เล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

เห็นช่วงนี้ กระทรวงวัฒนธรรมสั่งแบนหนัง "Insects In The Backyard" ที่มีฉากร่วมเพศกันระหว่างชายกับชาย, มีการค้าประเวณีของเยาวชนในชุดเครื่องแบบนักเรียนและมีฉากตัวละครฝันว่าฆ่าบิดาของตัวเอง และตัวอย่างหนัง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" ซึ่งมีฉากเด็กน้อยจูบปากกันในเครื่องแบบนักเรียน

มาตรการในการจัดการกับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เขียนเกิดความสนใจขึ้นมาว่า จริงๆแล้วมันเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะต้อง "แบน" หนังหรือตัวอย่างหนัง? ไม่มีการจัด "เรตหนัง" กันหรืออย่างไร? หรือว่ามีแต่คิดจะแบนก็แบน? ก็เลยลองค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ได้ข้อมูลเบื้องต้นที่อาจจะมีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับกฎหมายดังนี้ครับ



ในต่างประเทศ ก็มีการจัดเรตหนังแตกต่างกันไปตามแต่สภาพสังคมในประเทศนั้นๆ แต่โดยสากล ที่เขาใช้กันอยู่ทั่วไป ก็คงเป็น "เรตหนังของ The Motion Picture Association of America หรือ MPAA" ซึ่งเป็นเรตหนังที่เห็นได้ทั่วไปตามหนังที่เข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่ง จัดเรตไว้ ประมาณ 5 ประเภท ดังนี้

เรต G (General Audiences) - All Ages Admitted ซึ่งเป็นเรตหนังที่เหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ดูได้ตั้งแต่เด็กแบเบาะยังไม่หย่านมแม่จนกระทั่งถึงผู้เฒ่าผู้แก่อายุเกือบร้อยปี

เรต PG (Parental Guidance Suggested) - Some Material May Not Be Suitable For Children ซึ่งเป็นเรตหนังที่เหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัยเช่นกัน แต่อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เช่น อาจมีคำพูดหรือการกระทำที่ออกจะไม่สุภาพ ไม่สมควร เป็นต้น

เรต PG-13 (Parents Strongly Cautioned) - Some Material May Be Inappropriate For Children Under 13 ซึ่งเป็นเรตหนังที่มีเนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ความรุนแรงอยู่ในระดับกลางๆ เช่น อาจมีฉากโป๊เปลือย, ยาเสพติด, การต่อสู้, คำหยาบ สมควรที่ผู้ปกครองจะดูร่วมกับกับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และให้คำชี้แนะ

เรต R (Restricted) - Under 17 Requires Accompanying Parent Or Adult Guardian ซึ่งเป็นเรตหนังที่รู้จักกันทั่วไปว่า "หนังเรท R" ส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และอาจมีฉากที่ไม่เหมาะสมหรือมีความรุนแรงในระดับที่สูงกว่า เรท PG-13 หนังที่ได้รับเรต R นั้นส่วนใหญ่จะห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมโดยลำพังยกเว้นจะมีผู้ปกครองมาด้วย

เรต NC-17 (No One 17 And Under Admitted) - No One 17 And Under Permitted ซึ่งเป็นเรตหนังที่จะเรียกว่า "ฮาร์ดคอร์" ที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นหนังปลุกใจเสือป่่าซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ หรือมีเนื้อหาที่รุนแรงค่อนข้างจะมาก หรือกระทบต่อความเชื่อ เช่น ศีลธรรม ศาสนา เป็นต้น ซึ่งห้ามมิให้ผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมอย่างเด็ดขาด

แล้วของประเทศไทยล่ะ มีกฎหมายใดที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้บ้างมั๊ย?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
มาตรา ๔๕ "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง
การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือ พิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชนรัฐจะกระทำมิได้"


การทำภาพยนตร์ เป็น การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็ในรูปแบบของ “การสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” ตามี่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองให้สามารถที่จะกระทำได้

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะสร้างภาพยนตร์อย่างไรก็ได้ตามใจฉัน แต่จะสร้างได้โดยมีโดยมีข้อยกเว้น กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะจำกัดเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวได้ “เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน” เท่านั้น

นอกจากนี้ การที่จะจำกัดสิทธิในการสร้างภาพยนตร์ มันจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่ง กฎหมายฉบับที่ว่านั้น คือ "พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551" ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2551

กฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญหลักๆ ดังนี้

"พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551"

มาตรา 4 "ในพระราชบัญญัตินี้
“ภาพยนตร์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์
“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อ เนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง..."


