Group Blog
 
All Blogs
 

คณกโมคคัลลานสูตร

คณกโมคคัลลานสูตร (๑๐๗)

[๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ตัวอย่างเช่นปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือกระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องเล่าเรียน แม้พวกนักรบเหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องใช้อาวุธ แม้พวกข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณ มีอาชีพในทางคำนวณ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือในเรื่องนับจำนวน เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว เริ่มต้นให้นับอย่างนี้ว่า หนึ่ง หมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้า หก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบ หมวดสิบ ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยแม้นี้ ให้เหมือนอย่างนั้น ฯ

[๙๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เริ่มต้นทีเดียว ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ ขึ้นไป ฉันใด ดูกรพราหมณ์ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเริ่มต้น ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ฯ

[๙๕] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วจงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด เธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ... เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด ฯ

[๙๖] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ คือ พึงบริโภคอาหาร พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อจะประดับ มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลยบริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อบรรเทาความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยอุบายนี้ เราจะป้องกันเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ ความอยู่สบายจักมีแก่เรา ฯ

[๙๗] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ คือ จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี พึงเอาเท้าซ้อนเท้า มีสติรู้สึกตัวทำความสำคัญว่า จะลุกขึ้น ไว้ในใจแล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอด มัชฌิมยามแห่งราตรี จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด ฯ

[๙๘] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่งเถิด ฯ

[๙๙] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟางเถิด ภิกษุนั้นจึงพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌาในโลกแล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้ ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้ ฯ

[๑๐๐] เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถ้อยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ดูกรพราหมณ์ ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้อยู่นั้น เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้ ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะผู้ชอบนั้น ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบาย ในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ ฯ

[๑๐๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน ทุกรูปทีเดียวหรือหนอ หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี ฯ
ค. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ พระโคดมผู้เจริญผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย จึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วง ส่วนบางพวกก็ไม่ยินดี ฯ

[๑๐๒] พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ ฯ
ค. แน่นอน พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้นไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้วจักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ จำทางผิดกลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ต่อมา บุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ดูกรพราหมณ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่ แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้ามคนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี ฯ
ค. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง ฯ

[๑๐๓] พ. ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี ดูกรพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ ฯ

[๑๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา ประสงค์จะเลี้ยงชีวิต ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมายา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ยกตัว กลับกลอก ปากกล้า มีวาจาเหลวไหล ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น ไม่มุ่งความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพ กล้าในสิกขา มีความประพฤติมักมาก มีความปฏิบัติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในทางเชือนแช ทอดธุระในความสงัดเงียบ เกียจคร้าน ละเลยความเพียรหลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มั่นคง มีจิตรวนเร มีปัญญาทราม เป็นดังคนหนวกคนใบ้ พระโคดมผู้เจริญย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ยกตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า ไม่มีวาจาเหลวไหล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น มุ่งความเป็นสมณะ เคารพกล้าในสิกขา ไม่มีความประพฤติมักมาก ไม่มีความปฏิบัติย่อหย่อน ทอดธุระในทางเชือนแช เป็นหัวหน้าในความสงัดเงียบ ปรารภความเพียร ส่งตนไปในธรรม ตั้งสติมั่น รู้สึกตัว มั่นคง มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวก คนใบ้ พระโคดมผู้เจริญย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เปรียบเหมือนบรรดาไม้ที่มีรากหอม เขากล่าวกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม เขากล่าวแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม เขากล่าวดอกมะลิว่าเป็นเลิศฉันใด โอวาทของพระโคดมผู้เจริญ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บัณฑิตกล่าวได้ว่าเป็นเลิศในบรรดาธรรมของครูอย่างแพะที่นับว่าเยี่ยม แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบ คณกโมคคัลลานสูตร ที่ ๗

-----------------------------------------------------
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
บรรทัดที่ ๑๕๗๑ - ๑๗๓๔. หน้าที่ ๖๗ - ๗๓.
//84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=1571&Z=1734&pagebreak=0




 

Create Date : 18 กันยายน 2548    
Last Update : 18 กันยายน 2548 14:04:02 น.
Counter : 400 Pageviews.  

คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙



[๑๙] บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป
หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อยๆ
ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้
หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ
พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น
แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย[พอประมาณ] จักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ [ฉันใด]
คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาป [ฉันนั้น]
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ
นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ
ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก เว้นทางที่ควรกลัว
ดุจบุรุษผู้ใคร่ ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น
ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ
ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ
ผู้เป็นพาลดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น
คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก ย่อมเข้าถึงนรก
ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป
ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว
พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ ไม่มีเลย
อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไปส่วนแห่งแผ่นดิน
ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุ[ความตาย]พึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย ฯ

จบปาปวรรคที่ ๙
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=587&Z=617&pagebreak=0




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2548    
Last Update : 29 มิถุนายน 2548 15:21:02 น.
Counter : 304 Pageviews.  

