Group Blog
 
All blogs
 

มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๒

จากกระทู้นี้ มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๑
vvv
vv
v
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=plaraberd&date=24-06-2008&group=1&gblog=13




จากตอนที่๑ ผมได้อธิบายถึงการพักปลาในกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าเอามาบอกเล่าให้ฟัง และวิธีการนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก

แต่วิธีที่ผมบอก เป็นเพียงวิธีที่ผมหาข้อมูลมาจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต และพี่ๆ ในเวปที่เลี้ยงปลาด้วยกันเท่านั้นนะครับ

อาจจะผิดหลักวิชาการไปบ้าง อาจไม่ครบถ้วนกระบวนความดีนัก
แต่ก็พอที่จะพักปลาให้ปรับตัวได้แน่นอน

ในตอนที่ ๒ นี้จะบอกเล่าถึงปลาในกลุ่มที่เลี้ยงแบบปกติซึ่งมีสี่ชนิดหลักๆ ได้แก่ S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis

เป็นกลุ่มที่มีการกระจายพันธุ์กว้าง มีลักษณะหลากหลายตามแหล่งอาศัย
ทำให้มีความแตกต่างตามแหล่ง และสามารถปรับตัวได้ง่ายในที่เลี้ยง

(คล้ายๆ ม็อบบ้านเราแหละครับ มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก เดี๋ยวประท้วงนู่น ประท้วงนี่
อีกหน่อยเราอาจจะเห็นม็อบสิวหัวช้างแห่งประเทศไทยก็ได้
เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาสิวหัวช้างอย่างจริงจัง ...)




ในการรับปลาในกลุ่มนี้มาเลี้ยงก็เพียงแค่สังเกตถึงลักษณะภายนอกของปลาก่อนซื้อ
ดูว่าในปลาที่เลือกมีอาการเปื่อย มีปรสิตติดอยู่หรือเปล่า
ปลามีอาการคันเนื้อ-คันตัวไม๊ มีจุดขาวๆขึ้นตามลำตัวหรือเปล่า
ที่หัวมีหลุม หรือรอยแผลลึกบ้างไหม

แต่ไม่ต้องถึงกับเอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องปลาในตู้นะครับ
อันนั้นเวอร์ไป เดี๋ยวโดนเจ้าของร้านตบเอาได้

ดูการว่ายน้ำว่าปกติอยู่หรือไม่ หากสังเกตดูว่าปลาไม่มีอาการผิดปกติ
จากนั้นก็ควรถามคนขายว่าปลามานานแล้วหรือยัง ขายดีไม๊ ลูกกี่คนแล้ว... เย้ย ! ไม่ใช่ๆ ต้องถามว่าพักปลานานแค่ไหน(ถ้าจะให้ดีต้องพักประมาณ 1-2 อาทิตย์)

ส่วนเรื่องการต่อรองราคาไม่สามารถแนะนำกันได้ เพราะเทคนิคใคร เทคนิคมัน



เมื่อรับปลามาแล้วก็ทำการแช่ถุงปลาให้นานหน่อย ซัก 30-45 นาที
จากนั้นนำน้ำในตู้มาค่อยๆ เทใส่ถุงปลาเพื่อให้ปลาปรับตัวกับน้ำใหม่
การรินน้ำก็ทำทุก 5 นาที ซัก 3 ครั้งก็น่าจะพอ
เมื่อถึงเวลาก็ปล่อยปลาลงไปได้เลยครับ

ในวันแรกนั้นไม่ควรให้อาหารเด็ดขาด เพราะปลาซึ่งเครียดจากการขนส่งนั้น เมื่อรับอาหารเข้าไป
อาจเกิดแก๊สในกระเพาะหรือลำไส้ ทำให้ท้องอืด ท้องบวม ท้องไม่มีพ่อ อะไรก็ว่าไป แต่ที่แน่ๆ อาจตายภายในวันเดียว...

การให้อาหารควรให้ในวันรุ่งขึ้น และให้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน
(ประมาณว่าลองเชิง)จากนั้นเมื่อปลาดูแข็งแรงดี กินอาหารดีแล้วก็ค่อยเพิ่มปริมาณอาหารจนพอดี

ปลาในกลุ่มนี้แม้จะกินอาหารได้ไม่ยากเย็นนัก แต่เรื่องของอาหารนี่จะขอพูดเสียหน่อย




ด้วย Satanoperca ทั้งหลายแหล่นี้เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์
การให้อาหารที่เน้นหนักไปทางโปรตีนมากจนเกินไปนั้น ย่อมไม่เป็นผลดี เพราะในธรรมชาติปลาจะไล่หากินไปตามท้องน้ำ
ที่มีทั้งแมลงน้ำ ตัวอ่อนของแมลง ลูกปลา รวมไปถึงตะไคร่ สาหร่ายบางชนิด ยอดอ่อนของต้นไม้น้ำ

ทำให้ผู้เลี้ยงควรให้ความสำคัญในเรื่องสารอาหารมากกว่าการเลี้ยงที่หวังเพียงให้ปลาได้เจริญเติบโตรวดเร็ว ทันใจนักเลี้ยงปลา(ส่วนใหญ่)



ผู้เขียนมักเห็นกระทู้ที่ถามถึงการทำให้ปลาโตเร็ว ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะรีบให้ปลาโตกันไปถึงไหน

การให้อาหารมากจนเกินไปนั้นไม่ใช่เรื่องดี ยิ่งยังมีพวกที่เน้นอาหารสด มากกว่าการให้อาหารที่หลากหลาย

ทำให้ปลาหมอส่วนใหญ่นั้นมักจะเจ็บป่วยง่ายซะจนผู้เลี้ยงบางท่านนึกว่าปลาหมอสีนั้นเปราะ

พอปลาป่วยก็พยายามหายามาใส่ ดูแลบ้างไม่ดูแลบ้าง
ซึ่งจริงๆ แล้วการแก้ไขนั้นมันผิดตั้งแต่ต้น
แต่กลับมาหวังพึ่งกับยา ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก

การให้อาหารที่ดี เราควรรู้ถึงลักษณะการกินของปลาที่เราเลี้ยงก่อนว่า
ในธรรมชาตินั้น ปลาหากินแบบไหน กินอาหารประเภทใด
นั่นจึงเป็นแนวทางการเลือกอาหารที่ถูก



ปลาในกลุ่ม Satanoperca นั้นสามารถรับอาหารสำเร็จรูปได้
แต่อาหารสำเร็จรูปก็ควรจะเลือกชนิดที่มีสารอาหารครบถ้วน มีส่วนผสมของพืชด้วยจะดีมากๆ

ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย บางรุ่นผสมโปรไบโอติก ช่วยเรื่องระบบย่อย และควรเลือกอาหารแบบจม ไม่ใช่แบบลอย

หากเป็นอาหารลอยน้ำก็ควรแช่น้ำให้นิ่มก่อน จากนี้ก็ค่อยบีบให้จม และนำไปให้ปลากิน

อาหารสดก็ไม่ควรละเสีย หากมีเวลาก็ลองหาหนอนแดงแช่แข็งมาละลายน้ำแล้วล้างหลายๆ น้ำซักหน่อย จึงนำไปให้ปลากิน
อันนี้ผมว่าก็วิเศษแล้วนะครับ

อยากให้ผู้เลี้ยงที่ตัดสินใจเลี้ยงปลา ควรคิดไว้อย่างนะครับว่า Satanoperca ไม่ใช่ปลาที่โตเร็วนัก

เรียกได้ว่าโตช้ากว่าญาติต่างสกุลอย่าง Geophagus เลยทีเดียว ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาอัดอาหารจนปลาจุกตาย อันนี้โทษใครก็ไม่ได้
ปลาเองก็ไม่ผิดเพราะมีเท่าไหร่มันก็กินเท่านั้น ก็คงต้องโทษผู้เลี้ยงนั่นแหละครับ

Note : จากที่ได้หาข้อมูลมานั้น ทำให้ทราบว่า S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis
สามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งหนอนแดง ไส้เดือนน้ำ อาหารเม็ด
ส่วนอีกกลุ่มคือ S. daemon, S. Lilith, และ S. acuticeps จะชอบอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าในกลุ่มแรก
อาจเป็นเพราะปลา เคยชินกับอาหารที่มีอยู่ในแหล่งของตัวเองมานาน อาหารในแหล่งที่ปลาอยู่มีแต่แมลงน้ำตัวเล็กๆ (ไม่รู้เรียกว่าอะไร แต่คิดว่าน่าจะเหมือนไรน้ำจืดบ้านเรานะครับ)

การให้อาหารในช่วงแรกๆ ควรเริ่มให้ด้วย ไรแดง (ทีละน้อยๆ) อาทีเมียแรกเกิด หนอนแดง
หากจะลองให้อาหารสำเร็จรูป ก็ควรเลือกชนิดที่มีขนาดเล็ก และจมน้ำอย่างช้าๆ

ในการให้อาหารสด ควรระวังเรื่องเชื้อโรคที่ติดมาด้วยนะครับ
ทางที่ดี แช่ด้วยด่างทับทิมอ่อนๆ ซัก 15-30 นาที
แล้วค่อยล้างด้วยน้ำจืดหลายๆน้ำก่อนให้ปลากิน

