Group Blog
 
All Blogs
 

นิทานภาพ เรื่อง โคมไฟขี้ใจน้อย






















 

Create Date : 09 มกราคม 2549    
Last Update : 9 มกราคม 2549 14:09:15 น.
Counter : 460 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๑๒ รู้เท่าทันชั้นเชิงกิจการ

จากหนังสือ คุณสมบัติของผู้มีโชคลาภ ๗ ประการ
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นบุตรเศรษฐีที่เมืองราชคฤห์ มีทรัพย์อยู่ ๔๐ โกฏิ ๔๐ โกฏิ นี่ก็ ๔๐๐ ล้าน กหาปณะ คราวหนึ่งอหิวาตกโรคระบาดหนัก

เมื่ออหิวาตกโรคก็แล้วแต่ มาถึงเศรษฐีและภรรยา เขาทั้งสองก็ร้องไห้ ด้วยว่ามีหน้านองด้วยน้ำตา มองดูบุตรซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แล้วก็กล่าวว่า การหนีโรคชนิดนี้ท่านว่าต้องพังฝาเรือนไป เจ้าจงทำอย่างนั้นเถิด อย่าได้ห่วงใยพ่อและแม่เลย เมื่อยังไม่ตายก็จงกลับมาขุดเอาทรัพย์ที่พ่อและแม่ฝังไว้ ๔๐ โกฏิ เลี้ยงชีวิตต่อไป

เด็กน้อยเชื่อมารดาร้องไห้แล้วก็ไหว้ท่านทั้งสอง แล้วก็พังฝาเรือนหนีไป ไปอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่งเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี จึงกลับมา เมื่อเขากลับมาใคร ๆ ก็จำเขาไม่ได้ เพราะว่าตอนไปยังเด็กกลับมาเมื่อตอนเป็นหนุ่มแล้วมีหนวดเครารุงรัง คราวนี้เด็กหนุ่มคนนี้ไปตรวจดูที่ฝังทรัพย์ เห็นยังเรียบร้อยดีทุกอย่าง เขาก็คิดต่อไปว่า ใคร ๆ ก็จำเราไม่ได้ ถ้าเราขุดเอาทรัพย์ออกไปใช้สอยคนทั้งหลายก็จะประหลาดใจว่า คนเข็ญใจนี้ไปเอาทรัพย์มาจากที่ไหนก็จะจับตัว เราก็จะถูกจับแล้วคนทั้งหลายก็จะเบียดเบียนเรา อย่ากระนั้นเลย เราเก็บทรัพย์ไว้อย่างเดิมก่อน แล้วไปรับจ้างทำงานเลี้ยงชีพดีกว่า เขาตกลงใจอย่างนี้แล้วก็ออกหางานทำ ไปได้งานรับจ้างปลุกคนงานในที่แห่งหนึ่ง หน้าที่ของเขาก็คือตื่นแต่เช้ามืดเที่ยวปลุกคนงานให้ลุกขึ้น เตรียมเกวียน หุงข้าว หุงข้าวต้ม ข้าวสวย เป็นต้น ก็ได้เรือนหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ แล้วอยู่คนเดียว รวมความว่าไปได้งานเป็นแขกยาม เขาได้ทำหน้าที่นั้นอย่างดีที่สุดไม่บกพร่อง ไม่เคยนอนตื่นสาย

เช้าวันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้สดับเสียงของเขา พระเจ้าพิมพิสารมีพระคุณสมบัติพิเศษ คือทรงรู้เสียงสัตว์ทุกชนิด เมื่อทรงสดับเสียงของชายหนุ่มคนนี้จึงได้ตรัสว่า เสียงของคนคนนี้เป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก นางสนมคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้ คิดว่าพระราชาคงไม่ได้ตรัสอะไรเหลวไหลเป็นแน่แท้ จึงรีบสั่งคนผู้หนึ่งให้ไปสืบดู แต่ความจริงกลับปรากฏว่าเป็นเสียงของชายเข็ญใจคนหนึ่ง รับจ้างเป็นแขกยามคอยปลุกทุกคนให้ตื่นขึ้นทำงาน พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วก็ทรงเฉยเสีย

ในวันที่ ๒ และวันที่ ๓ เมื่อทรงสดับฟังเสียงของชายผู้นั้นอีกก็ทรงตรัสเช่นเดียวกัน นางสนมก็คิดว่าพระราชาไม่เคยตรัสอะไรเหลวไหล จะต้องมีอะไรลี้ลับอยู่เป็นแน่ จึงทูลพระราชาว่า หากข้าพระองค์ได้ทรัพย์สักพันหนึ่ง ข้าพระองค์ก็จะไปทำอุบายเอาทรัพย์จากชายคนนั้นมาให้ราชสกุลให้จงได้ พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันให้นางสนม นางและลูกสาวแกล้งแต่งตัวปอน ๆ ทำทีเป็นคนยากจนไปยังถนนเป็นที่อยู่ของคนรับจ้าง เข้าไปขอพักอาศัยในเรือนหลังหนึ่ง แต่เจ้าของบ้านปฏิเสธ บอกว่ามีคนอยู่มากแล้วให้ไปขออาศัยชายคนหนึ่งชื่อ กุมภโฆสก ซึ่งอยู่คนเดียว นางสนมไปขออาศัยอยู่กับบ้านของกุมภโฆสก คือผู้ชายคนที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เขาปฏิเสธหลายครั้งแต่นางก็อ้อนวอนจนได้ กุมภโฆสกยอมให้พักอย่างเสียไม่ได้

วันรุ่งขึ้นเมื่อกุมภโฆสกจะออกไปทำงานนอกบ้าน นางได้ขอค่าอาหารไว้สำหรับทำอาหารให้ กุมภโฆสกปฏิเสธบอกว่า ไม่ต้องก็ได้ ฉันทำกินเองได้ ฉันทำกินของฉันมาตลอด แต่นางสนมก็ยังคงอ้อนวอนจนได้ แต่ไม่ได้ใช้ทรัพย์ของกุมภโฆสกไปซื้อหาอะไรเลย เพียงสักแต่ว่ารับไว้เท่านั้น นางได้ไปซื้อเครื่องแกง เครื่องครัว ข้าวสารอาหารอย่างดีมาปรุงอาหารให้อร่อยอย่างชาววัง อาหารนั้นรสเลิศสมควรแก่พระราชาเสวย เมื่อกุมภโฆสกกลับมาได้ลิ้มรสอาหารเช่นนั้น ก็ชื่นชมเบิกบาน นางรู้อาการนั้นแล้วจึงขอพักต่อไป คราวนี้กุมภโฆสกก็อนุญาตด้วยความพอใจ นางได้หุงต้มอย่างดีให้กุมภโฆสกและก็ขอพักอาศัยยืดเยื้อเรื้อรังเรื่อยมา นางวางอุบายเพื่อให้กุมภโฆสกตกหลุมรักกับบุตรีของตน จึงแอบตัดเชือกเตียงของกุมภโฆสก

อันนี้ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจ ว่าเตียงนั้นเป็นเตียงโครงไม้ถักด้วยเชือก ในอินเดียเขาจะใช้เตียงแบบนั้น โครงไม้แต่ถักด้วยเชือก จึงได้ไปแอบตัดเชือกเตียงนอนของกุมภโฆสกจนเขานอนไม่ได้ เมื่อกุมภโฆสกถามก็บอกว่าพวกเด็กเข้ามาเล่นจนเตียงขาด เมื่อกุมภโฆสกบอกว่าเขาไม่มีที่นอนแล้วจะทำอย่างไร นางก็ให้ไปนอนกับบุตรีของตน ทั้งสองก็ได้เสียกันในคืนนั้น กุมารีร้องไห้บอกว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้เป็นแม่ก็บอกว่าช่างเถอะ ๆ เจ้าทั้งสองก็เหมาะสมกันดีแล้ว กุมภโฆสกนี่ก็มีเมียเพราะเชือกเตียงขาดแท้ ๆ

