ค้ำประกัน จำนอง ที่เปลี่ยนไป!!

กฎหมายว่าด้วย "ค้ำประกัน" และ "จำนอง" ที่มีการแก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กพ.2558 เป็นต้นไป) นั้น

เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า ต้องการที่จะแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนองให้ทันสมัยและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น โดยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองที่มีข้อตกลง ยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายและเอาเปรียบผู้ค้ำประกันและผู้จำนองจนเกินสมควร

เพราะตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการกู้ยืมเงินจากผู้อื่น โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ผู้ที่มักจะถูกรบกวนให้เอาตัวเข้ามาค้ำประกันหนี้ หรือเอาทรัพย์สินมาจดจำนองเพื่อเป็นการรับประกันการชำระหนี้กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นบุคคลใกล้ตัวหรือผู้ที่ความสนิทสนมใกล้ชิดกับลูกหนี้ อาทิ ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้อง เป็นต้น

ซึ่งบุคคลดังกล่าว มักไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการใช้เงินที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมมาสักเท่าใดนัก

ในส่วนของค้ำประกัน ตามกฎหมายเดิม บัญญัติให้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเสมือน "ลูกหนี้ร่วม" กับลูกหนี้ชั้นต้น ที่เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้กับใครก่อนก็ได้ ส่งผลให้ผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย และถูกฟ้องล้มละลายกันระนาวกราวรูด ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของจำนอง ก็คล้ายๆกับค้ำประกันเพราะกฎหมายให้นำหลักการของการค้ำประกันมาใช้บังคับกับการจำนองด้วยโดยอนุโลม เช่น การตกลงผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ ผู้ค้ำประกันจะตกลงกับการผ่อนเวลาด้วยแต่ข้อตกลงดังกล่าวห้ามทำไว้ล่วงหน้า มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมา เจ้าหนี้โดยเฉพาะอย่างย่ิง คือ สถาบันการเงินต่างๆ หรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืมมักจะอาศัยความได้เปรียบในทางการเงินและตามกฎหมายกำหนดข้อตกลงอันเป็นการยกเว้นสิทธิของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือให้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น ทำให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

สามารถสรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20 ) พ.ศ.2557 เรียงมาตราที่แก้ไขได้ดังนี้

ในส่วนของค้ำประกัน..

“มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จํานวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว ตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้

สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิด เฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทําด้วยความสําคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ ความสามารถน้ันก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสําคัญผิด หรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทําสัญญาผูกพันตน"

หมายความว่า ตามกฎหมายใหม่ สัญญาค้ำประกันจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่าค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าใด และผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบเฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ชัดเจนเท่านั้น มิฉะนั้น ไม่สามารถบังคับกับผู้ค้ำประกันได้เลย

"มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กําหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ"

หมายความว่า สัญญาค้ำประกันถ้ามีข้อตกลงกำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้น ข้อตกลงในส่วนนั้นจะตกเป็นโมฆะ (หมายความว่า ข้อตกลงนั้นใช้บังคับกันไม่ได้) คือ ไม่ต้องตกเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้น ดังที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายเดิมอีกต่อไป

“มาตรา 685/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ"

หมายความว่า ห้ามขยายขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน (ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699) มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

“มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนที่ หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชําระหนี้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ

ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น จากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชําระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชําระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชําระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชําระหน้ีที่ลูกหน้ีมีอยู่กับ เจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชําระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นําความในมาตรา 701 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในระหว่างท่ีผู้ค้ำประกันชําระหน้ีตามเงื่อนไขและวิธีการในการชําระหน้ีของลูกหน้ีตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้

การชําระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693”

หมายความว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากผู้ค้ำประกันตามกฎหมายใหม่ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ให้ชัดเจนถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้ว อาจมีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดได้

“มาตรา 691 ในกรณีที่เจ้าหนี้กระทําการใด ๆ อันมีผลเป็นการลดจํานวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ถ้าลูกหน้ีได้ชําระหนี้ ตามท่ีได้ลดแล้วก็ดี ลูกหน้ีชําระหนี้ตามที่ได้ลดดังกล่าวไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชําระหนี้ส่วนท่ีเหลือ นั้นแล้วก็ดี ลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ตามที่ได้ลดดังกล่าวแต่ผู้ค้ำประกันได้ชําระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะล่วงเลยกําหนดเวลาชําระหน้ีตามท่ีได้ลดดังกล่าวแล้วหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจาก การค้ำประกัน

ข้อตกลงใดที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้น เป็นโมฆะ”

หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นเท่าใด ก็ให้ภาระความรับผิดของผู้ค้ำประกันลดลงเท่านั้น ข้อตกลงใดที่จะมีผลเป็นอย่างอื่นในลักษณะเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน ให้ตกเป็นโมฆะ

"มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชําระ ณ เวลามีกําหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น

ข้อตกลงท่ีผู้ค้ำประกันทําไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหน้ีผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้”

หมายความว่า หากมีการตกลงกันไว้เป็นการล่วงหน้าว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในการผ่อนเวลานั้นๆด้วย เช่นนี้ กฎหมายใหม่ให้ถือว่าตกเป็นโมฆะ

ในส่วนของจำนอง

“มาตรา 714/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจํานองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 มาตรา 729 และมาตรา 735 เป็นโมฆะ”

หมายความว่า ถ้าไปตกลงให้แตกต่างกับ ม.728 ,729, 735 อันนี้เป็นโมฆะ (ดูรายละเอียดถัดไป)

“มาตรา 727 ให้นําบทบัญญัติมาตรา 691 มาตรา 697 มาตรา 700 และมาตรา 701 มาใช้บังคับกับกรณีท่ีบุคคลจํานองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระด้วยโดยอนุโลม”

