กฎหมายเบื้องต้น กับ อุบัติเหตุรถตู้

เมื่อวันก่อน (27 ธันวาคม 2553) ได้ทราบข่าวน่าสลดใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถตู้ชนกับรถเก๋งบทโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน

ลองนั่งนึกๆดูแล้วก็พบว่า... อุบัติเหตุในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน แล้วเหตุไม่คาดฝันในลักษณะอย่างนี้นั้น ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภายใต้กฎหมายกันล่ะ หรือว่าผู้ขับรถโดยประมาทจะไม่มีความผิดอะไรเลย?

งั้นขอถือโอกาสนี้ นำเสนอกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุน่าสลดใจนี้สักนิดนะครับ



การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กฎหมายไทยได้กำหนดให้การกระทำดงกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ และมีโทษอย่างไร?

โดยหลักการ การกระทำความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญานั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างแรกคือ การกระทำดังกล่าวจะต้องมี "เจตนา" แต่ในบางกรณี แม้จะไม่ได้เจตนา แต่กระทำไปด้วย "ความประมาท"

ประมวกฎหมายอาญา
มาตรา 59 "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ โดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มี เจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะ ถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ นั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"

ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่า คนที่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับโทษตามกฎหมายหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่า มีกฎหมายฉบับใดหรือไม่ กำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด

ซึ่งในกรณีนี้ กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แม้จะไม่เจตนา แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น เป็นความผิดตามกฎหมาย ตามประวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"

จากมาตราข้างต้น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิดสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"

แล้วขับรถยังไงล่ะที่เรียกได้ว่าประมาท? ลองดูตัวอย่างแล้วกันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4151/2536 "ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลี้ยวตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิดขณะจำเลยขับรถแซงขึ้นหน้ารถของผู้ตายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงตามหลังรถผู้ตายโดยไม่เว้นระยะให้ห่างพอที่จะหยุดหรือหลบหลีกได้ทันเมื่อมีเหตุจำเป็น และขณะแซงก็มิได้ให้สัญญาณ จนเป็นเหตุให้รถจำเลยพุ่งเข้าชนรถผู้ตายขณะเลี้ยวขวาข้ามถนนตัดหน้ารถจำเลย ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในฐานะจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายดังฟ้อง"

คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2503 "การขับรถยนต์ตามหลังรถคันอื่นนั้น ควรต้องเว้นระยะให้ห่างมากพอ ที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ชนรถคันหน้า ยิ่งถนนมีฝุ่นตลบ ก็ย่อมจะต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น เมื่อจำเลยไม่เว้นระยะดังกล่าวแล้ว รถของจำเลยไปชนรถคันหน้า ป็นเหตุให้คนตาย ย่อมถือได้ว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย ตามมาตรา 291"

คำพิพากษาฎีกาที่ 2082/2517 "จำเลยขับรถยนต์ แซงรถบรรทุกดิน ซึ่งจอดอยู่ที่ของถนนด้านซ้าย ในเส้นทางของรถจำเลย ซึ่งเข้าไปในเส้นทางของรถ โจทก์ร่วมที่กำลังสวนทางมา และตรงที่เกิดเหตุ มีเส้นแบ่งแนวจราจร เป็นเส้นทึบ คู่ท้ายขับรถไปตามเส้น หรือออกนอกเส้นทางไปทางขวา เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน ในเส้นทางของรถโจทก์ร่วม จำเลยชอบที่จะให้ความระมัดระวัง ให้เพียงพอกับวิสัย และพฤติการณ์ โดยมองไปข้างหน้าว่า มีพยานพาหนะอื่นใด สวนทางมาหรือไม่ หรือหากมองไม่เห็น เพราะมีส่วนโค้งของถนน หรือสะพานบังอยู่ ก็ชอบที่จะชะลอรถ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้ว จึงค่อยแซงรถ ที่จอดอยู่ขึ้นไป เมื่อจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังดังว่านี้ จึงนับว่า เป็นความประมาทของจำเลย หาใช่อุบัติเหตุไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 280/2518 "จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหิน ประมาณ 70 ไมล์ต่อชั่วโมง ผ่านทางแยกซึ่งมีคนพลุกพล่านและแซงรถยนต์บรรทุกซึ่งจอดริมถนนห่างทางแยกประมาณ 5 วา เป็นการขับรถโดยความประมาท แม้จะปรากฏว่า รถยนต์โฟล์คสวาเกน ซึ่งล้ำเข้ามา เฉี่ยวชนรถจำเลย ในเส้นทางของรถจำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ ความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2508 มาตรา 7 ไม่จำต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น" เป็นต้่น

