เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน

    เอกลักษณ์ของเขาบนพื้นที่การแสดง คือคนหลังโกง พุงป่อง
       บุคลิกท่าทางคล้ายดั่ง “อ้ายเท่ง” ตัวตลกแห่งหนังตะลุง
       สำเนียงทองแดงเต็มรูปแบบสไตล์คนปักษ์ใต้ด้ามขวาน
       แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สถานะถนัดใจที่เราท่านคงรับรู้
       เขาคือหนึ่งในนักแสดงตลกอาวุโสระดับปูชนียบุคคลอีกคนหนึ่ง
       ของวงการบันเทิงบ้านเรา...

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       “สีเทา” หรือในชื่อเดิม “จรัล เพ็ชรเจริญ” เริ่มก้าวเดินบนวิถีบันเทิงเป็นครั้งแรกเมื่อวัยหนุ่ม ด้วยความรู้สึกลุ่มหลงในศิลปะแห่งการพากย์ จากนั้นจึงค่อยขยับตัวเองสู่สถานะนักแสดงละครและภาพยนตร์ ซึ่งกล่าวรวมๆ แล้ว ทั้งสองบทบาทนั้น ก่อเกิดเป็นผลงานมากกว่าสองสามร้อยเรื่อง ชนิดที่จดจำกันไม่หวาดไม่ไหว
       
       ในวัยเลขแปดนำหน้า “ลุงสีเทา” หรือ “ปู่สีเทา” แม้จะถูกโรคร้ายรุมเร้า และไม่เรียกร้องอะไรจากความโด่งดังที่สร้างไว้ในคืนวันเก่าก่อน ลุงยังคงมีผลงานให้ได้แสดงอยู่ไม่ขาดสาย ลุงบอกกล่าวกับเราอย่างสั้นๆ ในเบื้องต้นว่า ตราบเท่าที่มีแรง ก็ทำไป เพราะมันคือสิ่งแรกๆ ในชีวิตที่รักสุดจิตสุดใจ
       
       แน่นอนว่า วันเวลามากกว่าแปดสิบปีของคนคนหนึ่ง มันมากเพียงพอที่จะใช้หน้ากระดาษสักพันหน้าหรือมากกว่านั้นเพื่อขีดเขียนถ้อยคำบอกเล่าเรื่องราว แต่ถ้าจะกล่าวอย่างย่นย่อในความยาวหนึ่งประโยคหรือสองสามประโยค เราก็คงกล่าวเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า
       
       นี่คือดารานักแสดงคนหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่เดินเข้ามาบนเส้นทางนี้ ลมหายใจและชีวิตของเขา ก็หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับวิถีนักแสดง และอยู่กินกับการแสดงราวกับคู่ชีวิตที่รักกันและผูกพันในสัญญา ว่าจะอยู่ร่วมไปจนกว่าชีวิตชีวาจะหาไม่...

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       “สีเทา” เทาแต่ตัวและชื่อ
       
       “สีมึงเหมือนสีขี้เถ้า”
       ชายชราวัยแปดสิบกว่า กล่าวจบแล้วแย้มยิ้มที่มุมปาก ส่งผลให้รอยย่นบริเวณนั้นขยุกขยิกตามไปด้วย และตามจริง วันเวลาที่ยาวนานของชีวิต ได้ฝากรอยย่นไว้ทั่วใบหน้า รอยเหี่ยวย่นเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงเครื่องหมายแห่งวันเวลา หากแต่ยังบ่งบอกถึงการผ่านพบ ประสบการณ์อันหลากหลาย บนสายทางแห่งชีวิต
       
       “พี่เหน่เป็นคนตั้งชื่อนี้ให้กับลุงตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ”
       พี่เหน่ หรือ “เสน่ห์ โกมารชุน” ในวันก่อนนู้น คือนักพากย์ภาพยนตร์ชื่อดัง รับงานพากย์หนังทั่วราชอาณาจักร ร่วมกับ “จุรี โอศิริ” นักพากย์และนักแสดงซึ่งได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติในกาลต่อมา
       
       “ทีมพากย์หนังเสน่ห์-จุรี นี่ดังมากๆ ไปพากย์ที่ไหน คนก็แห่ตามกันไปดู” แววตาแห่งความคำนึงของผู้เฒ่า ค่อยๆ พาเราก้าวลึกสู่วันเวลาแต่หนหลัง
       “แล้วมีอยู่ครั้ง พี่เหน่เขาไปพากย์หนังในงานแถวๆ บ้านลุง ลุงก็ไปดู”
       
