bloggang.com mainmenu search

เทคโนฯ การเกษตร/มนตรี แสนสุข




ยอดอ่อนเก็บมารับประทาน อร่อยมาก




ถ่ายภาพร่วมกันในแปลงสาธิต




“ผักหวานป่า” เป็นพืชผักที่ชาวบ้านตามชนบท นิยมบริโภคกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ต่อมาผักหวานป่าแพร่หลายเข้าสู่สังคมเมือง ความต้องการบริโภคผักหวานป่าจึงมากขึ้น มีความพยายามที่จะนำพันธุ์ผักหวานป่าออกมาปลูกตามเรือกสวนไร่นา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ผักหวานป่าเมื่อแยกต้นจากการเพาะเมล็ด การติดตา หรือการเสียบยอด นำมาลงดินปลูกนอกป่า ต้นกล้าจะเจริญเติบโตช้ามาก และต้นมักตายในช่วงปีที่ 3-4 ซึ่งจะต่างจากผักหวานบ้านมาก ทำให้หลายคนมองว่า ผักหวานป่าจะต้องปลูกในสภาพพื้นที่ป่าเท่านั้น ต้นจึงจะเจริญเติบโตได้ดี

เทคโนโลยีชาวบ้าน ได้พบกับ คุณณภัทร ภูริผล เกษตรอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี กล่าวยืนยันว่า ผักหวานป่าสามารถนำกิ่งพันธุ์มาปลูกและขยายนอกพื้นที่ป่าได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการทำกิ่งพันธุ์ผักหวานป่าว่าจะทำกันแบบไหน

สำหรับในพื้นที่อำเภอลำสนธิ มีการ “ตอนผักหวานป่า” นำออกไปปลูกนอกพื้นที่ป่าได้ผล และเป็นที่ยอมรับกันแล้ว โดยทางสำนักงานเกษตรอำเภอร่วมกับท่านเจ้าอาวาสวัดหนองรี พัฒนาขยายพันธุ์ผักหวานป่าในพื้นที่วัดที่ให้ทำเป็นแปลงสาธิต และศูนย์การเรียนรู้อบรมการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าจากการทำกิ่งตอน

พระครูอุดมธรรมโกวิท หรือ หลวงพ่อคำพา อนุตโร เจ้าอาวาสวัดหนองรี ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี กล่าวถึงความตั้งใจที่ให้พื้นที่วัดส่วนหนึ่งจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรในชุมชนขึ้นมา และความตั้งใจทำกิ่งตอนผักหวานป่า ให้ชาวบ้านออกมาปลูกนอกพื้นที่ป่าให้มากขึ้นว่า

ชาวบ้านในท้องถิ่นนิยมรับประทานผักหวานป่ากันมาก พอมีโอกาสเคยติดตามชาวบ้านไปดูการเก็บผักหวานป่า เห็นว่าการเก็บผักหวานป่าของชาวบ้านค่อนข้างไปในทางทำลายมากกว่าการอนุรักษ์

หลวงพ่อคำพา บอกด้วยว่า ผักหวานป่าเป็นต้นไม้ที่จะไม่ทิ้งใบก่อนออกยอดใหม่ ต่างกับต้นไม้ชนิดอื่น ที่มักจะทิ้งใบแล้วจึงออกยอดใหม่ ผักหวานป่านอกจากจะแตกยอดอ่อนก่อนทิ้งใบแก่แล้ว หากจะเร่งให้เจริญเติบโตเหมือนพืชชนิดอื่นจะไม่โต

ผักหวานป่าจะเจริญเติบโตเมื่อถึงฤดูกาล ต้นจะเจริญเติบโตเอง และมักแตกยอดอ่อนครั้งแรกราวเดือนกันยายน ซึ่งไม่ใช่ยอดจริง จะมียอดอ่อนต่ออีกทีราวเดือนมกราคมของทุกปี ช่วงนี้อากาศกำลังหนาวผักหวานป่าจะแตกยอดอ่อนออกมาสะพรั่งทุกกิ่งของลำต้น

“คนรุ่นเก่าเขาจะใช้ไฟลนเพื่อกระตุ้นให้ต้นแตกยอดอ่อนออกมา บางคนก็ใช้วิธีตัดกิ่ง หรือรูดใบแก่ทิ้ง เพื่อให้ต้นแตกยอดอ่อนใหม่ แต่จะได้ยอดอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ ไม่เหมือนกับการแตกยอดอ่อนตามธรรมชาติของต้น”

