Group Blog
 
All blogs
 

นกกระเบื้องผา

นกกระเบื้องผา Monticola solitarius เป็นนกอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว และมีบางส่วนเป็นนกประจำถิ่นทางใต้ของไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 21-23 เซนติเมตร มีปากเรียวยาวสีดำ ปีกและหางสีค่อนข้างดำ ตัวเป็นลายเกล็ดๆ นกตัวผู้สีออกฟ้า นกตัวเมียสีออกน้ำตาล ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเป็นชุดขนที่ไม่พบในประเทศไทย นกตัวผู้จะมีสีฟ้าอมเทาชัดเจนสวยงามมาก







นกกระเบื้องผาวางไข่สีฟ้าจางๆ ขนาด 21x16 มม.คราวละ 3-5 ฟอง ตามรอยแตกของอาคารเก่า และตามซอกหิน ซอกผา ชะง่อนหิน นกตัวเมียเป็นผู้หาวัสดุจำพวกหญ้าแห้ง มอส มาทำรังเป็นรูปถ้วยขนาดใหญ่ และกกไข่ซึ่งใช้เวลาราว 11-12 วัน จากนั้นทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูก อาหารของนกชนิดนี้คือผลไม้และแมลง

นกกระเบื้องผามีหลายชนิดย่อย มี 3 ชนิดย่อยที่พบในประเทศไทย โดย 2 ชนิดเป็นนกอพยพ และ 1 ชนิดเป็นนกประจำถิ่น

1.ชนิดย่อย affinis มีแหล่งอาศัยอยู่ในประเทศจีนด้านตะวันตก ตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเข้าฤดูหนาวจะอพยพมาประเทศไทยทุกภาค แต่ภาคใต้จะลงไปแค่ระดับคอคอดกระ
2.ชนิดย่อย philippensis มีแหล่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกของทวีปเอเชียจากแมนจูเรีย ซาคาลินทางตอนใต้ ญี่ปุ่นไปจนถึงตะวันออกของจีนและไต้หวัน แตกต่างจากชนิดย่อยแรกตรงที่มีสีแดงอิฐบนิเวณท้องและขนคลุมโคนหางด้านล่างเป็นลายเกล็ด







นก 2 ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพที่พบได้มากทั่วประเทศไทยใน ทุ่งโล่ง ป่าโปร่ง หน้าผา ภูเขาหินปูน จากที่ราบถึงความสูงระดับ 1600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบเกาะกิ่งไม้ หรือตามอาคาร ที่ที่พบนกชนิดนี้ได้ง่ายคือตามหลังคาอาคาร ศาลาตามอุทยานแห่งชาติ เช่นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นที่ที่ถ่ายภาพนกตัวนี้มา
3.ชนิดย่อย madoci เป็นนกประจำถิ่นของคาบสมุทรมลายูและสุมาตรา เป็นนกประจำถิ่นของไทยพบทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกตั้งแต่จังหวัดกระบี่ไปจนถึงจังหวัดสตูล







แม้จะเป็นนกที่พบได้ง่ายแต่นกชนิดนี้ก็ได้รับเกียรติเป็นนกประจำชาติของประเทศมอลต้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ข้อมูลจาก :


//my.ort.org.il/holon/birds/bd31.html
//en.wikipedia.org/
//www.bird-home.com/
//www.bird-home.com




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2549    
Last Update : 15 ธันวาคม 2549 20:12:32 น.
Counter : 4017 Pageviews.  

นกมุ่นรกตาแดง

นกมุ่นรกตาแดง Alcippe morrisonia ( Grey-cheeked Fulvetta) เป็นนกตัวเล็กๆ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 13-15 เซนติเมตร มีหัวสีเทา ข้างกระหม่อมมีเส้นสีดำยาวลากผ่านเหนือตาไปทางด้านหลังทั้งสองข้าง มีวงตาสีขาวอมเทา ตาสีแดง หลังสีน้ำตาลแกมเขียว ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน นกเด็กคล้ายตัวเต็มวัย แต่มีตาสีน้ำตาล







