ตั้งรับ "ล้มละลาย" ใหม่ ขยายระยะเวลาขอรับชำระหนี้

3 มิถุนายน 2558 ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่...) ผ่าน สนช. รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆนี้

สาะสำคัญหลักๆ ที่แก้ไข คือ การเพิ่มสิทธิของเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

"มาตรา 27 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม"

"มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน

คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้"

หมายความว่า >> ภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หากเจ้าหนี้ไม่ได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ (เฉพาะหนี้เงิน) จะหมดสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2549
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2528
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน กำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 91 โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยสุจริตหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้ โจทก์ทราบหาได้ไม่ เพราะจะเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลา ตามมาตรา 91 ออกไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2538
เมื่อปรากฏว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก็ดีได้กระทำในชื่อใหม่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมเป็นเหตุทำให้ผู้ร้องไม่อาจทราบว่า พ.และ อ.ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องก็คือ ก. และ ธ. จำเลยที่ 1และที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และผู้คัดค้านได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น กรณีถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2เด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วก็ได้ แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว การที่ผู้ร้องเพิ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้และขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากผู้ร้องทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดนานถึงเกือบ 4 เดือน ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

ร่างพระราชบัญญัติล้มละลายใหม่ที่จะประกาศใช้บังคับในเร็ววันนี้ ได้แก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว โดยขยายสิทธิให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติใหม่ ดังนี้

"มาตรา 91/1 ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ และแสดงถึงเหตุสุดวิสัยที่ตนไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลา เมื่อศาลเห็นว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงการใดที่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว"

รายละเอียดที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ดูได้จาก >>>

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....
//www.senate.go.th/bill/bk_data/122-3.pdf

บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิของเจ้าหนี้ดังกล่าว น่าจะทำให้คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวกับเรื่องการขอรับชำระหนี้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรทีเดียว

ส่วนตัวคิดว่า การขยายสิทธิของเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของศาลพอสมควรทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็น..

การตีความเกี่ยวกับ "เหตุสุดวิสัย" ว่ามีความหมายกว้างแค่ไหน? ตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หรือไม่?

ระยะเวลาที่เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาเท่าใด? หลังปลดล้มละลายไปแล้วได้หรือไม่? เพราะกฎหมายที่แก้ไข ไม่ได้ระบุระยะเวลาเอาไว้โดยชัดเจน

เป็นการสร้างภาระให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่?

แล้วบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้รับบุว่าคำสั่งของศาลเป็นที่สุดหรือไม่ เพราะงั้นย่อมสามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ตามปกติ? แล้วถ้าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ลงมาแล้วปลดล้มไปแล้วล่ะทำไง?

แล้วถ้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือจากการแบ่งให้เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 90 ล่ะ?

น่าสนใจทีเดียว!!

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสิทธิของลูกหนี้ร่วมและผู้ค้ำประกันในการได้รับชำระหนี้, การเพิ่มอำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการออกคำสั่งในคำขอรับชำระหนี้, การปรับปรุงการยื่นคำขอประนอมหนี้ให้ชัดเจน และการปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ช่วงนี้กฎหมายใหม่ออกเร็วมากๆ ต้องหมั่นอัพเดทให้ทันสถานการณ์ จะได้ไม่ OUT!!




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:47:46 น. 0 comments
Counter : 2359 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com