Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
3 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
๗ สถาบัน "หนังสือเล่มละบาท" ของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กับสงครามอินโดจีน

๗ สถาบัน "หนังสือเล่มละบาท" ของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กับสงครามอินโดจีน

ทาคาฮาชิ คัทซูยูกิ
ศิลปวัฒนธรรม
พฤศจิกายน 2546




๗ สถาบัน เป็นวารสารรายเดือนซึ่งเริ่มออกเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ โดย ๗ สถาบัน มีเนื้อหาต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างเป็นนัย ด้วยการวิจารณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ และผลที่ตามมาก็คือ ตำรวจสั่งเก็บวารสารฉบับนี้ และสั่งห้ามบรรณาธิการตีพิมพ์ในที่สุด ตามที่พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้ที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของวารสาร ๗ สถาบัน ได้กล่าวไว้ว่า ๗ สถาบัน ฉบับที่ ๒ (๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๗) ได้ตีพิมพ์โดยมีเจตนารมณ์ที่จะประท้วงสงครามเวียดนาม ในฉบับที่ ๒ นี้เองมีบทกวี แด่สงคราม ที่พรรณนาถึงความเหลวแหลกของสงคราม



"ไม่มีอะไรหยุดยั้งความโหดเหี้ยมของสงครามไว้ได้อีกแล้ว เสียงระเบิดตูมตามอยู่ที่นี่และที่นั้น มีแต่ซากปรักหักพัง มีแต่ความตาย มีแต่ความพลัดพรากจากกัน มีแต่น้ำตาในแววตาที่สิ้นหวังแล้ว



ทุกครั้งคราที่สงครามเกิดขึ้น มีใครเล่ารับผิดชอบต่อชีวิตที่ปราศจากความผิด ปราศจากการทวงถาม ปราศจากการร้องขอเหล่านั้น ใครเล่าเป็นผู้รับชดใช้หนี้แห่งความยากแค้นลำเค็ญให้ เมื่อตายใครเล่าชดใช้ค่าของชีวิต ไม่มี?



เมื่อปืนอยู่ในมือ และคำสั่งอยู่ข้างหลังจะเบนปลายกระบอกปืนไปสู่ความว่างเปล่าไม่ได้ บุคคลข้างหน้าจะเป็นใคร มาจากไหน และมีอะไรผิดพ้องหมองใจกัน หรือไม่ก็ตามต้องเป็นศัตรู, ต้องฆ่า, ต้องทำลาย



กฎของสงครามเป็นเช่นนี้ เช่นนี้ และเช่นนี้ตลอดไป"



และมีการตีพิมพ์ภาพศพที่เป็นเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรื่องสั้น แด่ไหว่เฉิน ผลพลอยได้ จากสงคราม ของเปรม ก็ได้เล่าเรื่องราวของเด็กที่กำพร้าอันเป็นผลจากสงคราม กว่าที่ตำรวจจะได้ใช้มาตรการประกาศห้ามการตีพิมพ์เผยแพร่นั้น ๗ สถาบัน ฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมากและก็ได้กระจายออกไปในตลาดเรียบร้อยแล้ว



๗ สถาบัน เป็นวารสารฉบับเดียวที่เป็นของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งชื่อวารสารนั้นมาจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ๗ สถาบัน [จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น] ซึ่งนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้น ซึ่งก็ถือกันได้ว่า ๗ สถาบัน นั้นเป็นกิจกรรมแรกนับตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ที่นิสิตนักศึกษาจากต่างสถาบันได้เข้ามาร่วมทำงานร่วมกัน เพราะในช่วงเวลานั้นทางฝ่ายรัฐบาลไทยได้กีดกันนักศึกษาออกไปจากปริมณฑลทางการเมือง ดังนั้นกิจกรรมนอกหลักสูตรในด้านการเมืองจึงได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยจากนิสิตนักศึกษา นักศึกษาจำนวนมากกลับหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมประเภทสันทนาการ เช่น การเล่นกีฬา การเต้นลีลาศ และการเคลื่อนไหวในวงวรรณกรรม เป็นต้น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ความเห็นว่า



"จนมาถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น ไม่มีปัญญาชนฝ่ายซ้าย ไม่มีบรรยากาศทางวิชาการ มหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร นายพลจอมพลหลายนายก็ล้วนขึ้นมาเป็นอธิการบดี ไม่มีชุมนุม ชมรมหรือสโมสรที่ทำกิจกรรมนิสิตนักศึกษา รวมไปถึงมีกฎห้ามชุมนุมภายในเขตมหาวิทยาลัยหลังจาก ๑๗ นาฬิกา พวกทหารนั้นเกรงกลัวคอมมิวนิสต์ เพราะขบวนการฝ่ายซ้ายนั้นเข้มแข็ง พวกเผด็จการจึงสร้างภาวะมืดมนนี้ขึ้นมา"



ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะได้บรรยายบรรยากาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงนั้นไว้ว่า