นกชนิดนี้ถูกพบและจำแนกเป็นครั้งแรกที่ Mount Morrison ในประเทศไต้หวัน จึงได้ชื่อชนิดตามสถานที่ที่พบ ทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ในประเทศไทยมี 1 ชนิดย่อยคือชนิดย่อย A.m.fraterculus พบและจำแนกครั้งแรกที่รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อย ปริมาณมากของไทยในภาคเหนือ ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย


นกชนิดนี้มักถูกพบหากินเป็นฝูงเล็กๆ ในระดับต่ำใกล้พื้นดินนกจะมาให้เห็นทีเดียวทั้งฝูง เมื่อลงมาแล้วก็จะพากันวุ่นวายหาพลิกกินหนอนตามกิ่งไม้สักพักหนึ่ง แล้วก็บินจากไปด้วยกันทั้งหมด ความวุ่นวายก็หายตามไปด้วย เราจะพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าดงดิบเขา ชายป่าดิบ ป่าไผ่ในพื้นที่สูง โดยมักพบที่ความสูง900เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป







ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฏาคมเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่สำหรับนกชนิดนี้ โดยนกจะทำรังเป็นรูปถ้วยตามพุ่มไม้หรือพืชคลุมดินสูงจากพื้นดินเพียง 0.2-2 เมตร วางไข่ครอกละ2-4ฟอง เปลือกไข่สีขาวถึงขาวแกมชมพู มีลายเป็นจุดสีน้ำตาลแดงถึงม่วงหรือแดงคล้ำ บางครั้งเป็นลายขีดสีส้มอมแดง ขนาดของไข่ราว14x17.8มม.







ภาพนกมุ่นรกตาแดง ถ่ายมาจากบริเวณด่านสองของดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นที่ที่พบนกชนิดได้บ่อยมากที่สุด นกลงมาหากินเป็นฝูงไม่ใหญ่นักและยุกยิกวุ่นวายหากินตลอดเวลา


ข้อมูลจาก : //www.bird-home.com




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2549 21:36:21 น.
Counter : 3328 Pageviews.  

นกปรอดดำ

นกปรอดดำ Hypsipetes leucocephalus (Black Bulbul) เป็นนกปรอดที่จำแนกได้ง่ายที่สุดในจำนวนนกปรอดทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือมีขนคลุมลำตัวทั้งหมดสีดำ โดยขนคลุมลำตัวด้านล่างจะสีจางกว่าด้านบนเล็กน้อย ปาก ขา และเท้าสีแดง นกตัวเมียสีจางกว่านกตัวผู้ นกตัวไม่เต็มวัยมีสีน้ำตาลทั้งตัวโดยปีกและหางจะมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ
นกปรอดดำมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 23.5-26.5 เซนติเมตร ใหญ่กว่านกปรอดสวนที่เห็นได้ทั่วไปซึ่งมีขนาด17.5-19.5เซ็นติเมตรอยู่มากพอสมควรทีเดียว







อาหารของนกปรอดดำก็เหมือนนกปรอดอื่นๆคือกินลูกไม้สุก ดอกไม้ป่า หนอน แมลงขนาดเล็ก เราจะพบนกชนิดนี้เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ หรือเป็นฝูงใหญ่มากนอกช่วงฤดูผสมพันธุ์ หากินตามยอดไม้สูง ขยันหากิน ไม่ค่อยหยุดนิ่ง ตามป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าชั้นรองในระดับความสูง500-2565เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ในฤดูหนาวอาจลงมาหากินที่ระดับ120เมตรจากระดับน้ำทะเลได้

นกชนิดนี้ทำรังในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน ทำรังเป็นรูปถ้วยก้นตื้นตามกิ่งหรือง่ามไม้สูงจากพื้นดินราว2-6เมตร วางไข่ราว2-4ฟอง ขนาด 21.7x19.9มม. ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันทำรังฟักไข่เลี้ยงลูกอ่อนโดยเริ่มฟักตั้งแต่วางไข่ฟองแรกใช้เวลาฟักราว15วันและอยู่ในรังต่อราว14-15วัน







สำหรับประเทศไทย เราสามารถพบนกปรอดดำได้ 4 ชนิดย่อย ชนิดย่อยหลัก concolorซึ่งมีความหมายว่ามีสีเดียวเป็นชนิดที่เป็นนกประจำถิ่น อีก 3 ชนิดย่อยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งหาพบได้ยาก หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับชื่อชนิดย่อยและลักษณะ คลิกที่นี่

