บุคคลสาธารณะกับการหมิ่นประมาทผ่าน Social Media (Version ประชาชน)

เมื่อ "สื่อสังคมออนไลน์" หรือ "Social networking" ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, Youtube หรือแม้แต่ เว็บ Pantip.com ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน

เมื่อ “Social Media” หรือ "สังคมออนไลน์ ได้เริ่มขยายตัวขึ้น การแสดงความคิดเห็น หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ทำได้ง่ายขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้ยังอาจขาดความระมัดระวัง คือ เรื่องการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ดาราซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ (Public Figures)” ผ่านสื่อต่างๆ จึงเกิดคำถามว่า คนทั่วไปสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บุคคลเหล่านี้ได้หรือไม่ เพียงใดจึงจะไม่เป็นหมิ่นประมาท


ที่มา : //www.fredcavazza.net/2008/06/09/social-media-landscape/


ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทุกคนมี “สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กฎหมายให้การรับรองเอาไว้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น...”

แม้จะมีสิทธิและเสรีภาพ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะใช้ได้อย่างเสรีเสียจนไร้ขอบเขต เพราะ คนอื่น ก็มีสิทธิและเสรีภาพไม่ต่างจากคุณเลย การจะแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 35
“สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยัง สาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ...”

แม้บุคคลสาธารณะ จะเป็นจุดสนใจในสังคมและสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่จะต้องไม่ลืมว่า ในความเป็นบุคคลสาธารณะนั้น เขายังมีอีกสถานะหนึ่ง คือ “ความเป็นบุคคล” ไม่ต่างจากคนทั่วๆไป ที่ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน..."

ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จึงควรอยู่บนพื้นฐานความคิดง่ายๆ ว่า สิ่งที่คุณกำลังจะพูดหรือจะทำนั้น หากมีคนมากระทำต่อคุณในลักษณะเดียวกัน คุณรู้สึกดีมั๊ย? คุณจะเซ็งมั๊ย? คุณหงุดหงิดใจมั้๊ย? เพราะถ้าคุณรู้สึก... คำพูดหรือการกระทำนั้นๆ ย่อมละเมิดสิทธิของคุณ แล้วเหตุใด ดาราหรือบุคคลสาธารณะที่โดนกล่าวพาดพิงถึงจะไม่รู้สึก ในเมื่อเขาก็เป็น “คน” เหมือนๆกับคุณ

ขอยกคำสอนของ "ขงจื้อ" มากล่าว ซักท่อนหนึ่ง...

"What you do not want done to yourself, do not do to others." - Confucius

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและได้วางข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นการหมิ่นประมาทไว้เช่นเดียวกัน (ซึ่งในส่วนนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะการหมิ่นประมาทในทางอาญา)

ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นไว้ในมาตรา 326 (การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท) และมาตรา 328 (การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา)

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดย การโฆษณา ด้วย เอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนต์ ภาพ หรือ ตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏ ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือ สิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือ บันทึกอักษร กระทำโดย การกระจายเสียง หรือ การกระจายภาพ หรือโดย การป่าวประกาศ ด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน สองปี และปรับไม่เกิน สองแสนบาท”

ซึ่งแยกองค์ประกอบของความผิดได้ ดังนี้

(1) ผู้ใด ไม่ว่าใคร ก็สามารถเป็นผู้กระทำความผิดฐานนี้ได้

(2) ใส่ความ คือ การกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับความประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี ทุจริตในหน้าที่การงาน หรือฐานะการเงินที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

ขออนุญาตนำข่าวที่เป็น HOT ISSUE ในช่วงนี้มาเป็นตัวอย่างซักนี๊สสส...

Ex.
แอนนี่ กล่าวหาว่า ฟิล์ม เป็นพ่อของลูก...
เฮียฮ้อ กล่าวหาว่า แอนนี่ มีผู้ชาย 4 คน...

การกล่าวลักษณะนี้ ซึ่งจริงไม่จริง ไม่รู้หรอก นอกจากคนสองคน แต่ที่แน่ๆ กฎหมายอาญากำหนดไว้ชัดว่า “ยิ่งจริง ยิ่งผิด” เพราะแต่ละคำที่พูดมัน "รุ่นแรงต่อความรู้สึก" และ "สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ถูกพาดพิง" ชัวร์ๆ (ลองคิดว่า ตัวคุณเป็นผู้ถูกพาดพิงสิ...เจ็บมั๊ยล่ะ) แม้คุณเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้ดัง ไม่ได้โดดเด่นในสังคม คุณโดนด่าอย่างนี้ คุณยังเซ็ง คุณยังรู้สึกไม่ดี แล้ว ดาราซึ่ง เป็น "บุคคลสาธารณะ" ล่ะ? โดนด่าดี พูดอะไรที คนเค้ารู้กันทั่วทั้งประเทศ เสียหายกว่าเราเยอะ เราว่าความเห็นแนวนี้ สุ่มเสี่ยงที่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทนะ Smiley

ลองมาดู คำพิพากษาฎีกา ประกอบกันซะหน่อย... นี่ขนาดเป็นภรรยาตามกฎหมาย ด่าว่า เมียน้อยยังเป็นความผิดเลยนะคุณ!!!!

