Group Blog
 
All Blogs
 

วันวิสาขบูชา รู้ความหมาย และได้คติที่จะทำ

วันวิสาขบูชา รู้ความหมาย และได้คติที่จะทำ
พระธรรมปิฎก




คำว่า วิสาขบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่ปรารภวันประสูติ วันตรัสรู้ และ วันปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

คำว่า วิสาขบูชา เป็นคำเรียกสั้นที่ตัดมาจากคำภาษาบาลี “วิสาขปุณณมีปูชา” บางทีก็เขียนเป็น “วิศาขบูชา” ซึ่งเป็นรูปที่ตัดมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “วิศาขปูรณมีปูชา” แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๖

วันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามร่วมกันในวันนี้เป็นมหัศจรรย์


ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

บรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาประเภทรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในอดีต วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ที่เป็นวันเก่าแก่ มีมาแต่โบราณและในแง่ที่เป็นสากล คือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมีการจัดงานฉลองกันทั่วไปในประเทศทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา

ว่าถึงเฉพาะในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชาคงจะได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยอาจจะสืบมาจากการติดต่อกับลังกาทวีป ที่มีงานวิสาขบูชามานานแล้ว และหนังสือเรื่อง นางนพมาศก็เล่าเรื่องพิธีวันวิสาขบูชาในกรุงสุโขทัยไว้ด้วยในสมัยอยุธยาก็เข้าใจว่ามีการฉลองใหญ่ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ครั้นกรุงแตกแล้ว ประเพณีจึงเสื่อมทรามไป จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชโองการ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) กำหนดให้มีงานสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใด ๆ อื่น

ความในพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา จ.ศ. ๑๑๗๙ ว่าทรงมีพระทัยปรารถนาจะบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษยิ่งกว่าที่ได้ทรงกระทำมา จึงมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธาน ซึ่งได้ถวายพระพรถึงโบราณราชประเพณีงานวิสาขบูชาดังสมัยพระเจ้าภาติกราชแห่งลังกาทวีป (๑) เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ ครั้งละ ๓ วัน สืบมา

อย่างไรก็ตาม ครั้นกาลล่วงนานมา สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานวันวิสาขบูชาก็ค่อยซบเซาลงอีกโดยลำดับ

ในรัชกาลที่ ๔ คือประมาณ ๑๐๐ ปีเศษล่วงแล้ว เมื่อประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีดีอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริถึงความสำคัญของการประชุมใหญ่แห่งพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต จึงได้ทรงจัดงาน วันมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง

เวลาล่วงมาอีกนานจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ หลังเสร็จงานแล้ว คณะสงฆ์ไทยครั้งนั้นได้ประชุมกันมีมติว่าวันเพ็ญเดือน ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนา สมควรจัดขึ้นเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาอีกวันหนึ่ง วันอาสาฬหบูชา จึงได้เกิดมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ยังมีวันสำคัญประเภทบูชาอีกวันหนึ่ง คือ “วันอัฏฐมีบูชา” ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ระลึกงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า วันอัฏฐมีบูชานี้ไม่มีประวัติเด่นชัด ทั้งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและในปัจจุบันก็ไม่จัดเข้าเป็นวันสำคัญในทางราชการ จึงไม่จำต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย


ส่วนในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ วันสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปมีเพียงวันเดือน คือ วันวิสาขบูชา แม้ว่าการคำนวณวันเวลาและการเรียกชื่อวันจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ประเทศพุทธศาสนาในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้จัดงานตามปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ชาวพุทธญี่ปุ่นจัดงานฉลองวันประสูติพระพุทธเจ้าตามปฏิทินสุริยคติในวันที่ ๘ เมษายน คนไทยเรียก วิสาขบูชา คนลังกาเรียกเพี้ยนไปว่า วีสัค หรือ วีซัค (Vesak หรือ Wesak) ดังนี้ เป็นต้น แต่สาระสำคัญของงานก็คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจุบันในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ได้มีการพยายามชักชวนให้ชาวพุทธทุกประเทศจัดงานวันวิสาขบูชา พร้อมตรงในวันเดียวกัน คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกชื่อวันนั้นว่า “The Buddha Day”

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดา ผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยตรง เมื่อมีวันวิสาขบูชาแล้ว จึงมีวันอาสาฬหบูชา และมาฆบูชา เป็นต้นได้เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้ว มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วเหตุการณ์อื่น ๆ เช่นการแสดงธรรมและการประชุมพระสาวกจึงติดตามมา แม้พิจารณาในแง่นี้ ก็ต้องนับว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นตรงในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นความประจวบพอดีที่หาได้ยากยิ่งนัก หรืออาจจะหาไม่ได้อีกเลยนับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ทำให้วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดทั้ง ๓ อย่างที่เกี่ยวข้องกับองค์พระพุทธเจ้า และวันที่สิ้นสุดพระชนม์ชีพ วันวิสาขบูชาจึงมิใช่แต่เพียงเป็นวันที่สำคัญอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังเป็นวันที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย และความมหัศจรรย์ข้อนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งแห่งความเป็นอัจฉริยบุรุษของพระพุทธองค์

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในวันวิสาขบูชานี้ แม้ว่าจะสำคัญและน่าอัศจรรย์เพียงใด ก็เป็นคุณวิเศษจำเพาะของพระพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว คุณค่าที่พุทธศาสนิกชนจะรับมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ก็เพียงแต่ให้บังเกิดความภาคภูมิใจในองค์พระบรมศาสดา และเป็นเครื่องเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาให้แน่นแฟ้นแต่ก็คงสุดวิสัยที่จะนำมาเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติตาม

ความสำคัญและความน่าอัศ่จรรย์ของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่เป็นสิ่งซึ่งนำมาปฏิบัติได้ให้ผลสมจริง เหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชามีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ในทางปฏิบัติเช่นนี้ด้วย จึงนับได้ว่าเป็นความสำคัญและความน่าอัศจรรย์อย่างที่กล่าวมาในตอนแรกเสียอีก ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์เช่นว่านี้ ก็คือความสำคัญและความน่าอัศจรรย์แห่งความหมาย ซึ่งเราทั้งหลายสามารถถือเป็นแบบอย่าง นำไปประพฤติปฏิบัติตามได้

ความประจวบพอดีกันของเหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชามีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ และความเลื่อมใสศรัทธา แล้วกระทำอามิสบูชาต่อพระรัตนตรัย แต่ความหมายอันลึกซึ้งที่ประสานกันของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นมีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์โดยเป็นอนุสติเตือนใจให้เราระลึกถึงหลักธรรมแล้วกระทำปฏิบัติบูชา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร แม้จะสำคัญก็ยังเป็นรอง ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมจึงจะสูงสุดและสำคัญอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ทั้งแก่สันติสุขของพหูชนและเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาที่มั่นคงแน่นอน เมื่อปฏิบัติบูชามีอยู่อามิสบูชาก็เป็นกำลังสนับสนุนและพลอยมีความสำคัญแต่ถ้าไร้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาก็หมดความหมาย


ความหมายของวันวิสาขบูชาในแง่คติจากพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นตรงกันในวันเดียว ความหมายของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นก็เกี่ยวพันประสานกันเป็นอันเดียว