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน นางสนมก็ส่งสารไปถึงพระราชา ว่าขอให้มีพระบรมราชโองการให้จัดงานมหรสพในย่านถนนพวกรับจ้างทำงาน คนใดไม่จัดทำมหรสพในเรือนนั้นจะต้องถูกปรับ พระราชาทรงมีพระบรมราชโองการอย่างนั้น นางจึงพูดกับกุมภโฆสกว่า พระราชาทรงจัดให้มีมหรสพทุกบ้านเรือน ใครไม่ทำจะถูกปรับ พวกเราจะต้องทำตามพระบรมราชโองการขัดขืนไม่ได้ กุมภโฆสกบอกแม่ยายว่า เขาทำงานรับจ้างก็เพียงได้รับอาหารรับประทานไปมื้อ ๆ เท่านั้น จะเอาเงินที่ไหนมาจัดงานมหรสพ

แม่ยายก็บอกว่า ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนต้องมีหนี้บ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าไม่มีก็ไปยืมใครมาก่อนใช้หนี้เขาทีหลังก็ได้ ไปเถอะไปยืมมาสัก ๑ กหาปณะหรือ ๒ กหาปณะก็พอ กุมภโฆสกติเตียนแม่ยายพึมพำแล้ว ออกจากบ้านไปนำกหาปณะที่ฝังไว้มา ๑ กหาปณะแล้วก็มอบให้แม่ยาย นางก็ได้แอบส่งกหาปณะไปถวายพระราชา พอล่วงไปอีก ๒-๓ วัน นางก็ขอให้พระราชารับสั่งให้มีมหรสพอีก กุมภโฆสกจึงต้องไปนำกหาปณะมา ๑ กหาปณะอีก นางได้ส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระราชาเช่นเคย

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน ผู้หญิงคนนั้นได้ส่งข่าวไปขอให้พระราชาสั่งคนมารับกุมภโฆสกเข้าไปในพระราชนิเวศน์ พระราชาก็ได้สั่งราชบุรุษให้ไปรับ พระราชบุรุษก็มาที่ถนนเป็นที่อาศัยอยู่ของพวกคนรับจ้าง ถามหากุมภโฆสก เมื่อพบตัวแล้ว จึงได้บอกว่าพระราชารับสั่งให้เข้าเฝ้า

กุมภโฆสกไม่ปรารถนาที่จะไป บอกว่าพระราชาไม่เคยรู้จักตัวเขาเรื่องอะไรจะต้องรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อไม่ยอมไปโดยดีพระราชบุรุษก็ฉุดไปโดยพลการ นางสนมเห็นอย่างนั้นจึงทำทีเป็นขุ่นเคืองแล้วก็ขู่ตะคอก บอกพระราชบุรุษพวกนี้ไม่มีมารยาท ไม่สมควรฉุดบุตรเขยของตน แล้วก็หันมาปลอบกุมภโฆสกว่า ไปเถิดลูก ไปเถิด เมื่อไปถึงพระราชวังแล้ว แม่จะกราบทูลพระราชาให้ตัดมือตัดเท้าของคนพวกนี้เสีย นางได้รีบพาบุตรีล่วงหน้าไปก่อน เมื่อไปถึงพระราชวังก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสียใหม่ แต่งแบบชาววังยืนเฝ้าพระราชาอยู่

กุมภโฆสกถูกฉุดกระชากลากถูมาเฝ้าพระราชาจนได้ พระราชาก็ตรัสถามว่าเจ้าชื่อ กุมภโฆสกใช่หรือไม่ เขาทูลตอบว่าใช่ พระราชาตรัสว่าทำไมจึงปกปิดทรัพย์เป็นอันมากไว้ เขาทูลว่า เขาไม่มีทรัพย์ เป็นคนยากจนหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง พระราชาก็ตรัสว่าอย่าหลอกลวง เรารู้ว่าเจ้ามีทรัพย์ เสียงของเจ้าบอกว่า เจ้ามีทรัพย์

ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนยากจน ไม่มีทรัพย์เลย เขายังคงยืนยันกับพระราชา แล้วพระราชาก็ชูกหาปณะให้ดู ตรัสว่านี่เป็นกหาปณะของใคร

กุมภโฆสกจำกหาปณะของตนได้ คิดว่ากหาปณะมาถึงพระหัตถ์ของพระราชาได้อย่างไร มองดูไปทางโน้นทางนี้จึงได้เห็นหญิงทั้งสองแต่งกายสวยงามอย่างชาววังยืนเฝ้าอยู่ริมพระทวารห้อง เขาจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตลอด

พระราชาจึงได้ตรัสถามต่อไปว่า พูดไปเถอะกุมภโฆสก พูดไปเถอะ ทำไมเจ้าจึงทำอย่างนี้ ทำไมเจ้าจึงปกปิดทรัพย์สินอันมากไว้ กุมภโฆสกจึงเล่าความคิดของตนเองให้พระราชาทรงทราบโดยตลอด แล้วสรุปว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่งจึงปกปิดทรัพย์เอาไว้ พระราชาตรัสว่าคนอย่างพระองค์พอจะเป็นที่พึ่งได้หรือไม่

“ได้แน่นอน ได้แน่นอนพระเจ้าข้า”

ถ้าอย่างนั้นทรัพย์ของเจ้ามีเท่าไหร่ ก็ทูลบอกว่ามี ๔๐ โกฏิ พระเจ้าข้า ถ้า ๔๐ โกฏิ ก็ควรจะต้องเอาเกวียนไปบรรทุกมา พระราชารับสั่งให้เอาเกวียนไปขนทรัพย์ของเขามากองอยู่หน้าพระลานหลวง รับสั่งให้คนในเมืองราชคฤห์มาประชุมกัน แล้วก็ตรัสถามว่าในเมืองนี้มีใครมีทรัพย์เท่านี้บ้าง ราษฎรก็กราบทูลว่าไม่มี พระราชาตรัสถามว่าควรจะทำอย่างไรกับกุมภโฆสก ประชาชนกราบทูลว่าควรจะยกย่องให้เป็นเศรษฐี พระราชาจึงได้แต่งตั้งให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐี กุมภโฆสกได้เป็นเศรษฐี แล้วพระราชทานบุตรีของนางสนมนั้นให้เป็นภรรยา และก็เสด็จไปสำนักของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยกุมภโฆสก

พระราชาได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็กราบทูลว่า นี่คือกุมภโฆสกเศรษฐีคนใหม่ของข้าพระองค์ คนมีปัญญาอย่างนี้ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นเลย มีทรัพย์ถึง ๔๐ โกฏิ ก็มิได้มีอาการเย่อหยิ่ง มิได้อวดตน มิได้มีความทะนงตัว ทำตนประดุจคนเข็ญใจ นุ่งผ้าเก่า ๆ ทำงานรับจ้างอยู่ที่ถนนเป็นที่อาศัยอยู่ของคนรับจ้าง เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองหรือห่อเพชร เป็นคนที่รู้จักรักษาตัวรู้จักถนอมตัว ว่าในสถานการณ์แบบนี้ควรทำอย่างไร พระราชาได้ทรงเล่าเรื่องทั้งปวงถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็สรุปลงว่า ไม่เคยเห็นคนที่มีปัญญาแยบคายอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสนองพระดำริ คือทรงเห็นด้วยกับคำกราบทูลของพระเจ้าพิมพิสาร

แล้วก็ตรัสว่า มหาบพิตร ชีวิตของคนผู้เป็นอยู่อย่างกุมภโฆสกนี้ชื่อว่าประกอบด้วยธรรม มีความสุขความเจริญเป็นผล ส่วนโจรกรรม เป็นต้น เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนบีบคั้น มีความทุกข์เป็นผล ในคราวเสื่อมทรัพย์ การประกอบอาชีพเช่นทำนา การรับจ้าง ชื่อว่าเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยธรรม ความเป็นใหญ่ หรือยศย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติมีการงานบริสุทธิ์ ใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้วจึงทำ สำรวมระหว่างกายวาจาใจด้วยดี เลี้ยงชีวิตโดยธรรมไม่ประมาท นี่เป็นพระพุทธดำรัสที่ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารและกุมภโฆสก




 

Create Date : 29 มีนาคม 2548    
Last Update : 30 มีนาคม 2548 15:24:48 น.
Counter : 333 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๙ พระมหากัปปินเถระ

เรียบเรียงจาก หนังสือทางแห่งความดี เล่ม ๒
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ




ในอดีต พระมหากัปปินะ เกิดเป็นหัวหน้าช่างหูกในหมู่บ้านใกล้กรุงพาราณสี ครั้งนั้นมีพระปัจเจกพระพุทธเจ้าประมาณพันรูปพักอยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสี เมื่อถึงฤดูฝนต้องการทำที่อยู่อาศัย จึงส่งตัวแทน ๘ รูปไปเฝ้าพระราชา เพื่อทูลขอ บังเอิญเวลานั้นเป็นเวลามีงานมงคลแรกนาขวัญ พระราชามีภาระยุ่ง เมื่อทรงทราบเหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามาเฝ้าแล้ว จึงตรัสว่าวันนี้ไม่มีเวลา เพราะกำลังเตรียมงานที่จะมีในพรุ่งนี้ จะทำเสนาสนะถวายในวันที่ ๓ พระปัจเจกพุทธเจ้าคิดว่า จะไปขอความอนุเคราะห์จากที่อื่น จึงหลีกไป

ขณะเดินทางกลับได้พบภรรยาของหัวหน้าช่างหูก นางทราบความแล้วมีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้รับอาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

“พวกเรามีมากด้วยกัน-น้องหญิง” พระปัจเจกพุทธเจ้าบอก นางถามว่ามีเท่าไหร่

“มีประมาณพันรูป”

“ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้ามีประมาณพันคนเหมือนกัน คนหนึ่งจักถวายภิกษาแก่พระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ขอท่านจงรับอาหารที่บ้านของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าผู้เดียวจะทำที่อยู่ถวายท่านทั้งหลาย”

พระปัจเจกพุทธเจ้ารับอาราธนา

นางเที่ยวป่าวประกาศให้เพื่อนบ้านทราบว่าได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าพันรูป ขอให้ทุกคนจัดแจงที่นั่งและจัดอาหาร

นางได้สร้างปะรำใหญ่กลางบ้าน ปูอาสนะไว้เรียบร้อยเลี้ยงพระเสร็จแล้ว ขอให้พระพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น เมื่อท่านรับแล้วนางก็ป่าวประกาศ ขอแรงเพื่อนบ้านให้ช่วยกันสร้างเสนาสนะถวาย

ในวันออกพรรษา นางได้ชวนคนทั้งหลายถวายจีวรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วลาจากไป

นางและบริวารทำบุญอย่างนี้ไปเกิดในภพดาวดึงส์

มาในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป เทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้นเกิดในกรุงพาราณสีอีก หัวหน้าช่างหูกเป็นบุตรของกุฎุมพีใหญ่ ภรรยาของเขาได้มาเกิดเป็นธิดาของกุฎมพีใหญ่เหมือนกัน เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานกัน ส่วนบริวารก็มาเกิดในสกุลกุฎุมพีบริวาร และได้แต่งงานกันเหมือนกัน

วันหนึ่งมีการป่าวร้องให้คนไปฟังธรรมในวัด พวกกุฎุมพีเหล่านั้นก็ชวนกันไป เมื่อไปถึงกลางวัด ฝนตกลงมา คนพวกอื่นที่มีภิกษุหรือสามเณรที่คุ้นเคยก็เข้าไปอาศัยกุฎิของภิกษุหรือสามเณรนั้น แต่พวกกุฎุมพีพันคนไม่มีญาติหรือสามเณรที่สนิทสนมเลย จึงยืนตากฝนอยู่กลางวัด

หัวหน้ากุฎุมพีรู้สึกละอายในสภาพเช่นนั้นของตน จึงกล่าวกับกุฎุมพีทั้งหลายว่า ควรจะรวบรวมทรัพย์สร้างเสนาสนะกันเถิด จึงเรี่ยไรทรัพย์กัน หัวหน้าออกพันหนึ่ง บริวารออกคนละ ๕๐๐ พวกผู้หญิงออก ๒๕๐ ทำที่ประทับของศาสดา มีเรือนยอดพันหลังเป็นบริวาร เมื่อทรัพย์ไม่เพียงพอ ได้ออกอีกคนละครึ่งของจำเดิมที่ออกไว้ เมื่อเสนาสนะเสร็จแล้วได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วันจัดจีวรถวายสงฆ์ ๒๐,๐๐๐รูป

ภรรยาของหัวหน้ากุฏุมพี ได้ถวายผอบดอกอังกาบและผ้ามีสีดอกอังกาบราคาพันหนึ่ง แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า

“ด้วยอานุภาพแห่งทานนี้ ขอหม่อมฉันจงมีสรีระดุจดอกอังกาบในชาติต่อไป และขอให้มีชื่อว่าอโนชา”

พระศาสดาทรงอนุโมทนา


ชนเหล่านั้นทั้งหมดตายแล้วเกิดในเทวโลก มาในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมของเรานี้ คนเหล่านั้นลงมาเกิดในมนุษยโลก หัวหน้ากุฏุมพีเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร ต่อมาได้เป็นพระราชาพระนามว่ามหากัปปินะ คนอื่นๆเกิดในสกุลอำมาตย์ ได้เป็นราชบริวาร ส่วนภรรยาของหัวหน้ากุฎุมพีเกิดในราชตระกูลในนครสาคละแคว้นมัททะ พระนางมีผิวดังดอกอังกาบ มีพระนามว่า ‘อโนชา’ เมื่อทรงเจริญวัยแล้วได้อภิเษกสมรสกับพระมหากัปปินะ

ด้วยนิสัยอันสั่งสมไว้กับพระรัตนตรัย พระราชามหากัปปินะ ให้คนเที่ยวถามข่าวพระรัตนตรัยแต่ไม่ได้ข่าวเลย

วันหนึ่งพระราชาทรงม้า ชื่อ สุปัตต์ เสด็จไปยังอุทยาน มีอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร เห็นพ่อค้าม้าประมาณ ๕๐๐ มีอาการอ่อนเพลีย ดำริว่าคนพวกนี้เดินทางมาไกล คงจะมีข่าวดีอะไรบ้าง จึงไต่ถาม พ่อค้าบอกข่าวการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

พระราชาปีติมาก พระราชทานทรัพย์ให้พ่อค้าม้าเหล่านั้น ๓ แสน พระราชาบอกอำมาตย์ว่าจะไม่กลับเข้าวังอีก จะออกบวช อำมาตย์ก็จะเสด็จด้วย พระราชาจึงส่งสาส์นถึงพระนางอโนชาเทวีว่าให้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ พวกอำมาตย์ก็เขียนถึงภรรยาตนเช่นนั้นเหมือนกัน

แล้วพระราชาก็มุ่งสู่สาวัตถี

เช้าวันนั้น พระศาสดาตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลก ทรงเห็นเรื่องราวของพระราชามหากัปปินะ และพระอุปนิสัยแห่งอรหัตผลแล้ว จึงเสด็จมาแต่เช้า มาต้อนรับพระราชาประทับนั่งเปล่งรัศมีอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระราชามาถึงฝั่งแม่น้ำอารวปัจฉา ไม่มีเรือหรือแพจะข้ามจึงตรัสว่า “เมื่อพวกเรามัวคิดหาเรืออยู่ ความเกิดย่อมนำไปสู่ความแก่ ความแก่นำไปสู่ความตาย เราไม่มีความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย เราบวชอุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำนี้อย่าได้เป็นเหมือนน้ำเลย”

ดังนี้แล้วระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แล้วขับม้าลงในแม่น้ำ พร้อมด้วยอำมาตย์พันคน ม้าทั้งหลายเหมือนวิ่งบนแผ่นหิน ปลายกีบก็มิได้เปียกน้ำ

ทรงพบแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ชื่อ นีลวาหนา ก็ข้ามมาได้โดยวิธีเดียวกัน โดยระลึกถึงคุณพระธรรม

