Group Blog
 
All blogs
 

นกกะรางสร้อยคอเล็ก

นกกะรางสร้อยคอเล็ก Garrulax monileger (Lesser Necklaced Laughingthrush)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 28.5-30.5เซ็นติเมตร มีแถบสีขาวลากยาวจากโคนปากไปจนถึงข้างคอดูเหมือนคิ้ว แถบคาดตาสีดำลากขนานชิดไปกับคิ้วจนถึงข้างคอและต่อเนื่องเป็นเส้นพาดอก หัว ลำตัวด้านบนและหางสีน้ำตาล ท้ายทอยและสีข้างสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีขาว หางยาว ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน และนกชนิดนี้คล้ายคลึงกับนกกะรางสร้อยคอใหญ่มาก







อาหารของนกกะรางได้แก่กลีบดอกไม้ ผลไม้ หนอนและแมลงต่างๆ โดยมีการรวมฝูงหากินระหว่างนกกะรางชนิดเดียวกัน และต่างชนิด นอกจากนี้ยังอาจรวมกันกับนกอื่นด้วยเช่นนกหัวขวานต่างๆ นกจะร่วมกันหากินและช่วยกันระวังภัย







รายงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปี2530 เรื่องชีววิทยาและพฤติกรรมของนกกะรางที่ศึกษาพฤติกรรมของนกกะรางในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโดยนางตวงรัตน์ มณีกรณ์ ระบุว่า นกกะรางจะจับคู่ผสมพันธุ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน โดยสร้างรังตามต้นไม้ ซุ้มไม้ และเถาวัลย์ วัสดุที่ใช้เป็นพวกกิ่งไม้ ต้นหญ้า เถาวัลย์ สานเป็นรูปถ้วยภายในใช้ก้านใบประกอบเล็กๆหรือมือจับของเถามาสานอย่างละเอียด ปากรังภายนอกกว้างเฉลี่ย 17.72 เซ็นติเมตร ความลึกเฉลี่ย 7.62 เซ็นติเมตร ไข่ของนกกะรางสร้อยคอเล็กมีสีฟ้า ไม่มีลาย รูปร่างกลมรีขนาดเฉลี่ย 28.5*21.29 มิลลิเมตรหนัก 6.85 กรัม โดยนกจะวางไข่รังละ2-5ฟอง ส่วนใหญ่ 3-4ฟอง ระยะฟักไข่ 11-14 วัน จากนั้นอีก12วันลูกนกจึงออกจากรัง ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูก







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย ประเทศบังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฐาน พม่า จีน กัมพูชา ลาว เวียตนามและประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยทางภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ โดยพบได้ตามป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ จากที่ราบจนถึงความสูง 1675 เมตรจากระดับน้ำทะเล

นกในบล็อกถ่ายจากบ้านมะค่าบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นกกะรางสร้อยคอใหญ่และกะรางสร้อยคอเล็กรวมกลุ่มกันลงมากินกล้วยนับสิบตัว


ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/wiki/Laughingthrush
//www.dnp.go.th/wildlifenew/researchPublishDetails.aspx?prjId=24

คู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล พ.ศ.2550




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2552    
Last Update : 19 ตุลาคม 2552 17:37:26 น.
Counter : 5746 Pageviews.  

นกกาฝากท้องสีส้ม

นกกาฝากท้องสีส้ม Dicaeum trigonostigma ( Orange-bellied Flowerpecker) เป็นนกตัวเล็ก คอสั้น ขาสั้น มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 9 เซ็นติเมตร ปากค่อนข้างสั้นและหนา โค้งเล็กน้อย หางสั้น นกตัวผู้มีท้องจนถึงก้นสีส้มสดใสปนสีเหลือง อกและคอสีเทาอ่อน หน้า หัว กระหม่อมจนถึงท้ายทอย ปีก และหางสีเทาเข้ม







ส่วนตัวเมียมีสีขรึมกว่า คือขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ท้องถึงก้นสีสีเหลืองอมส้มจางๆ ตะโพกสีเหลือง