       เหมือนวิญญาณศิลปินที่นอนนิ่งอยู่ในตัว ถูกปลุกให้ฟื้นตื่น การได้สัมผัสกับเสียงพากย์และนักพากย์ชื่อดังในค่ำคืนนั้น มันทำให้ตัวตนอีกด้านลุกโลดขึ้นมาเต้นเร่าราวกับมีชีวิต
       
       “หลังงานเลิกในคืนนั้น ลุงก็เดินเข้าไปหาพี่เหน่ และบอกกับแกไปตรงๆ เลยว่า ‘ผมชอบพากย์หนัง อยากพากย์หนัง ขอไปรับใช้พี่เหน่’ พี่เหน่ไม่ได้พูดอะไรมาก นอกจากถามผมว่าเอ็งทำอะไรอยู่ตอนนี้”
       
       ณ ตอนนั้น คนหนุ่มผู้มีนามว่า “จรัล เพ็ชรเจริญ” ทำงานเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูบ้านนอก วุฒิการศึกษา ม.6 ทำให้เขาพอที่จะมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเขาบอกกับตัวเองในตอนนั้น ว่าการได้เป็นครู อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ดูแลแม่ได้ แต่เมื่อโลกหอบหิ้วโอกาสมาถึงหน้าบ้าน ชายหนุ่มผู้รักชอบการแสดงอยู่แล้ว ก็ไม่ปล่อยให้มันหลุดลอยไป
       
       “ตอนนั้น พอลุงบอกพี่เหน่ไปว่าเป็นครู พี่เหน่ก็ถามต่อ ว่าเป็นครูแล้วจะไปยังไง ลุงก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมจัดการได้ พี่เหน่แกก็พากย์หนังอยู่แถวบ้านลุงหลายคืนนะ กระทั่งคืนสุดท้าย พอลุงรู้ว่าพี่เหน่แกจะกลับกรุงเทพฯ รถไฟขบวนไหน ลุงก็ไปรอ พอเห็นแกไปที่สถานี ลุงก็เข้าไปหาแกอีกเพื่อจะขอไปอยู่ด้วย แกถามว่า เอ็งเป็นครู มาอย่างงี้ก็แย่สิ ลุงก็บอกว่าไม่แย่หรอกครับ เพราะผมเขียนใบลาออกที่โต๊ะนายอำเภอแล้ว เท่านั้นแหละ พี่เหน่ก็เลยตามเลย เข้ากรุงเทพฯ มาพร้อมกันนับแต่วันนั้น”

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       “ลุงชอบการแสดงมาตั้งแต่เด็กๆ” ท่านผู้เฒ่าเล่าย้อนถึงความรักชอบในวันเก่าก่อนที่เป็นแรงผลักอย่างหนึ่งให้แกรีบกระโจนคว้าโอกาสทันทีที่มันมาถึง
       
       “ตอนเด็กๆ ที่โรงเรียนจะมีสอนโขน ตอนนั้น ลุงก็สนใจโขนและชอบการแสดงอยู่แล้วนะ ก็เลยไปเล่น ทีนี้พอได้เล่น ครูให้เล่นเป็นนางมณโฑ สมัยนั้น ผู้หญิงไม่กล้าเล่น ลุงก็นึกว่า โอ้ เราได้เล่นเป็นตัวดีแล้วล่ะ แต่ที่ไหนได้ โดนปล้ำ...(ลากเสียงยาว) เพราะในบททศกัณฑ์มันต้องปล้ำ ลุงต้องโดนปล้ำ จนหนุมานมาช่วย” ชายชราหัวเราะอย่างเห็นขำกับเรื่องราวที่ตัวเองต้องแสดงในตอนนั้น
       
       “ลุงเสียดายอาชีพครูไหมในตอนนั้น เพราะอุตส่าห์เรียนมา” เราถาม และชายชราตอบ
       “คือใจมันอยากเป็นนักพากย์ไง จุดหมายเดียว รู้สึกว่ามันสนุก แล้วยุคนั้นคนดูเขาไม่ดูหนังนะ ดูแต่นักพากย์ เราก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง
       