เมื่อเสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ก็ระลึกถึงคุณพระสงฆ์แล้วข้ามมา
เมื่อทรงข้ามแม่น้ำจันทภาคาได้แล้ว ได้เห็นรัศมี ๖ สี อันพุ่งจากพระสรีระของพระศาสดา กิ่งใบของต้นไทรมีสีดั่งทองคำ ทอดพระเนตรเห็นสิ่งมหัศจรรย์ จึงทรงดำริว่า

“แสงสว่างนี้มิใช่แสงจันทร์ แสงอาทิตย์หรือแสงสว่างแห่งเทวดามารพรหม การที่เราออกบวชอุทิศพระมหาสมณโคดมนั้น พระองค์คงจะรู้แล้วเสด็จมาต้อนรับเป็นแน่แท้”

ดังนี้แล้ว เสด็จลงจากหลังม้า น้อมพระกายเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคตามสายแห่งพระรัศมี เสด็จเข้าภายใต้พระรัศมีประหนึ่งดำลงไปในมโนสิลารส ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่งอยู่ พร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพันคน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงต้อนรับ และทรงแสดงอนุปุพพิกถา เมื่อจบอนุปพพิกถา พระราชาและบริวารได้สำเร็จโสดาปัตติผล ได้ลุกขึ้นทูลขอบวช พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า “บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ของคนพวกนี้มีหรือหนอ”ทรงทราบด้วยพระญาณว่ามี เพราะอานิสงส์ที่เคยถวายจีวรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ๒ หมื่นรูป สมัยพระพุทธเจ้าพระนามกัสสป ดังนั้นการพวกเขาจะได้บาตรและจีวร จึงมิใช่ของอัศจรรย์ ดังนี้แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออกพลางตรัสว่า

“ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้สิ้นทุกข์โดยชอบเถิด”

ฝ่ายพวกพ่อค้าม้านำความไปกราบทูลพระนางอโนชาเทวี ทรงทราบแล้ว ทรงมีความรู้สึกเดียวกับพระราชา เต็มตื้นไปด้วยปิติโสมนัส พระราชทานทรัพย์แก่พ่อค้ามา ครั้งละ ๓ แสน ๓ ครั้ง

พระนางอโนชาเทวีทรงดำริว่า การยอมรับพระราชสมบัติที่พระราชาทรงสละแล้วนั้น เหมือนรับน้ำลายที่บ้วนทิ้งแล้ว ราชสมบัติไม่ได้นำทุกข์มาให้เพียงแต่พระราชา แต่ได้นำทุกข์มาให้เราเหมือนกัน เราไม่ต้องการราชสมบัติ เราจะออกบวชอุทิศพระศาสดาเหมือนกัน

ทรงแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภรรยาของอำมาตย์ ภรรยาเหล่านั้นก็พร้อมใจกัน ตามเสด็จออกบวช

เสด็จข้ามแม่น้ำทั้ง ๓ สาย โดยทำนองเดียวกับพระราชา เสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งแล้วทูลถามถึงพระราชสวามีว่า เสด็จออกบวชอุทิศพระพุทธองค์ คงจะเสด็จมาที่นี่

พระผู้มีพระภาคเจ้าบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน รับสั่งว่า

“ขอท่านทั้งหลายจงนั่งฟังธรรมก่อน ท่านทั้งหลายจะได้เห็นสามีของท่าน ณ ที่นี้เอง”

หญิงเหล่านั้นมีจิตยินดีว่าจะได้เห็นของตน พระศาสดาทรงแสดงธรรม คืออนุปุพพิกกถามีทาน เป็นต้น ให้หญิงเหล่านั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ส่วนพระมหากัปปินเถระพร้อมทั้งบริวารทรงสดับธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ได้บรรลุอรหัตผล ณ ที่นั้นเอง พระศาสดาทรงทราบดังนั้นแล้วทรงคลายฤทธิ์ให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน

การที่พระศาสดาทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้หญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตนในเบื้องต้นก็เพราะว่า หากหญิงเหล่านั้นได้เห็นสามีของตนบวชเป็นภิกษุ ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสายะ จิตใจจะฟุ้งซ่าน จิตใจไม่ดิ่งลงเป็นหนึ่ง แต่เมื่อพวกเธอได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว มีศรัทธาอันไม่คลอนแคลนแล้ว พระพุทธองค์จึงให้พวกเธอได้เห็นสามีของตน ไม่มีอันตรายในการประพฤติธรรมอีกแล้ว

หญิงเหล่านั้นขอบวช พระศาสดารับสั่งให้เดินทางไปบวชในสำนักภิกษุณีที่วัดเชตวันกรุงสาวัตถี พระพุทธองค์เองก็ทรงพาภิกษุใหม่ไปสู่วัดเชตวันเหมือนกัน

บรรดาภิกษุทั้งพันรูปนั้น พระมหากัปปินเถระ จะนั่ง ยืน เดิน นอน ที่ใดก็ตาม เปล่งอุทานอยู่เสมอว่า “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”

ภิกษุทั้งหลายได้ยินดังนั้นเข้าใจว่า พระมหากัปปินะระลึกถึงความสุขในราชสมบัติจึงเปล่งอุทานดังนั้น จึงนำความไปกราบทูลพระศาสดา

พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พระมหากัปปินะเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า “กัปปินะ ได้ยินว่าเธอเปล่งอุทานปรารภกามสุข และสุขในราชสมบัติจริงหรือ”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ย่อมทรงทราบดีว่าข้าพระองค์ เปล่งอุทานเพราะปรารภกามสุขหรือไม่”

พระพุทธองค์ทรงทราบความจริง จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย มหากัปปินะ บุตรของเราเปล่งอุทานหาใช่เพราะปรารภกามสุขไม่ แต่เพราะปรารภเนกขัมมสุข นิพพานสุข จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น”




 

Create Date : 27 มีนาคม 2548    
Last Update : 27 มีนาคม 2548 15:28:00 น.
Counter : 277 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๘ บัณฑิตสามเณร

เรียบเรียงจาก หนังสือทางแห่งความดี เล่ม ๒
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



ในอดีตกาล สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สองหมื่นเสด็จไปยังพาราณสี ชาวเมืองชวนถวายทานตามกำลังของตน

เมื่อเสร็จภัตตกิจ พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุโมทนาใจ ความว่า คนบางคนทำบุญเอง แต่มิได้ชวนคนอื่น เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ บางคนชักชวนคนอื่นทำแต่ไม่ทำเอง เมื่อเกิดในที่ใด ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ บางคนไม่ทำเองด้วย ไม่ชักชวนผู้อื่นด้วย เมื่อเกิดในที่ใดย่อมไม่ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ส่วนบางคนทำเองด้วย ชักชวนผู้อื่นด้วย เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ

ขณะนั้นมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งได้ฟังอนุโมทนาแล้วคิดว่า เราจะทำบุญอันเป็นเหตุให้ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ จึงไปเฝ้าอาราธนาพระพุทธองค์ และภิกษุสาวกให้รับอาหารของตนในวันรุ่งขึ้น เสด็จแล้วเข้าไปในหมู่บ้าน เที่ยวบอกชาวบ้านว่า

“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้านิมนต์พระสงฆ์ ๒ หมื่นรูป มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขไว้ เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ท่านผู้ใดมีศรัทธาและมีกำลังจะถวายได้เท่าใด ขอได้โปรดบอก เพื่อข้าพเจ้าจะได้จดไว้ในบัญชี”

คนทั้งหลายกำหนดกำลังและศรัทธาของตนแล้ว บางคนกล่าวว่า จะถวาย ๑๐ รูป บางคน ๒๐ รูป บางคน ๑๐๐ รูป บางคน ๕๐๐ รูป บุรุษผู้เป็นบัณฑิตจดชื่อและจำนวนสงฆ์ที่เขาต้องการลงไว้ในบัญชี
ในสมัยนั้นมีชายคนหนึ่ง เป็นคนยากจนมากกว่าใครในกรุงพาราณสี ใคร ๆ เรียกเขาว่า มหาทุคคตะ แปลว่ายากจนมาก

