bloggang.com mainmenu search





ไม่มีพลูที่ตลาดพลู



โดย : นิภาพร ทับหุ่น


วันนี้ไม่มีการค้าพลูเหมือนเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ทว่า "ตลาดพลู" ยังเป็นชื่อที่มีเสน่ห์ ชวนค้นหา แม้ว่าหาแล้วจะไม่เจอ "พลู" สักใบก็ตาม

แม้จะเคยเป็นถิ่นฐานที่มีการปลูกพลูขายกันอย่างคึกคักในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป "สวนพลู" ที่เคยมีอยู่มากมายกลับกลายเป็นเพียงภาพในอดีต

ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่มุสลิมปัตตานีอพยพมาตั้งถิ่นฐาน บริเวณรอบคลองบางหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้นำเอาวัฒนธรรมการกินหมากมาสู่พื้นที่นี้ด้วย แรกๆ เป็นเพียงการปลูกพลูเพื่อกินเองในครัวเรือน ปลูกโดยอาศัยต้นทองหลางให้พลูเกาะ

ต่อเมื่อมีคนนิยมบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขยายเป็นสวนพลู มีการทำนั่งร้านถาวร และปลูกกันทั่วไปใน 2 ฝั่งน้ำคลองบางหลวงไล่ไปจนถึงบางไส้ไก่

จริงๆ มีการปลูกพลูอยู่หลายที่ แต่ที่งอกงามดีเห็นจะเป็นแถวบางยี่เรือและบางไส้ไก่ อาจเพราะดินดี น้ำถึง คนจึงเรียกย่านนี้ว่า "สวนพลู" ซึ่งพลูในยุคที่มุสลิมปลูกนั้นเป็นพันธุ์ที่เรียกว่า "พลูทองหลาง" มีสีเขียวเข้ม รสเผ็ดจัด

แต่ต่อมาคนจีนในย่านเดียวกันได้พัฒนาปุ๋ย ขึ้นมาจากเศษปลาทูหมักเป็นน้ำชีวภาพ แล้วใช้นั่งร้านแทนต้นทองหลาง ทำให้ "พลูจีน" มีสีเหลืองทองงดงาม รสไม่เผ็ดมาก ทั้งยังแตกใบให้เก็บได้ทั้งปี การค้าพลูยุคนั้นจึงค่อนข้างทำกำไรให้ชาวสวนพลูได้เป็นอย่างดี

สำหรับการปลูกพลูยุคนั้นไม่มีเรื่องยุ่งยากนัก แค่ยกร่องสูงราวครึ่งวา แล้วนำก้านพลูมาปักชำ ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ไม่นานก็เก็บผลผลิตได้ สำหรับปุ๋ยที่ว่า ได้มาจากเศษปลาทู เพราะตลาดพลูมีโรงต้มปลาทูอยู่มากมาย

คนปลูกพลูก็จะนำเอาเศษปลาทู มาหมักในโอ่งที่ฝังดินไปครึ่งใบ หมักไว้ราว 8-10 สัปดาห์ นำน้ำที่ได้มารดก็จะทำให้ใบพลูเจริญเติบโตเร็ว แต่น้ำหมักนี้มีกลิ่นแรงมาก ใครเดินเรือผ่านมาแถบนี้พอได้กลิ่นน้ำหมักจะรู้ทันทีว่าถึงตลาดพลูแล้ว

ยุคนั้นชาวบ้านจะเก็บพลูกันแต่ชาวตรู่ โดยใช้วิธีการเด็ด แต่ต้องสวมเล็บโลหะเด็ดเพื่อให้แผลก้านพลูสวย จากนั้นนำมาเรียงใบ ใบใหญ่ไว้ล่าง ค่อยๆ นับจนครบ 20 ใบ มัดรวมไว้เรียกว่า 1 เรียง เมื่อรวมกัน 4 เรียง เรียกว่า 1 มัด

จากนั้นจึงนับใส่เข่งลงเรือไปขาย ว่ากันว่า มีการค้าพลูอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึงกับมีการบันทึกว่า ขายได้วันละ 1,600 บาท เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับข้าราชการเงินเดือนตอนนั้นราว 10 กว่าบาทแล้ว เห็นอนาคตคนค้าพลูได้ทันที

มาว่ากันเรื่องการเก็บพลูไม่ให้เหี่ยว คนโบราณจะนำพลูเรียงลงไปในโถรูปลักษณ์คล้ายมะเฟืองเพื่อไม่ให้อากาศเข้า สามารถเก็บใบพลูได้นาน ซึ่งโถนั้นเองที่เรียกว่า โถพลู

แต่ถ้าจะมีการเดินทางไกล วิธีการแปรรูปของชาวไทยสมัยก่อนคือจะนำใบพลูไปนาบเตาร้อนๆ ให้ใบพลูช็อก แต่ไม่ไหม้ เรียกว่า ตายนึ่ง สามารถนำติดตัวไปกินได้นานแรมเดือน

กิจการค้าพลูเจริญรุ่งเรือง จนบางคนสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเศรษฐีได้ดีเพราะพลู ต่อเมื่อมีการสร้างสะพานพุทธและตัดถนนฝั่งธนบุรี ช่วงปี 2475 ทำให้การค้าทางน้ำลดบทบาทลง แล้วก็มีการปรับพื้นที่สวนพลูเป็นตึกแถวให้เช่า

สวนพลูจึงลดจำนวนลงเรื่อยๆ กระทั่งสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้ยกเลิกการกินหมาก กิจการค้าพลูจึงค่อยๆ หมดไปจากตลาดพลูอย่างสิ้นเชิง


ขอขอบคุณ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คุณนิภาพร ทับหุ่น


สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ
Create Date :05 มกราคม 2555 Last Update :5 มกราคม 2555 11:45:42 น. Counter : Pageviews. Comments :0