Group Blog
 
All blogs
 
ปลาระเบิดลองของ : โรเบิร์ทสันอาย ควายน้ำจุดฟ้า ผู้พิชิต



สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกแล้วกับ Cichlid corner ฉบับนี้ขอนำปลาหมอตัวเขื่องชนิดหนึ่ง ซึ่งหาดูไม่ค่อยได้แล้วในท้องตลาด

นำมาให้ทุกๆ ท่านได้รู้จักกันสักหน่อย เผื่อท่านมีตู้ว่างอยู่พอดี มิรู้จะใส่ปลาอะไรลงไป
อานิสงส์ผลบุญอาจตกไปสู่ปลาหมอที่ถูกลืมชนิดนี้บ้างก็ได้นะครับ



ฉบับนี้ขอกล่าวถึงควายน้ำผู้พิชิตนามว่า “ปลาหมอโรเบิร์ทสันอาย” บ้านเราเรียกแบบฟังแล้วจั๊กจี้หูว่า โรเบิร์ทโซนี่

ไม่แน่หากกาลเวลาเล่นตลก เราอาจได้ยินชื่อปลาว่า โรเบิร์ทซัมซุง ก็เป็นได้ -*-




พวกฝรั่งแขนลายเรียกเก๋ๆว่า False Firemouth, Robertson's Cichlid และ Turquoise Cichlid

เจ้าโรเบิร์ทสันอายนี้มีชื่อวิทย์ว่า Astatheros robertsoni
เดิมนั้นอยู่ในสกุล Amphilophus แต่เพิ่งมีการแยกปลาในสกุลบางชนิดออกให้มาอยู่ในสกุล Astatheros เมื่อเดือนกันยายน ปี 2010 นี้เอง



Astatheros หมายถึง มีจุดเหมือนไข่มุก ซึ่งอธิบายถึงจุดเด่นของปลาในสกุลนี้
ส่วนชื่อ robertsoni นั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ Dr. Robertson เจ้าของสวนยางในประเทศแคเมอรูน



โรเบิร์ทสันอาย อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกลาง โดยพบได้ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ไล่ไปถึง กัวเตมาลา

โดยอาศัยอยู่ตามแม่น้ำสาขาต่างๆ ชาวบ้านที่นั่นเห็นกันจนชิน พร้อมบอกว่า เนื้อแน่นอร่อยดี...

ด้วยขนาดที่ใหญ่โต ทำให้เจ้านี่โดดเด่นได้ทั้งในตู้ปลาและโต๊ะอาหาร



ในบ้านเรานั้นไม่ค่อยมีให้พบเห็นสักเท่าไหร่แล้วนะครับ ไม่ทราบว่าหายไปไหน

ตัวผู้เขียนเองก็ได้มาแบบฟลุ๊คๆ อยู่ในร้านขายปลาร้านหนึ่ง ก้มลงไปผูกเชือกรองเท้า เลยไปเห็นเข้าจึงรับมาเลี้ยง

อีกตัวมีเฮียใจดี ยกให้เลี้ยงฟรีๆ ตอนนี้เลยมีโรเบิร์ทสันอายเลี้ยงตั้งสองตัวเชียว



จากที่เลี้ยงดูมาสักพักใหญ่ๆ เจ้าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีนิสัยดุร้ายบ้างในบางครั้ง แต่ก็ไม่มากเท่าเพื่อนร่วมทวีปอีกหลายๆ ชนิด

ดังนั้นไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะถ้าพลาดปลาเล็กๆ อย่างพวกปลาเตรทตร้าจากอเมริกาใต้ อาจเป็นอาหารว่างก็เป็นได้



แต่ถ้านำมาเลี้ยงกับปลาที่มีขนาดพอๆกัน หรือใหญ่กว่าแล้ว โรเบิร์ทสันอายจะดูเรียบร้อยน่ารักเลยทีเดียว