กรรมสูตร ปาวาสูตร มหากัสสปสูตร ทูตสูตร


อุทาน นันทวรรคที่ ๓


๑. กรรมสูตร

[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งนั่ง
คู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้า
เผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ ไม่พรั่นพรึงอยู่ พระผู้มี-
*พระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกล
อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ
ไม่พรั่นพรึงอยู่ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ภิกษุละกรรมทั้งหมดได้แล้ว กำจัดกรรมเป็นดังธุลีที่ตนทำ
ไว้แล้วในก่อนไม่มีการยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น คงที่
ประโยชน์ที่จะกล่าวกะชน (ว่าท่านจงทำยาเพื่อเรา) ย่อมไม่มี ฯ


จบสูตรที่ ๑
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๐๕๐ - ๒๐๖๕. หน้าที่ ๙๐.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2050&Z=2065&pagebreak=0


๗. ปาวาสูตร

[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อชกลาปกเจดีย์ อันเป็นที่อยู่
แห่งอชกลาปกยักษ์ ใกล้เมืองปาวา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ
ที่แจ้ง ในความมืดตื้อในราตรี และฝนก็กำลังโปรยละอองอยู่ ครั้งนั้นแล
อชกลาปกยักษ์ใคร่จะทำความกลัว ความหวาดเสียว ขนลุกชูชันให้เกิดขึ้น
แก่พระผู้มีพระภาคจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทำเสียงว่า
อักกุโล ปักกุโล อักกุลปักกุลัง ขึ้น ๓ ครั้ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
แล้วกล่าวว่า ดูกรสมณะ นั่นปีศาจปรากฏแก่ท่าน ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็น
พราหมณ์ ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจและเสียงว่า
ปักกุลอย่างนี้ ฯ


จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๕๔๙ - ๑๕๖๓. หน้าที่ ๖๗.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=1549&Z=1563&pagebreak=0


๗. มหากัสสปสูตร

[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาป-
*สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปนั่งเข้าสมาธิ
อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ โดยบัลลังก์เดียว ที่ถ้ำปิปผลิคูหา สิ้น ๗ วัน ครั้น
พอล่วง ๗ วันนั้นไปท่านพระมหากัสสปก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสป
ออกจากสมาธินั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปบิณฑบาตยัง
พระนครราชคฤห์เถิด ก็สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวาย
เพื่อจะให้ท่านพระมหากัสสปได้บิณฑบาต ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระมหา-
*กัสสปห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วนุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ ฯ

[๘๐] ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงพระประสงค์จะถวาย
บิณฑบาตแก่ท่านพระมหากัสสป จึงทรงนิรมิตเพศเป็นนายช่างหูกทอหูกอยู่
นางอสุรกัญญาชื่อว่าสุชาดากรอด้ายหลอดอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเที่ยว
ไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ตามลำดับตรอก เข้าไปถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็นท่านพระมหากัสสปมาแต่ไกล ครั้นแล้ว
เสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับบาตรจากมือ เสด็จเข้าไปสู่เรือน ทรงคด
ข้าวออกจากหม้อใส่เต็มบาตร แล้วทรงถวายแด่ท่านพระมหากัสสป บิณฑบาตนั้น
มีสูปะและพยัญชนะเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคิดว่า สัตว์นี้
เป็นใครหนอแล มีอิทธานุภาพเห็นปานนี้ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป
มีความคิดว่าท้าวสักกะจอมเทพหรือหนอแล ท่านพระมหากัสสปทราบดังนี้แล้ว
ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า ดูกรท้าวโกสีย์ มหาบพิตรทำกรรมนี้แล้วแล
มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมเห็นปานนี้แม้อีก ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า ข้าแต่ท่าน
พระมหากัสสปผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าก็ต้องการบุญ แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำเพราะบุญ
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสป ทรงทำประทักษิณ
แล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส เปล่งอุทาน ๓ ครั้งในอากาศว่า

โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป ฯ

[๘๑] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานของท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเหาะ
ขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ทรงเปล่งอุทานในอากาศ ๓ ครั้งว่า

โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป ฯ

ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ลำดับนั้นแลพระผู้มี-
*พระภาคทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่สงบแล้ว
มีสติทุกเมื่อ ฯ


จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๓๐๗ - ๒๓๔๖. หน้าที่ ๑๐๐ - ๑๐๒.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2307&Z=2346&pagebreak=0


