Group Blog
 
All blogs
 
ปลาระเบิดรื่นเริง : Heros <<<ฮีโร่ พระเอกใหญ่ ใจดี




ย้อนกลับไปราวปี 48 บ่ายวันเสาร์ ผมยื่นอึ้งอยู่กลางงานประกวดปลา ที่ห้างใหญ่ย่านงามวงศ์วาน

ปลาตัวกลมๆ สีเหลืองอร่าม มีจุดแดงกระจายทั่วตัว ที่หน้ามีลายเส้นสีแดงวาดลวดลายสวยงามไปตามแก้ม

ครีบบน-ล่างยาวสลวยเหมือนมีโทมัส ทอร์ (กระด๊อก) มาจัดทรงให้

ปลาตัวนั้นติดป้ายกลมๆ เขียนว่า “ชนะเลิศ”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเกิดหลงรักปลาหมอตัวกลมๆ ตัวนี้เข้าอย่างจัง

หลังจากดูงานจนเสร็จ นั่งแท็กซี่ต่อไปสวนจตุจักร กะว่าจะหาปลาสวยๆ แบบนี้ไปเลี้ยงสักตัว





ปลาหมอที่ว่านี้มีนามว่า ปลาหมอเซเวรัส บ้านเราเรียก ปลาหมอเซวาลุ่ม
ชื่อวิทย์ตายตัวที่ใช้กันคือ Heros severus

ชื่อสกุลจากที่หาๆ มายังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม Heckel ถึงได้ใช้ชื่อนี้

เพราะคำว่า Heros มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลได้รวมๆ ว่า พระเอก(ฮีโร่)

ในอดีตผมเคยค้นหาเจอในเว็บเมืองนอกเว็บหนึ่ง (อะไร petzap นี่แหละ)
แต่เว็บปิดไปราวๆ 2 ปี ไอ้ที่เซฟไว้ก็หายไปเสียแล้ว แปลประมาณว่า หมายถึงโล่ของนักรบ (ของกรีก โรมัน ประมาณนั้น)

ท่านใดพอจะทราบความหมาย รบกวนแจ้งที ข้องใจมากมาย...




ทีนี้เราข้ามไปเรื่องอื่นกันดีกว่า อย่าไปใส่ใจมากนักกับชื่อวิทย์ที่ยังหาความหมายไม่ได้

ผมว่าหลายคนคงเคยเห็น รู้จัก และเคยเลี้ยงปลาหมอเซเวรัสกันบ้างนะครับ <<<ต่อแต่นี้จะเรียกอย่างนี้นะครับ

อย่างแรก เรามารู้จักปลาในสกุล Heros กันหน่อยดีกว่านะครับ

ปลาในสกุลนี้จะมีรูปร่างออกไปทาง วงรี ลักษณะตัวแบนข้าง
หน้าผากลาดโค้งลงมากถึงปาก ปากมีขนาดเล็ก ภายในปากมีฟันเรียงรายอยู่มากมาย

ในตัวโตเต็มวัยหน้าผากจะมีลักษณะโหนกนูนนิดๆ ดวงตาใหญ่อยู่ด้านข้างของส่วนหน้า หากมองด้านตรงจะเห็นดวงตาปูดออกมาหน่อยๆ

ในบ้านเราน่าจะมีมาขายเป็นสิบปีได้มั้งครับ

ในอดีตเคยมีมาขายหลายสายพันธุ์ เช่น เซเวรัสเขียว เซเวรัสทอง (ทั้งแบบเหลืองทั้งตัวและเหลืองแต่มีลวดลาย)
และยังมีพวก sp. ผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นกันบ้างเล็กน้อย

ได้รู้ลักษณะทั่วๆ ไปของ Heros กันบ้างแล้ว ทีนี้เรามาทำความรู้จักกันแบบเรียงตัวเลยดีกว่านะครับ