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้พบชายเข็ญใจ มหาทุคคตะนั้นแล้วบอกเรื่องที่ตนได้นิมนต์พระไว้ ชักชวนให้มหาทุคคตะช่วยเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

“จะเลี้ยงได้อย่างไร ตัวข้าพเจ้าหาเลี้ยงตนและภรรยาก็แสนยาก การเลี้ยงพระเป็นเรื่องของคนมีทรัพย์ ส่วนข้าพเจ้าไม่มีแม้แต่ข้าวสารสักทะนานหนึ่ง ที่จะหุงต้มกันในวันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าทำงานรับจ้าง เลี้ยงชีพด้วยความฝืดเคือง”

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้พูดหว่านล้อมต่อไปว่า “สหายท่านเห็นหรือไม่ ในเมืองนี้มีคนมั่งคั่งเป็นอันมากได้บริโภคโภชนะอย่างดี นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียด แต่งกายด้วยอาภรณ์ต่าง ๆ นอนบนที่นอนอันกว้างใหญ่สง่างามเพราะเขาทำบุญไว้ในกาลก่อน ส่วนสหายทำงานรับจ้างทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารแม้เพียงสักว่าให้เต็มท้อง เพราะท่านมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงไม่ควรประมาท รีบขวนขวายในเรื่องบุญกุศลเถิด ท่านสามารถทำตามสติกำลังของท่าน”

เมื่อได้ฟังดังนี้ มหาทุคคตะก็สลดใจ กล่าวว่า “ขอท่านลงบัญชีภิกษุรูปหนึ่งสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำงานจ้างได้ของมาทำบุญพรุ่งนี้”

ผู้ชักชวนเห็นว่าเป็นภิกษุจำนวนน้อย เพียงรูปเดียว จึงมิได้จดลงในบัญชี

ฝ่ายมหาทุคคตะกลับไปเรือน บอกเรื่องนั้นให้ภรรยาทราบ ภรรยาของเขาเป็นคนดี มีความเห็นชอบกับการกระทำชอบของสามีพลอยยินดีร่าเริงด้วย กล่าวว่า “เพราะชาติก่อนเรามิได้ทำบุญไว้ด้วยดี เกิดมาชาตินี้จึงเป็นคนจน เราควรทำงานเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง”

เขาทั้งสองได้ไปยังเรือนของมหาเศรษฐี ของานทำ ได้จังหวะเหมาะเศรษฐีรับเลี้ยงพระ ๒-๓ ร้อยในวันรุ่งขึ้น จึงจัดให้มหาทุคคตะผ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เขาทำงานด้วยความร่าเริง มีความอุตสาหะยิ่ง เศรษฐีเห็นอาการของเขาแปลกกว่าที่เคยเห็นจึงถามว่า เหตุไรจึงร่าเริงผิดกว่าวันก่อน ๆ เขาเล่าเรื่องที่รับเลี้ยงพระให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีเลื่อมใส นับถือจิตใจของเขาว่า เขาทำในสิ่งที่ทำได้ยาก มิได้เฉยเมยว่ายากจน อุตสาห์ทำงานจ้างด้วยเรี่ยวแรงกำลังทั้งหมด เพื่อจะได้มีส่วนเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

ฝ่ายภรรยาของมหาทุคคตะ เข้าไปหาภรรยาเศรษฐีขอทำงานจ้าง ภรรยาเศรษฐีได้ให้ตำข้าวในโรงกระเดื่องนางมีความยินดี ร่าเริง ตำข้าวและฝัดข้าวเสมือนหนึ่งว่ารำละคร ภรรยาเศรษฐีเห็นดังนั้นประหลาดใจ จึงถาม ทราบความแล้วเลื่อมใสว่าภรรยาของมหาทุคคตะทำสิ่งที่ทำได้ยาก

เมื่อมหาทุคคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีได้สั่งให้ ให้ข้าวสาลีแก่เขา ๔ ทะนานเป็นค่าจ้าง และอีก ๔ ทะนานให้ด้วยความพอใจในตัวเขา ฝ่ายภรรยาเศรษฐี สั่งให้จ่ายเนยใสขวดหนึ่ง นมส้มกระปุกหนึ่ง เครื่องเทศหนึ่งทะนาน ข้าวสาลีหนึ่งทะนาน

สองสามีภรรยาดีใจว่า ได้ไทยธรรมแล้ว ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ภรรยาบอกสามีให้ไปหาผัก เขาไม่เห็นผักที่ตลาด จึงไปริมแม่น้ำ มีใจยินดีว่าจะได้ถวายอาหารภิกษุสงฆ์ ไม่อาจเก็บความรู้สึกไว้ได้ จึงร้องเพลงพลาง เก็บผักพลาง ชาวประมงคนหนึ่งยืนทอดแหอยู่ริมแม่น้ำ ได้ยินเสียงมหาทุคคตะจำได้ มหาทุคคตะเล่าให้ฟัง

ในเบื้องแรก ชาวประมงพูดจาเป็นเชิงล้อเลียนว่า พระที่ฉันผักของแกคงจะต้องอิ่มมาก แต่เมื่อมหาทุคคตยะบอกว่าจะทำอย่างไรได้ เขาเป็นคนจนต้องเลี้ยงพระตามที่ได้ ชาวประมงเห็นใจจึงให้เขาร้อยปลาเอาไปทำกับข้าว แต่ขณะที่เขาร้อยอยู่นั่นเองชาวเมืองก็มาซื้อเอาไปเสียหมด จนกระทั่งถึงเวลาที่พระจะมาฉัน เขาจึงบอกชาวประมงว่า เขาจะต้องรีบไป เมื่อชาวประมงเห็นว่าพวงปลาหมดเสียแล้ว จึงขุดเอาปลาตะเพียน ๔ ตัว ซึ่งหมกทรายไว้เพื่อตัวเขาเองให้มหาทุคคตะไป

เช้าวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ มหาทุคคตะเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ ทรงทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ทรงดำริว่า “วันนี้มหาทุคคตะ จะไม่ได้ภิกษุใด ๆ เลย เพราะเจ้าหน้าที่ลืมจดบัญชี จำนวนภิกษุที่เขาต้องการ เว้นเราเสียแล้ว มหาทุคคตะจะไม่มีที่พึ่ง เราควรสงเคราะห์เขา”

เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงพอพระทัยในการสงเคราะห์คนยากจน ดังนั้น เมื่อทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่ง ทรงตั้งพระทัยว่าจะสงเคราะห์มหาทุคคตะ

มหาทุคคตะนำปลาตะเพียนมาสู่เรือนแล้ว มอบให้ภรรยาทำกับข้าว ในตำนานกล่าวว่า มีเทพลงมาช่วยด้วย มหาทุคคตะรีบไปรับพระ เพื่อมาฉันที่เรือนของตน เข้าไปหาบุรุษผู้เป็นบัณฑิตที่ชักชวนให้เขาทำบุญ แต่บุรุษนั้นไม่ได้จดไว้ เขาพยายามขอโทษมหาทุคคตะ แต่ไม่สามารถระงับความเสียใจของบุรุษผู้เข็ญใจได้ เขารู้สึกเหมือนถูกประหารที่ท้องด้วยหอกคม ร่ำไห้ว่า

“เหตุไรท่านจึงทำผมให้ต้องพิบัติขัดข้องขนาดนี้ ท่านชวนข้าพเจ้าให้รับเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง ข้าพเจ้ารับแล้ว เมื่อวานข้าพเจ้าและภรรยาออกทำงานจ้างทั้งวัน เพื่อได้ค่าจ้างมาเลี้ยงพระ ขอท่านจงให้พระแก่ข้าพเจ้าสักรูปหนึ่งเถิด”