การประสูติ ของพระองค์ มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่าคนทุกคนแม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมาด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกฝนอบรม บุคคลผู้มีจุดหมายอันสูงส่งมุ่งบำเพ็ญความดีงามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรและสติปัญญาฝึกฝนตนให้บรรลุความเป็นมนุษย์ผู้เยี่ยมยอดได้กลายเป็นศาสดาที่เคารพบูชาของปวงเทพและมนุษย์ นำประโยชน์สุขมาให้ไม่เฉพาะแต่ตนเองผู้เดียว แต่เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแสดงประจักษ์พยานของภาวะเช่นนี้ทุกคนจึงควรมีกำลังใจเพียรพยายามใช้สติปัญญาพิจารณา บำเพ็ญความดีงาม ฝึกฝนปรับปรุงตนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

การตรัสรู้ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นจุดมุ่งหมายเพียรพยายามและการใช้สติปัญญาของพระพุทธเจ้าซึ่งทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์กลายเป็นสิ่งมีคุณค่าอย่างสูงสุดนั้นหาใช่การได้มาซึ่งสิ่งสำหรับปรนเปรอบำรุงบำเรอความสุขส่วนตนไม่แต่เป็นการเข้าถึงความดีงามอย่างสูงสุดที่ทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์เต็มเปี่ยมสมบูรณ์พร้อมทั้งเผื่อขยายความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้นออกไปให้แก่ชีวิตอื่น ๆ ด้วย เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุกแก่โลก การเข้าถึงความดีงามนี้เองที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นมนุษย์กลายเป็นพระพุทธเจ้าทำให้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ความดีงามที่ว่านี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม”

การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทำให้ธรรมปรากฏขึ้นในโลกธรรมปรากฏขึ้นแล้วก็กระจายความดีงามออกไป ด้วยคำสอนที่สาดแสงสว่างส่องทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงามนำไปสู่ประโยชน์สุขและความอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น

นอกจากนี้ การตรัสรู้ยังสอนเราด้วยว่า การบรรลุผลสำเร็จที่ดีงามนั้นมิใช่จะกระทำได้ง่าย พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ต้องทรงบำเพ็ญเพียรพยายามใช้สติปัญญาแสวงหาค้นคว้าทอดลองด้วยความเด็ดเดี่ยวและอดทนจนบางคราวแทบจะสิ้นพระชนม์ชีพตลอดเวลายาวนานถึง ๖ ปี ครั้นตรัสรู้แล้วเมื่อทรงนำธรรมอันเป็นหลักแห่งความจริงความดีงามนั้น ไปสั่งสอนผู้อื่นก็ต้องทรงเสียสละลำบากพระกาย เสด็จเที่ยวไปทุกถิ่น แม้ที่แสนจะกันดารและฝ่าภยันตราย บุคคลที่จะทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่หมู่ชน ก็ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทา โดยการเพียรพยายามด้วยความเสียสละ อดทน ไม่ยอมท้อถอย

การปรินิพพาน มีความหมายที่เป็นอนุสติให้ระลึกว่าพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นชีวิตมนุษย์เมื่อถึงคราวสิ้นสุดก็ดับสิ้นไปตามกาลเวลา แต่พระธรรมที่ได้ทรงค้นพบ เปิดเผยไว้ ทำให้ปรากฏในโลกแล้วเป็นหลักแห่งความจริงและความดีงามอันอมตะ ไม่เคลื่อนคลาดแตกดับ เป็นสิ่งไม่ตาย ยังคงส่องทางแห่งปัญญาเพื่อบรรลุประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์สืบต่อไป และทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ไว้ทำหน้าที่รักษาสืบทอดส่งต่อประทีปแห่งธรรมแทนพระองค์ต่อ ๆ มาอีกด้วย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงหยุดเลิกพุทธกิจ
ก็ได้ทรงหยุดเลิกในเมื่อมีอมตธรรมสำหรับอำนวยอมตประโยชน์สืบต่อมา การปรินิพพานเป็นการดับสนิทในเมื่อกิจสำเร็จ การดำเนินให้เข้าถึงอมตธรรมและบรรลุอมตประโยชน์ เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายทั้งที่จะต่างคนต่างทำและร่วมกันช่วยกันทำต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากจะมองความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมเห็นได้ว่าบรรดาเหตุการณ์สำคัญ ๓ อย่าง ในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้านั้น การตรัสรู้ต้องนับว่ามีความสำคัญสุดยอด การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่าการเกิดการตายนั้น มนุษย์ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ข้อพิเศษอยู่ที่ชีวิตซึ่งเป็นไปในระหว่างจุดต้นและสุดทั้งสองนี้

สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าและทำให้เราเคารพบูชาพระองค์ ก็คือการตรัสรู้อันพ่วงพร้อมมาด้วยการกระทำต่างๆ เพื่อการตรัสรู้ และพุทธกิจต่าง ๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ แต่เพราะพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยแห่งการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจเหล่านั้น วันประสูติและวันปรินิพพานของพระองค์จึงย่อมพลอยมีความสำคัญตามไปด้วย

ความเป็นพระพุทธเจ้าอันเกิดจากการตรัสรู้และการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ ที่เรียกว่า “พุทธกิจ” นี้โดยแท้ที่เป็นฐานรองรับความสำคัญ และความน่าอัศจรรย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระองค์และเป็นส่วนสาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะพึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระองค์ดังคำพรรณนาแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่คนหลายราย หลายพวกหลายหมู่ ได้กล่าวและบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์หลักฐาน


ความหมายของวันวิสาขบูชา ในแง่ปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ประวัติแห่งมนุษยชาติ

ความหมายของวันวิสาขบูชาที่ได้กล่าวมานั้น แม้จะลึกซึ้งและสำคัญ ก็ยังจำกัดแคบ เป็นเชิงคติเกี่ยวกับชีวิตบุคคล คือพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา วันวิสาขบูชายังมีความหมายที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้นซึ่งเป็นความหมายในขั้นหลักการของพระพุทธศาสนา ตรงกับความจริงที่ว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาและในแง่นี้การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาเป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษถือได้ว่าเป็นการขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยที่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีความหมายเชิงหลักการ ดังนี้

๑. การประสูติของพระพุทธเจ้า คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์
การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นความหมายที่โยงถึงกันอยู่ในตัว

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีสัญลักษณ์อยู่ที่การทรงประกาศการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วยพระดำรัสที่เรียกว่า “อาสภวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส , เชฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส” (๒) แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก” พระวาจานี้ทรงประกาศท่ามกลางสังคมมนุษย์ที่มีอิทธิพลของการนับถือเทพเจ้าครอบคลุมและครอบงำไปทั่วทั้งหมด คำว่า “เชฏฐ” เป็นต้นนั้น เป็นคำแสดงฐานะของพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด มนุษย์ยุคนั้นเชื่อว่าชีวิตและและสังคมของตนจะดีร้ายเป็นไปอย่างไร ย่อมขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้าที่จะลงโทษหรือโปรดปรานดลบันดาลให้เป็นอย่างไรสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อนำผลดีมาสู่ชีวิต ครอบครัว และสังคมของตน ก็คือการยอมสยบต่อเทวบัญชา และการอ้อนวอนบูชาขอผลที่ปรารถนาด้วยการเซ่นสรวงสังเวยและการบูชายัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ประกาศหลักการที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อปละวิถีชีวิตของมนุษย์ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีคุณความดีและมีปัญญาญาณสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นบุคคลผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ที่เรียกว่า “พุทธะ” ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายตลอดแม้กระทั่งพระพรหมก็จะน้อมนบบูชา ฉะนั้น มนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนสูงสุด คือ พุทธะนี้ต่างหาก ที่เป็น “อัคคะ” (ผู้เลิศ) เป็น “เชฏฐะ” (ผู้เป็นใหญ่) เป็น “เสฏฐะ” (ผู้ประเสริฐ)หาใช่เทพเจ้าแม้แต่พระพรหมผู้เป็นเจ้าไม่