ปลาที่เลี้ยงรวมได้ควรเป็นปลาหมอจากอเมริกากลางชนิดต่างๆ ที่ไม่ดุมากนัก เช่น ปลาหมอไฟร์เม้าท์ (Thorichthys meeki) ปลาแคชฟิชชนิดต่างๆ ปลาหมอทะเลสาบอย่างฟรอนโตซ่าก็ยังไหว




ในการเลี้ยงรวมนั้นควรดูเรื่องขนาดตู้ จำนวนและขนาดปลาให้ดีด้วยนะครับ เรื่องการเลี้ยงนั้นคงบอกได้แค่คร่าวๆ นะครับ

เพราะไม่มีสูตรตายตัว ผมเคยเห็นเขาเลี้ยงเป็นฝูงในตู้ขนาดใหญ่ก็สวยสมกับขนาดตู้ดีเหมือนกัน

ว่ายเป็นกลุ่มๆ พลางขุดหาอะไรกินไปเรื่อย ทำให้ดูเผินๆ คล้ายปลาหมอในสกุล Geophagus จากอเมริกาใต้อยู่เหมือนกัน



ส่วนการเลี้ยงเบื้องต้นนั้นโดยควรเริ่มจากตู้สัก 24 นิ้ว สำหรับปลาขนาด 3-5 นิ้ว 1 ตัว อยู่สบายๆ ระบบกรองก็ตามแต่ใจและงบประมาณเลยครับ

กรองข้าง กรองนอก กรองฟองน้ำได้หมด ขอแค่ให้ใหญ่พอจะบำบัดน้ำได้ทันท่วงทีเป็นใช้ได้

พอปลามีขนาดใหญ่โตขึ้นจึงควรเริ่มขยับขยายตู้ให้ปลาอยู่อาศัยได้อย่างสบาย

การจัดตู้นั้นตามสะดวกเลยครับ จะปูกรวด วางหิน วางขอนไม้ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ควรใส่พืชน้ำทั้งหลาย

เพราะปลาอาจกัดแทะเล่น หรือคุ้ยต้นไม้หลุดลอยให้เห็นจนเซ็งก็เป็นได้



เรื่องน้ำนี่ก็ไม่มีอะไรมากครับ ตามประสาปลาหมออเมริกากลางทั่วๆ ไป น้ำสะอาดปราศจากคลอรีนเป็นพอ

ด้านอาหารการกินนั้นปลาสามารถกินอาหารเม็ดได้เลย โดยกินครั้งละมากๆ เสียด้วย

แต่ก็ไม่ควรให้มากนักนะครับ เดี่ยวท้องจะอืดเอาได้ อาหารสดก็ลูกกุ้ง เนื้อกุ้ง ไรทะเลล้างสะอาด






โรเบิร์ทสันอาย อาจจะไม่ใช่ปลาสวยแบบที่หลายๆ คนชอบนะครับ ออกเป็นปลามีเสน่ห์มากกว่า

ด้วยรูปร่างแบนข้างเล็กน้อย ช่วงลำตัวสูง หน้ายาว เครื่องครีบกางใหญ่ โดยเฉพาะครีบหลัง ครีบก้นและหาง

ที่เครื่องครีบจะมีสีฟ้าเงางาม มีจุดเล็กๆ ประตามครีบ ขอบครีบและปลายครีบหลังมีสีแดง หางปลาก็มีสีแดงตัดกับจุดสีฟ้าเช่นกันครับ



ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนปนเทา สามารถปรับเข้มอ่อนตามสภาพแวดล้อมและอารมณ์ของปลา

ในบางครั้งเมื่อปลาตกใจตัวปลาจะมีแถบเส้นแนวตั้งประมาณ 8-10 เส้น โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนบ่าไล่ไปถึงโคนหาง กลางลำตัวมีแถบจุดสีดำเรียงต่อกัน ตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกจนถึงโคนหาง

ที่โคนหางจะมีจุดสีดำขนาดใหญ่ 1 จุด จุดสีดำที่ว่านี้สามารถจางหายได้ตามสภาพอารมณ์ของปลาด้วยเช่นกัน

ในปลาขนาดเล็กจุดสีดำที่ว่านี้จะยังไม่มี จะมีก็เพียงจุดสีดำกลางลำตัว 1
จุด และโคนหางอีก 1 จุด