มาตรา 4 คือ บทบัญญัติที่กำหนดว่า สิ่งใดเป็น "ภาพยนตร์" สิ่งใดเป็น "วีดิทัศน์"

มาตรา 18 "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) อนุญาตการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร
(2) ตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(3) อนุญาตการนำวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(4) อนุญาตการนำสื่อโฆษณาออกโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ในราชอาณาจักร
(5) อนุญาตการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ออกไปนอกราชอาณาจักร
(6) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณา ภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย"


มาตรา 25 "ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
"

จากมาตรา 18 และมาตรา 25 นั้น คือ บทบัญญัติที่กำหนดอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในมาตรานี้ ได้กำหนดหน้ที่หนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ประการหนึ่ง คือ มีอำนาจในการตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็น ผู้ตัดสินชะตาชีวิตของหนังว่าเรื่องได้จะอยู่ เรื่องใดจะไป นั่นเอง

ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์นั้น กฎหมายได้มีการกำหนดจัดประเภทภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การจัดเรตติ้ง" ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 26 ดังนี้

มาตรา 26 "ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 26 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัด อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้
(1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
(2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
(3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
(4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
(5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
(6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
(7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"




ตามมาตรา 26 แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยนั้น ก็มีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ เช่นดียวกับในต่างประเทศ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กน้อย

สำหรับกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 26 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าภาพยนตร์เรื่องใดควรจัดให้อยู่ในเรตติ้งใดนั้น ตามนี้ครับ

กฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552



ข้อ 1 "ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาส่งเสริมการศึกษา จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของชาติ
(2) เนื้อหาส่งเสริมความรู้หรือความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ครอบครัว หรือคุณภาพชีวิตหรือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม
(3) เนื้อหาส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ หรือจิตสำนึกเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือประวัติศาสตร์ของชาติ"




ข้อ 2 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่ให้ความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนหรือให้ความบันเทิงเป็นการทั่วไป
(2) ไม่มีลักษณะของภาพยนตร์ตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5"




ข้อ 3 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่น่ากลัวสยองขวัญ หรือแสดงการกระทำที่รุนแรง ทารุณโหดร้าย หรือขาดมนุษยธรรม
(2) เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมหรือใช้อาวุธซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(4) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(5) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ
(6) ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมในลักษณะของคำหยาบคายหรือลามก"




ข้อ 4 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่สยองขวัญ หรือแสดงการกระทำที่รุนแรง ทารุณโหดร้าย หรือขาดมนุษยธรรม
(2) เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมหรือใช้อาวุธซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(4) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(5) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ"




ข้อ 5 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ
(2) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง และอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติดซึ่งอาจชักจูงใจให้ผู้ชมเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ"




ข้อ 6 "ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศหรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือผู้อื่น
(2) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(4) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ"




ข้อ 7 "ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
(3) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
(4) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
(5) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
(6) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ"

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เห็นควรว่าภาพยนตร์เรื่องใด ไม่เหมาะสมอย่างกับสภาพสังคมไทยอย่างมาก ก็มีอำนาจตามมาตรา 29 ดังนี้

มาตรา 29 "ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือจะไม่อนุญาตก็ได้"

กรณีที่ภาพยนตร์เรื่องใดถูก "แบน" แล้ว ใครก็ตามที่นำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ ไม่ว่าจะฉายในโรงภาพยนตร์ ส่งต่อ โพสในเว็บ ฯลฯ มีความเสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมายนะครับ

แต่ถ้าไม่พอใจคำสั่งของคณะกรรมการฯ ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้นะ

มาตรา 66 "คำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 20 มาตรา 25 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 47 มาตรา 49 หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๒ คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตหรือคำสั่งห้ามสร้างภาพยนตร์ต ามมาตรา ๖๓ ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ แล้วเสร็จภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายใ นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด"

เมื่อคณะกรรรมการฯทบทวนคำสั่งที่อุทธรณ์แล้ว มีคำสั่งอย่างไร ให้ถือเป็นที่สุด ถ้าไม่พอใจ ไปฟ้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งเอาเองภายใน 90 วัน

มาตรา 77 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา 26(7) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

โห... โทษเยอะขนาดนี้ งั้นไม่เอาภาพยนตร์ไปให้คณะกรรมการฯ จัดเรตติ้งได้มัย จะได้เอาออกเผยแพร่ได้.... ไม่ได้นะครับ มีโทษเหมือนกัน

มาตรา 78 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคสอง มาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท"

รายละเอียดเพิ่มเติม พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โหลดได้จากที่นี่นะครับ
//www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/042/116.PDF

เมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว ลองมาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่า



ตามจดหมายตอบจากกระทรวงวัฒตธรรมกรณีแบน "Insects in The Backyard" มีการกล่าวว่า ภาพยนตร์เรืองนี้ มีฉากที่...