ด้วยหลักการนี้พระพุทธศาสนาได้กระตุ้นและกระตุกมนุษย์ให้หันมาใส่ใจในศักยภาพแห่งมนุษย์ที่มีอยู่ในตนเองและเกิดความสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ พฤติกรรม ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สันติ สุข และอิสรภาพแห่งชีวิตและสังคมของตนจะสัมฤทธิ์หรือไม่ และแค่ไหนเพียงใดอยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตัวของมนุษย์เอง หาใช่อยู่ที่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่ มนุษย์ไม่ควรจะมัวคิดหาทางพะเน้าพะนออ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้า แต่ควรหันมาเพียรพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จด้วยสติปัญญาของตน

การประสูติของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิวัติในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ด้วยการประกาศว่าอำนาจสูงสุดที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน และการกระทำด้วยปัญญาที่พัฒนาขึ้นมาให้รู้ความจริงของธรรมชาติหาใช่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่

๒. การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการปรากฏแห่งธรรมขึ้นมาเป็นใหญ่สูงสุด
อิสรภาพของมนุษย์ที่ทรงประกาศในการประสูตินั้นจะบรรลุผลเป็นจริงก็เพราะมีการตรัสรู้ กล่าวคือเมื่อมนุษย์รู้เข้าใจมองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วปฏิบัติการทั้งหลายได้ถูกต้องตามธรรม โดยฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญาญาณจนตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้ว มนุษย์จึงเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด

การตรัสรู้ คือการบรรจบประสานระหว่างปัญญาของมนุษย์ กับธรรม คือความจริงของธรรมชาติ เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น (๓) มีใจความว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัย ย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน... เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย... ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ ฉะนั้น”

ธรรมคือความจริงของธรรมชาตินั่นแหละยิ่งใหญ่สูงสุดหาใช่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลอันใดไม่ แม้แต่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจของธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นในธรรมชาตินั่นเอง ธรรมย่อมเหนือเทพ เทพจะเหนือธรรมไปไม่ได้ เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะได้เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรม เพราะมนุษย์มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้ลุถึงธรรมได้

เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ก็มีความเป็นอิสระที่จะเป็นอยู่และทำการอย่างประสานกับธรรมด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้น ซึ่งมีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจคอยรอคำสั่งบัญชาของเทพยดาพรหมเจ้า ที่ไม่รู้ว่าจะต้องประสงค์อย่างใด และจะขัดเคืองหรือโปรดปรานอย่างไหน เมื่อใด

๓. การปรินิพพาน คือการเตือนจิตสำนึกในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท
ด้านหนึ่งของธรรมหรือความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ก็คือความไม่เที่ยงแท้คงทนและความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของสิ่งทั้งหลาย ธรรมคือความจริงนี้มีอยู่ หรือกำกับอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะการที่ชีวิตนั้นจะต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย

ในขณะที่ความเป็นจริงของธรรมบอกเราว่าเราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ มีความสามารถและมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตารมธรรมคือกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐบรรลุสันติสุขและอิสรภาพแท้จริงก็ต่อเมื่อปัญญาเข้าถึงธรรมและสามารถทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดำเนินตามธรรมแต่พร้อมกันนั้นธรรมนั่นเองก็กำกับความจริงไว้ว่าชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราทุกอย่างไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไปจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะนิ่งนอนใจประมาทอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ามัวประมาทผัดเพี้ยนละเลยชีวิตของเราอาจหมดโอกาสที่จะพัฒนาให้เข้าถึงคุณค่าและประโยชน์ที่พึงได้จากธรรม

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และประกาศแก่โลกแล้วนั้นมาปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเราและเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำเนินไปสู่ความดีงาม ความมีสันติสุขและอิสรภาพ อันพึงได้จากธรรมนั้น เราจึงจะต้องเป็นอยู่อย่างไม่ประมาทหรือดำเนินไปในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น เมื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระวาจาสุดท้ายที่เรียกว่า “ปัจฉิมวาจา” อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายและความหมายแห่งการปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (๔) แปลว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไปเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”


ทำการบูชาให้สมค่าของวันวิสาขะ

ถ้าวันวิสาขบูชาจะช่วยให้เราระลึกถึงความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อย่างเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และเตือนใจให้เรานำหลักการนั้นมาใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง การบูชาของเราก็จะเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างสมคุณค่าของวันวิสาขบูชาโดยแท้จริงและจะช่วยให้มนุษยชาติก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนามนุษย์ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศนำไว้นานแล้ว ได้จริงจังเสียที แต่ถ้าจะคิดเอาง่ายๆ อย่างน้อยก็ควรจะระลึกพิจารณาดังที่จะกล่าวต่อไป

ในวันเกิดบ้าง ในวันตายบ้าง ของบรรพบุรุษ บุรพการีชนคนที่เราเคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายคนทั้งหลายนิยมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงความเคารพนับถือและความมีน้ำใจต่อบุคคลผู้นั้น ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชาอันเป็นวันที่ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพุทธศาสนิกชนจะไม่พึงทำการแสดงออกอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นการแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดาของตน

ในวันที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญของวงศ์ตระกูลของกลุ่มชน หรือท้องถิ่นหนึ่ง ก็ยังมีการจัดพิธีที่ระลึกหรืองานเฉลิมฉลองกันไฉนเล่าในวันวิสาขบูชาที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มวลมนุษย์ประชาชนจะไม่พึงจัดพิธีสมโภชหรืองานมหาบูชา

พุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดา อย่างน้อย หากจะสงบจิต ระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าสักข้อหนึ่ง ก็คงจะพอชื่อว่าได้ทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นพุทธบูชา

ถ้าสามารถพิจารณาตั้งจิตคิดไปตามให้เห็นความหมายด้วยก็จะชื่อว่าได้กระทำพุทธบูชาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

หากมองเห็นความหมายที่จะพึงปฏิบัติได้แล้วนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับประพฤติตาม ก็ย่อมจะได้ชื่อว่า เป็นผู้กระทำปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุดที่พุทธศาสนิกชนจะพึงแสดงออกได้ต่อพระบรมศาสดาของตนนับว่าอานิสงส์อย่างสูงสุดของวันวิสาขบูชา

แท้จริง การที่เราบูชาพระพุทธเจ้านั้นมิใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงต้องการได้รับผลประโยชน์อะไรจากเรา แต่เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้าผลดีหรือประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวเราผู้บูชานั้นเองทั้งแก่ชีวิตของเราและแก่สังคมของเราทั้งหมด

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า จิตใจของเราก็โน้มน้อมไปในทางแห่งความดีงามทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เอิบอิ่ม เป็นสุข

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า เราก็น้อมนำเอาพระคุณความดีของพระพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในจิตใจของเรา ทำให้เรามั่นใจที่จะดำเนินต่อไปในวิถีทางแห่งความดีงาม และประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระพุทธจริยาของพระองค์

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้าก็เป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงสั่งสอน
ซึ่งเราจะต้องเพียรพยายามปฏิบัติบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะจบสิ้นสมบูรณ์

