Group Blog
 
All Blogs
 
กรรมสูตร ปาวาสูตร มหากัสสปสูตร ทูตสูตร


อุทาน นันทวรรคที่ ๓


๑. กรรมสูตร

[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งนั่ง
คู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้า
เผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ ไม่พรั่นพรึงอยู่ พระผู้มี-
*พระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกล
อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ
ไม่พรั่นพรึงอยู่ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ภิกษุละกรรมทั้งหมดได้แล้ว กำจัดกรรมเป็นดังธุลีที่ตนทำ
ไว้แล้วในก่อนไม่มีการยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น คงที่
ประโยชน์ที่จะกล่าวกะชน (ว่าท่านจงทำยาเพื่อเรา) ย่อมไม่มี ฯ


จบสูตรที่ ๑
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๐๕๐ - ๒๐๖๕. หน้าที่ ๙๐.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2050&Z=2065&pagebreak=0


๗. ปาวาสูตร

[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อชกลาปกเจดีย์ อันเป็นที่อยู่
แห่งอชกลาปกยักษ์ ใกล้เมืองปาวา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ
ที่แจ้ง ในความมืดตื้อในราตรี และฝนก็กำลังโปรยละอองอยู่ ครั้งนั้นแล
อชกลาปกยักษ์ใคร่จะทำความกลัว ความหวาดเสียว ขนลุกชูชันให้เกิดขึ้น
แก่พระผู้มีพระภาคจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทำเสียงว่า
อักกุโล ปักกุโล อักกุลปักกุลัง ขึ้น ๓ ครั้ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
แล้วกล่าวว่า ดูกรสมณะ นั่นปีศาจปรากฏแก่ท่าน ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็น
พราหมณ์ ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจและเสียงว่า
ปักกุลอย่างนี้ ฯ


จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๑๕๔๙ - ๑๕๖๓. หน้าที่ ๖๗.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=1549&Z=1563&pagebreak=0


๗. มหากัสสปสูตร

[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาป-
*สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปนั่งเข้าสมาธิ
อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ โดยบัลลังก์เดียว ที่ถ้ำปิปผลิคูหา สิ้น ๗ วัน ครั้น
พอล่วง ๗ วันนั้นไปท่านพระมหากัสสปก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสป
ออกจากสมาธินั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปบิณฑบาตยัง
พระนครราชคฤห์เถิด ก็สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวาย
เพื่อจะให้ท่านพระมหากัสสปได้บิณฑบาต ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระมหา-
*กัสสปห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วนุ่งผ้าอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ ฯ

[๘๐] ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงพระประสงค์จะถวาย
บิณฑบาตแก่ท่านพระมหากัสสป จึงทรงนิรมิตเพศเป็นนายช่างหูกทอหูกอยู่
นางอสุรกัญญาชื่อว่าสุชาดากรอด้ายหลอดอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเที่ยว
ไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ตามลำดับตรอก เข้าไปถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็นท่านพระมหากัสสปมาแต่ไกล ครั้นแล้ว
เสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับบาตรจากมือ เสด็จเข้าไปสู่เรือน ทรงคด
ข้าวออกจากหม้อใส่เต็มบาตร แล้วทรงถวายแด่ท่านพระมหากัสสป บิณฑบาตนั้น
มีสูปะและพยัญชนะเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคิดว่า สัตว์นี้
เป็นใครหนอแล มีอิทธานุภาพเห็นปานนี้ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป
มีความคิดว่าท้าวสักกะจอมเทพหรือหนอแล ท่านพระมหากัสสปทราบดังนี้แล้ว
ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า ดูกรท้าวโกสีย์ มหาบพิตรทำกรรมนี้แล้วแล
มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมเห็นปานนี้แม้อีก ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า ข้าแต่ท่าน
พระมหากัสสปผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าก็ต้องการบุญ แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำเพราะบุญ
ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสป ทรงทำประทักษิณ
แล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส เปล่งอุทาน ๓ ครั้งในอากาศว่า

โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป ฯ

[๘๑] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานของท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเหาะ
ขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ทรงเปล่งอุทานในอากาศ ๓ ครั้งว่า

โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป
โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่งเราตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสป ฯ

ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ลำดับนั้นแลพระผู้มี-
*พระภาคทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่สงบแล้ว
มีสติทุกเมื่อ ฯ


จบสูตรที่ ๗
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๓๐๗ - ๒๓๔๖. หน้าที่ ๑๐๐ - ๑๐๒.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=2307&Z=2346&pagebreak=0


ทูตสูตร

[๑๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควร
ไปเป็นทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้รับฟัง ๑ ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑ เรียนดี ๑ ทรงจำไว้ดี ๑ รู้เอง ๑ ให้ผู้อื่นรู้ ๑
เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑ ไม่ก่อการทะเลาะ ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรไปเป็น
ทูตได้ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้รับฟัง ๑ ให้ผู้อื่นรับฟัง ๑ เรียนดี ๑ ทรงจำไว้ดี ๑ รู้เอง ๑ ให้ผู้อื่นรู้ ๑
เป็นผู้ฉลาดต่อสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ๑ ไม่ก่อการทะเลาะ ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรไปเป็นทูตได้ ฯ

ภิกษุใดแล สอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน
ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย
และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้นั้นแล ควรไปเป็น
ทูตได้ ฯ

จบสูตรที่ ๖
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๓๙๙๘ - ๔๐๑๓. หน้าที่ ๑๗๓ - ๑๗๔.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=3998&Z=4013&pagebreak=0





Create Date : 21 มิถุนายน 2548
Last Update : 21 มิถุนายน 2548 12:21:26 น. 0 comments
Counter : 312 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.