1. “เนื้อหาโดยรวมเป็นการถ่ายทอดลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง”
2. "มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนอยู่หลายตอน”
3. “มีการเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน”
4. “มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การที่ให้เด็กหญิงและเด็กชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณี แทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น”
5. “มีการนำเสนอการฆ่าพ่อซึ่งแม้จะเป็นความฝันแต่ก็ไม่สมควรจะมีฉากเหล่านี้”
6. “มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน มีการสอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีการเล้าโลม . . . อาจทำให้สังคมและผู้ชมแม้จะมีอายุเกิน ๒๐ ปีก็ตาม เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบ”


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงถูก "แบน" ด้วยเหตุผลที่ว่า "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี"

ส่วนภาพยนตร์เรื่อง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" ที่ถูกแบนทีเซอร์ มีสาเหตุมาจาก...

"มีการฉายให้เห็นภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของนักแสดงซึ่งเป็นวัยรุ่น ทำท่าเหมือนจะจูบกันแบบปากชนปาก" ซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

จึงเกิดคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการภาพยนตร์ว่า การแบน เหล่านี้ ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่?

แล้วไอ้คำกว้างๆที่ว่า "ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน" นี่ล่ะ มันแปลว่าอะไร?

ความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order) หมายถึง ภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน และในการดำเนินชีวิตโดยปรกติสุข

ศีลธรรมอันดีของประชาชน (Public Morals) หมายถึง มาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมซึ่งนิยมกันอยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะโดยความนับถือเช่นจารีตประเพณีทั่วๆไป เรียกว่าเป็น "แรงกดดันจากสังคม" (Social Pressure) หรือโดยการบังคับใช้ผ่านกฎหมายหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เรียก "แรงกดดันจากบ้านเมือง" (Legal Pressure) ทั้งนี้ เพื่อเป็นปทัสถานหรือแนวที่สมาชิกในสังคมพึงปฏิบัติต่อสังคมนั้นๆ

ในแง่มุมเชิงกฎหมายนั้น คำว่า "ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน" นั้น เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย "กว้างมากกกกกกกกกกกกก" ) และเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่สามารถที่จะระบุไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมได้ในตัวบทกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ โดยปรกติ เป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้ตีความเป็นรายกรณีๆไป อย่างไรก็ดี ตาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าให้ "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และ วีดิทัศน์" เป็นผู้ชี้ขาดได้ และในกรณีที่ไม่เห็นชอบกับคำสั่งของคณะกรรมการฯ ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้

ข้อสังเกตในเบื้องต้น จากข้อกฎหมาย ก็พบว่า ไอ้ถ้อยคำที่ว่า "เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ" นั้น จริงๆ มัน ปรากฎอยู่ใน ลักษณะที่เข้าข่ายเรตหนัง ฉ.13+, ฉ.18+, ฉ.20+ ได้ทั้งนั้นเลยนะ อย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการฯ น่ะสิ

เมื่อเรื่องเหล่านี้ อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการฯ สิ่งที่น่าจะเหมาะสมที่สุดก็ คือ ไม่ใช่ว่า สิ่งที่เราเห็น แล้วเราไม่ชอบนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย แต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพสังคมในปัจจุบันด้วยว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร จะเอามาตรฐานที่ใช้บังคับในสมัยก่อน มาตัดสินข้อเท็จจริงในปัจจุบัน มันก็อาจไม่ค่อยเหมาะสมก็ได้

ในกรณีที่จะต้องตัดสินว่าจะ "แบน" ภาพยนตร์เรื่องใด สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น ก็คงจะต้องเป็นเรื่อง "การใช้ดุลพินิจในการตัดสินโดยอยู่บนมาตรฐานเดียวกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ" ซึ่งโดยส่วนตัว ผมก็ยอมรับนะว่า ภาพยนตร์เรื่อง "Insects In The Backyard" นั้น มีหลายฉากที่สุ่มเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับฉากจูบกันในภาพยนตร์เรื่อง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" นั้น ยังไม่น่าจะถึงขนาดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนะ เพราะสังคมปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า วัยรุ่นไทย ไม่เคยมีหรือรับไม่ได้กับพฤติกรรมในลักษณะนี้ (อย่าบอกนะว่า ไม่เคยเห็นเด็กเค้าจูบกัน...แล้วที่มันท้องกันตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้วไปทำแท้งนี่มันอะไร)