เมื่อเราทั้งหลายพากันบูชาพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นสัญญาณของการที่เราเคารพยกย่องนิยมบุคคลที่ดีมีธรรมและการเคารพเชิดชูธรรมที่เป็นความดีและความจริง ซึ่งหากสังคมยังยึดถือในการบูชาอย่างนี้ สังคมก็จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้และธรรมก็จะคุ้มครองรักษาสังคมให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน

หากระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนใดๆ ไม่ได้เลยและไม่สามารถทำอะไรอื่นอีกได้ ก็พึงสละเวลาทำใจให้สงบแล้วอ่านหรือฟังคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าสักท่อนหนึ่งตอนหนึ่ง ถ้าในขณะที่อ่านหรือฟัง จิตใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น หรือมีใจปลอดโปร่งโล่งเบาเบิกบานผ่องใสก็นับว่าได้มีส่วนร่วมฉลองวันวิสาขบูชาและกระทำพุทธบูชาในวันสำคัญนี้ด้วย


เชิงอรรถ
๑. ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ ตามคัมภีร์มหาวงส์ พงศาวดารลังกาเล่าไว้
๒. อาสภิวาจา ในคราวประสูติ ดู ที.ม. ๑๐/๒๖ (ทีฆนิกายมหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๒๖); ม.อุ. ๑๔/๓๗๗ (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๓๗๗)
๓. พุทธอุทาน เมื่อแรกตรัสรู้นี้ ดู วินย.๔/๑-๓ (วินัยปิฎกมหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑-๓); ขุ.อุง๒๕/๓๘–๔๐ (ขุททกนิกาย อุทาน พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๘–๔๐)
๔. ปัจฉิมวาจา คราวปรินิพพาน ดู ที.ม. ๑๐/๑๔๓ (ทีฆนิกายมหาวรรค พระปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๓); ส.ส.๑๕/๖๒๐ (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๖๒๐)


หมายเหตุ * บทความนี้นำมาจาก budpage //www.budpage.com/visak.html ซึ่งได้ทำการคัดลอกจากหนังสือ “วันวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก” โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ในส่วนเฉพาะบทความเรื่อง “วันวิสาขบูชา รู้ความหมาย และได้คติที่จะทำ”


อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุขโต โลกะวิทู,
อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ,สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวาติ (กราบ)
คำแปล
เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส
และตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความเจริญ เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ดังนี้.




 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 22 พฤษภาคม 2548 21:40:37 น.
Counter : 372 Pageviews.  

ฉบับที่ ๕ ประจำวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง ดอกบัวในกองหยากเยื่อ

คัดลอกจาก ทางแห่งความดี : อาจารย์วศิน อินทสระ
เพราะไม่มีปัญญาจักษุ คนบางพวกจึงไม่รู้คุณของพระพุทธองค์และพระสาวก

ผู้จัดการออนไลน์ 30 สิงหาคม 2547
//www.mgronline.com/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9470000045321

พระพุทธภาษิต
ยถา สงฺการธารสฺมึ อุชฺฌิตสฺมึ มหาปเถ
ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ สุจิคนฺธํ มโนรมํ
เอวํ สงฺการภูเตสุ อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน
อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก

คำแปล
ดอกบัวเกิดในกองหยากเยื่อ อันบุคคลทิ้งไว้ริมทางใหญ่ ยังมีกลิ่นหอม
เป็นที่รื่นรมย์ใจ ฉันใด พระสาวกของสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้เกิดแล้วในหมู่ปุถุชนผู้มืดบอดอันเป็นประดุจกองหยากเยื่อ
ย่อมรุ่งเรืองกว่าปุถุชนเหล่านั้นด้วยปัญญาฉันนั้น

อธิบายความ
ธรรมชาติดอกบัวไม่ว่าเกิดในกองหยากเยื่อหรือเกิดในเปือกตมย่อมส่งกลิ่นหอม เป็นที่รื่นรมย์ใจ หามีกลิ่นเช่นกับเปือกตมหรือกองหยากเยื่อไม่ คงรักษาคุณภาพตามธรรมชาติแห่งตนไว้ เข้าทำนอง
ไม้จันทน์แม้แห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น
หัสดินทร์ก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา
อ้อยเข้าสู่หีบยนต์ก็ไม่ทิ้งรสหวาน
บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม


สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น แม้เกิดในหมู่คนพาล อยู่ในหมู่คนพาลก็หาเป็นพาลไปด้วยไม่ มีแต่จะกลับใจคนพาลเหล่านั้นให้เป็นคนดี ไม่ปรับตัวไปในทางเลว สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรุ่งเรืองด้วยปัญญาอยู่เสมอ

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ปรารภนายครหทินน์ ขณะประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี มีเรื่องย่อดังนี้

เรื่องนายครหทินน์และสิริคุตต์
ในเมืองสาวัตถีมีสหายกัน 2 คน คนหนึ่งชื่อครหทินน์เป็นสาวกของนิครนถ์หรือพวกมหาวีระ คนหนึ่งชื่อสิริคุตต์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เนื่องจาก 2 สหายรักกันมาก จึงปรารถนาให้เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใสอย่างเดียวกัน วันหนึ่งครหทินน์ ได้รับคำแนะนำจากพวกนิครนถ์ ให้ชักชวนสิริคุตต์ไปเลื่อมใสในพวกตน หากสิริคุตต์ไปเลื่อมใสในพวกตนได้ ลาภสักการะและชื่อเสียงเป็นอันมากก็จะเกิดขึ้น เพราะสิริคุตต์เป็นคนรวย และมีพวกมาก

ครหทินน์ก็ทำตามคำของอาจารย์ ชักชวนสิริคุตต์บ่อย ๆ จนสิริคุตต์รู้สึกรำคาญ จึงถามว่า พระผู้เป็นเจ้าของครหทินน์รู้อะไรบ้าง ครหทินน์ตอบว่า "ท่านรู้ทุกอย่างทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน อะไรที่ท่านไม่รู้นั้นไม่มี ท่านย่อมรู้เหตุที่ควรและไม่ควร ย่อมรู้ว่า เรื่องนี้จักมี เรื่องนี้จักไม่มี"

สิริคุตต์ทำเป็นเชื่อ แล้วให้ครหทินน์นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าของเขามาฉันอาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อต้องการแกล้งพวกนิครนถ์ให้ได้รับความอับอายขายหน้า จึงให้คนขุดหลุมยาวใหญ่ระหว่างตัวเรือน 2 หลัง ให้เอาอุจจาระเหลวใส่ไว้จนเต็มแล้วเรียบไม้พรางตาเอาไว้ มีเชือกสำหรับดึงให้แผ่นกระดานแยกออกให้นิครนถ์ตกลงไปในหลุมคูถโดยง่าย ให้คนปูอาสนะทับไว้ไม่ให้มองเห็นหลุม ให้เตรียมตุ่มใหญ่ๆ ไว้
ผูกปากตุ่มด้วยใบกล้วยบ้าง ผ้าเก่าบ้าง ทำตุ่มเปล่าๆ เหล่านั้นให้เปรอะเปื้อนด้วยเม็ดข้าวสวย เนยใส น้ำอ้อย และขนมมองดูเหมือนมีของเหล่านั้นอยู่เต็มตุ่มแล้วให้วางเรียงรายไว้หลังเรือน

