bloggang.com mainmenu search







ท่องโลกเกษตร : เนรมิตศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียน
เน้นพันธุ์พื้นเมืองอยู่คู่กับเมืองนนท์
โดย...ดลมนัส กาเจ


พื้นที่ 7 ไร่ ติดถนนใหญ่ "นครอินทร์" ของ "จ.ส.อ.สมพงษ์ สกุลดิษฐ์" หรือ "ลุงสมพงษ์" เกษตรกรวัย 80 ปี อดีตพลขับของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่หมู่ 1 ต.บางขุนกอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่เคยเขียวขจีด้วยต้นทุเรียนนานาพันธุ์ ทั้งพันธุ์ก้านยาว ที่มีชื่อเสียงของ จ.นนทบุรี หมอนทอง ชะนี ที่สร้างรายได้ปีละเรือนล้านบาทเมื่อคราวเก่าก่อน

แต่...วันนี้กลายเป็นสวนทุเรียนปลูกใหม่ สูงไม่ถึง 1 เมตร หลังจากกระแสน้ำมวลใหญ่ทะลักมาจากถนนกระหน่ำเข้าท่วมขังนานถึง 2 เดือน ทำให้ต้นทุเรียนตายทั้งหมด เหลือแต่ต้นทองหลาง ที่ลุงสมพงษ์ปลูกไว้สลับกับต้นทุเรียน เพื่อดูดซับน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้ต้นทุเรียน และที่สำคัญ รากของทองหลางจะให้ธาตุไนโตรเจนอีกด้วย

สำหรับสวนทุเรียนปลูกใหม่แห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกติดถนนใหญ่ ในพื้นที่กว่า 3 ไร่ ลุงสมพงษ์เนรมิตทำเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนนนทบุรี ปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนทบุรีไปแล้วกว่า 20 สายพันธุ์

โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ที่ ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ของกรมวิชาการเกษตร มีทั้งพันธุ์ชะนี กะเทย ย่ำมะหวาด กบไม้เฒ่า กบตาคำ กีบสมุทร เป็นต้น ในส่วนนี้ลุงสมพงษ์บอกว่า ไม่เน้นขาย แต่จะเน้นเป็นศูนย์เรียนรู้ของเยาวชนรุ่นหลัง ที่สนใจเกี่ยวกับทุเรียนพื้นเมืองของ จ.นนทบุรี ในอนาคต

อีกส่วนหนึ่งอยู่ด้านใน ติดคลอง เป็นสวนทุเรียนที่ปลูกเชิงธุรกิจ และสร้างรายได้ เป็นทุเรียนที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะพันธุ์ก้านยาว ที่ขายกันผลละหรือลูกละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท บางช่วงราคาสูงถึงลูกละ 1 หมื่นบาท พันธุ์หมอนทอง ทองย้อยฉัตร นอกจากนี้มีทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่กล่าวขานกันว่า มีรสชาติอร่อยกว่าทุเรียนพันธุ์ก้านยาว และหมอนทอง คือ พันธุ์นวลทองฉัตร เป็นต้น

สวนทุเรียนใหม่ทั้ง 2 ส่วนของลุงสมพงษ์นั้น จะล้อมด้วยกำแพงดินสูงเป็นเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมสวน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ต้นทุเรียน และกำแพงดินที่ว่านี้ สามารถปกป้องสวนของลุงสมพงษ์มายาวนานกว่า 20 ปี

แต่ปีนี้มวลน้ำขนาดใหญ่ที่มาจากเขื่อนใหญ่ทางภาคเหนือทะลักแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่งเข้าสู่สวนทุเรียนทั้งของลุงสมพงษ์และรายอื่นๆ ใน จ.นนทบุรี เสียหายโดยสิ้นเชิงถึง 2,898 ไร่ จากทั้งหมด 2,931 ไร่ ถือว่าเกือบ 100% ส่วนด้านในของสวนนั้น ลุงสมพงษ์ยกร่องสูงกว่า 1 เมตร กว้างราว 4 เมตร ในร่องปล่อยน้ำไว้สำหรับรดทุเรียนนั่นเอง

สมพงษ์ ย้อนอดีตว่า ชีวิตคลุกคลีอยู่กับสวนมาตั้งแต่อายุ 12 ปี แต่พออายุ 17 ปีสอบเข้าโรงเรียนนายสิบได้ จบมารับราชการเป็นทหารที่มณฑล 1 เมื่อปี 2494 ระหว่างเป็นทหารนั้น เป็นคนขับรถให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนเป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี

กระทั่งปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เขาตัดสินใจลาออกจากราชการทหาร หวนชีวิตมาเป็นเกษตรกรด้วยการเช่าที่ทำสวนทุเรียนที่บางบำหรุ อ.บางกอกน้อย จ.ธนบุรี สมัยนั้น ต่อถูกเวนคืนหมดเพื่อสร้างถนนปิ่นเกล้า เลยหาซื้อที่ใหม่แรกกว่า 6 ไร่ ต.บางขุนกอง อ.บางกรวย เมื่อปี 2520 ราคา 2.4 แสนบาท ต่อมาซื้อเพิ่มอีก 7 ไร่ ราคา 1.2 ล้าน เป็น 13 ไร่ติดกัน ต่อมาถนนผ่ากลางจึงกลายเป็น 2 แปลง ปลูกทุเรียนตลอดมา

และแล้วค่ำคืนแห่งความหายนะก็มาเยือนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 เขาได้รับแจ้งจากลูกเขยว่า มีมวลน้ำทะลักจากท้องถนนที่รถวิ่งเข้าสวน รุ่งเช้าจึงไปดู พบว่า สวนทุเรียนของเขาถูกน้ำท่วม จึงโทรศัพท์เช็กเพื่อนฝูงที่เป็นเกษตรกรด้วยกัน ทราบว่า ได้รับความเสียหายเช่นกัน

"ที่ผ่านมาน้ำจะมาทางคลองหลังสวน แต่ล่าสุดนี่แปลก น้ำมาจากบนถนน พร้อมกับรถวิ่งอยู่ พอผมเห็นวันแรก ผมไม่กลับมาดูสวนทุเรียนของตัวเองอีกเลยเป็นเวลา 2 เดือน เพราะไม่อยากเห็นสภาพความเสียหาย

แต่พอตั้งสติได้ จึงโทรศัพท์ไปยังเกษตรกรที่รู้จักกันที่ จ.จันทบุรี เพื่อสั่งจองกิ่งพันธุ์ทุเรียน ทั้งพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ทองย้อยฉัตร และนวลทองฉัตร ผมไม่รอให้ภาครัฐช่วยเหลือครับ ไม่ทันใจ ส่วนทุเรียนพันธุ์นวลทองฉัตรเป็นทุเรียนพันธุ์ใหม่ มีคนบอกว่าอร่อยมาก อร่อยกว่าก้านยาวเสียอีก แต่ผมเองก็ไม่เคยกินเหมือนกัน" ลุงสมพงษ์ กล่าว

แม้วันนี้ลุงสมพงษ์มีอายุถึง 80 ปีแล้วก็ตาม เขายืนยันว่าร่างกายยังแข็งแรง และจะทำสวนทุเรียนต่อ ทั้งที่หลังจากน้ำลดแล้วมีบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่มาขอซื้อที่ 7 ไร่ ในราคา 300 ล้าน แต่ลุงสมพงษ์ยืนยันจะไม่ขาย เพราะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินเท่าไรนัก

หากขายไปลูกหลานเราจะไม่มีที่อยู่ในอนาคต และอีกอย่างหนึ่ง ตั้งใจจะตั้งศูนย์อนุรักษ์ทุเรียนเมืองนนท์ และจะอุทิศความรู้ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานทุเรียนพื้นเมืองนนทบุรีต่อไป

ด้าน ระนอง จรูญกิจกุล เกษตรจังหวัดนนทบุรี ซึ่งรับผิดในการฟื้นฟูสวนทุเรียน บอกว่า หลังจากน้ำลดได้ทำการฟื้นฟูสวนทุเรียนใน จ.นนทบุรี กว่า 1,000 ไร่ เป็นการเบื้องต้น จากนั้นจะมีการฟื้นฟูระยะสอง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี สนับสนุนด้านงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง

แต่ในส่วนของลุงสมพงษ์เขายืนยันจะฟื้นฟูเอง ยกเว้นในส่วนที่ลุงสมพงษ์ทำเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนพื้นเมืองนนทบุรีเท่านั้น ที่รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ที่ ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ของกรมวิชาการเกษตร

โดยให้เกษตรจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้ดูและรับผิดชอบ ซึ่งต่อไปศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวพันธุกรรมทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนทบุรี ดังที่ลุงสมพงษ์ตั้งใจไว้ ซึ่งขณะนี้มีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเริ่มปลูกแล้วราว 20 สายพันธุ์ ที่เหลือทางศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จะทยอยส่งมาอีก

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ลุงสมพงษ์ สกุลดิษฐ์ ยอมเสียสละพื้นที่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยตั้งใจอย่างแนวแน่ที่จะอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของนนทบุรีให้อยู่คู่กับเมืองนนท์ชั่วกาลนาน


ขอบคุณ
คม ชัด ลึกออนไลน์
คุณดลมนัส กาเจ


อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ
Create Date :25 มีนาคม 2555 Last Update :25 มีนาคม 2555 17:55:58 น. Counter : Pageviews. Comments :0