Group Blog
 
All blogs
 

นกเค้าแคระ

นกเค้าแคระ Glaucidium brodiei (collared owlet) เป็นนกเค้าที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 15 เซ็นติเมตรเท่านั้น และมีสีสันลวดลายกลมกลืนไปกับกิ่งไม้ทำให้สังเกตเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก








นกเค้าแคระมีรูปร่างน่ารักน่ากอดเพราะมีลำตัวอวบอัด มีขนหนานุ่มปกคลุมอย่างหนาแน่น บริเวณคอก็มีขนอยู่อย่างหนาแน่นทำให้ดูเหมือนหัวอยู่ติดกับตัวโดยไม่มีคอ และมีหัวที่กลมโต หน้าแบน ตากลมโตสีเหลืองอยู่ด้านหน้าของใบหน้า ปากสั้นและปากบนโค้งงุ้มแหลมลงมาใช้สำหรับฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ มีขนเส้นเล็กๆคล้ายหนวดแมวอยู่รอบๆโคนปากทำหน้าที่เป็นเรดาห์นำทาง มีปีกกว้างแต่ปลายปีกมน ขนหางยาวกว่านกเค้าอื่นๆ มีขาสั้นแต่เข็งแรงสีเหลืองนิ้วเท้าค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง มีนิ้วเท้าสี่นิ้วเวลาเกาะกิ่งจะอยู่ด้านหน้า2ด้านหลัง2นิ้ว เล็บสีดำ







นกเค้าแคระทั้ง 2 เพศมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน เมื่อมองจากด้านหลังนกเค้าแคระจะมีสีน้ำตาลเข้มสลับสีน้ำตาลอ่อนเป็นลายขวาง ขนหางก็สีสลับแบบนี้ดูเป็นบั้งๆ ด้านหน้ามีสีขาวและมีลายสีน้ำตาล หัวสีน้ำตาลมีลายจุดเล็กๆสีอ่อนเต็มไปหมด ด้านหลังของหัวนกเค้าแคระ จะมีเส้นสีเข้มพาดเป็นลักษณะเหมือนหน้าของนกเค้าทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นหน้าอีกหน้าหนึ่ง ช่วยหลอกตาศัตรูให้คิดว่าหันหน้ามาทางตัวเองได้







นกตัวเล็กๆเป็นศัตรูกับนกเค้าแคระตัวจิ๋วนี้ เพราะอาหารของนกเค้านอกจากพวก กิ้งก่า หนู สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก จั๊กจั่น ด้วง และ ตั๊กแตน แล้ว ก็เป็นเหล่านกเล็กๆนี่เอง เมื่อเจอนกเค้าแคระที่ไหน นกเล็กๆจึงมักมารุมกันไล่จนบ่อยครั้งต้องขยับบินหนีไปเรื่อยๆ และไปเกาะซุ่มในกิ่งที่ชิดลำต้นเพื่อหาที่ซ่อนตัว ดักจับนกเล็กๆที่หลงเข้ามา นกเค้าแคระสามารถจับเหยื่อที่มีขนาดตัวพอๆกันหรือโตกว่าเล็กน้อยได้ด้วยกรงเล็บที่แข็งแรง โดยจะหาอาหารในช่วงกลางวันเป็นส่วนใหญ่ หากหากินกลางคืนก็มักเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงส่องสว่าง



>



นกเค้าแคระทำรังวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยใช้โพรงไม้ธรรมชาติ หรือรังของนกอื่นที่ทำรังในโพรงไม้อย่างเช่นนกโพระดก โดยโพรงอาจเป็นรังเก่า หรืออาจมาจากการแย่งชิงเจ้าของโพรงก็ได้ ในบางครั้งอาจเป็นการฆ่ากินและปล้นชิงบ้านเลยก็เป็นได้ โพรงรังที่เลือกมักอยู่สูงจากพื้นราว2-10เมตร วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ลูกนกเค้าแคระจะออกจากไข่ในช่วงต้นฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์พอดีซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรอดชีวิตของลูกนก เนื่องจากแม่นกเค้าจะกกไข่ตั้งแต่ออกไข่ฟองแรกทันที ในขณะเดียวกันก็จะออกไข่ใบอื่นๆไปด้วย ดังนั้นในแต่ละรังลูกนกเค้าจะมีอายุต่างกันพอสมควร ถ้าอาหารมีไม่พอเพียง ตัวที่ออกมาทีหลังตัวเล็กกว่าก็จะแย่งอาหารพี่ๆไม่ทันและตายไป








นกเค้าแคระเป็นนกเค้าที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงระดับความสูง 3,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยจะพบบ่อยขึ้นที่ระดับสูงเกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป บริเวณภาคใต้ และ คาบสมุทรมาลายู จะพบได้บ่อยมากในระดับสูง 395 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และจีนตอนล่าง



>




ภาพนกเค้าแคระเหล่านี้ถ่ายมาจากบริเวณค่ายกองแก้ว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ธันวาคม 2548


ข้อมูล: //www.bird-home.com




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 16:59:14 น.
Counter : 5017 Pageviews.  