"จากการที่ทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด ทั้งโดยการเมืองภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย การกวาดล้างนักศึกษารุ่นเก่าและการสร้างระเบียบการปกครองนักศึกษาใหม่ในปี ๒๕๐๒ ได้มีผลทำให้บรรยากาศโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยเป็นบรรยากาศใหม่ ที่สำคัญก็คือการที่นักศึกษาถูกลดบทบาททางด้านการเมืองและมีฐานะไม่ต่างจากนักเรียนที่มีหน้าที่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว นักศึกษาถูกปิดหูปิดตาจากการรับรู้ และไม่อาจมีปฏิกิริยาตอบโต้กับสภาพแวดล้อมภายนอกมหาวิทยาลัย และในที่สุดก็หมดความสนใจที่จะรับรู้โลกภายนอก สภาพดังกล่าวจะเห็นได้ในปี ๒๕๐๓ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหลังนี้ได้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในมหาวิทยาลัย และทำตนเป็นนักศึกษาที่แท้จริง คือตั้งใจศึกษาหาความรู้ และกล่าวว่าเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยที่เคยมีมาในครั้งก่อนๆ ได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก ซึ่งนับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่สถาบันการศึกษาสูงสุดของชาติ จากสภาพดังกล่าวข้างต้นได้มีผลในการก่อรูปของวัฒนธรรมใหม่ในหมู่นักศึกษารุ่นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "วัฒนธรรมยุคสายลมหรือแสงแดด" วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดดในที่นี้หมายถึงรูปแบบของวัฒนธรรมที่ไม่ผูกพันกับสภาพสังคมและการเมืองตามที่เป็นจริง การจำกัดความสนใจหรือมีกิจกรรมอยู่ในวงแคบรอบๆ ตัวเอง และมีแนวโน้มในด้านบันเทิงเริงรมย์มากกว่าการแสดงความสามารถทางด้านสติปัญญา รวมไปถึงแนวคิดแบบเพ้อฝัน ซึ่งเป็นบรรยากาศโดยทั่วไปของยุคสมัยที่แวดล้อมตัวนักศึกษาอยู่ เนื้อหาของวัฒนธรรมในลักษณะเช่นนี้จะสะท้อนให้เห็นได้ในวิถีชีวิตของนักศึกษา นับตั้งแต่การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย กิจกรรมในด้านต่างๆ และรวมไปถึงความคิดและอุดมการณ์ของนักศึกษา"



ดังนั้นนักศึกษาในยุคนั้นจึงกระหายที่จะได้อ่าน ๗ สถาบัน วารสารฉบับนี้ตีพิมพ์ราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ฉบับ ซึ่งวางขายมิเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ก็ยังวางขายตามแผงหนังสือทั่วไปและวางขายกระจายออกไปทั่วประเทศอีกด้วย



จวบจนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ รัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับว่ากองทัพอเมริกันได้ใช้สนามบินของกองทัพอากาศไทยเพื่อการรบในสงครามเวียดนาม รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะถึงกิจกรรมของทหารอเมริกันในประเทศไทย แม้ว่าจะมีทหารอเมริกันตั้งฐานปฏิบัติการ และเครื่องบินทิ้งระเบิดจะบินไปกลับวันแล้ววันเล่า หากเพียงสื่อมวลชนตีพิมพ์บทความที่ให้ร้ายต่อสหรัฐอเมริกา สื่อนั้นก็จะถูกลงโทษและห้ามเผยแพร่อีก ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๗ ได้ระบุว่าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์บทความหรือเสนอข่าวในลักษณะไม่สมควร ซึ่งอาจส่งผลให้ภัยร้ายแรงแก่ประเทศ และที่สามารถจะทำให้ต่างชาติเสื่อมความเชื่อถือไว้วางใจในประเทศไทย จะมีโทษถึงโดนยึดหนังสือพิมพ์นั้นทำลายหรือสั่งถอนใบอนุญาตผู้พิมพ์



เมื่อพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ได้เป็นนักข่าวสายการเมืองของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แม้ว่าเขาจะรู้เรื่องสงครามเวียดนามเป็นอย่างดี แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะรายงานข่าวสงครามเวียดนามได้อย่างเป็นอิสระ เนื่องจากปัญหาของระบอบเผด็จการทหาร สื่อมวลชนใดๆ ก็ไม่สามารถเสนอข่าวที่ประเทศไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามได้ และพร้อมที่จะ "เซ็นเซอร์" ตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า