Heros efasciatus Heckel, 1840



คำว่า efasciatus มาจากภาษาลาติน หมายถึง ไม่มีแถบ แถบที่ว่านี้คือ แถบบนตัวปลา เป็นแถบแนวตั้งสีเข้มครับ

ซึ่งในระยะหลังก็พบ Heros efasciatus ซึ่งมีแถบที่ว่านี้เหมือนกัน ในการระบุชนิดมักจะเติมชื่อแหล่งเข้าไปด้วยเพื่อป้องการอาการมึนครับ

เรื่องตลกอย่างหนึ่งสำหรับ efasciatus คือปลาตัวนี้ทั่วโลกใช้ชื่อการค้าว่า Severum

ทั้งๆที่ปลาที่ควรจะใช้ชื่อนี้ควรเป็น Heros severus มากกว่า

ซึ่งการเอาชื่อทางการค้ามาเรียกปลานั้น มักจะทำให้สับสนมากพอดู ดังนั้นควรยึดถือชื่อวิทย์เป็นหลักนะครับ

ในบ้านเราผมยังไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ เลย แต่อาจมีเข้ามาบ้างแล้วผมไม่ทราบก็เป็นได้ครับ





Heros efasciatus ตัวหลักๆ จะมีสีพื้นเป็นสีเขียว-เหลือง อมเทา
และมีลวดลายเส้นสีแดงกระจายเต็มตัวครับ ที่ส่วนท้ายของลำตัวจะมีแถบสีดำขึ้น 1 แถบในแนวตั้ง

ส่วนอกของปลาจะมีปื้นสีแดงสด (ขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้างตามอารมณ์)

สีที่ว่านี้จะไล่ยาวตั้งแต่อก ไล่ไปที่ครีบอกส่วนท้องจนถึงครีบก้นเลยนะครับ

ครีบที่ว่านี้เวลาเลือก ควรเลือกตัวที่ครีบไม่บิดเบี้ยวนะครับ

เพราะเมื่อปลาโตขึ้นครีบเครื่องเหล่านี้จะช่วยให้ปลาดูสวยงามมากขึ้นทีเดียวครับ



ปลาตัวผู้


Heros efasciatus จะพบได้ในแม่น้ำสาขาต่างๆ ในแม่น้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ เช่น Rio Amazonas ในประเทศบราซิล , Rio Ucayali ในเปรู, Rio Solimoes

ซึ่งเป็นเขตบรรจบกันของแบล็ควอเตอร์ และไวท์วอเตอร์ กับ Rio negro ใกล้ manaus รวมไปถึง Rio Xingu

นับเป็นการแพร่กระจายที่กว้างที่สุดในปลากลุ่มนี้ และพบได้บ่อยที่สุดด้วย

การแพร่กระจายแบบนี้ทำให้ปลาในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของสีและลวดลายพอสมควร...




ปลาตัวเมีย


เกร็ดเล็ก เกล็ดน้อย :

H. efasciatus มักถูกทำให้สับสนกับ H. severus แต่สิ่งที่แยกได้คือ H. efasciatus เป็นปลาวางไข่

ส่วน H. severus เป็น mouth brooders <<<อันนี้ตะลึงเล็กน้องเพราะจากที่ทราบมา ปลาในกลุ่มนี้วางไข่ทั้งนั้น พึ่งรู้ว่า H. severus เลี้ยงลูกในปาก


อ้างอิงจาก : //www.aquariacentral.com/forums/showthread.php?t=141558


เรื่องตลกของ H. efasciatus คือ ปลาตัวนี้ถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ จนกลายเป็นแบบ สีเหลือง สีเหลืองมีลาย และสีแดง

แต่ในบ้านเราและต่างประเทศกลับเรียกปลาชนิดนี้เป็น Heros severus มันน่าน้อยใจแทนปลายิ่งนัก ชิชะ