นกกระทาดงคอสีแสด

นกกระทาดงคอสีแสด Arborophila rufogularis (rufous-throated partridge) เป็นนกที่หาดูได้ยากอีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีปริมาณน้อยเพราะถูกดักจับ และมีสีสันลวดลายที่สามารถพรางตัวเองจากสายตามนุษย์ได้เป็นอย่างดี







นกกระทาดงคอสีแสดมีขนาดตัววัดจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 26-29 เซ็นติเมตรตัว ผู้และตัวเมียมีสีสันคล้ายคลึงกัน ชนิดย่อยที่พบในเมืองไทยชื่อชนิดย่อยว่า Arborophila rufogularis tickelli (ชนิดย่อยนกกระทาดงคอสีแสดพันธุ์พม่า) มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว คิ้วสีขาว หลังตอนท้าย ตะโพกและหางมีลายจุดสีดำ ช่วงไหล่และขนคลุมขนปีกบางส่วนมีสีดำสลับสีน้ำตาลแดง ใต้คอ สีน้ำตาลแดงแกมส้มและมีจุดสีดำ รอบคอด้านล่างมีจุดสีดำเรียงคล้ายสายสร้อย อก สีเทาเข้ม ท้องสีจางกว่าลำตัวด้านบนเล็กน้อย สีข้างและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีน้ำตาลแกมเขียวมีลายแถบสีดำ ขาและเท้าสีแดง







นกกระทาดงคอสีแสดเป็นนกในวงศ์เดียวกับไก่ที่เราเลี้ยงเป็นอาหารอยู่ทุกวันนี้ นกชนิดนี้บินได้เร็วและแข็งแรง แต่บินได้เพียงระยะทางสั้นๆแล้วก็หล่นลงมาวิ่งต่อ ชอบอยู่เป็นฝูงราว 6-12 ตัว แต่ก็พบเห็นได้ยากเนื่องจากสีสันกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เค้าชอบอยู่คือในดงพืชรกทึบ ในตอนเช้าเค้าจะเริ่มเดินออกหากินโดยใช้เท้าคุ้ยเขี่ยแล้วก้มลงจิกเหมือนไก่ พออิ่มก็จะนอนหมอบพักอยู่นิ่งๆ เมื่อหิวก็เริ่มออกเดินต่อ อาหารของพวกเค้าคือ หนอน แมลง ปลวก ยอดอ่อนของพืชบางชนิดและผลไม้สุกที่ร่วงอยู่ในป่า







ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมเป็นช่วงที่นกกระทาดงคอสีแสดจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์แล้วนกตัวผู้จะหายไประยะหนึ่ง นกตัวเมียหาที่เหมาะบนพื้นดินคุ้ยเขี่ยจนเป็นแอ่ง เอาใบไม้ใบหญ้ามารองรัง วางไข่และกกไข่ตามลำพัง โดยจะวางไข่ประมาณครั้งละ 3-6ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 21 วัน เมื่อลูกนกออกมา พอขนแห้งก็เดินได้เลย ระยะนี้พ่อนกจะกลับมาช่วยแม่นกเลี้ยงดูลูก โดยจะคุ้ยเขี่ยให้ลูกๆเห็นอาหารและเข้ามาจิกกินเอง ประมาณ1-2เดือนลูกนกก็จะโตพอที่จะแยกตัวออกไปหากินเอง โดยพวกเค้าจะตัวโตเท่าพ่อแม่แล้ว แต่คอเพิ่งจะมีสีแสดเล็กน้อย หน้าอก ท้องและสีข้างมีจุดสีขาวๆมากมาย หนังรอบตาและขาเป็นสีเหลืองหม่น







นกกระทาดงคอสีแสดนี้ถ่ายภาพมาจากดอยอินทนนท์บริเวณโรงครัวยอดดอย เมื่อวันที่ 3-5 ธันวาคม 2548

ข้อมูล :

//www.bird-home.com





 

Create Date : 09 ธันวาคม 2548    
Last Update : 3 กันยายน 2551 16:20:40 น.
Counter : 5558 Pageviews.  