ทำความเข้าใจแะยอมรับกันซักนิดเถอะครับ ว่าสังคมเราในปัจจุัน มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมและได้รับกระแสจากต่างประเทศมาเยอะมากๆ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายมันก็เปลี่ยนตามแล้ว เราก็ควรจะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ก้าวตามสิ่งต่างๆให้ทันด้วยนะครับ

นอกจากนี้ ในการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความเห็นของคณะกรรมการฯ นั้น เป็นธรรมหรือไม่ และสอดคล้องกับสภาพสังคมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันแล้วหรือไม่

ทางที่ดี ถ้าจะสั่งแบนภาพยนตร์เรื่องใด ถ้าความเห็นที่ออกมานั้นมีเหตุผลรองรับ มันน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ คนเขาจะได้ไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสและมีอคตินะครับ

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ภาพยนตร์เรื่อง "Insects in The Backyard" ถูกแบนนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น "สื่อลามกอนาจาร" ความผิดฐานนี้ ต้องไปดู ฐานความผิดใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ดังนี้ครับ

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 287 "ผู้ใด
(1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้าเพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อ การแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออก หรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆซึ่งเอกสารภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียงแถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก
(2) ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของ ลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจกหรือแสดงอวดแก่ประชาชนหรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น
(3) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือ โฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุหรือสิ่งของลากดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

โดยปรกติ กรณีที่จะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญานั้น ผู้กระทำจะต้องมี "เจตนา" ซึ่งในส่วนนี้ เข้าใจว่าทางผู้กำกับ ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา คงไม่ได้เอามาใช่ในลักษณะที่จะสื่อถึงแต่เรื่องลามก แต่กลับมุ่งประสงค์ที่จะตีแผ่ถึงสภาพสังคมในอีกมุมมองหนึ่งที่อาจจะไม่มีใครรู้ ซึ่งส่วนตัว คิดว่าคงยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดตามกฎหมายข้อนี้

เอาเป็นว่า ถ้าหนังเรื่องไหนมันถึงขนาดที่มีเนื้อหา ฆ่าพ่อ ล่อแม่ หมิ่นสถาบัน หรือการกระทำอื่นใดในลักษณะเดียวกันนี้ ส่วนตัว ผมก็เห็นด้วยนะถ้าหนังประเภทนั้นจะถูกแบน แต่ถ้าหนังมันไม่ได้โหดขนาดนั้น การจัดเรตติ้งหนังให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องถึงขนาดแบนกันก็ได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ผู้หญิงตั้ังครรภ์ ท้องแก่จะคลอดแล้ว ดันมาแท้งในตอนสุดท้าย มันน่าเศร้าใจนะครับ สำหรับหัวอกของคนทำภาพยนตร์

หรือคุณเห็นว่ายังไงครับ?

หากบทความนี้มีข้อบกพร่องประการใด ข้าน้อยขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย ขอคุณความดีนี้ จงบังเกิดแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ข้าน้อย ตลอดจนวงการนิติศาสตร์สืบไป

@Onizugolf Smiley

อ้างอิง
- กก.วัฒนธรรมฯลงดาบแบนทีเซอร์ "เลิฟเลิฟ จุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก" อ้างมีฉาก "จูบ" ในชุด น.ร., //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1294800567&grpid=00&catid&subcatid
- เรตของภาพยนตร์, //th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C
- 'เรทหนัง" คืออะไร แล้วเค้าแบ่งกันยังไง, //www.bloggang.com/viewblog.php?id=xymm&date=14-02-2005&group=4&blog=1
- เสรีภาพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี: สำรวจข้อกฎหมายในกรณีไม่อนุญาตให้ฉาย INSECTS IN THE BACKYARD, //onopen.com/node/5689
- "Insects In the Backyard" กับคำสั่ง "ห้ามฉาย"!!, //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1289987097&grpid=01&catid=08

ขอขอบคุณ ลูกพี่ @JEDIYUTH ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบครับ

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ


Create Date : 12 มกราคม 2554
Last Update : 13 มกราคม 2554 16:12:05 น. 1 comments
Counter : 5689 Pageviews.  
 
 
 
 
กำลังสนใจอยู่เลยของคุณมากกกกกกกกกก :)
 
 

โดย: AroHaZ IP: 203.131.217.8 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2555 เวลา:12:06:59 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com