Heros appendiculatus Castelnau, 1855



คำว่า appendiculatus เป็นภาษาลาติน หมายถึง ส่วนที่เพิ่มเติม, ส่วนที่ยื่นออก

ซึ่งในกรณีนี้น่าจะหมายถึงลายแนวตั้งบนตัวปลาที่เพิ่มเข้ามาในช่วงท้อง แต่ไม่ยาวสุดจนถึงหลัง

Heros appendiculatus นั้นส่วนใหญ่จะมีสีออกไปทางโทนเขียวอมน้ำเงิน (บางครั้งออกดำไปเลยก็มี)

แต่ช่วงล่างของลำตัวตั้งแต่อก ครีบอก ส่วนท้องไล่ไปถึงครีบก้นจะมีสีแดงสด สวยงาม

ถูกอกถูกใจพวกชอบปลาหมอแนวดิบๆ ถ่อยๆ ยิ่งนัก



บริเวณลำตัวจะมีแถบเส้นสีดำแนวตั้งพากยาวตั้งแต่ฐานครีบก้านถึงกลางลำตัว เส้นที่ว่านี้มีอยู่ทั้งสิ้น 5 เส้น (ไม่นับเส้นยาวที่อยู่โคนหางนะครับ)

สามาระเข้มและจางได้ตามแต่อารมณ์ปลา แต่ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้เลยครับ

H. appendiculatus นั้นมีชื่อทางการค้าว่า Turquoise Severum เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าสีที่ตัว ที่หน้านั่นเองเพราะสีเหมือนแร่ Turquoise ที่มีสีออกเขียวอมน้ำเงิน

พบอาศัยบริเวณตอนบนของ Rio Amazonas ในประเทศเปรู



Heros notatus (Jardine, 1843)



notatus มาจากภาษาลาติน หมายถึง marked ซึ่งอธิบายถึงจุดบนตัวปลาที่เด่นชัดกว่าเพื่อนร่วมสกุลชนิดอื่น


ใบปลาบางตัวจุดที่มีขนาดใหญ่นั้นอาจเรียงต่อกันจนดูคล้ายเส้นเลยทีเดียว

พบเจอได้ในแม่น้ำอเมซอน ในประเทศบราซิล, Río Negro, Essequibo River ใน Guyana




ปลาตัวนี้ โดยส่วนตัวผมว่าสวยงามมากทีเดียว ด้วยสีเนื้อสีตัวที่ออกไปในโทนสว่าง

คือมีทั้งสีน้ำตาลอ่อน เขียว และมีจุดแต้มสีน้ำตาลแดง แต้มตามตัว

ที่บริเวณส่วนหัวจุดแต้มจะมีสีที่สดขึ้นและต่อกันจนเป็นลวดลายวิจิตรงดงาม

ที่ตัวปลาบริเวณท้องจะมีเส้นแนวตั้ง เรียงตั้งแต่หลังดวงตา(ในบางตัวจะเริ่มที่หลังแผ่นปิดเหงือก)

ไล่มาถึงด้านบนของครีบก้น ถึง 6 เส้น ไม่นับเส้นสุดท้ายที่พาดขวางตัวปลาในบริเวณท้ายลำตัวนะครับ

เส้นที่ว่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าของ Heros appendiculatus มากโขทีเดียว จนมองดูเหมือนจุดสีดำขนาดใหญ่



ในปลาเพศผู้นั้นจะมีจุดที่ใหญ่ และสีเข้มกว่าปลาตัวเมียมาก และเมื่อโตเต็มวัยจะมีหน้าผากที่โค้งมนได้รูป

ส่วนตัวเมียหน้าออกแหลมๆ ตัวผู้จะตัวโตกว่า เครื่องครีบจะยาวกว่า ลวดลายที่ครีบจะเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด

Heros notatus มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกขานกันนั่นคือ severum Guyanese