       “จากนั้นเป็นต้นมา ลุงก็ติดตามรับใช้พี่เหน่ เวลาพี่เหน่พากย์เรื่องไหน ลุงก็นั่งดูในห้องพากย์ จนจำได้ว่าพี่เหน่พากย์ยังไง ตอนนั้นพี่เหน่เขาอยู่ที่หลังวัดเอี่ยมน่ะ (วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม) พี่เหน่มีหลายอย่าง ทั้งพากย์หนัง คณะลิเก มีวงดนตรี ตอนพี่เหน่พากย์หนังที่เฉลิมกรุงนั้น ลุงก็ไปรอรับใช้พี่เหน่ คอยวิ่งซื้อกาแฟหรืออะไรๆ
       
       “ทีนี้มีหนังอยู่เรื่องหนึ่ง รัตน์ เศรษฐภักดี เป็นคนสร้าง เรื่อง “งูผี” (พ.ศ.2509) ลุงก็ดูพี่เหน่เขาพากย์ทุกรอบ หลายรอบแล้ว พี่เหน่ก็ถามว่าเป็นยังไง พอจะพากย์ได้ไหม ลุงก็บอกว่าได้ครับ เราก็เริ่มได้พากย์ตั้งแต่ตอนนั้น”
       
       แล้วจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของสามประสานก็กลายเป็นนามเรียกขานที่รู้จักกันดีในแวดวงนักพากย์หนัง ชื่อของอดีตครูชนบท ขยับขึ้นไปยืนข้างกับดารานักพากย์ชื่อดังของเมืองหลวงอย่างเห็นเป็นสง่า “เสน่ห์-จุรี-สีเทา”
       
       ...“สีมึงเหมือนสีขี้เถ้า”
       ฉายานามคำกล่าว ก็เพียงเรียกเพื่อให้คุ้น แต่ใครจะกล้าปฏิเสธว่า นับแต่นั้น ชายผู้มีสีผิวออกเทาๆ เหมือนคลุกเถ้าผงถ่าน จะกลายเป็นดาราอีกดวงที่โชติช่วงขึ้นมา ผ่านการบ่มเพาะหล่อหลอมของเสน่ห์-จุรี
       
       “พี่เหน่เขาจะฟังผมพากย์แล้วก็ชี้แนะ ทำนองว่า ตรงนี้ๆ ต้องทิ้งจังหวะยังไง เพราะถ้าผิดจังหวะ คนจะไม่สนุก บางที พี่จุ๊ก็มาสอนบ้าง (ป้าจุ๊-จุรี โอศิริ) ทั้งสองท่านถือว่าเป็นมีพระคุณต่อลุงมาก” น้ำเสียงของชายชราฟังดูสงบเย็น เมื่อบอกเล่าถึงตรงนี้ คล้ายว่าถ้าไม่ได้โอกาสจากผู้มีพระคุณทั้งสองนั้น ชีวิตของท่านก็คงเดินทางมาไม่ไกลได้เพียงนี้...

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       สวยงามยิ่งกว่าความฝัน
       จากหนุ่มบ้านนอก สู่หน้าพระที่นั่ง
       
       วันเวลามักขโมยเรื่องราวไปจากความทรงจำของเรา ยิ่งเนิ่นนาน ยิ่งรางเลือน กระนั้นก็ตาม สำหรับชายเฒ่าเบื้องหน้า แม้วันเวลาจะเกินกว่าครึ่งคนไปมากแล้ว แต่ดูเสมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นยังคงโลดแล่นอยู่ในสนามความทรงจำไม่รู้ลบ บางเรื่องอาจพร่าเลือน แต่บางเรื่องก็แจ่มกระจ่าง อย่างที่ผู้เฒ่าระลึกให้เราฟัง
       
       “ลุงเป็นคนบ้านนอก อยู่ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ่อเป็นช่างเรือ แม่เป็นแม่ค้าขายขนม ทีนี้มีอยู่วันนึง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกประเทศ พ่อของลุงก็ออกไปสู้กับญี่ปุ่น แล้วอาวุธของฝ่ายเรามีแค่แบบเก่าๆ เบิกจากโรงพักไปสู้กับญี่ปุ่น ก๊อกๆ แก๊กๆ แต่ญี่ปุ่นมีปืนกล พ่อของลุงก็สู้กับเขา ตั้งแต่เช้าจนเย็น ทีนี้ช่วงเย็นๆ ทหารญี่ปุ่นที่อยู่บนต้นมะพร้าวซึ่งยิงพวกเราตายไปเจ็ดแปดรายแล้ว หันมาเห็นพ่อของลุงอยู่ในหลุมหลบภัย มันก็ยิงตรงกลางหน้าผากเลย ตอนนั้นลุงอายุ 10 กว่าขวบ
       