กรณีมีผู้เสียชีวิต บุพการี (โดยทางสายเลือด), ผู้สืบสันดาน (โดยทางสายเลือด หรือ สามีภริยา (โดยทางกฎหมาย) สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 กำหนดไว้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 5 "บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหาย ถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถ จะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่ นิติบุคคล นั้น"

แม้ตามปรกติ คดีเกี่ยวกับการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้น พนักงานสอบสวนสามารถที่จะเปรียบเทียบปรับได้ ไม่ต้องนำเรื่องไปถึงชั้นศาล แต่ในกรณีที่ ความประมาทเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เรื่องต้องขึ้นถึงชั้นศาลแน่นอน

แล้วในกรณีที่อ้างว่า คนขับรถที่ขับรถโดยประมาทมีอายุ 17 ปี ล่ะ? มีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร?

กรณีที่อ้างว่า อายุ 17 ปี... แน่ๆ ต้องไม่มีใบขับขี่ ก็ผิด "พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522" ด้วยสิ กฎหมายเค้าว่าไว้อย่างนี้

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
มาตรา 46 "ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์..."

มาตรา 64 "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ดังนั้น ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่า คนขับรถอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่มีใบขับขี่ ต้องระวางโทษตามพรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพียงจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่แค่ไม่มีใบขับขี่นี่ ยังไม่ถือว่าขับรถโดยประมาทนะ!!!!! ลองดูคำพิพากษาฎีกานี้ครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 294/2501 "จำเลยขับรถไม่มีใบขับขี่ แต่จำเลยขัยรถเป็นและเคยขับรถคันที่เกิดเหตุนี้มาแล้ว จำเลยขับรถวิ่งมาตามปกติธรรมดาไม่ปรากฏว่ามีการประมาทแต่อย่างใด แม้จะทับคนตายดังนี้ เพียงแต่จำเลยไม่มีใบขับขี่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อบังคับเท่านั้น หาเป็นการกระทำโดยประมาทไม่ ทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ก็มิได้บัญญัติไว้ว่าเป็นการประมาท ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท"

เมื่อกล่าวอ้างว่าเป็นเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาขึ้น จะต้องอยู่ในอำนาจของ "ศาลเยาวชนและครอบครัว" ในการที่จะพิจารณาพิพากษาดำเนินคดีต่อไป ตามที่ "พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534" บัญญัติไว้ ดังนี้

"พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534"
มาตรา 11 "ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในคดี ดังต่อไปนี้
(1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด..."

ซึ่งเมื่อคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลเยาวชนฯแล้ว กรณีที่เยาวชนขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนใหญ่ศาลจะให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจก่อนแล้วจึงตัดสิน

โดยในการสืบเสาะและพินิจนั้น ก็เป็นดลพินิจของศาลที่จะสั่งให้สืบเสาะในเรื่องใด แต่ส่วนใหญ่แล้ว ศาลจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับประวัติ สถานะครอบครัว ฐานะและสภาพแวดล้อมของผู้ขับรถประมาทหรือจำเลย รวมทั้งการเยียวยาบรรเทาความเสียหายและพฤติการณ์แห่งคดีด้วย โดยในระหว่างสืบเสาะและพินิจนั้น เยาวชนผู้ขับรถประมาทหรือจำเลยต้องถูกขังไว้ หากไม่อยากถูกขังก็ต้องเตรียมหลักประกันไปขอประกันตัวต่อศาล

นอกจากนี้ สิทธิพิเศษที่จะได้รับกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน คือ....

