Group Blog
 
All Blogs
 
กรรมนิยาม


การปรากฏผลของกรรม นอกจากอาศัยเหตุคือการกระทำกรรมแล้ว จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยาม หรือกฎธรรมชาตินั้นมีห้าอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว


นิยาม ๕

[๒๒๓] นิยาม ๕ กำหนดอันแน่นอน, ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ - orderliness of nature; the five aspects of natural law
๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ - physical inorganic order; physical laws
๒. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น - physical organic order; biological laws
๓. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต - psychic law
๔. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ - order of act and result; the law of Karma; moral laws
๕. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย - order of the norm; the general law of cause and effect; causality and conditionality)

DA.II.432;
DhsA.272. ที.อ. ๒/๓๔;
สงฺคณี.อ. ๔๐๘.


สมบัติ ๔

[๑๗๗] สมบัติ ๔ ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good
Karma
๑. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในกำเนิดอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้นสถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career
๒. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions
๓. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time
๔. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจังให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking

Vbh.339. อภิ.วิ. ๓๕/๘๔๐/๔๕๙.


วิบัติ ๔

[๑๗๖] วิบัติ ๔ (ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening of Karma.
๑. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ
ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)
๒. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.
๓. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time
๔. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate
undertaking

วิบัติ ๔ นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม เพราะการปรากฏของวิบาก นอกจากอาศัยเหตุคือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐานคือ คติ อุปธิ กาละ และปโยคะ เป็นปัจจัยประกอบด้วย กล่าวคือ จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยามหรือกฎธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว

Vbh. 338. อภิ.วิ. ๓๕/๘๔๐/๔๕๘.


ธรรมนิยาม ๓

[๘๖] ธรรมนิยาม ๓ กำหนดแห่งธรรมดา, ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา, กฎธรรมชาติ - orderliness of nature law
๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง – all conditioned states are impermanent
๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ – all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering
๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมคือ สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน - all states are not-self or soulless

หลักนี้ เรียกอีกอย่างว่า ไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณะ; พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนย.

A.I.285. องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘.



Create Date : 30 พฤษภาคม 2548
Last Update : 30 พฤษภาคม 2548 9:09:01 น. 9 comments
Counter : 696 Pageviews.

 
กะลังหาเวลามาอ่านทั้งบล๊อกอยู่


โดย: suparatta วันที่: 30 พฤษภาคม 2548 เวลา:9:26:07 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณลูกป้ามล หายไปนานเลยนะค่ะ

ขอบคุณสำหรับบทความให้ความรู้ค่ะ

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...

ขออนุญาติถามคำถามไ่ด้ไม๊ค่ะ คือ ถ้าเรากำลังสับสนมากๆ งงๆกับชีวิตตัวเองก็คือกรรมของเรากำหนดมาใช่ไม๊ึค่ะ หากเรายังไม่มีสติปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆก็คือปล่อยชีวิตไปตามกรรม บางทีการตั้งสติมันยากค่ะ ทำได้่ไม่นานสติก็แตกอีกตามกระแสโลก ถ้าคุณจะกรุณา ช่วยบอกวิธีกำหนดสติให้่จิตใจได้พักบ้างจะเป็นพระคุณมากค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ


โดย: เป่าจิน วันที่: 30 พฤษภาคม 2548 เวลา:14:22:35 น.  

 
สวัสดีครับคุณเป่าจิน ไม่ได้หายหน้าไปไหนหรอกครับ แต่มีเรื่องให้ทำเล็กน้อย ขอบคุณครับ ที่เข้ามาเยี่ยมชมนะครับ

สำหรับคำถามนะครับ ผมเองก็ไมได้เชี่ยวชาญอะไรมากนัก แต่ก็จะตอบตามประสบการณ์ของตัวเองที่เคยได้รับได้ปฏิบัติมา

กรรม การกระทำหมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตามชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเองไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่า บ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลยมีคนตกลงไปตายก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”


กรรม ๒ กรรมจำแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุมี ๒ คือ ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรม ชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล


กรรม ๓ กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรมมี๓ คือ ๑. กายกรรม การกระทำทางกาย ๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา ๓. มโนกรรม การกระทำทางใจ