ผมว่าน่าจะปลอดภัยดีมิใช่น้อยเลยทีเดียว




ทีนี้จะมาเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูซักหน่อย
ปลาในกลุ่มนี้มีขนาดตั้งแต่ 8-12 นิ้ว ดังนั้นขนาดตู้ที่ควรใช้คือ 36-48 นิ้ว ต่อปลา4-5ตัว
หากจำนวนปลามากกว่านั้นก็ควรเพิ่มขนาดตู้ด้วยนะครับ

หลายคนบอก โห....ไอ้นักเขียนเวอร์ ปลาตัวแค่นี้ใช้ตู้ใหญ่โตอะไรนักหนา

ใช่ครับปลามันตัวแค่นี้ แต่ขนาดตู้ที่ผมบอกนั้นหมายถึงขนาดตู้ที่เลี้ยงแล้วสวย
ปลาไม่อึดอัดขนาดว่ายไปทางซ้ายชนตัวนี้ ว่ายไปทางขวาชนตัวนู้น
ลองนึกถ้าเป็นเรา เดินไปทางไหนก็มีแต่คนมาคอยเบียดไป-มา ผมว่าไม่ใครก็ใครคงได้คลั่งจนบ้าแน่ๆ

ตู้ขนาดที่บอกนั้นกว้างขวางพอที่จะให้ปลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่นว่ายน้ำ(เหมือนเราเดิน) ทำมาหากินขุดคุ้ยหาอาหารแก้เซ็งไปตามวาระโอกาสที่เหมาะสม



เมื่อคิดขนาดตู้ได้แล้ว ก็ควรสรรหาของตกแต่งตู้เสียหน่อย
ไม่ต้องถึงขนาดเอาประสาทเขาพระวิหารมาวางไว้ในตู้หรอกนะครับ

เดี๋ยวจะเป็นเรื่องเป็นราวกันไป เอาแค่หาวัสดุปูพื้นที่จำลองธรรมชาติ ที่ปลาจากมาบ้าง

ยอดนิยมสำหรับนักเลี้ยงปลาบ้านเราก็ได้แก่ กรวด ควรเลือกขนาดที่ละเอียดหน่อยเพื่อปลาจะได้อม-ถุยกันได้

การปูก็ควรปูบางๆ ไม่งั๊นนานไปมันจะหมักหมม แต่ในตำราฝรั่งเขาบอกให้ปูหนาประมาณ2.5-5 นิ้ว

แต่ผมคิดว่าผู้เลี้ยงจะลำบาก ต้องคอยดูดกรวดอยู่บ่อยๆ

เมื่อปูกรวดทั่วตู้แล้วก็ลองหาขอนไม้ สวยๆ วางไว้เสียหน่อย ไม่ต้องวางให้รก ให้แน่นเหมือนค่ายกลในหนังจีนนะครับ

ปลาพวกนี้ต้องการพื้นที่ว่ายน้ำพอสมควรเลย ควรเว้นช่วงให้โล่งบ้าง
ส่วนหินก้อนใหญ่ๆ นั้นอันนี้แล้วแต่ครับว่าจะใส่หรือไม่ใส่ แล้วแต่คนชอบ

แต่ขอเสริมให้ลองใส่ใบหูกวางแห้งลงไปซักหน่อย ผมว่าน้ำสีชาๆ มันดูสวย เหมาะกับตัวปลาอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ

ขอให้ใส่ไปซัก 1-2 วันพอนะครับ ไม่ต้องแช่จนเน่า เดี๋ยวจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปฉิบ



ว่ากันเรื่องตู้แล้ว มาต่อที่ระบบกรองกันบ้าง ต้องบอกว่าปลากลุ่มนี้ไวต่อไนเตรทพอสมควรเลยนะครับ

โดยอาการที่จะเห็นก็ได้แก่ โรคหัวเป็นรู (Hole in the Head, HITH )
ท้องบวม(ไม่นับจากการใส่เกลือเกินความจำเป็น) อาการเปื่อย เป็นต้น

ดังนั้นเราควรมาเริ่มที่กรองก่อนเลยนะครับ กรองขนาดใหญ่ วัสดุกรองมีคุณภาพ
อัดใยแก้วหนาๆ เพื่อไม่ให้ตะกอนชิ้นใหญ่ๆ หลุดลงไปในระบบกรอง

หมั่นซักใยแก้วบ่อยๆ

เรื่องของกระแสน้ำที่เกิดจากปั๊ม หรือท่อปล่อยน้ำจากกรองเข้าสู่ตู้ก็สำคัญนะครับ

ไม่ควรให้กระแสน้ำแรงจนเกินไป เพราะปลาในกลุ่มนี้อาศัยในแหล่งน้ำไหลเอื่อยๆ ดังนั้นการที่กระแสน้ำแรงจนปลาปลิวไป ปลิวมา ไม่ดีแน่นอน

การเปลี่ยนน้ำนั้นควรเปลี่ยนถี่หน่อย โดยอาจเริ่มที่ 30% ต่ออาทิตย์
ถ้ายังไม่พอก็ลองเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละสองครั้งดูครับ
มันไม่แน่นอนไอ้เรื่องเปลี่ยนน้ำเนี่ย บางคนเลี้ยงเยอะก็เปลี่ยนบ่อย บางคนเลี้ยงน้อยก็อาทิตย์ละครั้ง บอกกันเป็นสูตรไม่ได้หรอกครับ

อีกเรื่องนึงที่อยากบอกคือ เหล่าปลาร่วมตู้ต่างๆนั้น ก่อนนำไปใส่ควรพักปลาก่อนเพราะอย่างที่บอก
ปลาที่รวบรวมจากธรรมชาตินั้น(ปลาในกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ) มักจะไม่มีภูมิต้านทานโรคแปลกๆ แผลงๆ ซักเท่าใดหรอกนะครับ

และปลาที่นำมาเลี้ยงรวมนั้น อย่างไรเสียก็ขอให้ขนาดเล็กกว่า หรือถ้าขนาดพอๆกันก็ต้องไม่ดุร้ายบ้าบอมากนะครับ ปลาพวกนี้เครียดเป็นตาย จำไว้



ปลาที่แนะนำก็ได้แก่ ปลาในกลุ่ม Satanoperca ด้วยกัน ปลาในสกุล Geophagus ที่มีลักษณะนิสัยหากินเหมือนกัน และควรให้ขนาดเล็กกว่าด้วย อย่าได้เอาพวกขนากใหญ่กว่าไปใส่เชียว

ปลาเตรทตร้าขนาดเล็ก-กลางเช่น รัมมีโนส บรีดดิ้งฮาร์ท เตรทตร้า (Hyphessobrycon ฯลฯ

ปลาซิลเวอร์ดอลล่า ปลาซัคเกอร์ขนาดกลางที่ไม่มีนิสัยดุร้าย

Sailfin Pleco (Glyptoperichthys gibbiceps)

เหล่าปลาหมูขนาดกลาง(ต้องไม่ใช่ปลาหมูที่อาศัยอยู่ตามลำธารเด็ดขาด เพราะจะผอมและตายอย่างรวดเร็ว)

ตอนที่สองนี้ ขอจบเนื้อหาเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าเป็นตอนจบ เราจะมาทำความรู้จักเหล่าปีศาจน้อยแหล่งอเมริกาใต้ กันเรียงตัวดีกว่านะครับ






สวัสดี



รูปภาพประกอบบทความนำมาจากเวป //www.karpalo.net/s-daemon/
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2551 8:52:38 น.
Counter : 4606 Pageviews.  

มหากาพย์ปลาปีศาจ ตอนที่๑



ในรูปคือ Satanoperca leucosticta



เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ปีนี้เอง ผมได้มีโอกาสพบเจอปลาหมอชนิดหนึ่งที่อยากได้อยากเลี้ยงมานาน
ปลาตัวนี้ในอดีตไม่ใช่ปลาหายากอะไร แต่ในช่วงหลังๆ นี่หายหน้าหายตาไปจากตลาดปลาสวยงามบ้านเรามานาน

ปลาตัวนี้ชื่อ “จูรูพารี “

จูรูพารีที่ได้มามีขนาดเล็กเพียงนิ้วกว่าๆ หลังจากได้นำมาเลี้ยงซักพัก

ผมก็ได้ไล่หาข้อมูลของปลาสกุลนี้อยู่นาน เพื่อจะได้ทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

เมื่อได้ขุดลึกถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ทำให้ทราบว่าปลาในสกุลนี้มีหลายชนิดและมีเสน่ห์น่าค้นหาอย่างไม่แพ้ปลาหมอชนิดใดเลย


Satanoperca jurupari


จูรูพารี มีชื่อวิทย์ว่า Satanoperca jurupari คำว่า Satan มาจากภาษากรีกหมายถึงภูต ส่วนคำว่า parca หมายถึงปลา แปลรวมๆ แล้วหมายถึงปลาปีศาจ
ส่วนคำว่า jurupari หมายถึงแหล่งที่พบปลาชนิดนี้ คือ ริโอ จูรูอา
ซึ่งริโอจูรูอาเองก็ได้ชื่อมาจากปีศาจของชนพื้นเมืองเผ่าทูปิ





Satanoperca jurupari


ปลาในกลุ่มนี้ถือว่าเป็น Eartheater ที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้
กลุ่มปลาที่หากินโดยการร่อนกรวดทรายเข้าปากเพื่อหาสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในนั้นกินเป็นอาหาร

ส่วนกรวดทรายที่ไม่ใช่อาหารนั้นก็จะถูกคายออกทางปากและเหงือก

เมื่ออดีตเคยจัดอยู่ในสกุล Geophagus แต่เมื่อพิจารณาแล้วมีความต่างจากเพื่อร่วมสกุลหลายอย่าง จึงถูกจัดให้ไปอยู่ในสกุล Satanoperca โดยเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1804 โดย Heckel,



ตัวในรูปคือ Satanoperca leucosticta


แม้ผมจะเคยเลี้ยงปลาหมอสกุล Geophagus กันมาแล้วและคิดว่าปลาสกุล Satanoperca คงเลี้ยงไม่ยากเหมือนกัน

แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมคิดนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด....