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
มาตรา 27 "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ"

"พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534"
มาตรา 93 "ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียงแพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น"

จากกฎหมายทั้งสองข้อดังกล่าว ส่งผลให้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กออกสื่อไม่ได้นะครับ

นอกจากการกระทำดังกล่าว จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นด้วยนะ

กฎหมายฉบับที่ว่าก็คือ "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522" ผิดหลายฐานความผิดมากๆ ดังนี้

1. ความผิดฐานขับรถโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

"พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522"
มาตรา 43 "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
(1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือ ทรัพย์สิน
(5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอ แก่ความปลอดภัย
(6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่อง เดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารถ คนป่วยหรือคนพิการ
(8) โดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น"

มาตรา 160 "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ดังนั้น ผู้ใดขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคล โทษสูงสุด จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

"พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522"
มาตรา 67 ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทางเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราความเร็ว ขั้นสูงหรือขั้นต่ำก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตรา 152 "ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 7 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 16 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 (1) มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 56 มาตรา 64 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง มาตรา 73 วรรค 1 หรือวรรค 3 มาตรา 77 วรรค 1 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 89 วรรค 1 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 วรรค 1 มาตรา 95 มาตรา 99 มาตรา 127 มาตรา 128 มาตรา 130 หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 15 วรรค 2 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 77 วรรค 2 หรือมาตรา 96 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท"

ดังนั้น การขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาดูตัวอย่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2549 "ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายจำเลยมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี"

คำพิพากษาฎีกาที่ 114/2537 "ภายหลังจากเกิดเหตุรถชนกันแล้ว มีผู้นำผู้ตาย และโจทย์ร่วมส่งโรงพยาบาล ผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ส่วนจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 2 นาทีแล้วหลบหนีไป ต่อมาอีก 6 วันจำเลยเข้ามอบตัวสู้คดีดังนี้ การที่จำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที่ เป็นเหตุให้โจทย์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส และผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ม.160 วรรคสอง"

แต่ความผิดตาม "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522" นั้น โดยปรกติเป็นความผิดต่อรัฐ ซึ่ง "รัฐ" เท่านั้น เป็นผู้เสียหาย เว้นแต่ กรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจาการกระทำนั้นโดยตรง กฎหมายให้ถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551 "คดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำ พิพากษาคดีส่วนอาญา เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้แม้จะได้ใช้ความระมัดระวัง ตามสมควรแล้วก็ตาม อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้น เมื่อเหตุเกิดขึ้นจากอุปการณ์ในตัวรถ จึงไม่เหตุสุดวิสัย"

แล้วอย่างนี้ ผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้มั๊ย??

ในส่วนของค่าเสียหายนั้น ต้องไปว่ากันในทางแพ่ง ซึ่ง ต้องพิจารณาตาม "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

มาตรา 438 "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหาย ต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหาย อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย"

กรณีขับรถโดยประมาท ถือเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายได้ ส่วนค่าเสียหายจะเรียกได้มากน้อยเพียงใดนั้น โดยทั่วๆไป ศาลจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ถ้าไม่เคยทำความผิด ไม่เมา และมีคนอื่นร่วมในการประมาทนั้นด้วยหรือไม่ และต้องดูความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็ต้องไปว่ากันต่อไปในชั้นศาล

แล้วพ่อแม่ของเด็กล่ะ ต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

ในส่วนความรับผิดของบิดามารดานั้น ในทางอาญา มิได้เป็นผู้กระทำความผิด ย่อมไม่ต้องรับผิดในทางอาญาแต่อย่างใด แต่ในส่วนความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องชดใช้ค่าเสียหายนั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไปว่าประมาทในการดูแลบุตรของตนหรือไม่?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 429 "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น"

แต่นอกจากความรับผิดทางแพ่งแล้ว บิดามารดาอาจต้องรับผิดตาม "พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546" ด้วย

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
มาตรา 25
"ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานพยาบาลหรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะ
หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
(2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใด ๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม
(3) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือ
จิตใจของเด็ก
(4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก
(5) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ"

มาตรา 26 "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
(1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน
จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
(4) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
(6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
(7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
(9) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น"

มาตรา 78 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ข้อมูลเบื้องต้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องไปสืบต่อไปในชั้นศาล แต่ก่อนที่จะพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด "บุคคลทุกคน" ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง

ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลย เป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย"

ดังนั้น ก่อนที่จะมีการพิสูจน์กันในทางกฎหมาย อย่าเพิ่งรีบไปตัดสินใครเลยนะครับ การวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดสติ อาจส่งผลกระทบต่อใครหลายๆคนก็ได้นะครับ (เช่น ตอนนี้ มีผู้ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนก่อเหตูขึ้นมา โดนด่าเสียหายหมด ทั้งๆที่ไมเกี่ยวอะไรเลยแท้ๆนา)

เอาล่ะ กฎหมายหลักๆที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะประมาณนี้ ก่อนจะจบบล๊อกนี้ ก็ขอยกพุทธศาสนสุภาษิต ขึ้นประกอบซักหน่อย...



"ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"


พุทธศาสนสุภาษิต ท่านว่าไว้ว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ไม่ได้บอกว่า คนที่ประมาทจะต้องตาย แต่ความตายที่ว่า... มันอาจจะเกิดกับผู้อื่นก็เป็นได้ ทางทีดี ถ้าจะไม่ให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อตนเอง ต่อคนอื่น เราควรครองตนด้วยความไม่ประมาทน่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่ออุบัติเหตุมันเป็นเรื่องไม่คาดฝัน บางครั้งก็ยากแก่การที่จะป้องกันได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว เราก็ควรมีมนุษยธรรมและมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยอาจเข้าไปให้ความช่วยเหลือ, ช่วยแจ้งความหรือเรียกรถพยาบาล, ยอมรับผิดเข้ามอบตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในการรับรู้รับฟังข่าวสารก็เช่นเดียวกัน อยากให้ทุกท่านรับฟังข้อมูลอย่างมี "สติ" การวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่ได้ก็ให้เกิดผลดีกับผู้ใดเลยนะครับ

โดยส่วนตัว ลึกๆผมเชื่อว่า คนไทยใจดี ไม่มีใครอยากทำผิดหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นไปแล้ว หากผู้กระทำความผิดยอมรับผิดและยอมปล่อยให้กฎหมายเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง สังคมให้อภัยเสมอแหละครับ สังเกตได้จาก ข่าวดาราขับรถชนคนตายที่ผ่านๆมา ยอมรับผิด ดำเนินคดีตามกฎหมาย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เรื่องก็จบอย่าง Happy Ending เกือบทุกครัั้งไป

เหตุการณ์ในครั้งนี้ คงเป็นเครื่องเตือนใจได้อย่างดีว่า "ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม การมี "สติ" ควบคุมการกระทำเอาไว้ ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด"

ขอไว้อาลัยกับผู้สูญเสียทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

@Onizugolf Smiley

อ้างอิง
เปิดคลิปชนสยองบนทางด่วนตายเกลื่อน!, //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=419&contentID=112446
'วันชัย'เผยสาว16ขับเก๋ง พ่อแม่ต้องรับผิดด้วย, //www.thairath.co.th/content/region/137929

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ


Create Date : 29 ธันวาคม 2553
Last Update : 6 มกราคม 2554 7:49:33 น. 4 comments
Counter : 6394 Pageviews.  
 
 
 
 
อยากเรียนถามว่า 1.เมื่อกระบวนการมาอยู่ที่ศาลเยาวชนแล้ว บทลงโทษของเยาวชนผู้กระทำผิดดังกล่าวจะเป็นอย่างไร 2.จากกรณี"เด็กแว๊น" หากถูกจับดำเนินคดี พ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องออกมารับโทษด้วยนั้น อยากทราบว่าในกรณีนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกมารับโทษด้วยหรือไม่คะ?
3.ที่ผ่านมาศาลตัดสินกรณีเช่นนี้อย่างไรคะ?
 
 

โดย: Pruph IP: 203.131.211.157 วันที่: 29 ธันวาคม 2553 เวลา:23:14:33 น.  