นกปรอดดำที่เป็นนกประจำถิ่นเป็นนกประจำถิ่นทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตก สถานที่ที่จะพบนกชนิดนี้ได้ง่ายๆได้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หน่วยช่องเย็นของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ดอยอินทนนท์ เป็นต้น







ภาพนกปรอดดำนี้ถ่ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว นกลงมากินน้ำที่บ่อน้ำเทียมที่เจ้าหน้าที่ของทางเขตฯทำเอาไว้


ข้อมูลจาก ://www.bird-home.com




 

Create Date : 27 กันยายน 2549    
Last Update : 27 กันยายน 2549 19:53:42 น.
Counter : 4817 Pageviews.  

นกกาฝากอกสีเนื้อ

นกกาฝากอกสีเนื้อ Dicaeum ignipectus cambodianum ( Buff-bellied Flowerpecker)เป็นนกกินน้ำหวานและลูกไม้สุกตัวเล็กๆที่มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียงราวๆ8.5- 9 เซนติเมตร







นกกาฝากอกสีเนื้อตัวผู้มีขนคลุมลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว ลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำเงินอมเขียวสะท้อนแสง หน้า ไล่ลงมาจนถึงด้านข้างของอกมีปื้นสีดำ และมีปื้นสีดำลากเป็นเส้นแนวยาวจากอกถึงท้อง ปาก ขาและหางสีดำ นกตัวเมียมีลำตัวด้านบนส่วนใหญ่เป็นสีเขียวมะกอก ท้องสีขาวอมเหลือง ปากสีดำ โคนปากล่างมีสีเหลือง หรือ เหลืองอมส้ม เดิมจัดเป็น1ในชนิดย่อยของนกกาฝากอกเพลิง Diacaeum ignipectus (Fire-breasted Flowerpecker) ซึ่งมี 3 ชนิดย่อยที่พบในประเทศไทยคือ

1.ชนิดย่อย ignipectus ซึ่งเป็นชนิดย่อยหลักจะมีแถบสีแดงเป็นปื้นใหญ่จากใต้คอลงมาถึงอกตอนบน เป็นที่มาของชื่อ “อกเพลิง” หรือ “Fire-breasted” เราจะพบชนิดย่อยนี้ได้ตามป่าดงดิบ เขาสูงทางภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ เป็นชนิดที่มีการแพร่กระจายถิ่นมากที่สุด โดยจะพบตั้งแต่ตะวันออกของแคว้นแคชเมียร์ถึงเมืองจีนที่กวางตุ้ง กวางสี และเกาะไฮหนาน

2.ชนิดย่อย cambodianum พบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตะวันออกเฉียงใต้ของไทย และประเทศกัมพูชา นกตัวผู้จะไม่มีแถบสีแดงเพลิงที่หน้าอก

3.ชนิดย่อย dolichorhynchum มีแถบสีแดงเพลิงแคบไม่ใหญ่มากเหมือนชนิดย่อยหลัก พบทางภาคใต้ของไทย และคาบสมุทรมลายู ชนิดนี้นกตัวเมียจะแตกต่างจากชนิดย่อยหลักด้วย







นกกาฝากอกสีเนื้อเป็นนกที่กินน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้สุกเป็นหลัก จึงมักถูกพบร่วมวงกินผลไม้ที่สุกเต็มต้น หรือดอกไม้ที่บานสะพรั่งกับนกชนิดอื่นๆที่กินอาหารชนิดเดียวกันเสมอๆ นอกจากนี้ก็ยังกินแมลงเล็กๆเป็นอาหารด้วยเมื่ออาหารที่ชอบขาดแคลนไป

นกชนิดนี้ทำรังช่วงปลายฤดูฝนโดยแขวนบนกิ่งหรือก้านของใบไม้บนต้นไม้ที่ใบหนาทึบเพื่อหลบสายตาสูงราว 3-9เมตรจากพื้น ใช้ใบหญ้ายาวๆมาพัน เชื่อมรังให้ติดกันด้วยใยแมงมุม เป็นลักษณะกลมๆ มีวัสดุอ่อนนุ่มจากธรรมชาติรองรัง นอกรังมักมีการพรางจากสายตาผู้ล่าด้วยมอส เฟิร์นที่ยังมีชีวิตอยู่ ทางเข้ารังอยู่ใกล้ขั้วรัง อาจมีหรือไม่มีกันสาดเหนือทางเข้ารัง วางไข่คราวละ2-3ฟอง เปลือกไข่สีขาวขนาด13x10มม.