       “พอพ่อตาย ทาง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ให้เงินเลี้ยงดูครอบครัวของลุงซึ่งมีอยู่สามคน แม่ ลุง แล้วก็น้องของลุง ก็ให้คนละ 84 บาท 84 สตางค์ เราก็พออยู่ได้ เพราะแม่มีอาชีพแม่ค้าขายขนม ลุงก็ช่วยแม่ขาย ไปขายในเรือนจำ ตอนนั้นอายุไม่มาก พวกนักโทษก็บอกแม่ว่าให้รำมโนราห์ขาย แม่ก็รำตามนั้น ปรากฏว่าขายหมด แต่ช่วงนั้น ฐานะทางบ้านเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว ลุงจะมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ไม่มีเงิน อีกทั้งเป็นห่วงแม่ด้วย ก็เลยเรียนจนจบที่โรงเรียนจินตวรศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนของคุณพ่อของกิ่งดาว ดารณี (นักแสดงชื่อดังในอดีต) ซึ่งตัวของกิ่งดาว ลุงก็เป็นคนพาเข้ากรุงเทพฯ ตอนลุงพอมีชื่อบ้างแล้ว ลุงก็พาไปฝากกับคุณอมรา อัศวนนท์ เธอก็ได้เล่นละครจนดัง”
       
       ครั้งหนึ่ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์ชั้นครู เคยกล่าวเอาไว้ว่า เราทุกคนต่างก็มีนิยายกันคนละเรื่อง นั่นหมายถึงเรื่องราวชีวิตของพวกเรา ล้วนแล้วแต่เป็นนิยายได้เรื่องหนึ่ง ชีวิตของลุงสีเทาก็ไม่ต่างไปจากนั้น - และที่สำคัญ ลุงสีเทา มีความเกี่ยวข้องกับครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ โดยทางหนึ่ง เพราะการได้รับบทบาทในหนังที่สร้างมาจากนิยายของครูอาจินต์ เรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” นั้น ส่งผลให้ชายชรานักแสดงและนักพากย์จากปักษ์ใต้ ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง เมื่อปี พ.ศ.2548

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       “ก็เกือบจะได้ไปสู้กับเสือเหมือนกัน ตอนเป็นครู” ชายชราหัวเราะเล็กน้อย ก่อนกล่าวต่อ
       “คือตอนที่เราไปสอบเป็นครู คนสมัครก็เป็นพันๆ คน ปรากฏว่าลุงได้ที่ 50 กว่า ซึ่งตามจริง ลุงต้องไปเป็นครูอยู่ที่อีกที่หนึ่งซึ่งถือว่ายังเป็นที่ที่อยู่ลำบาก เพราะยังเป็นป่าเป็นเขา เสือนี่ยังมีอยู่เลย บางทีอาจจะต้องสู้กับเสือ แต่โชคดีที่ทางจังหวัดเขาตั้งวงดนตรี และพอดีลุงก็พอตีกลองเป็นบ้าง ก็เลยสมัครไปเป็นมือกลองประจำวงดนตรีของจังหวัด แล้วไม่ต้องไปต่อสู้กับเสือ”
       
       นอกจากไม่ต้องสู้กับเสือ ในท้ายที่สุดยังได้มาอยู่หน้าไมค์และหน้ากล้อง
       เพราะตัดฉากไปข้างหน้าอีกไม่กี่ปี เราก็ได้รู้จักผู้ชายคนนี้ในฐานะนักพากย์และนักแสดง
       “ความภูมิใจครั้งหนึ่งที่จำได้ น่าจะเป็นตอนที่หนังเรื่องแม่นาคออกฉาย พี่เหน่เป็นผู้สร้าง ปรียา รุ่งเรือง เล่นเป็นแม่นาค ลุงก็เล่นและก็พากย์ ปรากฏว่าทำเงินเป็นแสน ทีนี้ในหลวงทรงทราบว่าคนดูเยอะ ทางพระราชวังก็แจ้งจ้างมาทางโรงฉาย บอกให้นำหนังไปฉายในวัง ที่สวนจิตรลดา ก็มีทีมลุงไปพากย์ ในหลวงทอดพระเนตร พอหนังจบ พระองค์ท่านทรงตรัสว่า สนุกดีนะ และทรงถามอีกว่าเหนื่อยไหม ลุงก็ตอบพระองค์ไปว่าไม่เหนื่อยพะยะค่ะ
       