คนทั้งหลายได้เห็นอาการของมหาทุคคตะแล้วสงสาร กล่าวกับบุรุษผู้เป็นบัณฑิตว่า

“ท่านได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว” บุรุษผู้นั้นละอายใจ จึงพูดกับมหาทุคคตะว่า “เพื่อน ฉันลำบากใจเหลือเกิน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี คนทั้งหลายได้นำภิกษุไปตามบัญชีของตนหมดแล้ว ไม่มีใครยอมถอนบัญชีภิกษุแม้เพียงรูปเดียว แต่ยังมีพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่อยู่รูปหนึ่ง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงล้างพระพักตร์แล้ว ประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี พระราชา พระยุพราช และ คนใหญ่โตทั้งหลาย มีเสนาบดี เป็นต้น เฝ้ารอรับบาตรของพระองค์อยู่ ก็ธรรมดาพระพุทธเจ้า ย่อมพอพระทัยอนุเคราะห์คนยากจน ท่านจะไปยังที่ประทับของพระองค์ แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นคนยากจนพระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทำสงเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด ดูก่อน สหาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ถ้าท่านมีบุญ ท่านจักได้พระศาสดาไปสู่เรือนของท่านอย่างแน่นอน”

มหาทุคคตะ รีบมุ่งหน้าไปสู่วิหาร

พระราชา และพระยุพราช เป็นต้น เห็นเขาแล้วกล่าวว่ามหาทุคคตะเข้ามาทำไม เวลานี้มิใช่เวลาอาหาร ออกไปเสียเถิด ที่ตรัสเช่นนี้เพราะเคยทอดพระเนตร เห็นเขาเป็นคนกินเดนอยู่ในวิหารในวันก่อน ๆ มหาทุคคตะจึงทูลว่า

“ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มาเพื่อต้องการอาหาร แต่มาเพื่อต้องการทูลพระศาสดาเพื่อเสวยที่บ้านของข้าพระพุทธเจ้า”

ดังนี้แล้วได้หมอบลงที่ธรณีพระคันธกุฏี ถวายบังคม ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ และกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ในพระนครนี้ขึ้นชื่อว่าผู้ยากจนกว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้มี ขอพระองค์ได้โปรดสงเคราะห์และทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”

พระศาสดาทรงเปิดพระทวารพระคันธกุฎี ทรงประทานบาตรแก่เขา มหาทุคคตะปลาบปลื้มเสมือนได้สมบัติพระจักรพรรดิ์

พระเจ้าแผ่นดินและพระยุพราช เป็นต้น มองหน้ากันอย่างพิศวง แต่ธรรมดามีอยู่ว่า ใครจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ย่อมไม่กล้าแย่งบาตรที่พระศาสดาทรงประทานแล้วแก่ผู้ใด ดังนั้น พระราชาจึงไม่กล้าแตะต้องบาตรในมือมหาทุคคตะ ได้แต่อ้อนวอนขอซื้อบาตรว่า

“มหาทุคคตะ ท่านเป็นคนยากจน จะต้องการบาตรของพระศาสดาทำไม จงให้บาตรแก่เราเถิด เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งหรือแสนหนึ่งแก่ท่าน” คนทั้งหลาย เมื่อเห็นว่าอ้อนวอนไม่ได้ผลก็กลับไป เหลือแต่พระราชาเท่านั้นที่เสด็จติดตามพระศาสดาไป เพื่อทอดพระเนตรว่าไทยธรรมที่มหาทุคคตะถวายพระศาสดามีอะไรบ้าง หากว่าไทยธรรมมีน้อย พระศาสดาเสวยไม่พออิ่ม ก็จะนำเสด็จพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่า ในการทำอาหาร ครั้งนี้เทพเจ้ามาช่วยปรุงด้วย พอเปิดออกเท่านั้นกลิ่นหอมของอาหารก็ฟุ้งตลบไป แม้พระราชาเองก็ไม่เคยทรงได้กลิ่นอาหารอย่างนี้มาก่อน พระองค์ได้กราบทูลพระศาสดาตามเป็นจริงว่า เสด็จตามมาทำไม แล้วจึงเสด็จกลับวัง

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จทรงอนุโมทนาแล้ว มหาทุคคตะส่งเสด็จพระศาสดา ท้าวสักกเทวราช (ซึ่งปลอมมาเป็นพ่อครัว) ได้บันดาลให้ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงเต็มเรือนของมหาทุคคตะ เขาได้เห็นแก้วแหวนเงินทองเต็มเรือนเช่นนั้นก็ปลาบปลื้มว่า บุญที่ทำแก่พระพุทธเจ้าให้ผลเห็นทันตา เขาได้ไปกราบทูล พระราชาขอให้นำเกวียนไปบรรทุกทรัพย์เหล่านั้นมา พระราชาให้กระทำเช่นนั้น แล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเศรษฐี

เศรษฐีนั้นทำบุญมีทานเป็นต้นตลอดชีวิต สิ้นชีพแล้วบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง มาถึงสมัยแห่งพระโคตมพุทธะนี้ บังเกิดในท้องธิดาคนโตของสกุลอุปฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี

นางแพ้ท้องอยากถวายอาหารพระสัก ๕๐๐ รูป ด้วยปลาตะเพียน แล้วนุ่งห่มผ้าสากายะ นั่งบริโภคอาหารเป็นเดนของภิกษุ พวกญาติได้จัดให้เธอทำอย่างประสงค์ อาการแพ้ท้องระงับลง

นางให้ลูกชื่อบัณฑิต เพราะเหตุที่ตั้งแต่เด็กนั้นอยู่ในท้องจนคลอด คนโง่ในบ้านของนางกลับเป็นคนฉลาด นางคิดว่าจะไม่ทำลายอัธยาศัยของบุตร คือบุตรต้องการสิ่งใดอย่างไร หากเป็นไปในทางที่ชอบแล้ว ก็จะอนุโลมตาม

เมื่อบุตรอายุได้ ๗ ขวบก็ขอบวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระ แม้พระเถระจะอธิบายสักเพียงใดว่าการบวชเป็นของยากทำได้ยาก แต่เด็กน้อยก็ยืนยันว่าทำได้ จะพยายามทำตามโอวาทพระเถระ พระเถระจึงให้บวชเป็นสามเณร

มารดาบิดาของสามเณรไปอยู่วัดทั้ง ๗ วัน ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข เป็นวันที่ ๗ จึงกลับเรือน

เช้าวันที่ ๘ พระเถระพาสามเณรไปบิณฑบาต ระหว่างทางสามเณรเห็นเหมืองจึงถามอุปัชฌาย์ว่านี่อะไร

“เหมือง สามเณร”พระเถระตอบ

“เขามีไว้ทำอะไร”สามเณรถาม

“เขาไขน้ำจากเหมืองนี้ไปหานาข้าวกล้า เมื่อนาขาดน้ำ”

“น้ำมีจิตไหมครับ”

“ไม่มี”

สามเณรคิดว่า เมื่อน้ำเป็นของไม่มีจิต แต่คนทั้งหลายยังไขไปทำประโยชน์ตามปรารถนาได้ ไฉนเล่า คนซึ่งมีจิตจึงจักไม่อาจฝึกจิตของตนให้ดี คนต้องสามารถฝึกจิตของตนให้ดีได้

สามเณรเดินต่อไป ได้เห็นช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟเล็งด้วยหางตาดัดให้ตรง จึงถามอุปัชฌาย์ว่า ลูกศรมีจิตหรือไม่ เมื่ออุปัชฌาย์ตอบว่าไม่มี เธอจึงคิดโดยนัยก่อน

เดินทางต่อมาอีกเห็นช่างถาก ถากไม้ทำล้อเกวียน เธอถามพระอุปัชฌาย์และคิดโดยนัยก่อน

สามเณรบัณฑิตมีความคิดอันลึกซึ้ง ด้วยการเห็นสิ่งต่าง ๆ เพียงเท่านี้ เธอน้อมนำเข้ามาปรารถนาตนว่า เมื่อช่างศรดัดลูกศรได้ ช่างไม้ถากไม้ให้เป็นไปตามต้องการได้ บัณฑิตก็ควรฝึกตนได้ เธอได้บอกอุปัชฌาย์ว่าขอกลับไปวัดและขอให้พระอุปัชฌาย์ กรุณานำอาหารที่มีปลาตะเพียนมาให้ด้วย