กรรม ๑๒ กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลพระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ
หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมกรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล

หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ได้แก่
๕. ชนกกรรมกรรมแต่งให้เกิดหรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือ เข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
๗. อุปปีฬกกรรมกรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภก กรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือ กรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว

หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผลได้แก่
๙. ครุกกรรม กรรมหนักให้ผลก่อน
๑๐. พหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม กรรม ทำมากหรือกรรมชินให้ผลรองลงมา
๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อ ก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น
๑๒.กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อนหรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก


โดย: ลูกป้ามล IP: 203.114.224.48 วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:6:16:55 น.  

 
"ถ้าเรากำลังสับสนมากๆ งง ๆ กับชีวิตตัวเองก็คือกรรมของเรากำหนดมาใช่ไม๊ึค่ะ"
ไม่ใช่ครับ ความสับสนเกิดจากการที่เรามีสติไม่เท่าทันความคิดความรู้สึก ณ จุด ๆ หนึ่ง และมีความต่อเนื่องกันไป

“หากเรายังไม่มีสติปล่อยชีวิตไปเรื่อย ๆ ก็คือปล่อยชีวิตไปตามกรรม”
ไม่ใช่ครับ การปล่อยชีวิตไปเรื่อย ๆ ไม่ถือว่าปล่อยไปตามกรรมครับ ถือว่าเป็นการทอดธุระ ไม่ทำกิจที่ควรทำ

“บางทีการตั้งสติมันยากค่ะ ทำได้ไม่นานก็แตกอีกตามกระแสโลก”
การตั้งสติ จริง ๆ แล้วจะบอกว่ายากก็ไม่ยากนะครับ แต่หากจะบอกว่าง่าย ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นธรรมดามากครับ ที่เราจะเผลอสติไป เพราะไม่ได้กระทำบ่อย กระทำให้เชี่ยวชาญ การที่เราหลงไปกับโลกธรรม ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาอีก เพราะเรายังคงเป็นปุถุชน ที่ยังชุ่มไปด้วยกิเลส แต่เราก็สามารถทำให้เบาบางลงและหมดไปได้ครับ

“ช่วยบอกวิธีกำหนดสติให้จิตใจได้พักบ้าง”
สำหรับตัวผมเองนะครับ ผมก็ใช้หลักการง่าย ๆ เลยก็คือว่า “คนทุกคนต้องหายใจ” ครับ ทุกคนต้องหายใจ ไม่หายใจก็กลายเป็นศพ ดังนั้นเราก็เอาลมหายใจมาใช้ให้เกิดประโยชน์สิครับ วิธีที่ผมว่า ก็คือ อานาปานสติกัมมัฏฐาน คือกัมมัฏฐานที่ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก


โดย: ลูกป้ามล IP: 203.114.224.48 วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:6:20:35 น.  

 
ในที่นี้ ผมขอยกพระสูตรมาไว้ตรงนี้เลยนะครับ

อานาปานสติสูตร (๑๑๘)
(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค อานาปานสติสูตร )


[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา
ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี
พร้อมด้วยพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกัน
เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป
ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ
ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์
และ พระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ
ก็สมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายพากันโอวาทพร่ำสอนพวกภิกษุอยู่
คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง
ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่
ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ

[๒๘๓] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง
ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ
จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้
เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด
เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล
จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท
(คือวันเพ็ญเดือนสิบสอง)

พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่า
พระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น
จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท
จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะเพิ่มประมาณขึ้น
คือ ภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง
บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง
และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่
ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ

[๒๘๔] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง
ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท
วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ
จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย
ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ
ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก
และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท อันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร
ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ ฯ

[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ
สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว
พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ผู้เป็นอุปปาติกะ
เพราะ สิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕
จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ผู้เป็นพระสกคาทามี
เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง
และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ผู้เป็นพระโสดาบัน
เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง
มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญเมตตาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญกรุณาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอุเบกขาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่
แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้
ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่ ฯ

เมื่อท่านได้กล่าวจำแนกให้เห็นถึงพระสงฆ์ต่างๆในที่ประชุมนั้นแล้ว
ท่านได้กล่าวสรรเสริญการเจริญ อานาปานสติ ว่ามีผลมีอานิสงฆ์อันมาก
และ ได้จำแนกว่าเจริญอานาปานสติ ออกไปอย่างกว้างขวาง ต่อไปอีกว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
เธอย่อมมีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้
ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้
ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ

[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่
ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ
ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่
ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้
ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘


โดย: ลูกป้ามล IP: 203.114.224.48 วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:6:22:24 น.  