อาหารของนกกาฝากคือน้ำหวาน ลูกไม้สุก และแมลงเล็กๆ เราอาจพบนกกาฝากร่วมหากินเป็นกลุ่มกับนกชนิดอื่นเช่น นกกินปลีและนกแว่นตาขาว







นกกาฝากท้องสีส้มเป็นนกที่พบในทวีปเอเชีย โดยมีการกระจายพันธุ์ในประเทศบังคลาเทศ บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยทางภาคใต้ โดยพบได้ตามป่าดิบ ชายป่า จากที่ราบจนถึงความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล







นกในบล็อกถ่ายจากบ้านมะค่าบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี






ข้อมูลจาก:

คู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล พ.ศ.2550

New Holland Field Guide to the Birds of South-East Asia โดย Craig Robson

//en.wikipedia.org/wiki/Flowerpecker




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2552    
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 13:46:21 น.
Counter : 9438 Pageviews.  

Fairy Pitta

Fairy Pitta Pitta nympha (รอชื่อภาษาไทย) เป็นนกชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย ที่พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16-19.5 เซ็นติเมตร มีสีสันคล้ายกับนกแต้วแล้วธรรมดา (Blue-winged Pitta)แต่ตัวเล็กกว่า นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







ความแตกต่างระหว่างนกสองชนิดคือ

1.นอกเหนือจากบริเวณข้างกระหม่อมที่เป็นสีส้มอมน้ำตาลแล้ว นกชนิดนี้ยังมีคิ้วสีนวลลากจากโคนปากไปถึงเกือบท้ายทอย ขณะที่ของแต้วแล้วธรรมดาเป็นสีส้มอมน้ำตาลทั้งหมด

2.สีลำตัวด้านล่างอ่อนกว่านกแต้วแล้วธรรมดา

3.เวลาบิน จะเห็นว่าปีกของนกแต้วแล้วธรรมดามีวงสีขาวใหญ่กว่ามาก







นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและช่วงฤดูหนาวบินอพยพลงไปหากินที่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และที่กาลิมันตันประเทศอินโดนีเซีย เคยพบว่าเป็นนกอพยพผ่านในไต้หวัน เกาหลีเหนือ เวียตนามและฮ่องกง

Fairy Pitta ทำรังในป่าใกล้เขตร้อนในป่าดิบใกล้ชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบว่ามีการทำรังในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าที่ถูกปรับแต่งด้วย ในประเทศเกาหลีใต้ นกชนิดนี้ทำรังในป่าที่มีความชื้นสูงและป่าใกล้ชายฝั่งสูงถึง 1200 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นหนอน ไส้เดือนตามใบไม้ที่หล่นทับถม







จำนวนประชากรของนกชนิดนี้คาดว่ามีไม่เกินหลักพันและมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไฟป่า แม้ว่าพื้นที่ป่าของประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นป่าชั้นสองหรือไม่ก็เป็นพื้นที่ปลูกไม้อายุสั้นเพื่อการตัดใช้ ในอดีตการล่าและจับเป็นนกกรงก็มีมากในประเทศจีนและไต้หวัน การรบกวนของมนุษย์เป็นปัญหาในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่นักถ่ายภาพบุกรุกสถานที่ทำรังวางไข่ สถานทีทำรังวางไข่หลักในไต้หวันก็ถูกคุกคามด้วยโครงการสร้างเขื่อนHushanซึ่งจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของนก







นกชนิดนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ที่พบนกแต้วแล้วอกเขียวและแต้วแล้วธรรมดาเป็นประจำทุกเดือนเมษายน โดยในตอนแรกไม่มีใครคิดว่าเป็นนกชนิดใหม่เพราะนกชนิดนี้คล้ายคลึงกับนกแต้วแล้วอกเขียววัยอ่อนผสมกับนกแต้วแล้วธรรมดา


ข้อมูลจาก :

//www.birdlife.org




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 19:19:45 น.
Counter : 4018 Pageviews.  

