bloggang.com mainmenu search

พลาดิศัย จันทรทัต




ไอเดีย"รวยด้วยกาก" นวัตกรรมอาชีวะเกษตร




ย้อนกลับไปกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว บูรพาจารย์สายเกษตรกรรม 5 ท่าน อันประกอบด้วย นายวิภาต บุญศรีวังซ้าย นายสุรพล สงวนศรี นายขจร ทองอำไพ นายประสงค์ วรยศ และ นายสมร ตรีพงษ์ มีโอกาสไปร่วมประชุม "องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา" หรือเอฟเอฟเอ ที่เมืองแคนซัสซิตี้ และนำกลับมาเผยแพร่ที่ประเทศไทย

จนกรมอาชีวศึกษาขณะนั้น จัดอบรมผู้บริหารเรื่อง "โครงการเกษตรภายใต้การนิเทศ" แนวคิดการเกษตรของเอฟเอฟเอ จึงถือกำเนิดขึ้นในไทยภายใต้ชื่อ "องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย" หรือ "อกท." เพื่อสนับสนุนการทำโครงการทางการเกษตร

โดยริเริ่มที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เป็นหน่วยแรก ก่อนกระจายไปยังกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา และวิทยาลัยเกษตรกรรม กระทั่งปี 2518 การดำเนินการของ อกท.ต้องหยุดชะงักแต่ได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2522 ส่งผลให้ "การประชุมวิชาการ อกท. ระดับชาติ" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2523 ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ

โดยสมาชิก อกท.ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ภาค นำความรู้ความชำนาญด้านวิชาชีพเกษตรกรรมมาแข่งขันกัน เพื่อนำผลงานที่มีคุณภาพไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเกษตร สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ

การแข่งขันวิชาชีพด้านเกษตรกรรม จัดมา 33 ครั้ง แต่จำนวนไม่ใช่สิ่งที่ชาวอาชีวะเกษตรภาคภูมิใจ และให้ความสำคัญเท่ากับการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานการประชุมวิชาการ อกท.ระดับชาติ ทรงรับ อกท.ไว้ในพระราชูปถัมภ์

ปีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่ที่ระลึกแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ และผู้บริจาคเงินสมทบมูลนิธิ อกท. พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานเกษตรของ หน่วย อกท. จากทั่วประเทศ และทรงฟังการสัมมนาผลงานวิชาการ เรื่อง เกษตรผสมผสานเส้นทางตามรอยเท้าพ่อ โดย อกท.หน่วยศรีสะเกษ

การประชุมวิชาการ อกท.ระดับชาติ ปีนี้ได้เนรมิตกิจกรรมขึ้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) กระบี่ ภายใต้ชื่องาน "เหลืองกระบี่ ศรีอันดามัน อาชีวะเกษตรแฟร์ 55"

ไฮไลต์ของงานอยู่ที่ "นิทรรศการทางการเกษตร หน่วย อกท.12 หน่วย" ซึ่งเป็นผลงานชนะเลิศอันดับ 1 ถึง 3 จาก 4 ภาค แบ่งเป็น

ภาคใต้ "รวยด้วยกาก" ของหน่วยชุมพร, "ลูกชิ้นไก่วุ้นเส้น" ของหน่วยพัทลุง และ "โปรตีนไฮโดรไลเตตจากเครื่องในปลาทู" ของหน่วยพรานทะเล

ภาคกลาง "อ้อยหวาน กาญจนบุรี" ของหน่วยกาญจนบุรี, "๑๐ ตันต่อไร่ ทำได้ไม่เกินฝัน" ของหน่วยเพชรบุรี และ "ฟักทองกินดีมีประโยชน์" ของหน่วยทุ่งสิงห์

ภาคเหนือ "สร้างความรู้ สร้างรายได้ ด้วยงานวิจัย" ของหน่วยลำพูน, "แป้งสำเร็จรูปรสฟักทอง" ของหน่วยกำแพงเพชร และ "อ้อย ๑๐๐ ล้าน" ของหน่วยสุโขทัย

และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "ข้าวหอมมะลิไทย" ของหน่วยยโสธร "ปูนาพารวย" ของหน่วยศรีสะเกษ "การเรียนรู้แบบฐานโครงสร้าง" ของหน่วยอุดรธานี


ผลงานทั้งหมดมีความน่าสนใจแตกต่างกัน เช่น "รวยด้วยกาก" ผลงาน วษท.ชุมพร ที่ก่อนหน้านี้ได้นำมะพร้าว มาคิดค้นพัฒนาจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ สบู่ หรือโลชั่น

วันนี้ได้ต่อยอดนวัตกรรมนำ "กากมะพร้าว" ที่เหลือจากการคั้นกะทิ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งซีเรียล ขนมโสมนัส คุกกี้ ขนมปั้นขลิบ น้ำพริกเผา และน้ำพริกสวรรค์

"ประมาณปลายปี 2553 เกิดอุทกภัยภาคใต้ ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของชุมพรได้รับผลกระทบอย่างหนัก วิทยาลัยจึงนำน้ำพริกไปแจก ชาวบ้าน เพราะเวลาน้ำท่วมแม้แต่ปลากระป๋องสักกระป๋องยังหายากมาก จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำพริกสวรรค์"