วันรุ่งขึ้น ครหทินน์รีบไปยังเรือนของสิริคุตต์แต่เช้าตรู่ เพื่อดูว่าอาหารและสถานที่พร้อมหรือไม่ เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้วก็กลับไป ขณะที่ครหทินน์ออก พวกนิคนรถ์ก็มาถึง สิริคุตต์ออกจากเรือนไปต้อนรับ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องหน้าของนิครนถ์เหล่านั้น พลางคิดว่า "นัยว่า ท่านทั้งหลายรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอดีตและอนาคต อุปฐากของพวกท่าน บอกข้าพเจ้าอย่างนี้ ถ้าท่านรู้จริงก็จงอย่าเข้าไปในเรือนของข้าพเจ้า เพราะวันนี้ข้าวต้มก็ไม่มี ข้าวสวยก็ไม่มี ถ้าพวกท่านไม่รู้ก็จงเข้าไป หากท่านตกลงในหลุมคูถแล้ว จะให้ตีซ้ำ"

พวกนิครนถ์ไม่รู้ความคิดซึ่งอยู่ในใจของสิริคุตต์ จึงเข้าไปในเรือน เมื่อจะนั่งพวกบริวารของสิริคุตต์กล่าวว่า "เมื่อพระคุณเจ้าเข้ามาสู่เรือนของพวกข้าพเจ้า ควรรู้ธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงนั่ง คือ ท่านทั้งหลายควรยืนอยู่ก่อน-ยืนอยู่ใกล้อาสนะของตนๆ เมื่อทุกท่านพร้อมแล้วจึงค่อยนั่งพร้อมกัน"

พวกนิครนถ์นึกชมเชยอยู่ในใจว่าธรรมเนียมนี้ดี จึงประกาศให้รู้ทั่วกันว่าจะต้องนั่งพร้อมกัน เมื่อพวกนิครนถ์พร้อมเพรียงกันนั่งเท่านั้นพวกมนุษย์ได้ดึงเครื่องลาดออก ดึงเชือกให้นิครนถ์พวกนั้นตกลงไปในหลุมอุจจาระแล้วปิดประตูตีพวกที่ตะเกียกตะกายขึ้นมา เมื่อเห็นว่าพอสมควรแล้วก็เปิดประตูปล่อยไป

นิครนถ์พวกนั้นไปยังเรือนของครหทินน์ ๆ เห็นดังนั้นโกรธมาก รีบไปเฝ้าพระราชาฟ้องว่า สิริคุตต์ทำกับนิครนถ์อันเป็นที่เคารพนับถือของตนๆ ดังนี้ๆ ขอให้พระราชาลงโทษสิริคุตต์โดยปรับเป็นเงินสักพันกหาปณะ

พระราชาทรงส่งหมายไปยังสิริคุตตๆ ทูลเล่าเรื่องทั้งปวงตามเป็นจริงโดยย้ำว่าอยากจะทดลองว่าพวกนิครนถ์รู้สิ่งทั้งปวง ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบันจริงดั่งคำของครหทินน์หรือไม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นผลของความโอ้อวดในสิ่งอันตนไม่รู้จริง

พระราชาตรัสกับครหทินน์ว่า "เจ้ายินดีคบพวกนิครนถ์ซึ่งไม่รู้แม้เพียงเท่านี้ แต่โอ้อวดว่าตนรู้ ยังสอนสาวกให้โอ้อวดเสียอีกเจ้าเองนั่นแแหละจะต้องถูกปรับหนึ่งพันกหาปณะ"

ครหทินน์โกรธสิริคุตต์มาก หาอุบายแก้แค้นสิริคุตต์บ้างโดยหลอกล่อภิกษุสงฆ์เข้าสู่สกุลของตน จึงพูดดีกับสิริคุตต์แล้วถามว่า "พระศาสดาของท่านรู้อะไรบ้าง?"

สิริคุตต์ตอบว่า "พระศาสดานั้นได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นสัพพัญญูรอบรู้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ไม่รู้นั้นไม่มี พระองค์ทรงรู้เหตุการณ์ทุกอย่างทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์ทั้งหลายได้ไม่มีกำหนด ไม่มีขอบเขต" ครหทินน์จึงขอให้ทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน 500 มาเสวยภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น"

พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปสำรวจดู ทรงทราบเหตุทั้งปวงแล้วทรงรับ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของครหทินน์และมหาชนเป็นอันมาก

ฝ่ายครหทินน์ให้ขุดหลุมใหญ่ในระหว่างเรือน 2 หลังให้นำไม้ตะเคียนมาประมาณ 80 เล่มเกวียนสุมไฟไว้ตลอดคืน ให้กองถ่านเพลิงไม้ตะเคียนไว้ วางไม้เรียบไว้ปากหลุม ปิดด้วยเสื่อลำแพน ทาด้วยโคมัยสด (ขี้วัวสด) ลาดไม้ผุไว้ด้านหนึ่ง ด้วยหมายใจว่าเมื่อพระเหยียบที่ไม้ผุจักต้องตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงอย่างแน่นอน ต่อจากนั้นให้วางตุ่มเรียงรายไว้ทำนองเดียวกับที่สิริคุตต์เคยทำสมัยเชิญนิครนถ์

วันรุ่งขึ้นเมื่อพระศาสดาเสด็จ ครหทินน์ออกมาต้อนรับภายนอกเรือนถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่ พลางนึกในใจว่า "พระเจ้าข้า อุปฐากของพระองค์คือสิริคุตต์บอกข้าพระองค์ว่า พระองค์ทรงทราบเหตุทุกอย่างทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ทรงสามารถรู้จิตของคนทั้งหลายได้ หากพระองค์ทรงทราบจริงก็อย่าเสด็จเข้าไป หากไม่ทรงทราบก็จงเสด็จเข้าไปเถิด เพราะในเรือนนี้ข้าวยาคู หรือข้าวสวยหรืออาหารใดๆ มิได้มี เมื่อพระองค์และสาวกตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงก็จะถูกกดขี่โบยตี" ดังนี้แล้วรับบาตรพระศาสดานำเสด็จและกราบทูลว่า ธรรมเนียมในบ้านของตนมีว่า
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในบ้านนั่งเรียบร้อยแล้ว ภิกษุรูปอื่นจึงควรเข้าไปทีละรูป

พระโลกนาถ ผู้อนาวรณญาณ ทรงรู้ทุกอย่างไม่มีอะไรติดขัด ทรงเหยียดพระบาทลงเหนือหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนหายไปดอกบัวประมาณเท่าล้อเกวียนผุดขึ้นบนหลุมถ่านเพลิงนั้น ไฟดับสนิท พระศาสดาทรงเหยียดดอกบัวไปประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาปูลาดไว้แม้ภิกษุทั้งหลายก็ไปทำนองเดียวกัน

เมื่อเห็นดังนั้น ครหทินน์เกิดร้อนตัว รีบไปหาสิริคุตต์โดยเร็วแล้วเล่าเรื่องทั้งปวงให้ทราบ สิริคุตต์บอกว่าให้ลองไปสำรวจดูอีกทีอาหารอาจมีในตุ่มก็ได้ ครหทินน์ไปเปิดตุ่มดู ปรากฏว่า ทุกตุ่มมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นเต็มปี่ ครหทินน์เห็นดังนั้นอิ่มอาบไปด้วยปีติปราโมชเสื่อมใสพระศาสดายิ่งนัก อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

เมื่อเสวยเสร็จแล้วพระศาสดาทรงอนุโมทนาว่า "เพราะไม่มีปัญญาจักษุคนบางพวกจึงไม่รู้คุณของพระองค์และพระสาวก ผู้ไม่มีปัญญาจักษุชื่อว่าเป็นผู้มืดบอดส่วนผู้มีปัญญาชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ"เป็นต้น ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"ยถา สงฺการธานสฺมี" เป็นอาทิมีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้นแล








 

Create Date : 23 เมษายน 2548    
Last Update : 23 เมษายน 2548 14:21:31 น.
Counter : 342 Pageviews.  

