มาทำความเข้าใจ พรบ.คอมพิวเตอร์ กันดีกว่า

ช่วงนี้ ประเด็นเรื่อง Social Media เป็น HOT ISSUE เสียเหลือเกิน ผู้ใช้งานจึงควรทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐” (พรบ.คอมฯ) ไว้สักนิด เพื่อความสะดวกในการใช้งาน Social Media อย่างถูกต้องและสบายใจว่าไม่ได้กระทำอะไรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ตอนที่ผมค้นข้อมูลก็พอดีได้ไปเจอ คำอธิบายเกี่ยวกับ พรบ.คอมฯ เวอร์ชั่นชาวบ้าน อ่านง่ายๆ เลยขอยืมมาโมใหม่โดยแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น


ที่มา : //www.123rf.com/


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๔ ตอนที่ ๒๗ ก. ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น ๓๐ วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นไป พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดไว้ ดังนี้

มาตรา ๕ “ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น มิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม เข้าไปยุ่งกับระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่น...

Ex. การส่งสปายแวร์ (Spyware) เข้าไปขโมยข้อมูลรหัสผ่านของคนอื่น เป็นต้น

...อาจเจอคุก ๖ เดือน หรือ เจอปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ)


ที่มา : //spywareblockerspro.com/


มาตรา ๖ “ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม รู้รหัสผ่านเข้าเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่น แล้วเอาไปบอกต่อให้คนอื่นรู้...

Ex. การใช้โปรแกรม keystroke (Spyware ชนิดหนึ่ง) ส่งเข้าเว็บต่างๆ เช่น MSN, Window Live Messenger Yahoo เพื่อแอบบันทึกข้อมูลการใช้งานของผู้อื่น แล้วนำไปโพสต์ไว้ในที่ต่างๆเพื่อให้คนอื่นๆสามารถใช้รหัสผ่านของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของเขาเจ้าของได้ เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกินปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การเปิดเผยมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์)


ที่มา : //hacknmod.com/hack/two-new-methods-for-wireless-keystroke-sniffing/


มาตรา ๗ “ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม เข้าไปล้วงข้อมูลของคนอื่นในระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่น...

Ex. เอา Flash Drive ไปเสียบคอมพิวเตอร์ของคนอื่นแล้ว Save ข้อมูลที่มีชั้นความลับออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ)

มาตรา ๘ “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม ดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของคนอื่นที่เขาไม่ได้ส่งหาคุณ...

Ex. การใช้ Sniffer (โปรแกรมลักลอบดักข้อมูลที่ส่งผ่านระบบเครือข่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของคนอื่น) เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ)

มาตรา ๙ “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม เข้าไปยุ่งกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของคนอื่น...

Ex. เห็น File งานของคนอื่น นึกสนุก เข้าไปแก้ไขเนื้อหาใน File นั้นทำให้คนอื่นเสียหาย

Ex. เห็น File งานของเพื่อนร่วมงาน หมั่นไส้ ทำไมเก่งกว่าเรา ลบ File แกล้งมันเลยดีกว่า เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์)

มาตรา ๑๐ “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม ใช้โปรมแกรมไวรัสเข้าไปยุ่งกับคอมพิวเตอร์ของคนอื่น

Ex. การส่ง message, virus, trojan หรือ worm ไปรบกวนคอมพิวเตอร์ของคนอื่น

Ex. การ auto tag รับสมัครหางานใน Facebook เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์)


ที่มา : //www.trainsignaltraining.com/cisco-network-security/2008-01-31/


มาตรา ๑๑ “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท”

ใครก็ตามที่ส่ง Spam Mail (การส่งเมล์จำนวนมากๆในครั้งหนึ่งหรือทยอยส่ง) โดยปกปิดหรือปลอมแปลงที่มาไปแกล้งคนอื่นให้เขารำคาญเล่น...

Ex. ส่ง Spam Mail อาทิ ชวนเข้าคอร์สลดความอ้วน, ชวนไปทำงาน, สร้างกระแสเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น บลา บลา บลา เป็นต้น

...อาจเจอปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (การส่ง Spam Mail)


ที่มา : //anti-spam-email.com/


มาตรา ๑๒ “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลัง และไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี”


ถ้าเราทำผิดข้อตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แล้ว ถ้า...