หลวงพ่อคำพา เล่าให้ฟังอีกว่า วิธีการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำลายต้นผักหวานป่าเพื่อให้ได้ยอดอ่อนออก ที่สำคัญ คือ ชาวบ้านจะรุกป่าเข้าไปหายอดอ่อนผักหวานป่ามากขึ้น การเข้าไปหายอดผักหวานป่า ก็มักจะมีพืชผักป่าหรืออื่นๆ ติดมือกลับมาด้วย เป็นการทำลายป่า

“อาตมาคิดว่า น่าจะหาวิธีขยายพันธุ์ผักหวานป่า แล้วให้ชาวบ้านเอาไปปลูก จะได้ไม่ต้องเข้าป่าไปหาผักหวานให้ยุ่งยาก จึงกันพื้นที่วัดส่วนหนึ่งให้ทำเป็นแปลงสาธิตขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยกิ่งตอน

ทำมาหลายปีแล้วปรากฏว่า ต้นผักหวานป่าที่เกิดจากกิ่งตอนเจริญเติบโตดี จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลให้เข้ามาช่วยในเรื่องของการตอนกิ่ง ขยายพันธุ์สู่ชุมชนต่อไป”

ด้าน คุณอำนาจ มีธะระ หรือ เกษตรแจ้ เจ้าหน้าที่การเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า เริ่มต้นจากการศึกษาเรื่องราวและการขยายพันธุ์ผักหวานจากผู้รู้อยู่ระยะหนึ่ง

จากนั้นก็มาขยายผลขยายพันธุ์ผักหวานในแปลงเกษตรศูนย์การเรียนรู้ที่วัดหนองรีแห่งนี้ ร่วมกับหลวงพ่อคำพา ช่วยกันขยายพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ผักหวานอยู่หลายปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถขยายพันธุ์ผักหวานป่าแพร่สู่เกษตรกรแล้วจำนวนหนึ่ง

คุณอำนาจ กล่าวอีกว่า การขยายพันธุ์ผักหวาน ทำได้ 3 วิธี คือ การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ด้วยการตัดรากและการตอน ทั้ง 3 วิธี นี้ ได้เผยแพร่ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดหนองรี

การขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยการเพาะเมล็ดนั้น คุณอำนาจ บอกว่า ต้องเก็บเมล็ดผักหวานป่าที่แก่จัดมากะเทาะเอาเปลือกออกให้เหลือแต่เมล็ดด้านใน แล้วนำไปตากในร่ม 2-3 วัน หลังจากนั้น ก็นำผ้าขาวบางมาห่อเมล็ด พรมน้ำพอชุ่ม

ทิ้งไว้รอให้รากงอกออกมา หรือนำเมล็ดไปวางบนทรายแล้วนำทรายมากลบบางๆ อีกที หรือจะนำเมล็ดไปใส่ในแกลบดำ หรือขุยมะพร้าวก็ได้ พรมน้ำพอชุ่มทิ้งไว้ให้รากงอกออกมา

เกษตรกรสามารถขุดหลุมปลูกรอไว้ได้เลย ขนาดหลุมปลูก กว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร นำดินในหลุมปลูกมาผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก แล้วนำกลับไปใส่ในหลุมตามเดิม รอจนเมล็ดพันธุ์แตกรากงอกออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร

จึงนำกล้าพันธุ์ลงหลุมปลูก อีกวิธีหนึ่งเกษตรกรสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ในถุงชำที่มีแกลบหรือขุยมะพร้าวก็ได้ เมื่อรากงอกออกมาพอสมควรจึงนำลงแปลงปลูกต่อไป

สำหรับ วิธีที่สอง คือ การตอน วิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องใช้เทคนิคการตอนหลายอย่างและต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน กว่าจะตัดกิ่งตอนออกมาได้ การตัดกิ่งตอนออกมาต้องดูว่ารากมีสีเขียว จึงจะถือว่าเป็นรากสมบูรณ์

เกษตรกรบางคนคิดว่าตัดราก ตอนราก ต้องมีสีน้ำตาล ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ รากต้องมีสีเขียวเท่านั้น จึงจะใช้ได้ และต้องขยายตุ้มตอน โดยเพิ่มปริมาณขุยมะพร้าวเข้าไปเพื่อให้รากแตกออกได้มาก จะทำให้โอกาสต้นรอดตายหลังลงปลูกมีมาก

ส่วน วิธีที่สาม คือ การตัดราก หรือชำราก วิธีนี้เกษตรกรจะต้องมีต้นผักหวานป่าต้นใหญ่อยู่แล้ว รากผักหวานป่าจะแผ่กระจายไปรอบๆ ต้น ให้คุ้ยดินหารากห่างจากต้น ประมาณ 1 เมตร เจอรากเป็นสีเหลืองให้ตัดรากให้ขาดจากกัน ไม่ช้าต้นผักหวานจะแตกออกจากรากที่ตัด