นกหางรำดำ

นกหางรำดำ heterophasia melanoleuca ( black-headed sibia ในหนังสือA Guide to the Birds of Thailand ของนพ.บุญส่ง เลขะกุลและPhilip D.Round หรือ dark-backed sibia ในหนังสือดูนกฉบับอื่นๆ) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 19-23 เซ็นติเมตร เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย พม่า ลาว พบได้ในป่าชุ่มชื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1000 เมตร ขึ้นไปจนถึงยอดดอย พบได้บ่อยมากที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่







จากจำนวนนกหางรำ 7 ชนิดในโลก ในประเทศไทยพบนกหางรำ(sibia) 3 ชนิดคือ หางรำดำ(dark-backed sibia) หางรำหลังแดง (rufous-backed sibia)และหางรำหางยาว(long-tailed sibia)







คลิกที่นี่เพื่อดูภาพนกหางรำหลังแดง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพนกหางรำหางยาว



นกหางรำดำ (heterophasia melanoleuca)มีลำตัวด้านบนสีดำและจะเห็นเป็นสีดำชัดเจนบริเวณหัวและปีก หลัง ไหล่สีดำอมน้ำตาล ด้านล่างสีขาวสะอาดตัดกันอย่างชัดเจน มีตาสีแดง ปากและขาสีดำ หางยาวสีดำปลายหางมีสีขาว ถ้ามองจากด้านล่างจะเห็นเป็นสีขาวสลับดำ มักอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆหาอาหารจำพวกแมลงเล็กๆและผลไม้กิน







โดยเค้าอาจกินบนต้นไม้ หรือลงมาหาอาหารกินบนพื้นได้อย่างในภาพ ถ้ามีอาหารให้กิน แต่จะไม่ใช้วิธีบินโฉบจับอาหารบนอากาศ












ภาพนกหางรำดำเหล่านี้ถ่ายจากดอยอินทนนท์บริเวณยอดดอย และด่านสองเมื่อวันที่3-5ธันวาคม2548

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย น.พ.บุญส่ง เลขะกุล และPhilip D. Round

หนังสือ A Field Guide to the Birds of Thailandโดย Craig Robson

ข้อมูลภาพจาก //www.orientalbirdimages.org/




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2548    
Last Update : 8 ธันวาคม 2548 20:35:27 น.
Counter : 2798 Pageviews.  

คัคคูเหยี่ยวใหญ่ : คัคคูที่ดูเหมือนเหยี่ยว

คัคคูเหยี่ยวใหญ่ hierococcyx sparverioides ( large hawk-cuckoo )มีขนาดตัวประมาณ 38-41.5 เซ็นติเมตร และมีลักษณะคล้ายเหยี่ยวบางชนิดในตระกูล accipiter

ตอนที่เห็นแบบผ่านๆครั้งแรกคิดว่าเป็น เหยี่ยวนกเขาชิครา เพราะกำลังตามเก็บภาพของเค้าอยู่ แต่พอดูดีๆก็พบว่าต่างกันมากๆทีเดียว







คัคคูเหยี่ยวใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าคัคคูเหยี่ยวอีก 3 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทยอันได้แก่

1.คัคคูเหยี่ยวพันธุ์อินเดีย ( 33-37 ซม.)
2.คัคคูเหยี่ยวเล็ก ( 28-30 ซม.)
3.คัคคูเหยี่ยวอกแดง (27-31 ซม. )

มีขนคลุมลำตัว หัว ท้ายทอย และหน้าด้านข้าง สีเทาอ่อน ตัดกับสีน้ำตาลอมเทาที่ขนคลุมหัวปีกและปีก คางสีเข้มมีแถบที่อกสีน้ำตาลแดงเข้ม(แตกต่างกัน บ้าง ในนกแต่ละตัว ) บริเวณใต้คอและอกมีลายเป็นขีดสีเข้ม น้ำตาลหรือสีเทาเป็นแนวยาว ที่อกส่วนล่างจนถึงท้องมีลายขีดขวางสีเทาหรือสีน้ำตาลเข้มเช่นกัน ลายที่เป็นขีดตามแนวขวางมีต่อลงไปจนถึงท้องและสีข้าง ที่หางมีลายเป็นแถบสีดำแคบๆทั้งด้านบนและด้านล่าง ขนคลุมปีกด้านล่างมีลายขีดสีน้ำตาลสลับขาว (//www.bird-home.com)







นอกจากลักษณะทางภายนอกแล้ว ลักษณะการบินของคัคคูเหยี่ยวใหญ่ยังคล้ายกับเหยี่ยวคือ กระพือปีกสลับกับการร่อน แต่บินไม่แข็งแรงเท่าเหยี่ยว

