All Blog
4 ปีนรกในเขมร : ยาสึโกะ นะอิโต






4 ปีนรกในเขมร


ผู้เขียน : ยาสึโกะ นะอิโต

ผู้แปล : ผุสดี นาวาวิจิต


ISBN 974-14-0000-4 ฉบับปก สำนักพิมพ์ผีเสื้อ. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2540

จำนวน 264 หน้า ราคา 143 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

กัมพูชา มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ‘กัมพูเจีย’

‘กัม’ หมายถึงการเสียเปรียบในตอนแรก ‘เจีย’ แปลว่าจะดีในตอนท้าย

สองคำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อประเทศโดยตรงหรอก

แต่ฉันก็หวังว่า

สันติภาพคงจะมาถึงประเทศกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

- ยาสึโกะ นะอิโต, 4 ปีนรกในเขมร

---------------------------------------------------------------------------------


เมื่อพูดถึง ปีนรกในเขมร เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้คงเป็นที่รู้จักอย่างมาก และในแง่ของเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็คงได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ แม้ว่าเหตุการณ์ในหนังสือจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 40 ปี แต่ความน่ากลัวและสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้น ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนยุคนี้ เพราะเหตุการณ์กองทัพเขมรแดงที่นำโดย พอล พต หรือ พลพต เข้าปกครองประเทศกัมพูชา นับตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2518-2522 อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่คนกัมพูชาเข่นฆ่ากันเอง อันเป็นผลมาจากความลุ่มหลงในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบผิด ๆ และอาจซ่อนเร้นไว้ด้วยการกระหายอำนาจของบางคน บางกลุ่ม หากแต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น กลับมาตกแก่ประชาชนกัมพูชาจำนวนมาก ดังที่หนังสือเล่มนี้บันทึก (เพียงบางส่วน) ไว้แล้ว




พลพต (Pol Pot) ผู้นำกองทัพเขมรแดง

ยาสึโกะ นะอิโต ผู้เขียน เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้แต่งงานกับทูตชาวเขมรชื่อ โศ ทันลัน ทั้งสองมีลูกชายด้วยกันสองคนชื่อ โทโมรี กับ โทนี่ จากหญิงชนชั้นกลางผู้เป็นถึงอดีตภริยาท่านทูต เคยใช้ชีวิตสุขสบาย หรูหรา ท่ามกลางสังคมชนชั้นนำเขมรและต่างประเทศ ชีวิตของยาสึโกะแทบจะเปลี่ยนแปลงในทันทีที่กองทัพเขมรแดง หรือ พวกอีกา มีชัยชนะเหนือรัฐบาลลอนนอล พร้อมทั้งบุกยึดพนมเปญและออกคำสั่งให้ชาวเมืองอพยพออกจากเมืองหลวงอย่างไร้จุดหมายปลายทาง คนในครอบครัวที่ออกเดินทางไปกับยาสึโกะ นอกจากสามีกับลูกชายทั้งสอง ก็ยังมี ตีนี่ ลูกสาวที่เป็นลูกติดสามีอีกหนึ่งคน (อันที่จริงยังมีลูกชายอีกสองคนที่เป็นลูกติดสามีแต่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารแล้วไม่เคยส่งข่าวมาอีกเลย) ใครเลยจะรู้ว่า ทันทีที่ก้าวออกจากพนมเปญ หนทางข้างหน้าตลอด 4 ปีหลังจากนั้น คือนรกที่แสนทุกข์ทรมาน มันไม่ใช่นรกของยาสึโกะเท่านั้น แต่เป็นของชาวกัมพูชาอีกนับแสนชีวิต


เมื่อคืนเรานอนค้างที่โรงงานปูนซีเมนต์เก่า

พวกเราทุกคนเหนื่อยมาก แต่ก็นอนไม่หลับ เพราะมีกลิ่นของอะไรบางอย่าง

เหม็นจนบอกไม่ถูก ในตอนเช้า สามีของฉันออกไปค้นหา

ก็ได้พบว่า ในเตาเผาอิฐมีกองศพของทหารรัฐบาลลอนนอลเป็นภูเขาเลากา

ฉันคิดถึงชานาลีและโทมี่

ลูกชายสองฅนของสามีที่เกิดจากภรรยาฅนก่อน

ทั้งสองถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอยู่แนวหน้า ไม่เคยได้รับข่าวจากเขาเลย

จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้

สามีของฉันไม่พูดอะไรถึงลูกชายทั้งสองของเขาเลย

เขาคงปลงตกเสียแล้ว

- ยาสึโกะ นะอิโต, 4 ปีนรกในเขมร


4 ปีนรกในเขมร เกิดขึ้นจากการนำเอาบันทึกส่วนตัวของยาสึโกะ นะอิโต มาตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมกับ “บันทึกของผู้ค้นหา” ซึ่ง มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการเป็นผู้เรียบเรียงเขียนขึ้นจากจดหมาย บันทึก คำบอกเล่า และหนังสารคดี เพื่อถ่ายทอดมุมมองของ โนริโมโต โมริ ผู้สื่อข่าวที่ได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากยาสึโกะ และติดตามหาตัวเธอจนเจอ ดังนั้น เนื้อหาในหนังสือจึงเป็นเรื่องราวส่วนตัวและเหตุการณ์เฉพาะที่ยาสึโกะได้ประสบพบเจอมาด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นหนังสือที่เล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองกัมพูชาโดยตรง ผู้อ่านจะได้รู้เห็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของเขมรแดงบ้าง ก็ต่อเมื่อยาสึโกะได้ยินข่าวจากวิทยุ หรือได้ยินใครบอกเล่าให้ฟัง หากแต่สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าการรับรู้สถานการณ์เหล่านั้น ก็คือผู้อ่านจะเห็นภาพความทุกข์ยากของประชาชนอันเป็นผลกระทบของสงครามและการปกครองโดยเขมรแดง ทั้งความขาดแคลน ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย และความไร้ซึ่งอิสรเสรี ต่างถูกเคลือบไว้ด้วยอุดมการณ์ความเท่าเทียม ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง




กองทัพเขมรแดง และทหารที่เรียกว่า "อีกา"
เข้ายึดอำนาจการปกครองและกรุงพนมเปญ ในปี พ.ศ.2518


การอพยพย้ายประชาชนจากในเมืองให้ออกไปอยู่ตามชนบทเพื่อทำการเกษตร
ตามอุดมคติของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)


ยาสึโกะน่าสงสารมาก เคราะห์กรรมที่เธอต้องพบเจอตั้งแต่เริ่มอพยพ คือ คนในครอบครัวค่อย ๆ ทยอยตายจากไปทีละคน จนเหลือแต่เธอตัวคนเดียวที่ต้องเอาชีวิตให้รอด ซึ่งโชคดีว่ายาสึโกะเป็นคนที่รู้จักปรับตัวได้ดี อีกทั้งคนเขมรส่วนใหญ่ก็มีน้ำใจเมตตาต่อเธอมาก จึงทำให้เธอสู้จนรอดมาได้ ตลอดจนความปรารถนาที่จะกลับไปญี่ปุ่นให้สำเร็จ ก็นับเป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เธอไม่ย่อท้อต่อการใช้ชีวิตตามวิถีที่พวกเขมรแดงกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ครั้งหนึ่งที่ยาสึโกะกับสามีถูกเกณฑ์ให้ขึ้นรถไฟจากโพธิสัตว์อพยพไปยังศรีโสภณ ยาสึโกะบันทึกถึงความลำบากในการอพยพครั้งนั้นว่า


30 กันยายน 2518

เมื่อคืนนี้ เราขึ้นรถไฟตอนดึก รถออกตอนเช้ามืด เป็นตู้สินค้าที่ไม่มีหน้าต่าง เรารู้สึกเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง ต้องแออัดยัดเยียด ร้อนก็ร้อน ประตูตู้รถเปิดอยู่ แต่มีทหารถือปืนจ้องเราทั้งบนหลังคา และข้อต่อระหว่างตู้ ถึงหนีได้ก็ไม่รู้จะไปไหน

