Group Blog
 
All Blogs
 
ฉบับที่ ๓ ประจำวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง กรรม

จากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับเดิม) หน้า ๒๐๐–๒๐๗
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)



๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์
คนไทยสมัยนี้ได้ยินคำว่า “กรรม” มักจะนึกไปในแง่ว่ากรรมจะตามมา
ให้เคราะห์ให้โทษอย่างไร พูดถึงกรรมก็จะนึกถึงอะไรอย่างหนึ่งที่คอยตามจะ
ลงโทษ หรือทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะคิดไปถึงชาติก่อน คือ
มองกรรมในแง่กรรมเก่า และเป็นเรื่องไม่ดี
คำว่า “กรรมเก่า” ก็บอกอยู่ในตัวเองแล้วว่า มันถูกจำกัดให้หดแคบ
เข้ามาเหลือเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเติมคำว่า “เก่า” เข้าไป กรรมก็เหลือแคบ
เข้ามา ยิ่งนึกในแง่ว่ากรรมไม่ดีอีก ก็ยิ่งแคบหนักเข้า รวมแล้วก็คือเป็นกรรม
ที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็เลยอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรม (เก่า-ที่ไม่ดี)
บางทีถึงกับมีการหาทางตัดกรรม เลยพลัดออกไปจากพระพุทธศาสนา
ความจริง กรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ คือเป็นเรื่องความเป็น
ไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตมนุษย์ ที่มีเจตนา มีการคิด การพูด และการ
กระทำ แสดงออก มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย แล้วก็เกิดผลต่อเนื่องกัน
ไปในความสัมพันธ์นั้น
ถ้ามัวไปยึดถือว่า แล้วแต่กรรมเก่าปางก่อนอย่างเดียว ก็จะทำกรรม
ใหม่ที่เป็นบาปอกุศลโดยไม่รู้ตัว
หมายความว่า ใครก็ตามที่ปลงว่า “แล้วแต่กรรม (เก่า)” นั้น ก็คือ
เขากำลังทำความประมาท ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำกรรมใหม่ที่ควรทำ
ความประมาทนั้นก็เลยเป็นกรรมใหม่ของเขา ซึ่งเป็นผลจากโมหะ แล้วกรรม
ใหม่ที่ประมาทเพราะโมหะหลงงมงายนั้น ก็จะก่อผลร้ายแก่เขาต่อไป
ความเชื่อว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่า กรรมปางก่อน หรือ
กรรมในชาติก่อน คือลัทธิกรรมเก่านั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่าปุพเพกตเหตุวาท
หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท ดังพุทธพจน์ที่แสดงแล้วข้างต้น
ท่านไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านสอนไม่ให้เชื่อว่าอะไรๆ
จะเป็นอย่างไรก็เพราะกรรมเก่า
- การเชื่อแต่กรรมเก่า ก็สุดโต่งไปข้างหนึ่ง
- การไม่เชื่อกรรมเก่า ก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
ได้กล่าวแล้วว่า “กรรม” พอเติม “เก่า” เข้าไป คำเดิมที่กว้าง
ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็หดแคบเข้ามาเหลืออยู่ส่วนเดียว อย่ามองกรรมที่กว้าง
สมบูรณ์ให้เหลือส่วนเดียวแค่กรรมเก่า
เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่ คือ
๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต ทั้งที่กรรมนั้นก็เป็นกลางๆ ไม่จำกัด
ถ้าแยกโดยกาลเวลาก็ต้องมี ๓ คือ กรรมเก่า (ในอดีต) กรรมใหม่ (ใน
ปัจจุบัน) กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) ต้องมองให้ครบ
๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัย
ที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด คือ ไม่มองเป็นกระแสหรือกระบวนการที่ต่อเนื่อง
อยู่ตลอดเวลา แต่มองเหมือนกับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตาม
เรามาจากชาติก่อน แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามองกรรมให้ถูกต้องทั้ง ๓ กาล และมองอย่างเป็นกระบวนการ
ของเหตุปัจจัย ในด้านเจตจำนง และการทำ-คิด-พูด ของมนุษย์ ที่ต่อเนื่อง
อยู่ตลอดเวลา ก็จะมองเห็นกรรมถูกต้อง ชัดเจนและง่ายขึ้น ในที่นี้ แม้จะไม่
อธิบายรายละเอียด แต่จะขอให้จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ ๒-๓ อย่าง
๑. ไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน คือ มองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อ
เนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้ และกำลังดำเนินสืบต่อไป
ถ้ามองกรรมให้ครบ ๓ กาล และมองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จาก
อดีต มาถึงบัดนี้ และจะสืบไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า กรรมเก่า (ส่วนอดีต) ก็
คือ เอาขณะปัจจุบันเดี๋ยวนี้เป็นจุดกำหนด นับถอยจากขณะนี้ ย้อนหลังไป
นานเท่าไรก็ตาม กี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม มาจนถึงขณะหนึ่งหรือวินาทีหนึ่ง
ก่อนนี้ ก็เป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) ทั้งหมด
กรรมเก่าทั้งหมดนี้ คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่ (ใน
ปัจจุบัน) ก็คือที่กำลังทำๆ ซึ่งขณะต่อไปหรือวินาทีต่อไป ก็จะกลายเป็นกรรม
เก่า (ส่วนอดีต) และอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมข้างหน้า ซึ่งยังไม่ถึง แต่จะทำใน
อนาคต
กรรมเก่านั้นยาวนานและมากนักหนา สำหรับคนสามัญ กรรมเก่าที่
จะพอมองเห็นได้ ก็คือกรรมเก่าในชาตินี้ ส่วนกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ก็อาจ
จะลึกล้ำเกินไป เราเป็นนักศึกษาก็ค่อยๆ เริ่มจากมองใกล้หน่อยก่อน แล้วจึง
ค่อยๆ ขยายไกลออกไป
อย่างเช่นเราจะวัดหรือตัดสินคนด้วยการกระทำของเขา กรรมใหม่ใน
ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร เราก็ดูจากกรรมเก่า คือความ
ประพฤติและการกระทำต่างๆ ของเขาย้อนหลังไปในชีวิตนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้ไป
นี่ก็กรรมเก่า ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เลย
๒. รู้จักตัวเอง ทั้งทุนที่มีและข้อจำกัดของตน พร้อมทั้งเห็นตระหนักถึงผล
สะท้อนที่ตนจะประสบ ซึ่งเกิดจากกรรมที่ตนได้ประกอบไว้
กรรมเก่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เพราะแต่ละคนที่เป็น
อยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมของกรรมเก่าของตนที่ได้สะสมมา ด้วยการทำ-พูด-
คิด การศึกษาพัฒนาตน และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในอดีตทั้งหมด
ตลอดมาจนถึงขณะหรือวินาทีสุดท้ายก่อนขณะนี้
กรรมเก่านี้ให้ผลแก่เรา หรือเรารับผลของกรรมเก่านั้นเต็มที่ เพราะ
ตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นผลรวมที่ปรากฏของกรรมเก่าทั้งหมดที่ผ่านมา
กรรมเก่านั้นเท่ากับเป็นทุนเดิมของเราที่ได้สะสมไว้ ซึ่งกำหนดว่า เรามีความ
พร้อม มีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ และทางปัญญาเท่า
ไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ อะไรเหมาะกับตัวเรา เราจะ
ทำได้แค่ไหน และควรจะทำอะไรต่อไป
ประโยชน์ที่สำคัญของกรรมเก่า ก็คือการรู้จักตัวเองดังที่ว่านั้น ซึ่งจะ
เกิดขึ้นได้ ด้วยการรู้จักวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง โดยไม่มัวแต่ซัดทอด
ปัจจัยภายนอก
การรู้จักตัวเองนี้ นอกจากช่วยให้ทำการที่เหมาะกับตนอย่างได้ผลดีแล้ว
ก็ทำให้รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไปด้วย
๓. แก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวสู่การทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่า ในที่สุด
การปฏิบัติถูกต้องที่จะได้ประโยชน์จากกรรมเก่ามากที่สุด ก็คือ การทำกรรม
ใหม่ ที่ดีกว่ากรรมเก่า
ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนารวมอยู่ในไตรสิกขา
อันได้แก่การฝึกศึกษาพัฒนาตน ในการที่จะทำกรรมที่ดีได้ยิ่งขึ้นไป ทั้ง
- ในขั้นศีล คือการฝึกกาย วาจา สัมมาอาชีวะ รวมทั้งการสัมพันธ์
กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
- ในขั้นสมาธิ คือฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่าจิตภาวนาทั้งหมด
และ
- ในขั้นปัญญา คือความรู้คิดเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตาม
ความเป็นจริง และสามารถใช้ความรู้นั้นแก้ไขปรับปรุงกรรม ตลอดจนแก้
ปัญหาดับทุกข์หมดไปมิให้มีทุกข์ใหม่ได้
พูดสั้นๆ ก็คือ แม้ว่ากรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไป
สยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนาชีวิตของเราที่เป็นผลรวม
ของกรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น
ถ้าจะใช้คำที่ง่ายแก่คนสมัยนี้ ก็คือ เรามีหน้าที่พัฒนากรรม กรรมที่ไม่
ดีเป็นอกุศล ผิดพลาดต่างๆ เราศึกษาเรียนรู้แล้วก็ต้องแก้ไข การปฏิบัติธรรม
ตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือการพัฒนากรรม ให้เป็นกุศล หรือดียิ่งขึ้นๆ
ดังนั้น เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว ก็พิจารณาวิเคราะห์ตรวจสอบคุณ
ภาพและผลของกรรมนั้น ให้เห็นข้อยิ่ง ข้อหย่อน ส่วนที่ขาดที่พร่อง เป็นต้น
ตามหลักเหตุปัจจัยที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน แล้วแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะได้ทำ
กรรมที่ดียิ่งขึ้นไป
จะพูดว่า รู้กรรมเก่า เพื่อวางแผนทำกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไป ก็ได้

๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม
ที่พูดมานี้ เท่ากับบอกให้รู้ว่า เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมที่
แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า
ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า
กรรมเก่า (ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อ
เอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่
สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือ
วางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเรา
ให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถทำ
กรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด
นี่แหละคือคำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมจึงว่า คนที่วางใจ
ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรม(เก่า) นั้นแล กำลังทำกรรมใหม่(ปัจจุบัน) ที่
ผิด เป็นบาป คือความประมาท ได้แก่การปล่อยปละละเลย อันเกิดจาก
โมหะ และมองเห็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจาก
การกระทำ
ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอ
กรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอา
มาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่าง
เลิศประเสริฐได้ในอนาคต
มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า “คนเราเกิดมาเพื่อ
ใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธิ
นิครนถ์
ที่พูดกันมาอย่างนั้น ความจริงก็คงประสงค์ดี คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่อง
ร้าย ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้ายให้เพิ่มมากขึ้น ด้วย
ความโกรธแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา และจะมีผลเสียมาก
ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาลจนกระทั่งในอินเดียทุกวัน
นี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไรก็
เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่
แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์
นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ
คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์นี่
แหละ คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด ต่างแต่ว่า
พวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง แต่เขาบำเพ็ญตบะเพื่อทำกรรมเก่า
ให้หมดไปด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย
มีคำถามที่น่าสังเกตว่า “ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะ
หมดไปเองไหม-”
เมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง แต่ไม่หมดหรอก
ไม่ต้องอยู่เฉยๆ แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้
เหตุผลง่ายๆ คือ
๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำ
โน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ
๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะความ
หลง หรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริง
ถึงสัจธรรม
เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น เขาก็ทำกรรมใหม่
อยู่ตลอดเวลา แม้แต่โดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็เป็น
การกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท
ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย
ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขา
อยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล อยากโน่นอยากนี่
หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา
แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม ชดใช้
ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม
“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม?” การที่จะหมดกรรม ก็คือ ไม่ทำ
กรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น
จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม เป็นทำกุศลกรรม
และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล
ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น เราก็จะมีศีล มี
จิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม
พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม แต่หมดกรรมด้วย
การพัฒนากรรม คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ จนพ้นขั้นของกรรม
ไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำหรือ
ชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม

๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม
หลักกรรมอีกแง่หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือ กรรมที่แยกได้เป็น
๒ ระดับ ได้แก่
๑. กรรมระดับปัจเจกบุคคล ตามนัยพุทธพจน์เช่นว่า “กมฺมํ สตฺเต
วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย” เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า กรรมย่อมจำแนก
สัตว์ไปต่างๆ คือ ให้ทรามและประณีต
กรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนย่อย จึงเป็นส่วนฐานและ
เป็นแกนของหลักกรรมทั้งหมด เรื่องกรรมที่ได้อธิบายมาแล้วเน้นในระดับนี้
๒. กรรมในระดับสังคม ตามนัยพุทธพจน์ เช่นว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
กมฺมุนา วตฺตตี ปชา” แปลความว่า โลก (คือสังคมมนุษย์) เป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
กรรมในระดับนี้ ซึ่งเป็นกระแสร่วมกัน ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คืออาชีพ
การงาน ซึ่งทำให้หมู่มนุษย์มีวิถีชีวิตเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดสภาวะ
และวิถีของสังคมนั้นๆ ด้วย
แต่กรรมที่ลึกซึ้งและมีกำลังนำสังคมมากที่สุด ก็คือมโนกรรม เริ่ม
ด้วยค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของ
มนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการในการแสวงหาความสุขของเขา
แต่มโนกรรมที่มีกำลังอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ ทิฏฐิต่างๆ ซึ่งรวม
ถึงทฤษฎี ลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ อันประณีตลึกลงไปและฝังแน่น แล้ว
กำหนดนำชะตาของสังคมหรือของโลก สร้างประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิถี
แห่งอารยธรรม เช่น ทิฏฐิที่เชื่อและเห็นว่ามนุษยชาติจะบรรลุความสำเร็จมี
ความสุขสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแกนนำขับดันอารย
ธรรมตะวันตกมาสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรรมระดับสังคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มากอีกแง่หนึ่ง ขอพูดไว้เป็นแนวเพียง
เท่านี้



Create Date : 24 มีนาคม 2548
Last Update : 24 มีนาคม 2548 19:10:51 น. 1 comments
Counter : 292 Pageviews.

 
ชอบมากขอบคุณ


โดย: ชัย IP: 117.47.76.194 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:09:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.