Group Blog
 
All blogs
 

นกกาฝากก้นเหลือง

นกกาฝากก้นเหลือง Dicaeum chrysorrheum (Yellow-vented Flowerpecker) เป็นนกในวงศ์นกกินปลีซึ่งกินน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ และแมลงเล็กๆต่างๆเป็นอาหาร นกชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ย่อยนกกินปลีซึ่งแบ่งออกเป็น2เหล่า คือเหล่านกกาฝาก และเหล่านกกินปลี เหล่านกกาฝากเองก็แบ่งออกเป็นสกุลนกกาฝากปากยาว และนกกาฝากปากสั้น นกกาฝากก้นเหลืองอยู่ในสกุลนกกาฝากปากยาว เป็น 1 ใน 7 ชนิดที่พบในประเทศไทย และ 1 ใน 38 ชนิดทั่วโลก







นกกาฝากก้นเหลืองมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 10 เซนติเมตร ลำตัวด้านล่างสีขาวมีลายขีดสีดำปนเทากระจายทั่วไป มีลำตัวด้านบนสีเขียวตัดกับลำตัวด้านล่าง ขนคลุมโคนหางด้านล่างสีเหลืองสด หรือเหลืองอมส้ม เป็นที่มาของชื่อสามัญ ตัวไม่เต็มวัยจะมีขนบริเวณนี้สีอ่อนกว่าตัวเต็มวัย ปากสีเทาเข้มถึงดำ ม่านตาสีแดง ขาและเท้าสีเทาเข้ม นกชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยโดยจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย และพบได้คนละถิ่นที่อยู่

ช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม เป็นช่วงที่นกกาฝากก้นเหลืองทำรังวางไข่ โดยลักษณะของรังคล้ายกับนกกาฝากอื่นๆคือทำรังเป็นรูปกระเปาะเล็กๆ แขวนอยู่ตามกิ่งไม้สูงจากพื้นดินไม่เกิน 8 เมตร สร้างจากเส้นใยของก้านใบไม้ หญ้ายาวๆแห้งๆสานเป็นรูปคล้ายถุงกลมๆเชื่อมติดกันด้วยใยแมงมุม มีทางเข้าออกด้านข้าง มีกันสาดเล็กๆเหนือทางเข้าออก บุภายในด้วยปุยจากฝักแก่ต้นนุ่น หรือปุยอย่างอื่นที่หาได้ได้พื้นที่ วางไข่ครอกละ 2 ฟอง เปลือกไข่สีขาวขนาดราว 11x15.3 มม.พ่อและแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่ เลี้ยงลูกอ่อน







เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ชายป่า ป่าชั้นรอง จากพื้นราบถึงความสูง1100เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่เชิงเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล อินเดีย จนถึงพม่า ไทย เหนือถึงทางใต้ของยูนนาน และใต้ถึงคาบสมุทรมลายู สิงคโปร์ สุมาตรา บอร์เนียว ชวา บาหลี แต่มีสถานะเป็นนกหายาก-หาง่ายต่างกันในแต่ละพื้นที่

สำหรับประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือ กลาง ตะวันตก ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือในบางท้องที่และภาคใต้ โดยพบได้ทั้ง 2 ชนิดย่อยดังนี้

1.ชนิดย่อย D.c. chrysochlore พบได้ทุกภาค เหนือคอคอดกระขึ้นมา มีจุดสังเกตคือ ขนคลุมตัวด้านบนมีสีเขียวเข้มปนเขียวอ่านสดใส ขนคลุมหางด้านล่างสีเหลืองสดหรือเหลืองทอง และลายที่ท้องสีดำปนเทา
2.ชนิดย่อย D.c. chrysorrheum พบตั้งแต่คอคอดกระลงมา ขนคลุมลำตัวด้านบนสีเขียวเข้ม ขนคลุมหางด้านล่างสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม ลายที่ท้องมีสีดำเข้ม

นกกาฝากก้นเหลืองที่เห็นภาพอยู่นี้ ถ่ายมาจากน้ำตกกระทิง อช.คิชฌกูฎ นกกำลังร่วมวงศ์ไพบูลย์รับประทานลูกตะขบอยู่กับนกกาฝากอกเพลิง ในการกิน นกจะจิกเอาลูกตะขบออกจากต้น ใช้ปากบีบให้น้ำหวานๆจากลูกตะขบไหลเข้าปาก จนหมดแล้วทิ้งเปลือกลงพื้น แล้วจิกกินลูกใหม่ต่อไป


ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 11 กันยายน 2549    
Last Update : 11 กันยายน 2549 20:11:42 น.
Counter : 4415 Pageviews.  

นกโพระดกหน้าผากดำ

นกโพระดกหน้าผากดำ Megalaima australis (Blue-eared Barbet) เป็นนกในวงศ์นกโพระดกซึ่งพบทั่วโลก 27 ชนิด พบในเมืองไทย 13 ชนิด เพื่อนร่วมวงศ์ได้แก่นกตีทอง นกโพระดกคอสีฟ้า นกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ เป็นต้น นกในวงศ์นี้ทุกชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่น ลักษณะเฉพาะของนกชนิดนี้คือ มีลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีเขียว และมีสีสันบริเวณหัว คอ และใบหน้าแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด หัวโต ปากใหญ่หนา นกทั้งสองเพศมักคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่สีสดและสีคล้ำ เว้นแต่นกโพระดกคางแดงที่ตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทำรังในโพรงไม้โดยใช้ปากเจาะจนเป็นโพรง หรืออาศัยโพรงรังเก่าของนกอื่น พ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยงลูก







นกโพระดกหน้าผากดำ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 17 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นที่ใช้แยกจากโพระดกชนิดอื่นได้ทันทีคือมีหน้าผากสีดำ แถบมีใต้ตาซึ่งถูกล้อมด้วยเส้นสีดำเป็นสีเหลือง บริเวณกระหม่อมถัดจากหน้าผากเป็นสีฟ้า มีขนคลุมหูสีฟ้าอยู่ระหว่างสีแดง2แถบ และสีฟ้าที่บริเวณคอทั้งหมด ทำให้เมื่อดูด้านข้างเห็นเป็นสีฟ้า สลับแดง ฟ้า แดง ฟ้า ขนหางด้านในสีฟ้า ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ต่างกันที่ตัวเมียมีสีทึมกว่าตัวผู้







นกชนิดนี้กินอาหารจำพวกลูกไม้จึงมักพบหากินอยู่บนต้นไม้ที่ผลกำลังสุกเต็มต้นพร้อมกับนกชนิดอื่น และสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ จากที่ราบถึงความสูงระดับ 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยพบกระจายทุกภาคยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในบางพื้นที่







เจ้าของบล็อกถ่ายภาพนกชนิดนี้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกมากินลูกไม้สุกพร้อมกับนกอื่นเช่นนกโพระดกคอสีฟ้าเคราดำ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกกาฝากก้นเหลืองเป็นต้น

ข้อมูลจาก : หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D.Round




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2549    
Last Update : 30 สิงหาคม 2549 20:45:15 น.
Counter : 4941 Pageviews.  

นกกินปลีคอแดง

นกกินปลีคอแดง Aethopyga siparaja (Crimson Sunbird) เป็นนกที่มีสีแดงสดใสตามชื่อสามัญ ปากสีดำโค้งยาวเรียวแหลม หัว คอและหลังสีแดง หางสีเขียวอมฟ้า มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 11 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้เป็นนกที่น่ารักน่าเอ็นดูมากทีเดียว







นกในสกุลนกกินปลีเป็นนกที่มีปากยาวโค้งปลายแหลมสำหรับซอกซอนเข้าไปกินน้ำหวานจากดอกไม้ มีลิ้นที่ม้วนเป็นหลอดได้และมีปลายลิ้นเป็นพู่เพื่อการดูดซับน้ำหวานอย่างหมดจด เมื่อเป็นนกกินน้ำหวานแบบนี้จึงมีหน้าที่เป็นผู้ผสมเกสรดอกไม้ไปด้วยในตัว

นกกินปลีคอแดงเป็นนกที่มีชนิดย่อยทั่วโลกถึง 16 ชนิด มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย จากอนุทวีปอินเดียถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และพบในประเทศไทยถึง 5 ชนิดย่อย สำหรับในเรื่องนี้ถ้าสนใจ กรุณา คลิกที่นี่







นกกินปลีแทบทุกชนิดมีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างตัวผู้สีสันสดใสกับตัวเมียสีสันเรียบๆ และการจำแนกชนิดนกกินปลีจากนกตัวเมียเป็นเรื่องยากระดับเซียนเหยียบเมฆซึ่งสำหรับเราแล้วก็ทำได้เพียงสังเกตจุดสังเกตเล็กๆน้อยๆ เช่นวงตา คิ้ว สีขาวในบางบริเวณ ไปจนถึงถิ่นที่อยู่อาศัย และที่ง่ายที่สุดก็คือ พบอยู่กับตัวผู้ชนิดไหนนั่นเอง

นกกินปลีคอแดงตัวผู้ มีหน้า คอไปจนถึงอกตอนบนสีแดงสดใส มีเส้นสะท้อนแสงสีน้ำเงินลากลงมาจากโคนปากมาทางข้างคอทั้งสองข้างลงมาจนถึงอกส่วนบน หน้าผากมีเหลือบมันสะท้อนแสงอาจเป็นได้ทั้งสีเขียว ฟ้า หรือม่วง หัวสีแดงเลือดหมู ไล่ไปจนถึงไหล่หลังตอนบน ตะโพกมีแถบสีเหลืองที่มักถูกขนบริเวณอื่นยาวลงมาปิดไว้เสมอ จนแทบจะจำแนกชนิดไม่ถูก ต้องรอให้นกยกปีกขึ้นจึงจะเห็น หางสีเขียวออกฟ้า ลำตัวด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา ขาสีดำสนิท ขณะที่นกตัวเมียมีสีออกเขียวๆเทาๆแบบทึมๆ







นอกจากน้ำหวานแล้ว อาหารอีกอย่างของนกกินปลีก็คือเหล่าหนอน และแมลงที่มากินน้ำหวานด้วยกันนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อนกทำรังเลี้ยงลูก แมลงเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารที่นำไปเลี้ยงลูก ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน นกกินปลีคอแดงจะทำรังเป็นรูปกระเปาะห้อยลงมาจากกิ่งไม้ไม่สูงจากพื้นดินมาก ทำจากหญ้าแห้ง ใบไม้สานหยาบๆ เชื่อมให้ติดกันด้วยใยแมงมุม กลางรังโป่งออกบุด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาด10x14มม.โดยนกตัวเมียเป็นผู้สร้างรังแต่เพียงผู้เดียว นกตัวผู้ช่วยฟักไข่บ้างเล็กน้อยและช่วยกันเลี้ยงลูกอ่อน ในประเทศอินเดีย มีรายงานว่านกคัคคูมรกตชอบเข้ามาอาศัยให้พ่อแม่นกกินปลีคอแดงฟักไข่และเลี้ยงลูกให้







โดยปรกติแล้ว นกกินปลีชนิดนี้มักถูกพบเป็นคู่หรือครอบครัวเล็กๆหากินตามกิ่งไม้ในระดับล่างถึงเรือนยอด ไม่ค่อยหยุดนิ่ง มักหากินตามต้นไม้ตลอดเวลา สามารถพบได้ตามป่าหลายแบบตั้งแต่ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าชั้นรอง สวนผลไม้ที่ติดกับชายป่าดิบ ป่าตามเกาะที่ห่างจากชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง สวนมะพร้าว สวนทุเรียน สวนเงาะ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง1500เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนมากพบในระดับต่ำกว่า915เมตร ในประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์ทั่วประเทศเว้นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่







นกกินปลีกับน้ำหวานเป็นของคู่กัน เมื่อดอกหมวกจีนที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎบานอีกครั้ง ก็เป็นเวลานัดที่นกกินปลีคอแดงเหล่านี้(รวมถึงกินปลีอื่นๆอย่างกินปลีคอสีม่วง และกินปลีคอสีน้ำตาล)จะออกมากินน้ำหวานกันอย่างสนุกสนานเป็นที่สำราญสายตาแก่คนดูนกอีกครั้ง



ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 5 กันยายน 2549 7:42:39 น.
Counter : 4262 Pageviews.  

นกพญาปากกว้างสีดำ

นกพญาปากกว้างสีดำ Corydon sumatranus(Dusky Broadbill) เป็นนกพญาปากกว้างที่ตัวใหญ่ที่สุดในบรรดานกพญาปากกว้าง 7 ชนิดที่พบในประเทศไทย คือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 28 เซ็นติเมตร ขนคลุมลำตัวเกือบทั้งหมดเป็นสีดำ จึงได้ชื่อว่าพญาปากกว้างสีดำ มีปากใหญ่สีออกชมพู ขนคลุมบริเวณใต้คอเป็นสีเหลืองอมขาวมีลายเกล็ดสีดำจางๆ มีแถบสีขาวที่ปีก ใกล้ปลายหางมีลายเป็นจุดและแถบเล็กๆสีขาว บริเวณหลังถึงโคนหางด้านบนมีแถบสีเหลืองถึงเหลืองอมส้ม ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน ส่วนนกตัวไม่เต็มวัยจะมีสีออกน้ำตาลเข้ม ไม่มีสีเหลืองอมขาวที่ใต้คอ ไม่มีลายสีขาวที่กลางปีกและใกล้ปลายหาง ปากและหนังเปลือยเปล่ารอบตาเป็นสีชมพูสดเข้ม และไม่มีแถบสีเหลือง หรือส้มอมเหลืองที่โคนหางด้านบน







นกพญาปากกว้างสีดำเป็นนกประจำถิ่นของหมู่เกาะสุมาตรา บอร์เนียว พม่า กัมพูชา ลาว คาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่น พบกระจายพันธุ์เกือบทุกภาคเว้นภาคกลาง ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกจะอาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และพื้นป่าที่มีความชุ่มชื้นมากเป็นพิเศษ มักพบอยู่เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆตามกิ่งไม้ระดับกลางต้นและเรือนยอด หากินช่วงเช้าและเย็นใกล้ค่ำ







นกชนิดนี้กินอาหารจำพวกกิ้งก่า จักจั่น ตั๊กแตน มด ปลวก หาอาหารโดยกระโดดจับตามกิ่งไม้ หรือบินโฉบจับด้วยปากกลางอากาศ

ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม นกพญาปากกว้างจะทำรังวางไข่ โดยนกจะทำรังเป็นรูปกระเปาะขนาดใหญ่ แขวนตามกิ่งไม้ หรือเถาวัลย์ขนาดใหญ่ วัสดุเป็นจำพวกหญ้าต้นยาว ใบไม้ ดอกหญ้า มือเกาะของพืชจำพวกเถาวัลย์ กิ่งไม้แห้ง นำมาพันและสานกันแบบหยาบๆโดยใช้ใยแมงมุมเป็นตัวเชื่อม มีทางเข้าออกด้านข้าง
รังของนกพญาปากกว้างสีดำจะมีขนาดใหญ่กว่ารังของนกพญาปากกว้างชนิดอื่นๆมาก







สาเหตุที่รังของนกชนิดนี้ใหญ่กว่ารังของนกพญาปากกว้างชนิดอื่นอาจเป็นเพราะนกพญาปากกว้างสีดำไม่ได้ทำรังเพียงสองตัวแบบนกอื่นๆที่เรารู้จัก แต่พ่อแม่นกจะทำรังโดยได้รับความช่วยเหลือจากนกพี่เลี้ยงซึ่งเป็นลูกนกจากฤดูก่อนที่ยังไม่จับคู่ราว 3-4 ตัว เมื่อทำรังเสร็จแล้ว นกพี่เลี้ยงจะหายไปปล่อยให้พ่อแม่นกกกไข่ที่จะวางครั้งละ3-4ฟองตามลำพัง ซึ่งเป็นเวลาราว 13-14 วัน และจะกลับมาอีกทีหนึ่งเพื่อช่วยป้อนเมื่อลูกนกออกจากไข่แล้ว







นกพญาปากกว้างสีดำนี้ถ่ายภาพจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ราวต้นเดือนกรกฎาคม







ข้อมูลจาก :
//www.bird-home.com




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2549 7:48:11 น.
Counter : 1947 Pageviews.  

นกยางลายเสือ

นกยางลายเสือ Gorsachius melanolophus (Malayan Night Heron) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 48 เซ็นติเมตร รูปร่างอย่างนกยางทั่วไป สีสันโดยรวมเป็นสีออกแดงเลือดหมู ลำตัวด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่างซึ่งมีลายขีดสีดำและน้ำตาลบริเวณคอและท้อง มีปากอวบๆ สั้นเมื่อเทียบกับนกยางอย่างอื่น ดูคล้ายกับปากของนกแขวก รูจมูกใหญ่ รี คอสั้นอวบหนา ยืดและหดคอเพื่อความสะดวกในการหาอาหารได้ หนังเปลือยเปล่าที่หน้าและรอบดวงตาเป็นสีเขียวอมเหลืองถึงฟ้า บนหัวมีหงอนขนสีเทาเข้มถึงดำงอกจากหน้าผากไล่มาตามกระหม่อมถึงท้ายทอย ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกชนิดนี้ก็มีความหมายว่านกที่มีหงอนสีดำ พบและจำแนกชนิดได้ครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้โดยปรกติเป็นนกที่ชอบหลบซ่อนตัวและออกหากินในเวลากลางคืนตามชื่อสามัญ แต่ก็ออกหากินในช่วงกลางวันด้วย มักพบหากินโดดเดี่ยวตามลำห้วยในป่า เช่นเดียวกับนกยางอื่นๆ นกยางลายเสือหาอาหารโดยการเดินย่องหาอาหารตามข้างลำธาร หรือยืนนิ่งๆ เมื่อพบเหยื่ออันได้แก่ ปลา กบ เขียด แมลง ไส้เดือน เป็นต้น ก็จะจับกลืนเข้าไปทั้งตัว โดยปรกติจะพบนกชนิดนี้ตามลำห้วยเล็ก น้ำไหลเอื่อย มีกอไผ่ปกคลุมจนร่มครึ้ม ในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าชั้นรอง ที่ลุ่มน้ำขังในป่าดงดิบ จากพื้นราบถึงความสูงระดับไม่เกิน 1220 เมตรจากระดับน้ำทะเล







นกยางลายเสือมีแหล่งทำรังวางไข่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ ภาคใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หมู่เกาะฟิลิปปินส์ นกจะทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝนโดยการนำกิ่งไม้มาซ้อนกันหยาบๆพอวางไข่ได้ ซึ่งรังจะโปร่งมากจนสามารถมองเห็นไข่ได้จากทางด้านล่าง รังมักอยู่สูงจากพื้น 5-8 เมตร วางไข่ครอกละ3-5ฟอง เปลือกไข่ขาวมีแต้มสีออกฟ้า ขนาด37.2x46.2มม.







สำหรับประเทศไทยเป็นทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพผ่าน และมีรายงานการทำรังในเมืองไทยบ้างเล็กน้อยบริเวณรอบๆอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมีรายงานการพบนกทั่วทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมปี2548มีรายงานการพบ5-6ตัวที่โรงเรียนนายร้อย จปร. และปี 2549นี้ก็มีรายงานการพบออกมาเดินหากินที่บริเวณเดิมอีกเมื่อประมาณวันที่25 มิถุนายนนี้เอง







หลังจากได้ข่าวจากเพื่อนนักถ่ายภาพนกคือ น้องซิมเปิ้ลแมนว่านกยางลายเสือได้ออกมาหากินไส้เดือนที่สนามหญ้าที่โรงเรียนนายร้อยจปร.อีกแล้ว จึงได้เดินทางไปดูและพบว่านกหากินทั้งวันทำให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการถ่ายภาพ นกจะแยกกันเดินหากินในพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ลักษณะการเดินค่อนข้างจะมีแบบแผน คือ นกจะเดินไปจนสุดทาง เลี้ยวขวา และเลี้ยวขวาอีกทีเพื่อกลับในเส้นทางเดิมแต่พื้นที่ใหม่ เมื่อสุดทางก็จะเลี้ยวซ้าย และซ้ายอีกทีแล้วเดินต่อ ในการทำเช่นนี้นกจะสามารถเก็บไส้เดือนได้อย่างค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ ไม่ได้เดินสะเปะสะปะ เมื่อจับไส้เดือนได้ นกยางลายเสือจะกินเข้าไปทันทีโดยไม่ได้ยกเหยื่อขึ้นจากพื้นอย่างนกยางอื่นๆที่เคยเห็น และจะกินตลอดเวลา เมื่อกินแล้วก็จะชูคอขึ้น ส่ายคอไปมา พองขนบริเวณอก คิดว่าเพื่อขย้อนอาหารให้ลงลำคอ ถ้าเหยื่อตัวเล็กก็ทำสัก2-3ครั้ง แต่ถ้าเหยื่อตัวใหญ่ก็จะต้องใช้เวลามากขึ้น







เท่าที่สังเกต นกสองตัวนี้มีจุดที่แตกต่างกันคือตัวหนึ่งมีหนังเปลือยเปล่าที่หน้าและรอบตาสีฟ้า ในขณะที่อีกตัวหนึ่งมีหนังสีเขียวอมเหลือง จากหลักฐานภาพถ่ายและจากคำบอกเล่าผู้รู้บอกว่าตัวแรกเป็นตัวผู้และอีกตัวเป็นตัวเมีย







ภาพนกยางลายเสือที่ถ่ายมานี้ถ่ายได้ในระยะใกล้เนื่องจากนกเดินหากินเรื่อยๆเข้าหากล้องซึ่งตั้งอยู่หลังบังไพร






ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 28 เมษายน 2555 13:46:51 น.
Counter : 6841 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.