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2543 “คำว่า "ใส่ความ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อ เสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็น ประโยชน์แก่ประชาชนแม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับ ตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้”

หากคุณแสดงความคิดเห็นพาดพิงคนอื่น ไม่ว่าจะผ่านทาง Social Media รูปแบบใด เช่น

Ex.
การอัพคลิปเสียงของ ธัญญ่า-เป๊กลง Youtube...
การอัพคลิป อ้อม-อาร์ทต่อว่าเด็กใน Facebook...
การทวีตวิพากษ์วิจารณ์ ความสัมพันธ์ของ ฟิล์ม-แอนนี่...
การตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ ด่าหลวงพ่อปราโมทย์...

ช่องทางต่างๆ ที่ว่ามา...มันเป็นช่องทางสื่อสารออนไลน์ สังคมมันเปิด... ข้อมูลมันไปเร็วมาเร็ว... ความเสียหายมันมากนะคุณ พวกนี้มันเข้าเป็นกรณีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ที่ีโทษรุนแรงกว่าหมิ่นประมาทธรรมดาๆนะ

(3) ผู้อื่น ไม่จำเป็นที่จะต้องระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าหมายถึงใคร หรือแม้แต่การใส่ชื่ออักษรย่อ หากสื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงใครก็เป็นการเพียงพอแล้ว

Ex.
นาย A เล่าเรื่องที่ นาง B เป็นชู้กับนาย C ให้ นาง D ฟัง...
นาย ก. ตั้งกระทู้ด่าประจานว่า หลวงพ่อ ป. (ลงแค่ชื่อย่อ) เป็นคนไม่ได้ เป็นศิษย์ล้างครู บลา บลา บลา.... คนทั่วไปเข้ามาเสพย์กระทู้ ก็พอจะเดาได้ว่า หมายถึงใคร...

คำพิพากษาฎีกาที่ 1513/2551 “การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็น ผู้ใด”

(4) ต่อบุคคลที่สาม เป็นกรณีที่ใครสักคน กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้หนึ่งผู้ใดตามข้อ (3) ต่อ ผู้อื่น หรือต่อสาธารณชน เช่น ทวีตข้อความไป Followers ของท่านหรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านอื่นเห็น, Comment ไป Friends ก็เป็นความผิดแล้ว โดยไม่จำกัดจำนวนว่าจะต้องมีผู้เห็นข้อความของท่านเป็นจำนวนเท่าใด

(5) โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง สิ่งที่พูด ไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบ แค่ความหมายมันส่อไปในทางที่เสื่อม คนฟังได้ฟังแล้ว เหม็นขี้หน้า คนที่ถูกกล่าวถึงไปเลย อย่างนี้ ก็เข้าข่ายแล้วนะ

(6) เจตนา การจะเป็นความผิด จะต้องดูว่า ผู้กล่าวถ้อยคำนั้น มีเจตนาที่จะใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามหรือไม่ หากไม่มีเจตนา การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด

แม้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา จะได้กำหนดข้อยกเว้นความผิดและข้อยกเว้นโทษไว้ ตามมาตรา 329 และมาตรา 330 ก็ตาม

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329
“ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330
“ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

ข้อต่อสู้ตามมาตราทั้งสอง จะเอามาใช้ได้จริงๆ ก็เมื่อคุณโดนฟ้องร้องต่อศาลแล้วนะ ไม่ใช่คุณจะพูดแล้วมาอ้างลอยๆว่าสิ่งที่พูดมันเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย... ถ้ามันไม่เข้าข่ายเป็นความผิด มันจะมีข้อยกเว้นขึ้นมาทำไม จริงมั๊ย? เมื่อคุณพูดพาดพิงคนอื่น ถูกแจ้งความว่าหมิ่นประมาท อาจต้องเข้าไปนอนตบยุงเล่นๆในห้องขังก่อนที่จะได้มาสู้ว่า สิ่งที่คุณพูดมันเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายก็ได้นะ มันเคยมีคนโดนมาแล้ว... อย่างซวย (Case คุณ "มือกลองในตำนาน" ในเว็บพันทิป ที่โพสภาพหลุดของ "ตั๊ก บงกช คงมาลัย" จากหนัง "ไอ้ฟัก") Smiley