“จะหาได้ไหนเล่า สามเณร” พระเถระถาม

“ท่านผู้เจริญ หากไม่ได้ด้วยบุญของท่านก็คงจักได้ด้วยบุญของกระผม”

พระเถระอนุญาตให้สามเณรกลับ เพราะรู้อัธยาศัยและได้มอบลูกกุญแจให้ไปด้วย เพื่อสามเณรจะได้เข้าไปนั่งในห้อง สามเณรกลับมาบำเพ็ญสมณธรรมหยั่งความรู้ลงในกายตน พิจารณาอัตตภาพอยู่

พระเถระรับภาระของสามเณรแล้ว คิดว่าทำอย่างไรหนอจะได้คือ ปลาตะเพียน ท่านตัดสินใจไปสู่เรือนของอุปัฏฐากคนหนึ่ง ซึ่งเคารพเลื่อมใสในท่านมาก พอดีวันนั้นอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว กำลังนั่งคอยการมาของพระเถระอยู่ เมื่อเห็นพระเถระก็ดีใจนิมนต์ให้นั่ง ถวายอาหาร มีรสปลาตะเพียน พระเถระแสดงอาการว่าจะลุกไปฉันที่วัด เพื่อให้สามเณรด้วย แต่อุปัฏฐากขอร้องให้ฉันที่บ้าน และว่าอาหารที่จะนำไปนั้นมีอยู่จะถวายเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระเถระฉันเสร็จแล้ว อุปัฏฐากได้ถวายอาหารเจือด้วยปลาตะเพียนอีกจนเต็มบาตร

พระเถระรีบกลับมาด้วยห่วงสามเณร

ฝ่ายสามเณรนั่งบำเพ็ญธรรมอยู่ได้บรรลุผล ๓ คือ โสดาบันปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล

วันนั้น พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นเรื่องทั้งปวงของสามเณรแล้ว ทรงดำริ บัดนี้สามเณรบัณฑิตได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว และอุปนิสัยแห่งอรหัตผลของเธอมีอยู่ หากเราไม่ไปช่วย พระสารีบุตรจักนำอาหารมา ทำลายสมณธรรมของสามเณรเสีย”

ดังนี้แล้ว เสด็จไปดักพระสารีบุตรที่ซุ้มประตู เพื่อชะลอเวลา

เมื่อพระสารีบุตรมาถึง พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เกี่ยวกับเรื่องอาหารว่า

“อาหารย่อมนำมาซึ่งอะไร”

“นำเวทนามา พระเจ้าข้า”

“เวทนานำมาซึ่งอะไร”

“นำมาซึ่งรูปพระเจ้าข้า”

“รูป นำมาซึ่งอะไร”

“นำผัสสะมาพระเจ้าข้า”

มีคำอธิบายโดยย่อดังนี้

“เมื่อบุคคลหิว บริโภคอาหารบำบัดความหิวแล้ว สุขเวทนา ย่อมเกิดขึ้น ต่อจากนั้นวรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ คือทำให้รูปเปล่งปลั่งมีนวล ต่อจากนั้น นั่งอยู่หรือนอนอยู่ก็ตามย่อมได้สุขผัสสะ”

ขณะที่พระสารีบุตร แก้ปัญหาพระศาสดาอยู่นี้ สามเณรได้บรรลุอรหัตผล พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระเถระนำอาหารไปให้สามเณร

พระเถระไปเคาะประตู สามเณรออกมารับบาตรวางไว้แล้ว เอาพัดก้านตาลพัดพระเถระเมื่อพระเถระ บอกให้ฉัน จึงฉัน

เด็กอายุ ๗ ขวบบวชแล้ว บรรลุพระอรหัตผลในวันที่ ๘ ประหนึ่งดอกประทุมอันแย้มบานแล้วด้วยประการฉะนี้

บ่ายวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันเรื่องสามเณรบัณฑิต พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาบัณฑิตย่อมเป็นอย่างนี้ คือเห็นคนไขน้ำจากเหมือง ช่างศรดัดลูกศรเป็นต้นแล้ว ย่อมน้อมนำเข้ามาในตนและฝึกฝนตน ย่อมสามารถบรรลุอรหัตผลได้โดยพลัน”




 

Create Date : 26 มีนาคม 2548    
Last Update : 26 มีนาคม 2548 10:21:58 น.
Counter : 787 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๗ นางจิญจมาณวิกา

จากหนังสือ พุทธชัยมงคลคาถา
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



ในปฐมโพธิกาล คือระยะต้นแห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า เมื่อพระสาวกของพระองค์มีมากประมาณไม่ได้ เมื่อเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากหยั่งลงในอริยภูมิ คือภูมิแห่งพระอริยะ คือเป็นพระอริยะ และเมื่อคุณสมุทัย คือเหตุที่จะให้ทราบถึงพระคุณของพระศาสดากำลังแผ่ไพศาลอยู่นั้นเอง ลาภสักการะและความนับถือเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่พระศาสดาและพระสาวก พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เสื่อมจากลาภสักการะเพราะไม่มีใครนับถือ หรือมีผู้นับถือน้อยลงมาก

พวกเดียรถีย์ก็มายืนอยู่กลางถนนแล้วประกาศว่าพระโคดมเท่านั้นหรือที่เป็นพระพุทธเจ้า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทานที่ให้แก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือที่มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ทานแก่พวกเราบ้าง

เรียกว่าขอกันดื้อๆ เลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะกระทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นได้ จึงประชุมกันว่า พวกเราควรจะหาโทษใส่พระสมณโคดมสักอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งหลายหมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในพระสมณโคดม ลาภสักการะ ความนับถือจะได้เกิดขึ้นกับพวกเราดังเดิม เขาตกลงกันว่าจะใช้หญิงหนึ่งทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส

กิเลสเป็นสิ่งน่ากลัว บรรดาศัตรูทั้งหลาย กิเลสเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของมนุษย์เรา เรื่องที่ยุ่งๆ กันอยู่ในสังคมมนุษย์ ก็มีกิเลสเป็นแดนเกิด คือต้นเหตุอยู่ที่กิเลส มันถึงทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากมากมายในสังคมมนุษย์ ในสังคมใดที่คนมีกิเลสน้อย เรื่องยุ่งยากก็มีน้อย แต่พอมีกิเลสมากขึ้น หรือว่าไม่สามารถดับมันได้ ระงับมันอยู่ มันก็สร้างปัญหาต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น ใส่ร้ายผู้อื่นบ้าง กล่าวร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง มากมายเหลือที่จะคณานับ เพราะว่าดูเรื่องราวยิ่งดูก็ยิ่งสังเวชใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำกันได้ถึงขนาดนี้ ทำลายและทำร้ายกันได้ถึงขนาดนี้

นี่ก็ทำนองเดียวกัน แรงริษยาที่เกิดขึ้นในใจของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ก็ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า และได้เครื่องมือคือหญิงคนหนึ่ง

ในครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อจิญจมาณวิกา รูปสวยมาก ท่านกล่าวว่า สวยงามเหมือนเทพอัปสร แต่เราก็ไม่เคยเห็นเทพอัปสรหรือเทพธิดา ก็ไม่รู้ว่าสวยขนาดไหน ต้องถามท่านที่เคยเห็น ท่านว่ารัศมีออกจากกายของเธอ น่าดูน่าชม เป็นพวกเดียวกับเดียรถีย์

วันหนึ่ง ขณะที่นางจิญจมาณวิกาปริพาชิกา ไปหาพวกเดียรถีย์ที่อาราม ทำความเคารพแล้วยืนอยู่ ที่เคยมานั้นเดียรถีย์ก็ย่อมแสดงอาการยินดีต้อนรับเมื่อนางมา แต่วันนั้นทุกคนเฉยไปหมด นางพูดว่า

“พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้” อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่พวกเดียรถีย์ก็ยังคงเฉยดังเดิม นางคิดว่าเธออาจมีความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ ดิฉันได้ทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจพระคุณเจ้าหรือ จึงพากันนิ่งไปหมด ไม่ยอมพูดกับดิฉัน”

เดียรถีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “เจ้าไม่ทราบดอกหรือว่าเวลานี้ลาภสักการะของเราเสื่อมหมดแล้วเพราะใคร เพราะพระสมณโคดมคนเดียว เจ้าไม่รู้สึกเจ็บร้อนแทนพวกเราบ้างเลยหรือ”

จิญจมาณวิกาตอบว่า “ความทุกข์ของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เหมือนความทุกข์ของดิฉันเอง ไว้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิด จะจัดการให้เรียบร้อย ทำลาภสักการะให้เกิดแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดังเดิม”

พูดอย่างนี้แล้วก็จากไป นางก็วางแผนว่าจะทำอย่างไร นางก็เริ่มแต่งกายอย่างดี ห่มผ้าสีสวยเหมือนสีปีกแมลงก้อนทอง ถ้าไม่ผิดก็เป็นสีเขียวและมีสีทองปนอยู่ ถือของหอมและดอกไม้มุ่งหน้าไปวัดเชตวัน ในเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีฟังธรรมแล้วก็กลับออกมา นางเดินสวนเข้าไป เมื่อมหาชนถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านในการไปหรือการมาของข้าพเจ้า”

อย่างนี้แล้วก็เดินผ่านวัดเชตวันไปพักวัดของพวกเดียรถีย์ ใกล้วัดเชตวันนั้นเอง ตอนเช้าเมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวนครสาวัตถีออกจากนครไปวัดเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระศาสดา นางจิญจมาณวิกาทำทีเหมือนตนพักอยู่ในวัดเชตวันทั้งคืน ด้วยการเดินสวนออกมา

เมื่อถูกถามว่า พักอยู่ที่ไหน นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านกับที่พักของข้าพเจ้า” นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 เดือน

เมื่อคนทั้งหลายถามอีก จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม ในวัดเชตวันนั่นเอง”

ชาวพุทธที่เป็นปุถุชนทั้งหลายสงสัยกันมากว่า ข้อความที่นางจิญจมาณวิกากล่าวนั้น เป็นความจริงหรือหนอ ส่วนพระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลย

ล่วงไป 3-4 เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้นเพื่อแสดงว่ามีครรภ์ และให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางตั้งครรภ์เพราะร่วมอภิรมย์กับพระโคดมบรมศาสดาที่คันธกุฎีในวัดเชตวัน

พอถึงเดือนที่ 8 ที่ 9 นางก็เอาไม้กลม ๆ ผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าห่มทับไว้ ให้คนเอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น ให้มีอวัยวะต่างๆบอบช้ำ ล่อลวงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าตนมีครรภ์แก่จวนคลอดเต็มทีแล้ว

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทในธรรมสภา นางได้เข้าไปยืนตรงพระพักตร์พระตถาคตเจ้า แล้วก็กล่าวว่า

“มหาสมณะ พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น กระแสเสียงของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก พระโอษฐ์ของพระองค์ดูสนิทดี แต่พระองค์มิได้สนพระทัยในหม่อมฉันเลย หม่อมฉันซึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว ครรภ์นี้อาศัยพระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ไม่เอาพระทัยใส่ต่อเครื่องบริหารครรภ์เลย แม้ไม่ทำเองก็ควรตรัสบอกสานุศิษย์คนใดคนหนึ่ง เช่น นางวิสาขา หรืออนาถบิณฑิกะ หรือพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ช่วยเหลือในการนี้ พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว แต่ไม่ทรงสนพระทัยในการคลอดของหม่อมฉันเลย”

ความพยายามของนางเป็นเหมือนจับก้อนคูถขึ้นปาพระจันทร์ พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรมอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อนางพูดจบ พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า

“น้องหญิง เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”

นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นด่าพระตถาคตเจ้าจนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้กลมเกลี้ยงหล่นลงมาจากท้องของนาง

อันนี้ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ถ้าเล่าตามตำนานในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว ก็ร้อนถึงท้าวสักกะเทวราช เทวดามาช่วย ท้าวสักกะมาถึงด้วยเทพบุตร 4 องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่นางผูกไว้ จนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้ก็หล่นลงมา อรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น

มหาชนได้เห็นกับตาเช่นกัน ก็แช่งด่านางจิญจมาณวิกาว่าเป็นหญิงกาลกรรณี ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ก็พากันถ่มน้ำลายใส่บ้าง ขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้ใส่บ้าง ฉุดกระชากออกไปจากวัดเชตวัน พอลับคลองพระเนตรของพระศาสดาไปเท่านั้น นางจิญจมาณวิกาก็ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก

วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา ถึงเรื่องที่นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าแล้วถูกแผ่นดินสูบ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกานี้ ก็เคยหาเรื่องใส่ร้ายเราตถาคตแล้วเหมือนกัน และก็ถึงความพินาศเหมือนกัน ดังนี้แล้วตรัสใจความสำคัญในมหาปทุมชาดกว่า

“ผู้เป็นใหญ่ ยังไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พิจารณาด้วยตนเองแล้ว ไม่พึงลงโทษหรืออาชญา”

ความย่อในมหาปทุมชาดก จะนำมาเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกา เป็นหญิงร่วมสามีกับพระมารดาของพระมหาปทุมกุมาร นางเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระราชา คือพระราชบิดาของพระมหาปทุมโพธิสัตว์

นางมีจิตประดิพัทธ์ในมหาปทุมนั้น จึงเย้ายวนชวนเชิญให้ประกอบกามกิจกับนาง แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยินยอมตาม ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

นางจึงแกล้งทำอาการว่าเป็นไข้ และมีอาการแห่งผู้ตั้งครรภ์ เมื่อพระราชาตรัสถามก็ใส่ความว่า มหาปทุมกุมารราชโอรสของพระองค์ ทำให้หม่อมฉันมีอาการอันแปลกนี้

พระราชาทรงกริ้ว จึงให้ทิ้งพระโพธิสัตว์ลงในเหวที่ทิ้งโจร เทวดาที่สิงสถิตอยู่อุ้มพระโพธิสัตว์ไว้ ให้ประดิษฐานอยู่ที่พังพานนาคราช พระยานาคราชนำท่านไปสู่นาคพิภพ แบ่งราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง

พระโพธิสัตว์อยู่ในนาคพิภพปีหนึ่ง อยากจะบวช จึงไปสู่หิมวันตประเทศ บวชได้ฌานและอภิญญา

อันนี้ก็แสดงถึงว่า คนดีเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้ช่วยเหลือ จะเป็นใครก็แล้วแต่ แล้วก็นำไปให้ได้รับความสุขพอสมควรแก่อัตภาพ แต่ท่านก็ไม่พอใจในสภาพเช่นนั้น ก็อยู่ไประยะหนึ่งแล้วก็มีความสังเวชสลดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อยากบวชแล้วไปบวชที่หิมวันตประเทศ ได้ฌานและอภิญญา

ต่อมาพรานไพรผู้หนึ่งมาพบพระโพธิสัตว์เข้าจำได้ จึงกลับไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จมาเฝ้า ทรงทราบเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว ทรงเชื้อเชิญให้ไปครองราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ ขอร้องให้พระราชาทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อย่าได้มีอคติ

พระราชาเสด็จกลับพระนคร ให้จับพระมเหสีผู้กลั่นแกล้งใส่ร้ายพระโพธิสัตว์นั้นไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร แล้วครองแผ่นดินโดยธรรม

อันนี้เรียกว่ากรรมสนอง ถึงเวลาที่กรรมที่ได้กระทำไว้มาสนอง แต่ว่าคนที่ไม่ดีก็ไม่มีใครช่วย ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมของตนไป

พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า หญิงผู้นั้นในกาลนั้นมาเป็นนางจิญจมาณวิกา ส่วนพระมหาปทุมนั้นคือพระองค์เอง




 

Create Date : 25 มีนาคม 2548    
Last Update : 25 มีนาคม 2548 18:41:00 น.
Counter : 605 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.