Group Blog
 
All blogs
 

นกกางเขนดง : the nightingale of india

นกกางเขนดง Copsychus malabaricus (white-rumped shama) เป็นนกที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างใกล้ชิดกับนกกางเขนบ้านที่เรารู้จักกันดี ต่างกันที่นกกางเขนดงมีสีสันบริเวณท้องที่สดใสกว่า คือไม่เป็นสีขาวอย่างกางเขนบ้าน แต่เป็นสีแดงอมน้ำตาลสดใส และมีหางยาวกว่าปีกมาก

แต่นกทั้งสองชนิดชอบร้องเพลงเหมือนกัน และนกกางเขนดงเป็นนกที่ขึ้นชื่อเรื่องเสียงที่ไพเราะ จนฝรั่งที่เข้าไปที่อินเดียและได้พบนกกางเขนดงเป็นอย่างแรกเรียกเค้าว่านกไนติงเกลแห่งอินเดีย







นกกางเขนดงมีปากค่อนข้างหนา และ ตรง แต่ปลายปากบนงุ้มลงเล็กน้อย ปากมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวหัว มุมปากมีขน เส้นแข็งๆ สั้นๆบ้าง ปีกมนกลม และ ขนปลายปีก มี 10 เส้น ขนหางมี 12 เส้น ขนหางแต่ละคู่ยาว ลดหลั่น กันลงไป ขา และ นิ้วเท้า ค่อนข้างใหญ่ จึงแข็งแรง และ ใช้กระโดดได้คล่องแคล่ว ขาท่อนล่าง มีเกล็ด ขนาดใหญ่ เป็น ปลอก คลุมขาไว้ นิ้วเท้ายื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว และยื่นไปข้าง หลัง 1 นิ้ว ใช้เกาะกิ่งไม้ได้ดีพอๆกับ ใช้กระโดดไปบนพื้นดิน
นกกางเขนดง มีความยาวจากปลายปาก ถึง ปลายหาง 28 ซม. เฉพาะหางยาว 15 - 19 ซม. แต่ นกกางเขนบ้าน มีความยาวจากปลายปากถึงหาง 28 ซม. เฉพาะหางยาว 9 ซม.








นกกางเขนดงตัวผู้ มีหัว คอ หน้าอก หลัง ไหล่ รวมทั้งขนคลุมปีก เป็นสีดำ เหลือบน้ำเงิน ตัดกับตะโพก และ ขนคลุมบนโคนหาง ซึ่ง เป็นสีขาวบริสุทธิ์ จนเห็นได้ชัดเจน ขนกลางปีกเป็นสีดำด้านๆ ขนหาง 2 คู่ล่างสุดมีสีขาวปลอด ทั้งเส้น ส่วนล่างของลำตัวถัดจากหน้าอกลงมา จนถึงท้อง และ ขนคลุมใต้โคนหาง เป็นสี น้ำตาลแกมแดง นกชนิดนี้จึงมีสีตัดกันถึง 3 สี คือ สีดำ ขาว และ น้ำตาลแกมแดง ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ปากมีสีดำสนิท แต่ขา นิ้วเท้า และ เล็บ มีสีเนื้อจางๆ







นกกางเขนดงตัวเมีย มีหางสั้นกว่าตัวผู้ หัว คอ หน้าอก หลัง และ ขนคลุมปีกเป็นสีเทาคล้ำๆ แต่ บริเวณ กระหม่อม และ หลังไหล่ อาจมีเหลือบเป็นมันบ้างเล็กน้อย ขนกลาง ปีก ขนปลายปีก รวมทั้งขนหาง 2 คู่บน ก็เป็นสีเทาคล้ำๆ ขนหาง 2 คู่ ถัดลงไปมีสีเทาคล้ำๆ เฉพาะทางครึ่งโคน แต่ครึ่งปลายมีสีขาว ขนหาง 2 คู่ล่างสุด มีสีขาวปลอดทั้งเส้น ตะโพก และ ขนคลุมบนโคนหาง มีสีขาว เช่นกัน ส่วนล่างของลำตัว ที่เหลือ เป็นสีส้มอมน้ำตาล ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ขา นิ้วเท้า และ เล็บ มีสีเนื้อจางๆ เช่นเดียวกับนกตัวผู้

ที่อาศัยทำมาหากินของนกกางเขนดงคือ ป่าไผ่ ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบ ป่าชั้นรอง ป่าผสมผลัดใบ ทั้งหมดนี้จะต้องมีไผ่ปะปนอยู่ด้วยเสมอ และ มีไม้พื้นล่าง รกเรื้อพอสมควร พบตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงระดับความสูง 1,525 เมตร จากระดับน้ำทะเล