ทูตสูตร

[๑๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควร
ไปเป็นทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้รับฟัง ๑ ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑ เรียนดี ๑ ทรงจำไว้ดี ๑ รู้เอง ๑ ให้ผู้อื่นรู้ ๑
เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑ ไม่ก่อการทะเลาะ ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรไปเป็น
ทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้รับฟัง ๑ ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑ เรียนดี ๑ ทรงจำไว้ดี ๑ รู้เอง ๑ ให้ผู้อื่นรู้ ๑
เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑ ไม่ก่อการทะเลาะ ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้ ฯ

ภิกษุใดแล สอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน
ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย
และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้นั้นแล ควรไปเป็น
ทูตได้ ฯ

จบสูตรที่ ๖
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๓๙๙๘ - ๔๐๑๓. หน้าที่ ๑๗๓ - ๑๗๔.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=3998&Z=4013&pagebreak=0





 

Create Date : 21 มิถุนายน 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2548 12:21:26 น.
Counter : 310 Pageviews.  

เบญจศีล เบญจธรรม


[๒๓๙] เบญจธรรม หรือ เบญจกัลยาณธรรม ธรรม ๕, ธรรมอันดีงามห้าอย่าง, คุณธรรมห้าประการ คู่กับเบญจศีล เป็นธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศีล ผู้รักษาเบญจศีลควรมีไว้ประจำใจ - the five ennobling virtues; virtues enjoined by the five precepts

๑. เมตตาและกรุณา ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ - loving-kindness and compassion คู่กับศีลข้อที่ ๑
๒. สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต - right means of livelihood คู่กับศีลข้อที่ 2
๓. กามสังวร ความสังวรในกาม, ความสำรวมระวังรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส - sexual restraint คู่กับศีลข้อที่ ๓
๔. สัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง - truthfulness, sincerity คู่กับศีลข้อที่ ๔
๕. สติสัมปชัญญะ ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ คือ ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวเสมอว่า สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท - mindfulness and awareness; temperance คู่กับศีลข้อที่ ๕

ข้อ ๒ บางแห่งเป็น ทาน การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ - giving; generosity
ข้อ ๓ บางแห่งเป็น สทารสันโดษ ความพอใจด้วยภรรยาตน - contentment with one's own wife
ข้อ ๕ บางแห่งเป็น อัปปมาทะ ความไม่ประมาท – heedfulness

เบญจธรรมนี้ ท่านผูกเป็นหมวดธรรมขึ้นภายหลัง จึงมีแปลกกันไปบ้าง เมื่อว่าโดยที่มา หัวข้อเหล่านี้ส่วนใหญ่ประมวลได้จากความท่อนท้ายของกุศลกรรมบถข้อต้น ๆ


[๒๓๘] ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ความประพฤติชอบทางกายและวาจา, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน — the Five Precepts; rules of morality
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน - to abstain from killing
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน - to abstain from stealing
๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน - to abstain from sexual misconduct
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง - to abstain from false speech)
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ – to abstain from intoxicants causing heedlessness)

ศีล ๕ ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท ๕ ข้อปฏิบัติในการฝึกตน - training rulesบ้าง ธรรม ๕ บ้าง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล (virtuous) คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลังมีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล (ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ - virtues to be observed uninterruptedly) บ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ - virtues of man) บ้าง

D.III.235;
A.III.203,275;
Vbh.285. ที.ปา. ๑๑/๒๘๖/๒๔๗;
องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๒/๒๒๗; ๒๖๔/๓๐๗;
อภิ.วิ. ๓๕/๗๗/๓๘๘



๑๕. อุตตราวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในอุตตราวิมาน

[๑๕] พระมหาโมคคัลลานะถามว่า
แน่ะนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงาม มีรัศมีสว่างไสวฉายแสงไปทั่วทุกทิศ
เหมือนกับดาวประกายพฤกษ์ เพราะทำบุญอะไรไว้ ท่านจึงมีผิวพรรณงาม
ถึงอย่างนี้ เพราะทำบุญอะไรไว้ อิฐผลจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ และ
โภคทรัพย์อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเกิดขึ้นแก่ท่าน ดูกร
นางเทพธิดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ อาตมาขอถามท่าน ครั้งท่านยังเป็น
มนุษย์อยู่ได้ทำบุญสิ่งใดไว้ ท่านจึงมีอานุภาพอันรุ่งเรืองถึงอย่างนี้ อนึ่ง
รัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะทำบุญอะไรไว้?

นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีใจยินดีได้พยากรณ์
ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่า
เมื่อครั้งดิฉันยังปกครองบ้านเรือนอยู่ ดิฉันไม่มีความริษยา ไม่มีความ
ตระหนี่ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ตีเสมอ ไม่โกรธ ไม่ประพฤตินอกใจสามี
ไม่ประมาทในวันอุโบสถและวันปกติ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์
๘ ประการ ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และ
ตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ระมัดระวังในนิจศีลและอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด
ตลอดกาลทุกเมื่อ ขณะที่อยู่ในวิมาน ดิฉันมีความสำรวมจำแนกทาน ยินดี
ในสิกขาบททั้ง ๕ คือ งดเว้นจากปาณาติบาตอย่างเด็ดขาด ๑ งดเว้นจาก
ความเป็นขโมยอย่างห่างไกล ๑ ไม่ประพฤติล่วงประเวณี ๑ ระมัดระวัง
ในการพูดเท็จ ๑ สำรวมการดื่มน้ำเมาอย่างเด็ดขาด ๑ ดิฉันเป็นผู้ฉลาดใน
อริยสัจธรรม เป็นอุบาสิกาของพระโคดมผู้มีพระจักษุเปรื่องยศ ดิฉันนั้น
ผู้ยิ่งยศโดยยศได้ก็เพราะศีลของตนเอง ดิฉันได้เสวยผลแห่งบุญของตน
อยู่ จึงสุขกายสุขใจปราศจากโรค เพราะการกระทำและการประพฤติอย่าง
นั้น ดิฉันจึงมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ อิฐผลสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ได้
ก็เพราะการกระทำและการประพฤติอย่างนั้น โภคทรัพย์อันเป็นที่รัก
แห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแก่ดิฉันก็เพราะการกระทำอย่างนั้น ข้าแต่ภิกษุ
ผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่
ได้บำเพ็ญกิจและประพฤติสิ่งใดไว้ เพราะการกระทำและความประพฤติ
นั้นดิฉันจึงมีอานุภาพอย่างรุ่งโรจน์ถึงเช่นนี้ อนึ่ง รัศมีกายของดิฉันสว่าง
ไสวไปทั่วทุกทิศ ก็เพราะการกระทำและความประพฤตินั้น.

ก็และนางเทพธิดาได้กราบเรียนต่อไปว่า
ขอท่านได้กรุณานำไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคตามคำของดิฉันด้วยเถิดว่า
นางอุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพึงทรงพยากรณ์ดิฉัน ในสามัญผล
อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย
แต่ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันในสกทาคามิผล นั้นน่าอัศจรรย์.

จบ อุตตราวิมานที่ ๑๕
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๓๖๕ - ๔๐๑. หน้าที่ ๑๕ - ๑๖.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=365&Z=401&pagebreak=0




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2548    
Last Update : 14 มิถุนายน 2548 9:41:53 น.
Counter : 905 Pageviews.  

กรรมนิยาม


การปรากฏผลของกรรม นอกจากอาศัยเหตุคือการกระทำกรรมแล้ว จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยาม หรือกฎธรรมชาตินั้นมีห้าอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว


นิยาม ๕

[๒๒๓] นิยาม ๕ กำหนดอันแน่นอน, ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ - orderliness of nature; the five aspects of natural law
๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ - physical inorganic order; physical laws
๒. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น - physical organic order; biological laws
๓. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต - psychic law
๔. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ - order of act and result; the law of Karma; moral laws
๕. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย - order of the norm; the general law of cause and effect; causality and conditionality)

DA.II.432;
DhsA.272. ที.อ. ๒/๓๔;
สงฺคณี.อ. ๔๐๘.


สมบัติ ๔

[๑๗๗] สมบัติ ๔ ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good
Karma
๑. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในกำเนิดอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้นสถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career
๒. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions
๓. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time
๔. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจังให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking

Vbh.339. อภิ.วิ. ๓๕/๘๔๐/๔๕๙.


วิบัติ ๔

[๑๗๖] วิบัติ ๔ (ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening of Karma.
๑. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ
ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)
๒. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.
๓. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time
๔. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate
undertaking

วิบัติ ๔ นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม เพราะการปรากฏของวิบาก นอกจากอาศัยเหตุคือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐานคือ คติ อุปธิ กาละ และปโยคะ เป็นปัจจัยประกอบด้วย กล่าวคือ จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยามหรือกฎธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว

Vbh. 338. อภิ.วิ. ๓๕/๘๔๐/๔๕๘.


ธรรมนิยาม ๓

[๘๖] ธรรมนิยาม ๓ กำหนดแห่งธรรมดา, ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา, กฎธรรมชาติ - orderliness of nature law
๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง – all conditioned states are impermanent
๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ – all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering
๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมคือ สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน - all states are not-self or soulless

หลักนี้ เรียกอีกอย่างว่า ไตรลักษณ์ หรือ สามัญลักษณะ; พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนย.

A.I.285. องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘.




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2548 9:09:01 น.
Counter : 694 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.