Heros severus




severus มาจากภาษาลาติน หมายถึง ร้ายแรง, รุนแรง ในบางครั้งหมายถึง สง่างาม

ไม่ใช่ได้ชื่อจาก ศาสตราจารย์ เซเวอร์รัส สเนป ในนิยายแฮรี่ พอทเตอร์ (ไอ้หนูหัวบาก) นะ อันนั้นคนละตน คนละตัวกัน
ประเดี๋ยวเสกให้หน้าตาดีเหมือนคนเขียน... (กลัวล่ะซิ เหอๆ )

เซเวรัสตัวนี้มีการแพร่กระจายอยู่อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ทั้งทางตอนบนของ Rio negro ตอนบนและตอนกลางของแม่น้ำ ออริโนโค่ ในประเทศบราซิล ในเวเนซูเอลา โคลัมเบีย แต่โดยรวมจะอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้

ดังนั้นจึงทำให้มีการผันแปลของสีตามแหล่งที่พบปลามากมาย



แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ จะมีสีเขียวเหลืองคล้ำ
ดวงตาสีแดง ส้ม ที่ท้ายของลำตัวมีแถบเส้นสีดำแนวตั้ง 1 เส้น พาดยาวตั้งแต่ฐานครีบหลังถึงฐานครีบก้น

ด้านข้างลำตัวจะมีจุดสีส้มแดงกระจายเป็นแนวยาว ส่วนอกมีสีส้มแดง
มีแถบแนวตั้งที่ลำตัวราวๆ 7-8 เส้น แถบเหล่านี้สามารถมีหรือไม่มีก็ได้ตามแต่อารมณ์ของปลา

บริเวณส่วนหัวจะไม่มีลวดลาย (หรือถ้ามีก็น้อยมาก และมักจะขึ้นที่แผ่นปิดเหงือก)

ในปลาเพศผู้จะมีจุดที่บริเวณด้านล่างของแผ่นปิดเหงือก ส่วนในตัวเมียนั้นจะไม่พบ หรือถ้ามีก็น้อยมาก

ปลาเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เครื่องครีบยาวใหญ่กว่า

ในบ้านเราที่มีจำหน่ายภายใต้ชื่อเซเวรัสเขียวครับ






Heros spurius Heckel, 1840




คำว่า spurius มาจากภาษาลาติน หมายถึง เท็จ ไม่จริง ซึ่งอธิบายถึงความคล้ายคลึงที่ใกล้เคียงกับ Heros modestus (อธิบายโดย Heckel ใน 1,840)

แม้จะเหมือนแต่ไม่ได้เป็นชนิดเดียวกัน และปัจจุบัน Heros modestus ถูกจัดอยู่ในชนิด H. efasciatus จุดสังเกตได้คือ H. spurius จะมีจุดใหญ่กว่า H. efasciatus แต่ไม่เท่า Heros notatus ครับ

ลักษณะจุดของ H. spurius จะมีลักษณะต่อกันเป็นเส้นแต่ไม่ยาวมาก ช่องว่างระหว่างเส้นจะห่าง ไม่เป็นระเบียบมากนัก

กระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำอเมซอน ในบราซิล และ แม่น้ำ Guaporé

ปลาตัวนี้ข้อมูลค่อนข้างน้อยและหาดูชมได้ยากที่สุดในบรรดาเพื่อนร่วมสกุลทั้งหมดครับ






หากลองหาข้อมูลของปลาในกลุ่มนี้ จะทราบเลยว่ามีความสับสนอยู่มากทีเดียว

ด้วยลักษณะที่คล้ายกันมาก ลวดลายและสีมีความเหมือนกัน แหล่งกระจายพันธุ์ กระจุกอยู่บริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้
และพบเจอได้ทั้งในเขตแบล็ควอเตอร์ และไวท์วอเตอร์

ทำให้ส่วนตัวผู้เขียนเองต้องยึดเอาชนิดที่อธิบายไว้ในข้างต้นจากเว็บ //www.cichlidae.com/