นกชนิดนี้ไม่ชอบอยู่ตามยอดไม้สูงๆ แต่จะชอบหากินตามพื้นต่ำๆ อาหารคือสัตว์เล็กๆพวกหนอน แมลง ไปจนถึงตะขาบ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ

นกกางเขนดงเป็นกที่หวงถิ่น และดุมาก คอยไล่นกอื่นที่เข้ามาในบริเวณของตัวเองอยู่เสมอ แม้จะเป็นนกชนิดเดียวกันก็ตาม







เราพบนกกางเขนดงในแทบทุกป่าที่ไป ไม่ว่าจะเป็นเขาใหญ่(ซึ่งมักมีคนพบเค้าทำรังเสมอทุกปี) ภูเขียว น้ำตกชันตาเถร หรือที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนกอย่างอื่นที่เราอยากจะถ่ายภาพ นกชนิดนี้ก็มักมาเป็นก้างขวางคอเสมอๆ จนหมั่นไส้ต้องเก็บภาพเค้ามาทุกครั้งที่เจอ


บางครั้งแม้ยังไม่ได้เห็นตัว ก็จะได้ยินเสียงร้องก่อน เป็นเวลาสักพัก แล้วจึงเห็นตัวก็มี








ข้อมูลมาจากบ้านนก สามารถคลิกเข้าไปดูได้ ข้อมูลเต็มเอียด




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 10:26:58 น.
Counter : 18686 Pageviews.  

นกปรอดคอลาย

ปรอด :

ชื่อนกขนาดเล็กในวงศ์ Pycnonotidae สีเหลืองหม่น กินผลไม้และแมลง มีหลายชนิด เช่น ปรอดสวน (Pycnonotus blanfordi) ปรอดหน้านวล (P. goiavier), กรอด ก็เรียก, บางทีเขียนเป็น กระหรอด หรือ กะหรอด
.

ที่มา : เครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน


นกปรอดคอลาย Pycnonotus finlaysoni (stripe-throated bulbul) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 19 ซม.



มีขีดสีเหลืองที่หน้าผาก หน้า และคอ โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจน อกและท้องสีเทาอ่อน มีขนใต้หางสีเหลือง กระหม่อมและหลังสีเขียวอมเทา ปีกและหางสีเขียวอมเหลือง


แหล่งกระจายพันธุ์ของเค้าตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่เป็นเทือกเขา ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้
โดยอาศัยทั้งในที่ราบจนถึงที่สูงไม่เกิน900เมตรจากระดับน้ำทะเล



นกปรอดคอลายตัวนี้เราพบที่เขาใหญ่ และสังเกตเห็นขณะเดินผ่านต้นไม้ที่เค้าเกาะ

บางครั้งในเวลาที่อากาศร้อน ฝนไม่ตก มีแหล่งน้ำเพียงน้อยนิด เราก็จะเห็นนกปรอด หลายๆชนิด(รวมถึงนกอื่นๆด้วย) มาอาศัยเล่นน้ำตามแหล่งน้ำดังกล่าว การแอบดูนกปรอดที่มาเล่นน้ำโดยสะบัดน้ำจนตัวเปียกปอนไปหมด ก็เป็นเรื่องที่สนุกไปอีกแบบ(แม้เวลาที่เราต้องไปแอบดูจะต้องซ่อนตัวในบังไพรจนร้อนแทบสะบัดเหงื่อได้ก็ตาม)






ข้อมูลบางส่วน : A Guide to the Birds of Thailand




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 30 เมษายน 2555 15:32:32 น.
Counter : 4558 Pageviews.  

นกพญาปากกว้างอกสีเงิน :เจ้าขุนช้างน้อย

พญาปากกว้าง :

ชื่อนกในวงศ์ Eurylaimidae ลำตัวอ้วนป้อม ปากใหญ่ หัวโต ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบ กินแมลง สัตว์เล็กๆ และผลไม้เป็นอาหาร มีหลายชนิด เช่น พญาปากกว้างสีดำ (Corydon sumatranus) พญาปากกว้างท้องแดง (Cymbirhynchus macrorhynchos) พญาปากกว้างหางยาว (Psarisomus dalhousiae).