เพราะถึงแม้จะมีวิธีการกินเหมือนกัน ผสมพันธุ์เหมือนกัน แต่ก็ยังมีปลาจากบางแหล่งที่เลี้ยงไม่ง่ายอย่างที่คิด

เพราะปลาในสกุลนี้บางตัวอาศัยในแหล่งน้ำที่มีความเฉพาะมานาน ในการนำมาเลี้ยงจึงต้องปรับสภาพกันพอสมควร

ดังนั้นตอนนี้ผมอยากจะแนะนำการเตรียมตัวก่อนที่จะเลี้ยงปลาหมอกลุ่มนี้ก่อนเห็นจะดี

เผื่อว่าท่านผู้อ่านคิดอยากจะเลี้ยง และไม่ทราบว่าควรเตรียมตัวอย่างไร



ตัวนี้คือ Satanoperca acuticeps


ก่อนอื่นเราทำความรู้จักชนิดของปลาในสกุลนี้ก่อนนะครับ


Satanoperca acuticeps (Heckel, 1840)


Satanoperca daemon (Heckel, 1840) - Threespot Eartheater


Satanoperca jurupari (Heckel, 1840) - Demon Eartheater


Satanoperca leucosticta (Muller & Troschel, 1848)


Satanoperca lilith Kullander & Ferreira, 1988


Satanoperca mapiritensis (Fernandez-Yepez, 1950)


Satanoperca pappaterra (Heckel, 1840) - Pantanal Eartheater


จริงๆแล้วยังมีอีกหลายชนิดที่เป็นชนิดย่อย และพบเจอในหนังสือ หรืออินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น
Satanoperca cf. leucosticte “Amazonas Red”
Satanoperca cf. leucosticte “Goldspot”
Satanoperca sp. “Redlip”(sp. French Guiama, sp. Amap)
Satanoperca sp. “Rio Xingu”





เพื่อง่ายแก่การอธิบายผมขอแบ่งปลากลุ่ม Satanopercara ออกเป็นสองกลุ่ม
คือกลุ่ม เลี้ยงแบบปกติ และกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ

กล่าวคือกลุ่มที่เลี้ยงแบบปกติคือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ค่อนข้างหลากหลาย อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีค่า pH ได้กว้าง ได้แก่ S. jurupari, S.leucosticta, S.pappaterra S. mapiritensis

กลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะคือกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ อาศัยอยู่ในน้ำที่มีค่าเคมีที่คงที่ระดับ pH ในน้ำจึงต่ำ ได้แก่ S. daemon, S. Lilith, และ S. acuticeps



สามชนิดแรกนั้นสามารถเลี้ยงได้ในตู้ทั่วไป
การเตรียมน้ำขอแค่ไม่ให้มีคลอรีน สารโลหะหนัก ไนเตรทสะสมจนเกินไป ปลาก็สามารถอยู่ได้อย่างปรกติสุขดี
ปลาในกลุ่มนี้จึงไม่ช็อกน้ำง่าย กินง่าย รวมไปถึงการดูแลทั่วไปจะง่ายกว่ากลุ่มหลัง


กลุ่มที่สองนี่จะเป็นปลาที่นำมาเลี้ยงค่อนข้างยากกว่า เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยนั้นมีความเฉพาะทางค่าเคมีในน้ำ
ยกตัวอย่างเช่น S. daemon มีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศโคลัมเบีย เวเนซูเอรา
ในน้ำที่อาศัยนั้นมีค่า pH 3.5-5 (น้ำประปาบ้านเราจะอยู่ที่ 6.5-7.5)
ลำธารที่พบเป็นลำธารไหลเอื่อยๆ ในป่ารกทึบ ในป่าที่น้ำท่วม
หรือในสภาพที่คล้ายคลองบ้านเรา ท้องน้ำเป็นหาดทราบ ดินโคลน
มีซากใบไม้กิ่งไม้ทับถมกันอยู่
ค่าไนเตรทเท่ากับ 0 อุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 27 องศา
(บ้านเรา สูงสุดบางทีล่อไป 32-35 องศา)


เห็นไหมครับว่าที่กล่าวมาแค่นี้ก็แตกต่างจากสภาพแวดล้อมตู้ปลาในบ้านเรามากแล้ว หากไม่มีการปรับสภาพปลาก่อนนำมาเลี้ยง
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บปลาเหล่านี้ไว้

แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ ?



มาซิครับผมจะเล่าให้ฟัง …

จากข้างบนเราจะเห็นว่าผมแบ่งปลาออกเป็นสองประเภท ผมขอเล่าถึงประเภทที่เลี้ยงยากก่อนแล้วกัน
ปลาพวกนี้มักจะมาจากแหล่งน้ำที่เรียกกันว่า Black water คือแหล่งน้ำที่มีค่า pH ต่ำ
เนื่องจากมีการเน่าสลายของเศษใบไม้ ต้นไม้มาก น้ำเป็นสีชาจนถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำ
ไหลผ่านหลากหลายพื้นที่ทำให้เกิดการปรับสภาพของปลาในแต่ละท้องถิ่น

ปลาพวกนี้จะมีความต้องการค่าเคมีในน้ำที่เฉพาะมาก
ดังนั้นการนำเข้ามาเลี้ยงในเบื้องต้น เราต้องเตรียมน้ำแบบที่ปลาเคยอยู่
ไม่ใช่ปรับสภาพปลาเพื่อให้อยู่ในน้ำที่เราเตรียมไว้

และปลาพวกนี้เมื่อถูกจับมาจากธรรมชาติจะเกิดความเครียดสูง
ทำให้ร่างกายอ่อนแอพอสมควรอยู่แล้ว

ไหนจะเชื้อโรคที่ติดตัวมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอีก
เราจึงควรคิดว่า ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อลดความเครียดให้กับ ไม่ใช่ไปเพิ่มความเครียดให้กับปลา



ผมขอเริ่มด้วยเรื่องตู้ปรับสภาพก่อนเลย ควรเป็นตู้ขนาด 48 นิ้วเป็นอย่างต่ำ

ควรวางตู้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายดี หาวัสดุสีดำมาปิดตู้ทั้งสามด้าน
ได้แก่ด้านหลัง และด้านข้างทั้งสอง เพื่อป้องกันปลาตกใจเวลาอะไรผ่านมาข้างตู้และหลังตู้

ต้องเข้าใจก่อนว่าปลาพวกนี้ในธรรมชาติ จะอยู่ในแหล่งน้ำที่เป็นสีชา
และขุ่นพอสมควรนะครับ และที่ให้ใช้ตู้ขนาด 48 นิ้ว
ก็เพื่อไม่ให้ค่าน้ำรวมไปถึงอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากเกินไปในแต่ละช่วงของวัน


หลังจากเตรียมตู้เรียบร้อยเราก็เติมน้ำ RO
(น้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis)

เพื่อให้น้ำอ่อนและใส่ใบหูกวางแห้งลงไปในตู้ หรือ พีทมอส(หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์กล้วยไม้แต่ไม่ควรนำแบบที่ผสมปุ๋ยมาใช้)
ใส่ถุงตาข่ายเอาไปวางไว้ที่ช่องกรองเพื่อกดค่า pH ให้ลงต่ำ
จากนั้นเดินระบบกรองและเช็คค่าน้ำ

วัสดุกรองเองก็ไม่ควรใช้แบบที่จะเปลี่ยนแปลงค่า pH หรือดึง pH ให้สูงขึ้นเช่น ปะการัง เป็นต้น
เมื่อเช็คค่า pH ได้ต่ำพอที่ปลาต้องการแล้วค่อยนำปลามาพักในตู้นี้ได้





ในการนำปลามาพักนั้นก่อนปล่อยปลาควรเช็คค่า pH ของน้ำในถุงเสียหน่อย
หากต่างกันมาก ไม่ควรนำปลาลงไปเลี้ยง ควรปรับน้ำให้ดีก่อน
โดยการเอาน้ำในคู้ใส่ลงไปในถุงทีละน้อย เพื่อให้ปลาได้ปรับตัวก่อน
จากนั้นปล่อยปลาลงไปและคอยดูอาการปลา