เรามักพบเค้าอยู่ตัวเดียวในพุ่มไม้ค่อนข้างรก อาหารของคัคคูชนิดนี้คือพวกแมลงขนาดใหญ่ไม่ใช่สัตว์เล็กอย่างเหยี่ยว ท่าทางในการเกาะกิ่งไม้ของเค้าต่างจากเหยี่ยวอย่างชัดเจน คือเหยี่ยวจะไม่เกาะกิ่งแบบขนานไปกับกิ่งไม้แบบนี้







คัคคูเหยี่ยวใหญ่ที่พบในประเทศไทยมีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นที่จะพบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และที่เป็นนกที่อพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่จะเข้ามาในฤดูหนาว โดยช่วงฤดูหนาวนี้เราจะพบเค้าได้มากขึ้นตามภาคกลาง ภาคตะวันตกตอนใต้ ภาคตะวันออก เฉียงใต้ และ ภาคใต้บางส่วน ทั้งตามป่าละเมาะ สวนสาธารณะ และป่าชายเลน


ช่วงที่พบและถ่ายภาพนกตัวนี้เป็นช่วงเดียวกับที่ตามถ่ายภาพเหยี่ยวนกเขาชิคราที่พุทธมณฑล จึงเป็นที่แน่นอนว่าเป็นนกอพยพ แต่ไม่ทราบว่าเป็นนกอพยพในประเทศ หรือเป็นนกที่อพยพมาจากทางเหนือขึ้นไป








ข้อมูล :

A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round

A Field Guide to the Birds of Thailand โดย Craig Robson

//www.bird-home.com





 

Create Date : 01 ตุลาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 16:02:05 น.
Counter : 3793 Pageviews.  

นกกินปลีคอสีม่วง

นกกินปลีคอสีม่วง Nectarinia sperata (purple-throated sunbird) มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 10 เซ็นติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนกกินปลีอีก13 ชนิดจากจำนวน 15 ชนิด ที่มีในประเทศไทย มีเพียงนกกินปลีสีเรียบ(plain sunbird)เท่านั้นที่ตัวผู้กับตัวเมียแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือตัวผู้มีเหลือบสีฟ้าอมเขียวเหนือโคนปากบน







นกกินปลีคอสีม่วงตัวผู้มีปากปลายแหลมยาวโค้งสีดำ หัวมีสีเขียวเหลือบ หน้า หลังส่วนบน ปีก ก้น และหางมีสีเข้ม คอสีม่วง ท้องและอกสีแดงเข้ม ขนคลุมหลังและสะโพกเป็นสีน้ำเงิน ขาและเท้าสีดำ ดูในที่ที่มีแสงน้อยจะเป็นนกที่มีสีทึมๆมืดๆ แต่ถ้ามีแสงแล้วเป็นนกที่มีสีสันสดใสตัดกันอย่างน่าดูมากทีเดียว

ส่วนตัวเมียมีขนาดตัวใกล้เคียงกัน ลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อนออกขาว คอค่อนข้างขาวกว่าตัวเมียของนกกินปลีอกเหลือง หรือนกกินปลีม่วง ด้านบนเป็นสีเขียวมะกอกทึมๆ สีตัดค่อนข้างชัดระว่างตัวด้านบนและด้านล่างหัวสีเรียบๆคล้ายคลึงกับตัวเมียของนกกินปลีอื่นๆ


นกกินปลีคอสีม่วงเป็นนกประจำถิ่น เราสามารถพบนกกินปลีคอสีม่วงได้ที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ บริเวณป่าชายเลน ป่าพรุ ชายป่า สวนผลไม้ พื้นที่เกษตรกรรม

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนบ้านปากคลองน้ำเชี่ยว จังหวัดตราดเป็นที่ที่คนนิยมไปดูนกชนิดนี้ เนื่องจากใกล้กรุงเทพฯและเป็นที่ที่มีอาหารที่นกชนิดนี้ชอบ โดยมักพบมากินน้ำหวานจากต้นพังกาทีละเป็นฝูง







นอกจากกินปลีคอสีม่วงแล้ว เรายังพบกินปลีคอสีทองแดงที่นี่ได้ด้วยเช่นกัน


อ่านเสร็จแล้วมาทำแบบทดสอบเล่นๆกันดีกว่าคลิกที่นี่ค่ะ

อยากรู้เกี่ยวกับนกกินปลีเพิ่มเติม คลิกที่นี่ค่ะ


ข้อมูลจาก :

A Guide to the Birds of Thailand ของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ Philip D. Round

A Field Guide to the birds of Thailand ของ Craig Robson





 

Create Date : 26 กันยายน 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 22:37:28 น.
Counter : 4094 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.