ข้อยกเว้นตามมาตรา 329 สิ่งแรกที่จะต้องดูคือท่านใช่สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ส่วนข้อยกเว้นตามมาตรา 330 การพิสูจน์จะไม่สามารถทำได้ ถ้าเรื่องที่กล่าวเป็น "เรื่องส่วนตัว" และ "ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน"

คำพิพากษาฎีกาที่ 172/2507 (ประชุมใหญ่) "ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในวรรคแรกของมาตรา 330 ที่บัญญัติว่า ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้น ย่อมเป็นข้อบัญญัติที่แสดงว่า ในกรณีหมิ่นประมาทนั้น กฎหมายยอมให้พิสูจน์ความจริงได้ ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่กล่าวเป็นความจริง กฎหมายก็ไม่เอาโทษ ส่วนข้อความในวรรค 2 นี้ ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้พิสูจน์ในเมื่อเป็นกรณีดังที่วรร 2 นี้ระบุไว้ ย่อมแสดงว่าข้อความในวรรคสองนี้ เป็นบทบัญญัติยกเว้นจากวรรคแรกอันแสดงว่า วรรคแรกเป็นบทบัญญัติซึ่งเป็นหลักใหญ่ ส่วนวรรค 2 เป็นบทบัญญัติอันเป็นข้อยกเว้น การห้ามมิให้พิสูจน์ความจริงตามมาตรา 330 วรรค 2 จะต้องประกอบด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว 2. การพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ฉะนั้น ถ้าไม่ต้องด้วยเหตุ 2 ประการนี้แล้ว ผู้ถูกหาว่าหมิ่นประมาทก็ย่อมต้องพิสูจน์ความจริงได้..."

Ex.
กรณี ฟิล์ม-แอนนี่, กรณีคลิปเสียงธัญญา-เป๊ก เรื่องพวกนี้ เราว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของเค้านะ คนอื่นไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเค้าเลย และอย่างที่บอกข้างต้น แม้เค้าจะเป็นดารา เป็นคนดัง เป็นที่รู้จักในสังคม หรือเป็นบุคคลสาธารณะ... ที่ใครๆก็อยากรู้เรื่องฉาวๆ อย่างนี้ทั้งนั้น แต่แค่ความอยากรู้ อยากเห็น อยากมีส่วนร่วม ไม่ได้หมายความว่า เรื่องพวกนี้ เป็น “เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน” นา... ได้ยินได้ฟังมาแล้ว มันเป็นประโยชน์ยังไง ช่วยบอกเราหน่อยครับ!!!

นี่แค่พูดถึงเฉพาะเรื่องหมิ่นประมาทเท่านั้นนะ ยังไม่ได้พูดเรื่องกฎหมายฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องเลยนะ แค่ความผิดฐานหมิ่นประมาทฐานเดียว ก็ติดคุกหัวโตได้แล้วครับ

เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาท่านหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการกระทำความผิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นโดยวิธีง่ายๆ เริ่มต้นจากการเอาใจเขามาใส่ใจเรา >> ใช้วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อท่านทำกล่าวอะไรออกมา ท่านย่อมต้องรับผิดชอบต่อข้อความนั้นๆด้วย แค่นี้ ก็ไม่มีใครมาเอาผิดกับท่านได้แล้ว

ปล. ตัวอย่างที่ยกขึ้นประกอบตามบทความนี้ หาได้มีเจตนาหมิ่นประมาทผู้ใดไม่ หากเพียงแต่ยกขึ้นมาเป็นอุทธาหรณ์ และวิเคราะห์ในมุมมองทางกฎหมายของข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและเป็นความรู้ต่อบุคคลทั่วไปเท่านั้น (หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ข้าน้อยยินดีที่จะแก้ไขครับ)

หากบทความนี้มีข้อบกพร่องประการใด ข้าน้อยขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย ขอคุณความดีนี้ จงบังเกิดแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ข้าน้อย ตลอดจนวงการนิติศาสตร์สืบไป

ด้วยความปรารถนาดี

@Onizugolf



อ้างอิง
- อศินา พรวศิน. “จริยธรรมสื่อกับการใช้ “Social Media”. //www.itpc.or.th/?p=749
- สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่ และ ทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์. "หมิ่นประมาทและดูหมิ่น". สำนักพิมพ์นิติธรรม. 2549.
- ทีมงานพันทิป. “การโพสความคิดเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท”. //www.pantip.com/watchout/

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ


Create Date : 19 ตุลาคม 2553
Last Update : 1 มกราคม 2554 17:31:49 น. 1 comments
Counter : 3466 Pageviews.  
 
 
 
 
มีกฎหมายครอบหัวอย่างนี้ ก็ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นกันน่ะซิ
 
 

โดย: galayanee@live.com IP: 223.207.186.5 วันที่: 27 ตุลาคม 2553 เวลา:20:49:20 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com