Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
13 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
มองพรรคการเมืองไทยผ่านแว่นตานักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

ปกป้อง จันวิทย์





เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนใหม่หมาด เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ October เล่ม 7 ของสำนักพิมพ์ openbooks ซึ่งจะวางแผงในช่วงเดือนตุลาคมนี้

โจทย์ของบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้ คือการมองการเมืองไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ผ่าน ‘แว่นตา’ ของนักประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันอย่างอาจารย์ธเนศ เราคุยกันเกือบสองชั่วโมง นั่งไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญๆ ของการเมืองบ้านเรา ตั้งแต่การรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ ไปจนถึงเรื่องบทบาทของทหาร พรรคการเมือง และกลุ่มทุน ในระบบการเมือง แล้วย้อนมองเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เพื่อหาบทเรียนสอนใจสังคมการเมืองไทย

ในห้วงเวลาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ (เมื่อบทความตีพิมพ์อาจจะพิจารณาเสร็จแล้ว) โดยมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งหลายฝ่ายวิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติในการควบคุมแทรกแซงพรรคการเมืองที่รุนแรงเกินระดับเหมาะสมจนอาจขัดขวางพัฒนาการของพรรคการเมืองได้ ผมเห็นว่าบทสัมภาษณ์ในส่วนที่คุยกันเรื่องพรรคการเมืองช่วยให้ข้อคิดอีกมุมหนึ่งได้ จึงขอตัดตอนมาให้อ่านกันก่อนเป็นที่แรก ส่วนบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ขนาดยาว 16 หน้า A4 ติดตามอ่านได้ใน October เล่ม 7 ครับ

.......................................................................................

มาถึงเรื่องพรรคการเมือง สหรัฐอเมริกามีสองพรรคใหญ่ ส่วนประเทศไทยมีหลายพรรค อะไรทำให้มันต่างกัน แล้วอย่างไหนดีกว่ากัน

จริงๆ แล้ว ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันไม่อยากให้มีการตั้งพรรคการเมืองนะ เพราะเขามองว่าเป็นการสร้างความแตกแยก ถ้าผู้นำแตกแยก สังคมก็ต้องแตกแยก ปกครองลำบาก อันนี้เป็นสามัญสำนึกของผู้มีอำนาจการเมืองทั้งหลายที่ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้นำกันเอง แต่เมื่อมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ก็ต้องแยกกัน ในที่สุดก็เลยเกิดกลุ่ม Federalist กับ Anti-Federalist ขึ้นมา ซึ่งยังไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างจริงจัง จนต่อมาเมื่อสองฝ่ายต่อสู้ห้ำหั่นกันเพื่อกุมอำนาจรัฐ ในที่สุดจึงค่อยๆ กลายมาเป็นพรรคเฟดเดอรัลสิสต์ ฝ่ายหนึ่งกับพรรครีพับลิกันของเจฟเฟอร์สัน ซึ่งคนละพรรคกับรีพับลิกันในปัจจุบัน อีกฝ่ายหนึ่ง หลังจากนั้นกระแสการเมืองและฐานเสียงของพวกเฟดเดอรัลสิสต์หมดไป เพราะนโยบายขายไม่ได้ พรรคเฟดเดอรัลสิสต์ก็ต้องสลายตัวไป แล้วก็เกิดพรรคใหม่ขึ้นมาแทนคือพรรควิก (Whig) ส่วนพรรครีพับลิกันยุคแรกก็เปลี่ยนไปเป็นพรรคเดโมแครต (Democrat) ในสมัยประธานาธิบดีแอนดรู แจ๊กสัน (ราวกลางศตวรรษที่ 19) อันนี้แหละที่เป็นบรรพบุรุษของพรรคเดโมแครตที่ยังอยู่ถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นพรรคการเมืองอเมริกันที่อยู่มานานที่สุด ส่วนพรรควิกมีอายุไม่นาน พอเจอวิกฤตปัญหาระบบทาสเข้าก็แตกเป็นเสี่ยงทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ จนต้องเลิกพรรคไปอีก นั่นเป็นระยะของการมีระบบสองพรรคการเมืองยุคแรกในอเมริกา ซึ่งกินเวลาไม่นานนัก