เพราะข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างอัพเดทมากที่สุด และท่าน แอด คอนนิ่ง นั้นก็ถือเป็นผู้รอบรู้ทางด้านปลาหมอสีทั่วโลกตัวจริง

ดังนั้นในบทความนี้จึงขอยึดข้อมูลการแยกชนิดจากเว็บไซด์ดังกล่าวไว้ก่อนนะครับ



Heros sp. Curare



นอกจากชนิดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีพวกแปลกแยก มีลักษณะเด่นตามแหล่งที่พบอีกมากมาย

เชื่อว่าอีกนานโขทีเดียวกว่าจะคัดแยก จัดระเบียบให้ครบ เผลอๆ ผู้เขียนตายไปเป็นผีแล้ว ยังบรรยายแยกชนิดกันไม่เสร็จเลยทีเดียว

ด้วยความที่ยังมีความสับสนอยู่มากนั้นเอง ทำให้บทความนี้ทำหน้าที่ได้เพียงแค่การแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น

และอย่าได้เชื่อทุกตัวอักษรที่พิมพ์ลงไปจนกว่าท่านจะได้ค้นคว้าหาข้อมูล และตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง





ทีนี้เรามาดูเรื่องทั่วๆ ไปของปลาในสกุล Heros กันบ้างนะครับ

ปลาในสกุลนี้ถือว่าเป็นปลาใหญ่ทีเดียว ด้วยขนาดโตเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 10-12 นิ้ว!!!

ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงสำหรับปลาขนาดเล็กควรเริ่มต้นที่ ตู้ 24 นิ้วขึ้นไป
เพื่อความสบายตาของท่านผู้ชม และความสบายใจของตัวปลาเอง



Heros sp. Curare


ในธรรมชาตินั้นเหล่าลูกปลาจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยวัสดุใต้น้ำเช่นขอนไม้ หิน รากไม้ริมตลิ่ง กระแสน้ำจะไหลเอื่อยๆ

แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นเหล่าปลาหนุ่มสาวทั้งหลายจะแยกย้ายไปอาศัยในแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยพรรณไม้น้ำ สภาพน้ำจะนิ่ง ลึก พื้นน้ำจะเป็นดินโคลน กรวดทรายอะไรก็ว่ากันไป

ในการเลี้ยงนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับปลาโดยมีวัสดุใต้น้ำบ้าง

ในปลาที่มีโทนมืด เช่นเซเวรัสเขียวนั้นควรปูวัสดุที่มีสีอ่อน เช่นกรวดแม่น้ำสีอ่อน กรวดแก้วสีขาวเป็นต้น


จัดวางหิน ขอนไม้ให้ปลาได้หลบซ่อนบ้างเพื่อลดความเครียดในระยะแรก วัสดุที่นำมานั้นไม่ควรมีปลายแหลมคม

เพราะเห็นรูปร่างอ้วนๆ แบบๆ แบบนี้ แต่เซเวรัสยามตกใจกลับเป็นปลาที่พุ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ทั้งแรง ทั้งเร็ว จึงอาจเกิดบาดแผลได้




Heros sp. 'Cameta' or 'Marajo'


หินที่มีลักษณะแบน ผิวเรียบนั้นมีประโยชน์มาก เพราะปลาสามารถนำมาเป็นสถานที่วางไข่ได้
รวมไปถึงกิ่งไม้ ขอนไม้ที่มีขนาดใหญ่กำลังดี ได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน

น้ำที่ใช้เลี้ยงขอแค่สะอาด ไม่มีสารพิษก็สามารถเลี้ยงได้สบายจิต
ระบบกรองควรเลือกขนาดให้ใหญ่เข้าว่า เพราะถือว่าเป็นปลาที่กินจุทีเดียว



Heros sp. 'Puala Coaro-Rio Negro'