หมายความว่า แก้ไขกฎหมายจำนองโดยให้ล้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่ตาม ม.691 ,697 ,700 ,701 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

“มาตรา 727/1 ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์จํานองหลุด

ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จํานองรับผิดเกินท่ีบัญญัติไว้ในวรรคหน่ึง หรือให้ผู้จํานองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจํานองหรือทําเป็นข้อตกลงต่างหาก”

หมายความว่า ข้อตกลงใดๆ ให้ผู้จำนองรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่จำนองหรือรับผิดเสมือนผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเขียนรวมมาในสัญญาหรือเขียนแยกสัญญา เป็นโมฆะทั้งส้ิน เข้าใจง่ายๆ คือ หากเราเอาทรัพย์มาค้ำประกันโดยการจำนองแก่เจ้าหนี้เพื่อค้ำประกันบุคคลอื่น ถ้ามีการบังคับจำนองหรือเอาจำนองหลุด เงินยังขาดเท่าใด เราไม่ต้องรับผิดเลย

"มาตรา 728 เมื่อจะบังคับจํานองนั้น ผู้รับจํานองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษา สั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจํานองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่น ต้องชําระ ผู้รับจํานองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จํานองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจํานองมิได้ดําเนินการภายในกําหนดเวลาสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จํานอง เช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระ ติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว”

หมายความว่า เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องส่งหนังสือบังคับจำนองไม่น้อยกว่า 60 วัน ให้ชำระหนี้ จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ ส่วนกรณีที่มีผู้อื่นมาจำนองให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ต้องแจ้งไปยังผู้จำนองด้วยภายใน 15 วัน นับจากส่งหนังสือให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าเจ้าหนี้ไม่แจ้ง หรือเกินกำหนดแล้ว ผู้จำนองหลุดพ้นดอกเบี้ย ค่าสินไหมต่างๆ นับจากว้นที่พ้นจากระยะเวลา 15 วัน คือถ้าให้เข้าใจง่ายๆคือ ไม่แจ้งหรือแจ้งเกินกำหนด หลังจากพ้น 15 วันนับจากลูกหนี้ได้หนังสือตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ค่าอื่นๆอีกเลย

“มาตรา 729 ในการบังคับจํานองตามมาตรา 728 ถ้าไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่น อันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จํานองหลุด ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้
(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ
(2) ผู้รับจํานองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจํานวนเงินอันค้างชําระ”

หมายความว่า ถ้าจะฟ้องเอาจำนองหลุดต้องได้ความว่าลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ย 5 ปี และ ราคาทรัพย์สินที่จำนองนั้นมีราคาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

“มาตรา 729/1 เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกําหนดชําระ ถ้าไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จํานองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจํานองเพื่อให้ผู้รับจํานองดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จํานองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ ในวรรคหนึ่งให้ผู้จํานองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว

เมื่อผู้รับจํานองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองได้เงินสุทธิจํานวนเท่าใด ผู้รับจํานองต้องจัดสรร ชําระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 733 และในกรณีที่ผู้จํานอง เป็นบุคคลซึ่งจํานองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ผู้จํานองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่ มาตรา 727/1 กําหนดไว้”

หมายความว่ากฎหมายให้สิทธิผู้จำนองมีหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้เอาทรัพย์ของตนเองที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล โดยที่ผู้รับจำนองเมื่อได้รับหนังสือแล้ว ต้องดำเนินการขายทอดตลาดภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้น ผู้จำนองหลุดพ้นในเรื่องดอกเบี้ย ค่าสินไหม และค่าอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลัง 1 ปีไปแล้ว

ส่วนกรณีที่ผู้จำนองไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เอาทรัพย์มาจำนองค้ำประกันบุคคลอื่น ตาม ม.727/1 ก็จะไปเรียกเก็บในส่วนที่ยังขาดกับผู้จำนองไม่ได้เลย

“มาตรา 735 เมื่อผู้รับจํานองคนใดจะบังคับจํานองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจํานอง ผู้รับจํานองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน จึงจะบังคับจํานองได้”

หมายความว่า การบังคับจำนองกับผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง จะต้องบอกล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 60 วันด้วย

“มาตรา 737 ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจํานองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจํานองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจํานอง ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจํานองภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคําบอกกล่าว"

หมายความว่า ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ผู้รับโอนต้องไถ่ภายใน 60 วัน

“มาตรา 744 อันจํานองย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจํานองให้แก่ผู้จํานองด้วยหนังสือเป็นสําคัญ
(3) เมื่อผู้จํานองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจํานอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจํานองตามคําสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจํานองหรือถอนจํานอง หรือเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 729/1
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองนั้นหลุด”

หมายความว่า จำนองจะระงับด้วยเหตุใดบ้าง เป็นไปตามนี้

ทั้งนี้ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พรบ.นี้ใช้บังคับสามารถใช้บังคับได้ต่อไป ส่วนสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำขึ้นหลังจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป ใช้หลักเกณฑ์ที่ได้มีการประกาศใหม่นี้

ดูฉบับเต็มในรายละเอียด จิ้มนี่เลย >>https://www.dlo.co.th/files/Gurantee_Morgage.PDF

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทราบมาว่ามีการพิจารณาร่างกฎหมายในเรื่องนี้และน่าจะมีการประกาศใช้ในเร็ววัน ต้องคอยติดตามต่อไปว่าหลักกฎหมายเรื่องค้ำประกันจะลงเอยอย่างไร

อย่าเพิ่งรีบซื้อประมวลฯนะ ช่วงนี้แก้กฎหมายเพียบ!!




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:35:14 น. 0 comments
Counter : 1326 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com