"ถึงวันนี้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามอีกมากขึ้นทุกทีๆ เรามีกองกำลังทหารสหรัฐในประเทศของเรา เรายังมีฐานทัพอากาศที่โคราช, อุดรธานี, อุบลราชธานี และที่อู่ตะเภา ใกล้ๆ พัทยา ถึงตอนนี้ยังไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าที่จะเอ่ยถึงฐานทัพอากาศเหล่านั้นว่าเป็นฐานทัพอเมริกัน รัฐบาลได้ประกาศว่า เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์มหามิตรของเราได้ หากคุณเขียนสิ่งใดที่อาจจะมีความเสียหายขึ้น คุณจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงและหนังสือของคุณก็จะถูกสั่งปิดตลอดกาล หากคุณตีพิมพ์บางสิ่งบางอย่างที่รัฐบาลปฏิเสธความจริงหรือละเมิดกฎหมายข่าวกรองหรือความมั่นคงของประเทศ คุณจะถูกลงโทษด้วยการจองจำอย่างน้อย ๒๐ ปี จึงไม่มีใครกล้าที่จะตีพิมพ์ข้อเท็จจริงที่ว่า กองทหารอเมริกันนั้นยังคงมีอยู่ในประเทศไทย"



ในระยะเวลานั้นรัฐบาลไทยไม่ยอมอนุญาตที่จะให้ออกหัวหนังสือใหม่ ดังนั้น ๗ สถาบัน จึงตีพิมพ์ในฐานะหนังสือฉบับพิเศษของเสือสนาม ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาในเวลานั้น ๗ สถาบัน นั้นน่าจะต้องเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับกีฬา แต่กลับมาเล่นเรื่องการเมืองเป็นหลัก นอกจากนั้นการตีพิมพ์ก็ยังเป็นผลงานของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกด้วย ดังนั้นทางฝ่ายรัฐบาลจึงพุ่งเป้าความสนใจมาที่หนังสือฉบับนี้เป็นพิเศษ หลังจากการห้ามตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว กลุ่มเจ็ดสถาบันก็ยังคงเผยแพร่งานผ่านหนังสือเล่มรายสะดวกแทนที่จะออกมาในรูปวารสารอย่างที่เคย แม้กระนั้นก็ยังธำรงลักษณะของชื่อเดิมของหนังสือไว้อยู่ ตัวอย่างการตั้งชื่อหนังสือรายสะดวกของกลุ่มนี้ก็เช่น ๗ เกลียว, ๗ น้ำใจ และ ๗ ชีวิต ในยุคนั้นการหลบเลี่ยงเพื่อที่จะได้ตีพิมพ์หนังสือของตนออกมามีด้วยกันอย่างน้อยสามช่องทาง อันได้แก่ ๑. พิมพ์หนังสือเล่มในแบบหนังสือรายประจำ โดยใช้ชื่อที่มีการปรับแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย เพื่อให้ผู้อ่านทราบและยังสามารถติดตามต่อไปได้ (๗ สถาบัน, วรรณกรรมเพื่อชีวิต,...) ๒. ซื้อหัวหนังสือเก่าจากที่มีคนเคยจดทะเบียนไว้แล้ว (ปาจารยสาร,...) และ ๓. ใช้รูปแบบการพิมพ์ฉบับพิเศษในหัวหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่ตีพิมพ์อยู่ (๗ สถาบัน, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา, วรรณกรรมเพื่อชีวิต,...)



นับแต่มีการห้ามการจัดพิมพ์นั้น ๗ สถาบัน ก็ระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แต่หนังสือแนวหัวก้าวหน้าฉบับนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษาอยู่ดี ๗ สถาบัน ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมนักศึกษาในขณะนั้น การพิมพ์เผยแพร่ ๗ สถาบัน นั้นถือเป็นกิจกรรมแรกของกลุ่มนิสิตนักศึกษาหลังจากยุคสฤษดิ์ ในอันที่จะทำงานประสานร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษาต่างสถาบัน หนังสือฉบับนี้ได้เพิ่มระดับความร่วมมือในกลุ่มนิสิตนักศึกษา และเป็นเสมือนเชื้อปะทุให้แก่การทำกิจกรรมนักศึกษา รากฐานของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ก็ถือว่ามีรากฐานมาจากหนังสือ ๗ สถาบัน ด้วยเช่นกัน



กลุ่มเจ็ดสถาบัน ไม่เพียงแต่จะตีพิมพ์วารสารหรือหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น กิจกรรมการกุศลเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ได้เล่าว่า การดำเนินกิจกรรมของเจ็ดสถาบันนั้นกินเวลาสองปีด้วยกัน



ถัดจากเจ็ดสถาบัน ก็มีหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา และลอมฟาง กลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถือเป็นความต่อเนื่องเชื่อมต่อกับกลุ่มเจ็ดสถาบันด้วย



Create Date : 03 กรกฎาคม 2550
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 16:25:38 น. 2 comments
Counter : 2588 Pageviews.

 
เข้ามาอ่านแล้วครับ
ดูเหมือนผมยังเก็บไว้เลย

ไม่ทราบว่าตอนนี้คุณทาคาฮาชิ คัทซูยูกิ
อยู่ที่ไหนครับ


โดย: ลุงกฤช IP: 203.113.67.71 วันที่: 9 กรกฎาคม 2550 เวลา:12:18:34 น.  

 
ตอนนี้ผมอยู่ที่โตเกียวครับ


โดย: ทาคาฮาชิ คัทซูยูกิ IP: 218.217.116.34 วันที่: 7 สิงหาคม 2550 เวลา:18:53:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.