ที่มา : เครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน


นกพญาปากกว้างอกสีเงิน Serilophus lunatus (silver-breasted broadbill)

เป็นนกที่ใครได้เห็นแล้วจะต้องชอบใจ

ด้วยสีเงินที่ปาก และเล็บเท้า สำหรับตัวเมียยังมีแถมสร้อยคอสีเงินยวงติดตัวมาด้วย มีแถบสีดำคาดตา วงรอบตาสีเหลือง หน้าผากขาว หัว แก้มและหลังสีน้ำตาลอมเทาอ่อนๆ ปีกสีน้ำเงิน ดำ และน้ำตาลแดง สะโพกสีน้ำตาลแดง หางสีดำ








การที่เค้ามีแถบคาดตาดำ ตัดกับสีกระหม่อมและหน้าผากนี่เอง ที่ทำให้บางมุมของเค้า (หน้าตรง)ดูเหมือนขุนช้างเป็นอันมาก







นกพญาปากกว้างอกสีเงิน ( Silver - breasted Broadbill ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Serilophus lunatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ lun แปลว่า ดวงจันทร์ และ tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ " นกที่มีรูปร่างคล้ายดวงจันทร์ " มักพบอยู่เป็นฝูง ประมาณ 5 -10 ตัว หรือมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หากินในช่วงเช้าตรู่ และ เย็นใกล้ค่ำ โดยการกระโดดตามกิ่งไม้ และ ยอดไม้ ขณะเกาะ ลำตัวเกือบตั้งตรง หางห้อยลงด้านล่าง หาอาหาร โดยการ จิกตามกิ่งไม้ ลำต้น และยอดไม้ บางครั้ง บินโฉบจับเหยื่อ เหนือยอดไม้ในระยะที่ไม่ไกลจากกิ่งที่เกาะนัก (//www.bird-home.com)







ภาพเหล่านี้ถ่ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยพวกเค้ามาเล่นน้ำที่บังไพรถาวรกันเป็นฝูงประมาณ5-6ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นตัวเมีย







มาพบอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจากช่วงมีนาคม - มิถุนายนเป็นช่วงที่เค้าทำรังกัน ดังนั้นช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจะได้เห็นรังของเค้าเป็นจำนวนมาก โดยบางรังก็อยู่เหนือถนน และถูกรถซึ่งวิ่งผ่านเฉี่ยวจนเสียหาย บางรังก็อยู่ริมถนน และบางรังก็อยู่ภายในเส้นทางขึ้นพะเนินทุ่ง ซึ่งรังที่อยู่ในที่รกกว่าดูจะปลอดภัย(จากมนุษย์)มากกว่า


และช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ก็เป็นช่วงที่คนดูนกจะได้มีความสุขกับการได้ดูนกพญาปากกว้างอกสีเงินเลี้ยงลูกเล็กๆที่หน้าตาคล้ายพ่อแม่ แต่ดูไร้เดียงสาเพราะเพิ่งออกจากรังมาได้ไม่นาน








สำหรับข้อมูลและภาพสวยๆเพิ่มเติม เชิญที่ บ้านนก




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2548 17:43:00 น.
Counter : 2006 Pageviews.  

นกจาบดินอกลาย

นกจาบดินอกลาย Pellorneum ruficepsหรือ puff-throated babbler เป็นนกสีค่อนข้างจะเรียบร้อย มีกระหม่อมสีน้ำตาลแดง คอสีขาว อกไปจนถึงสีข้างเป็นลายขีดประเป็นทาง ซึ่งลายขีดนี้จะสีเข้มขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ (ช่วงเมษายน ถึง มิถุนายน) ขนที่คอซึ่งเป็นสีขาวนี้สามารถพองได้ โดยตัวผู้จะพองขนนี้เพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย







เจอนกชนิดนี้ครั้งแรกที่เขาใหญ่ เมื่อไปเฝ้านกราคาแพงอยู่ในบังไพรเงียบๆ ก็จัดแจงออกมาพลิกใบไม้หาอาหารซึ่งก็คือพวกสัตว์เล็กๆ จากนั้น เมื่อไปภูเขียว แอบดูนกเล่นน้ำก็ออกมาเล่นน้ำ จนล่าสุด ไปแก่งกระจาน ก็เจอมาทำรัง เลี้ยงลูกเล็กๆอยู่ที่บ้านมะค่ารีสอร์ต โดยจะหาอาหารไปป้อนลูกค่อนข้างบ่อยทีเดียว







จาบดินอกลายเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่าย โดยเราจะพบได้ตามป่าตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ แต่ไม่มีการกระจายพันธุ์ในภาคกลางตอนเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (จากแผนที่การกระจายของนก หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand ของ นพ.บุญส่งเลขะกุล และ Philip D.Round)








เมื่อกกไข่ ขนบริเวณท้องของนกจะแหวกออกเพื่อให้ความร้อนจากร่างกายถ่ายเทไปยังไข่ได้สะดวก ดังนั้นบางทีเราอาจเห็นเหมือนกับว่าเป็นนกที่มีอกผ่าซีก หรือไม่ก็เหมือนขนร่วงได้

