Group Blog
 
All blogs
 
นกยางลายเสือ

นกยางลายเสือ Gorsachius melanolophus (Malayan Night Heron) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 48 เซ็นติเมตร รูปร่างอย่างนกยางทั่วไป สีสันโดยรวมเป็นสีออกแดงเลือดหมู ลำตัวด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่างซึ่งมีลายขีดสีดำและน้ำตาลบริเวณคอและท้อง มีปากอวบๆ สั้นเมื่อเทียบกับนกยางอย่างอื่น ดูคล้ายกับปากของนกแขวก รูจมูกใหญ่ รี คอสั้นอวบหนา ยืดและหดคอเพื่อความสะดวกในการหาอาหารได้ หนังเปลือยเปล่าที่หน้าและรอบดวงตาเป็นสีเขียวอมเหลืองถึงฟ้า บนหัวมีหงอนขนสีเทาเข้มถึงดำงอกจากหน้าผากไล่มาตามกระหม่อมถึงท้ายทอย ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกชนิดนี้ก็มีความหมายว่านกที่มีหงอนสีดำ พบและจำแนกชนิดได้ครั้งแรกที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้โดยปรกติเป็นนกที่ชอบหลบซ่อนตัวและออกหากินในเวลากลางคืนตามชื่อสามัญ แต่ก็ออกหากินในช่วงกลางวันด้วย มักพบหากินโดดเดี่ยวตามลำห้วยในป่า เช่นเดียวกับนกยางอื่นๆ นกยางลายเสือหาอาหารโดยการเดินย่องหาอาหารตามข้างลำธาร หรือยืนนิ่งๆ เมื่อพบเหยื่ออันได้แก่ ปลา กบ เขียด แมลง ไส้เดือน เป็นต้น ก็จะจับกลืนเข้าไปทั้งตัว โดยปรกติจะพบนกชนิดนี้ตามลำห้วยเล็ก น้ำไหลเอื่อย มีกอไผ่ปกคลุมจนร่มครึ้ม ในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าชั้นรอง ที่ลุ่มน้ำขังในป่าดงดิบ จากพื้นราบถึงความสูงระดับไม่เกิน 1220 เมตรจากระดับน้ำทะเล







นกยางลายเสือมีแหล่งทำรังวางไข่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ ภาคใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หมู่เกาะฟิลิปปินส์ นกจะทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝนโดยการนำกิ่งไม้มาซ้อนกันหยาบๆพอวางไข่ได้ ซึ่งรังจะโปร่งมากจนสามารถมองเห็นไข่ได้จากทางด้านล่าง รังมักอยู่สูงจากพื้น 5-8 เมตร วางไข่ครอกละ3-5ฟอง เปลือกไข่ขาวมีแต้มสีออกฟ้า ขนาด37.2x46.2มม.







สำหรับประเทศไทยเป็นทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพผ่าน และมีรายงานการทำรังในเมืองไทยบ้างเล็กน้อยบริเวณรอบๆอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมีรายงานการพบนกทั่วทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมปี2548มีรายงานการพบ5-6ตัวที่โรงเรียนนายร้อย จปร. และปี 2549นี้ก็มีรายงานการพบออกมาเดินหากินที่บริเวณเดิมอีกเมื่อประมาณวันที่25 มิถุนายนนี้เอง







หลังจากได้ข่าวจากเพื่อนนักถ่ายภาพนกคือ น้องซิมเปิ้ลแมนว่านกยางลายเสือได้ออกมาหากินไส้เดือนที่สนามหญ้าที่โรงเรียนนายร้อยจปร.อีกแล้ว จึงได้เดินทางไปดูและพบว่านกหากินทั้งวันทำให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการถ่ายภาพ นกจะแยกกันเดินหากินในพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ลักษณะการเดินค่อนข้างจะมีแบบแผน คือ นกจะเดินไปจนสุดทาง เลี้ยวขวา และเลี้ยวขวาอีกทีเพื่อกลับในเส้นทางเดิมแต่พื้นที่ใหม่ เมื่อสุดทางก็จะเลี้ยวซ้าย และซ้ายอีกทีแล้วเดินต่อ ในการทำเช่นนี้นกจะสามารถเก็บไส้เดือนได้อย่างค่อนข้างครอบคลุมพื้นที่ ไม่ได้เดินสะเปะสะปะ เมื่อจับไส้เดือนได้ นกยางลายเสือจะกินเข้าไปทันทีโดยไม่ได้ยกเหยื่อขึ้นจากพื้นอย่างนกยางอื่นๆที่เคยเห็น และจะกินตลอดเวลา เมื่อกินแล้วก็จะชูคอขึ้น ส่ายคอไปมา พองขนบริเวณอก คิดว่าเพื่อขย้อนอาหารให้ลงลำคอ ถ้าเหยื่อตัวเล็กก็ทำสัก2-3ครั้ง แต่ถ้าเหยื่อตัวใหญ่ก็จะต้องใช้เวลามากขึ้น







เท่าที่สังเกต นกสองตัวนี้มีจุดที่แตกต่างกันคือตัวหนึ่งมีหนังเปลือยเปล่าที่หน้าและรอบตาสีฟ้า ในขณะที่อีกตัวหนึ่งมีหนังสีเขียวอมเหลือง จากหลักฐานภาพถ่ายและจากคำบอกเล่าผู้รู้บอกว่าตัวแรกเป็นตัวผู้และอีกตัวเป็นตัวเมีย







ภาพนกยางลายเสือที่ถ่ายมานี้ถ่ายได้ในระยะใกล้เนื่องจากนกเดินหากินเรื่อยๆเข้าหากล้องซึ่งตั้งอยู่หลังบังไพร






ข้อมูลจาก //www.bird-home.com



Create Date : 03 กรกฎาคม 2549
Last Update : 28 เมษายน 2555 13:46:51 น. 4 comments
Counter : 6786 Pageviews.

 
ตัวที่ทาอายแชโดว์เป็นตัวเมียแน่ๆเลยครับ


โดย: เซียวเปียกลี้ วันที่: 4 กรกฎาคม 2549 เวลา:1:01:20 น.  

 
หวังว่าจะอยู่อยู่จนถึงสิ้นเดือนนี้นะครับ.....จะได้ไปลองของใหม่


โดย: นกกะเต็น IP: 124.157.150.129 วันที่: 6 กรกฎาคม 2549 เวลา:23:15:27 น.  

 
คุณเซียวฯ

ตัวตาสีฟ้าเป็นตัวผู้ตะหาก

คุณนกกะเต็น

ทำไมต้องรอสิ้นเดือนอะ


โดย: จันทร์น้อย วันที่: 13 กรกฎาคม 2549 เวลา:7:30:56 น.  

 
มีเสียงนกร้องด้วย


โดย: ต่อตระกูล วันที่: 5 ธันวาคม 2549 เวลา:15:13:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.