มีฅนฉี่ราด ถ้าไม่เปิดประตูทิ้งไว้คงมีฅนตายเยอะ ผู้หญิงสาว ๆ ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ฉันเป็นลม ฉันก็เลยช่วยนวดให้

รถไฟแล่นผ่านพระตะบองตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

เขาจะพาเราไปไหนกัน


เมื่อกองทัพเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาการเมืองและสงครามน่าจะยุติ ความย่ำแย่ของบ้านเมืองคงจะจบลง และกลับมาดีขึ้น ชาวเมืองพนมเปญหลายคนออกไปปรบมือตอนรับการมาถึงของกองทัพอีกา แต่แล้วกลับกลายเป็นว่า แนวคิดที่พวกเขมรแดงนำเข้ามาบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นหนทางที่นำไปสู่การกดขี่ การเข่นฆ่า และการสังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างทารุณ ซึ่งผมรู้สึกว่าสิ่งที่ยาสึโกะได้บันทึกเอาไว้ อาจเบาและน้อยกว่าความทุกข์ยากที่ชาวเขมรอีกจำนวนมากต้องประสบในช่วงเวลานั้น

เงินหรือธนบัตรถูกทำให้สูญค่า ทุกคนจึงต้องใช้ข้าวของเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน คนหนุ่มสาวถูกเกณฑ์แรงงานให้ไปทำงานในที่ห่างไกลหมู่บ้าน คนแก่ถูกจัดสรรหน้าที่ให้ช่วยกันทำงานใกล้บ้าน นานวันเข้าทุกคนก็ถูกสั่งไม่ให้สะสมหรือครอบครองทรัพย์สมบัติไว้เป็นส่วนตัว ถ้าทหารตรวจค้นแล้วพบก็จะริบหมด ซึ่งในระยะหลังพวกทหารก็ทำการตรวจค้นและริบข้าวของบ่อยขึ้น จนยาสึโกะเขียนไว้ในทำนองว่า “นับวันจะยิ่งทำตัวเหมือนโจรเข้าไปทุกที” เพราะแม้แต่ข้าวปลาอาหารก็ไม่ให้ใครมีไว้ในครอบครอง ต้องยกให้ส่วนกลางหมด กับข้าวในแต่ละมื้อจะต้องมาจากการปันส่วนจากส่วนกลาง ซึ่งอาหารการกินบางช่วงก็ย่ำแย่จนเหลือแค่น้ำข้าวต้ม เมื่อเสบียงเริ่มขาดแคลนและคนเริ่มหิวโหย ไร่นาที่ชาวบ้านช่วยกันหว่านไถเพาะปลูก พวกทหารก็สั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้ ถ้าขัดคำสั่งก็จะฆ่าทิ้งทันที ทุกชีวิตจึงดำรงอยู่บนความหวาดระแวง




เด็ก ๆ ที่ลี้ภัยสงคราม เข้าแถวรอรับอาหาร
ภายหลังกองทัพเขมรแดงเรืองอำนาจ


ช่วงท้ายยาสึกโกะได้รู้จักกับครอบครัวครูเรียง ครูเรียงเมตตาเธอถึงขนาดยก เจีย กิมลั้ง บุตรสาวคนโตที่สนิทสนมกับยาสึโกะให้เป็นลูกสาวบุญธรรม และยาสึโกะเองก็สัญญาว่าจะรับกิมลั้งไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศญี่ปุ่น หากว่าเธอกลับญี่ปุ่นได้สำเร็จ และแล้วการรอคอยตลอด 4 ปีก็เป็นความจริง จากการช่วยเหลือของครูเรียงและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเวียดนาม หลังจากเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นได้สองเดือน ยาสึโกะบันทึกถึงความหลังในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าช่วงเวลา 4 ปีในเขมรทำให้เธอได้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต และกลายเป็นผู้หญิงที่แกร่งขึ้นอย่างมาก ดังข้อความท้ายบันทึกที่ว่า


