ว่าด้วย...การเล่นแชร์

ความเข้าใจที่ว่า “เอาเงินไปฝากธนาคารไว้เป็นการออมที่ดีที่สุด”

เห็นท่าจะใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน เพราะดอกเบี้ยธนาคารน้อยต่ำเตี้ยเรี่ยดินสู้อัตราเงินเฟ้อไม่ไหว
ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เลยมองหาลู่ทางในการทำเงินให้ได้เร็วที่สุด หรืออย่างน้อย ก็ให้ได้ดีกว่าเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคาร
บางคน...เลือกทำธุรกิจ ทั้งๆที่ยังวางแผนทางธุรกิจมาอย่างไม่รัดกุม สุดท้าย เจ๊ง!! ขาดทุน ม้วนเสื่อกลับบ้าน
บางคน...เลือกเล่นการพนัน รู้ว่าเสี่ยงและผิดกฎหมาย แต่มันส์ สุดท้าย ผีพนันเข้าสิง ติดหนี้บาน
บางคน... เลือกเล่นหุ้น โดยหวังรวยเร็ว เชื่อเจ้า เชื่อเพื่อน เชื่อข่าว แต่กลับไม่ศึกษาหาความรู้และเชื่อตัวเอง สุดท้าย ติดดอย
บลาๆๆๆ...

วันหนึ่ง อาอึ้มถาม “...แทนที่ลื้อจะเอาเงินไปฝากแบงค์ ทำไมลื้อไม่มาเล่นแชร์กะอั๊วล่า ดอกดีนะ”
นั่งมึนๆ แล้วนึกในใจ... “เล่นแชร์ มันคือไรวะ? แล้วมันผิดกฎหมายป่าว?”
ถ้าท่านมีข้อสงสัยเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น ก็ตามผมมาเลย!!

ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ให้ความหมายของการเล่นแชร์ไว้ว่าคือ

“การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวงด้วย”

เข้าใจภาษาบ้านๆ คือ การที่แต่ละคนเอาเงินมาลงกองกลาง แล้วให้คนที่ต้องการใช้เงินมาประมูล (ภาษาวงแชร์ เรียกว่า “เปีย”) แข่งกัน ใครจ่ายดอกสูงสุด คนนั้นเอาไปใช้ คนอื่นๆ นั่งเก็บดอก รอเปียรอบต่อไป
อัตราความเสี่ยง ไม่หนักหน่วงเท่ากับการเล่นหุ้น ไม่ผิดกฎหมายเหมือนเล่นการพนัน แถมได้ดอกดีกว่าฝากแบงค์เสียด้วยซ้ำ...

...จะเรียกได้ว่าเป็นการออมที่ดีวิธีการหนึ่งก็ว่าได้ เพราะคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายและมากขึ้นกว่าทำมาหากินตามปกติ โดยที่คนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่าฝากเงินไว้ในสถาบันการเงิน

การเล่นแชร์ จึงมักจะเล่นกันในหมู่คนที่สนิทสนมใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกัน เพราะเข้าใจว่า “คนใกล้ตัวไม่โกงกันหรอก” (ทั้งๆที่ในความเป็นจริง คดีที่ขึ้นโรงขึ้นศาลกันทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ตัว หรือคนที่รู้จักกันแทบทั้งนั้น)

แล้วการเล่นแชร์... ผิดกฎหมายหรือไม่?

หลายๆคนมักเข้าใจว่าการเล่นแชร์นั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการเล่นแชร์ของประชาชนทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุม กำกับดูแล เกี่ยวกับการเล่นแชร์ ไว้ คือ

“พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ .2534” มีสาระสำคัญ ตามนี้

“มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
การเล่นแชร์ หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย”

“มาตรา 5 ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์”

“มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลาง ในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย”

“มาตรา 7 บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์”

“มาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์”

“มาตรา 16 นิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์”

“มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท”

รายละเอียดฉบับเต็ม คลิ๊กที่นี่ >>>
//www.ctbc.coj.go.th/module_view.php…

ทั้งนี้ มีการประกาศกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
กำหนดทุนกองกลางตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ไว้ว่า

“ให้กำหนดทุนกองกลางที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัด
ให้มีการเล่นแชร์ต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท”

รายละเอียด กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว คลิ๊ก >>//law.longdo.com/law/165/sub11829

สรุปง่ายๆ ว่า

กรณีบุคคลธรรมดา (ประชาชนทั่วไป)
- ห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปเป็นนายวงแชร์ (ท้าวแชร์) รวมกันมากกว่า 3 วง (มาตรา 6 (1))
- จำนวนสมาชิกรวมในทุกวงห้ามเกิน 30 คน (มาตรา 6 (2))
- ห้ามมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเกินกว่า 300,000 บาท (มาตรา 6 (3) และ กฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534)
- ห้ามจัดให้มีการเล่นแชร์ที่ท้าวแชร์ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดโดยไม่เสียดอกเบี้ย (มาตรา 6 (4))
ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)

กรณีนิติบุคคล
ห้ามมิให้เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 5) ฝ่าฝืนปรับปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าถึงสามเท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท + หยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มีการเล่นแชร์ (มาตรา 16)

แล้วถ้าท้าวแชร์หนีหรือโกงแชร์ล่ะ ทำไง?

แยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี

- ถ้ามีเจตนาทำวงแชร์จริง แต่ด้วยสาเหตุใดหรือมีความจำเป็นใดๆ ก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถบริหารเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเล่นแชร์ = ผิดสัญญาทางแพ่ง ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายได้
สมาชิกวงแชร์หรือลูกแชร์สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันในทางแพ่ง โดยนำพยานบุคคลมาสืบได้

***การเล่นแชร์ ไม่ใช่ การกู้ยืมเงิน ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถฟ้องร้องได้

- ถ้ามีเจตนาจะไม่ทำวงแชร์มาตั้งแต่ต้นว่าแต่อ้างว่าจะทำวงแชร์ = ฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

แล้วถ้า สมาชิกวงแชร์ (ลูกแชร์) เปียแล้วชิ่งจะทำอย่างไร?
ถ้าลูกแชร์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนหนีวงแชร์ วงแชร์ไม่ล่ม ต้องดำเนินการต่อไป แต่ท้าวแชร์จะต้องรับผิดชอบโดยการสำรองจ่ายแทนไปก่อน แล้วท้าวแชร์ก็ไปใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีกันในทางแพ่ง เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับลูกแชร์ที่หนีวงแชร์

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหานี้ไม่ได้ (แต่ข้อหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ พรบ. การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 พิจารณาตาม ปวิอ. ตามปกติ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2541
การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 และมาตรา 7 ได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะบุคคลธรรมดาที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคลแล้วกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด และตามบัญญัติมาตรา 7 หาได้จำกัดให้สมาชิกวงแชร์ฟ้องได้เฉพาะคดีแพ่งไม่ เมื่อ พ.ร.บ.การเล่นแชร์มีบทบัญญัติความผิดและกำหนดโทษไว้เป็นความผิดทางอาญาด้วย สมาชิกวงแชร์ย่อมมีสิทธิฟ้องบุคคลธรรมดาที่เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการตามมาตรา 6 เป็นคดีอาญาได้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมเล่นแชร์ที่จำเลยที่ 1 จัดขึ้นย่อมถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 5 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 16 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลธรรมดา กรณีต้องด้วยมาตรา 6 และ 7 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามมาตรา 6ซึ่งมีโทษตามมาตรา 17 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544
เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก
ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงเท่านั้นมิได้บัญญัติว่าจะต้องจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มากกว่าสามวงดังกล่าวขึ้นมาพร้อม ๆ กันในวันเดียวกัน จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสาม วงจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 4,6,17 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ เป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมคงเป็นผู้เสียหายและเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้เฉพาะข้อหาตามประ มวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์

การเล่นแชร์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2552
ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทาง แพ่งเอาแก่สมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 เท่านั้น เพราะมาตรา 7 บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นาย วงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ แสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกมีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยนั้นแสดงว่า โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยและพวกจึงไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแชร์ที่ติดค้างให้โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

วงแชร์ล่ม ท้าวแชร์รับผิดชอบคืนเงินให้แก่ลูกแชร์คนอื่นๆ (ใช้หลักกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ปพพ. มาตรา 391 แล้วค่อยไปไล่เบี้ยเอาต่อ แต่ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544
เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5265/2549
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนต้องชำระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้้ เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้แล้วจะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประมูล โดยนายวงแชร์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าวจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับเงินคืนไม่ครบ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่หลุดพ้นจากความรับผิดไปตามที่อ้างมาในอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 7 ดังกล่าว มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในการคำนวณ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ห้ามนายวงแชร์ตั้งแชร์เกินสามแสนบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2543
“คดีนี้แม้นายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้นที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายสมาชิกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้อง เอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ส่วนสมาชิกผู้เข้าเล่นแชร์ด้วยกันตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 หาได้บทบัญญัติห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใดไม่ ทั้งการเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง อันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่นที่จะชำระเงินให้แก่ประมูลแชร์ได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อสามีจำเลย ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้ก่อนแล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องชำระเงินคืน โดยสามีจำเลยนำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบไว้แก่นายวงแชร์เพื่อส่งมอบให้แก่ลูกวงแชร์ที่จะประมูลแชร์ได้ในงวดต่อ ๆ ไป เช็คดังกล่าวของจำเลยจึงมีมูลหนี้ตามสัญญาเล่นแชร์ดังกล่าวอันบังคับได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจากนายวงแชร์และเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ การชำระหนี้ค่าแชร์ตามฟ้องหาเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตามฎีกาของจำเลยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"

นิติบุคลเป็นสมาชิกวงแชร์ได้ (แต่เป็นนายวงแชร์ไม่ได้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่797/2546
รายชื่อสมาชิกวงแชร์ ระบุชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นนายวงแชร์ แต่ในการชำระค่าแชร์ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังโดยมิได้ปรากฏข้อความว่ากระทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นการเล่นแชร์ในฐานะส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มิใช่ในฐานะนิติบุคคลไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 5 แม้ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ฯ มาตรา 6บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่าง หนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (4) ของมาตราดังกล่าวก็ตาม แต่มาตรา 7ก็ได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวง แชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ได้การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น บังคับกันได้ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลแชร์ได้รับเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและมีจำเลยที่ 2 นายวงแชร์เป็นผู้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ

การลงทุนทุกประเภท (รวมถึงการเล่นแชร์) มีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง

ด้วยรักและปรารถนาดี อิอิ




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:36:00 น. 0 comments
Counter : 3922 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com