 
 
 
ขออนุญาตตอบเป็นรายข้อนะครับ

1. กรณีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ศาลจะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆประการในการที่จะพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด โดยสิ่งที่จะต้องพิจารณา ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่อง สวัสดิภาพและอนาคตของเยาวชน ตลอดจนบุคลิกลักษณะ สุขภาพ และ ภาวะแห่งจิตของเยาวชนด้วย ซึ่งในการพิจารณาของศาล จะเน้นการให้โอกาสแก่เยาวชนที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อสังคมต่อไปมากกว่าการลงโทษ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะลงโทษในลักษณะการคุ้มประพฤติเสียมากกว่าครับ

2. กรณีที่มีการพิสูจน์ได้ว่าเยาวชนกระทำความผิดจริง ในการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้เสียหาย จะพิจารณาตาม ปพพ. มาตรา 429 ซึ่งก็ต้องดูว่า บุพการีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลบุตรหรือไม่ ซึ่งถ้าประมาทเลินเล่อ ย่อมต้องร่วมรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนความผิดอาญา บุพการี ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ไม่ต้องร่วมรับผิดแต่อย่างใด

3. เท่าที่ทราบ ส่วนใหญ่ ศาลจะลงโทษในลักษณะคุมประพฤติของผู้เยาวชนช่วงระยะเวลาหนึ่งอละอาจมีการให้ฝึกอบรม ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าท่านจะพิจารณาพิพากษาอย่างไร รายละเอียด ตามนี้ครับ

มาตรา ๑๐๔ "ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ดังต่อไปนี้
(๑) เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๑) แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา เป็นกักและอบรม ซึ่งจะต้องกักและอบรมในสถานกักและอบรมของ สถานพินิจตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
(๒) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจ สถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้อง ไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
(๓) เปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ โดยกำหนดเงื่อนไขข้อเดียว หรือหลายข้อตามมาตรา ๑๐๐ ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ให้นำมาตรา ๑๐๐ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๐๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หลักเกณฑ์วิธีการกักและอบรมหรือการฝึกและอบรมเด็กหรือเยาวชนให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ศาลได้พิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าควรจะกักตัวหรือควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนตาม (๑) หรือ (๒) ต่อไปหลังจากที่เด็กหรือ เยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ศาลระบุในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำ ตามเวลาที่ศาลกำหนด"

มาตรา ๑๐๕ "การส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมหรือฝึกและอบรม ในสถานพินิจ หรือส่งตัวไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรมที่ได้รับใบอนุญาตตาม มาตรา ๒๐ (๒) ถ้าศาลได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ ศาลจะปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชน ไปในระหว่างระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงนั้นก็ได้ ในกรณีดังกล่าว ศาลจะกำหนดเงื่อนไขตาม มาตรา ๑๐๐ ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าได้กำหนดเงื่อนไขไว้ ให้นำมาตรา ๑๐๐ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๐๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และระยะเวลาที่จะกักและอบรมหรือฝึกและอบรมนั้น จะเกินหนึ่งปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่เหลืออยู่"

มาตรา ๑๐๖ "คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ศาลที่มี อำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเด็ก หรือเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ แม้ว่า
(๑) เด็กหรือเยาวชนนั้นได้เคยรับโทษจำคุกหรือโทษอย่างอื่นตามคำพิพากษา มาก่อนแล้ว
(๒) โทษจะลงแก่เด็กหรือเยาวชนเป็นโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก
(๓) ศาลจะกำหนดโทษจำคุกเกินกว่าสองปี"

มาตรา ๑๐๗ "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วย หรือไม่ก็ตาม ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทน ค่าปรับแต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในสถานพินิจ สถานศึกษา หรือสถานฝึก และอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี"
 
 

โดย: onizugolf (onizugolf ) วันที่: 30 ธันวาคม 2553 เวลา:9:02:15 น.  

 
 
 
คงเหลือแต่กรณีละเมิดกระมังครับ
 
 

โดย: เฮ้อ เหนื่อย IP: 123.242.153.99 วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:11:11:45 น.  

 
 
 
เรื่องแบบนี้ เด็กอายุ15ขับรถโดยประมาณ ขับรถด้วยวัยคะนึกคะนอง ชนคน จนเสียชีวิตไป แล้วไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหาย ไม่มาขอขมาศพ ไม่มาปองดอง เราจะเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร หรือ ยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดจำนวนเงิน 50,000บาท ทางเราเห็นว่ามันน้อยไป ซึ่งมันไม่พอสำหรับค่าจัดงานศพเลย เราไม่รับ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปดี
 
 

โดย: คุณต้อม IP: 61.7.176.168 วันที่: 29 กรกฎาคม 2555 เวลา:15:46:23 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com