...คำพังเพย ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’ นั้น ฉันยึดถือว่าเมื่อไปอยู่เมืองอื่น ถ้ามัวแต่คิดว่าตัวเองเป็นฅนญี่ปุ่น และวางตัวเป็นฅนญี่ปุ่นก็จะอยู่ยาก ฉันจึงต้องพยายามใกล้ชิดกับฅนทุกชั้น เป็นมิตรกับทุกฅน และพยายามทำความเข้าใจพวกเขา แม้ตอนที่ฉันทำงานไม่ได้ ทุกฅนก็ยังแบ่งอาหารให้ ปฏิบัติต่อฉันราวกับเป็นญาติของเขาฅนหนึ่ง

ครอบครัวเล็ก ๆ ที่เป็นสุขของฉันสลายไปในเวลาไม่นานแทบจะชั่วพริบตา เพราะอะไรก็ไม่รู้

การเมืองของกัมพูชาและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์เป็นเรื่องไม่แน่นอน และยากจะเข้าใจ สิ่งแน่นอนที่สุดสำหรับฉันก็คือประสบการณ์ใน 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การที่ฉันรอดชีวิตมาได้ อาจจะเป็นการบังเอิญ หรือเป็นชะตาชีวิตของฉัน ทางเลือกมีอยู่หลายทาง ฉันคงเลือกทางที่อับโชค แต่ฉันก็รอดชีวิตมา การเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านในชนบทห่างไกลอาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอดพ้นภัยสงคราม ถ้าเผื่อสามีและลูก ๆ ยังมีชีวิตอยู่ ฉันคงไม่คิดกลับญี่ปุ่น แต่จะหนีหัวซุกหัวซุนผจญชะตากรรมร่วมกับพวกเขาต่อไป

ในขณะนี้ ชาวกัมพูชาก็คงจะยังอดอยาก หิวโหย ป่วยไข้อยู่ในภัยสงคราม มีฅนอีกมากต้องตายไป ครอบครัวครูเรียงซึ่งหนีข้ามไปฝั่งไทย และเป็นผู้มีส่วนช่วยให้ฉันได้กลับญี่ปุ่น ถูกส่งตัวกลับไปยังกัมพูชาอีกครั้ง กิมลั้งซึ่งฉันตั้งใจว่าจะได้พบอีกในกรุงเทพฯ ก็หายไป หลังจากได้พบเจ้าหน้าที่โทรทัศน์เอ็นเอชเค. ฉันยื่นเรื่องขอรับเธอเป็นลูกบุญธรรมอย่างเป็นทางการไว้กับทางสถานทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ยังไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่

...4 ปีที่ผ่านมา ฉันมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่ตอนนี้ต้องกลับมาอยู่ในประเทศซึ่งทุกสิ่งเป็นเงินไปหมด ฅนรอบข้างฉันต่างก็ถามฉันด้วยความเป็นห่วงว่า ฉันจะอยู่ได้อย่างไร จะทำอะไรเลี้ยงชีพ ฉันบอกตัวเองว่า จะทำเหมือนที่เคยทำมาแล้วคือ ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’


เวลาเพียง 4 ปีในเขมร ทำให้ชีวิตของยาสึโกะ นะอิโตพลิกผันไปอย่างมาก แต่เรื่องราวของเธอก็เตือนใจให้เรารู้ว่า ‘ต่อให้สิ่งเลวร้ายผ่านเข้ามาในชีวิต ตราบใดที่เราไม่ย่อท้อ เราย่อมพบหนทางสว่างอีกครั้ง’ ดังเช่นท้ายที่สุด ยาสึโกะก็ได้พบกับกิมลั้ง บุตรสาวบุญธรรมของเธออีกครั้ง และรับกิมลั้งมาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ เรื่องราวของ เจีย กิมลั้ง เองก็ได้รับการบันทึกและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มชื่อ หนีไฟนรก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งภาคต่อและภาคขยายของเรื่อง 4 ปีนรกในเขมร ก็คงไม่ผิดนัก


Jim-793009

19 : 11 : 2017




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2560 15:47:54 น.
Counter : 11968 Pageviews.