จากที่เลี้ยงมานับสอบตัว ยังไม่เคยมีตัวไหนที่ป่วยตายเลย ส่วนใหญ่ เบื่อแล้วเอาไปแลกปลาอื่นบ้าง ขายบ้าง แจกบ้าง

จะมีที่เคยตายต่อหน้าต่อตา ก็ตายด้วยโดนปลาใหญ่กว่า งับเข้าหัว
เพราะดันทะลึ่งจ้องจะกินอาหารเม็ดเดียวกันนั่นเอง
(ต่างฝ่ายต่างจ้องจะงับอาหารเม็ด เผอิญได้ตัวเล็ก ดันงับก่อน ตัวใหญ่เลยงับพลาด งับเข้าหัวพอดี ไอ้ตัวเล็กเลยไปเฝ้าเง็กเซียนซะ...)



Heros sp. 'Uatuman'


อาหารที่โปรดปรานนั้น..... ไม่มี -*-“

มันกินหมด กินทุกอย่าง ทั้งอาหารเม็ด อาหารสด เนื้อกุ้ง เนื้อเก้งที่ไหนพวกซัดเรียบ

ให้ไปเหอะ วันละ มื้อสองมื้อ บันเทิงใจดีแท้

แต่อาหารที่ให้ก็ควรมีส่วนผสมของพืชบ้างนะครับ กินเนื้ออย่างเดียว ท้องผูกตายชัก

ทีนี้มาดูเรื่องเพื่อนร่วมตู้กันบ้าง รู้กันแล้วว่าไม่ดุ แต่ก็ควรเลือกเพื่อนขนาดที่กำลังดีหน่อย และไม่ชอบตอด

เพราะครีบยาวๆ ของเซเวรัสนั้นต้องใช้เวลาพอควรกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม



Heros sp. Santarem


ส่วนตัวนั้นเลี้ยงรวมกับ เตรทตร้าขนาดเล็กอย่าง รัมมี่โนส ปลาแพะ ปลาหมู ปลาเทวดา ก็สามารถอยู่กันได้อย่างสงบสุข
ไม่มีมาเดินประท้วงอะไรกันวุ่นวาย

และยังสามารถเลี้ยงรวมกับปลาขนาดใหญ่ที่ไม่ดุอย่าง ปลาหมอฟรอนโตซ่า ได้ด้วย อยู่กันดีเชียว...

แต่ก็ใช่ว่าจะอารมณ์ดี ร่าเริงตลอดเวลานะครับ ยังไงก็เป็นปลาหมอ
ความดุก็มีบ้างสำหรับพวกเดียวกันในบางครั้ง

และโดยเฉพาะตอนผสมพันธุ์นั้น พ่อ-แม่ปลาค่อนข้างหวงที่ หวงทางมากทีเดียว




เซเวรัสนั้นเป็นปลาที่ค่อนข้างจะจับคู่กันนานสักหน่อย กว่าจะได้เสียเป็นเมียผัวกัน (บางเว็บว่าไว้ 3-6 เดือนเลยทีเดียว)

แม่ปลาจะวางไข่ติดตามวัสดุใต้น้ำ เช่นหิน กระถางดินเผา ขอนไม้ ได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน

เมื่อแม่ปลาวางไข่เสร็จ พ่อปลาก็จะเข้าไปฉีดน้ำเชื้อ เพื่อให้ไข่ได้รับการผสม

หลังจากนั้นแม่ปลาจะทำหน้าดูดูแลไข่ คอยพัดโบกออกซิเจนให้ไข่ ส่วนพ่อปลาจะคอยระวังภัยภายนอก

พิเศษหน่อยตรงที่ H.severus พ่อปลาสามารถเลี้ยงลูกไว้ในปากได้ด้วย ส่วนชนิดอื่นๆ ทำไม่ได้ครับ