       “อันนี้เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตนี้แล้วล่ะ ก็ได้พากย์ให้ในหลวงทรงฟังอ่ะนะ” กล่าวถึงตรงนี้ นัยน์ตาของชายชราแลดูเป็นประกาย มีแววคึกคักแจ่มใส
       “แล้วก็มีอีกช่วงหนึ่ง ในหลวงทรงเสด็จฯ ไปหัวหิน พอดีตอนนั้นลุงไปเป็นตำรวจเพราะเล่นดนตรีเป็น เราก็ไปในฐานะวงดนตรีดุริยางค์ตำรวจ มันมีบางช่วงที่มีละครย่อยเล่น เราก็ได้แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง น่าจะเป็นจุดนี้แหละ ที่ในหลวงจำเราได้”
       
       และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อชีวิตย่างเข้าสู่วัยชรา สังขารร่วงโรยและโรคภัยรุมเร้า ท่านผู้เฒ่าจึงได้รับพระเมตตามหากรุณาจากในหลวง ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ชายชราน้ำตาคลอทุกครั้งที่นึกถึง
       
       “จำได้ว่า เป็นตอนที่เล่นหนังเรื่องโป๊ะแตก ที่มีสายันห์ จันทรวิบูลย์ กำกับ” ชายชราเอ่ยถึงช่วงเวลาที่ความเจ็บป่วยคุกคาม
       “คือมีฉากขับเรือ ตั้งแต่เช้ายังเย็น จนเกือบสว่าง ก็ยังไม่เสร็จ ตอนนั้นลุงขับรถเอง ก็กลับบ้าน ทีนี้จะเข้าบ้าน รู้สึกเวียนหัว เดินไม่ไหวแล้ว หมอตรวจดูปรากฏว่าเส้นเลือดในสมองแตก ก็อยู่โรงพยาบาลนนทเวชนานเหมือนกัน พอถึงเดือนกรกฏาคม 2535 ในหลวงทรงทราบ ก็ให้องคมนตรีอัญเชิญดอกไม้มาให้ที่โรงพยาบาล ตอนแรกลุงก็คิดว่าตายแน่ แต่พอทราบว่าในหลวงทรงให้คนนำดอกไม้มาให้ ก็มีกำลังใจขึ้นเยอะ”
       
       ทุกวันนี้ แม้ความป่วยไข้จะไม่หาย และอยู่กับชีวิตแบบสามวันดีสี่วันไข้ แต่ชายชราก็เน้นย้ำตลอดเวลา หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น นักแสดงผู้หนึ่งก็คงลำบากกว่าที่เป็นอยู่

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       รางวัลชีวิต
       ของคนทำงาน
       
       “ที่บ้านมีแต่ถ้วยรางวัล แต่เงินไม่ค่อยมี แต่คุ้มค่าในชีวิตแล้ว เราก็พอใจในชีวิตเราที่ตั้งใจไว้” ลุงสีเทา หัวเราะร่วน แต่เสียงเบา เพราะเรี่ยวแรงที่ถดถอยน้องลงทุกวัน
       
       ก็จริงอย่างที่ลุงว่า วันเวลากว่าห้าสิบปี บนวิถีของนักพากย์นักแสดง
       วันเวลาที่ยาวนานของชีวิต ได้ฝากรอยย่นไว้ทั่วใบหน้า รอยเหี่ยวย่นเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงเครื่องหมายแห่งวันเวลา หากแต่ยังบ่งบอกถึงการผ่านพบ ประสบการณ์อันหลากหลาย บนสายทางแห่งชีวิต
       
       นอกเหนือจากเรี่ยวแรงความทุ่มเท ยังหมายถึงผลตอบรับที่กลับมา ทุกวันนี้ ลุงสีเทากล่าวว่า มีงานเข้ามาบ้าง พออยู่ได้ ชีวิตอาจเป็นไป แต่ก็ยังดีที่มีคนนึกถึง
       
       “ทุกวันนี้ก็มีหนังให้เล่นบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นบทที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะลุงไม่ค่อยมีแรงแล้ว อย่างล่าสุดก็เรื่อง ศพไม่เงียบ และเพชฌฆาต ก็ได้เล่นเป็นพระ เพราะพระจะพูดดังไม่ได้ เดินเร็วไม่ได้ เดี๋ยวจะอาบัติ เราก็เหมาะกับบทแบบนั้น ส่วนใหญ่จึงได้รับบทเป็นหลวงพ่อ เพราะพอห่มจีวรแล้วมันเหมือนหลวงพ่อจริงๆ” ผู้เฒ่านามว่าสีเทาหัวเราะร่วน หลังจากกล่าวจบ ความมีอารมณ์ขัน ดูเหมือนจะไม่เคยหายไปจาก “อ้ายเท่ง” แห่งดินแดนปักษ์ใต้ผู้นี้เลย

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       “ชีวิตที่ผ่านมา ก็ถือว่าตรงกับความหวังที่เราต้องการหมดแล้ว ความอุตสาหะพยายามบวกกับโอกาสที่ได้รับ จนก่อให้เกิดความสำเร็จในชีวิต ก็สมหวังทุกอย่างแล้ว อยากเป็นนักแสดงก็ได้เป็น อยากเป็นนักพากย์ก็ได้เป็น รางวัลนอกจากนั้นที่ได้มา ก็ถือว่าเป็นกำไร คือต่อให้เขาให้รางวัลเรามาอีก อย่างรางวัลศิลปินแห่งชาติที่หลายๆ คนถาม ลุงก็ตอบไปว่าลุงอาจจะอยู่ได้อีกไม่กี่ปีหรอก อย่าไปกินเงินเขาเลย ให้คนอื่นเขาเป็นดีกว่า เราก็หากินของเราก๊อกแก๊กๆ ไป
       
       “ให้คนรู้จักเราอย่างงี้ดีกว่า เราอยู่ของเราได้อย่างนี้ มีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง ถ้าเรามีของที่เราจะจำนำได้ ก็จำนำ ยังภูมิใจกว่า ถ้ามีก็ใช้ๆ ไป เราเลี้ยงครอบครัวได้ มีความสุขในชีวิตและภูมิใจในชีวิตแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ๆ ไป ไม่รู้ว่าจะมอดม้วยเมื่อไหร่ ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า”

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน
       ...................................................................................................
       “สีเทา เพ็ชรเจริญ” เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เดิมประกอบอาชีพเป็นครู ก่อนชะตาชีวิตจะพาก้าวเข้าสู่เส้นทางนักแสดง จากจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพากย์หนังในสังกัดของ “เสน่ห์ โกมารชุน” แล้วขยับสู่สถานะดาราตลกซึ่งมีเอกลักษณ์มากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นที่จดจำของคนดูผู้ชมตลอดระยะเวลากว่าห้าสิบปีที่ผ่านพ้น สีเทาเคยได้รับรางวัลมาแล้วมากมายจากบทบาทการแสดง ทั้งโล่ห์รางวัลเกียรติคุณผู้แสดงตลกยอดเยี่ยมเมื่อปี พ.ศ.2521 จากบทบาทในหนังเรื่อง “แดร็กคูล่าต๊อก”, รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของชมรมวิจารณ์บันเทิง จากเรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” และอื่นๆ อีกมากมาย ถึงขนาดที่ลุงบอกว่า "ถ้วยรางวัลเต็มบ้าน"
       
       ชีวิตของสีเทา ก็คงเทาแค่เพียงชื่อ เพราะดาราอาวุโสผู้นี้ ผ่านเส้นทางชีวิตหลากสีสันที่มากกว่าแค่ “สีเทา” ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นตำรวจ เป็นนักพากย์ เป็นนักแสดง และลุงสีเทา กล่าวแบบติดตลกว่า ตอนนี้กำลังเป็นคนแก่และผู้ป่วย สามวันดีสี่วันไข้ กระนั้นก็ตาม เมื่อยังพอมีแรง และมีผู้ว่าจ้าง ชายวัยแปดสิบสองผู้นี้ ก็ยินดีเสมอที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้งานนั้นๆ บรรลุผลสำเร็จ
       
       ก็คงอย่างที่ลุงบอก “ตราบเท่าที่มีแรง เราก็หากินของเราก๊อกแก๊กๆ ไป”...

‘สีเทา’ ดาวตลกอาวุโส : เพชรแวววาวในสีเถ้าถ่าน


Create Date : 04 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2557 20:53:27 น. 0 comments
Counter : 2071 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]