10 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหงต้าหยา, คุณfor a long time, คุณlovereason

  
เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก
เคยอ่านด้านนี้ของเขมรแดงที่น่ากลัว
สุดท้ายอ่านข่าวพบว่า
พลพตตายอย่างเดียวดายในกระท่อมหลังหนึ่ง
โดย: หมุยจุ๋ย วันที่: 19 พฤศจิกายน 2560 เวลา:19:22:43 น.
  
คุณ หมุยจุ๋ย --- ใช่เลยครับ พลพตนอกจากตายอย่างเดียวดายแล้ว ศพยังถูกใส่หีบตั้งเผาบนกองขยะ เศษไม้ และยางรถยนต์ เชื่อว่าชีวิตของเขาหลังเขมรแดงถูกปราบปรามก็คงไม่ดีนักนะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2560 เวลา:20:10:35 น.
  
เล่มนี้เห็นอยู่เมื่อวานนี้เองค่ะ
มีคนปล่อยมือสองแต่ซื้อไม่ทัน เสียดาย TT
อ่านรีวิวแล้วน่ากลัวแต่ก็น่าอ่านมาก
ขอบคุณมากๆ ค่ะ
โดย: lovereason วันที่: 19 พฤศจิกายน 2560 เวลา:22:41:39 น.
  
คุณ lovereason --- ปกนี้ออกแบบสวยดีครับ ผมได้มาจากคนปล่อยหนังสือมือสองเหมือนกัน เรื่องราวหดหู่ แต่พอได้อ่านแล้วก็ลุ้นและชวนติดตามมากครับ ขอให้ได้มาอ่านนะครับ ^^
โดย: Jim-793009 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2560 เวลา:0:15:28 น.
  
อ่านแล้วหดหู่ ชีวิตในช่วงนั้นคงลำบากน่าดู ได้อ่านรีวิวนี้แล้ว ผมอยากหาทั้งสองเล่มมาอ่านทันที อย่างน้อยจะได้เพิ่มพูนเรื่องราว และซึมซับความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นในประวิตศาสตร์ นี่แค่อ่านรีวิวยังสะเทือนใจ คนในเหตุการณ์จริงคงยิ่งกว่านี้ ขอบคุณที่นำหนังสือดีๆมารีวิวครับ
โดย: ruennara วันที่: 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา:2:52:27 น.
  
คุณ ruennara --- ยินดีมากเลยครับ ขอบคุณที่แวะเข้ามาแลกเปลี่ยนกันเสมอเลย ดีใจที่ได้พูดคุยกับคอหนังสือนะครับ เมื่อก่อนผมก็ไม่สนใจประวัติศาสตร์สงครามเลย แต่พอได้อ่านแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา:12:28:49 น.
  
เป็นเรื่องมีชื่อเสียงที่ได้ยินมานานจริงๆค่ะ แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้อ่านเลย คงต้องไปหามาอ่านบ้างซะแล้ว
โดย: Kisshoneyz วันที่: 24 พฤศจิกายน 2560 เวลา:2:02:27 น.
  
คุณ Kisshoneyz --- เชียร์ให้อ่านเลยครับ เพราะถึงแม้จะเป็นบันทึกส่วนตัว แต่ผู้เขียนก็ถ่ายทอดได้ชวนติดตามมาก ๆ และเรื่องราวเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้ดีจริง ๆ ครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2560 เวลา:14:32:26 น.
  
หนังสือหายากมากเลยครับ ผมหาในเว็บเขาก็บอกว่าหมด T^T
โดย: ruennara วันที่: 26 พฤศจิกายน 2560 เวลา:2:31:21 น.
  
คุณ ruennara --- ไว้ผมเจอมือสองที่ไหน จะส่งข่าวไปบอกหลังไมค์นะครับ นึกว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะมีสต๊อกของเสียอีกนะครับ สงสัยคงต้องรอพิมพ์ใหม่
โดย: Jim-793009 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา:11:28:09 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments