Group Blog
 
All blogs
 

นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น

นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น Turdus cardis (Japanese Thrush)เป็นนกที่ถูกพบและจำแนกชนิดครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นนกอพยพที่มีรายงานการพบไม่บ่อยนักในประเทศไทย นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันของขนคลุมลำตัวแตกต่างกันอย่างชัดเจน









นกตัวผู้มีหัว ไหล่ หลัง ปีก หาง อก สีดำ ท้องสีขาวมีจุดสีดำเรียงเป็นแนวลงไปตามแนวยาวของลำตัว จุดที่อยู่ใกล้ขอบสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น มีวงรอบตาเป็นเนื้อสีเหลือง ปากช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนเป็นสีเหลือง ช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อนเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอ่อน จงอยปากบนสีเข้มกว่าจงอยปากล่าง ขาและนิ้วเท้าสีเหลืองอ่อน ส่วนนกตัวเมียมีสีเขียวมะกออกอมน้ำตาลแทนที่ส่วนที่เป็นสีดำในนกตัวผู้ วงรอบตาสีเหลืองอ่อนหรือสีเนื้อ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 21-23 เซ็นติเมตร







อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กและลูกไม้ป่าสุกขนาดเล็กๆ โดยจะหากินตามพื้นดินที่มีน้ำขังแฉะซึ่งมีเหยื่อชุกชุม ใกล้แหล่งน้ำ และพุ่มไม้ต่ำใกล้พื้นดิน นกอาศัยตามป่าดิบเขาจากที่ราบจนถึงความสูง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นกชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ภาคกลางและตะวันออกของจีน ในฤดูหนาวนกในจีนและบางส่วนในญี่ปุ่นจะอพยพหนีหนาวลงมาหากินทางใต้ของจีน ภาคเหนือและกลางของเวียตนาม บางตัวลงมาถึงภาคเหนือและภาคกลางของลาว จำนวนน้อยมากเดินทางมาประเทศไทยในปีที่มีอากาศหนาวมากและยาวนาน







สถานที่ที่มีรายงานการพบในประเทศไทยได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และสะแกราช ส่วนภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อปี 2548


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com
หนังสือคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2552 15:56:09 น.
Counter : 2198 Pageviews.  

นกโกโรโกโส

นกโกโรโกโส Carpococcyx renauldi (Coral-billed Ground-Cuckoo) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 68.5-69 เซนติเมตร มีหางยาว เฉพาะหางอย่างเดียวก็ยาว 35 เซ็นติเมตรแล้ว สีสันทั่วไปเป็นสีเทาๆทั้งตัว หัว คอและหางสีดำ มีจุดเด่นอยู่ที่บริเวณหนังรอบตาซึ่งมีสีแดงและม่วงคล้ายทาอายแชโดว์ และปากสีแดงสดใส ขาและเท้าสีแดง เป็นนกหากินตามพื้น กลางคืนบินขึ้นนอนบนกิ่งไม้ที่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 10 เมตร นกตัวผู้และตัวเมียสีสันคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้กินอาหารจำพวกแมลง หนอน ปลวก ลูกไม้ป่าบางชนิดที่หล่นตามพื้น มักหลบซ่อนตัวในที่รกทึบ เมื่อตกใจจะวิ่งหนีไปซ่อนในดงไม้รก อาศัยตามป่าดงดิบแล้ง ป่าชั้นรองตั้งแต่พื้นราบจนถึง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

แม้จะเป็นนกในวงศ์นกคัคคูเช่นเดียวกับแม่นกกาเหว่าซึ่งไม่ทำรังเลี้ยงลูกของตัวเอง แต่นกโกโรโกโสไม่เป็นแบบนั้น นกชนิดนี้จะทำรังและเลี้ยงลูกเอง โดยจะวางไข่ครั้งละ2-4ฟอง ทำรังบนต้นไม้







นกโกโรโกโสเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย ลาว เวียตนาม กัมพูชา หาดูได้ค่อนข้างยาก อาจพบได้บ่อยในบางพื้นที่ สำหรับประเทศไทยมักพบที่ อช. เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำยม จ.แพร่ เป็นต้น แต่จะมีโอกาสพบได้บ่อยที่ชายป่าหลังร้านค้าที่ผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่







นกในภาพนี้ถ่ายมาเมื่อเดือนมีนาคม 2548 จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ที่นักดูนกที่ต้องการจะดูนกชนิดนี้ต้องไปเยือนสักครั้งนั่นเอง


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com







 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 3 กันยายน 2550 15:53:01 น.
Counter : 3891 Pageviews.  

นกกะเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล

นกกะเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล Actenoides concretus (Rufous-collared Kingfisher)เป็นนกกะเต็นป่า มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 24 เซ็นติเมตร นกตัวผู้มีหลังสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ และนกตัวเมียมีหลังสีเขียวมีจุดกลมเล็กๆสีอ่อนกระจายทั่วปีก นกทั้งสองเพศมีหัวสีเขียว หน้าสีเหลืองอมน้ำตาล มีแถบสีดำพาดผ่านตาและลากยาวไปถึงท้ายทอยมีแถบสีฟ้าลากจากโคนปากผ่านข้างแก้มไปจนถึงข้างคอ ท้องและอกตอนบนสีเหลืองอมน้ำตาลหางสีฟ้า ปากสีงาช้างหรือเหลืองนวล







นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นของสุมาตรา บอร์เนียว เป็นนกหายากและเคลื่อนย้ายแหล่งหากินไม่อยู่ประจำที่ พบทางตอนใต้ของแทนเนอซาลิม ภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู มีรายงานพบที่สิงคโปร์ด้วย โดยสถานที่ที่พบมักเป็นป่าดิบชื้นตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงความสูง 750 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีบ่อยครั้งที่พบไกลจากแหล่งน้ำมาก อาหารของนกชนิดนี้คาดว่าจะเป็นแมลงขนาดใหญ่ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กตามพื้นดิน กิ้งก่า จักจั่น ปลวก เป็นต้น







นกกะเต็นสร้อยคอสีน้ำตาลทำรังในโพรง อาจเป็นโพรงไม้ผุๆหรือขุดโพรงที่ผนังดินริมลำธาร รังหนึ่งที่พบมีปากโพรงกว้าง 10 เซ็นติเมตร ลึก 60 เซ็นติเมตร ปลายโพรงเป็นแอ่งกว้างราว 20 เซ็นติเมตร วางไข่ครอกละ 2 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ 22 วัน เมื่อลูกนกออกจากไข่แล้วพ่อและแม่นกช่วยกันออกหาอาหารมาป้อนลูก







สำหรับประเทศไทยมักพบนกชนิดนี้ทางภาคใต้ แต่ในช่วงทำรังมีรายงานการพบที่แก่งกระจานบ่อยครั้ง







ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นกอยู่ในระยะป้อนลูกและหาอาหารหลากหลายประเภทมาป้อน ทั้งแมลง หนอน จิ้งเหลนและงู

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2548    
Last Update : 20 มีนาคม 2551 12:13:07 น.
Counter : 3203 Pageviews.  

นกจาบคาเคราน้ำเงิน

นกจาบคาเคราน้ำเงิน Nyctyornis athertoni (Blue-bearded Bee-eater) เป็นนกจาบคาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 33-37 เซ็นติเมตร มีลำตัวเพรียว คอสั้น หัวโต ปากยาวโค้งงอ ขาและนิ้วเท้าเล็กไม่เหมาะสำหรับเดินหรือกระโดด สีสันโดยรวมเป็นสีเขียว ขนบริเวณอก คอ คาง สีฟ้าค่อนข้างยาวเป็นพิเศษจึงดูคล้ายมีเคราสีฟ้าเป็นที่มาของชื่อ บริเวณท้องมีลายขีดสีเขียวจางๆขนคลุมลำตัวด้านล่างส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกจาบคาเคราน้ำเงินชอบเกาะกิ่งนิ่งๆนานๆหลายๆชั่วโมง ไม่ค่อยเกาะตามยอดไม้แบบนกจาบคาอื่นๆแต่จะเกาะที่ระดับกลางของต้นไม้ อาหารของนกจาบคาเคราน้ำเงินได้แก่ ผึ้ง แมลงปอ ด้วง เป็นต้น ในการกินอาหารนกจะบินออกไปโฉบอาหารกลับมากินที่กิ่งโดยขยับแมลงให้หันหัวเข้าก่อนเช่นเดียวกับนกจาบคาอื่นๆ แต่นกชนิดนี้มีวิธีการกินอาหารแบบอื่นๆด้วย เช่นบินเข้าไปในโพรงไม้ผุๆเพื่อจิกกินไรไม้และด้วงที่ขุดเจาะเนื้อไม้ เป็นต้น

ในฤดูร้อน นกจาบคาเคราน้ำเงินจะเกี้ยวพาราสีโดยเกาะชิดๆกัน แผ่ขนหางเป็นรูปพัดแล้วก้มหัวลงติดๆกันเป็นเวลา 1 นาที พร้อมทั้งส่งเสียงร้อง ในบางโอกาสก็คาบเหยื่อไว้ในปากด้วย นกชนิดนี้ทำรังโดยการเจาะโพรงดินเช่นเดียวกับนกจาบคาอื่นๆ โดยเริ่มขุดโพรงก่อนวางไข่ประมาณ 1 เดือนหรือมากกว่า ในการเจาะโพรงบางครั้งนกอาจเปลี่ยนใจย้ายที่ขุดได้ บางโพรงก็ขุดสูงถึง 6-8 เมตรจากระดับพื้น บางโพรงก็เกือบจะติดดิน นกทั้งสองตัวจะสลับกันขุดโพรงรัง ในการขุดนกจะใช้ปากขุดและใช้เท้าเขี่ยดินออกมาทางด้านหลัง โพรงรังอาจมีปากโพรงกว้าง 7.5-9.5 เซ็นติเมตร และลึกได้ถึง 1.3-3 เมตร ขนานกับพื้นด้านล่าง หรือเอียงลง ปลายโพรงเป็นห้องกว้างราว 20*13เซ็นติเมตรสำหรับวางไข่และเลี้ยงลูก นกจะไม่หาวัสดุมารองรังแต่ในโพรงรังจะมีชิ้นส่วนของแมลงที่ย่อยไม่ได้ที่นกสำรอกออกมาเต็มไปหมด เพราะในระหว่างที่ยังไม่ได้วางไข่ นกจะอาศัยนอนในโพรงรังนี้ด้วย







นกจะวางไข่ครั้งละประมาณ 6 ฟองหรือน้อยกว่า เมื่อวางไข่ใหม่ๆไข่จะขาวสะอาดเป็นมัน แต่นานๆไปก็จะเลอะเทอะขึ้นและด้าน ไข่ค่อนข้างกลมมีขนาด 28.2*25.4มม. พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่จนฟักเป็นตัว ลูกนกที่ยังไม่เต็มวัยรูปร่างหน้าตาคล้ายตัวเต็มวัย

นกจาบคาเคราน้ำเงินถูกพบครั้งแรกในอินเดีย และพบที่เชิงเขาหิมาลัย เนปาล สิกขิม ภูฐาน บังคลาเทศ พม่า จีน ไทย ลาว เขมร เวียตนาม สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้อาศัยในป่าผสมผลัดใบและป่าดิบแล้งบนที่ราบต่ำจนถึงป่าดิบเขาที่ความสูง 2200 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมทั้งป่าเต็งรัง ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือของภาคอีสาน และภาคตะวันออก





ภาพนกในบล็อกถ่ายจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาช่วงกลางเดือนเมษายน นกกำลังป้อนอาหารลูกที่คลานออกมากินอาหารจากปากพ่อแม่นกที่ปากโพรงรัง

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 22 มิถุนายน 2548    
Last Update : 30 สิงหาคม 2551 12:05:55 น.
Counter : 5045 Pageviews.  

นกกะเต็นน้อยหลังดำ

นกกะเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ Ceyx erithacus (Black-backed Kingfisher / Oriental Dwarf Kingfisher : Black-backed )เป็นนกกะเต็นขนาดเล็กที่สุดในจำนวนนกกะเต็น 16 ชนิดที่มีรายงานการพบในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียงประมาณ 14 เซ็นติเมตร ตัวเล็กๆน่ารัก สีสันสดใส ปากใหญ่ยาวตามลักษณะของนกกะเต็นมีสีแดงสดใส หัว คอสีน้ำตาลแดงและสีม่วง มีแถบสีดำที่กลางหน้าผาก หน้าและท้องสีส้มอมเหลือง ปีกสีดำและน้ำเงิน ตะโพก ขนคลุมโคนหางด้านบนสีบานเย็น ขนหางสีน้ำตาลแดง ขาและเท้าสีแดง ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบในป่าดิบ ป่าชั้นรอง และป่าเบญจพรรณ ใกล้ลำธาร แหล่งน้ำ กระจายพันธุ์ในอินเดีย จีน พม่า ไทย ลาว เกาะไหหลำ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ แหลมมลายู เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยเป็นทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพผ่าน และนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ พบได้ทุกภาค เว้นภาคเหนือด้านตะวันออก และส่วนใหญ่ของภาคตะวันออก สามารถพบชนิดที่เป็นนกอพยพได้ตามสวนผลไม้ ป่าโกงกาง ป่าโปร่งตามแนวชายฝั่งะเล ก้นอ่าวไทยตอนใน แหล่งน้ำในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง







นกกะเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำมักถูกพบหากินตามป่าดงดิบในระดับต่ำจนถึงความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปรกติหากินโดดเดี่ยวตามกิ่งไม้ใต้ร่มเงาใกล้ลำธาร ทางภาคใต้พบหากินตามสวนผลไม้ ป่าชายเลน กินอาหารประเภทแมลง ปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก จิ้งจก จิ้งเหลนป่า ตะขาบ กบ และเขียด







มักมีรายงานการทำรังของนกกะเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำที่อช.แก่งกระจานในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน นกทั้งสองเพศจะช่วยกันขุดโพรงในผนังดินบริเวณข้างลำธาร หรือผนังดินข้างถนนไม่ไกลจากแหล่งน้ำ บางทีก็พบขุดเจาะรังปลวกเพื่อทำรังเช่นกัน ปากโพรงกว้างราว 4 เซ็นติเมตร ลึกราว 1 เมตร ตรงสุดโพรงจะขยายกว้างขึ้นเพื่อเป็นแอ่งวางไข่ ไม่มีวัสดุรองรัง







นกจะวางไข่ครอกละ 4-5ฟอง เปลือกไข่สีขาว ลักษณะค่อนข้างเรียว ขนาด 15.6x18.9 มม. ฟักไข่ 14-15 วัน ลูกนกอยู่ในรังราว 21-25 วัน ในช่วงแรกที่ลูกนกออกจากไข่ ขนยังไม่ขึ้น พ่อแม่นกจะเข้าไปป้อนในรัง พอลูกนกโตขึ้น มีขนคลุมลำตัวบ้างแล้ว ลูกนกจะออกมารับอาหารที่ปากโพรงรัง เมื่อลูกนกบินได้แล้ว พ่อแม่จะป้อนอีกพักหนึ่งโดยนำเหยื่อเป็นๆมาให้ลูกนกลองทำให้ตายก่อนกินด้วยตัวเอง โดยลูกนกจะกลืนเหยื่อทั้งตัว เมื่อโตพอลูกนกจะแยกไปหากินตามลำพัง







นกกะเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำคู่นี้มาทำรังที่ระหว่างลำธาร2และลำธาร3 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 เมื่อไปถ่ายภาพนกกำลังช่วยกันขุดโพรงดิน ขุดไปก็เอาอาหารมาป้อนกันไป และจีบกันไป หลังจากถ่ายภาพมาเป็นเวลาสักเดือนกว่าๆก็ได้ข่าวว่าลูกนกออกจากรังอย่างสวัสดิภาพ







ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2548    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 10:14:46 น.
Counter : 5181 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.