แต่อย่าได้ทำการรบกวนปลานะครับ ไม่ควรเปิดไฟในตู้ และควรหาวัสดุหลบซ่อน
ที่จะทำให้ปลารู้สึกปลอดภัยใส่ไว้ด้วย เช่นขอนไม้ กระถางดินเผา ต้นไม้ปลอม
หรืออาจจะประเคนใส่ใบหูกวางลงไปให้ปลารู้สึกปลอดภัยเพื่อลดความเครียด

ในการพักปลานั้นควรติดฮีตเตอร์ตั้งไว้ที่ 30 องศาด้วย
เพื่อให้อุณหภูมิคงที่ไม่แกว่งไปมา อันเป็นสาเหตุให้ปลาอ่อนแอและเครียดได้อีก




ในตู้พักปลานั้นห้ามนำปลาชนิดอื่นไปใส่โดยเด็ดขาด
เพราะอาจเป็นตัวแพร่เชื้อโรคได้
ซ้ำเหล่า Satanoperca ที่นำเข้ามาจากธรรมชาตินั้นก็ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ อาจพากันไปเฝ้าพี่ยมยกตู้ได้นะครับ

ระยะเวลาการพักนั้นประมาณ 1เดือน ในระว่างนั้นก็ค่อยปรับน้ำให้ pH สูงขึ้นทีละนิด
เพื่อให้ปลาได้ค่อยๆ ปรับตัวจนชินกับสภาพน้ำที่มีค่าเป็นกลางแบบกรดอ่อนๆ ได้ไปเอง



ฉบับนี้ขอกล่าวเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ






สวัสดี




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2551    
Last Update : 25 มิถุนายน 2551 13:14:46 น.
Counter : 5161 Pageviews.  

Lethrinops ปลาสวยถูกใจ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก



“ คุณชอบปลาหมอเพราะอะไร? ”

เป็นคำถามง่ายๆ ที่ทำเอาผมนิ่งไปหลายนาที

คำถามนี้เกิดขึ้นที่ร้านลาบริมทาง แถวสะพานพุทธ ในคืนที่ฝนตกพรำๆ อากาศเย็นแต่เฉอะแฉะไปหน่อย เมื่อเจอคำถามนี้เข้าไป หัวผมถึงกับออกอาการมึนๆ ด้วยคำตอบนั้นมันพรั่งพรูออกมามากมาย จนปากไม่รู้จะเลือกคำตอบไหนมาตอบผู้ถาม

เรานั่งกินตับหวานรสชาติดี กับน้ำตกหมู ไก่ย่าง ข้าวเหนียวจนอิ่มหนำ ท้องก็อิ่มแล้ว คำถามในวันนั้นได้รับคำตอบไปแล้ว ผมไม่รู้ว่าผู้ถามจะจำมันได้หรือเปล่า แต่คำถามที่เขาถามผมมานั้น มันติดอยู่ในหัวของผม ราวกับพริกที่ติดฟัน



ทุกวันที่นึกถึงคำถามนั้นขึ้นมา คำตอบมันก็จะออกมาจากสมองเสมอ แต่ทำไมคำตอบมันถึงได้มากมายหลากหลายเหลือเกิน อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบได้นะครับ

คำตอบที่ออกมาเช่น เลี้ยงง่าย สีสวย มีให้เลือกหลายขนาด หลายสายพันธุ์ เลี้ยงเดี่ยวก็สวย เลี้ยงเป็นฝูงก็ดี มีทั้งนิสัยน่ารักหน่อมแน้มยันดุบ้าบอ อำมหิตสุดจะพรรณนา แถมราคาค่าตัวก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย เลี้ยงเล่นก็ได้ เลี้ยงจริง(จัง)ก็ดี เพาะก็ง่าย เป็นต้น

นั่งหาคำตอบจนเริ่มได้คำตอบแปลกๆ มาก็มีนะครับ เช่น แฟนชอบเลี้ยง ขอเพื่อนได้ ก็มี

จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้อีกเหตุผลมาใหม่ อาจจะไม่ใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับผมแล้ว มันใหม่พอๆ กับรัฐบาลชุดนี้เลยทีเดียวนะครับ

เหตุผลนั้นคือ “ ผมชอบลักษณะการหากินของปลา “

โอ้..... เหตุผลนี้ผมชอบนะ ฟังดูเหมือนผมเป็นผู้รู้เกี่ยวกับปลาหมอยังไงไม่รู้ ทั้งที่จริงๆ ผมมันก็แค่ผู้เลี้ยงธรรมดาๆ เดินดินกินข้าวแกงไปวันๆ



พวกเพื่อนๆ ที่เลี้ยงปลาหมอเขาจะรู้ว่าผมชอบปลาหมอสกุล Geophagus เป็นพิเศษ ถ้าให้ผมเป็นกรรมการจัดว่าปลาหมอชนิดไหนสวยที่สุด น่าเลี้ยงที่สุด ผมก็คงบอกว่า ปลาหมอสกุลนี้แหละครับ

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ปลาหมอชนิดหนึ่งมาเลี้ยงแบบฟรีๆ ด้วยน้ำใจของเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานนี้เอง แต่เผอิญคุยถูกคอ เลยยกมาให้ผมซะชุดนึง ปลาหมอชนิดนี้นั้น มีพฤติกรรมการกินที่คล้ายๆ กับปลาหมอสกุล Geophagus ที่ผมชอบ แต่กลับอยู่ไกลกันคนละทวีปเลยทีเดียว

หลายท่านอาจบอกว่า “ไม่แปลก” ก็ขนาดคนเรายังกินข้าวทางปากเหมือนกันเลย ไม่เห็นมีคนทวีปไหนเขากินทางรักแร้ อันนี้ผมไม่เถียง แต่อย่าเพิ่งขัดได้ไม๊ครับ คนกำลังโม้เพลินๆ



ปลาหมอที่จะนำเสนอในตอนนี้คือ ปลาหมอสกุล Lethrinops เหตุที่จะบอกเล่าเพียงแค่สกุลนั้นก็เพราะว่า ปลาชนิดนี้ มีมากมายหลายชนิดครับ เรียกได้ว่ามากพอๆกับปลาหมอสกุล Aulonocara เลยทีเดียว
ไอ้ครั้นจะบอกทีละชนิดก็ดูกระไรอยู่ เลยขอยกยอดรวมทั้งสกุลเลยก็แล้วกัน

Lethrinops เป็นปลาหมอที่มีอยู่ทั่วในทะเลสาบมาลาวี ว่ายผลุบๆโผล่ๆตั้งแต่เหนือ ใต้ ออก ตก ที่ได้พบเจอ และแยกชนิดออกมาแล้วกว่า 30 ชนิด และปัจจุบัน ยังพบเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อยู่ในระดับน้ำลึกเรื่อยๆ และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังทำการแยกไม่สำเร็จ เลยยังมี sp. อยู่หลังชื่อสกุล เช่น Lethrinops sp. Red cap (Itungi) เป็นต้น


* คำว่า Itungi เป็นชื่อสถานที่พบปลาชนิดนี้ครับ ส่วนคำว่า Red cap เป็นการเรียกลัษณะเด่นที่พบในปลาชนิดนี้ คือจะมีสีแดงที่หัว ฝรั่งแขนลายทั้งหลายเลยเรียกซะเสียรังวัดว่า หมวกแดง แน๊....มันคิดไปได้



Lethrinops มาจากภาษากรีก คำว่า lethros หมายถึง ส่งผลให้ยาว ops หมายถึง หน้า แปลรวมๆ แบบลูกชาวสวนว่า หน้ายาวก็แล้วกันนะครับ (อันนี้ผมสรุปเอง อย่าเชื่อมาก)

Lethrinops
นั้นมีลักษณะคล้ายกับปลาหมอสกุล Aulonocara เพียงแต่ Lethrinops จะมีโครงร่างลึกว่า บางชนิดจะมีหน้ายาว บางชนิดจะมีหน้าสั้น

ในความต่างนี้เอง Eccles และ Trewavas ได้จัดการแยกสกุล Lrthrinops ออกเป็นสองสกุล คือ Taeniolethrinops และ Tramitichromis ในปี ค.ศ.1989

โดยดูจากลักษณะโครงสร้างภายนอก และจำนวนฟันของปลา ในกลุ่มของ Taeniolethrinops จะมีลักษณะหน้ายาว ตัวใหญ่กว่า ส่วน Tramitichromis หน้าสั้นหักลง และมีขนาดเล็กกว่า
แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่ยังใช้ชื่อเรียกรวมๆ ว่า Lethrinops อยู่ ส่วนการแยกชนิดจะใช้ชื่อที่ได้รับการบรรยาย และชื่อแหล่งที่จับมาได้นั่นเองครับ



ส่วนใหญ่แล้วปลาพวกนี้จะมาขนาดตั้งแต่ 12-20 ซม. ขึ้นอยู่กับชนิด แต่ที่เข้ามาขายในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีขนาดราวๆ 12-20 ซม. ครับ

จากที่ผมหาข้อมูลมาได้พบว่า ในเมืองนอกนั้น Lethrinops ที่มีขายมากได้แก่ พวกที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำไม่ลึกมาก ส่วนพวกที่เข้ามาที มีคนฮือฮา แห่กันไปยืนน้ำลายไหลยืดอยู่หน้าตู้ จะเป็นพวกที่มาจากน้ำลึกนั่นเอง

แม้จะไม่มีสีสันสวยงามอะไร ด้วยความที่หายาก ทำให้ราคาค่าตัวสูงกว่าพวกสีสวยๆเยอะเลยครับ แถมขนาดยังใหญ่กว่าอีกด้วย แต่ในเมืองไทย ไม่ว่าจะน้ำลึก น้ำตื้น ก็ใช่ว่าจะหาซื้อกันได้ง่ายๆ นะครับ

เหตุที่หาซื้อไม่ได้ง่ายๆนั้น ก็เพราะว่า ปลาในกลุ่มนี้เข้ามาในระยะหลัง และกระแสปลาหมอลูกผสมได้เข้ามาสร้างความฮือฮาจนกลบความงามของปลาหลายชนิด (ไม่ใช่เฉพาะปลาหมอด้วยกัน)

จึงทำให้ผู้นำเข้าไม่ค่อยจะกล้านำเข้ามา เพราะกลัวขายไม่ออก ประกอบกับปลาหมอมาลาวีที่นิยมกัน ก็ขายไม่ค่อยออกกันอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่งคือ ปลากลุ่มนี้เพาะพันธุ์ยากกว่าปลาหมอกลุ่มอื่นที่ติดตลาดแล้วนั่นเอง (ระยะเวลากว่าจะผสมพันธุ์ได้นานกว่าปลากลุ่มอื่นเป็นต้น) ทำให้มีเพียงผู้ที่ชื่นชอบจริงๆ เท่านั้นที่จะรู้จัก และได้ครอบครองปลากลุ่มนี้ครับ

** ในบ้านเราที่มีขายบ้างได้แก่ Lethrinops aff. sp. “Yellow Collar” ส่วนที่เป็นสายพันธุ์จาก Cape Maclear หรือ Masimbwe อันนี้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจครับ อีกชนิดหนึ่งที่เห็นคือ Lethrinops sp. Redcap จาก Itungi เท่านั้นเองครับ



ปลาเพศผู้จะมีสีสันสวยงาม มีจุดไข่หลอกที่ครีบทวาร มีขนาดตัวใหญ่กว่าเพศเมีย ครีบหลังและครีบทวารจะยาวแหลมกว่า ส่วนเพศเมียและลูกปลาจะมีสีเงิน และเมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์เพศผู้จะมีสีสันสวยงามมากขึ้น ส่วนเพศเมียจะมีสีเหลือบทองแดงครับ



ในธรรมชาติ Lrthrinops จะออกหากินไปตามพื้นทราย โดยจะจิกทรายเข้าปากเพื่อกรองเอาอาหารลงคอ ส่วนทรายก็จะออกมาทางปากและเหงือก ซึ่งคล้ายๆ กับปลาหมออเมริกาใต้กลุ่ม Eartheater ซึ่งลักษณะปากจะอยู่ต่ำคอยตักทรายเข้าปากได้โดยไม่ต้องโน้มตัวตั้งฉาก ซึ่งผมคิดว่าปลามันคงเหนื่อยน่าดู

อาหารที่ปลากินนั้นได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวอ่อนแมลงน้ำ ต่างๆ แต่ในที่เลี้ยงปลากลุ่มนี้มิได้เกี่ยงงอนอาหารสำเร็จรูปแต่อย่างใด อาหารควรเป็นอาหารที่จมน้ำ นานๆทีอาจเสริมด้วยไรทะเลล้างสะอาดๆ หรือหนอนแดงแช่แข็งก็ดีมิใช่น้อย



แต่ถ้าใครขยันอยากให้ปลากินของดีราคาไม่แพง ผมแนะนำให้ขโมยอาหารปลาเพื่อนมาปรนเปรอปลาเรา สบายๆ ง่ายๆ ไม่เปลือง
แต่ต้องระวังเพื่อนมันมาเห็นอาจโดนตบหัวคะมำ อาหารปลาหกกระจาย จำนนด้วยหลักฐาน อันนี้ผู้เขียนขอไม่มีเอี่ยวด้วย เมียใช้มาซื้อน้ำปลา



ในการเลี้ยงปลากลุ่มนี้ เรื่องขนาดของตู้นั้นสำคัญมากๆ ผมแนะนำให้ใช้ตู้ ขนาด 30-36 นิ้ว สำหรับปลาขนาดเล็ก 5-7 ตัว และตู้ 48 นิ้วขึ้นไปสำหรับปลาขนาด 3-4 นิ้ว ปูกรวดละเอียดบางๆ หรือจะใช้ปะการังบดก็ไม่เลว เพราะจะทำให้ค่าน้ำเป็นด่าง ซึ่งปลาจะชอบ ph อยู่ที่ราวๆ 7.5-8.0 อุณหภูมิราวๆ 25-28 องศา แต่อย่าให้เกิน 30 เป็นดี

*** ในเรื่องของกรวดนั้นควรเลือกใช้กรวดที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่ทรายนะครับ หากเราเลือกกรวดขนาดใหญ่ ปลามักจะเกิดอาการ “หน้าลาย “ เพราะเมื่อปลาคุ้ยกรวดอันเป็นนิสัยของเขานั้น คมของกรวดอาจไปบาดหน้าบาดตาเขาได้ ทำให้ปลาไม่สวยงามอย่างที่ควรจะเป็น

**** การนำปลาใหม่เข้ามานั้นผมอยากให้นำปลาไปพักไว้ในตู้โล่ง ติดตั้งระบบกรองฟองน้ำไว้ก่อนซัก 7-14 วัน เพื่อให้ปลาได้ปรับตัวและการเลี้ยงตู้โล่งในระยะแรกนั้นจะเป็นการดีกว่าตู้ที่ตกแต่งไว้แล้ว เพื่อที่เราจะได้สังเกตุปลาว่าปรับตัวได้หรือไม่ ทั้งกับค่าน้ำ อุณหภูมิ




เมื่อปูกรวดเรียบร้อยแล้วก็จัดการวางหินก้อนกลางๆ ไม่ต้องใหญ่มาก หินที่ใช้ก็ไม่ควรมีมุมแหลมด้วยนะครับ วางไว้ด้านหลังตามสะดวก เหลือที่ว่างให้ปลาได้ว่ายซัก 70-80%

เพราะปลากลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการกองหินมากนัก ออกจะชอบอยู่ที่โล่งๆ เสียมากกว่า
ยกเว้นถ้าหากโดนไล่ก็มักจะแอบๆ บ้างครับ ในการเลี้ยงนั้น ผมแนะนำให้เลี้ยงปลาตัวผู้ราวๆ 3 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัวขึ้นไปครับ

เพราะผู้เลี้ยงจะได้เห็นปลาแสดงสีสันอย่างเต็มที่ แม้ว่าในเวลาปกติเมื่อปลาโตขึ้นจะมีสีสันสวยงามตามอายุอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากให้งามกว่านั้นก็ต้องใส่ตัวเมียเข้าไปด้วยครับ



การเลี้ยงอีกแบบที่ผู้เลี้ยงหลายๆ คนนิยมคือ การเลี้ยงเดี่ยวครับ อันนี้ผมก็เห็นด้วยเพราะปลาจะสวยสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากไม่ต้องคอยแย่งอาหารจากตัวอื่น และจะโตเร็วกว่าการเลี้ยงรวมด้วยครับ

การเปลี่ยนถ่ายน้ำนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว เพราะปลาหมอจากทะเลสาบทั้งหลายแหล่จะไวต่อค่าของเสียในน้ำมาก

ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำที่ 20-30% ทุก 3-7 วัน เพื่อปลาจะได้มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยให้ผู้เลี้ยงต้องเซ็งจิต รวมไปถึงการทำความสะอาดกรวด การขัดตู้บ้างในบ้างครั้งซึ่งผู้เลี้ยงไม่ควนลืมเป็นอันขาด



ระบบกรองนั้นก็สำคัญไม่ต่างจากเรื่องน้ำแต่อย่างใด ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า “เลี้ยงปลาไม่มีกรอง เหมือนละครไม่มีผู้กำกับ“ ดู๊ ดูมันเปรียบซะ ฟังครั้งแรก เล่นเอาผมมึน อยากเอาตะเกียบไปดีดปากคนพูด

ระบบกรองก็ควรมีขนาดใหญ่เพื่อบำบัดของเสียได้เพียงพอ เช่นกรองบน กรองนอก กรองข้าง วัสดุกรองก็อาจจะใช้หินพัมมิส ผสมปะการังก็ได้ครับ



ปลากลุ่ม Lrthrinops ไม่ใช่ปลาที่มีนิสัยดุร้าย ออกจะเป็นปลารักสงบเสียด้วยซ้ำ จะมีบ้างก็ตอนผสมพันธุ์ที่ตัวผู้จะดุขึ้นมาหน่อย อันนี้ไม่แปลกครับ เป็นแทบทุกชนิด

ปลาที่สามารถเลี้ยงรวมกันได้นั้นควรเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยดุร้ายมากนัก ปลาหมอในทะเลสาบมาลาวีที่เลี้ยงร่วมตู้กันได้เช่น

ปลาหมอกล้วยหอม (Labidochromis caeruleus)
ปลาหมอสกุล Aulonocara
ปลาหมอคาดังโก้ (Copadichromis kadago)
ปลาหมอฟีโนชิลัส (Placidochromis Phenochilus)
ปลาหมอบลูดอลฟิน (Cyrtocara moorii)
ปลาหมอลินนาย (Nimbochromis linni) <<< ตัวนี้หายไปนานเลย อยากเลี้ยงจริงๆ

ปลาจากแหล่งอื่นๆ ก็สามารถเลี้ยงร่วมได้เช่นกัน ขอแค่อย่ามีนิสัยดุร้าย เป็นพอครับ ผมเองก็เลี้ยงร่วมกับปลาหมอจูรูพารี และ อัลติฟรอน ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างดี มิมีตบตีให้ผมต้องร้อนใจ



ปลาตัวเมียจะวางไข่ราวๆ 30-50 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ปลา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะน้อยกว่านั้นมาก
แต่ใช่ว่าปลากลุ่มนี้จะไข่กันได้ง่ายๆ จากข้อมูลที่หามาได้ เขาว่าต้องเป็นตู้ที่สงบ อันนี้ผมคิดว่าคงหมายถึงตู้เลี้ยงเฉพาะที่ไม่มีปลาอื่นมาคอยรังควาน น้ำดี อาหารถึง






ตอนนี้ผมมีความสุขกับปลาหมอ Lethrinops sp. Red cap (Itungi)
ที่แวกว่ายไปมาในตู้ 36 มากๆ ครับ
แม้ตอนนี้ยังไม่มีสีสันอะไรนอกจากสีเงินๆ เหลือบแดง แต่ผมเชื่อว่าซักวันการรอคอยของผมจะคุ้มค่า เมื่อปลาได้แสดงสีสันสดสวยให้ผมได้ชื่นชม



สวัสดี






ปล.1 บทความนี้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร The Fish Guideline เล่มไหนจำไม่ได้ ติดตามดูเอานะจ๊ะ

ปล. 2 รูปทั้งหมดหาเอาจากเน็ต ขออนุญาต และขอบคุณด้วยนะครับ




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2551 15:33:36 น.
Counter : 4753 Pageviews.  

Petenia splendida นักล่าราคาถูก แต่มากด้วยเสน่ห์




สวัสดีครับผู้อ่านที่น่ารัก

ฉบับนี้ก็มาพบกันเช่นเคยเป็นประจำทุกเดือนนะครับ
ในฉบับที่แล้วผมนำเสนอปลาหมอนักล่าจากทะเลสาบมาลาวี ในทวีปแอฟริกาโน่นแหนะ ฉบับนี้ข้ามทะเลไปฝั่งอเมริกาใต้บ้าง
ในถิ่นดินแดนอเมริกาใต้นี้ หลายท่านคงทราบแล้วว่าเป็นผืนแผ่นดินแห่งความพิศวง เนื่องด้วยแผ่นดินแถบนี้ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้หนาทึบ เป็นที่อยู่ของสัตว์มากมาย ทั้งเล็กตัวเท่าขี้ตามด (เล็กมาก) ใหญ่ขนาดช้างชุบแป้งทอด และบางชนิดมีสีสันสดสวยแถมมีพิษร้ายแรง เช่นเจ้ากบศรพิษ poison arrow frog เป็นต้น

แต่หนังสือเล่นนี้เป็นหนังสือปลา ไอ้ครั้นจะเอา กบ เขียด อะไรมาแนะนำก็คงไม่ถูกกาละ
อาจโดนบก. ตบบ้องหูแตกได้ เลยขอนำเสนอปลานักล่า น่ารัก(มั้ง) ชนิดนี้ก็แล้วกันนะครับ
เจ้านี่มีนามมังกรว่า “ปลาหมอ สแปลนดิด้า” หรือในเมืองนอกคอกหมูเขาเรียกว่า Bay snook



ผมรู้จักปลาชนิดนี้มานานปี เคยเลี้ยงก็หลายหน จนกล้าเอาหัวเป็นประกันได้เลยว่า เจ้านี่เลี้ยงง่ายมากๆ
ง่ายพอๆกับแจกเงินนักร้องสาว สวย หุ่นดี เซ็กซี่เลยทีเดียว ........... แน๊ ! อันหลังนี่พิมพ์เอาใจเสี่ย

เอาล่ะครับ เรามาทำความรู้จักเจ้าปลาชนิดนี้กันดีกว่าเนอะ

สแปลนดิด้านั้นมีชื่อวิทย์ว่า Petenia splendida จัดเป็นปลาหมอที่อาศัยในทวีปอเมริกาใต้ ในเอกสารเก่าบางฉบับระบุว่าเป็นปลาจากอเมริกากลาง เพราะพบกระจายไปตั้งแต่ บราซิล กัวเตมาลา ไล่ไปจนถึงแม่น้ำ Grijalva ในเม็กซิโก
สแปลนดิด้าอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ทะเลสาบที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ ชอบดักซุ่มหากินตามขอนไม้ ดงพืชน้ำ เพราะเจ้านี่เป็นนักล่าครับ หาใช่มังสวิรัติแต่อย่างใด ดูจากหน้าตาก็คงพอจะทราบนะครับ เจ้านี่แหละครับ นักล่าของแท้




สแปลนดิด้า เป็นปลาหมอขนาดกลาง โดยเฉลี่ยปลาเพศผู้จะมีขนาด 18-20 นิ้วเลยทีเดียว เพศหญิงเล็กกว่านิดหน่อย เจ้านี่เป็นปลาที่กินจุ กินเก่งมาก เรียกได้ว่ากินแบบไม่กลัวจุกตายเลยทีเดียว

ในธรรมชาติเจ้านี่ซัดหมด ไม่ว่าจะปลาซิวปลาสร้อย ปลาขนาดเล็ก ลูกกุ้งลูกปู กบเขียด พี่แกฟาดเรียบ ในที่เลี้ยงก็เช่นกัน ขอให้เป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์เป็นพอ ทั้งกุ้งฝอย เนื้อกุ้ง ปลาเหยื่อชนิดต่างๆ อาหารสำเร็จรูปก็กินครับ

สำหรับอาหารสำเร็จรูปนั้น ผมมักบอกและย้ำเสมอๆ ว่า ขอให้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน ไอ้ยี่ห้อ สามห่อสิบ ไม่ต้องซื้อเลยครับ เพราะปลากินแล้วเหมือนกินแกลบ ไร้ประโยชน์ต่อร่างกายเป็นที่สุด

ถ้าให้ดีลองใส่ใจเรื่องสารอาหารก่อนซื้ออาหารให้ปลากินหน่อยก็ดีนะครับ
เจ้าตัวที่ผมเลี้ยงอยู่นี่ก็เช่นกันครับ กินทั้งอาหารสด อาหารสำเร็จรูป วันดีคืนดี มีแอบชิมเพื่อนร่วมตู้ด้วย ร้ายจริงๆ

สแปลนดิด้ามีเข้ามาในบ้านเรานานนมแล้วนะครับ แถมปัจจุบันที่เห็นขายๆ กันอยู่ก็ลูกเพาะในบ้านเราทั้งนั้น จึงทำให้ราคาถูก ขนาดเด็กป. 1 ยังหาซื้อได้เลยครับ (เชื่อผมไม๊เนี่ย....)





ในบ้านเรานั้นจะมีสแปลนดิด้าอยู่สองชนิด นั่นคือ สแปลนดิด้าแบบธรรมดา เรียกว่าสแปลนดิด้าจุด และอีกชนิดหนึ่งคือ สแปลนดิด้าแดง
ในตอนแรกนั้นผมเองก็คิดว่าสแปลนดิด้าแดงนั้นเป็นปลาที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ ให้มีสีสันที่ผิดแผกแปลกไปจากของเดิม ความเชื่อนั้นปักหมุด กุดอยู่ในหัวผมมานานปี จนเมื่อไม่นานมานี้ผมได้ทราบว่า จริงๆ แล้วสแปลนดิด้าแดงนั้นเป็นปลาในธรรมชาติครับ ที่มีสีสันต่างกันนั้นเพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของเขานั่นเอง

โดยในทางใต้ของการกระจายพันธุ์ เราท่านจะสามารถพบเจอเจ้าสแปลนดิด้าแดงอาศัยอยู่มากกว่า สแปลนดิด้าเขียวครับ มีคำถามตั้งมาว่า แล้วไอ้สีสันบนตัวเขาเนี่ย มันจะอยู่รอดจากนักล่าได้อย่างไร

ลองนึกถึงแม่น้ำอเมซอน นะครับ น้ำจะออกสีชา ขุ่นด้วยตะกอนของดิน ซากพืชซากสัตว์ เจ้านี่จึงมีสีที่กลมกลืนไปกับสีน้ำพอสมควร และยังมีรายงานมาว่า เจ้าสแปลนดิด้าแดงนั้นมักจะซุ่มรอเหยื่ออยู่บริเวณใต้ใบบัว

เจ้าต้นบัวนี่ก็แหม..... ช่างเป็นใจเสียจริงๆ เพราะใต้ใบบัวเหล่านั้นเป็นสีแดงนั่นเองครับ เจ้านี่เลยเนี่ยนหลบซุ่มอยู่อย่างสบายแฮ





