Group Blog
 
All Blogs
 
ฉบับที่ ๔ ประจำวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ เรื่อง บุพนิมิตแห่งมรรค

เครื่องหมายบอกล่วงหน้า ๗ ประการ
คัดลอกจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)



[๒๘๐] บุพนิมิตแห่งมรรค ๗ ธรรมที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ดุจแสงอรุณเป็นบุพนิมิตของการที่ดวงอาทิตย์จะอุทัย, แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี, รุ่งอรุณของการศึกษา - a foregoing sign for the arising of the Noble Eightfold Path; precursor of the Noble Path; harbinger of a good life or of the life of learning
๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร, มีมิตรดี, คบหาคนที่เป็นแหล่งแห่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี - good company; having a good friend; association with a good and wise person
๒. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล, การทำศีลให้ถึงพร้อม, ตั้งตนอยู่ในวินัยและมีความประพฤติทั่วไปดีงาม - perfection of morality; accomplishment in discipline and moral conduct
๓. ฉันทสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ, การทำฉันทะให้ถึงพร้อม, ความใฝ่ใจอยากจะทำกิจหน้าที่และสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องให้ดีงาม, ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ - perfection of aspiration; accomplishment in constructive desire
๔. อัตตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยตนที่ฝึกดีแล้ว, การทำตนให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของผู้ที่พัฒนาแล้วให้สมบูรณ์ ทั้งด้านกาย ศีล จิตและปัญญา [ที่จะเป็น ภาวิตัตต์ คือผู้มีตนอันได้พัฒนาแล้ว] - perfection of oneself; accomplishment in self that has been well trained; dedicating oneself to training for the realization one's full human potential; self-actualization
๕. ทิฏฐิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ, การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม, การตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อถือที่ถูกต้องดีงามมีเหตุผล เช่น ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย - perfection of view; accomplishment in view; to be established in good and reasoned principles of thought and belief
๖. อัปปมาทสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท, การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม - perfection of heedfulness; accomplishment in diligence
๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ, การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม, ความฉลาดคิดแยบคายให้เห็นความจริงและหาประโยชน์ได้ - perfection of wise reflection; accomplishment in systematic attention

เมื่อใดธรรมที่เป็นบุพนิมิต ๗ ประการนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมีในบุคคลแล้ว เมื่อนั้นย่อมเป็นอันหวังได้ว่าเขาจักเจริญพัฒนา ทำให้มาก ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐคือจักดำเนินก้าวไปในมัชฌิมาปฏิปทา

ดู [๓๔] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ๒, [๒๙๓] มรรคมีองค์ ๘.
S.V.๓๐-๓๑. Vbh.๒๗๗ สํ.ม. ๑๙/๑๓๐-๑๓๖/๓๖
//84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=280

[๒๙๓] มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ” (the noble Eightfold Path); องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท - Right View; Right Understanding
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป - Right Thought (ดู [๖๙] กุศลวิตก ๓)
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔ - Right Speech
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓ - Right Action
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ - Right Livelihood
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน ๔ - Right Effort
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ - Right Mindfulness
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ - Right Concentration

องค์ ๘ ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ ๓ ข้อต้น คือ ข้อ ๓-๔-๕ เป็น ศีล ข้อ ๖-๗-๘ เป็น สมาธิ ข้อ ๑-๒ เป็น ปัญญา ดู [๑๒๔] สิกขา ๓; [๒๐๔] อริยสัจจ์ ๔; และหมวดธรรมที่อ้างถึงทั้งหมด

มรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ดู [๑๕] ที่สุด ๒

D.II.๓๒๑; M.I.๖๑; M,III.๒๕๑; Vbh.๒๓๕.
ที.ม. ๑๐/๒๙๙/๓๔๘; ม.มู. ๑๒/๑๔๙/๑๒๓; ม.อุ. ๑๔/๗๐๔/๔๕๓; อภิ.วิ. ๓๕/๕๖๙/๓๐๗.
//84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=293

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑ มิตรดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๒๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อนเพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีมิตรดี ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑

สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ สีลสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นสิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล พึงหวังข้อนี้ได้ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๒

ฉันทสัมปทาสูตรที่ ๑ ฉันทสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๒] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๓

อัตตสัมปทาสูตรที่ ๑ อัตตสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๓] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งตน (ความถึงพร้อมแห่งจิต) ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๔

ทิฏฐิสัมปทาสูตรที่ ๑ ทิฏฐิสัมปทาเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๔] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๕

อัปปมาทสัมปทาสูตรที่ ๑ ความไม่ประมาทเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๕] ... คือ ความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๖

โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค
[๑๓๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่ง

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.
[๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายย่อมเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๖๘๐ - ๗๓๑. หน้าที่ ๓๐ - ๓๑.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=680&Z=731&pagebreak=0




Create Date : 01 เมษายน 2548
Last Update : 1 เมษายน 2548 12:17:27 น. 1 comments
Counter : 584 Pageviews.

 
สาธุค่ะ : )

ไปเยี่ยมบล็อกแดดเช้าบ้างนะ
เขียนบันทึกธรรมะไว้เหมือนกันค่ะ


โดย: แดดเช้า วันที่: 1 เมษายน 2548 เวลา:23:53:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.