้าตัดขอบล้อมรอบอยู่





ไซลินดริคัสพบได้ทั่วในทะเลสาบในระดับน้ำลึกราวๆ 10 เมตร

ปลาจากทางเหนือ จะมีลายที่จางกว่า ส่วนปลาจากทางใต้จะมีลายที่เข้มและเส้นสีน้ำตาลจะใหญ่กว่าปลาจากทางเหนือ

ปลาจากทั้งสองแหล่งนี้จะมีลายพาดสีน้ำตาลเข้มทั้งหมด 10 ลายเท่ากัน

ไซลินดิคัสที่โตเต็มวัยจะมีสีเหลืองจางบ้าง เข้มบางที่ส่วนหัวด้วยนะครับ

ในการเลี้ยงนั้นควรอิงลักษณะจากจัดตู้จากธรรมชาติ โดยการปูพื้นด้วยกรวดละเอียด

ใส่หินน้อยใหญ่ลงไปให้เกิดซอกหลืบ หากเลี้ยงปลาอื่นๆ ร่วมด้วย

ก็ควรเลือกปลาที่มีลักษณะการหากินต่างกันเล็กน้อย รวมไปถึงเรื่องขนาดและความก้าวร้าว

พูดถึงความก้าวร้าวนี่ Neolamprologus ทุกสายพันธุ์มีความดุร้ายใช่ย่อยเลยนะครับ

ทั้งปลาที่เล็กกว่า ว่ายน้ำเอื่อยๆ หรือแม้แต่เพศผู้พวกเดียวกัน





Neolamprologus ทุกชนิดจะไม่ทำร้ายต้นไม้น้ำ สามารถใส่ต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายได้มากมาย

เนื่องจากสภาพแวดล้อมในธรรมชาตินั้น ยังพอมีต้นไม้น้ำขึ้นอยู่บ้าง

แต่จะติดก็ตรงที่ว่า ปลาหมอจากทะเลสาบส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบแสงสว่างมากนัก

อาจทำให้ต้นไม้ได้รับแสงไม่เพียงพอ จนใบซีดเหลือง และเน่าตายได้

การเพาะพันธุ์นั้น ควรนำปลาที่แยกเพศได้แล้สมาเลี้ยงในตู้ที่มีถ้ำเยอะๆ

ไม่ควรเลี้ยงปลาที่มีความคล้ายคลึงกันมากเช่น N.leleupi

เพราะอาจผสมพันธุ์ข้ามชนิดก็เป็นได้

เมื่อปลาเพศเมียวางไข่ ปลาเพศผู้จะคอยเฝ้าวนเวียนขับไล่ผู้รุกรานอย่างบ้าคลั่ง

ช่วงนี้ถ้าเป็นไปได้ควรแยกปลาชนิดอื่นออกไปให้หมด

ไข่ปลาจะมีจำนวนราวๆ 30-70ฟอง ไข่ค่อนข้างเล็ก ประมาณ 4-5 วัน

ลูกปลาจะฟักอกจากไข่และว่ายน้ำได้เมื่อมีอายุราวๆ 14-16 วัน

พ่อและแม่ปลาจะคอยปกป้องลูกน้อยต่อไปจนกว่าลูกน้อยพร้อมจะเผชิญโลกกว้างด้วยลำครีบของตนเอง

อาหารสำหรับลุกปลาแรกเกิดนั้นสำคัญ ทางที่ดีควรเอากระบอกฉีดยา(ที่เอาเข็มออกแล้ว)

สูบอาหารสดขนาดเล็กแล้วนำไปฉีดในสถานที่มีลูกปลาอยู่ วันละ 3-5 ครั้ง

ให้น้อยๆ แต่บ่อยๆ ลูกปลาจะโตเร็วมากครับ





จากวันที่ผมได้มีโอกาสเลี้ยงเจ้าไซลินดริคัสน้อย เวลาผ่านไปนานหลายปีดีดัก

เจ้าปลาน้อยลาโลกเนื่องจากผมให้อาหารเยอะและไม่ได้เปลี่ยนน้ำ จนเจ้าปลาน้อยท้องอืด ตัวบวมตาย

วันเวลาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง มาวันนี้ผมคิดว่าผมมีความพร้อมที่จะเลี้ยงปลาหมอชนิดนี้ให้ดีได้แล้วล่ะครับ

เพื่อนๆ พี่ๆ ล่ะครับ พร้อมจะเลี้ยงเจ้าปลาหมอตัวนี้ไปพร้อมๆ กับผมไหมครับ.....









Create Date : 29 สิงหาคม 2551
Last Update : 1 กันยายน 2551 14:59:54 น. 3 comments
Counter : 2882 Pageviews.

 
ชื่อไทยว่าอะไรหรอครับ หมอน้อยตัวนี้


โดย: ฟ่อน IP: 117.47.164.110 วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:18:57:25 น.  

 
ตอบ ฟ้อน // ชื่อ ไซลินดริคัส ครับฟ่อน
โทดที ตอบช้ามากเพราะเพิ่งเห็น...


โดย: Plaraberd IP: 124.122.226.146 วันที่: 4 เมษายน 2554 เวลา:8:48:25 น.  

 
สวยมากครับ ผมอยู่ ป.4 จ.เชียงใหม่ ผมมีโพแลนอาย/ซันฟิช และอื่นๆ
ผมเป็นคนบ้าปลา


โดย: ปาม IP: 61.19.65.65 วันที่: 22 กันยายน 2555 เวลา:21:26:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.