สแปลนดิด้านั้นมีรูปร่างแบนข้าง ลำตัวยาว โคนหางใหญ่ รูปร่างแบบนี้เองทำให้เจ้านี่มีความสามารถในการพุ่งชาร์ตเหยื่ออย่างที่นักล่าต่างๆ ต้องอิจฉาครับ และที่สำคัญ ด้วยโครงสร้างของกระดูกขากรรไกร ทำให้เจ้านี้สามรถฮุบเหยื่อเข้าปากได้อย่างฉับไว และง่ายดาย

กระดูกขากรรไกรของสแปลนดิด้าทั้งบนล่างนั้น มีเส้นเอ็นและกร้ามเนื้อที่ช่วยให้มันสามารถยืดปากออกไปกินอาหารได้ โดยหลักการนี้คือการดูดขับน้ำออกทางเหงือกอย่างรวดเร็วทำให้อาหารที่อยู่ห่าง(ไม่มาก) ถูกดูดเข้าปากอย่างสบายแฮ ยิ่งตอนเจ้านี่หาวแล้วล่ะก็ ท่านอาจจะนึกว่าเลี้ยงสัตว์ประหลาดอยู่ก็เป็นได้นะครับ


ทราบแบบนี้แล้ว คงคิดว่าเจ้านี่ช่างเป็นปลาที่โชคดีอะไรอย่างนี้หน๋อ แต่ในความเป็นจริงแล้วสแปลนดิด้ายังคงต้องเผชิญอันตรายตลอดทั้งช่วงชีวิตของมัน ก็ด้วยแหล่งน้ำที่อาศัยอยู่นั้นมีนักล่าที่เหนือกว่าและพร้อมจะกินมันอยู่มากมาย สแปลนดิด้าจึงมิใช่ปลานักล่าที่มีนิสัยอันธพาล ไล่ฆ่ากินอย่างไม่ลืมหูลืมตา(เหมือนคน) แต่มันกลับเป็นปลาที่กินเพียงเพื่ออยู่รอด ดำรงเผ่าพันธุ์เท่านั้นเองครับ ดังนั้นแล้วสแปลนดิด้าจึงไม่ดุร้ายนัก สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกันได้ เช่นปลาหมอขนาดกลางที่ไม่ดุร้าย เป็นต้น




ที่ร่ายมายาวนี่คือจะเข้าเรื่องอาหารการกินในที่เลี้ยง ซึ่งผู้เลี้ยงหลายคนมักเข้าใจผิดว่า เจ้านี่สามารถกินได้มาก มากเท่าที่ผู้เลี้ยงจะพึงใจยัดทะนาให้กิน อาหารสำหรับสแปลนดิด้าในที่เลี้ยงนั้น มีมากมายหลากหลาย ทั้งอาหารสำเร็จรูป(สำหรับปลากินเนื้อ) อาหารสด เช่นไรทะเลล้างสะอาด หนอนแดง ลูกปลาเหยื่อ การให้ก็ไม่ควรให้มากมายจนเกินไปนัก ให้แค่พออิ่ม และงดอาหารบ้างเพื่อสุขภาพของตัวปลาเอง

ในเรื่องของขนาดที่เลี้ยง อย่างที่ทราบกันแล้วว่า สแปลนดิด้ามีขนาดยาวกว่า 20 นิ้ว(ในธรรมชาติ) แต่ในที่เลี้ยงนั้นส่วนใหญ่จะพบเจอเพียง 1 ฟุต ซึ่งก็ไม่แปลกแต่อย่างใด หากท่านอยากได้ปลาขนาด 20 นิ้วแล้วล่ะก็ ตู้เลี้ยงก็ควรใหญ่โตตามขนาดตัวปลา



โดยเริ่มแรกอาจใช้ตู้ 24 นิ้วไปก่อน แต่สแปลนดิด้าขนาดเล็กนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก มันจะขยับขนาดแทบทุกอาทิตย์ อย่างที่ผู้เลี้ยงยังตะลึง

ขนดที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสแปลนดิด้าขนาดใหญ่คือ 48-60 นิ้วครับ เลี้ยงได้ราวๆ 2-4 ตัว

สแปลนดิด้าเมื่อเข้าวัยเจริญพันธุ์จะจับคู่กันเองครับ โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และในช่วงผสมพันธุ์นั้นตัวผู้ก็จะดุร้ายขึ้นด้วยนะครับ

อีกเรื่องที่ผู้เลี้ยงควรระวังหน่อยคือ ขนาดเหยื่อ มีรายงานว่าสแปลนดิด้านั้นอาจกรามค้างได้ หากเหยื่อตัวใหญ่จนเกินไป อันนี้ตัวผู้เขียนยังไม่เคยเจอ เลยได้แต่เล่าสู่กันฟัง





ในช่วงนี้ดูเหมือนบ้านเรา เมืองเราจะมีแต่ความขัดแย้งนะครับ จึงอยากเรียนให้ผู้อ่านทุกท่านทราบว่า ความขัดแย้งนั้นเกิดจากกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม ทำให้เรื่องราวมันยุ่งวุ่นวายกันไปก็เท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าคนไทยยังรักกันดีเหมือนเดิม
อย่าให้ใครมาทำให้เราแตกแยกนะครับ

คนที่ทำให้คนไทยแตกแยกกันนั้น คนพวกนี้มีค่าน้อยกว่าราคาสแปลนดิด้ามากนัก แต่ทำไมอำนาจของคนพวกนี้จึงมากมายล้นฟ้า อันนี้ผู้เขียนก็ไม่ทราบได้....


สวัสดี





 

Create Date : 22 เมษายน 2551    
Last Update : 25 เมษายน 2551 9:12:47 น.
Counter : 2615 Pageviews.  

[Dimidiochromis compressiceps] เพรชนักล่า..................แห่งมาลาวี

สวัสดีครับ พี่ๆน้องๆ ทุกๆท่าน

ฉบับนี้ผมใคร่นำเสนอปลาหมอนักล่าตัวหนึ่งจากทะเลสาบมาลาวี

ปลาตัวนี้สำหรับผมเองแล้ว นับว่าเป็นปลาหมอที่ผมชอบมากที่สุดเลยทีเดียว

ปลาหมอตัวนี้มีสีสันที่สวยงามน่าประทับใจมากตัวหนึ่งเลยทีเดียว และยังมีสีสันที่สวยสดงดงามมากๆ ด้วย

ปลาหมอตัวที่ว่านี่คือปลาหมอ ปากยาว ครับ

ปลาหมอปากยาวมีชื่อวิทย์ว่า Dimidiochromis compressiceps




คำว่า compressiceps หมายถึงแบน หรือถูกบีบอัดจนแบน ซึ่งมีปลาหมอที่มีชื่อวิทย์แบบนี้อีกตัวคือ ปลาหมอคอมเพรสซิเซ็ป (Altolamprologus compressiceps) เป็นปลาหมอจากทะเลสาบทังกันยิกา

ปลาหมอปากยาว(ต่อไปนี้ผมขอเรียกชื่อนี้แล้วกันนะครับ) จัดว่าเป็นปลาหมอนักล่าแบบซุ่มโจมตี

โดยในธรรมชาติเจ้าปากยาว จะคอยดักซุ่มเหยื่อในดงสาหร่าย valisneria ซึ่งมีขึ้นอยู่มากมายในทะเลสาบ
เมื่อปลาเซ่อตัวใดว่ายผ่านก็จะพุ่งออกมาจับกินเป็นอาหาร
อาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกปลาขนาดเล็ก ในกลุ่ม mbuna ซึ่งมีมากมายหลากหลายในทะเลสาบแห่งนี้

และอีกวิธีหนึ่งซึ่งมักพบในระดับน้ำที่ลึกจนสาหร่าย valisneria ไม่สามารถขึ้นได้

เจ้าปากยาวมักจะท่องไปตามกองโขดหิน ใช้ความแบนที่ได้เปรียบของตัวมัน ลัดเลาะตามกองหิน ซอกหินหาปลาที่แอบอยู่ มากินเป็นอาหารได้เช่นกัน

โดยวิธีหลังนี้เจ้านี่จะใช้แรงจากกล้ามเนื้อและกระดูกขากรรไก ที่แข็งแรง ดูดทั้งน้ำและปลาเล็กๆ เข้าปากได้สะดวกโยธิน เจ๋งจริงๆ พ่อพระเอกของเรา



ปลาหมอปากยาวในวัยเด็กจะมีเพียงสีเงินๆ และเส้นแถบพาดเฉียงที่ลำตัว มักว่ายหากินอยู่ในบริเวณที่มีสาหร่ายขึ้นรก โดยจะกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่างๆ เช่นตัวอ่อนของแมลง แมลงน้ำขนาดเล็ก หนอนน้ำ ตัวอ่อนของลูกปลา กุ้ง ปู

ตัวผู้เมื่อโตขึ้นจะเริ่มมีสีสันขึ้นมาตามลำดับ โดยสีที่ขึ้นมานั้นจะเป็นสีฟ้าเหลือบน้ำเงินเงางาม เส้นที่พาดกลางลำตัวจะเริ่มจางลงไปเรื่อยๆ ครีบทวารจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ครีบหางจะมีจุดสีแดงขึ้นไล่ไปตามขอบเกร็ดที่ลำตัว ครีบหลงจะมีขอบแดง และขาดขึ้นที่ขอบครีบ นับว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามทีเดียวนะครับ

*** ในเรื่องของสีนั้น จากที่หาข้อมูลมาจะมีความแปรผันตามภูมิประเทศที่จับมา รวมถึงที่ตัวปลาด้วยโดยบางตัวก็มีครีบก้นสีเหลือง-ส้ม***

ในตัวเมียสีสันจะคงเดิมครับ คือ สีเงินๆ และมีเส้นพาดกลางลำตัวเหมือนปลาวัยเด็ก



ปัจจุบันมีปลาหมอปากยาวเผือกตาแดง ซึ่งจะมีสีขาวอมเหลืองปลอดทั้งตัว ครีบก้นสีส้มจนถึงแดงสด ซึ่งก็เป็นอีกสีหนึ่งที่น่าเก็บไว้มากๆ ครับ ผมเห็นแล้วยังชอบเลยนะครับ


เจ้าปากยาวนี่ในเมืองนอกเมืองนา อารยประเทศผู้เจริญแล้วทั้งหลาย เขาเรียกชื่อคอมม่อนเนมว่า Malawi Eye-biter แปลว่า ผู้กัดตา เพราะเนื่องด้วยพฤติกรรมการกินของมัน มันมักจะงับเหยื่อที่บริเวณตา (คืองับหัวนั่นแหละ) ทำให้ได้ชื่อนี้มีที่มาฉะนี้แล พี่น้องเอ๋ย โหดมากมาย....



ส่วนตัวแล้วผมยังไม่เคยเจอแบบนี้นะครับ เคยเจอแต่เจ้าปากยาวว่ายตามประชิดปลาเล็กในตู้ ผมสังเกตอยู่ซักพัก เพราะเจ้านี่ไม่เคยแสดงอาการอยากกินเพื่อนร่วมตู้มาก่อน

แต่วันนี้มันแปลกๆ ไป เลยเฝ้าดูซะหน่อย เพียงไม่นาน เจ้านี่ก็งับเข้าบริเวณหลังหัว (คาดว่าคงพลาดเล็กน้อย)
ผมล่ะตกใจแทบแย่ (แต่ไม่ถึงกับร้อง กรี๊ด นะครับ) รีบเปิดตู้เอากระชอนไล่ๆ มันไป ในที่สุดเจ้าปากยาวก็ปล่อยปลาน้อยออกมา

สภาพที่เห็นคือ เกร็ดที่โดนกัดบิดเบี้ยวและหลุด มีอาการหอบ หายใจเร็ว สงสัยคงตกใจมาก ดูๆอาการแล้วคล้ายๆกับคนถูกหวยรางวัลที่หนึ่งยังไงชอบกล 55 55



แสดงว่าแรงกัดนี่ไม่ธรรมดาเลย หลังจากนั้นเจ้าปากยาวของผมก็ไร้เพื่อนร่วมตู้ ถูกเนรเทศไล่ไปอยู่ตู้ขนาดกลางแทน..... ก็โหดซะ ขนาดจะกินเพื่อนร่วมตู้ได้ ปล่อยไว้จะเกิดความเสียหายเปล่าๆ

ปลาหมอปากยาวโดยเฉลี่ยจะมีขนาดราวๆ 20-25ซม. นับว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร
ตู้ที่ใช้เลี้ยงไม่ควรต่ำกว่า 30 นิ้ว ในกรณีที่เลี้ยงเดี่ยว แต่ถ้าหากจะเลี้ยงรวมเป็นฝูงหรือเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ก็ควรเป็นตู้ขนาด 48 นิ้วเป็นอย่างต่ำนะครับ

เนื่องจากปลาต้องการพื้นที่ว่ายน้ำพอสมควรนะครับ หากตู้เล็กกว่านี้สามารถเลี้ยงตัวเล็กๆ ได้อย่างสบาย แต่เมื่อปลาโตขึ้นก็อย่าลืมเปลี่ยนตู้ให้ด้วยนะครับ




ตู้เองก็ควรมีฝาปิดมิดชิดหน่อย เพราะเจ้านี่อาจกระโดดออกมานอนแห้งนอกตู้ได้ เรื่องแบบนี้กันไว้ดีกว่าแก้นะครับ

โดยส่วนตัวผมแนะนำแผ่นพลาสติก ที่เอาไว้กั้นตู้ครับ เพราะมีรูระบายอากาศ ทำให้อุณหภูมิในตู้ไม่ร้อนจนเกินไป

ในที่เลี้ยงปลาหมอปากยาวเป็นปลาที่กินอาหารได้หลากหลายนะครับ

ซึ่งจริงๆ ปลาหมอส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น เช่น ไรทะเล หนอนแดง หนอนนก กุ้งฝอย ลูกปลาขนาดเล็ก อาหารสำเร็จรูป

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เลี้ยงมักให้อาหารสำเร็จรูปกัน เพราะสะดวกและปลอดภัยจากโรคที่ติดมากับอาหารสด

ในการให้อาหารนี่ควรระวังนะครับ เพราะปลาหมอปากยาวท้องอืดง่ายมากๆ ทั้งที่ตัวมันเองนั้นแสนจะตะกละกินเก่งอย่าบอกใคร
ผมเองนั้นในช่วงแรกๆ ก็เสียปลาหมอปากยาวขนาด 4 นิ้วไปเพราะประเด็นนี้ การให้อาหารควรให้แต่น้อย โดยในปลาเล็กให้วันละ 2 มื้อ ส่วนปลาใหญ่กว่า 6 นิ้ว ให้เพียงวันละ 1 มื้อ โดยจะให้วันเว้นวันครับ



เรื่องน้ำท่านี่ก็สำคัญ จากประสบการณ์ของผม ปลาหมอจากทะเลสาบส่วนใหญ่ชอบน้ำสะอาด

และมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วถ้าในน้ำที่อาศัยมีค่าของเสียอยู่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรเปลี่ยนในปริมาณไม่เกิน 30 % ในทุกๆ 3-7 วัน

ระบบกรองก็ควรจะเป็นระบบกรองที่ดี มีพื้นที่สำหรับใส่วัสดุกรองมากหน่อย ถ้าได้กรองข้างเต็ม กรองนอก หรือกรองล่างเลยยิ่งแจ๋วเลยนะครับ

และควรล้างวัสดุกรองบ่อยๆ หากไม่แล้วปลาอาจเป็นตุ่มสีขาวๆ ขึ้นมาที่ส่วนหัว ลำตัว (ไม่ใช่โรคจุดขาว) หากเกิดอาการนี้ ควรล้างกรองพร้อมเปลี่ยนน้ำ
ด่วนเลยนะครับ

การจัดตู้นั้นอาจจะผิดแผกไปขากการเลี้ยงปลาหมอมาลาวีกลุ่ม มบูนาซักหน่อย

เพราะปลาหมอปากยาวนั้นไม่ได้อาศัยบริเวณโขดหิน ฉะนั้นควรเปิดพื้นที่ท้องน้ำให้โล่งโดยปูกรวดบางๆ ไม่แนะนำให้ใช้ทราย เพราะหมักหมมง่าย

ในปลาเล็กอาจใส่ต้นไม้ปลอมได้ ส่วนปลาใหญ่นั้น วางหินก้อนกลางๆ ซัก 2-5 ก้อนไว้ด้านหลังดีกว่าครับ





เพื่อนร่วมตู้นั้นก็อย่างที่บอก อย่าเล็กจนกินได้ และอย่าดุร้าย เพราะเจ้าปากยาวนั้นไม่ใช่ปลาดุร้ายนะครับ ส่วนใหญ่จะไม่ไล่กัดใครเขา ถ้าจะเอา ก็คงออกไปทางจับกินเสียมากกว่า

เพื่อร่วมตู้ที่แนะนำได้แก่ ปลาหมอบลูดอลฟิน ปลาหมอสกุลอาวโลโนคารา เช่น เรดพีค๊อก ยูซิสซ่า บลูนีออน
หรืออาจเป็นปลาหมอจากฝั่งทังกันยิกาก็ได้เช่นกันครับ แนะนำปลาหมอฟรอนโตซ่าครับ เลี้ยงด้วยกันก็สวยดีทีเดียว

โดยรวมแล้วผมถือว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย และไม่ต้องการอะไรมากมายนัก หากผู้เลี้ยงได้ทำความเข้าใจกับตัวปลาแล้วล่ะก็ คงไม่มีปัญหาแน่นอนครับ

ท่านผู้อ่านล่ะครับ มีตู้ว่างสักใบไหมครับ ถ้ามีแล้วไม่รู้จะลงปลาอะไรดี ผมขอฝากเจ้าปลาหมอปากยาวตัวนี้ไว้ให้ท่านๆ ได้พิจารณาไว้เป็นตัวเลือกซักตัวนะครับ





 

Create Date : 31 มีนาคม 2551    
Last Update : 1 เมษายน 2551 16:07:04 น.
Counter : 4922 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ลายเส้นหลังเขา
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




กี่โมงกันแล้วหน๋อ..... หลงเข้ามาแล้วอยู่นานๆ หน่อยนะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ลายเส้นหลังเขา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.