ลูกปลาฟักออกมาราวๆ วันที่ 3-4 สามารถให้อยู่กับพ่อ-แม่ปลาได้ เพราะพ่อแม่ปลาไม่มีพฤติกรรมการกินลูกตัวเอง



Female




male


ปลาตัวนี้ยิ่งเลี้ยงยิ่งสวยนะครับ ไม่จำเป็นต้องเร่งให้โต
หรือเร่งสีแต่อย่างใด ตามสไตล์คนไทยใจร้อนที่พอเห็นปลาคนอื่นโตกว่า สีสดกว่า

ก็พยายามหาของไร้สาระมายัดใส่ให้ปลา เพราะหวังให้โตสวยทันใจคนเลี้ยง

ยิ่งเร่งมาก ก็ยิ่งตายไว แทนที่ปลาจะอยู่อย่างสุขภาพดีที่ควรเป็น กลับกลายเป็นการเร่งปลาให้ไปสู่ภพที่ดีกว่า

ดังนั้นควรเลี้ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ควรย้ายตู้บ่อยๆ เพราะปลาอาจจิตตก หยุดกิน

หรือถ้าในกรณีที่ปลาจับคู่กันอยู่แล้ว หากไปย้ายที่ให้ปลาเครียด ผู้เลี้ยงอาจพลาด ไม่ได้เห็นผลผลิตงดงามที่กำลังจะตามมาก็เป็นได้



Heros notatus : male




Heros notatus : female


นอกจากนี้ยังมีพวก sp. ทั้งหลายที่ยังไม่ขอกล่าวเพราะกลัวจะเวียนหัวกันไปใหญ่

ด้วยข้อมูลที่หามานั้นไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ เพราะใช้ในหลักการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าปลาเสียมากกว่า

ในบ้านเรานั้นที่มีให้เห็นก็มีอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้นนะครับ เช่น เซเวรัสเขียว เซเวรัสทอง(ทั้งแบบเหลืองๆ ลายไม่ค่อยมี และมีลายพร้อยไปทั้งตัว) รวมถึงเซเวรัสแดงที่พัฒนากันจนมีลายแดงทั้งตัว


และล่าสุดที่เห็นคือ Heros sp. Black <<<เรียกตามเว็บเมืองนอก ในเมืองไทยยังไม่มีชื่อเรียก ปลาตัวนี้สีออกน้ำตาลเทา-ดำ มีสีแดงช้ำๆ ที่คอเล็กน้อย ผู้เขียนยังไม่เคยเลี้ยง ได้แต่ยืนดูนานๆ เท่านั้นครับ



อีกตัวที่จะต้องกล่าวคือ Heros sp. 'rotkeil' ชื่อเล่นๆ ที่เรียกกันว่า Redheaded Severum.

ตัวนี้เป็นอีกตัวที่เป็นดาวเด่นในวงการปลาสวยงาม ในบ้านเรายังไม่เคยเห็นเหมือนเดิมครับ นอกจากหิ้วเข้ามาหรือสั่งเข้ามาเท่านั้นครับ









เขียนมาเสียมากมาย หากสนใจอยากหาปลาหมอตัวใหญ่ สวย ไม่ดื้อ ไม่ดุ กินง่ายอยู่ง่าย มาเลี้ยงสักตัว หรือสักฝูง

ก็อยากให้แลเหลียวทองปลาตัวนี้บ้างนะครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง

ปลาระเบิดเอาหำเป็นประกัน....

สวัสดี...



Create Date : 02 ธันวาคม 2553
Last Update : 2 ธันวาคม 2553 13:24:48 น. 3 comments
Counter : 5067 Pageviews.

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
ทักทายวันทำงานค่ะ ปลาสวยจังค่ะ


โดย: Junenaka1 วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:13:42:28 น.  

 
สวัสดีครับ คุณ Junenaka1



โดย: ลายเส้นหลังเขา วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:14:04:14 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: สาวสะตอใต้ วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:20:20:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.