ฉบับที่ ๔ ประจำวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง บุพนิมิตแห่งมรรค

เครื่องหมายบอกล่วงหน้า ๗ ประการ
คัดลอกจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)



[๒๘๐] บุพนิมิตแห่งมรรค ๗ ธรรมที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ดุจแสงอรุณเป็นบุพนิมิตของการที่ดวงอาทิตย์จะอุทัย, แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี, รุ่งอรุณของการศึกษา - a foregoing sign for the arising of the Noble Eightfold Path; precursor of the Noble Path; harbinger of a good life or of the life of learning
๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร, มีมิตรดี, คบหาคนที่เป็นแหล่งแห่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี - good company; having a good friend; association with a good and wise person
๒. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล, การทำศีลให้ถึงพร้อม, ตั้งตนอยู่ในวินัยและมีความประพฤติทั่วไปดีงาม - perfection of morality; accomplishment in discipline and moral conduct
๓. ฉันทสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ, การทำฉันทะให้ถึงพร้อม, ความใฝ่ใจอยากจะทำกิจหน้าที่และสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องให้ดีงาม, ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ - perfection of aspiration; accomplishment in constructive desire
๔. อัตตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยตนที่ฝึกดีแล้ว, การทำตนให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของผู้ที่พัฒนาแล้วให้สมบูรณ์ ทั้งด้านกาย ศีล จิตและปัญญา [ที่จะเป็น ภาวิตัตต์ คือผู้มีตนอันได้พัฒนาแล้ว] - perfection of oneself; accomplishment in self that has been well trained; dedicating oneself to training for the realization one's full human potential; self-actualization
๕. ทิฏฐิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ, การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม, การตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อถือที่ถูกต้องดีงามมีเหตุผล เช่น ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย - perfection of view; accomplishment in view; to be established in good and reasoned principles of thought and belief
๖. อัปปมาทสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท, การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม - perfection of heedfulness; accomplishment in diligence
๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ, การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม, ความฉลาดคิดแยบคายให้เห็นความจริงและหาประโยชน์ได้ - perfection of wise reflection; accomplishment in systematic attention

เมื่อใดธรรมที่เป็นบุพนิมิต ๗ ประการนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมีในบุคคลแล้ว เมื่อนั้นย่อมเป็นอันหวังได้ว่าเขาจักเจริญพัฒนา ทำให้มาก ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐคือจักดำเนินก้าวไปในมัชฌิมาปฏิปทา

ดู [๓๔] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ๒, [๒๙๓] มรรคมีองค์ ๘.
S.V.๓๐-๓๑. Vbh.๒๗๗ สํ.ม. ๑๙/๑๓๐-๑๓๖/๓๖
//84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=280

[๒๙๓] มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ” (the noble Eightfold Path); องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท - Right View; Right Understanding
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป - Right Thought (ดู [๖๙] กุศลวิตก ๓)
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔ - Right Speech
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓ - Right Action
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ - Right Livelihood
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน ๔ - Right Effort
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ - Right Mindfulness
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ - Right Concentration

องค์ ๘ ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ ๓ ข้อต้น คือ ข้อ ๓-๔-๕ เป็น ศีล ข้อ ๖-๗-๘ เป็น สมาธิ ข้อ ๑-๒ เป็น ปัญญา ดู [๑๒๔] สิกขา ๓; [๒๐๔] อริยสัจจ์ ๔; และหมวดธรรมที่อ้างถึงทั้งหมด

มรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ดู [๑๕] ที่สุด ๒

D.II.๓๒๑; M.I.๖๑; M,III.๒๕๑; Vbh.๒๓๕.
ที.ม. ๑๐/๒๙๙/๓๔๘; ม.มู. ๑๒/๑๔๙/๑๒๓; ม.อุ. ๑๔/๗๐๔/๔๕๓; อภิ.วิ. ๓๕/๕๖๙/๓๐๗.
//84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=293

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ มิตรดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๒๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อนเพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑

สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ สีลสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล พึงหวังข้อนี้ได้ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒

ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑ ฉันทสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑ อัตตสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๓] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน (ความถึงพร้อมแห่งจิต) ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔

ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑ ทิฏฐิสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๔] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕

อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑ ความไม่ประมาทเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๕] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖

โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่ง

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
[๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายย่อมเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๖๘๐ - ๗๓๑. หน้าที่ ๓๐ - ๓๑.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=680&Z=731&pagebreak=0




 

Create Date : 01 เมษายน 2548    
Last Update : 1 เมษายน 2548 12:17:27 น.
Counter : 584 Pageviews.  

ฉบับที่ ๓ ประจำวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง กรรม

จากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับเดิม) หน้า ๒๐๐–๒๐๗
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)



๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์
คนไทยสมัยนี้ได้ยินคำว่า “กรรม” มักจะนึกไปในแง่ว่ากรรมจะตามมา
ให้เคราะห์ให้โทษอย่างไร พูดถึงกรรมก็จะนึกถึงอะไรอย่างหนึ่งที่คอยตามจะ
ลงโทษ หรือทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะคิดไปถึงชาติก่อน คือ
มองกรรมในแง่กรรมเก่า และเป็นเรื่องไม่ดี
คำว่า “กรรมเก่า” ก็บอกอยู่ในตัวเองแล้วว่า มันถูกจำกัดให้หดแคบ
เข้ามาเหลือเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเติมคำว่า “เก่า” เข้าไป กรรมก็เหลือแคบ
เข้ามา ยิ่งนึกในแง่ว่ากรรมไม่ดีอีก ก็ยิ่งแคบหนักเข้า รวมแล้วก็คือเป็นกรรม
ที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็เลยอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรม (เก่า-ที่ไม่ดี)
บางทีถึงกับมีการหาทางตัดกรรม เลยพลัดออกไปจากพระพุทธศาสนา
ความจริง กรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ คือเป็นเรื่องความเป็น
ไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตมนุษย์ ที่มีเจตนา มีการคิด การพูด และการ
กระทำ แสดงออก มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย แล้วก็เกิดผลต่อเนื่องกัน
ไปในความสัมพันธ์นั้น
ถ้ามัวไปยึดถือว่า แล้วแต่กรรมเก่าปางก่อนอย่างเดียว ก็จะทำกรรม
ใหม่ที่เป็นบาปอกุศลโดยไม่รู้ตัว
หมายความว่า ใครก็ตามที่ปลงว่า “แล้วแต่กรรม (เก่า)” นั้น ก็คือ
เขากำลังทำความประมาท ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำกรรมใหม่ที่ควรทำ
ความประมาทนั้นก็เลยเป็นกรรมใหม่ของเขา ซึ่งเป็นผลจากโมหะ แล้วกรรม
ใหม่ที่ประมาทเพราะโมหะหลงงมงายนั้น ก็จะก่อผลร้ายแก่เขาต่อไป
ความเชื่อว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่า กรรมปางก่อน หรือ
กรรมในชาติก่อน คือลัทธิกรรมเก่านั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่าปุพเพกตเหตุวาท
หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท ดังพุทธพจน์ที่แสดงแล้วข้างต้น
ท่านไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านสอนไม่ให้เชื่อว่าอะไรๆ
จะเป็นอย่างไรก็เพราะกรรมเก่า
- การเชื่อแต่กรรมเก่า ก็สุดโต่งไปข้างหนึ่ง
- การไม่เชื่อกรรมเก่า ก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
ได้กล่าวแล้วว่า “กรรม” พอเติม “เก่า” เข้าไป คำเดิมที่กว้าง
ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็หดแคบเข้ามาเหลืออยู่ส่วนเดียว อย่ามองกรรมที่กว้าง
สมบูรณ์ให้เหลือส่วนเดียวแค่กรรมเก่า
เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่ คือ
๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต ทั้งที่กรรมนั้นก็เป็นกลางๆ ไม่จำกัด
ถ้าแยกโดยกาลเวลาก็ต้องมี ๓ คือ กรรมเก่า (ในอดีต) กรรมใหม่ (ใน
ปัจจุบัน) กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) ต้องมองให้ครบ
๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัย
ที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด คือ ไม่มองเป็นกระแสหรือกระบวนการที่ต่อเนื่อง
อยู่ตลอดเวลา แต่มองเหมือนกับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตาม
เรามาจากชาติก่อน แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามองกรรมให้ถูกต้องทั้ง ๓ กาล และมองอย่างเป็นกระบวนการ
ของเหตุปัจจัย ในด้านเจตจำนง และการทำ-คิด-พูด ของมนุษย์ ที่ต่อเนื่อง
อยู่ตลอดเวลา ก็จะมองเห็นกรรมถูกต้อง ชัดเจนและง่ายขึ้น ในที่นี้ แม้จะไม่
อธิบายรายละเอียด แต่จะขอให้จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ ๒-๓ อย่าง
๑. ไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน คือ มองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อ
เนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้ และกำลังดำเนินสืบต่อไป
ถ้ามองกรรมให้ครบ ๓ กาล และมองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จาก
อดีต มาถึงบัดนี้ และจะสืบไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า กรรมเก่า (ส่วนอดีต) ก็
คือ เอาขณะปัจจุบันเดี๋ยวนี้เป็นจุดกำหนด นับถอยจากขณะนี้ ย้อนหลังไป
นานเท่าไรก็ตาม กี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม มาจนถึงขณะหนึ่งหรือวินาทีหนึ่ง
ก่อนนี้ ก็เป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) ทั้งหมด
กรรมเก่าทั้งหมดนี้ คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่ (ใน
ปัจจุบัน) ก็คือที่กำลังทำๆ ซึ่งขณะต่อไปหรือวินาทีต่อไป ก็จะกลายเป็นกรรม
เก่า (ส่วนอดีต) และอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมข้างหน้า ซึ่งยังไม่ถึง แต่จะทำใน
อนาคต
กรรมเก่านั้นยาวนานและมากนักหนา สำหรับคนสามัญ กรรมเก่าที่
จะพอมองเห็นได้ ก็คือกรรมเก่าในชาตินี้ ส่วนกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ก็อาจ
จะลึกล้ำเกินไป เราเป็นนักศึกษาก็ค่อยๆ เริ่มจากมองใกล้หน่อยก่อน แล้วจึง
ค่อยๆ ขยายไกลออกไป
อย่างเช่นเราจะวัดหรือตัดสินคนด้วยการกระทำของเขา กรรมใหม่ใน
ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร เราก็ดูจากกรรมเก่า คือความ
ประพฤติและการกระทำต่างๆ ของเขาย้อนหลังไปในชีวิตนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้ไป
นี่ก็กรรมเก่า ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เลย
๒. รู้จักตัวเอง ทั้งทุนที่มีและข้อจำกัดของตน พร้อมทั้งเห็นตระหนักถึงผล
สะท้อนที่ตนจะประสบ ซึ่งเกิดจากกรรมที่ตนได้ประกอบไว้
กรรมเก่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เพราะแต่ละคนที่เป็น
อยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมของกรรมเก่าของตนที่ได้สะสมมา ด้วยการทำ-พูด-
คิด การศึกษาพัฒนาตน และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในอดีตทั้งหมด
ตลอดมาจนถึงขณะหรือวินาทีสุดท้ายก่อนขณะนี้
กรรมเก่านี้ให้ผลแก่เรา หรือเรารับผลของกรรมเก่านั้นเต็มที่ เพราะ
ตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นผลรวมที่ปรากฏของกรรมเก่าทั้งหมดที่ผ่านมา
กรรมเก่านั้นเท่ากับเป็นทุนเดิมของเราที่ได้สะสมไว้ ซึ่งกำหนดว่า เรามีความ
พร้อม มีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ และทางปัญญาเท่า
ไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ อะไรเหมาะกับตัวเรา เราจะ
ทำได้แค่ไหน และควรจะทำอะไรต่อไป
ประโยชน์ที่สำคัญของกรรมเก่า ก็คือการรู้จักตัวเองดังที่ว่านั้น ซึ่งจะ
เกิดขึ้นได้ ด้วยการรู้จักวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง โดยไม่มัวแต่ซัดทอด
ปัจจัยภายนอก
การรู้จักตัวเองนี้ นอกจากช่วยให้ทำการที่เหมาะกับตนอย่างได้ผลดีแล้ว
ก็ทำให้รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไปด้วย
๓. แก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวสู่การทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่า ในที่สุด
การปฏิบัติถูกต้องที่จะได้ประโยชน์จากกรรมเก่ามากที่สุด ก็คือ การทำกรรม
ใหม่ ที่ดีกว่ากรรมเก่า
ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนารวมอยู่ในไตรสิกขา
อันได้แก่การฝึกศึกษาพัฒนาตน ในการที่จะทำกรรมที่ดีได้ยิ่งขึ้นไป ทั้ง
- ในขั้นศีล คือการฝึกกาย วาจา สัมมาอาชีวะ รวมทั้งการสัมพันธ์
กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
- ในขั้นสมาธิ คือฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่าจิตภาวนาทั้งหมด
และ
- ในขั้นปัญญา คือความรู้คิดเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตาม
ความเป็นจริง และสามารถใช้ความรู้นั้นแก้ไขปรับปรุงกรรม ตลอดจนแก้
ปัญหาดับทุกข์หมดไปมิให้มีทุกข์ใหม่ได้
พูดสั้นๆ ก็คือ แม้ว่ากรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไป
สยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนาชีวิตของเราที่เป็นผลรวม
ของกรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น
ถ้าจะใช้คำที่ง่ายแก่คนสมัยนี้ ก็คือ เรามีหน้าที่พัฒนากรรม กรรมที่ไม่
ดีเป็นอกุศล ผิดพลาดต่างๆ เราศึกษาเรียนรู้แล้วก็ต้องแก้ไข การปฏิบัติธรรม
ตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือการพัฒนากรรม ให้เป็นกุศล หรือดียิ่งขึ้นๆ
ดังนั้น เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว ก็พิจารณาวิเคราะห์ตรวจสอบคุณ
ภาพและผลของกรรมนั้น ให้เห็นข้อยิ่ง ข้อหย่อน ส่วนที่ขาดที่พร่อง เป็นต้น
ตามหลักเหตุปัจจัยที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน แล้วแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะได้ทำ
กรรมที่ดียิ่งขึ้นไป
จะพูดว่า รู้กรรมเก่า เพื่อวางแผนทำกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไป ก็ได้

๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม
ที่พูดมานี้ เท่ากับบอกให้รู้ว่า เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมที่
แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า
ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า
กรรมเก่า (ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อ
เอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่
สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือ
วางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเรา
ให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถทำ
กรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด
นี่แหละคือคำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมจึงว่า คนที่วางใจ
ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรม(เก่า) นั้นแล กำลังทำกรรมใหม่(ปัจจุบัน) ที่
ผิด เป็นบาป คือความประมาท ได้แก่การปล่อยปละละเลย อันเกิดจาก
โมหะ และมองเห็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจาก
การกระทำ
ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอ
กรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอา
มาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่าง
เลิศประเสริฐได้ในอนาคต
มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า “คนเราเกิดมาเพื่อ
ใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธิ
นิครนถ์
ที่พูดกันมาอย่างนั้น ความจริงก็คงประสงค์ดี คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่อง
ร้าย ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้ายให้เพิ่มมากขึ้น ด้วย
ความโกรธแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา และจะมีผลเสียมาก
ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาลจนกระทั่งในอินเดียทุกวัน
นี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไรก็
เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่
แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์
นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ
คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์นี่
แหละ คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด ต่างแต่ว่า
พวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง แต่เขาบำเพ็ญตบะเพื่อทำกรรมเก่า
ให้หมดไปด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย
มีคำถามที่น่าสังเกตว่า “ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะ
หมดไปเองไหม-”
เมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง แต่ไม่หมดหรอก
ไม่ต้องอยู่เฉยๆ แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้
เหตุผลง่ายๆ คือ
๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำ
โน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ
๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะความ
หลง หรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริง
ถึงสัจธรรม
เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น เขาก็ทำกรรมใหม่
อยู่ตลอดเวลา แม้แต่โดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็เป็น
การกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท
ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย
ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขา
อยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล อยากโน่นอยากนี่
หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา
แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม ชดใช้
ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม
“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม?” การที่จะหมดกรรม ก็คือ ไม่ทำ
กรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น
จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม เป็นทำกุศลกรรม
และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล
ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น เราก็จะมีศีล มี
จิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม
พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม แต่หมดกรรมด้วย
การพัฒนากรรม คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ จนพ้นขั้นของกรรม
ไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำหรือ
ชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม

๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม
หลักกรรมอีกแง่หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือ กรรมที่แยกได้เป็น
๒ ระดับ ได้แก่
๑. กรรมระดับปัจเจกบุคคล ตามนัยพุทธพจน์เช่นว่า “กมฺมํ สตฺเต
วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย” เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า กรรมย่อมจำแนก
สัตว์ไปต่างๆ คือ ให้ทรามและประณีต
กรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนย่อย จึงเป็นส่วนฐานและ
เป็นแกนของหลักกรรมทั้งหมด เรื่องกรรมที่ได้อธิบายมาแล้วเน้นในระดับนี้
๒. กรรมในระดับสังคม ตามนัยพุทธพจน์ เช่นว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
กมฺมุนา วตฺตตี ปชา” แปลความว่า โลก (คือสังคมมนุษย์) เป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
กรรมในระดับนี้ ซึ่งเป็นกระแสร่วมกัน ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คืออาชีพ
การงาน ซึ่งทำให้หมู่มนุษย์มีวิถีชีวิตเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดสภาวะ
และวิถีของสังคมนั้นๆ ด้วย
แต่กรรมที่ลึกซึ้งและมีกำลังนำสังคมมากที่สุด ก็คือมโนกรรม เริ่ม
ด้วยค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของ
มนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการในการแสวงหาความสุขของเขา
แต่มโนกรรมที่มีกำลังอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ ทิฏฐิต่างๆ ซึ่งรวม
ถึงทฤษฎี ลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ อันประณีตลึกลงไปและฝังแน่น แล้ว
กำหนดนำชะตาของสังคมหรือของโลก สร้างประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิถี
แห่งอารยธรรม เช่น ทิฏฐิที่เชื่อและเห็นว่ามนุษยชาติจะบรรลุความสำเร็จมี
ความสุขสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแกนนำขับดันอารย
ธรรมตะวันตกมาสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรรมระดับสังคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มากอีกแง่หนึ่ง ขอพูดไว้เป็นแนวเพียง
เท่านี้




 

Create Date : 24 มีนาคม 2548    
Last Update : 24 มีนาคม 2548 19:10:51 น.
Counter : 291 Pageviews.  

ฉบับที่ ๒ ประจำวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง จักร ๔ สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔

[๑๔๐] จักร ๔ (ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย -
virtues wheeling one to prosperity)
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม - living in a
suitable region; good or favourable environment)
๒. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ - association with good people)
๓. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง -
setting oneself in the right course; aspiring and directing oneself in the right
way)
๔. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี,
ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น - having formerly done meritorious
deeds; to have prepared oneself with good background)

ธรรม ๔ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก
(virtues of great assistance) เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง
และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

A.11.32;
D.III.276. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๑/๔๑;
ที.ปา. ๑๑/๔๐๐/๒๙๓.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๘๔๗ - ๘๖๒. หน้าที่ ๓๗.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=847&Z=862&pagebreak=0


[๑๙๑] สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เบื้องหน้า,
หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นสูงขึ้นไป - virtues conducive to benefits in the
future; virtues leading to spiritual welfare)
๑. สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา - to be endowed with faith;
accomplishment of confidence)
๒. สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล - to be endowed with morality;
accomplishment of virtue)
๓. จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ - to be endowd with generosity;
accomplishment of charity)
๔. ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา - to be endowed with wisdom;
accomplishment of wisdom)

ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า สัมปรายิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า
สัมปรายิกัตถประโยชน์ (อัตถะ ก็แปลว่า ประโยชน์ จึงเป็นคำซ้ำซ้อนกัน)

A.IV.284. องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๔๔/๒๙๒.


ทีฆชาณุสูตร
[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะ
ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์
ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอก-
ไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉน
คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑ ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยง
ชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับ
ราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายใน
การงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภค-
*ทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว
ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล
ด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่
พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกร
พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัย
ในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคม
นั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจาร
บริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึง
พร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้
ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญ
ทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก
ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่าย
ของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง
หรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่ม
เข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่ง
โภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วย
คิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือ
รายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง
จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้า
กุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า
กุลบุตรผู้นี้
จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์
แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้
ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกร
พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม
๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑
มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่
มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทาง
ไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่
นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด
โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็น
นักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว
เพื่อนชั่ว ๑ ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ
๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลง
การพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือน
สระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า
ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้
สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด
โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็น
นักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดี
สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป
เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัทธา-
*สัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธา
คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้น
จากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็น
ที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสีลสัมปทา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิต
ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม
ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพยัคฆปัชชะ
นี้เรียกว่าจาคสัมปทา ฯ
ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มี
ปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรก
กิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา
ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข
ในภายหน้าแก่กุลบุตร ฯ
คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม
เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา
ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระ
ทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้
ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนาม
อันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์
ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้
ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๙๓๔ - ๖๐๒๕. หน้าที่ ๒๕๖ - ๒๖๐.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5934&Z=6025&pagebreak=0





 

Create Date : 18 มีนาคม 2548    
Last Update : 18 มีนาคม 2548 9:50:11 น.
Counter : 331 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.