นกจาบคาเคราแดง

นกจาบคาเคราแดง Nyctyornis amictus (Red-bearded Bee-eater) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 32-35 เซ็นติเมตร หัวโต ปากโค้งดำ คอถึงอกตอนบนมีขนยาวสีแดงเหมือนมีเคราแดง ท้องเขียวแกมเหลืองมีขีดเขียวเข้ม หน้าผากและกระหม่อมสีม่วงแกมชมพูในนกตัวผู้







ส่วนนกตัวเมียจะมีหน้าผากสีแดงเช่นเดียวกับที่คอ ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือเป็นสีเขียว นกชนิดนี้มีญาติคือ นกจาบคาเคราน้ำเงิน


เหมือนนกจาบคาอื่นๆ นกจาบคาเคราแดงกินแมลงเป็นอาหาร โดยเฉพาะ ผึ้ง ต่อ และแตน โดยนกจะเกาะคอนซ่อนตัวระหว่างใบไม้ และบินออกไปจับเหยื่อกลางอากาศ โดยนกชนิดนี้มักหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่มากกว่าเป็นฝูง







นกจาบคาเคราแดงทำรังในโพรงที่ขุดเข้าไปในตลิ่งข้างลำธารในป่าเช่นเดียวกับนกจาบคาเคราน้ำเงิน โดยจะไม่ทำรังใกล้ๆกันหลายๆรังแบบพวกนกจาบคาเล็กๆอื่นๆ

นกชนิดนี้อาศัยในป่าดิบจากที่ราบถึงความสูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ค่อนข้างบ่อย







นกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปลายเดือนเมษายน 2552 นกกำลังเลี้ยงลูกด้วยแมลงต่างๆที่เป็นอาหาร

ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/wiki/Red-bearded_Bee-eater

หนังสือคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ปี 2550




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:22:08 น.
Counter : 5551 Pageviews.  

นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว

นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว Cyanoptila cyanomelana (Blue and White Flycatcher) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 18 เซ็นติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันแตกต่างกัน นกตัวผู้ของชนิดย่อยหลักมีขนคลุมลำตัวด้านบนฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้ม ด้านข้างของหน้า อก และคอมีสีน้ำเงินเข้มมากๆเกือบดำ ท้องและขนคลุมโคนหางด้านล่างสีขาวตัดกับสีน้ำเงินเข้มอย่างชัดเจน ส่วนนกตัวเมียมีสีสันโดยรวมเป็นสีน้ำตาล ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน คอสีขาวอมเหลืองหรือสีเนื้อ บริเวณท้องไปถึงขนคลุมโคนหางด้านล่างเป็นสีขาว หางสีน้ำตาลแดงจางๆ







นกชนิดนี้มักอาศัยหากินโดดเดี่ยว เกาะยอดไม้หรือกิ่งไม้แห้งโล่งที่มีพุ่มใบหนาทึบบังอีกที นกจะจับแมลงตามกิ่ง ใบ และลำต้น ไม่ลงมาหากินบนพื้นดิน

ตามปรกติแล้วนกจับแมลงสีฟ้าท้องขาวอาศัยตามที่โล่งของป่าดิบ ป่าตามเกาะต่างๆ แหล่งเกษตรกรรม สวนสาธารณะ สวนป่า ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง 1830 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำรังวางไข่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของเขตสัตวศาสตร์พาเลียอาร์กติก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ภาคเหนือและใต้ของเกาหลี และญี่ปุ่น ในฤดูหนาวจะอพยพลงใต้ไปหากินที่หมู่เกาะซุนดาใหญ่ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ โดยมีประเทศไทย คาบสมุทรมลายู สิงคโปร์ ลาว ภาคตะวันตกของตังเกี๋ย ภาคกลางและภาคใต้ของอันนัม และทุกประเทศในแถบอินโดจีนอยู่ในเส้นทางอพยพผ่าน







นกชนิดนี้มีสถานะเป็นนกอพยพผ่านในประเทศไทย โดยสามารถพบได้ตอนต้นฤดูอพยพมาและฤดูอพยพกลับ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคเว้นตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถพบได้ในแทบทุกที่เช่น สวนผลไม้ ชายป่า สวนสาธารณะในเมือง ตามแต่นกจะแวะพัก แต่ที่มีรายงานการพบบ่อยคือที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น นกจะแวะพักแต่ละจุดไม่นานนักจึงค่อนข้างยากต่อการพบเห็น







ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 11:47:08 น.
Counter : 6102 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.