กฎหมายลิขสิทธิ์ สำหรับ คนพิการ

สืบเนื่องจากปัญหาทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางด้านการมองเห็น ความพิการทางด้านการได้ยิน หรือ ความพิการทางสติปัญญา หรือความพิการทางกายภาพในด้านอื่นๆ

ก็ไม่ได้หมายความบุคคลที่มีความพิการในลักษณะต่างๆ จะต้องถูกจำกัดสิทธิในการเรียนรู้สิ่งที่สนใจไปได้

ประเทศไทย ได้ตราพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ขึ้นโดยได้บัญญัติข้อยกเว้นเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม

เพื่อให้ผู้ที่มีความพิการทางกายภาพในลักษณะต่างๆ ได้รับสิทธิในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้เทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป

พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวได้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กพ. 2558 และเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2558 เป็นต้นไป
มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่เนื่องด้วยคนพิการได้แก่ มาตรา 32 วรรค 2 (9) ดังนี้

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (9) ของวรรคสองของมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
“(9) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทําเพื่อหากําไร ทั้งนี้ รูปแบบของการทําซ้ำหรือดัดแปลงตามความจําเป็นของคนพิการและองค์กรผู้จัดทํารวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดําเนินการเพื่อทําซ้ำ หรือดัดแปลงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา”

รายละเอียดของพระราชบัญญัติดังกล่าว จิ้มที่นี่ >>>//library2.parliament.go.th/…/conte…/law6-050258-14.pdf

หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้แล้ว ได้มีการออกประกาศฉบับลูกอีกฉบับหนึ่ง คือ

“ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การทําซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจําเป็น พ.ศ. 2558”

เพื่อกำหนดรูปแบบในการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์, หน่วยงานหรือองค์กรที่สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ และ หลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

ในส่วนของรูปแบบ

...สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ให้อยู่ในรูปของ

- หนังสืออักษรเบรลล์ เช่น หนังสืออักษรเบรลล์ที่พิมพ์ลงในกระดาษธรรมดา หรือกระดาษชนิดพิเศษ หรือจัดพิมพ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในวัสดุอื่น เป็นต้น
- สื่อเสียง เช่น เสียงบรรยายภาพ แถบเสียง แผ่นเสียง แผ่นซีดี และที่จัดเก็บในวัสดุอื่น
เป็นต้น
- หนังสือหรือภาพขยายใหญ่ เช่น สิ่งพิมพ์หรือภาพขยายใหญ่ที่พิมพ์ลงในกระดาษธรรมดา
หรือกระดาษชนิดพิเศษ หรือจัดพิมพ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในวัสดุอื่น เป็นต้น
- ตัวหนังสือนูน แผนภาพนูน เช่น ภาพที่อยู่บนแผ่นกระดาษธรรมดา แผ่นกระดาษ
ชนิดพิเศษ และวัสดุอื่นที่สามารถสัมผัสได้ เป็นต้น
- รูปจำลอง
- สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสำหรับคนพิการ
ทางการเห็น
- สื่อที่มีลักษณะเป็นสื่อผสม

...สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ให้อยู่ในรูปของ

- สื่อพัฒนาทักษะเพื่อการสื่อสาร เช่น กระดานสื่อสาร บัตรคํา บัตรภาพ สมุดภาพคําศัพท์ เป็นต้น
- สื่อภาษามือ
- คําบรรยายแทนเสียง
- สื่อการสอนรูปทรงเรขาคณิต เช่น แผนผัง กราฟ ตาราง รูปจําลอง และรูปที่มี พื้นผิวต่างชนิด เป็นต้น
- สื่อที่มีลักษณะเป็นสื่อผสม

...สำหรับผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาและความบกพร่องทางการเรียนรู้ สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ให้อยู่ในรูปของ

- สื่อเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ เช่น รูปภาพหรือภาพถ่าย กระดานสื่อสาร บัตรคํา และบัตรภาพ เป็นต้น
- สื่อเสียง เช่น เสียงบรรยายภาพ แถบเสียง แผ่นเสียง แผ่นซีดี และที่จัดเก็บ ในวัสดุอื่น เป็นต้น
- สื่อที่มีลักษณะเป็นสื่อผสม

ในส่วนขององค์กรผู้จัดทำ ระบุให้แต่เฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานดังต่อไปนี้สามารถกระทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้

(1) หน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรอื่น ที่มีอํานาจหน้าที่ วัตถุประสงค์ หรือ กิจการหลักเพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา การสังคมสงเคราะห์ หรือการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

(2) หน่วยงานของรัฐ สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรอื่น ที่มีกิจกรรมในการทําซ้ำหรือดัดแปลง งานอันมีลิขสิทธ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ

และในส่วนของวิธี ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด คือ การทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นจะต้อง

1. มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนพิการใน การเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามความจําเป็นของคนพิการเท่านั้น และไม่เป็นการกระทําเพื่อหากําไร
2. กําหนดให้มีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะทําซ้ำหรือดัดแปลง
3. งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะนํามาทำซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของคนพิการจะต้องเป็นงาน ที่นําออกโฆษณาแล้ว โดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์
4. การทําซ้ำหรือดัดแปลงจะต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

รายละเอียดเพิ่มเติม จิ้มที่นี่ >>>//www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/108/3.PDF




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:36:52 น. 0 comments
Counter : 769 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com