หลังจากนั้น ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองก็เกิดมีพรรคใหม่ที่มาตามกระแสเรียกร้องของมวลชนส่วนมากที่ไม่ต้องการระบบทาส นั่นคือพรรครีพับลิกัน (Republican) ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกคืออับราฮัม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) ซึ่งได้ชัยชนะเพราะพรรคเดโมแครตแตกกันเอง การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของลิงคอล์นนำไปสู่การประท้วงและการแยกดินแดน(รัฐ)ของบรรดารัฐภาคใต้ออกจากสหรัฐฯ นั่นคือที่มาของการเกิด ‘วันเสียงปืนแตก’ ที่ฟอร์ตซัมเตอร์ รัฐเซาธ์แคโรไลนา จากนั้นก็นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ พรรครีพับลิกันก็เลยเป็นพรรคคู่กับเดโมแครต มาจนปัจจุบันนี้

เห็นได้ว่าพรรคการเมืองของอเมริกาเกิดมาจากพัฒนาการภายในระบบรัฐสภา ประเด็นที่สำคัญและเป็นปัจจัยชี้ขาดก็คือ การดำรงอยู่ของพรรคมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชนข้างล่าง จากผู้ลงคะแนนเสียงจริงๆ ในอเมริกา พรรคการเมืองไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง รัฐและศาลไม่สามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เกิดมาจากกฎหมาย หากแต่เกิดมาจากการเคลื่อนไหวและความต้องการของประชาชนเอง ถือว่าเป็นสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญซึ่งสูงสุด มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถสั่งยุบพรรคการเมืองในอเมริกาได้

ผมสรุปจากประสบการณ์ของอเมริกาว่า พรรคการเมือง โดยตัวมันเอง ไม่ได้ถูกออกแบบมาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบปกครองอะไรก็ตาม แต่พรรคการเมืองแบบสมัยใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่มีความต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการสรรหาผู้นำทางการเมือง กล่าวคือระบบการเมืองการปกครองนั้นต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองจริงๆ

การบังคับให้มีพรรคการเมืองตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ไม่มีประโยชน์ มันไม่อาจทำให้ระบบพรรคการเมืองเติบโตและพัฒนาไปได้อย่างเป็นแก่นสาร จริงๆแล้วโดยธรรมชาติของพรรคการเมืองมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ระบบอัตตาธิปไตยคือรวมศูนย์อำนาจในผู้นำ ดังนั้นหากภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจไม่กระจายความเป็นธรรมไปอย่างทั่วถึง โอกาสที่พรรคการเมืองจะแปรสภาพไปเป็นเหลือบฝูงใหม่(หรือเก่าก็ตาม)ย่อมมีความเป็นไปได้มาก

แต่สำหรับการเมืองระบอบประชาธิปไตยไทย พรรคการเมืองมาจากการแต่งตั้งทุกครั้ง คือต้องมีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง แล้วทุกคนก็ออกไปตั้งพรรค คำถามก็คือ ถ้าไม่มีพรรค แล้วชาวบ้านจะเลือกตั้งคนที่เป็นผู้แทนของพวกเขาได้ไหม จริงๆ แล้ว ตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พรรคอิสระมีชีวิตชีวามากกว่าพรรคที่ตั้งขึ้นอีก ส.ส. ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นสังกัดพรรคอิสระ พรรคอิสระก็คือไม่มีพรรค ถ้าคุณเข้าพรรครัฐบาล คุณก็ถูกด่าว่าเป็นขี้ข้าทหาร หรือถ้าคุณไปเข้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณก็ถูกด่าว่าเป็นพวกเต่า พวกไดโนเสาร์ เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองไม่ได้มีความจำเป็น หรือทำให้การเมืองดีขึ้นอย่างที่เราเข้าใจ