จุดเด่นของปลาชนิดนี้คงหนีไม่พ้นสีฟ้าเงางามที่เคลือบตามแก้ม แผ่นปิดเหงือก และบริเวณครึ่งล่างของลำตัว

ตามเกล็ดมีจุดสีฟ้าเล็กๆ ประตามตัวทั่วไปหมดโดย หากปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะจุดประสีฟ้านี้จะดูโดดเด่นมากทีเดียว

ในปลาบางตัวจะมีแก้มสีเหลืองส้ม และบริเวณอกมีสีแดงด้วยครับ




ลักษณะส่วนหัวของโรเบิร์ทสันอายนั้นเมื่อแรกพบจะนึกไปถึงปลาหมอในสกุล Geophagus

เพราะหน้าแหลมยาวแบบนี้ เหมาะที่จะใช้หากินอาหารต่างๆ ตามท้องน้ำอย่างมาก

โรเบิร์ทสันอายเองในอดีตก็เคยอยู่ในสกุล Amphilophus ซึ่งก็ขึ้นชื่อเรื่องขุดคุ้ยหาอาหารตามพื้นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นปลาหมอฟรามิงโก้ (Amphilophus citrinellum) เป็นต้น



โรเบิร์ทสันอายนั้นถือว่าเป็นปลาหมอขนาดใหญ่ทีเดียว โดยตัวผู้สามารถโตได้ถึง 10 นิ้ว ส่วนปลาตัวเมียจะโตได้ราวๆ 6-7นิ้ว



การแยกเพศปลาทั้งสองเพศนั้นไม่ยุ่งยากมากนัก หากมีตัวอย่างให้เปรียบเทียบ

โดยปลาเพศผู้จะมีเครื่องครีบที่ใหญ่-ยาวกว่า สีสันเข้มกว่า ลำตัวจะดูยาวกว่า ส่วนปลาเพศเมียนั้นลำตัวจะเล็กและสั้นกว่า



การผสมพันธุ์นั้นจัดอยู่ในกลุ่มวางไข่เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์จะเริ่มทำการขุด (ขุดอีกแล้ว) เพื่อสร้างอาณาเขต

จากนั้นปลาจะวางไข่ตามวัสดุใต้น้ำต่างๆ เช่นหินผิวเรียบเป็นต้น แม่ปลาจะวางไข่จากนั้นพ่อปลาจะตามเข้าไปฉีดน้ำเชื้อเพื่อให้ไข่ได้รับการผสม

ไข่จะฟักตัวราวๆ 3 วัน ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำและกินอาหารได้ในวันที่ 5-7



แม้โรเบิร์ทสันอาจจะไม่ใช่ปลาหมอที่มีสีสันสดสวยถูกใจมหาชนมากมายนัก

แต่หากมหาชนผู้เจริญทั้งหลายมีโอกาศได้นั่งพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่แล้ว
เชื่อเหลือเกินว่าคงได้พบความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของปลาหมอแก้มฟ้าตัวนี้อย่างแน่นอนครับ




สวัสดี


Create Date : 18 มิถุนายน 2554
Last Update : 18 มิถุนายน 2554 10:57:55 น. 2 comments
Counter : 2095 Pageviews.

 
แวะมาชมจ้ะ แต่ไม่เลี้ยงหรอกน้าค๊า เพราะความขยันไม่ถึงอ่ะ น้องชายเคยทะเลาะกับแฟนมาแล้วเพราะผิดนัด ก็คุณท่านขยันล้างอ่างปลาตั้งแต่3โมงเช้าถึง 3โมงเย็นอ่ะ่นะ


โดย: cv IP: 124.121.21.133 วันที่: 18 มิถุนายน 2554 เวลา:11:45:47 น.  

 
สวัสดีคะ

เป็นปลาที่หน้าตาน่ากลัวมาก


โดย: เจ้าช่อมาลี (PP_Skywalker ) วันที่: 18 มิถุนายน 2554 เวลา:13:49:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.