จาบดินอกลายครอบครัวนี้ทำรังอยู่บริเวณกอไผ่ และผู้ปกครองก็กำลังออกหาอาหารมาให้ลูกกิน








ซึ่งในบางครั้งเมื่อมีคนเข้าไปใกล้รังมากๆก็จะแสดงอาการดิ้นปัดๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจให้เบี่ยงเบนออกจากรัง เป็นภาพที่ตลกและน่ารักมาก







เพราะเมื่อมีลูก นกก็จะมีสัญชาตญานในการปกป้องรักษา เพราะจริงๆแล้วนกชนิดนี้เป็นนกที่ไม่ค่อยกลัวคนสักเท่าไหร่ หากกำลังจู๋จี๋กันอยู่ แม้จะมีคนเข้าไปจนใกล้ก็ยังคงทำกิจกรรมของตัวเองต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง

แม้เป็นนกธรรมดาๆ หาดูได้ง่ายในป่า แต่ก็เป็นนกที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวไม่เบา โดยเฉพาะขนบนหัวและที่คอนี่แหละ







ดูรูปหมดแล้วนี่ไม่รู้จะมีใครหลงอย่างเราบ้างหรือเปล่า



ข้อมูล :

เก็บตกจากบ้านนก มีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าตัวนี้เยอะเลย

A Guide to the Birds of Thailand ข้อมูลทั่วไปและการกระจายพันธุ์ของนก




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 16:57:25 น.
Counter : 3791 Pageviews.  

นกจับแมลงสีฟ้า : นกสีน้ำทะเล

นกจับแมลงสีฟ้า Eumyias thalassina (Verditer Flycatcher)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 15-17เซ็นติเมตร เป็นนกสีฟ้า หรือฟ้าอมเขียวตลอดทั้งตัว เว้นบริเวณดวงตาไปจนถึงปากสั้นๆเป็นสีดำสนิท ขนคลุมโคนหางด้านล่างมีลักษณะคล้ายเกล็ด นกตัวเมียคล้ายตัวผู้แต่สีอ่อนกว่า มีแต้มสีเทาตามของขนทั่วตัว โดยเฉพาะส่วนต่างๆของปีกและลำตัวด้านล่าง หัวตาเป็นสีเทา ไม่มีแถบสีดำคาดตา







เราสามารถพบนกชนิดนี้ทั้งโดดเดี่ยวและเป็นคู่และอาจรวมฝูงกับนกจับแมลงอื่นๆ เวลาเกาะจะเกาะตัวตั้งหางห้อยลง นกจะโฉบจับแมลงระหว่างพุ่มโดยไม่บินกลับไปเกาะที่เดิม บางครั้งก็โฉบจับแมลงตามพื้นดิน

ช่วงเดือน เมษายนถึงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่นกจับแมลงสีฟ้าผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่ โดยรังเป็นรูปถ้วยแบนๆ ด้านข้างหนา สร้างตามลำธารกรวด ข้างลำห้วย ซอกหินข้างทางเดินในป่า เป็นต้น รังอาจจะอยู่ต่ำติดพื้นดินหรือสูงถึง 6เมตรจากพื้นดินได้ทั้งนั้น วัสดุที่ใช้สร้างคือมอสสีเขียว หญ้าต้นยาว กิ่งไม้แห้งขนาดเล็ก รองรังด้วยรากฝอยของพืชหรือดอกหญ้าแห้งนุ่มๆ วางไข่ครอกละ 3-4 ฟอง ขนาด 19.3*14.7 มม. พ่อแม่นกช่วยกันทำรังฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ 11-12วัน ลูกนกออกจากไข่แล้วอยู่ในรังต่ออีก 9-10 วันก็จะทิ้งรัง







นกจับแมลงสีฟ้าอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ ในที่ค่อนข้างโล่งกลางป่า สวนป่า สำหรับนกที่อพยพอาจพบได้ตามป่าโปร่งชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง ป่าชายเลน พบได้ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง 2565 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในคาบสมุทรมลายู หากินอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1220 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียตั้งแต่ตอนเหนือของปากีสถาน ตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ตะวันตก ภาคกลาง ภาคใต้ของจีน สุมาตรา บอร์เนียว และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกจับแมลงสีฟ้าที่พบในประเทศไทยมีทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพลงมาจากตอนเหนือขึ้นไป







ภาพนกในบล็อกถ่ายจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2551 13:56:25 น.
Counter : 6294 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.