ทำไมต้องบังคับให้มีพรรคการเมือง? เพราะคนที่ออกแบบระบบการเมืองไทย โดยเฉพาะภายหลังการยึดอำนาจรัฐประหาร มักเชื่อว่าการมีพรรคการเมืองในรัฐสภา จะทำให้สภาเรียบร้อย รัฐบาลก็จะควบคุมจัดการได้ง่าย อีกด้านหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ พรรคการเมืองในอุษาคเนย์มีกำเนิดมาจากกลุ่มและขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคม ต่อสู้เพื่อเอกราช ชาตินิยม และคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์การเมือง ถ้าไม่มีพรรคก็ไม่มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจ ทหารจึงมักจะยุบพรรคการเมือง เพราะกลัวว่าจะมารวมหัวกันต่อต้านทหาร เมื่อสถานการณ์เริ่มดีก็จะเปิดโอกาสให้ตั้งพรรคใหม่ แต่ก็ต้องมีกฎกติกาคอยกำกับไว้

ทีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดันไปสรุปเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็บอกว่ารัฐบาลผสมคุม ส.ส. ไม่ได้ ทำตามนโยบายไม่ได้ ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำไม่มีความเด็ดขาด ก็เลยออกแบบให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ยากที่พรรคเล็กพรรคน้อยจะเข้ามาได้ คราวนี้เสร็จเลย ได้พรรคใหญ่จริงๆ สมเจตนารมณ์ แล้วก็มาเจอปัญหาอีกแบบหนึ่งแทน

ตอนนี้คนมีอำนาจก็ลังเล กลับมาเชื่อว่าพรรคใหญ่ไม่ดี เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็พยายามทำให้พรรคต้องเล็กลง เราก็จะกลับไปเจอปัญหาเดิมอีก คือจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ผมอยากจะเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นเราปรับวิธีคิดใหม่ได้ไหม คืออย่าให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองขนาดนั้น พูดง่ายๆ ว่าเราตั้งโจทย์ใหม่ดีกว่า มาเปิดให้อิสระขึ้นดีหรือไม่ ให้คนลงสมัครเลือกตั้งได้โดยอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรค แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ ในที่สุดแล้ว พรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามนโยบายหรืออุดมการณ์ในตอนนั้นๆ อย่าเอาพรรคการเมืองไปผูกติดกับความมั่นคง ประสิทธิภาพหรืออนาคตของการเมืองไทยทั้งหมด มันไม่ได้สำคัญชี้ขาดถึงขนาดนั้นหรอก

พรรคการเมืองของอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งผู้สมัครและผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีประสบการณ์ร่วมกัน และเห็นว่าระบบนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับเขา เลยเกิดพรรคการเมืองขึ้น แต่ถึงแม้จะมีพรรคการเมือง แต่ภายในพรรคก็ต้องสู้กันอีก เช่น เมื่อกลุ่มที่มาจากแถบ Midwest ไม่พอใจผู้นำพรรคที่มีนโยบายเอนเอียงไปทางภาคเหนือ เขาก็ต้องสุมหัวกัน แล้วพยายามที่จะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อที่จะผลักดันนโยบายของตัวเอง เช่นสร้างระบบการหยั่งเสียงไพรมารี่ในแต่ละพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้พวกหัวหน้าพรรคระดับนำไม่กี่คนมาเป็นคนกำหนดว่าจะเลือกใครเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี เป็นต้น

เพราะฉะนั้น บทเรียนของเราก็คือ นักการเมืองต้องทำงานด้วย ไม่ใช่รอแต่กฎหมายพรรคการเมืองว่าให้ทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ ไม่ต้องไปสนใจมัน แต่นักการเมืองต้องทำงานไปบนพื้นฐานที่ว่า คนในเขตเลือกตั้ง เขาสนับสนุนคุณ ไม่ใช่ทำงานการเมืองเพราะหัวหน้าพรรคต้องการอย่างไร