 
สูตรที่ ๘ ทีปสูตร
อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ


[๑๓๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

[๑๓๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก
มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้พิจารณา โดยความเห็นสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้วอย่าง นี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

[๑๓๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้
ครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยัง มิได้ตรัสรู้ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก
เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก จักษุไม่ลำบาก
และ จิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

[๑๓๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า
แม้กายของเรา ไม่พึงลำบาก จักษุของเราไม่พึงลำบาก
และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า
เราพึงสละ ความระลึกและความดำริของเราที่อาศัยเรือนนั้นเสีย
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละ ให้ดี.

[๑๓๓๒] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญ
ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๓] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญ
ในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๔] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญ ทั้งในสิ่งไม่ปฏิกูลและ
ในสิ่งปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๕] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งปฏิกูลและในสิ่ง
ไม่ปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๖] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเว้นสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย
แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๗] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงสงัดจากกาม สงัดจากกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละ ให้ดี.

[๑๓๓๘] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส
แห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแก่ สมาธิอยู่
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๓๙] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงมีอุเบกขา มีสติ
มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๐] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุจตุถฌาน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๑] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน
ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง
เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ มนสิการถึงนานัตตสัญญา
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๒] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน
ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๓] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน
ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรน้อยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๔] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า
เราพึงบรรลุ สัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

[๑๓๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง
ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามี กายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น
เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก.

[๑๓๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงลุกโพลงได้
ก็เพราะ อาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ พึงดับไป
ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น
เพราะสิ้นชีวิตเบื้องหน้าแต่กายแตก.

จบ สูตรที่ ๘


โดย: ลูกป้ามล IP: 203.114.224.48 วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:6:24:37 น.  

 
ขออภัยที่ออกจะยาวไปมากนะครับ ที่อ้างพระสูตรก็เพราะผมเองเป็นคนอธิบายอะไรไม่ค่อยเก่ง เรียบเรียงเป็นคำพูดไม่ได้ดีนัก อาจทำให้เข้าใจไขว้เขวไปได้

ในเบื้องต้น สรุปก็คือ คุณเป่าจินปฏิบัติโดยการหายใจเข้าออกให้ลึก ค่อย ๆ หายใจเข้า หายใจออก ทำไปซักพักหนึ่งก่อน เมื่อมีสติในระดับหนึ่งแล้ว จึงค่อยพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ

ขอให้ทำไปซักระยะหนึ่งก่อนนะครับ หากคุณเป่าจินพอจะสะดวกคุยกันทาง MSN กรุณาแอ็ดเมล์ผม nanasaranae@hotmail.com นะครับ เพื่อจะได้คุยกันในรายละเอียดในบางข้อครับ

รักษาธรรม ธรรมรักษา


โดย: ลูกป้ามล IP: 203.114.224.48 วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:6:49:24 น.  

 
สาธุค่ะ สำหรับคำตอบ

เวลาที่อ่านคำตอบไปเรื่อยๆ พยายามดูลมหายใจ ก็ได้สงบพอสมควรค่ะ แม้่จะอ่านไม่เข้าใจทั้งหมดเนื่องจากความรู้น้อย แต่ก็ได้สงบค่ะ ขอบคุณมากจริงๆค่ะ

มีคำถามอีกมากมายจะขออนุญาติเขียนอีเมลไปถามนะค่ะ ^_^


โดย: เป่าจิน วันที่: 31 พฤษภาคม 2548 เวลา:11:44:06 น.  

 
สุดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด


โดย: เเดง IP: 125.24.13.140 วันที่: 1 กรกฎาคม 2549 เวลา:17:30:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.