"บ่าว" จตุพร บุญศรี นักเรียนชั้น ปวช. ปีที่ 3 แจงที่มาของผลงานชิ้นโบแดง ก่อนอธิบายถึงส่วนผสมว่า แรกเริ่ม คือ นำกากมะพร้าวไปอบแห้ง เมื่อได้ตามที่ต้องการ จึงนำไปคั่วรวมกับน้ำมันพืช กุ้งแห้งป่น พริกแห้งป่น เกลือป่น น้ำปลา น้ำตาลทราย กระเทียมเผา หอมแดงเผา กะปิ และมะขามเปียก เสียงตอบรับถือว่าดีมาก โดยเฉพาะเรื่องรสชาติ

"ขณะนี้ วิทยาลัยได้เปิดอบรมการสร้างอาชีพเสริม ด้วยกากมะพร้าวแก่ครอบครัวนักศึกษาระยะยาว พวกผมอยากเห็นทุกครัวเรือนสามารถนำกากมะพร้าวไปสร้างอาชีพเสริมรายได้ หรือเป็นช่องทางทำธุรกิจอย่างจริงจังได้"

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่น่าสนใจของ วษท.สุโขทัย ชุด "อ้อย ๑๐๐ ล้าน" นำนวัตกรรมการให้น้ำอ้อยแบบ "Subsurface Drip Irrigation" หรือ "แบบน้ำหยดใต้ผิวดิน" มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไร่อ้อย ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย

ที่ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 3 ของโลก นำเม็ดเงินสกุลต่างๆ กลับเข้าประเทศสูงถึงปีละ 20,000 - 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ภาคเกษตรทั้งหมด

อาจารย์ดิถี วงศ์สวาสดิ์ ผู้ควบคุมโครงการ เล่าว่า แต่ละปีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จะมีรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ภาคเกษตรทั้งหมด เฉพาะสุโขทัยมีพื้นที่ปลูกอ้อยเฉลี่ย 1.5 แสนไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 10.43 ตันต่อไร่

"การให้น้ำแบบหยดใต้ผิวดิน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดวัชพืชซึ่งเป็นตัวการหลักในการแย่งสารอาหารของอ้อยได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าให้ปุ๋ยผ่านหัวจ่ายน้ำที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน อ้อยจะได้รับสารอาหารถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ จะระเหยไปในดินกลายเป็นแร่ธาตุ"

อาจารย์ดิถีอธิบายต่อว่า เริ่มจากฝังสายส่งน้ำให้ลึกจากผิวดินประมาณ 25 เซนติเมตร ต่ำกว่าท่อนอ้อย 10 เซนติเมตร ให้มีความยาว 1,400 เมตรต่อไร่ โดยหัวสายจะต่อเข้ากับปั๊มน้ำ ชุดกรองน้ำ และถังให้ปุ๋ย บนผิวดิน ให้น้ำประมาณ 2 ชั่วโมงต่อไร่ หรือ 1 ลิตรต่อชั่วโมง

เมื่อทดลองได้ระยะหนึ่งพบว่า วิธีนี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 75-100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากใช้พื้นที่เท่าเดิม แต่จำนวนตันต่อไร่สูงขึ้น

หากปลูกอ้อยแบบ "น้ำฝน" ลงทุนปีแรกประมาณ 6,659 บาท ได้ผลผลิต 15 ตันต่อไร่ เป็นเงิน 16,500 บาท ส่วนการปลูกอ้อยแบบ "น้ำหยดบนผิวดิน" ลงทุนปีแรกประมาณ 11,100 บาท ได้ผลผลิต 22 ตันต่อไร่ เป็นเงิน 24,200 บาท

แต่ถ้าปลูกอ้อยแบบ "น้ำหยดใต้ผิวดิน" ลงทุนในปีแรกถึงจะสูงประมาณ 14,348 บาท แต่จะได้ผลผลิต 30 ตันต่อไร่ เป็นเงิน 33,000 บาท

"ข้อดีคือการประหยัดรายจ่ายจ้างคนงาน เนื่องจากใช้คนงานแค่ 1-3 คน แตกต่างกับระบบน้ำหยดบนผิวดิน ที่ต้องใช้คนงานถึง 6-10 คน โดยระบบนี้จะฝังทิ้งไว้เลย 3 ปี เพราะอ้อยจะปลูก 3 ตอจึงจะตัด หนึ่งครั้ง"

"เราเรียนรู้ด้วยงานการฝึกหัด เราปฏิบัติเพื่อหวังทางศึกษา หาเลี้ยงชีพเพื่อชีวิตพัฒนา ใช้วิชาเพื่อบริการงานสังคม" คือ คติพจน์ของ อกท.ที่สรุปความสำคัญของศาสตร์แขนงนี้ได้เป็นอย่างดี

หน้า 21


ขอบคุณ
ช่าวสดออนไลน์
คุณพลาดิศัย จันทรทัต


สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ
Create Date :07 มีนาคม 2555 Last Update :9 มีนาคม 2555 19:58:20 น. Counter : Pageviews. Comments :0