“ต้นผักหวาน ที่แตกจากรากที่ตัดจะโตเร็วมาก โตเร็วกว่าการเพาะเมล็ด และการตอนเสียอีก วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด”

คุณอำนาจ เล่าให้ฟังด้วยว่า ผักหวานป่าที่แนะนำเกษตรกรให้ปลูก ควรเป็นผักหวานป่าจากกิ่งตอนจะดีที่สุด จากการทดลองมาหลายรุ่นร่วมกับทางวัดหนองรี พบว่า กิ่งตอนผักหวานป่าเมื่อลงดินปลูกอัตราการรอดตายจะมีมากกว่าการปลูกจากเมล็ดพันธุ์

สำหรับการดูแลผักหวานป่าไม่ยากเลย ในแต่ละปีให้ปุ๋ยบ้างพอสมควร แรกๆ รดน้ำบ้าง แต่พอระบบรากเดินดีแล้ว ผักหวานป่าจะอยู่รอดได้เองตามธรรมชาติ

ส่วนที่ศูนย์การเรียนรู้แปลงปลูกผักหวานป่าวัดหนองรีนั้น มีผักหวานป่าอยู่หลายรุ่นหลายขนาด สำหรับกิ่งตอนผักหวานป่าก็มีอยู่พอสมควร รายได้จากการจำหน่ายกิ่งตอนนำเข้าวัดหนองรี ที่ตั้งเป็น “กองทุนศูนย์เรียนรู้พันธุ์พืชชุมชนวัดหนองรี” ทั้งหมด

“หลายๆ คน มักบอกว่า เอากิ่งผักหวานป่าไปปลูกแล้วมักตาย ก็ขอให้เกษตรกรขุดหลุมปลูกให้กว้างและลึกเอาไว้ก่อน เวลาเอากิ่งตอนลงปลูก ให้เอาดินที่ถุงชำกับดินหลุมปลูกเสมอกัน อย่าให้ดินปลูกขึ้นไปกลบลำต้น”

คุณณภัทร เล่าว่า การส่งเสริมให้มีการปลูกผักหวานป่าจะเน้นให้เกษตรกรปลูกกันในรูปของกลุ่ม เช่น ตำบลเขารวก มีกลุ่มศูนย์การเรียนรู้การขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยกิ่งตอน

ซึ่งสาเหตุที่ต้องมาสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักหวานป่าเพื่อการบริโภคและการเก็บยอดจำหน่าย ก็เพราะว่าตอนนี้ป่าถูกบุกรุกมากขึ้น และการเข้าไปเก็บผักหวานป่าในป่าระยะทางก็ไกลขึ้นทุกที

เพราะต้นผักหวานป่าที่อยู่ใกล้ๆ จะถูกเก็บยอดไปหมด หากย้ายป่าผักหวานมาอยู่ในพื้นที่บ้านแทนที่จะปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่าเป็นป่ารกเฉยๆ ก็หาต้นผักหวานป่ามาปลูกให้เต็มพื้นที่ นึกจะรับประทานผักหวานป่าเมื่อไหร่ ก็เดินเข้าไปในสวนป่าหลังบ้านเก็บยอดมารับประทานสะดวกกว่า

ไม่ต้องเข้าป่าไปหาผักหวานกันไกลๆ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมชาวบ้านไม่ให้เข้าไปบุกรุกป่า ไม่ต้องไปเอาของป่าออกมาขาย ในอนาคตจะขยายโครงการนี้ออกไปให้ครบทุกตำบล

เรื่องราวของ ผักหวานป่า ที่ อำเภอลำสนธิ นั้น น่าสนใจมาก ท่านที่สนใจจะหากิ่งตอนผักหวานป่าไปส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนบ้างก็เชิญ หรือจะเอากิ่งตอนไปปลูกไว้เก็บยอดรับประทาน หรือจะปลูกเป็นธุรกิจเก็บยอดผักหวานป่าขายก็เข้าท่า

สนใจโทรศัพท์คุยในรายละเอียดกับ คุณอำนาจ มีธะระ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (080) 663-2519 หรือจะ โทร.ไปที่ สำนักงานเกษตรอำเภอลำสนธิ โทร. (036) 633-372 ในเวลาราชการ


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
เทคโนฯ การเกษตร
คุณมนตรี แสนสุข


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ
Create Date :14 มีนาคม 2555 Last Update :14 มีนาคม 2555 13:12:00 น. Counter : Pageviews. Comments :0