ที่เราชอบบอกว่า ประเทศไทยไม่มีพรรคอุดมการณ์ ก็แน่นอน ถ้าทุกพรรคเอาแต่เข้าไปเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ไม่ได้มีฐานจากข้างล่างและฐานจากภายในพรรค แล้วคุณจะเขียนนโยบายมาจากไหน พรรคการเมืองไม่มีใครสร้างได้ สังคมต้องร่วมกันสร้าง ต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาเราให้เวลากับประสบการณ์การเลือกตั้งหรือการมีพรรคน้อยมาก ได้เป็นรัฐบาลสองสมัยแล้วก็ถูกยุบพรรค มันกลายเป็นฝันร้าย ตอนนี้ทุกคนเลยต้องไปโหนพรรคที่สายป่านยาวหน่อย เพราะเวลาคุณถูกยุบพรรค มันหมดเลย เงินก็หมด ชื่อก็หมด ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ในแง่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ พรรคการเมืองไทยเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ล้มละลายได้ทุกเวลา บรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ๆจึงต้องปั่นหุ้นและภาพลักษณ์เป็นการใหญ่ อย่างนี้แล้วทำไมประชาชนอย่างพวกเราถึงดันไปฝากความหวังในการพัฒนาตลาดการเมืองกับสถาบันที่ไม่มีความมั่นคงอะไรเลยอย่างพรรคการเมือง ประหลาดจริงๆ

ปัญหาการเมืองประการหนึ่งที่สังคมไทยเพิ่งเจอก็คือ เมื่อทุนนิยมเติบโต ก็มีนายทุนเข้ามาเล่นการเมือง สามารถซื้ออำนาจรัฐได้ เข้ามาปกป้องธุรกิจของตัวเอง ในสหรัฐอเมริกาเคยประสบปัญหาทำนองนี้หรือเปล่า ทำไมเศรษฐีอเมริกันจึงไม่ค่อยลงเล่นการเมือง ไม่อยากเป็นประธานาธิบดีเอง

ในช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองทั้งสองพรรคของเขาก็ยังต้องขอเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย มีคนเคยทำวิจัยว่ากลุ่มทุนให้เงินสนับสนุนพรรคไหนมากกว่ากัน พบว่าทั้งสองพรรคได้รับเงินใกล้เคียงกัน จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงส่วนตัวหรือทางสังคมอื่นๆ แต่ทำไมเขาไม่ลงไปเล่นการเมืองเอง?

มีเรื่องโจ๊กเรื่องหนึ่ง เล่าว่าเนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ เคยบอกพ่อว่าอยากจะสมัครเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก พ่อก็ถามว่าจะลงทำไม ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่สบายกว่าหรือ เราอยากได้อะไรเราก็โทร.บอกผู้ว่าการฯ ได้อยู่แล้ว ผมไม่ทราบว่าหลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กแล้ว เนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ได้พบสัจธรรมอะไรที่พ่อแกไม่เคยรู้หรือไม่เคยเห็นมาบ้าง

เป็นเพราะประเทศเรามีเศรษฐีน้อยด้วยหรือเปล่า เข้าไปแล้วมันคุ้ม เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ง่าย กินรวบก็ง่าย แต่ในอเมริกา มีเศรษฐีเยอะแยะ จนแบ่งปันผลประโยชน์กันไม่ไหว กลุ่มทุนคานกันเอง

ผมคิดว่านักกฎหมายไทยชอบออกกฎหมายควบคุมความแตกต่าง แต่สำหรับอเมริกา แค่เริ่มต้นคิดเขาก็บอกว่าผิดแล้ว ห้ามไม่ให้ทำแบบนั้นแล้ว เพราะมันฝืนธรรมชาติ ที่นั่นเขาส่งเสริมให้คนแตกต่างกันเยอะๆ ให้สังคมแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ กระจายออกไปให้มาก ให้ผลประโยชน์กระจายออกไป ไม่กระจุกกับใครคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง แต่ให้กลุ่มผลประโยชน์มีมากมายมหาศาล มากจนกระทั่งไม่มีใครไปคุมกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้ จนในที่สุดก็ต้องต่อรองผ่อนปรนกันว่า ไอ้นี่ได้เท่านั้น ไอ้นั่นได้เท่านี้ ไม่มีใครกินรวบได้ เพราะฉะนั้นความคิดแบบอเมริกาก็คือ ให้ทุกคนต้องไปสู้กันเองเลย ให้ทุกคนรู้ว่ามีผลประโยชน์อยู่ตรงนี้ มาแข่งกัน คุณสู้ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้




ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ ‘มองซ้ายมองขวา’ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2550 เผยต่อใน onopen.com




Create Date : 13 ตุลาคม 2550
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 12:34:09 น. 1 comments
Counter : 971 Pageviews.

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:44:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.