เราสามารถพบนกกาฝากอกสีเนื้อได้ง่ายๆที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อลูกไม้เช่นลูกไกร ลูกไทรสุกเต็มต้นนกก็จะมากินลูกไม้สุกร่วมกับนกอื่นอย่างเอร็ดอร่อย นกกาฝากอกสีเนื้อที่เห็นนี้ถ่ายภาพมาจากอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี นกมากินลูกตะขบร่วมกับนกกาฝากก้นเหลืองเป็นประจำ

ข้อมูลจาก:

//www.bird-home.com
ลำเนาไพร




 

Create Date : 17 กันยายน 2549    
Last Update : 17 กันยายน 2549 19:06:59 น.
Counter : 3100 Pageviews.  

นกปลีกล้วยเล็ก

นกปลีกล้วยเล็ก Arachnothera longirostra (Little Spiderhunter) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 16 เซนติเมตร มีลำตัวด้านบนสีเขียว ลำตัวด้านล่างสีเหลือง คอสีขาว หางด้านล่างมีขลิบสีขาวตรงปลาย มีปากโค้งยาวมากสีดำ มีแถบสีขาวพาดบนและล่างของตา มีเส้นสีดำลากจากโคนปากไปข้างแก้มดูคล้ายหนวด ทั่วโลกมีนกชนิดนี้ 12 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 4 ชนิดย่อย ดูรายละเอียดได้ที่ www.bird-home.com







นกปลีกล้วยเล็กทำรังในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม โดยมักทำรังรูปทรงกึ่งทรงกระบอกยาวใต้ใบกล้วย หรือใบไม้อื่นที่เหมาะสม กว้างxยาวประมาณ 5-10ซมx20 ซม. ทำจากใบหญ้าใบไม้แห้งมักเชื่อมให้ติดกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครอกละ2ฟอง สีขาวแกมชมพูมีลายขีดเล็กๆสีแดงเลือดหมูถึงน้ำตาลแดง ขนาด 13.1x18.4มม.พ่อและแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่ เลี้ยงลูก

นกชนิดนี้มักถูกพบอยู่ตัวเดียว หรือเป็นคู่ตามป่ากล้วย โดยจะเกาะตามปลีกล้วยและดูดกินน้ำหวาน แต่น้ำหวานจากปลีกล้วยไม่ใช่อาหารเพียงชนิดเดียวของนกชนิดนี้ นกปลีกล้วยยังกินน้ำหวานจากดอกไม้อื่น แมลงที่มากินน้ำหวานด้วยกัน แมลงที่มาติดกับใยแมงมุม และแมงมุมที่ชักใยเองก็ถูกนกชนิดนี้กินเป็นอาหารด้วย
นอกจากป่ากล้วยแล้ว เรายังสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ชายป่า ป่าชั้นรอง ป่าพรุ ป่าโกงกาง ป่าที่มีพืชพวกขิงข่าขึ้นมากๆ สวนยางพารา สวนผลไม้ เป็นต้น







นกปลีกล้วยเล็กมีการกระจายพันธุ์ในประเทศเนปาล อินเดีย บังคลาเทศ พม่า อินโดจีน และฟิลิปปินส์ โดยมีสถานภาพหาง่าย-ยากแล้วแต่ท้องที่ สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วประเทศเว้นภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ โดยจะพบในพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล







นกปลีกล้วยเล็กที่เห็นนี้ถ่ายภาพมาจากน้ำตกกระทิง อุทยานแห่งชาติคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ไปถ่ายภาพนกกินปลีคอแดง(Crimson Sunbird) นกลงมากินน้ำหวานจากดอกดาหลาเป็นเวลานาน


ข้อมูลจาก

//www.bird-home.com

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round




 

Create Date : 12 กันยายน 2549    
Last Update : 12 กันยายน 2549 15:48:00 น.
Counter : 5470 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.