Ex. ทำให้คนทั่วๆไปเสียหาย

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

Ex. ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติเสียหาย

...อาจเจอคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐ บาท ถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาท (เหตุฉกรรจ์ของการกระทำความผิดตาม มาตรา ๙ และ มาตรา ๑๐)

มาตรา ๑๓ “ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ใครก็ตาม สร้างแล้วเผยแพร่ซอฟต์แวร์ (Software) ให้คนอื่นเอาไปใช้ทำชั่วในข้อข้างบนๆ

Ex. สร้าง Virus ขึ้นมาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่น

Ex. สร้าง Trojan Horse ขึ้นมาเพื่อส่งไปขโมยข้อมูลของคนอื่น

Ex. สร้าง Rabbit ขึ้นแล้วส่งเพื่อให้มันไปแตกตัวในคอมของคนอื่นจนระบบรวน หรือหน่วยความจำเต็ม เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกินปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จัดจำหน่าย เผยแพร่ชุดคำสั่งที่ใช้ในการกระทำความผิด)


ที่มา : //www.cronlock.com/2010/09/new-computer-virus-a-outbreak/


มาตรา ๑๔ “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑)(๒) (๓) หรือ (๔)”


ใครก็ตาม นำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์...

Ex. การสร้าง //www.panrip.com ที่มีหน้าเว็บไซต์คล้ายกับ //www.pantip.com โดยมีวัตถุประสงค์ในการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้มาซึ่งขอข้อมูลที่สำคัญของผู้ใช้ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น

Ex. การหมิ่นประมาท (ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเรื่องนี้รวมอยู่ใน มาตรา ๑๔ (๑) แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเรื่องหมิ่นประมาท ไม่ใช่ความผิดตาม พรบ.คอมฯ ทำไมถึงคิดเช่นนั้น....เดี๋ยวจะมาวิเคราะห์ใหม่ ในบทความหน้านะครับ)

Ex. การทำเว็บไซต์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

Ex. การตัดต่อคลิปเสียงนายกรัฐมนตรี

Ex. การ Upload รูปภาพที่ยั่วยุกามารมณ์, อนาจาร เช่น รูปติดเรท X เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน 5 ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การนำเข้า/เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม)

มาตรา ๑๕ “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔”

ใครเป็นเจ้าของเว็บ หรือ ISP (Internet Service Provider) แล้วยอมให้เกิดข้อ ๑๐. ขึ้น ซวยนะครับ

Ex. กรณีเจ้าของเว็บไซต์ //www.212cafe.com ถูกจับ เมื่อตำรวจพบแบนเนอร์โฆษณาขายสื่อลามกในเว็บไซต์ แล้วลบไม่ทัน ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนโพสต์ประกาศนั้นด้วยซ้ำไป

Ex. กรณีเจ้าของเว็บไซต์ //www.prachatai.com ถูกจับ เมื่อตำรวจตรวจพบเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงในเว็บไซต์ เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน 5 ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บทลงโทษผู้ให้บริการ)

มาตรา ๑๖ “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”


ใครก็ตาม ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพของคนอื่นแล้วโพสในเว็บบอร์ด (Webboard)...

Ex. การเติมรูปคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้มีลักษณะคล้ายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

Ex. การทำคลิป Youtube ล้อเลียน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยืมเงิน คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

...อาจเจอคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือเจอปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การเผยแพร่ภาพซึ่งตัดต่อในลักษณะหมิ่นประมาท)

มาตรา ๑๗ “ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร”


ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติ กระทำความผิดที่ว่ามาข้างต้น ที่เมืองนอก ยังซวยอยู่นะ เขาไม่ได้ดูที่สัญชาติของคนทำ แต่เขาดูที่การกระทำต่างหาก อย่าคิดว่าจะรอด (การกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร)

ข้อมูลข้างต้น สามารถรับรู้รับทราบได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ใครจะมาอ้างว่าไม่รู้ ไม่ผิด ไม่ได้นะจ๊ะ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ข้ออ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ไม่ใช่ข้อแก้ตัว (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๔)



การกระทำความผิดตาม พรบ.คอมฯ คร่าวๆ ก็มีประมาณนี้ ทางที่ดี หากเราต้องมีสติ และรู้เท่าทันกฎหมาย การกระทำความผิดคงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

ด้วยความปรารถนาดีจาก.....................................

@Onizugolf Smiley


อ้างอิง
- นิรนาม. “พรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับชาวบ้าน”. สืบค้นจาก //www.yenta4.com/law/document1.php
- กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. “คู่มือการปฏิบัติและแนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์”. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT)

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ


Create Date : 22 ตุลาคม 2553
Last Update : 1 มกราคม 2554 17:32:30 น. 2 comments
Counter : 3651 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณครับ
 
 

โดย: Sahachai Saisood IP: 58.97.58.217 วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:11:52:37 น.  

 
 
 
มีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะ ม 14(1) (2)รอติดตามบทความต่อไป
 
 

โดย: ทองหยอด IP: 49.229.96.204 วันที่: 1 ธันวาคม 2558 เวลา:11:00:07 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com